ThaiPublica > ประเด็นร้อน > Adaptation รับมือโลกเดือด > “สมพร ช่วยอารีย์“ ชี้คนไทยสอบตกความปกติใหม่ภัยพิบัติ ต้อง ‘เอ๊ะ’ เป็น – ‘Adaptation’ ไม่ทำไม่รอด ลุย PBWatch ให้อยู่ในวิถีชีวิต

“สมพร ช่วยอารีย์“ ชี้คนไทยสอบตกความปกติใหม่ภัยพิบัติ ต้อง ‘เอ๊ะ’ เป็น – ‘Adaptation’ ไม่ทำไม่รอด ลุย PBWatch ให้อยู่ในวิถีชีวิต

21 มกราคม 2025


“สมพร ช่วยอารีย์” ชี้คนไทยสอบตกความปกติใหม่กับภัยพิบัติ แนะภูมิคุ้มกันที่ดีต้องมีวิตามิน “เอ๊ะ-อึ๊-อ๋อ” ให้อยู่ในวิถีชีวิต ทุกคนต้อง ‘Adaptation’ ไม่ทำไม่รอด ติงหน่วยงานรัฐ ‘ขาดใจ’ เชื่อมกัน ลุย PBWatch สร้างกระบวนการเรียนรู้ให้ชุมชน

ผศ.ดร. สมพร  ช่วยอารีย์ ผู้อำนวยการสำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยวงขลานครินทร์ และประธานโครงการเฝ้าระวังภัยพิบัติลุ่มน้ำปัตตานี (PB Watch)

นอกจากสถานการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนใต้ พื้นที่จังหวัดปัตตานี-ยะลา-นราธิวาส ยังต้องเผชิญกับภัยพิบัติที่ซ้ำเติมกับปัญหาเดิมให้หนักยิ่งขึ้น

หนึ่งในเหตุการณ์ที่รุนแรงที่สุดคือ ‘ภัยพิบัติ’ ดีเพรสชั่นและการเกิดคลื่นเซช (Seiche) บนพื้นที่ชายฝั่งอ่าวไทยเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2553 ได้สร้างความเสียหายกับหมู่บ้านชายทะเล โดยเฉพาะอย่างยิ่งหมู่บ้านที่อยู่รอบอ่าวปัตตานี ทำให้เครื่องมือประมง และบ้านเรือน ของประชาชนเสียหายโดยสิ้นเชิง

เมื่อเหตุการณ์สิ้นสุดลง คณาจารย์จากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ม.อ.ปัตตานี และภาคประชาสังคม ได้เข้าสำรวจพื้นที่ และพัฒนาเป็น “โครงการเฝ้าระวังภัยพิบัติลุ่มน้ำปัตตานี” หรือ “PBWatch” (PattaniBay Watch) เพื่อแก้ปัญหาเชิงลบที่เกี่ยวข้องกับภัยพิบัติ โดยเฉพาะการขาดความรู้และความเข้าใจ ความไม่มีสติ ขาดกลไกและแผนในการตั้งรับกับสถานการณ์ โดยผศ.ดร. สมพร ช่วยอารีย์ ผู้อำนวยการสำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยวงขลานครินทร์ และประธานโครงการเฝ้าระวังภัยพิบัติลุ่มน้ำปัตตานี (PBWatch) เป็นผู้ร่วมก่อตั้งโครงการ

“ผมถามนักวิชาการญี่ปุ่นว่า คุณทำอย่างไรให้คนของคุณตระหนักต่อการเตรียมความพร้อมอยู่ตลอดเวลา…เขาบอกว่า คนตื่นตัวด้วยสิ่งที่เกิดขึ้นและอยู่ในวิถีของเขา เพราะแผ่นดินไหวไม่รู้จะเกิดเมื่อไร…ฟิลิปปินส์เจอพายุ 10 ถึง 20 ลูกต่อปี เขาทำเป็นเรื่องวิถีว่าจะต้องอยู่กับสิ่งเหล่านี้ ผมเห็นเพื่อนฟิลิปปินส์ก็ไม่ได้ตื่นเต้นอะไรกับพายุที่มา บ้านฉันรับมือกับพายุไต้ฝุ่นได้ แต่ไม่ทุกคน มีคนล้มหายตายจาก มันมีความเสี่ยงแตกต่างกัน”

แต่เมื่อภัยพิบัติเกิดขึ้นในประเทศไทย คนไทยไม่รู้ว่าภัยพิบัตินั้นรุนแรงแค่ไหน ทำให้ไม่ตระหนักว่าต้องเตรียมการอะไร ดังนั้น PBWatch จึงเข้ามาปิดจุดบอดตรงนี้

เสริมวิตามิน “เอ๊ะ-อึ๊-อ๋อ” ภูมิคุ้มกันยามภัยพิบัติ

ผศ.ดร.สมพร กล่าวต่อว่า PB Watch ใช้เครื่องมือ 2 ส่วนมาผสมผสานกันคือ (1) ภูมิปัญญา และ (2) เทคโนโลยี โดยอาจารย์ นุกูล รัตนดากุล เป็นตัวแทนด้านภูมิปัญญาและเรื่องเล่าในพื้นที่ ส่วน ผศ.ดร. สมพร ช่วยอารีย์ เป็นตัวแทนด้านเทคโนโลยี ซึ่งทั้งหมดคือแนวคิดแบบ Software (เทคโนโลยี-แอปพลิเคชั่น) Hardware (อุปกรณ์-เครื่องมือ) และ Peopleware (กระบวนการ-องค์ความรู้-คน) จากนั้นถ่ายทอดวิธีการให้กับชาวบ้านและชุมชนในพื้นที่รู้จักปรับตัวตามภัยพิบัติและสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป (Adaptation)

การทำงานของ PBWatch ประกอบด้วย 2 ยุทธศาสตร์หลัก คือ (1) สร้างกลไกในการประสานงานการฟื้นฟูภายในพื้นที่ ให้ชุมชนมีส่วนร่วมในระดับสูงที่สุด และออกแบบกลไกเชิงระบบเพื่อตั้งรับกับสถานการณ์ภัยพิบัติต่างๆ ในอนาคต และ (2) สร้างกลุ่มอย่างไม่เป็นทางการในชุมชนที่ทำงานอย่างมีธรรมาภิบาลร่วมกับกลุ่มผู้นำอย่างเป็นทางการ ในการประสานงานกิจกรรมฟื้นฟู

โดยแผนดำเนินการจะถูกกำหนดภายในกรอบระยะเวลา 6 เดือน

  • เดือนที่ 1 ขั้นเตรียมการ เริ่มจากลงพื้นที่เข้าไปในชุมชนและร่วมพูดคุยกับทุกชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ หาแกนเพื่อทำงานประสานแกน
  • เดือนที่ 2 – เดือนที่ 3 ขั้นความรู้และภูมิปัญญาในการจัดการ เพื่อให้ชุมชนสามารถยืนได้ด้วยขาของตนเอง เน้นการช่วยเหลือไม่ให้ชุมชนอ่อนแอ ผ่านการอบรมต่างๆ และประชุมย่อยร่วมกัน พร้อมถ่ายทอดบันทึกเรื่องเล่าและสื่อในรูปแบบต่างๆ
  • เดือนที่ 4 – 5 ขั้นความรู้และภูมิปัญญาในการจัดการ โดยเรียนรู้จากเครือข่ายที่เคยประสบภัยพิบัติมาก่อน เช่น กรณีสึนามิ บ้านน้ำเค็ม และกลุ่มนักวิชาการด้านการเตือนภัยธรรมชาติจำลองเหตุการณ์ต่างๆ เช่น การหนีภัย ฯลฯ จากนั้นต่อยอดความรู้เดิมและผนวกความรู้ใหม่
  • เดือนที่ 6 ขั้นแผน-รูปแบบการฟื้นฟูภัยพิบัติ โดยสรุปบทเรียน และสื่อสารตัวอย่างการจัดรูปแบบการฟื้นฟูภัยพิบัติ
  • “เราชวนคนมาเรียนรู้มาฝึกอบรม ทั้งด้านสารสนเทศและวิธีการอ่านข้อมูลฝน ฟ้า อากาศ ข้อมูลเรดาร์ ข้อมูลลม วิเคราะห์ในพื้นที่ว่าเสี่ยงอะไร กระบวนการเตรียมงานแต่ละพื้นที่ก็แตกต่างกัน ขึ้นกับว่ารับภัยอะไร มีตั้งแต่คลื่นลมทะเล ลมพัดแรง ฝนตกหนัก น้ำกัดเซาะชายฝั่ง”

    “ผมถามง่ายๆ ถ้าคุณติดและออกจากบ้านไม่ได้ อาหารที่อยู่ในบ้านคุณตอนนี้อยู่ได้กี่วัน มีคนตอบ 1 วัน ผมบอกกลับไปทำใหม่เลย ไม่รอดแน่นอน…ตอบ 3 วัน ก็ดีกว่าเดิม เพื่อนอาจเข้ามาช่วยได้ทัน แต่อาจอดสักวันสองวัน แต่ก็ไม่รอด…ตอบ 5 วัน ซึ่งเป็นคำตอบที่คนตอบมากสุด ก็ไม่รอด…ผมบอกเขาเตรียมกัน 3 เดือน หรือชาวบ้านคิดว่าเตรียมข้าวสาร 4 กระสอบก็กินพอ เพราะปีก่อนๆ ไม่มีน้ำท่วม เมื่อก่อนฝนตกอย่างต่อเนื่อง ท่วมก็ท่วมไป แต่ปัจจุบันเทตูมแล้วก็หยุด แล้วเทวดาก็ไปเทที่อื่นต่อ”

    “จำลองฝนให้เห็นว่าน้ำจะไหลอย่างไร แล้วไปซ้อนกับข้อมูลบ้านของเขา พอเขาเห็นแล้ว จะเริ่มเข้าใจบริบทจริง เริ่มไปชี้ว่าตรงไหนเปราะบาง ตรงไหนน้ำท่วมทุกปี สะพานขาดทุกปี”

    ผศ.ดร.สมพร บอกว่า คำถามจะนำไปสู่กระบวนการคิด โดยคำถามหนึ่งที่มักจะถามคือ ถ้าฝนตกลงมาปริมาณนี้ติดต่อกัน น้ำจะท่วมไหม อย่างไร และค่อยๆ จำลองภาพไปเรื่อยๆ เช่น จากฝนตก 1 วันเป็น 2 วัน และถ้าตกมากกว่านั้นต้องปรับตัวอย่างไร ยิ่งกว่านั้นคือการเตรียมตัว ทั้งด้านอาหาร การติดต่อสื่อสาร การเดินทาง การเอาชีวิตรอด ตลอดจนการปิดความเสี่ยงด้านเกษตรกรรม ซึ่งเป็นอาชีพของชาวบ้าน

    ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ของ PBWatch และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ต้องมีองค์ความรู้เรื่องภัยพิบัติ เพื่อให้รับมือกับสถานการณ์จริงได้เช่นกัน

    “ผมเริ่มจำลองสถานการณ์ให้เขาได้คิด ‘เอ๊ะ’ และตั้งคำถาม เหมือนวิตามินเอ๊ะ ใส่เข้าไปทำให้เขาเกิดกระบวนการตั้งคำถามกับตัวเอง ไปเชื่อมโยงกับบ้านของตัวเอง”

    ที่สำคัญ วิตามินเอ๊ะนับเป็นภูมิคุ้มกันป้องกันข่าวลือ หรือข้อมูลที่ทำให้ตื่นตูม

    “บางคนใน TikTok เปลี่ยนจากแม่ค้ามาเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านอุตุฯ ฝนฟ้าอากาศ สร้างความตระหนกให้คน แต่ได้ follower เป็นแสน ต่อไปขายของสบาย มันเป็นการฉวยโอกาสแบบนี้ในหน้าสื่อ เขาไม่ได้ผิดหรอก แต่ถ้าพลาดไป มันคือชีวิตของคน”

    “ชาวบ้านโทรมาถามว่า คลื่นในอ่าวไทย 5 เมตร คนจะวิ่งกันแล้ว ผมบอกอย่าเพิ่งวิ่ง ขอดูก่อน พอดูข้อมูลแล้ว ผมบอกไม่เห็นอะไรสุดท้ายมันเป็นการจำลองค่าที่ผิดพลาดจากหน่วยงานไหนไม่รู้”

    นอกจากวิตามินเอ๊ะ ผศ.ดรสมพร เสริมว่ายังมีวิตามินอีก 2 ชนิดคือ วิตามิน ‘อึ๊’ (เสียงอุทาน) และวิตามิน ‘อ๋อ’ ดังนั้นเมื่อรวมกัน 3 วิตามินแล้วจะกลายเป็นภูมิคุ้มกัน ‘เอ๊ะ-อึ๊-อ๋อ’

    “เอ๊ะ คือตั้งคำถาม ส่วน ‘อึ๊’ เป็นก๊อกสองของเอ๊ะ พยายามให้ไปวิเคราะห์บ้านตัวเอง มีคนป่วยติดเตียงไหม มีคนคนตั้งครรภ์ไหม เพื่อนร่วมบ้านจะเป็นอย่างไร หรือไม่ใช่แค่ตัวคุณอพยพไป สัตว์ก็ต้องพาไปด้วย ทำให้เขาได้เชื่อมโยงกับคำถามบริบทพื้นที่ หรือเตรียมอาหารให้วัวยังไง ถ้าน้ำท่วม 2 เดือน คุณจะเอาหญ้าที่ไหนให้วัว โซลาร์เซลล์-ปั๊มน้ำ จะต่อ จะออกแบบอย่างไร สุดท้ายวิตามิน ‘อ๋อ’ คือเข้าใจและได้คำตอบ มีภูมิคุ้มกันบางอย่างที่หาคำตอบด้วยตัวเองได้”

    Adaptation : ไม่ปรับ-ไม่รอด

    ผศ.ดร.สมพร เล่าว่า ช่วงแรกของการตระเวนสอนเริ่มจากขับรถมอเตอร์ไซค์ไปตามพื้นที่ต่างๆ ต่อมาเปลี่ยนเป็นขับรถยนต์ และติดโซลาร์เซลล์บนหลังคารถ เพื่อแสดงให้เห็นเรื่องการจัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนั้นก็โพสต์ความรู้และไลฟ์บนเฟซบุ๊ก

    ผศ.ดร.สมพร เล่าอีกว่า ชาวบ้านหลายคนมีความตั้งใจในการเรียนรู้มาก ยอมนั่งรถกระบะอัดกันมา และหลายคนไม่เคยจับคอมพิวเตอร์-เมาส์ทั้้งชีวิต บางครอบครัวพาพ่อแม่ลูกมานั่งเรียนกันทั้งบ้าน ต่อมาคนเริ่มมีสมาร์ทโฟนมากขึ้น ทำให้การใช้เทคโนโลยีง่ายขึ้น สุดท้ายทำให้ชาวบ้านมีความรู้และความเข้าใจในการรับมือภัยพิบัติมากขึ้น

    แอปพลิเคชั่น Windy คือเทคโนโลยีที่สามารถอ่านค่าต่างๆ ได้ โดยในแอปพลิเคชั่นจะแสดงข้อมูลต่างๆ ตั้งแต่ฝนฟ้าอากาศ ไปจนถึงระดับความร้อน ก๊าซต่างๆ หรือเรียกได้ว่ามีตั้งแต่ระดับพื้นฐานไปจนถึงระดับยาก แต่สำหรับการเรียนการสอนให้ชาวบ้านจะเน้นให้ดูค่าปริมาณฝนสะสม 24 ชั่วโมง รวมไปถึงดูทิศทางลม เมื่อนำสองตัวแปรนี้มาประกอบกันจะเห็นทันทีว่า ฝนจะตกหนักหรือไม่ ปริมาณเท่าไร ที่สำคัญคือน้ำจะท่วมหรือไม่ และท่วมหนักขนาดไหน

    “ถ้าเอามาใช้กับบริบทบ้านตัวเองจะรู้ว่า ฝนกำลังเคลื่อนที่จากทิศนี้ด้วยความเร็วเท่าไร กี่นาทีมาถึง ตากผ้าไว้ต้องจัดการอย่างไร มันจะเห็นการดำเนินชีวิต การรับมือ เห็นวันต่อวันได้เลย นี่คือสิ่งที่เราอยากจะเอาไปใส่ในวิถีชีวิตของประชาชน”

    สิ่งเหล่านี้คือ adaptation ที่ชาวบ้านต้องเรียนรู้และปรับตัวตามบริบท โดย ผศ.ดร.สมพร ยกตัวอย่างเรื่องชาวบ้านที่ปลูกพืชเกษตร ซึ่งจำเป็นต้องรู้ฟ้า-ฝนและความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ แม้โดยปกติพืชเกษตรจะมีรอบเก็บเกี่ยวตามฤดูกาลของแต่ละชนิด แต่ในโลกที่ภัยพิบัติเป็นความปกติใหม่ ทำให้เกษตรกรต้องนึกตลอดเวลาว่าจะเก็บเกี่ยวพืชตอนไหน หรือ cut loss อย่างไรให้เสียหายน้อยที่สุด เพราะหากไม่ทำอะไรเลยจะมีแต่ความเสียหาย

    อย่างไรก็ตาม บทเรียนนี้ไม่มีแบบทดสอบหลังเรียนอย่างในสถาบันการศึกษา หากบททดสอบที่แท้จริงคือ การเผชิญหน้าและเอาตัวรอดจากภัยพิบัติในโลกแห่งความเป็นจริง

    “ไม่ได้ดูว่าใครสอบตกแล้วต้องลงโทษ แต่บทลงโทษมันคือชีวิตและทรัพย์สินที่ต้องสูญเสียทรัพย์สินหรือชีวิต แต่เราไม่อยากให้เขาสูญเสียอะไรเลย”

    ไทยสอบตกเรื่องภัยพิบัติ-องค์ความรู้การใช้ชีวิต

    ผศ.ดร.สมพร กล่าวต่อว่า การศึกษาไทยแทบไม่มีการสอนและเปิดสาขาการเรียนเรื่องอุตุนิยมวิทยา ทั้งที่ฝนฟ้าอากาศเป็นเรื่องที่กระทบต่อทุกชีวิต ตั้งแต่แม่ค้าขายกล้วยทอด นักบิน ไปจนถึงภาคธุรกิจ ดังนั้น รัฐควรให้ความสำคัญอย่างจริงจัง และสอดแทรกองค์ความรู้ไปตั้งแต่ระดับอนุบาล เพื่อทำให้ความรู้ฝนฟ้าอากาศอยู่ในวิถีชีวิตของผู้คน

    การสื่อสารภัยพิบัติของไทยยังบกพร่องอยู่มาก ทั้งเรื่องข้อมูลและวิธีการสื่อสาร ซึ่งแต่ละพื้นที่จำเป็นต้องหาช่องทางการสื่อสารที่เหมาะสมตามบริบทพื้นที่

    ผศ.ดร.สมพร กล่าวต่อว่า ตัวอย่างเช่น พื้นที่ในสามจังหวัดชายแดนใต้จะมีโทรโข่งและลำโพงในทุกตำบล ซึ่งใช้ทั้งการสื่อสารข้อมูลข่าวสารอุตุนิยมวิทยาและมัสยิดก็ใช้สื่อสารด้วย ซึ่งเป็นตัวอย่างของพื้นที่ที่ผู้นำทางศาสนามาใช้ประโยชน์จากเครื่องมือสื่อสาร

    ผศ.ดร.สมพร เสริมว่า การสื่อสารต้องทำตั้งแต่ระดับครัวเรือนไล่ไปถึงชุมชน โดยไม่จำเป็นต้องใช้คนเยอะ ขอแค่อาสาสมัคร 5 คนที่อ่านข้อมูลได้ และกระจายข้อมูลในระดับชุมชนของตัวเอง จากนั้นค่อยขยายผลไประดับพื้นที่ที่ใหญ่ขึ้น

    “เรากำลังจะเข้าสู่ฤดูฝนแล้วนะพี่น้อง หรือฤดูแล้งมาแล้ว ใช้น้ำอย่างมีคุณค่า หลายกระบวนการตั้งแต่รดน้ำต้นไม้ไปถึงล้างจาน”

    สิ่งที่ต้องทำถัดมาคือ การพัฒนาชุดองค์ความรู้ หรือที่ ผศ.ดร.สมพร ใช้คำว่า ‘ซีรี่ส์’ ซึ่งคล้ายกับองค์ความรู้แต่ละด้าน เพราะทุกวันนี้คนใช้ชีวิตบนซีรี่ส์วิถีชีวิต แต่ในซีรี่ส์วิถีชีวิตไม่มีซีรี่ส์เรื่องภัยพิบัติ

    เช่น ซีรี่ส์เรื่องน้ำ (ท่วม) จะต้องระบุเรื่องการปรับตัวต่างๆ วิถีชีวิต อาชีพ ภัยพิบัติ รวมกันเป็นปฏิทินสะท้อนให้เห็นว่า เดือนไหนควรทำอะไร ภัยพิบัติจะมาเมื่อไร รวมถึงแบ่งประเภทปฏิทินเช่น ปฏิทินเพาะปลูก ปฏิทินอาหาร ปฏิทินสุขภาวะ โดยนำข้อมูลปฏิทินทั้งหมดมารวมกันเป็นแผนที่ แล้วให้กับทุกบ้าน เพราะถ้าชาวบ้านเห็นอนาคตว่าจะเกิดอะไรขึ้น เมื่อนั้นการวางแผ่นย่อมเกิดขึ้น

    “เช่นเดียวกับภัยพิบัติ มันต้อง detect ได้ ผมคิดว่าอนาคตจะเสี่ยงกว่านี้อีก ภัยพิบัติอาจเป็นเรื่องธรรมดา ภัยทางโซเชียลอาจจะหนักกว่า ซึ่งตอนนี้มิจฉาชีพมันหลอกเงินกันวุ่นวาย นี่คือสิ่งที่ประชาชนอยู่ท่ามกลางความเปราะบางมาก แค่เราให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับประชาชน ขนของขึ้นที่สูง แค่นี้ก็ลดความเสียหายแล้ว”

    “เราตายกัน 30 กว่าศพในช่วงภัยพิบัติที่ผ่านมา เราสอบตกมหาศาลเลย มันไม่ควรจะเป็นแบบนี้ พายุมาเรายังบอกคนได้ ไม่ตายสักคน แต่ฝนตกน้ำท่วมธรรมดาตกหนัก ตาย 37 คน สอบตกอย่างแรง”

    หน่วยงานรัฐไทย ขาด ‘ใจ’connected และ connect-ติด

    ผศ.ดร.สมพร ตั้งคำถามว่า ความสูญเสียที่เกิดขึ้นทำให้ภาครัฐต้องเข้ามา ‘เยียวยา’ แต่สิ่งที่ดีกว่าคือ ภาครัฐอาจหักเงินจากงบเยียวยาสัก 20% มาทำเรื่องการปรับตัวให้อยู่รอดกับสภาพแวดล้อมภัยพิบัติ ไม่ใช่ต้องรอประกาศพื้นที่ภัยพิบัติก่อน ทั้งที่รู้ว่าน้ำจะท่วม แล้วให้ประชาชนค่อยมารอช่วยเหลือเยียวยาที่ปลายเหตุ

    “เรามีเครืองมือ ข้อมูลที่รู้ล่วงหน้าได้ว่าจะเกิดน้ำท่วม หรือภัยพิบัติ สามารถใช้เงิน แทนที่จะเอาไปเยียวยาหลังเกิดเหตุ เยียวยาก่อนเกิดเหตุ ให้เงินเขาเอามาป้องกัน อพยพคน เตรียมอาหาร ขนย้ายของ ทรัพย์สิน ความเสียหายจะน้อยกว่ารอให้เกิดเหตุแล้วมาเยียวยาและทรัพย์สินก็เสียหายน้อยกว่า”

    ผศ.ดร.สมพร กล่าวต่อว่า นักวิชาการต้องมองเรื่องการบริการและรับใช้สังคม ผ่านการให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ไม่ใช่ทำเพื่อตำแหน่งทางวิชาการเพียงเท่านั้น

    ผศ.ดร.สมพร กล่าวต่อว่า ทุกหน่วยงานต้องทำงานร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็น ฝ่ายวิชาการ-ภาครัฐ และภาครัฐ-ภาครัฐ โดยเฉพาะกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กับกรมอุตุนิยมวิทยา ต้องประสานข้อมูลกัน และไม่กั๊กข้อมูล

    “มันจะต้องทำงานแบบไม่ใช่ซูเปอร์แมน ไม่มีใครจบกระบวนการด้วยตัวเองได้ทั้งหมด ข้อมูลทุกหน่วยงานต้องเชื่อมกันหมด เพื่อเอามาใช้ให้เกิดประโยชน์ แต่จะเห็นว่าเราการทำงาน เรา “ติดปัญหา” เรื่องการทำงานร่วมระหว่างหน่วยงาน ต้องมานั่ง MOU มีข้อมูลในมืออยู่แล้วแต่ให้ไม่ได้ ต้องให้อธิบดีอนุมัติก่อน มันจะไปรับใช้สังคมได้ทันได้อย่างไร”

    “ผมอยากจะเห็นภาพของการเอาข้อมูลมาเป็น open data มีถังข้อมูลกลาง ที่มีการอัพเดต ข้อมูลวิถีชีวิตที่มอนิเตอร์ประมง สวนยาง เกษตร พื้นที่ลาดชัน ตลาด แต่ทุกวันนี้ไม่รู้ข้อมูลปีไหน ไม่ทันสถานการณ์ มันแก้อะไรไม่ได้ ถ้าจะทำจริง เชื่อว่าต้องทำได้”

    พร้อมกล่าวย้ำว่า…

    “แม้ทุกหน่วยงานจะมีทรัพยากรกับเครื่องมือที่ค่อนข้างเพรียบพร้อม แต่เหตุผลที่ทำให้การจัดการภัยพิบัติในประเทศไทยยังไม่ก้าวหน้าคือ หน่วยงานรัฐ ‘ขาดใจ’ จะทำ”

    “มันขาดใจ…ใจเพื่อส่วนร่วมเพื่อทำให้เกิดประโยชน์กับสังคม ไม่ใช่เขาไม่มีใจ แต่ใจมันขาด connected และ connect-ติด เขามีข้อมูลเยอะ แต่มันต้อง integrated คำถามคือ ใครจะมานั่งหัวโต๊ะ”