ThaiPublica > Sustainability > Climate Action > ไออีเอประกาศว่าโลกมุ่งสู่ยุคสมัยแห่งไฟฟ้าแต่โอเปกแย้งว่ายังแพ้เชื้อเพลิงฟอสซิล

ไออีเอประกาศว่าโลกมุ่งสู่ยุคสมัยแห่งไฟฟ้าแต่โอเปกแย้งว่ายังแพ้เชื้อเพลิงฟอสซิล

31 มกราคม 2025


สุนิสา กาญจนกุล รายงาน

หลังจากมีการค้นพบแหล่งเชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างถ่านหิน น้ำมันดิบ และก๊าซ มนุษย์พึ่งพาเชื้อเพลิงเหล่านี้อย่างหนักเพื่อใช้ประโยชน์ในการสร้างพลังงานต่างๆ ซึ่งเป็นพลังขับดันเศรษฐกิจและอำนวยความสะดวกในชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์

แต่เมื่อปลายปีที่ผ่านมา องค์การพลังงานระหว่างประเทศ (ไออีเอ) ให้ความเห็นว่า ระบบพลังงานทั่วโลกกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ “ยุคสมัยแห่งไฟฟ้า” ซึ่งหมายถึงช่วงเวลาที่ไฟฟ้ากลายเป็นแหล่งพลังงานหลักสำหรับบ้าน เมือง และอุตสาหกรรมต่างๆ แทนที่เชื้อเพลิงฟอสซิล

ยุคสมัยแห่งไฟฟ้ายังก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน เทคโนโลยีต่างๆ ที่ใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลจะถูกแทนที่ด้วยการใช้ไฟฟ้า โดยไออีเอคาดการณ์ว่าอุปสงค์ของถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซจะถึงจุดสูงสุดภายในปลายทศวรรษนี้

ความเห็นดังกล่าวทำให้โอเปก ซึ่งเป็นเสมือนตัวแทนกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมัน ไม่อาจจะอยู่นิ่งเฉยได้ และแสดงความคิดเห็นขัดแย้งว่า เชื้อเพลิงฟอสซิลยังคงครองสัดส่วนพลังงานถึง 80% ของความต้องการทั่วโลกในปัจจุบัน และคำกล่าวอ้างเรื่อง “จุดสูงสุด” ในการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลยังไม่มีท่าทีว่าจะเป็นจริง

หลังจากยุคสมัยของพลังงานจากถ่านหินและน้ำมัน โลกกำลังก้าวเข้าสู่ยุคสมัยของไฟฟ้า โดยมีพัฒนาการอย่างก้าวกระโดด ที่มาภาพ: https://www.mirabaud.com/en/the-view/news-detail/article/1659971344-electrification-a-new-era-for-utilities

องค์การพลังงานระหว่างประเทศหรือไออีเอ (International Energy Agency – IEA) เป็นหน่วยงานอิสระระหว่างประเทศที่ก่อตั้งขึ้นในปี 1974 หลังเกิดวิกฤติน้ำมันครั้งแรก โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมความมั่นคงทางพลังงานระหว่างประเทศสมาชิก ด้วยการให้คำแนะนำด้านนโยบายพลังงาน การวิเคราะห์ข้อมูล และการประเมินแนวโน้มของพลังงานทั่วโลก ปัจจุบัน ไออีเอมีสมาชิก 31 ประเทศด้วยกัน

หน้าที่หลักของไออีเอได้แก่การส่งเสริมความมั่นคงทางพลังงาน สนับสนุนความพร้อมในการตอบสนองต่อวิกฤติพลังงาน กระตุ้นการพัฒนาพลังงานที่ยั่งยืน รวมถึงการผลักดันให้มีการใช้พลังงานหมุนเวียน ปรับตัวเข้าสู่ระบบพลังงานสะอาด และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

นอกจากนั้นไออีเอยังกระตุ้นและส่งเสริมให้มีการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน รวมทั้งให้คำปรึกษาด้านนโยบายไปพร้อมกับวิเคราะห์และจัดทำรายงานต่างๆ

โดยรายงานฉบับสำคัญที่ได้รับความสนใจเสมอมา คือรายงานแนวโน้มพลังงานโลก (World Energy Outlook) และรายงานประจำปี 2024 นั่นเองที่ก่อให้เกิดวิวาทะระหว่างฝ่ายสนับสนุนไฟฟ้าและฝ่ายสนับสนุนเชื้อเพลิงฟอสซิลในครั้งนี้

ขอต้อนรับสู่ยุคสมัยแห่งไฟฟ้า

ตามรายงานดังกล่าว ไออีเอประกาศว่า อนาคตของระบบพลังงานโลกคือไฟฟ้า โดยไออีเอเชื่อมั่นว่าโลกกำลังเข้าสู่ยุคใหม่แห่งการผลิตไฟฟ้า และภายในช่วงสิ้นทศวรรษ 2020โลกจะมีแหล่งพลังงานที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำเพื่อผลิตไฟฟ้ามากกว่าครึ่งหนึ่ง

ดร. เฟธ ไบรอล ผู้อำนวยการบริหารของไออีเอ กล่าวว่า “ในประวัติศาสตร์พลังงาน เราเคยได้เห็นยุคถ่านหินและยุคน้ำมันมาแล้ว และตอนนี้เรากำลังก้าวเข้าสู่ยุคไฟฟ้าอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะกำหนดระบบพลังงานทั่วโลก”

ไออีเอระบุว่า ในปี 2023 ทั่วโลกสามารถผลิตพลังงานสะอาดได้มากเป็นประวัติการณ์ ซึ่งรวมถึงกำลังการผลิตไฟฟ้าหมุนเวียนมากกว่า 560 กิกะวัตต์ และคาดว่าปริมาณการลงทุนด้านพลังงานสะอาดน่าจะสูงถึง 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยประมาณ ในปี 2024 ซึ่งมากกว่าจำนวนเงินที่ลงทุนในเชื้อเพลิงฟอสซิลเกือบสองเท่าเลยทีเดียว

รายงานของไออีเอคาดการณ์ว่าอุปสงค์น้ำมันทั่วโลกจะถึงจุดสูงสุดก่อนปี 2030 โดยอยู่ในระดับต่ำกว่า 102 ล้านบาร์เรล/วัน จากนั้นเมื่อถึงปี 2035 จะลดกลับมาอยู่ที่ระดับเดียวกับปี 2023 นั่นคือ 99 ล้านบาร์เรล/วัน โดยเป็นผลจากความต้องการที่ลดลงในภาคขนส่ง เนื่องจากปริมาณการใช้รถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม ไออีเอมองว่า การผลิตพลังงานสะอาดยังไม่สามารถก้าวทันความต้องการไฟฟ้าทั่วโลกที่เพิ่มขึ้น และแนวโน้มนี้คาดว่าจะดำเนินต่อไปในช่วงปี 2023-2030 เมื่อเป็นเช่นนี้ ส่วนแบ่งของเชื้อเพลิงฟอสซิลในตลาดพลังงานทั่วโลกคาดว่าจะอยู่ที่ 75% ในปี 2030 เทียบกับ 80% ในปัจจุบัน

เปลี่ยนแปลงทุกภาคส่วน

หลายฝ่ายมองว่า หากแนวโน้มด้านพลังงานเป็นไปตามความคาดหมายของไออีเอ โลกจะได้รับประโยชน์อย่างชัดเจนในแง่สิ่งแวดล้อม เพราะถ้าสามารถผลิตไฟฟ้าโดยใช้แหล่งพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด เช่น พลังงานลมและแสงอาทิตย์ แม้จะต้องใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลร่วมด้วยก็ตาม ก็จะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยรวมได้

ไม่เพียงเท่านั้น เทคโนโลยีการใช้พลังงานไฟฟ้ามักจะประหยัดพลังงานมากกว่าเชื้อเพลิงฟอสซิล แม้ผู้บริโภคอาจจะเห็นว่าค่าไฟฟ้าแพงขึ้น แต่ต้นทุนพลังงานโดยรวมจะลดลงในระยะยาวเมื่อเทคโนโลยีที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีไฟฟ้า

ในปัจจุบัน แทบทุกภาคเศรษฐกิจเริ่มมีการใช้พลังงานไฟฟ้าแทนเชื้อเพลิงฟอสซิลมากขึ้นเรื่อย โดยเฉพาะในภาคการขนส่ง อาคาร อุตสาหกรรม และการเกษตร ซึ่งดูเหมือนจะนำหน้าภาคเศรษฐกิจอื่นๆ อยู่บ้าง

แม้แต่ในบางแวดวงที่ดูเหมือนจะไม่น่าเชื่อว่าจะมีความตื่นตัวเรื่องการใช้พลังงานไฟฟ้าทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างเช่นวงการก่อสร้าง ปรากฏว่าเครื่องจักรก่อสร้างหนักที่ใช้พลังงานไฟฟ้ากลายเป็นแนวทางใหม่ที่ได้รับความสนใจอย่างมาก ล่าสุด พื้นที่ก่อสร้างในสวีเดนซึ่งสนใจเรื่องการปลดแอกจากเชื้อเพลิงฟอสซิล สามารถบรรลุการใช้พลังงานไฟฟ้าในเครื่องจักรก่อสร้างหนักถึง 50 % แล้ว โดยเพิ่มขึ้นจาก 10 % เมื่อสองปีก่อน นับเป็นความก้าวหน้าที่รวดเร็วมาก

โอเปกมองต่าง

รายงานของไออีเอทำให้องค์การกลุ่มประเทศผู้ส่งน้ำมันออก (โอเปก) ไม่สามารถอยู่นิ่งเฉย และออกถ้อยแถลงที่แตกต่างออกไป ทั้งนี้ โอเปกก่อตั้งเมื่อปี 1960 มีสมาชิกก่อตั้ง 5 ประเทศ คือ ซาอุดีอาระเบีย อิรัก อิหร่าน คูเวต และเวเนซุเอลา ปัจจุบันมีสมาชิกเพิ่มอีก 7 ประเทศ คือ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ไนจีเรีย แอลจีเรีย ลิเบีย กาบอง อิเควทอเรียลกินี และสาธารณรัฐคองโก รวมเป็น 12 ประเทศ
โอเปกถือเป็นกลุ่มผู้ส่งออกน้ำมันรายสำคัญที่มีผลต่อการขึ้นลงของราคาน้ำมันในตลาดโลกเนื่องจากมีการผลิตและส่งออกน้ำมันในปริมาณมาก

โอเปกเสนอความเห็นว่า แนวคิดที่ว่าระบบพลังงานสามารถกำหนดได้ด้วยแหล่งพลังงานแหล่งเดียวนั้น ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงด้านพลังงานในปัจจุบัน ซึ่งถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ รวมกันแล้วคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 80 % ของพลังงานทั่วโลก

นอกจากนั้น รายงานของไออีเอเองยังระบุว่าความต้องการถ่านหินทั่วโลกเพิ่มขึ้น 2.6% ในปี 2023 จนทะลุสถิติใหม่ 8.7 พันล้านตัน ซึ่งสูงเป็นประวัติการณ์ และแจกแจงด้วยว่า ถ่านหินยังคงเป็นแหล่งพลังงานที่ใหญ่ที่สุดสำหรับการผลิตไฟฟ้า เหล็ก และปูนซีเมนต์

อีกทั้งความต้องการไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นก็ต้องอาศัยการเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าและการขยายเครือข่ายไฟฟ้าอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน โดยรายงานด้านไฟฟ้า ปี 2024ของไออีเอเองคาดการณ์ว่า จะต้องมีการเพิ่มสายไฟบนดินและสายเคเบิลใต้ดินความยาวถึง 80 ล้านกิโลเมตร ภายในปี 2040 ซึ่งแทบจะเท่ากับกำลังการผลิตในช่วง 100ปีที่ผ่านมา แต่กลับจะต้องทำให้สำเร็จภายในเวลาเพียง 15 ปีเท่านั้น

แม้โอเปกจะไม่ได้ประกาศอย่างชัดเจนว่าคำพยากรณ์ของไออีเอนั้นเป็นไปไม่ได้ แต่ดูเหมือนข้อความดังกล่าวก็เป็นการบ่งบอกแบบมีนัยอยู่ดี

ปัจจัยผลักดัน

แม้ความเห็นของสององค์กรสำคัญด้านพลังงานจะขัดแย้งกัน แต่การเปลี่ยนผ่านสู่ยุคสมัยแห่งไฟฟ้าคงเป็นสิ่งที่คงจะต้องเกิดขึ้นอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ขึ้นอยู่กับว่าคำทำนายเรื่องความเร็วและขอบเขตของการเปลี่ยนแปลงของฝ่ายใดจะถูกต้องมากกว่าเท่านั้น

เนื่องจาก แนวโน้มโดยรวมชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่าโลกกำลังเปลี่ยนผ่านสู่ยุคแห่งไฟฟ้า โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลายอย่างด้วยกัน ทั้งการพัฒนาอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีแบตเตอรีที่เป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนการใช้พลังงานไฟฟ้าในยานยนต์และอุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งปัจจุบัน แบตเตอรีมีราคาถูกลง ความจุสูงขึ้น และอายุการใช้งานยาวนานขึ้น

ความกังวลเกี่ยวกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ผลักดันให้ทั่วโลกหันมาใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น ซึ่งการใช้พลังงานไฟฟ้าซึ่งสามารถผลิตได้จากแหล่งพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ขณะเดียวกัน ต้นทุนการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้พลังงานไฟฟ้าเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจและสามารถแข่งขันกับเชื้อเพลิงฟอสซิลได้ดีขึ้น พร้อมๆ กับที่ภาครัฐก็เต็มใจสนับสนุน หลายประเทศทั่วโลกได้กำหนดนโยบายและมาตรการต่างๆ เพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานไฟฟ้า เช่น การให้เงินอุดหนุน การลดหย่อนภาษี ฯลฯ

แม้การเปลี่ยนผ่านสู่ยุคแห่งไฟฟ้าจะยังมีความท้าทายต่างๆ ในแง่โครงสร้างพื้นฐาน ความมั่นคงของระบบไฟฟ้า ต้นทุนแรกเริ่ม และความพร้อมของเทคโนโลยี แต่มีความเป็นไปได้สูงมากว่าเรากำลังก้าวเดินไปสู่ยุคสมัยแห่งไฟฟ้า

ทางออกที่ดีที่สุด จึงน่าจะได้แก่การหาทางแก้ไขและหลีกเลี่ยงอุปสรรคและความท้าทายต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น เพื่อให้การก้าวเข้าสู่ยุคสมัยแห่งไฟฟ้าสามารถเป็นไปได้อย่างราบรื่นและมั่นคงยั่งยืน

ข้อมูลอ้างอิง:

https://www.iea.org/spotlights/the-world-is-moving-at-speed-into-the-age-of-electricity
https://www.reuters.com/business/energy/age-electricity-follow-looming-fossil-fuel-peak-iea-says-2024-10-16/
https://www.cnbc.com/2025/01/22/renewable-energy-giants-shrug-off-trumps-anti-wind-policies.html
https://www.energy.gov/electricity-insights/what-electrification
https://www.opec.org/opec_web/en/7386.htm
https://cleantechnica.com/2025/01/22/worksite-in-sweden-reaches-50-electrification/