ThaiPublica > ประเด็นร้อน > Adaptation รับมือโลกเดือด > “ปลัดกระทรวงทรัพย์ฯ” เปิดแผน “NAP” รับโลกเดือด ชี้ “Adaptation” ถ้าไม่ปรับ เราไม่รอด

“ปลัดกระทรวงทรัพย์ฯ” เปิดแผน “NAP” รับโลกเดือด ชี้ “Adaptation” ถ้าไม่ปรับ เราไม่รอด

22 ธันวาคม 2024


“จตุพร บุรุษพัฒน์” ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประกาศความสำเร็จไทยนำหน้าอาเซียนลดก๊าซเรือนกระจกได้ 30% ก่อนเป้าหมายในปี 2030 พร้อมเปิดแผนชาติปรับตัวรับโลกร้อน จัดทำแผนเสี่ยงภัยและพื้นที่ปลอดภัยทั่วประเทศ ตั้งศูนย์โลกร้อนและมิสเตอร์โลกร้อนประจำจังหวัด ลุยสร้างความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ “ถ้าไม่ปรับ เราไม่รอด”

นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

รายงานการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในที่ประประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติ หรือการประชุมโลกร้อน ‘COP29’ ระหว่างวันที่ 11-22 พฤศจิกายน 2024 ที่กรุงบากู อาเซอร์ไบจาน พบว่า ทั่วโลกยังปล่อยคาร์บอนในปี 2567 สูงถึง 57,000 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี ทำให้เป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอนไม่เกิน 33,000 ล้านตันต่อปีภายในปี 2030 ดูจะเป็นเรื่องยาก

ขณะที่ความคืบหน้าในการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย สามารถลดคาร์บอนได้ 30% ก่อนปี 2030 ที่ประกาศไว้ แม้จะเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่ถึง 1% แต่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศอยู่อันดับที่ 9 ของโลก ทำให้การขับเคลื่อนมาตรการในการลดก๊าซเรือนกระจก (mitigation) และการปรับตัว (adaptation) มีความสำคัญในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ไทยให้ความสำคัญทั้งในเรื่องของการลดก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัว โดยมีแผนปฏิบัติคู่กันไป ซึ่งในเรื่องของการลดการเรือนกระจก ได้เสนอทำรายงานแห่งชาติ (Fourth National Communication: NC4) ไปยังสหประชาชาติ ตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change หรือ UNFCCC) ว่าไทยสามารถลดก๊าซก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 30% ได้ก่อนปี 2030 และกำลังเดินหน้าลดก๊าซเรือนกระจกในขั้นต่อไป

“เราเคยประกาศเป้าหมายจะลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 30% ภายในปี 2030 แต่ตอนนี้เราได้ทำบรรลุเป้าหมายแล้ว เนื่องจากประเทศไทยปล่อย 385 ล้านตันคาร์บอน แต่คำนวณจากภาคป่าไม้ดูดซับคาร์บอนและมาตรการของภาคเอกชน ทำให้ไทยลดคาร์บอนฯ ได้ตามเป้าหมายเร็วกว่าที่กำหนด”

หลังการส่งรายงานแห่งชาติว่าด้วยเรื่องการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของไทยโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างสหประชาชาติจะเข้ามาตรวจสอบและรับรองผลการลดคาร์บอนว่า ไทยสามารถดำเนินการได้จริงตามข้อมูลที่รายงานไปหรือไม่

“การลดก๊าซเรือนกระจกต้องพึ่งพาเอกชน และต้องยอมรับว่าภาคเอกชนของเราค่อนข้างเข้มแข็ง เจ้าใหญ่ๆ ทั้ง ปตท. ปูนซีเมนต์ และเอกชนรายอื่นๆ ประกาศเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกและมีมาตรการรูปธรรมที่ดำเนินการ ทำให้ไทยสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ก่อนเป้าหมายที่กำหนดไว้”

อย่างไรก็ตาม ในการประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติครั้งที่ 28 หรือ COP28 ที่นครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ประเทศสมาชิกได้เรียกร้องให้เพิ่มเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกเพิ่มเป็น 43% แม้จะยังไม่มีมติจากที่ประชุมยืนยัน แต่ประเทศไทยได้เตรียมเพิ่มระดับในการลดก๊าซเรือนกระจกให้มากขึ้น

“การลดก๊าซเรือนกระจกเพิ่มไม่ได้ง่ายแม้จะเพิ่มแค่ 3% ซึ่งหลังจากนี้เราจะยกระดับการเข้าถึงเงินทุน เทคโนโลยี นวัตกรรม เพื่อลดก๊าซเรือนกระจก และเงินการลงทุนในการปรับตัวรับมือกับความเปลี่ยนแปลง”

สั่งเตรียมโครงการยื่นขอทุน “Adaptation” รับโลกเดือด

การยกระดับในการดำเนินการเพื่อลดก๊าซเรือนกระจกอาจต้องใช้เงินทุน เพื่อให้เข้าถึงเทคโนโลยี และนวัตกรรม แม้ความหวังจากการประชุมโลกร้อน “COP29” กรุงบากู ประเทศอาเซอร์ไบจาน ที่ประเทศพัฒนาแล้วจะลงขันเงินทุนจากล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี เหลือเพียง 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีหรือราว 10.2 ล้านล้านบาท และยังไม่มีความชัดเจนถึงเงื่อนไขการขอรับทุนสนับสนุน แต่ไทยในฐานะประเทศกำลังพัฒนาก็เตรียมความพร้อม โดยรวบรวมโครงการที่จะเสนอเพื่อขอรับทุน จะได้ดำเนินการได้ทันที

“กติกาโลกยังไม่ชัดเจน แต่เรารอให้มีมาตรการที่ชัดเจนก่อนไม่ได้ ผมสั่งเตรียมความพร้อมเอาไว้เลย ให้ทุกกรมศึกษาและตั้งโครงการเอาไว้ หากประกาศเมื่อไหร่ เรายื่นได้ทันที แต่บางโครงการที่ต้องใช้งบประมาณทันทีเราก็เสนอแหล่งทุนอื่นๆ เราจะไม่เสียเวลารอจากยูเอ็นอย่างเดียว เตรียมความพร้อมเอาไว้เลย”

นายจตุพรกล่าวต่อว่า ทิศทางการรับมือความเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของเวทีโลกอาจจะเปลี่ยนแปลงหลังโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เนื่องจากที่ผ่านมา “ทรัมป์” มีท่าทีไม่ให้ความสำคัญกับปัญหาโลกร้อนและไม่สนใจความตกลงปารีส (Paris Agreement) ทำให้มาตรการรับมือโลกร้อนมีความไม่แน่นอนว่าจะเดินไปในทิศทางใด

“การขึ้นมาของประธานาธิบดีทรัมป์ น่าจะมีการเปลี่ยนเรื่องโลกร้อน แต่คิดว่าน่าจะเปลี่ยนในการประชุม COP30 เพราะท่าทีที่ผ่านมาของทรัมป์ไม่สนใจปัญหาโลกร้อน ผมก็ไม่รู้ว่าเมื่อถึงในวันขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีใหม่จะมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ขณะที่ประธานาธิบดีอิลฮาม อาลิเยฟ ของอาเซอร์ไบจาน ออกมาบอกว่า น้ำมันกับก๊าซธรรมชาติคือของขวัญจากพระเจ้า ทำให้ทิศทางการรับมือโลกร้อนดูจะไม่มีความชัดเจนเท่าไหร”

แต่สำหรับไทยยังคงเดินหน้ามาตรการลดโลกร้อนและแผนการปรับตัวเพื่อรับกับความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่เกิดขึ้น แม้ความหวังเรื่องเงินทุนจากเวทีของสหประชาชาติในการประชุม COP 30 ยังมีความไม่แน่นอน แต่ไทยในฐานะประเทศสมาชิก Climate Club ที่ริเริ่มโดยประเทศเยอรมัน ยังพึ่งพาการระดมทุนอุดหนุนจากช่องทางดังกล่าวได้ แม้ว่าในขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้ามากนักก็ตาม

นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ปรับโครงสร้าง องค์กรรับมือโลกร้อน

ส่วนการรับมือในประเทศไทย ได้เตรียมความพร้อมมานานหลายปีทั้งในเรื่องของแผนการลดก๊าซเรือนกระจก และการปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลง โดยที่ผ่านไทยได้ปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ ตั้งกรมโลกร้อน เพื่อเตรียมรับมือความเปลี่ยนแปลงในทุกมติ

กรมโลกร้อนถูกออกแบบโครงสร้างภารกิจเพื่อรับมือกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงในทุกด้าน ทั้งในเรื่องของการกำหนดยุทธศาสตร์ของประเทศ การเจรจาระดับโลก และการสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

“ผมไปดูงานที่ลาว เขามีกรมโลกร้อนเมื่อ 10 ปีที่แล้ว พอกลับมาผมก็คิดเลยว่าต้องเตรียมโครงสร้างเหล่านี้ เพราะโลกร้อนเป็นเรื่องสำคัญในเวทีโลก ต้องมีคณะเจรจา ซึ่งที่ผ่านมาต้องตั้งเป็นคณะกรรมการระดับชาติ ต้องเป็นองค์กรระดับกรมขึ้นมาดูแล”

การตั้งกรมใหม่ต้องใช้เวลา เพราะต้องออกพระราชบัญญัติ จึงพิจารณาการปรับโครงสร้างใหม่ของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่มีภารกิจใกล้เคียงกัน ให้ทำงานเรื่องโลกร้อนให้ชัดเจนขึ้น ซึ่งก่อนหน้านั้นกระทรวงทรัพยากรฯ ได้ตั้ง 2 หน่วยงานเพื่อดำเนินการเรื่องโลกร้อน คือ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ซึ่งเป็นโอเปอร์เรเตอร์ หรือหน่วยปฏิบัติงานในการลดก๊าซเรือนกระจก และการค้าขายคาร์บอนเครดิต เพื่อพัฒนาให้ไทยเป็นตลาดการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในอนาคต และสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) ดูแลเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ ที่จะได้รับผลกระทบหากอุณหภูมิสูงขึ้น

“เราวางโครงสร้างเอาไว้ทั้งหมดเพื่อทำงานเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ เพราะโลกร้อนเกี่ยวข้องกับทุกมิติ ทุกหน่วยงาน ต้องไปชี้แจงกับหน่วยงานอื่น เมื่อมีโครงสร้างแล้ว ส่วนต่อไปคือเรื่องมาตรการ และแผนปฏิบัติการให้มันชัดเจน โดยเฉพาะเรื่องของการสื่อสารกับประชาชนให้เข้าใจถึงผลกระทบและการปรับตัว เพื่อรับกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้”

ส่วนเรื่องของกฎหมายโลกร้อนซึ่งเป็นกติกาและระเบียบ อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นและคาดว่าจะเข้าคณะรัฐมนตรีได้ในปี 2568

เปิดแผน “NAP” – “ปรับตัว” คือความอยู่รอด

นายจตุพรกล่าวว่า ถึงวันนี้ต้องบอกว่าไทยไม่ได้น้อยหน้าอาเซียน เราเดินมาอยู่แถวหน้าของภูมิภาคเพราะเรามีความพร้อมทั้งในเรื่องของโครงสร้างของภาครัฐ และความพร้อมของภาคเอกชน ขณะที่แผนการปรับตัว หรือรายงาน Thailand National Adaptation Plan (NAP) ได้เสนอต่อสหประชาชาติ โดยมีสาระสำคัญประกอบด้วย 6 สาขาหลักคือ

  • การจัดการทัพยากรน้ำ มีแนวทางการดำเนินงานด้านการปรับตัวโดยอาศัยระบบนิเวศ และโครงสร้างพื้นฐานสีเขียวสำหรับการจัดการทรัพยากรน้ำที่พร้อมรับมือกับสภาพอากาศ
  • การเกษตร และความมั่นคงทางอาหาร ยึดแนวทางเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ รวมถึงการทำเกษตรแนวใหม่ การทำเกษตรแม่นยำ พันธุ์พืชทนแล้ง มีระบบเตือนภัย/ตรวจจับล่วงหน้าสำหรับการจัดการพื้นที่เพาะปลูก เช่น การเปลี่ยนแปลงปฏิทินเพาะปลูก ใช้กลยุทธ์การจัดการน้ำ
  • การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ มีการคาดการณ์วิจัยการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลในอ่าวไทย เพื่อมาตรการปรับตัวที่เหมาะสมในการรับมือการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล มีการพัฒนาเทคโนโลยีในการติดตามการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิน้ำทะเล ปะการังฟอกขาว และกรดในมหาสมุทร และพัฒนาฐานข้อมูลเพื่อคาดการณ์ผลกระทบต่อระบบนิเวศ
  • สาธารณสุข พัฒนาระบบบริการสาธารณสุขที่เท่าทันการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ และสร้างความตระหนักและเสริมสร้างศักยภาพของบุคลากรทางการแพทย์ ในการติดตามสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศและมาตรการป้องกัน
  • การจัดการท่องเที่ยว พัฒนากลยุทธ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน บูรณาการด้านสภาพอากาศ เสริมสร้างศักยภาพของท้องถิ่น และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในภาคการท่องเที่ยว เกี่ยวกับผลกระทบด้านสภาพอากาศที่อาจเกิดขึ้นต่อห่วงโซ่มูลค่าของการท่องเที่ยว และทางเลือกในการปรับตัว
  • การตั้งถิ่นฐานและความมั่นคงของมนุษย์ แนวทางสถาปัตยกรรมที่จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ หาแนวทางการปรับตัวต่อผลกระทบอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น หรือเกาะความร้อนในเมือง และพัฒนาผังการใช้ประโยชน์ที่ดินที่พร้อมรับมือกับสภาพอากาศ

นายจตุพรกล่าวต่อว่า รายงาน NAP เป็นยุทธศาสตร์ที่ทุกหน่วยงานต้องนำไปดำเนินการ เพราะการปรับตัวเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าไม่ปรับตัวจะไม่รอด เหมือนไดโนเสาร์ที่สูญพันธุ์ไปจากโลก ในอดีตหลายพันปีมนุษย์มีการปรับตัวจนมาถึงปัจจุบัน โดยรายงานการปรับตัวมีรูปธรรมในการดำเนินการ เช่น เรื่องพลังงานจะกำหนดให้ใช้พลังงานทดแทนมากขึ้น ส่วนโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหิน จะลดระยะเวลาสัญญาไม่ให้เกิน 15 ปี

ส่วนเรื่องมาตรการการปรับตัวอาจจะต้องมีแอ็คชั่นหรือแผนปฏิบัติ มีแผนการปรับตัวมีหลายสาขาเรื่องน้ำ อาหาร การท่องเที่ยว อากาศ การจัดการธรรมชาติการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ ซึ่งทุกแผนก็ยังมีแผนปฏิบัติว่าจะดำเนินการตรงไหนยังไง แต่ทั้งหมดที่ทำรายงานแผนปฏิบัติการเสร็จแล้วก็ยังมีปัญหาเรื่องการสื่อสารกับประชาชนทั่วไป

“ผมจึงเน้นความสำคัญเรื่องการสร้างการสื่อสารให้กับภาคประชาชนให้เข้าใจง่ายๆ เช่น การตั้งถิ่นฐานเมื่อก่อนเราอาจจะบอกว่าคุณอยู่ริมน้ำแล้วมันดี แต่ตอนนี้มันอาจจะไม่ใช่แล้ว หรือการเตรียมการในการแก้ปัญหาเรื่องผลกระทบ น้ำท่วมกรุงเทพอาจจะต้องมีโครงการศึกษาว่าจะป้องกันยังไง ขณะนี้แผนการการศึกษาเรื่องการป้องกันกรุงเทพได้ผ่านคณะกรรมการโลกร้อนแห่งชาติว่าเราจะแก้ปัญหาตั้งแต่ปริมณฑลโดยรอบจะทำยังไง ศึกษาเสร็จก็จะมีโครงการ ซึ่งจะมีเรื่องของการแก้ปัญหาแผ่นดินทรุด น้ำท่วมน้ำทะเลหนุนมันจะแก้ทั้งระบบ แต่ผมต้องให้ความสำคัญในเรื่องการให้ความรู้ชาวบ้านซึ่งขนาดนี้ชาวบ้านจะเข้าใจหรือเข้าใจแต่เค้าไม่รู้ว่าตัวเค้าเองต้องเจออะไรเพราะภาวะโลกร้อนไม่เลือกเพศเลือกสถานะ เกิดปัญหามันจะโดนเหมือนกันหมดเพียงแต่ว่าคนที่มีต้นทุนดีอาจจะปรับตัวได้ดีกว่า แต่ว่าเราต้องมองภาพรวมเพราะความไม่เท่าเทียม ดังนั้นทุกคนมีสิทธิ์ ต้องรับรู้เท่ากัน แต่การปฏิบัติอาจจะแตกต่างในเรื่องของบริบทที่ต่างกัน แต่รัฐอาจจะต้องสร้างโครงสร้างพื้นฐานให้กับคน ทุกคนเช่น อากาศต้องแก้ปัญหาให้ได้และการเข้าถึงจะต้องให้มันเสมอภาคเท่าเทียมกัน”

ส่วนเรื่องการจัดการเกษตร แนะนำการปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้ง และการพัฒนาพันธุ์ข้าวใหม่เพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลง และด้านสาธารณสุขก็จะมีการดูแลเรื่องของโรคอุบัติใหม่ ขณะที่เรื่องทรัพยากรธรรมชาติ ต้องดูแลความหลากหลายทางชีวภาพ ที่จะได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อน

“ในแผนการปรับตัวของชาติ เราจะระบุไปเลยว่าพื้นที่ตรงไหนต้องเปลี่ยนวิธีการทำเกษตรเป็นเปียกสลับแห้งซึ่งในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา เช่น สุพรรณบุรีหรืออยุธยาก็ต้องสนับสนุนให้ปรับตัวทุกระบบ เป็นต้น”

แผนที่เสี่ยงภัย-พื้นที่ปลอดภัยทั่วประเทศ

ในรายงานการปรับตัว ปฏิเสธไม่ได้ว่าต้องมีข้อมูลในเรื่องของพื้นที่เสี่ยงภัยเพื่อให้ทุกหน่วยงานต้องนำแผนไปปฏิบัติ กรมทรัพยากรธรณีจึงได้จัดทำแผนที่ความเสี่ยงทั่วประเทศ โดยผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเรียกร้อยแล้ว เพื่อให้ทุกหน่วยงานนำข้อมูลพื้นที่เสี่ยงภัยไปใช้ในการวางแผนปรับตัวรับมือกับภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้น ทั้งน้ำท่วม ดินถล่ม

ทั้งนี้ ในปี 2546 กรมทรัพยากรธรณีเคยทำแผนที่เสี่ยงภัยทั่วประเทศ แต่มีปัจจัยที่ต้องพิจารณาไม่มาก ทำให้มีพื้นที่เสี่ยงภัยเพียง 1,000 ตำบล แต่หลังจากสำรวจและจัดทำใหม่ พบพื้นที่เสี่ยงภัย 1,984 ตำบล และมีพื้นที่เสี่ยงภัยสูงสุด 600 แห่ง”

“สิ่งที่ผมเป็นห่วงตอนนี้คือปัญหาดินถล่ม เพราะลักษณะดินประเทศไทยที่มีมานานเป็นหลายร้อยปีทำให้โครงสร้างหลุดลุ่ยง่าย ขณะที่ลักษณะการตกของฝนก็เปลี่ยนแปลงเป็นแบบ rain bomb ซึ่งตกหนักมากกว่า 100-400 มิลลิเมตรในพื้นที่เดียวต่อเนื่อง เป็นปัจจัยให้เกิดดินถล่ม เช่น ที่ภูเก็ตและเชียงราย ซึ่งแผนที่เสี่ยงภัยใหม่เอาปัจจัยเรื่องฝนที่เปลี่ยนแปลงไปมาพิจารณาร่วมด้วย ทำให้มีพื้นที่เสี่ยงเพิ่มขึ้น และจะเป็นข้อมูลช่วยให้สามารถวางแผนรับมือได้ดีมากขึ้น”

ในแผนที่เสี่ยงภัย นอกจากมีพื้นที่เสี่ยงภัยในระดับต่างๆ ตั้งแต่เสี่ยงภัยสูงสุด ระดับปานกลาง และระดับต่ำแล้ว จะกำหนดพื้นที่ปลอดภัยเพื่อให้ชาวบ้านที่สามารถเข้าไปหลบภัยได้ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำเป็นคู่มือพื้นที่เสี่ยงภัยฉบับประชาชน เพื่อให้เข้าใจง่ายและสามารถที่จะดูแลตัวเองได้เมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติขึ้น

นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ตั้งศูนย์โลกร้อนระดับจังหวัด

นายจตุพรกล่าวย้ำว่า การปรับตัวเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงจะไม่สามารถขับเคลื่อนได้ หากประชาชนไม่ปรับพฤติกรรมหรือเข้าใจกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ทำให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ ได้ตั้งศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพ หรือศูนย์โลกร้อนระดับจังหวัดในทุกจังหวัดโดยมิสเตอร์โลกร้อน สร้างความรับรู้และความเข้าใจกับประชาชนในจังหวัด

“เรื่องการสร้างความเข้าใจกับชาวบ้าน ผมเป็นห่วงมากที่สุด เพราะเรื่องการปรับตัวชาวบ้านต้องเข้าใจก่อน ซึ่งศูนย์ระดับจังหวัดโดยมิสเตอร์โลกร้อนจะช่วยทำความเข้าใจในเรื่องนี้”

นอกจากนี้ ศูนย์โลกร้อนในจังหวัดจะช่วยขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจก และการปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลงในระดับจังหวัด เนื่องจากพื้นฐานของปัญหาแต่ละจังหวัดก็แตกต่างกัน เช่น แม่ฮ่องสอน มีต้นไม้เยอะก็สามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่า ขณะที่สระบุรีมีโรงงานจำนวนมาก ป่าไม้น้อย ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณสูง การจับคู่ระหว่างแม่ฮ่องสอนกับสระบุรีในวางแผนลดก๊าซเรือนกระจก จะทำให้ไปถึงเป้าหมายได้ง่ายขึ้น

“ขณะนี้เรามีข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และข้อมูลความสามารถดูดซับคาร์บอนจำนวนเท่าไหร่ของแต่ละจังหวัดครบหมดแล้ว และกำลังหารือกับกระทรวงมหาดไทยเพื่อผลักดันเป็นเมืองคาร์บอนต่ำ และจัดทำหลักสูตรเรียนออนไลน์ให้กับผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อสร้างความเข้าใจและผลักดันให้เกิดแผนปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม”

นายจตุพรกล่าวต่อว่า ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่มีแผนและมาตรการในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ก้าวหน้าที่สุดในอาเซียน เพราะโครงสร้างหน่วยงานมีความพร้อม ทั้งกรมโลกร้อน องค์กรก๊าซเรือนกระจก และมีภาคเอกชนที่เข้มแข็ง ทำให้การดำเนินการรับมือโลกร้อนมีความก้าวหน้ามากที่สุด

“ผมเชื่อว่า เราไม่เป็นรองใครในอาเซียน เราเป็นประเทศที่มีความพร้อมทั้งโครงสร้างและแผนปฏิบัติการ ซึ่งผมได้หารือนายกรัฐมนตรีเรื่องคาร์บอนเครดิต คาดว่าในปีหน้าเราจะสามารถเปิดตลาดค้าขายคาร์บอนเครดิตในอาเซียนได้”

แต่สิ่งที่ต้องทำอย่างต่อเนื่องคือการสร้างการรับรู้ให้ประชาชนมากที่สุด เพราะทั้งแผนปรับตัวและแผนปฏิบัติการลดโลกร้อนจะไม่สามารถเดินไปข้างหน้าได้ ถ้าประชาชนไม่มีส่วนร่วมหรือไม่มีความเข้าใจ การสร้างความเข้าใจและการเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชน จะช่วยให้เกิดการปรับตัวและทำให้อยู่รอดได้