ThaiPublica > เกาะกระแส > ‘กอบศักดิ์ ภูตระกูล’ ชวนวิเคราะห์ “ทรัมป์” ป่วนโลก จุดเริ่มสงครามการค้ารอบใหม่ (1)

‘กอบศักดิ์ ภูตระกูล’ ชวนวิเคราะห์ “ทรัมป์” ป่วนโลก จุดเริ่มสงครามการค้ารอบใหม่ (1)

20 กุมภาพันธ์ 2025


สงครามการค้าโลก รอบใหม่!!!กำลังจะเกิดขึ้นหรือไม่ หลังการหวนคืนสู่ทำเนียบขาวสมัยสองของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา “ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล” ชวนวิเคราะห์ “ทรัมป์” ป่วนโลก สงครามการค้ารอบใหม่

สงครามการค้าโลก รอบใหม่!!! กำลังจะเกิดขึ้นหรือไม่ หลังการคืนสู่ทำเนียบขาวสมัยสองของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา และพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2025 ที่ผ่านมา ก็สร้างความปั่นป่วนไปทั่วโลก

“ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล” กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพจำกัด (มหาชน) มองว่า การกลับมาของทรัมป์คือจุดเริ่มต้นของสงครามการค้าโลก โดยวิเคราะห์ผ่านเพจ Bnomics by Bangkok Bank ในรายการทันเศรษฐกิจ EP 2. สงครามการค้าโลก, เพจ DrKob และเพจกอบศักดิ์ ภูตระกูล เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา

ดร.กอบศักดิ์ เริ่มต้นรายการด้วยการย้อนเหตุการณ์ ข่าวสาร หลังการรับตำแหน่งของ ทรัมป์ สร้างสีสีสันและประเด็นใหม่ๆ ให้ทั่วโลกได้ติดตาม จนยืนยันได้แล้วว่าเรากําลังอยู่ในโลกใบใหม่ที่มีความปั่นป่วนผันผวนจากเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดการเงิน ตลาดทุนที่หุ้นขึ้น หุ้นลง และอัตราค่าแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ต่างๆ ที่เกิดผันผวนอย่างต่อเนื่อง

“ครั้งที่แล้วผมมาเล่าให้ฟังใช่มั้ยครับว่า ทรัมป์ได้เซ็นประกาศไปแล้ว 300 ฉบับ แต่จนถึงขณะนี้ผมคิดว่าน่าจะมีประกาศเกือบ 500 ฉบับไปแล้ว ที่เรียกว่า เป็น executive order (คำสั่งฝ่ายบริหาร) และสิ่งที่สำคัญคือ เมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้วมีหลายคนตั้งคำถามว่า ทรัมป์เข้ามาเป็นประธานาธิบดี สิ่งแรกที่เขาจะทำคือการขึ้นภาษีประเทศ 60% และจะขึ้นภาษีกับประเทศอื่นๆ 10-20% แต่ผ่านไป 2 สัปดาห์ยังไม่เกิดขึ้น”

“เพียง 2 สัปดาห์ของทรัมป์” โลกก็ปั่นป่วน

ดร.กอบศักดิ์ ได้เล่าถึงเหตุการณ์ที่ถือเป็นการส่งสัญญาณสงครามการค้าครั้งใหม่ ว่าคือการที่ทรัมป์เริ่มเพิ่มอัตราภาษี (tariff) ที่เกิดขึ้นมาทันทีโดยเริ่มทำกับโคลอมเบียเป็นประเทศแรกที่ 25% เนื่องจากไม่ทำตามคำสั่งเรื่องการดำเนินการจับกุมผู้อพยพเข้าเมืองผิดกฎหมาย เพราะประธานาธิบดีของโคลอมเบียรับไม่ได้กับการส่งผู้อพยพผิดกฎหมายกลับประเทศด้วยเครื่องบินทหาร ไม่สมศักดิ์ศรี จึงห้ามเครื่องบินลง และส่งเครื่องบินของประธานาธิบดีไปรับกลับสู่ประเทศอย่างสมศักดิ์ศรี

“หลังจากการตอบโต้ของประธานาธิบดีโคลอมเบีย ทำให้ทรัมป์ประกาศอัตราภาษี 25% เพียงแค่ไม่ถึง 24 ชั่วโมง นักธุรกิจ ภาคเอกชนของโคลอมเบีย นักการทูตโคลัมเบีย ได้รับผลกระทบจนทำให้ประธานาธิบดีของโคลัมเบียต้องเปลี่ยนใจทันที และบอกว่าต่อไปสหรัฐฯ จะส่งเครื่องบินลำไหนมา แบบไหนยังไงก็ได้ ตามใจสหรัฐฯ หมดเลย ก็กลายเป็นมวยต้มล้มคนดู และนั่นก็เป็นครั้งแรกของทรัมป์ที่พูดถึงภาษี 25%”

ดร.กอบศักดิ์เล่าต่อว่า เวลาผ่านไปไม่กี่วัน ทรัมป์ยังคงป่วนโลก โดยโฆษกรัฐบาลรัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศยืนยันว่าจะมีการขึ้นภาษีกับเม็กซิโก แคนาดา และประเทศจีนแน่นอน หลังจากนั้นในช่วงเย็นวันเสาร์ที่ 1 ก.พ. 2568 ทรัมป์ก็ประกาศขึ้นภาษีกับแคนาดา 25% เม็กซิโก 25% และภาษีจีนอีก 10% ทำให้เกิดความปั่นป่วนผันผวนกับโลกอีกเช่นกัน แต่ต่อมาได้ประกาศชะลอออกไปอีก 30 วัน

ส่วนเรื่องอื่นๆ ที่ “ทรัมป์” ประกาศในช่วงเวลาไม่กี่วันหลังเข้ารับตำแหน่ง เช่น เรื่องสงครามยูเครน “ทรัมป์” เคยบอกว่าให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่แล้วก็จะช่วยเหลือ แต่ต้องส่งพวกแร่ธาตุที่หายากมาให้ และต้องคืนผู้ตัวประกันบางส่วน ซึ่งนายกรัฐมนตรีของอิสราเอลได้เดินทางมาที่อเมริกา โดยคาดว่าจะมีการหารือว่าจะจัดการกับปัญหาที่ตะวันออกกลางอย่างไร เป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไป

ส่วนเรื่องที่ถือเป็นความกังวลใจ คือ เรื่องของอัตราภาษี (tariff) ที่ผ่านมา ทรัมป์เคยหาเสียงเอาไว้ โดยเขาประกาศว่าคําว่า tariff มีความหมายและมีความตั้งใจที่จะเดินหน้า โดยการเซ็นคำสั่ง ประธานาธิบดีวันแรกก็คือการจัดตั้งหน่วยงาน “External Revenue Service” เป็นหน่วยงานใหม่ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อเก็บภาษีประเทศที่ส่งสินค้าเข้ามาสู่อเมริกา

“ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล” กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพจำกัด (มหาชน)

“สงครามการค้าโลก” รอบใหม่?

ดร.กอบศักดิ์เล่าว่า สิ่งที่ทรัมป์ประกาศในช่วงหาเสียงและเริ่มดำเนินการหลังรับตำแหน่ง ทำให้ผู้คนทั่วโลกกังวลใจในเรื่อง “สงครามการค้า” โดยทั้งหมดมีจุดเริ่มต้นจากกรณีที่เคยเกิดขึ้นมาในอดีตของสองผู้อาวุโสของอเมริกาที่ชื่อ “สมูท” วันนี้เป็นวุฒิสมาชิกจากรัฐยูทาห์ และอีกคนชื่อ “ฮอว์ลีย์”เป็น สส. มาจากรัฐออริกอน โดยเมื่อประมาณ ค.ศ. 1929 ทั้ง 2 คนได้รวมตัวกันเขียนกฎหมายขึ้นมาฉบับหนึ่ง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามการค้าโลก ครั้งที่ใหญ่ที่สุดของโลกที่เคยเกิดขึ้นมาเรียกว่า Smoot–Hawley Tariff Act ซึ่งทําให้ส่งผลกระทบจำนวนมาก

“ปกติแล้วอัตราภาษีอเมริกาจะอยู่ที่ประมาณ 38% โดยเฉลี่ย แต่ว่าภายใต้กฎหมายฉบับดังกล่าว ที่เริ่มต้นขึ้นมาประมาณปลายปี 1929 และได้เริ่มดำเนินเดินหน้าประมาณปี 1930 ทำให้สินค้าประมาณ 2 หมื่นตัวที่ส่งเข้าสู่อเมริกา มีภาษีบางตัวเพิ่มขึ้น 60% ทําให้ปริมาณของการค้าต่างๆ การแข่งขันต่างๆ มีปัญหาตามมา เพราะว่าหลังจากอเมริกาประกาศปกป้องประเทศด้วยการบอกว่าต้องทำการค้า แต่จะไม่ให้ใครส่งสินค้าเข้ามาสู่ประเทศอเมริกา ซึ่งขณะนั้นเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดตลาดหนึ่ง”

“วันนั้นมีผลกระทบตามมาอย่างยิ่ง เพราะว่าแคนาดาก็ได้ประกาศการต่อสู้ นั่นคือเหตุการณ์ในช่วง ค.ศ. 1929 ที่กฎหมายได้ผ่านสภาล่าง ค.ศ. 1930 และในเดือนมีนาคมปีเดียวกันผ่านสภาสูง และได้บังคับใช้ประมาณกลางปี ซึ่งหากย้อนกลับไปดูในช่วงนั้นจะเห็นว่าตัวภาษีที่เคยสูงลงมาต่ำ และได้กลับขึ้นไปสูงอีกครั้งหนึ่ง และผลที่ตามมาคือจุดเริ่มต้นของปัญหาครั้งสำคัญของโลกที่เรียกว่า The Great Depression ทำให้ราคาหุ้นที่เคยอยู่ประมาณ 120 จุดตกลงมาต่อเนื่องเหลือต่ำเตี้ยติดดิน หรือประมาณ 20 เท่านั่นเอง หายจาก 120 เหลือ 20”

สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น คือการประกาศต่อสู้ “สงครามทางการค้า” ทั้งแคนาดาและยุโรป ยุโรปก็ประกอบด้วยฝรั่งเศส เยอรมัน อิตาลี สเปน และอังกฤษต่างทยอยออกมาใน ค.ศ. 1930 ออกมาบอกว่า เมื่ออเมริกาขึ้นภาษี 60% แคนาดาก็ประกาศขึ้นภาษี 50% ขณะที่ยุโรปก็ขึ้นภาษี 30-40% และอังกฤษเพิ่มขึ้นประมาณ 10-20% และขอให้สิทธิของการนําเข้าสินค้ากับประเทศอาณานิคมของเขาที่อยู่ในกลุ่มอาณาจักรก่อน ส่วนประเทศอื่นที่อยู่นอกก็จะส่งสินค้าเข้าด้วยความยากลําบาก

“การเพิ่มอัตราภาษีในครั้งนั้นทำให้ปริมาณของการค้าโลกลดลง จากเดิมประมาณ 3,000 และหมุนลดลงไปเรื่อยๆ ในปีแรกลดลงเหลือ 2007 ผ่านไป 5 ปีการค้าโลกหายไปทั้งหมด 60% หมายความว่า การค้าโลกที่เคยอยู่ 100 ตอนนี้เหลือแค่ 40 เท่านั้นเอง ทําให้เกิดปริมาณการค้าขายที่ต่ำเตี้ยติดดิน ขณะที่การส่งสินค้ากลับไปมาซึ่งทำให้เกิดประสิทธิภาพกับสินค้าก็หายไปหมดเลย”

“ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล” กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพจำกัด (มหาชน)

ดร.กอบศักดิ์บอกว่า เมื่อการค้าโลกลดลง ทำให้เกิดการตกงานครั้งใหญ่ที่สุด จนทำให้นักเศรษฐศาสตร์ทุกคนมักพูดถึงเรื่องนี้อยู่เสมอ เพราะว่ามันเป็นชะตากรรมครั้งที่เรียกได้ว่าวิบากกรรมครั้งยิ่งใหญ่ เนื่องจากเดิมที่ไม่มีคนตกงานเลย แต่ภายใน 2-3 ปี มีคนตกงาน 25% โดยในทุก 4 คนจะมีคนตกงาน 1 คน และภาวะดังกล่าวเกิดขึ้นต่อเนื่องเป็นเวลาเกือบ 10 ปีเต็ม

“ภาพในอดีต คนเข้าแถวเข้าคิวเพื่อไปรอรับขนมปัง เพราะว่าหางานทำไม่ได้ และคนเหล่านี้ก็ออกมาประกาศว่าต้องการทำงาน บางคนเป็นช่างไม้ บางคนเป็นคนขนของ บางคนเป็นคนก่อสร้าง ทุกคนประกาศว่าผมต้องการหางานแต่ไม่มีงานให้ทำ เพราะขณะนั้นตกงานถึงประมาณ 25% ของตลาด ซึ่งปกติประเทศไทยตกงาน 1% อเมริกาตกงาน 4-5% แต่วันนั้นตกงาน 25% เด็กๆ พ่อแม่ไม่มีงานทำ ก็บอกให้พ่อผมทำงานเถอะ เพราะเด็กๆ กําลังหิวโหยแล้วก็ยากที่จะใช้ชีวิตอยู่ได้”

สุดท้ายเหตุการณ์ในครั้งนั้นตามมาด้วยการเดินขบวนครั้งยิ่งใหญ่ทุกหย่อมหญ้าทุกหัวเมือง จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่หลากหลาย เช่น การจัดตั้งองค์กรสําคัญๆ ของอเมริกาเพื่อมากระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ “จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์” ซึ่งเป็นเจ้าของทฤษฎี Keynesian เพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็เกิดขึ้นมาจากเหตุการณ์ดังกล่าว

“การเพิ่มภาษีของอเมริกาคือสาเหตุที่ทำให้การค้าโลกหายไป 60% คนตกงาน 1 ใน 4 เศรษฐกิจย่อยยับ ราคาหุ้นลดจาก 120 เหลือ 20 ทำให้นักเศรษฐศาสตร์จดจํากันได้ว่า ถ้าเกิดมีลัทธิปกป้องทางการค้า จะมีสงครามการค้าโลก ซึ่งมันจะเสียหายย่อยยับ และเมื่อทรัมป์ประกาศว่าต้องการใช้ภาษี 25-60% กับจีน ส่งผลให้ทั่วโลกความกังวลใจ”

ดร.กอบศักดิ์เล่าต่อไปว่า หลังทรัมป์กลับเข้ามาเมื่อวันที่ 20 มกราคมที่ผ่านมา เขาไม่พูดถึงการเดินหน้าตลาด ทำให้นักลงทุนคิดว่าเขาจะไม่ทำแล้ว ส่งผลให้ตลาดดาวโจนส์ก็ปรับขึ้นต่อเนื่อง จนกระทั่งถึงวันศุกร์ที่ 31 มกราคม ที่ผ่านมา “ทรัมป์”ประกาศยืนยันภาษี 25% ของแคนาดาและเม็กซิโกแน่นอน ส่วนของจีน 10% ก็ส่งผลให้ราคาหุ้นตกลง แต่พอหลังจากประกาศว่าจะชะลอการขึ้นภาษีกับเม็กซิโกและแคนาดาไปอีก 30 วัน ก็ทำให้ราคาหุ้นกลับขึ้นมาได้

“ที่สำคัญ ระหว่างทางตลาดหุ้นขึ้น นักลงทุนก็เสียหายย่อยยับ สินทรัพย์ต่างๆ เรียบร้อยไปละ ไม่ใช่สินทรัพย์เดียว แต่โลกแห่งการลงทุนที่ไร้พรมแดน หรือ Nasdaq ก็เสียหายเหมือนกัน เพราะ Nasdaq เคยเจอกับ DeepSeek ก็เคยตกไปก่อน แล้วหลังจากนั้นก็กลับมาได้ใช่มั้ยครับ แต่พอเจอทรัมป์กับภาษี 25% ก็ตกอีกรอบนึงแล้ว พอบอกว่าชะลอก็กลับขึ้นมาได้เช่นเดียวกัน”

ส่วนอีกประเด็นคือเรื่องของค่าเงินดัชนีดอลลาร์ ในวันที่ “ทรัมป์” ประกาศ ทุกคนมองว่าอเมริกาน่าจะกลายเป็นจุดของการเก็บเงิน เป็น safe haven ต่างๆ ทําให้ค่าเงินอเมริกาขึ้นทะลุจากประมาณ 107 ไปที่ประมาณ 109 หรือ 110 แต่พอหลังจากประกาศชะลอไปก็ลดลงมาที่ประมาณ 107 เหมือนเดิม แต่ว่าระหว่างทางก็เสียหายปั่นป่วนค่าทั้งค่าเงินบาทค่าเงินดอลลาร์ หรือค่าเงินทุกสกุล

ดร.กอบศักดิ์ยกตัวอย่างเพิ่มเติมเรื่องผลกระทบกับค่าเงิน ว่าโดยเฉพาะค่าเงินแคนาดา อ่อนยวบต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี ส่วนค่าเงินเม็กซิโกก็อ่อนในรอบ 3 ปีเช่นเดียวกัน แม้กระทั่งสินทรัพย์ยอดนิยม เช่น บิตคอยน์ ก็ผันผวนเช่นเดียวกัน เพราะค่าบิตคอยน์เคยอยู่ประมาณแสน พอประกาศขึ้นภาษีตกลงมาเหลือ 92,000 แต่เมื่อทรัมป์ประกาศชะลอการปรับภาษีออกไปก็กลับมาขึ้นอีก

“จะเห็นว่าชีวิตช่วงนี้หลังทรัมป์เข้ามา การลงทุนมีความปั่นป่วนผันผวนอย่างยิ่ง แม้กระทั่ง Nikei เช้าวันที่ทรัมป์ประกาศขึ้นภาษี ผมจําได้เลยตกลงมาพรวดเดียว แล้วก็หลังจากนั้นก็ค่อยค่อยปรับตัวดีขึ้นในวันต่อมา ซึ่งวันนั้น ตลาด Nikei ตกลงเกือบพันจุด หรือแม้กระทั่งตลาดหุ้นไทยก็ตกลงมาเช่นเดียวกัน 40 จุดตอนเช้า หลังจากนั้นก็ค่อยๆ ดีขึ้น แล้วช่วงหลังก็ค่อยๆ ปรับลดลงมาเช่นเดียวกัน ส่วนความผันผวนสุดท้ายคือ “ทองคํา” ก็มีผันผวนเล็กน้อย เพราะ คนก็คิดว่าทองคําคือ safe haven ที่ดี ตอนนี้ทองคําทะลุใกล้เคียง ค.ศ. 2009 ยังไม่เคยเป็นมาก่อน”

“ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล” กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพจำกัด (มหาชน)

เตรียมรับมือ “ทรัมป์” ไปอีก 4 ปี?

ดร.กอบศักดิ์บอกว่า ตลาดการเงินโลกกําลังอยู่ในช่วงของความปั่นป่วนผันผวนแบบที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แล้วก็ปั่นป่วนผันผวนเพราะว่ามาจากคนเดียวที่บอกว่าจะขึ้นภาษี ซึ่งเป็นสิ่งที่อยากจะเตือนทุกคนว่า เรากําลังอยู่ในยุคใหม่ตั้งแต่ 20 มกราคม 2568 และเราต้องอยู่อีกเป็นเวลา 4 ปี ที่การเงินโลกจะผันผวนปันป่วนลักษณะนี้

“ผมอยากจะเล่าให้ฟังว่า สิ่งที่เขากำลังเดินหน้าในขณะนี้มีหลายเรื่องที่น่าสนใจ เพราะถ้าอเมริกาประกาศขึ้นภาษีกับเม็กซิโก แคนาดา และเมืองจีนได้ ผมบอกเลยว่าทุกประเทศก็เข้าข่ายเช่นเดียวกัน เพราะทั้ง 3 ประเทศคือประเทศหลักที่เป็นคู่ค้าของอเมริกาเอง ประเทศหนึ่งประมาณ 8 แสนล้านดอลลาร์ และอีกประเทศหนึ่งประมาณ 7 แสนกว่าล้านนะครับ”

ทําไมอเมริกาถึงเลือกที่จะเดินหน้ากับ แคนาดาและเม็กซิโก แม้ว่าทั้งสองประเทศไม่ต่างจากเพื่อนรักที่อยู่ร่วมกันมานาน และเป็นมิตรสนิทมิตรสหายกันมาตั้งแต่ต้น

ดร.กอบศักดิ์มองประเด็นนี้ว่า เป็นเพราะทรัมป์มองภาพอเมริกาเสียเปรียบการค้ากับ 3 ประเทศนี้เป็นหลัก เช่น นําเข้าจากเม็กซิโกประมาณเกือบ 4.7 แสนล้าน แต่ส่งออกไปที่เม็กซิโกก็ประมาณ 3 แสนกว่าล้าน ทำให้เสียหายประมาณแสนกว่าล้าน เรียกว่าการขาดดุล

ขณะที่แคนาดาก็เช่นเดียวกัน นำเข้าประมาณ 4 แสนล้าน ขณะเดียวกัน อเมริกาก็ส่งออกไปที่แคนาดาแค่ 3 แสนล้าน ก็ขาดดุลประมาณแสนกว่าล้าน เมืองจีนก็เช่นกัน อเมริกานําเข้าจากเมืองจีนถึง 4 แสนล้านแต่ส่งออกไปที่จีนได้แสนกว่าล้านเท่านั้นเอง

“สาเหตุที่ ทรัมป์เริ่มเดินหน้ากับทั้ง 3 ประเทศเพราะคิดว่าเขาเสียเปรียบ จึงประกาศขึ้นภาษีทั้ง 3 ประเทศนี้ให้ได้ก่อน และสำหรับเม็กซิโกและแคนาดา ในตอนแรก นายกรัฐมนตรีของแคนาดา ออกมาแถลงข่าวว่า แคนาดาเป็นมิตรแท้ของอเมริกา เพราะฉะนั้น อเมริกาจะทำอะไรก็พร้อมสนับสนุนอยู่เสมอ”

“แม้กระทั่งล่าสุดเกิดไฟไหม้ที่แคลิฟอร์เนีย แคนาดาเองก็ส่งทีมช่วยดับเพลิงให้ ถือว่าร่วมทุกข์ร่วมสุขกันทุกอย่าง นายกรัฐมนตรีแคนาดาบอกว่า ทำกับแคนาดาอย่างนี้ได้อย่างไร ทรยศกันได้อย่างไร มันเป็นสิ่งที่ทําให้คนแคนาดาเสียใจและเสียความรู้สึกเป็นอย่างยิ่ง ทำให้แม้กระทั่งการแข่งขันกีฬาฮอกกี้น้ำแข็ง คนแคนาดาได้ยินเสียงเพลงชาติของอเมริกาถึงกับต้องโห่ร้องเลย”

ดร.กอบศักดิ์ยังบอกอีกด้วยว่า ทั้งแคนาดาและเม็กซิโก ต้องพึ่งพาอเมริกาเป็นสําคัญ เนื่องจากการส่งออกทั้งหมดของเม็กซิโก 74% ส่งออกไปที่อเมริกา ถ้าอเมริกาขึ้นภาษี 25% ก็หมายความว่าสินค้าส่งออกเกือบ 80% ของเม็กซิโกจะประสบปัญหา อาจจะต้องหาพื้นที่ในการส่งออกใหม่ หรือว่าอาจจะส่งออกไม่ได้เลย

ส่วนแคนาดาก็เช่นเดียวกัน แคนาดาส่งออกไปที่อเมริกา 77% ทำให้ทั้ง 2 ประเทศเป็นประเทศที่ open economy ซึ่งหมายความว่าเป็นประเทศเปิดมาก สัดส่วนของการค้าของอยู่ระดับประมาณ 70% ถึง 80% ของเศรษฐกิจทั้งหมด หรือประมาณ 3 ใน 4 เป็นสินค้าที่ส่งไปอเมริกา ถ้าสินค้าของเขาส่งไปอเมริกาเกิดปัญหา นั่นก็หมายความว่า การส่งออกทั้งแคนาดาและเม็กซิโกก็จะเกิดปัญหาตามมาเช่นกัน

ตัวอย่างผลกระทบที่เกิดขึ้นกับแคนาดา เช่น การส่งออกใบพัดกังหันลม หากแคนาดาผลิตจำนวน 100 ชิ้น ก็มีประมาณ 97 ชิ้นส่งออกไปที่อเมริกา จึงไม่น่าแปลกใจว่า หลังจากอเมริกาประกาศขึ้นภาษี แคนาดาเลยบอกว่าอเมริกาทรยศพวกเขา

เมื่ออเมริกาขึ้นภาษีได้ แคนาดาก็จะขึ้นภาษีกับสินค้าของอเมริกา 25% เช่นเดียวกัน รวมทั้งหมดประมาณเกือบ 1.5 แสนล้านดอลลาร์ โดยจะเริ่มดำเนินการที่ประมาณ 3 หมื่นล้านก่อน หลังจากนั้นอีก 20 วัน จะเริ่มทำส่วนที่เหลืออีกประมาณ 1.2 แสนล้านดอลลาร์แคนาดา

นอกจากนี้ แคนาดายังเชิญชวนทุกคนบอยคอตเหล้าของอเมริกา โดยให้นำออกจากชั้นวางสินค้าทั้งหมด แต่ปรากฏว่าการคัดค้านของแคนาดาและเม็กซิโกเกิดขึ้นได้ไม่นาน ก่อนที่จะมีการขึ้นภาษีจริง นายกรัฐมนตรีแคนาดาและนายรัฐมนตรีเม็กซิโกประสานเจรจา พูดคุยส่วนตัวกับประธานาธิบดีทรัมป์ แม้ว่านายกรัฐมนตรีทั้งสองท่านจะบอกตลอดเวลาว่าไม่ยอมตามเงื่อนไขอเมริกา แต่ทรัมป์ก็ยืนยันเดินหน้าตลอด ทำให้หลังจากนั้นนายกรัฐมนตรีทั้งสองต้องยอมสยบ และขอเวลาอีก 30 วัน และระหว่าง 30 วัน ก็ส่งทหารไปเฝ้าพรมแดนที่อยู่ภาคใต้ของอเมริการะหว่างเม็กซิโก แม้ว่าก่อนหน้านี้เม็กซิโกจะปฏิเสธเสียงแข็งว่าไม่ยอมทำก็ตาม

“ทั้งแคนาดาและเม็กซิโกไม่สามารถต่อรองกับอเมริกาได้ เพราเขาอยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีอเมริกา แม้เบอร์หนึ่งอย่างนายกรัฐมนตรีบอกว่าจะต่อสู้ แต่สุดท้ายแล้วก็ไม่สามารถต้านทานกลุ่มนักธุรกิจของ แคนาดากับเม็กซิโกได้ เพราะนักธุรกิจและนักการทูตก็ต้องรู้ดีว่า ถ้าเกิดเดินตามแนวทางนี้ สิ่งที่จะตามมาก็คือความย่อยยับของแคนาดาและเม็กซิโก ก็จําเป็นที่จะต้องยอมความ และเดินตามประธานาธิบดี ทรัมป์”

“ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล” กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพจำกัด (มหาชน)

เข้าใจทรัมป์ ต้องอ่าน “The Art of the Deal”

ดร.กอบศักดิ์ ได้แนะนำให้อ่านหนังสือ “Trump: The Art of the Deal” เพื่อทำความรู้จักทรัมป์ เนื่องจากหลังจากนี้เราต้องอยู่กับเขาอีก 4 ปี เพราะแค่ทรัมป์เข้ารับตำแหน่ง 17-18 วันยังมีคำสั่งมากกว่า 300 คำสั่ง แต่เราต้องอยู่กับทรัมป์เกือบ 4 ปี เชื่อว่าเขาต้องเดินหน้ามากกว่า 1,000 เรื่องแน่นอน เราควรจะความรู้จักเขาด้วยการ อ่าน “The Art of the Deal”

“ผมอ่านแล้ว และคิดว่าในบทที่ 2 เป็นบทที่สำคัญที่สุด เป็นบทที่บอกว่า The Element of the Deal ก็คือว่าองค์ประกอบสําคัญของการเจรจาต่อรอง ซึ่งเขาบอกวิธีการต่อรองว่า เขาเป็นคนที่ชอบต่อรองตั้งแต่หนุ่มจนถึงปัจจุบัน เขาบอกว่าวิธีการต่อรองของเขาต้อง “aim high” ตั้งเป้าไว้สูงๆ แล้วก็พยายามผลักดันจนกระทั่งเขาได้มา”

“บางครั้งอาจจะได้ในสิ่งที่ต่ำกว่าที่คาดไว้บ้าง แต่โดยส่วนมากเขาจะได้ในสิ่งที่เขาต้องการ เขาบอกว่าต้อง think big โดยประเด็นหลักของการ think big ก็คือเขาชอบคิดให้ยิ่งใหญ่ เพราะถ้าเกิดคุณจะต้องตั้งเป้าแล้วก็ตั้งเป้าให้มันยิ่งใหญ่ไปเลย เนื่องจากหลายคนชอบตั้งเป้าเล็กๆ ซึ่งคนเหล่านั้นเป็นคนที่ทำให้ผมได้เปรียบ ก็คือได้เปรียบในการเจรจาสิ่งต่างๆ เพราะเขา think big”

“ขณะเดียวกัน เขาบอกว่า protect the downside คนจำนวนมากคิดว่าทรัมป์เป็นนักพนัน แต่เขาบอกว่าเขาไม่ได้เป็นนักพนัน อย่างเช่น สิ่งที่เขาประกาศภาษี 25% กับแคนาดาและเม็กซิโก ต้องเป็นเรื่องเสี่ยงดวง ถ้าเม็กซิโกหรือแคนาดาไม่ยอมก็ต้องไปสงครามการค้า แต่ความจริงแล้วไม่ใช่เลย ทรัมป์ไม่เคยจะพนันในชีวิตของเขา เพราะเขาบอกว่า คนที่เป็นนักพนันคือคนที่ชอบเล่นสล็อตแมชชีน แต่ทรัมป์บอกว่าเขาชอบเป็นเจ้าของสล็อตแมชชีนมากกว่า เป็นเจ้าของบ่อนด้วยตัวเองก็ดีกว่า”

ดร.กอบศักดิ์บอกต่อว่า เรื่องของ maximze you option ทรัมป์บอกว่าที่สําคัญของชีวิตเขาในการทําดีลต่างๆก็คือ เขาจะต้องมีความเป็นอิสระ flexibility และมีหลายๆ ทางเลือกที่จะสามารถดําเนินการได้ แล้วก็บอกว่าเขาจะไม่เลือกทางใดทางหนึ่งมากจนเกินไป เขาจะมีหลากหลายทางเลือก เพราะว่าที่สําคัญที่สุด เขาจะพยายามจะมีทางเลือกหลายๆ ทางอยู่ในอากาศ เพราะสําหรับเขา keep a lot of balls in air ซึ่งหมายถึงการเก็บทางเลือกหลายหลายทางเอาไว้ เพราะว่าหลายครั้งข้อตกลงเจรจาอาจจะไม่สําเร็จผล แม้ว่าหลายอย่างจะดูว่ามีอนาคตมากเลย แต่หลายอย่างไม่สําเร็จผล

ทรัมป์จึงพยายามเปิดช่องให้กับตัวเอง know your market แต่ที่สำคัญคือ ต้องรู้ว่าสิ่งที่กําลังดําเนินการอยู่คืออย่างไร และที่สําคัญ เขาจะมีสัญชาตญาณในเรื่องนั้น นี่คือสาเหตุว่าทําไม ทรัมป์ไม่จ้างคนไปทำข้อมูลให้ และไม่ค่อยเชื่อคนที่ไปสํารวจทางการตลาดมาให้ เพราะทรัมป์จะสำรวจด้วยตัวเอง แล้วก็สรุปด้วยตัวเอง หลังจากนั้น เขาจะถามทุกคนว่าเขาคิดยังไง ก่อนที่เขาจะตัดสินใจเอง

ดร.กอบศักดิ์บอกว่า ไม่น่าแปลกใจเลย เพราะมีหลายเรื่องที่ประธานาธิบดีแทบไม่ต้องถามใครเลย คิดเอง ตัดสินใจเอง แล้วก็ทวีตเองหรือเอ็กซ์เอง หรือเผยแพร่ในชุดโซเชียลเอง แต่สําคัญที่สุด เขาต้อง use your leverage หมายความว่า สิ่งที่แย่ที่สุดในการเจรจาต่อรองก็คือ คุณไปแสดงท่าทีว่าคุณอยากจะได้มันมากๆ เขาบอกว่านักเจรจาต้องไม่ทำอย่างงั้นเลย เพราะว่ามันทำให้อีกข้างหนึ่งได้กลิ่นเลือด แล้วหลังจากนั้นคุณก็ตายละ เหมือนกับปลาฉลาม เพราะฉลามมันได้กลิ่นเลือดมันก็ตะครุบทันที

ทรัมป์บอกว่า สิ่งที่ดีที่สุดที่คุณจะทําได้ ก็คือเจรจาต่อรองจากความเข้มแข็ง deal from strength ขณะเดียวกัน เขาบอกว่าสิ่งที่คุณสามารถ leverage ได้ ก็คือสิ่งที่เป็นความเข้มแข็งที่ยิ่งใหญ่ โดย leverage เขาหมายถึงสิ่งที่อีกข้างหนึ่งต้องการได้ เช่น ในกรณีของเม็กซิโกกับแคนาดา สิ่งที่เขาอยากได้คือการส่งออกมาที่อเมริกา ทรัมป์รู้จุดอ่อนตรงนี้ดี เขาจึงบอกว่าไม่ได้เป็นนักพนัน เขาไม่ได้เล่นสล็อตแมชชีน เพราะเขารู้อยู่แล้วว่าอีกข้างหนึ่งต้องยอมแน่

นอกจากนี้ ถ้าใครไปศึกษาจะพบว่า วันที่ทรัมป์ประกาศคือวันเสาร์ แต่ว่าเขาทิ้งเวลาไปจนถึงวันอังคารจึงเซ็นประกาศเพื่อบังคับใช้ ทรัมป์ไม่เซ็นประกาศในวันเสาร์เพราะต้องการให้อีกฝั่งหนึ่งได้มีโอกาสหารือ เนื่องจากนายกรัฐมนตรีของแคนาดายังหนุ่ม ต้องเลือดร้อน แต่ว่าเมื่อได้ฟังนักธุรกิจผู้ใหญ่ นักการทูตต่างๆ ในแคนาดา ทำให้เขาต้องเดินตามทางอเมริกา เช่นเดียวกับเม็กซิโก ที่ต้องยอมถอยในที่สุด

ในหนังสือของทรัมป์ ยังบอกอีกว่า control your narative หรือ get you word out เขาบอกว่า สิ่งสําคัญในชีวิตก็คือคุณต้องแตกต่าง คุณต้องมี a little outrages หมายความว่าคุณต้องดูเวอร์ไปหน่อยบ้าง แต่ถ้าเกิดคุณทําสิ่งที่กล้าใหญ่แล้วก็ controversial ก็คือว่ามีข้อถกเถียง ข่าวก็จะตามคุณ แล้วที่สําคัญ คือคุณต้องไม่ให้ข่าวเขียนเรื่องของคุณ แต่คุณต้องทําตัวให้เป็นข่าวตลอดเวลา จนกระทั่งข่าวเขียนตามที่คุณเขียนให้เขา นี่คือสิ่งที่ประธานาธิบดีทรัมป์บอกเอาไว้

“พออ่านทั้งหมดนี้ เข้าใจหมดเลยว่าเขาทําอะไร อยู่เพราะอะไร เพราะว่าตลอด 17-18 วันหลังเข้ารับตำแหน่ง เขาเขียนข่าวด้วยตัวเองหมดเลย เขา control narative ของเขาว่าวันนี้จะทําอะไร วันนี้จะประกาศอะไร แล้วกระบวนการประกาศของเขา แต่ละอย่างก็เวอร์วังอลังการ อย่างเช่น ถ้าเกิดยูเครนจะเลิกหรืออยากให้ได้รับการส่งเสริมต่อ ก็ต้องเอาตัวแร่ธาตุมาให้ ทำให้ตะวันออกกลางก็ต้องต่อรอง แล้วหลังจากนั้นก็เป็นข่าวใหญ่ รวมไปถึงเรื่องของการต่อสู้ด้านสงครามทางการค้า ผมอยากจะแนะนําให้ดูหนังสือเล่มนี้ เพราะการดูหนังสือเล่มนี้จะเข้าใจเกมของอเมริกาว่ากําลังเดินอย่างไร”

ทรัมป์เล็งรื้อ “ข้อตกลง NAFTA”

ดร.กอบศักดิ์บอกว่า หากต้องการรู้จักทรัมป์ ต้องไปตามชุดโซเชียลของเขา เพราะที่ผ่านมาได้ติดตามมาตลอดเวลา โดยในช่วง 10 กว่าวันหลังการรับตำแหน่ง ทั้งเฟซบุ๊กและเอ็กซ์มีเนื้อหาน้อยมาก แต่ถ้าอยากเข้าใจทรัมป์ ต้องไปอ่านในชุดโซเชียล ซึ่งจะพบเป้าหมายที่แท้จริงของการประกาศ 25% ของแคนาดาและเม็กซิโก ซึ่งเริ่มต้นทรัมป์บอกว่าไม่ใช่เรื่องของเขา โดยเขาชอบบอกว่ามันเป็นเรื่องของยาเสพติด มันเป็นเรื่องของตัวของผู้อพยพ

แต่จริงๆ สิ่งที่อยู่ในใจทรัมป์ไม่ใช่ทั้งสองเรื่องนี้ เพราะสิ่งที่อยู่ในใจอย่างแท้จริงและเขาคิดอยู่เสมอคือ “ข้อตกลง NAFTA” ที่เจรจาเมื่อ ค.ศ. 1994 และเป็นสนธิสัญญาการค้าที่ใหญ่ที่สุดของโลก ทรัมป์คิดว่าเป็นสนธิสัญญาที่อเมริกาเสียเปรียบที่สุด เขาบอกว่าเราต้องจัดการมันใหม่ โดยในสมัยแรกที่ทรัมป์เข้ารับตำแหน่ง เขาเคยเจรจา และเรียก USMCA มาร่วม แต่เขายังไม่ได้ในสิ่งที่ดีที่สุด จึงประกาศภาษีนําเข้ากับแคนาดา และ เม็กซิโก

“ทรัมป์บอกว่าเราจะเป็นประเทศที่ไม่โง่เขลาอีกต่อไป เขาคิดว่าประเทศของเขาโง่เขลาอย่างยิ่งที่ไปเซ็นลงนามกับสนธิสัญญาเหล่านั้น เพราะทำให้อเมริกาเสียประโยชน์ ซึ่งเขาบอกในชุดโซเชียลของเขาว่า แคนาดาได้รับการช่วยเหลือจากสหรัฐฯ แค่ไหน แล้วธนาคารสหรัฐฯ อยากจะไปตั้งที่แคนาดาทําไมถึงตั้งไม่ได้ แต่ธนาคารแคนาดามาตั้งที่สหรัฐฯ ได้ ทําไมมันถึงไม่มีความเสมอภาคกัน”

“ทรัมป์คิดว่าข้อตกลงดังกล่าวนํามาถึงความไม่ยุติธรรมในความสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่าย แคนาดา เม็กซิโก ได้มาก แต่ทำไมอเมริกาได้น้อย ก็เลยใช้โอกาสนี้ดำเนินการ ซึ่งถ้าเป็นลักษณะนี้ เชื่อว่าในช่วงต่อไป 30 วันจากนี้ เราต้องศึกษากรณีสงครามการค้าระหว่างแคนาดา เม็กซิโก และอเมริกา ที่จะเกิดขึ้นได้เลย”

ดร.กอบศักดิ์เล่าอีกว่า ถ้านายกรัฐมนตรีแคนาดา และเม็กซิโกเดินตามทางนี้ สิ่งที่ทรัมป์เรียกร้องจะไม่จบแค่นี้ แต่จะมีข้อเรียกร้องเพิ่มเป็น 1, 2, 3, 4 ตามมา เพราะสุดท้ายทรัมป์รู้ว่าเส้นเลือดใหญ่อยู่ตรงไหน ถ้าปิดการส่งออกของแคนาดาและเม็กซิโกไม่ให้เข้าอเมริกา จะนําปัญหาที่ยิ่งใหญ่มาให้ทั้งสองประเทศ และทั้งสองประเทศกลัวเรื่องนี้ อีกข้างหนึ่งก็ต้อง leverage หรือเสียเปรียบ เพราะสิ่งที่ตามมา ก็คือสิ่งที่ต้องยอมทรัมป์มากขึ้นเรื่อยๆ

“ตอนนี้ ทรัมป์เรียกร้องแค่ขอทหารไปเฝ้าพรมแดนให้ ในอนาคต ทรัมป์ต้องขออีกหลากหลายตามมา คุณจะไม่แปลกใจเลยถ้าทรัมป์จะขอต่อไปแล้วบอกว่าขอให้เจรจาใหม่ เพราะว่าดีลเก่ามันไม่ค่อยดี แล้วขอดีลในสิ่งที่เขาอยากได้”

“ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล” กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพจำกัด (มหาชน)

ทำไมขึ้นภาษีจีนแค่ 10%

ส่วนอีกประเทศคือจีน หลายคนตั้งคำถามว่า ทําไมขึ้นภาษีจีนแค่ 10% แต่กับแคนาดาและเม็กซิโกขึ้นภาษี 25% ดร.กอบศักดิ์บอกว่า ที่ผ่านมา อเมริการเคยขึ้นภาษีกับประเทศจีนมาแล้วในช่วงทรัมป์สมัยแรก ตามมาด้วยประธานาธิบดีไบเดน ทำให้ขึ้นรอบนี้ 10% รวมแล้วทําให้ภาษีประมาณ 25% ใกล้เคียงกับเม็กซิโกและแคนาดา

“สิ่งที่สําคัญคือ ทรัมป์ไม่ใช่แค่ประกาศภาษี 10% แต่เขาได้ประกาศยกเลิกสินค้าที่มีราคาถูกกว่า 800 เหรียญดอลลาร์ ห้ามนำเข้าอเมริกา จากในอดีตมีข้อยกเว้นให้สามารถเข้าสู่อเมริกาได้โดยไม่คิดภาษี ทําให้ Temu ส่งสินค้าเข้ามาตีตลาดอเมริกา แต่ต่อไปสินค้าเหล่านี้ต้องเสียภาษี ทำให้จีนโดนมาตรการภาษีจากอเมริการวมกันประมาณ 25% รวมถึงสินค้าที่เคยถูกยกเว้น ก็ได้ถูกยกเลิกการยกเว้นดังกล่าวไปแล้ว”

อย่างไรก็ตาม กรณีของเม็กซิโกกับแคนาดาแตกต่างกับกรณีของประเทศจีน เพราะทรัมป์รู้อยู่แล้วว่าเม็กซิโกกับแคนาดาจะยอมเดินตาม แต่เขารู้ว่าจีนคงจะไม่ยอม เพราะแคนาดากับเม็กซิโกนําเข้าสินค้าและส่งออกสินค้าอเมริกาเป็นสัดส่วนประมาณเกือบ 70-80% ของจีดีพี แต่จีนมีสัดส่วนการค้าโดยนําเข้าและส่งออกประมาณแค่ 37% จึงมีขนาดเล็กกว่า 2 ประเทศ

“ที่สำคัญ สินค้าที่จีนส่งออกมาสู่อเมริกา แล้วก็นําเข้าจากอเมริกา ประมาณแค่ 7.7% ของสินค้านําเข้าทั้งหมดที่จีน ซึ่งหมายความว่า จีนไม่ได้ยุ่งสุงสิงกับอเมริกา ต่อให้มีเอี่ยวกันบ้าง แต่ก็ไม่ใกล้ชิดจนกระทั่งขาดกันไม่ได้ ต่างจากแคนาดาและเม็กซิโกที่ต้องพึ่งพาอเมริกา จึงไม่แปลกใจ ถ้าพบว่าจีนนิ่งมากไม่ออกมาโวยวายอะไรเลย”

อย่างไรก็ตาม “จีน” เลือกที่จะตอบโต้แบบสมน้ำสมเนื้อ โดยการขึ้นภาษี 10-15% สำหรับถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ ขณะเดียวกันก็คิดอีก 10% สำหรับน้ำมันและเครื่องจักรทางการเกษตร และจะไม่ส่งออกแร่ธาตุที่อเมริกาต้องการ เช่น แรร์เอิร์ท ซึ่งทั้งหมดมีสัดส่วนน้อยมากเมื่อเทียบกับที่เป็นเศรษฐกิจของจีน

นอกจากนี้ จีนพร้อมที่จะไปฟ้อง WTO หาก อเมริกาเล่นตุกติกผิดกติกา หลังประกาศว่ากูเกิลน่าจะมีการมีพฤติกรรมแบบยึดครองตลาด จึงสั่งตรวจสอบ ซึ่งจีนตอบโต้ แม้จะเล็กน้อย แต่ต้องจับว่า สงครามการค้าของจีนกับอเมริกาจะเป็นอย่างไร

“ผมอยากคํานวณคร่าวๆ ว่า ผลกระทบกับอเมริกาจะอยู่ประมาณ 5 แสนกว่าล้าน ถ้าจีนส่งสินค้านําเข้ามาที่อเมริกา และขึ้นภาษี 10% ก็หมายความว่าความเสียหายจะอยู่ประมาณ 5 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ที่จะเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้น เพราะรัฐบาลอเมริกาจะรวยขึ้นประมาณ 5 แสนล้านต่อปี แต่ขณะเดียวกัน 5 หมื่นล้าน ตัวผู้บริโภคของอเมริกาต้องเป็นผู้ที่รับภาระส่วนนั้นไป อาจจะฟังดูเยอะนะ แต่ต้องคิดว่ามันต้องเทียบกับตัวของเศรษฐกิจที่ใหญ่ประมาณ 29 ล้านล้านแล้วถือว่าเล็กน้อยมาก จึงไม่น่าแปลกใจว่าทําไมทั้งอเมริกาและจีนสามารถแลกหมัดกันด้วยความสบายใจ เพราะเขารู้ว่าหมัดที่เขายิงไป อีกข้างหนึ่งเตะก้านคอกลับมาไม่มีผลมากนัก”

ดร.กอบศักดิ์มองว่า กรณีของจีนไม่ใช่กรณีเดียวกับเม็กซิโกและแคนาดา เพราะเป็นกรณีที่อเมริกาตั้งใจจะเดินหน้าสงครามการค้าในอีก 4 ปีข้างหน้า และวันนี้คือจุดเริ่มต้นของความขัดแย้ง จะเห็นได้จากกรณีศึกษาของ think tank ในออสเตรเลีย ที่ถามว่าเทคโนโลยีหลักของโลกมี 44 อย่างและในจำนวนนั้นอเมริกาเป็นผู้นําแค่ 7 อย่าง แต่อีก 37 อย่างอเมริกาไม่ได้เป็นผู้นํา แล้วใครคือผู้นํา คำตอบคือจีน

จีนคือผู้นําเทคโนโลยี 37 อย่างใน 44 อย่างที่สำคัญของทั่วโลก โดยจีนเพิ่งเริ่มเปิดประเทศเมื่อปี 2000 หรือ 20 ปีที่ผ่านมา แต่ขณะนี้จีนก้าวมาไกลมาก โดยในอดีตถ้าคิดถึงเซินเจิ้นคือทุ่งนา แต่ปัจจุบันคือมหานครที่ยิ่งใหญ่ เป็นศูนย์กลางของการทําสตาร์ทอัปด้านเทคโนโลยีที่สําคัญที่สุดของโลก

“อเมริกาก็ต้องกังวลใจ เพราะถ้าจีนเดินตามทางนี้ต่อไปในอนาคต อาจจะพ่ายแพ้สงครามเทคโนโลยีหรือไม่ แล้วก็พูดกันถึง DeepSeek พูดถึง Open AI พูดถึง Alibaba ทุกคนก็พยายามแข่งขันเต็มที่ แต่ที่สำคัญคือการแข่งขันมันจะนําไปสู่ความขัดแย้ง และสงครามการค้าเป็นแค่ผลพวง ซึ่งสาเหตุที่แท้จริงของอเมริกาคือกําลังแพ้เทคโนโลยีอยู่หรือไม่”

ติดตามต่อ “ทรัมป์” ป่วนโลก จุดเริ่มสงครามการค้ารอบใหม่ (2 )