ดร.ภิญโญ มีชำนะ
ยูเรเนียมเป็นแร่ที่มีความสำคัญทางภูมิรัฐศาสตร์เช่นเดียวกับลิเทียมหรือน้ำมัน เนื่องจากเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตพลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งหลายประเทศใช้เป็นพลังงานเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงาน นอกจากนั้นแล้ว ยูเรเนียมสามารถนำไปผลิตอาวุธร้ายแรงได้ จึงทำให้ยูเรเนียมมีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์บนเวทีโลกอย่างมาก ส่งผลต่อความมั่นคงของชาติ ความเป็นอิสระด้านพลังงาน และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การควบคุมและการจัดหายูเรเนียม จึงมีผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและนโยบายพลังงานของหลายประเทศ [1] [2]
ปัจจุบันห่วงโซ่อุปทานของยูเรเนียมเกี่ยวข้องกับผู้เล่นหลักเพียงไม่กี่ราย โดยส่วนใหญ่เป็นคาซัคสถาน แคนาดา นามิเบีย และออสเตรเลีย ซึ่งร่วมกันควบคุมการผลิตส่วนใหญ่ของโลก สิ่งนี้ทำให้เกิดการพึ่งพาและพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ เนื่องจากประเทศที่ไม่มีการผลิตยูเรเนียมต้องพึ่งพาการนำเข้าเพื่อตอบสนองความต้องการพลังงานของตน เช่นเดียวกับลิเทียมหรือน้ำมัน การหยุดชะงักในห่วงโซ่อุปทานยูเรเนียม ไม่ว่าจะมาจากความไม่มั่นคงทางการเมือง ข้อจำกัดทางการค้า หรือการคว่ำบาตร อาจส่งผลกระทบต่อราคาและความพร้อมจำหน่าย ส่งผลต่อทั้งตลาดพลังงานและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
นอกจากนั้นแล้ว การขุดหรือทำเหมืองแร่ยูเรเนียมและการกำจัดกากนิวเคลียร์ มักเกี่ยวข้องกับความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งอาจนำไปสู่ข้อจำกัดด้านกฎระเบียบ ประเทศที่มีปริมาณสำรองจำนวนมาก เช่น ออสเตรเลีย บางครั้งก็เผชิญกับแรงกดดันภายในประเทศที่ส่งผลต่อนโยบายการส่งออก ซึ่งส่งผลกระทบต่อพลวัตของอุปทานทั่วโลก
โดยสรุป บทบาทของยูเรเนียมทั้งในการผลิตพลังงานสำหรับพลเรือนและการใช้งานทางทหาร เมื่อรวมกับการผลิตที่จำกัดและการพิจารณาสิ่งแวดล้อม ทำให้ยูเรเนียมเป็นทรัพยากรเชิงยุทธศาสตร์ที่มีนัยสำคัญทางภูมิรัฐศาสตร์ เช่นเดียวกับลิเทียมและน้ำมัน
ในตอนนี้จะกล่าวถึงยูเรเนียมที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั่วโลก แหล่งสำรองยูเรเนียมของโลก ปริมาณของแร่ยูเรเนียมที่ผลิตได้จากเหมืองที่กำลังผลิตในประเทศต่างๆ อุปสงค์และอุปทานของแร่ยูเรเนียม ที่ครอบคลุมไปถึงภูมิรัฐศาสตร์ของแร่ยูเรเนียม
การทำเหมืองแร่เพื่อผลิตยูเรเนียม และแหล่งสำรองแร่ยูเรเนียมของโลก
ประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ ณ ปี 2022 มี 12 ราย ได้แก่
ประเทศเหล่านี้รวมกัน คิดเป็นส่วนใหญ่ของอุปทานยูเรเนียมของโลก ซึ่งจำเป็นสำหรับการเป็นเชื้อเพลิงสำหรับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ [3]
อย่างไรก็ตาม โลกยังมีแหล่งสำรองแร่ยูเรเนียมที่มีศักยภาพ ซึ่งสามารถผลิตหรือทำเหมืองแร่ได้ในประเทศอื่นๆ ที่ยังไม่ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่ หรือจัดประเภทเป็นแหล่งสำรองทางเศรษฐกิจทั่วโลก แหล่งสำรองเหล่านี้อาจกลายเป็นแหล่งสำรองที่คุ้มทุนทางเศรษฐกิจได้หากมีความก้าวหน้าในเทคโนโลยีการสกัด ราคาของยูเรเนียมที่สูงขึ้น หรือความต้องการที่เพิ่มขึ้น บางประเทศที่เชื่อว่ามีแหล่งยูเรเนียมที่มีศักยภาพ ได้แก่ [4]
-
1. กรีนแลนด์ : เป็นที่ทราบกันดีว่ามีแหล่งยูเรเนียมจำนวนมาก แม้ว่าความกังวลด้านสิ่งแวดล้อมและการเมืองจะจำกัดการสำรวจและพัฒนา
2. มองโกเลีย : มีแหล่งยูเรเนียมที่ทราบกันดีในมองโกเลีย และประเทศได้แสดงความสนใจในการพัฒนาอุตสาหกรรมการขุดยูเรเนียม แต่ปัจจุบันมองโกเลียยังขาดการดำเนินการด้านเหมืองแร่ขนาดใหญ่
3. บราซิล : ได้ค้นพบแหล่งยูเรเนียม โดยส่วนใหญ่อยู่ในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และกำลังสำรวจแหล่งเหล่านี้เพื่อจัดหาพลังงานนิวเคลียร์ตามความต้องการของตนเอง
4. อาร์เจนตินา : มีแหล่งยูเรเนียมขนาดเล็กและการผลิตในประเทศจำกัด แต่สามารถขยายการสำรวจและการทำเหมืองได้
5. โคลอมเบีย : การสำรวจเบื้องต้นบางส่วนชี้ให้เห็นถึงศักยภาพของยูเรเนียม แต่ยังไม่มีการดำเนินการขุดขนาดใหญ่
6. เปรู : ได้ค้นพบแหล่งยูเรเนียม และมีความสนใจที่จะสำรวจเพิ่มเติม เพื่อสนับสนุนกิจกรรมการทำเหมืองแร่ที่มีศักยภาพ
7. ตุรกี : มีแหล่งยูเรเนียมที่ค้นพบในตุรกี แต่ยังไม่ได้รับการพัฒนาในเชิงเศรษฐกิจในระดับใหญ่
8. จอร์แดน : ได้สำรวจแหล่งยูเรเนียมโดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาโครงการนิวเคลียร์ในประเทศ และการสำรวจในระยะเริ่มต้นชี้ให้เห็นถึงศักยภาพที่จะสามารถทำเหมืองแร่ยูเรเนียมได้
9. ซาอุดีอาระเบีย : การสำรวจเบื้องต้นชี้ให้เห็นถึงแหล่งสำรองยูเรเนียม ซาอุดีอาระเบียแสดงความสนใจในการพัฒนาโครงการพลังงานนิวเคลียร์ของตนเอง
10. แทนซาเนียและแซมเบีย : ทั้งสองประเทศในแอฟริกาได้ค้นพบแหล่งยูเรเนียมที่มีศักยภาพ และยังมีการดำเนินการขุดอยู่อย่างจำกัด แม้ว่าจะยังไม่ถือเป็นผู้ผลิตหลักก็ตาม
ประเทศเหล่านี้ รวมถึงบางพื้นที่ในยุโรปตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีศักยภาพในการทำเหมืองยูเรเนียมที่คุ้มทุน หากเงื่อนไขเอื้ออำนวยต่อการพัฒนา แหล่งเหล่านี้หลายแห่งยังไม่ได้รับการสำรวจหรือพัฒนาอย่างเพียงพอ โดยรอการเปลี่ยนแปลงในความคุ้มทุนทางเศรษฐกิจ ความต้องการของตลาด หรือความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เพื่อเป็นแหล่งยูเรเนียมที่ใช้งานได้สำหรับเชื้อเพลิงนิวเคลียร์
อุปสงค์ อุปทาน และภูมิรัฐศาสตร์ของแร่ยูเรเนียม
หลังเหตุการณ์ฟูกูชิมะในปี 2011 กิจกรรมการสำรวจแหล่งแร่ยูเรเนียมของโลกได้ลดลงไปมาก สาเหตุสำคัญมาจากผลกระทบทางเศรษฐกิจ และการเปลี่ยนแปลงนโยบายพลังงานของหลายประเทศ ที่ลดความต้องการใช้พลังงานนิวเคลียร์ลงในช่วงเวลานั้น สาเหตุหลักที่กิจกรรมสำรวจลดลง ได้แก่ [5]
1. อุปสงค์ที่ลดลงหลังเหตุการณ์ฟูกูชิมะในญี่ปุ่น ได้ส่งผลให้หลายประเทศพิจารณานโยบายพลังงานนิวเคลียร์ใหม่ โดยบางประเทศ เช่น เยอรมนี ตัดสินใจเลิกใช้พลังงานนิวเคลียร์ และบางประเทศชะลอแผนการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ใหม่ ทำให้ความต้องการใช้ยูเรเนียมลดลง ส่งผลให้ราคายูเรเนียมในตลาดโลกลดลง ทำให้กิจกรรมสำรวจและพัฒนาการทำเหมืองขาดแรงจูงใจทางเศรษฐกิจ
2. ราคายูเรเนียมในตลาดโลกตกต่ำ เป็นไปอย่างต่อเนื่องหลังปี 2011 เนื่องจากอุปสงค์ที่ลดลง ขณะเดียวกัน ผู้ผลิตรายใหญ่ เช่น คาซัคสถาน ยังคงผลิตในปริมาณมาก ทำให้ตลาดเกิดอุปทานเกินดุล (oversupply)
3. การลงทุนที่ลดลงในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ เนื่องจากบริษัทเหมืองแร่หลายแห่งลดงบประมาณสำหรับการสำรวจแหล่งแร่ยูเรเนียมใหม่ๆ เพื่อควบคุมต้นทุน
4. ความกังวลด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม จากผลกระทบของการทำเหมืองและการจัดการกากกัมมันตภาพรังสี ทำให้โครงการสำรวจในบางภูมิภาคต้องหยุดชะงักหรือถูกยกเลิกไป
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการสำรวจและการผลิตยูเรเนียมได้ลดลงหลังเหตุการณ์ฟูกูชิมะ แต่ในไม่กี่ปีที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ ความต้องการยูเรเนียมได้กลับฟื้นตัว เนื่องจาก
อย่างไรก็ตาม การค้นพบแหล่งแร่ยูเรเนียมใหม่ๆ ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น บริษัท China Nuclear Industry Corporation (CNNC) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของจีน ประกาศการค้นพบเหมืองยูเรเนียมในปี 2565 ว่าแหล่งยูเรเนียมอุตสาหกรรมที่ลึกที่สุดในประเทศจีนถูกค้นพบที่ระดับความลึก 1,550 เมตร ที่เมืองเสากวน อำเภอหัวเหริน มณฑลกวางตุ้ง แร่ยูเรเนียมแหล่งนี้ก่อตัวที่ระดับความลึก 3,000 เมตร ซึ่งเป็นเรื่องที่เปลี่ยนความเข้าใจเดิมก่อนหน้านี้ว่าการก่อตัวของแร่ยูเรเนียมส่วนใหญ่จะเกิดอยู่ที่ระดับตื้น การค้นพบแหล่งยูเรเนียมแหล่งใหม่นี้จะทำให้ปริมาณสำรองยูเรเนียมของจีนจะเพิ่มขึ้นสิบเท่าเป็นมากกว่า 2 ล้านตัน เทียบเท่ากับออสเตรเลียซึ่งเป็นประเทศที่อุดมด้วยยูเรเนียม เนื่องจากมีการค้นพบแหล่งยูเรเนียมเกรดอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่อยู่ใต้ดินลึกมากขนาดนี้ ซึ่งก่อนหน้านี้คิดว่าเป็นไปไม่ได้ ทำให้ในอนาคตมีความเป็นไปได้ที่เราอาจพบแหล่งแร่ยูเรเนียมแหล่งใหม่ๆ ที่อยู่ในระดับลึกลงไปในใต้ดินเพิ่มขึ้นในลักษณะเดียวกันแบบนี้ จนอาจทำให้ปริมาณสำรองของแร่ยูเรเนียมของโลกเพิ่มมากขึ้นไปอีก [6]
นอกจากนั้นแล้ว ก็ยังคงมีเหมืองยูเรเนียมที่กำลังจะเกิดใหม่ที่น่าสนใจมากอีกแห่งหนึ่ง คือ NexGen Energy เป็นบริษัทพลังงานนิวเคลียร์ของแคนาดา ที่กำลังพัฒนาโครงการเหมืองยูเรเนียม Rook I ในเขตแอ่งอะทาบาสคาทางตอนเหนือของรัฐซัสแคตเชวัน โครงการนี้มีแหล่งแร่ Arrow deposit ซึ่งมีทรัพยากรยูเรเนียมที่มีคุณภาพสูง โดยมีปริมาณแหล่งแร่ยูเรเนียมที่มีปริมาณสำรองที่น่าจะสามารถทำเหมืองได้ (measured and indicated resources) รวม 256.7 ล้านปอนด์ของ U₃O₈ [7] [8] ซึ่งขณะนี้ NexGen ได้รับการอนุมัติด้านสิ่งแวดล้อมจากรัฐบาลซัสแคตเชวันในเดือนพฤศจิกายน 2023 และกำลังรอการอนุมัติจากรัฐบาลกลาง คาดว่าจะเริ่มการผลิตได้ในช่วงปลายปี 2027 หรือต้นปี 2028 คาดกันว่าโครงการ Rook I จะเป็นหนึ่งในเหมืองยูเรเนียมที่ใหญ่ที่สุดและมีต้นทุนต่ำที่สุดในโลก โดยมีศักยภาพในการผลิตยูเรเนียมประมาณ 25-30% ของปริมาณการผลิตยูเรเนียมทั่วโลก [9] [10]
แม้ว่าจะมีการค้นพบแหล่งยูเรเนียมใหม่ๆ และมีเหมืองยูเรเนียมใหม่ๆ เกิดขึ้น แต่ขณะนี้ความต้องการยูเรเนียมสำหรับการผลิตพลังงานนิวเคลียร์กำลังสูงขึ้น เนื่องจากรัฐบาลในหลายประเทศพยายามเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก และลดการพึ่งพาน้ำมันและก๊าซของรัสเซีย จึงทำให้ราคาเชื้อเพลิงยูเรเนียมสูงขึ้น เพราะปัจจุบันมีเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ประมาณ 60 เครื่องอยู่ระหว่างการก่อสร้างใน 17 ประเทศ และอีก 110 เครื่องอยู่ในขั้นตอนการวางแผน โครงการส่วนใหญ่ที่กำลังดำเนินการอยู่ในเอเชียโดยเฉพาะจีน
นอกจากนั้นแล้ว ก็ยังมีนโยบายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่หลายๆ ประเทศเพิ่งเริ่มให้ความสนใจผลิตพลังงานจากนิวเคลียร์ จึงทำให้ยูเรเนียมยังคงเป็นทรัพยากรที่มีความสำคัญทางภูมิรัฐศาสตร์ การควบคุมและการจัดหายูเรเนียม จึงยังคงมีผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และนโยบายพลังงานของหลายประเทศ [1]
อย่างไรก็ตาม มีการคาดว่าเมื่อมีการใช้ยูเรเนียมเป็นเชื้อเพลิงเพิ่มมากขึ้น เราสามารถเพิ่มปริมาณเชื้อเพลิงได้อีกวิธีหนึ่ง กล่าวคือ เราสามารถนำเอาเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ที่ใช้แล้ว (spent fuel) จนกลายเป็นกากนิวเคลียร์นำไปทำการสกัดซ้ำด้วยกระบวนการทางเคมีที่เรียกว่ารีโพรเซสซิง (reprocessing) หรือรีไซคลิง (recycling) เพื่อแยกเอาวัสดุนิวเคลียร์ที่ยังคงมีประโยชน์ที่เหลืออยู่ในกากนิวเคลียร์ เช่น ยูเรเนียมและพลูโทเนียมออกจากผลิตภัณฑ์ฟิชชันและธาตุแอกติไนด์อื่นๆ ในเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ที่ผ่านการใช้งานออกมาใช้ประโยชน์ได้ วัตถุประสงค์หลักของการสกัดซ้ำก็เพื่อนำวัสดุเหล่านี้กลับมาใช้ใหม่ในการผลิตเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ใหม่นั่นเอง [11]
ข้อดีของการสกัดซ้ำก็คือ เราสามารถลดปริมาณกากนิวเคลียร์ที่ต้องการกำจัดด้วยการเก็บรักษาในระยะยาว ทำให้สามารถเพิ่มการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรยูเรเนียมได้มากขึ้น จึงลดความจำเป็นในการทำเหมืองยูเรเนียมเพิ่มเติม ส่วนข้อเสียคือ ต้นทุนกระบวนการสกัดซ้ำสูง และอาจมีความเสี่ยงของการแพร่กระจายวัสดุนิวเคลียร์เพื่อทำเป็นอาวุธสงคราม (nuclear proliferation) เช่น พลูโทเนียมที่สามารถนำเอาไปใชทำอาวุธนิวเคลียร์ได้
ห่วงโซ่อุปทานของยูเรเนียมได้รับอิทธิพลจากปัจัยภูมิรัฐศาสตร์ เช่น ล่าสุด เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา ประธานาธิบดีไบเดนได้ลงนามบังคับใช้กฎหมายห้ามนำเข้ายูเรเนียมเสริมสมรรถนะจากรัสเซียซึ่งเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดในโลก เพื่อลดการพึ่งพาพลังงานจากรัสเซีย ซึ่งหวังว่าจะนำไปสู่การยุติการพึ่งพาพลังงานจากรัสเซียในท้ายที่สุด เพราะสหรัฐฯ ต้องการขัดขวางการบุกยูเครนของรัสเซีย [12] ทำให้เห็นว่าห่วงโซ่อุปทานของยูเรเนียมได้รับอิทธิพลจากปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์ ความตึงเครียดล่าสุดทำให้ประเทศต่างๆ พยายามหาแหล่งยูเรเนียมจากหลากหลายแหล่ง เพื่อลดการพึ่งพาซัพพลายเออร์รายใดรายหนึ่ง [13] [14]
ความพยายามที่จะหาแหล่งยูเรเนียมใหม่ๆ จากหลากหลายแหล่งเพิ่มเติม จึงน่าจะทำให้ความเป็นภูมิรัฐศาสตร์ของแร่ยูเรเนียมลดลง และการนำเอากากนิวเคลียร์ที่เกิดจากเชื้อเพลิงที่ใช้แล้วมาสกัดซ้ำเพื่อนำเอาเชื้อเพลิงที่หลงเหลืออยู่กลับมาใช้เป็นเชื้อเพลิงใหม่ ก็อาจเป็นอีกหนทางหนึ่งในการเพิ่มปริมาณเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ ที่จะนำมาใช้เพิ่มเติมนอกเหนือจาการทำเหมืองแร่ยูเรเนียมเพิ่ม แม้ว่าในขณะนี้ต้นทุนการสกัดซ้ำยังสูงอยู่ แต่ก็อาจลดลงเมื่อมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เพิ่มมากขึ้น หรืออาจมีการคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ที่จะทำให้การสกัดซ้ำมีต้นทุนที่ต่ำลง และที่สำคัญที่สุดคือ จะต้องมีระบบการจัดการและป้องกันที่รัดกุม เพื่อมิให้มีการนำเอาวัสดุนิวเคลียร์ไปทำอาวุธที่ร้ายแรง
อ้างอิง
[1] https://positioningmag.com/1460212[2] https://www.dailynews.co.th/news/4090855/
[3] https://wna.origindigital.co/information-library/nuclear-fuel-cycle/introduction/nuclear-fuel-cycle-overview
[4] https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_countries_by_uranium_reserves
[5] https://world-nuclear.org/information-library/nuclear-fuel-cycle/uranium-resources/supply-of-uranium
[6] https://www.posttoday.com/international-news/684570
[7] https://www.canadianminingjournal.com/news/nexgen-finds-new-greenfield-uranium-mineralization-3-5-km-from-arrow-deposit/?utm_source=chatgpt.com
[8] https://www.bbc.com/thai/articles/cx2ne2gzkz5o
[9] https://www.world-nuclear-news.org/Articles/In-Quotes-NexGen-Energy-s-Leigh-Curyer-on-the-Rook?utm_source=chatgpt.com
[10] https://www.world-nuclear-news.org/Articles/Podcast-NexGen-Energy-s-Leigh-Curyer?utm_source=chatgpt.com
[11] https://en.wikipedia.org/wiki/Nuclear_reprocessing
[12] ‘ไบเดน’ ลงนามบังคับใช้กฎหมาย ห้ามนำเข้ายูเรเนียมรัสเซีย – ข่าวสด
[13] https://www.ft.com/content/027bfca1-2295-4f3a-a6bf-13e10612e5d3?utm_source=chatgpt.com
[14] https://minexforum.com/2024/11/07/frances-orano-calls-for-more-incentives-to-end-russia-reliance/