ThaiPublica > เกาะกระแส > ธปท.ขับเคลื่อนการแลกเปลี่ยนข้อมูลเชิงพื้นที่… ‘จับสถิติมาเล่า เรื่องราวความเป็นอยู่คนในภาค’

ธปท.ขับเคลื่อนการแลกเปลี่ยนข้อมูลเชิงพื้นที่… ‘จับสถิติมาเล่า เรื่องราวความเป็นอยู่คนในภาค’

31 ธันวาคม 2024


นโยบายสาธารณะ Public Policy ของรัฐบาล หรือ ภาครัฐ เป็นเครื่องมือสำคัญในการดำเนินงานของรัฐบาล หรือ ของภาครัฐ เพื่อส่งมอบบริการสาธารณะในรูปแบบต่าง ๆ ให้กับประชาชน ที่ควรมีความเหมาะสมกับสภาพความเป็นจริง สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในแต่ละเรื่อง และในแต่ละพื้นที่ แต่ที่ผ่านมาการกำหนดนโยบายสาธารณะเป็นการวางแนวทางกว้าง ๆ การขับเคลื่อนบางนโยบายจึงไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เช่น การดูแลกลุ่มเปราะบางให้เข้าถึงสวัสดิการภาครัฐ สาเหตุหลักๆอาจจะมาจากหนึ่ง กระบวนการคิดที่มุ่งตอบสนองความต้องการและเป้าหมายของฝ่ายการเมือง นักการเมืองที่สลับสับเปลี่ยนกันมาทำหน้าที่บริหารประเทศ สอง ข้อมูลไม่เพียงพอจนไม่สามารถเข้าใจปัญหาที่แท้จริง และสาม ขาดความเชื่อมโยงของข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐ

การทำนโยบายประชานิยม ไม่ใช่สิ่งที่ผิดและให้ประโยชน์ต่อประชาชนได้ หากการตัดสินใจนโยบายนั้นตั้งอยู่บนฐานข้อมูลที่ถูกต้องและครบถ้วน ในระยะหลังเราได้เห็นแล้วว่าหน่วยงานภาครัฐมีการจัดเก็บและสร้างฐานข้อมูลขึ้นจำนวนมาก และข้อมูลส่วนหนึ่งมีการแบ่งปัน มีการเชื่อมโยงเข้าด้วยกันแล้ว แต่อีกส่วนหนึ่งยังไม่สามารถทำได้ เนื่องจากรูปแบบการจัดเก็บการจัดทำฐานข้อมูลที่แตกต่างกัน

โจทย์ใหญ่แปลงข้อมูลไม่เป็นทางการในพื้นที่เป็นข้อมูลเศรษฐกิจ-สังคม

ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ได้ริเริ่มโครงการ Stat Network ขึ้นมาต่อเนื่องหลายปี โดยมีหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน เช่น สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สคช.) กรมการปกครองส่วนท้องถิ่น หอการค้าจังหวัด เข้าร่วม เพื่อผลักดันการแลกเปลี่ยน การแบ่งปันข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐ รวมทั้งทำความเข้าใจข้อมูลเชิงพื้นที่ ที่จะช่วยให้การจัดทำนโยบายสาธารณะที่คำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยเฉพาะกลุ่มเศรษฐกิจฐานรากที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ ได้อย่างครอบคลุมสอดคล้องกับแต่ละพื้นที่ เพื่อสร้างผลลัพธ์ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ เพราะการแก้ปัญหาหรือการดำเนินนโยบายสาธารณะนั้นต้องโดยอาศัยองค์ความรู้ ข้อมูลที่หลากหลาย ความร่วมมือจากทุกฝ่าย ที่สำคัญต้องมีระบบนิเวศน์ข้อมูลที่ครอบคลุมทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนจากทุกระดับ

  • เรารู้ รู้เรา ไม่รู้เขา: เชียงใหม่เปลี่ยนไปอย่างไร เรามีข้อมูลพอตอบคำถามนี้หรือยัง
  • เมื่อต้นเดือนธันวาคม 2567 ธนาคารแห่งประเทศไทยได้จัดการประชุม Stat Network 2024 ขึ้นในหัวข้อ “จับสถิติมาเล่า เรื่องราวความเป็นอยู่คนในภาค” โดยนำหน่วยงานภาครัฐลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เยี่ยมชมกิจการเพื่อสังคมในพื้นที่ รวมทั้งแลกเปลี่ยนความรู้และทำความเข้าใจแหล่งข้อมูลเชิงพื้นที่ของหน่วยงานหลักภาครัฐ ซึ่งไทยพับลิก้า เป็นสื่อมวลชนที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมใน Stat Network 2024 ด้วย

    นางพรวิภา ตั้งเจริญมั่นคง ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักงานภาคเหนือ ธนาคารแห่งประเทศไทย

    นางพรวิภา ตั้งเจริญมั่นคง ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักงานภาคเหนือ ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ข้อมูลเชิงพื้นที่ได้รับความสนใจจากหลายหน่วยงาน เนื่องจากสามารถนำไปใช้ได้ในหลายด้าน อาทิ หอการค้าจังหวัดนำไปใช้ในการจัดทำข้อเสนอต่อภาครัฐ ขณะที่ผู้ประกอบการใช้เป็นเครื่องมือในการวางแผนธุรกิจ การลงทุน แต่ยังมีปัญหาตรงที่ข้อมูลมีการกระจายอยู่กับหลายหน่วยงาน จึงเป็นความท้าทายสําหรับผู้ใช้ข้อมูลในการหาว่าข้อมูลอยู่ที่หน่วยงานไหน นอกจากนี้ก็ไม่รู้ว่ามีข้อมูลแบบนี้อยู่ จึงไม่ได้นําไปใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ ตลอดจนข้อมูลที่ต้องการไม่มีหน่วยงานใดจัดเก็บอย่างเป็นระบบ

    “วันนี้เราก็คงได้มาคุยกัน และเป็นโอกาสที่เราจะได้เรียนรู้ข้อมูลที่หลากหลายของแต่ละหน่วยงาน รวมทั้งการใช้ประโยชน์ของข้อมูลเศรษฐกิจเชิงพื้นที่ ทั้งมุมมองของภาครัฐและเอกชน ถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดีของทั้งผู้ใช้ข้อมูลแล้วก็ผู้จัดทำข้อมูลด้วย ได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทําความเข้าใจซึ่งกันและกัน นอกจากนี้การทําความรู้จักกันอย่างไม่เป็นทางการ จะช่วยในการทำงานร่วมกันต่อไปได้” นางพรวิภา กล่าว

    ดร.จิตเกษม พรประพันธ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจการเงินภูมิภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันการจัดเก็บข้อมูลของหลายหน่วยงานเป็นข้อมูลระดับมหภาค ข้อมูลจุลภาค ซึ่งเป็นข้อมูลทางการ แต่ยังไม่มีข้อมูลที่ไม่เป็นทางการ (informal) ยกตัวอย่างเช่น ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ มีการจัดตั้งตลาดจำหน่ายสินค้าจีน มีการอยู่ร่วมกันเป็นหมู่บ้านของชาวจีน ในลักษณะบ้านจัดสรรเหมือนในกรุงเทพ และยังมีซูเปอร์มาร์เก็ตของคนจีนหน้าหมู่บ้านอีกด้วย ขณะที่ข้อมูลทางการก็ไม่สามารถบอกได้ว่าครบถ้วนหรือไม่ ยกตัวอย่าง รายงานข่าวไม่นานมานี้ว่า สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองรายงานว่ามีคนจีนที่เข้ามาประเทศไทยและยังไม่กลับประเทศ 30,000 คน ซึ่งอาจจะไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงในย่านห้วยขวาง ในกรุงเทพ

    “ข้อมูลลักษณะนี้เริ่มมีมากขึ้น เป็นข้อมูลไม่เป็นทางการ ในเชียงใหม่ที่เห็นว่าคึกคัก แต่ไม่แน่ใจเป็นรายได้ของคนไทยหรือไม่ เพราะว่ามีอาหารร้านของจีน มินิมาร์ทก็เป็นคนจีนพูดภาษาจีน มันมีข้อมูลแบบนี้เยอะขึ้น ที่เป็นข้อมูล informal จะทําอย่างไรที่เราจะเก็บข้อมูลให้ได้ชัดเจน ข้อมูลประมาณการเศรษฐกิจที่ใช้ตอนนี้อาจจะไม่ละเอียดพอ ที่ทําให้เราเห็นภาพ ข้างบนเราอาจจะเข้าใจ และแต่ข้างล่างเราเข้าใจจริงหรือไม่ เพราะฉะนั้นนโยบายที่จะทํามีความเข้าใจหรือไม่ นอกจากนี้บางหน่วยงานก็มีข้อมูลใหม่ที่น่าสนใจที่จัดเก็บได้จากการใช้ดิจิทัล โจทย์ใหญ่คือเราจะแปลความออกมาว่าเป็นข้อมูลทางเศรษฐกิจ ข้อมูลทางสังคมอย่างไร” ดร.จิตเกษมกล่าว

    ข้อมูลเชิงพื้นที่มีหรือไม่อยู่ที่ไหน

    ช่วงแรกของการแลกเปลี่ยนข้อมูล ที่สำนักงานภาคเหนือ ธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นการนำเสนอถึงการจัดเก็บข้อมูลเชิงพื้นที่ การพัฒนาฐานข้อมูลเพื่อเป็นตัวชี้วัด ความเป็นอยู่ของประชาชนในหลากหลายมิติ และความพยามในการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อแปลงไปสู่นโยบายของแต่ละหน่วยงาน ประกอบด้วย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สคช.) สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA และธนาคารแห่งประเทศไทย ได้นำเสนอถึงข้อมูลที่จัดเก็บ และการพัฒนาเครื่องชี้วัด

  • สภาพัฒน์มุ่งข้อมูลความเป็นอยู่ของประชาชนระดับพื้นที่
    นายอุกฤษฎ์ พงษ์ประไพ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ สำนักยุทธศาสตร์และการวางแผนเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สคช.)

    นายอุกฤษฎ์ พงษ์ประไพ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ สำนักยุทธศาสตร์และการวางแผนเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สคช.) หรือ สภาพัฒน์ นำเสนอใน หัวข้อ “ข้อมูลในการติดตามชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนรายพื้นที่” โดยกล่าวว่า สภาพัฒน์เป็นหน่วยงานกลาง มีการสร้างข้อมูลระดับพื้นที่ ทั้งระดับอําเภอและตําบลพอสมควร ในหมุดหมายที่ 8 เรื่องพื้นที่และเมืองอัจฉริยะ จาก 13 หมุดหมายเพื่อการผลิกโฉมประเทศไทยของสภาพัฒน์

    นายอุกฤษฎ์ กล่าวว่า การที่จะให้หมุดหมายขับเคลื่อนได้ดี มีความสําเร็จก็ขึ้นอยู่กับการใช้ข้อมูลเป็นหลัก ซึ่งสภาพัฒน์ได้จัดทำ รวบรวมข้อมูลเพื่อที่จะมาใช้ในการพัฒนาพื้นที่และก็ประเมินความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกเป็น ฐานข้อมูลที่จัดทำโดยสภาพัฒน์ฯ เอง ประกอบด้วย ผลิตภัณฑ์มวลรวมรายจังหวัด(Gross Provincial Products:GPP) ดัชนีความก้าวหน้าของคน(Human Achievement Index:HAI) ตัวชี้วัดการพัฒนาระดับจังหวัดและกลุ่มจังหวัด(Thai People Map and Analytics Platform (TP Map) และรายงานการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งข้อมูลชุดนี้ให้ภาพใหญ่การพัฒนาประเทศในมิติต่าง ๆ

    กลุ่มที่สอง ฐานข้อมูลที่จัดทำโดยหน่วยงานภายนอก ซึ่งใช้เพื่อติดตามความเคลื่อนไหวสำคัญ ๆ จากการพัฒนาประเทศ ได้แก่ ข้อมูลการท่องเที่ยวรายจังหวัด จากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่สะท้อนภาคบริการ ข้อมูลรถจดทะเบียนใหม่ จากกรมการขนส่งทางบก ทั้ง รถยนต์นั่ง รถจักรยานยนต์ ที่สะท้อนการอุปโภคบริโภคของประชาชน รถกระบะที่สะท้อนการลงทุนภาคเอกชน และข้อมูลการเบิกจ่ายงบประมาณเฉลี่ยรายจังหวัด ที่สะท้อนเม็ดเงินจากภาครัฐที่จะลงไปสู่ระบบเศรษฐกิจของพื้นที่

    นายอุกฤษฎ์อธิบายฐานข้อมูลที่จัดทำโดยสภาพัฒน์ฯเองว่า มีการรวบรวมจัดทำข้อมูล GDP ของจังหวัดและรายพื้นที่ โดยแบ่งกลุ่มจังหวัดออกเป็น 7 ภาค และนำข้อมูลจังหวัดที่อยู่ในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC มารวมไว้ด้วย และพยามแสดงถึงโครงสร้างการเติบโตแต่ละภูมิภาค รวมไปถึงการแบ่งตามจังหวัด การเปรียบเทียบจังหวัดใหญ่จังหวัดเล็ก และแบ่งตามเขตเศรษฐกิจพิเศษด้วย เช่น เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก

    “จากข้อมูลเราได้ว่า GDP เฉลี่ยต่อหัวปี 2565 อยู่ที่ 175,190 บาทต่อปี โดย 3 จังหวัดใน EEC ทั้งระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา มี GPP ต่อหัวสูงมากนำโดยระยองที่สูงถึง 1,003,497 บาท จังหวัดที่ต่ำสุดคือ แม่ฮ่องสอน กรุงเทพและปริมณฑลก็เกินค่าเฉลี่ย ภาคอีสานไม่มีจังหวัดไหนถึงค่าเฉลี่ย ภาคเหนือมีจังหวัดเดียว สิ่งที่ GPP รายจังหวัดบอก ไม่ใช่การกระจายรายได้ แต่บอกถึงการเติบโต ความเป็นอยู่ของประชากรในส่วนต่างๆ ที่ดูเหมือนจะมีความเหลื่อมล้ำอยู่เหมือนกันโดยเฉพาะภาคที่มีรายได้ต่อหัวต่ำ” นายอุกฤษฎ์กล่าว

    เมื่อพิจารณาจากโครงสร้างภาคผลิตรายสาขาในแต่ละภาค คือ ภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการพบว่า แต่ละภูมิภาคของประเทศพึ่งพาโครงสร้างการผลิตที่ต่างกัน ในช่วงโควิดอัตราการขยายตัวของภาคใต้และภาคเหนือลดลงซึ่งสะท้อนถึงโครงสร้างเศรษฐกิจที่พึ่งพาภาคบริการ การท่องเที่ยวเป็นหลัก ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC ก็พึ่งพาภาคอุตสาหกรรมเป็นหลัก ขณะที่กรุงเทพปริมณฑลโครงการสร้างการผลิตอยู่ที่ภาคบริการ แต่ทั้งประเทศภาคอุตสาหกรรมซึ่งมีสัดส่วนกว่า 50% หดตัวเล็กน้อย แต่ภาคเกษตรและภาคบริการยังขยายตัวได้

    เมื่อเปรียบเทียบ GPP ของกรุงเทพมหานครและปริมณฑลรวมกับจังหวัดใน EEC กับ GPP ที่ไม่รวม กรุงเทพมหานครและปริมณฑลรวมกับจังหวัดใน EEC ในช่วง 26 ปีที่ผ่านมาพบว่า GPP ของกรุงเทพมหานครและปริมณฑลรวมกับจังหวัดใน EEC ซึ่งมีภาคบริการในสัดส่วนกว่า 70% ภาคอุตสาหกรรมเกือบ 30% และภาคเกษตรไม่ถึง 1% ขยายตัวดีกว่า GPP ที่ไม่รวม กรุงเทพมหานครและปริมณฑลรวมกับจังหวัดใน EEC ซึ่งโครงการสร้างประกอบด้วยภาคบริการในสัดส่วนกว่า 50% ภาคอุตสาหกรรมกว่า 35% และภาคเกษตรกว่า 14%

    ภายหลังจากเหตุการณ์วิกฤติโรค Covid-19 นั้น GPP กลุ่ม กรุงเทพมหานครและปริมณฑลรวมกับจังหวัดใน EEC ฟื้นตัวในลักษณะ K ขาขึ้น ขณะที่ GPP กลุ่ม ที่ไม่รวมกรุงเทพมหานครและปริมณฑลรวมกับจังหวัดใน EEC ฟื้นตัวในลักษณะ K ขาลง สะท้อนว่าการปรับตัวต้องใช้เวลาพอสมควร

    ข้อมูลที่สองที่จัดทำคือ ดัชนีความก้าวหน้าของคน Human Achievement Index ที่สะท้อนความก้าวหน้าในการพัฒนาคน โดยใช้หลักสําคัญ 5 ด้าน คือ 1)ตัวชี้วัดหลายด้าน (Multidimensionality) 2) มีความสำคัญเชิงนโยบาย (Policy relevance) 3) การจำแนกเชิงพื้นที่ (Spatial disaggregation) 4) การเปรียบเทียบผ่านช่วงเวลา (Temporal comparison) และ 5) ความโปร่งใสและการทำซ้ำ (Transparency and replicability)

    HAI มีทั้งหมด 8 ด้านมี 32 ตัวชี้วัด แต่ละตัวชี้วัดมีน้ำหนักเท่ากันภายในดัชนีย่อย และแต่ละดัชนีย่อยมีน้ำหนักเท่ากันภายในดัชนีความก้าวหน้าของคน

    เมื่อเปรียบเทียบความก้าวหน้าของคนเฉลี่ย ช่วงปี 2563 -2565 เทียบกับช่วง 2560 –2562 (ก่อนโควิด –19 กับช่วงระบาดของโควิด –19) พบว่า ทั่วประเทศเพิ่มขึ้นน้อยมาก 0.009 แต่เพิ่มขึ้นทุกภาค ยกเว้นกรุงเทพและปริมณฑลที่ลดลง 0.003 แต่หลายจังหวัดก็ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย โดยดัชนีด้านการศึกษา ได้แก่จำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป สัดส่วนการเข้าเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายและอาชีวศึกษา สัดส่วนเด็ก 0-5 ปีที่มีพัฒนาการสมวัย และสัดส่วนคะแนนเฉลี่ยการทดสอบ O-NET ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย

    ด้านชีวิตการงานซึ่งวัดจาก อัตราการว่างงาน (ร้อยละ) อัตราการทำงานตํ่าระดับ (ร้อยละ) แรงงานที่มีหลักประกันทางสังคม (ร้อยละ) และอัตราการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน (ต่อลูกจ้าง 1,000คน) ภาคใต้ยังไม่ฟื้นตัว ขณะที่ภาคอื่นดีขึ้นแล้ว ส่วนในด้านเศรษฐกิจที่มีดัชนีย่อยคือ ผลิตภัณฑ์มวลรวมต่อหัว (บาท) สัดส่วนประชากรยากจน (ร้อยละ) ครัวเรือนที่มีหนี้สินเพื่อการอุปโภคบริโภค (ร้อยละ) และดัชนีความไม่เสมอภาคด้านรายจ่าย (ร้อยละ)นั้น ภาคใต้ กลุ่ม EEC และกรุงเทพและปริมณฑลแย่ลง ที่เหลือดีขึ้น

    ด้านที่อยู่อาศัยและสภาพแวดล้อมถือว่าทรงตัวเพราะทั้งประเทศลดลง 0.001 ส่วนด้านชีวิตครอบครัวและชุมชนดีขึ้นเล็กน้อย ด้านการคมนาคมและการสื่อสารดีขึ้นบ้าง ด้านการมีส่วนร่วมที่มีดัชนีย่อยคือ ประชากรที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง (ร้อยละ) จำนวนองค์กรชุมชน (แห่งต่อประชากรแสนคน) ครัวเรือนที่เป็นสมาชิกกลุ่ม/องค์กรในท้องถิ่น (ร้อยละ)ครัวเรือนที่มีส่วนร่วมทำกิจกรรมสาธารณะของหมู่บ้าน (ร้อยละ) ลดลง

    ในระดับภาคดัชนี HAI มีความไม่สมดุล แต่ด้านที่แย่งลงเหมือนกันทุกภาคคือ ด้านการศึกษา ส่วนในระดับประเทศ ด้านการคมนาคมและการสื่อสาร ด้านชีวิตการงาน ด้านชีวิตครอบครัวและชุมชน ด้านเศรษฐกิจ ดีขึ้นบ้าง แต่ ด้านที่อยู่อาศัยและสภาพแวดล้อม ด้านการมีส่วนร่วม ด้านสุขภาพ และด้านการศึกษาแย่ลง และที่แย่ลงมากทั้งประเทศคือ ด้านการศึกษา

    ข้อมูลตัวที่ 3 ได้แก่ ตัวชี้วัดการพัฒนาระดับจังหวัดและกลุ่มจังหวัดซึ่งไม่รวมกรุงเทพโดยความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดทำบนฐาน SDGs ที่สะท้อนถึงภาพรวมในการพัฒนาพื้นที่ ตามกรอบเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 5 มิติ (5P) ได้แก่ 1. มิติการพัฒนาคน (People) 2. มิติเศรษฐกิจและความมั่งคั่ง (Prosperity) 3. มิติสิ่งแวดล้อม (Planet) 4. มิติสันติภาพและยุติธรรม (Peace) 5. มิติความเป็นหุ้นส่วนการพัฒนา (Partnership) และมี 35 ตัวชี้วัด แต่ละตัวชี้วัดมีน้ำหนักเท่ากันภายในดัชนีย่อย และแต่ละดัชนีย่อยมีน้ำหนักเท่ากันภายในดัชนีความก้าวหน้าของคน จึงทำให้มีตัวชี้วัดที่ซ้ำกัน 16 ตัว ส่วนตัวชี้วัดที่ไม่ซ้ำกันเป็นตัวชี้วัดการพัฒนาระดับจังหวัดและกลุ่มจังหวัด

    การเปรียบเทียบตัวชี้วัดการพัฒนาระดับจังหวัดและกลุ่มจังหวัดช่วงปี 2563 -2565 เทียบกับช่วง 2561 –2562 (ก่อนโควิด –19 กับช่วงระบาดของโควิด –19) ในภาพรวมดีขึ้นประมาณ 2.102 โดยในด้านเศรษฐกิจและความมั่งคั่งดีขึ้นเล็กน้อย ด้านสิ่งแวดล้อมแย่ลง ด้านสันติภาพและยุติธรรมแย่ลง ด้านการเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาดีขึ้น

    “เช่นเดียวกับดัชนี HAI ตัวชี้วัดการพัฒนาระดับจังหวัดก็มีความไม่สมดุลเมื่อพิจารณาแยกตามรายภาค เมื่อแยกรายจังหวัดมีภาพที่เหมือนและแตกต่างกันบ้าง ข้อมูลเหล่านี้เชื่อได้ เพราะเป็นการเก็บตัวเลข แต่สิ่งที่เกิดขึ้น เมื่อดูจังหวัดที่ดูเหมือนจะดีขึ้น ดูเหมือนจะแย่ ก็คงต้องลงพื้นที่ต่อ เพื่อดูว่าเป็นจริงหรือไม่ ในมุมมองไหน ในมิติไหนหรือไม่ ถ้าเปรียบเทียบ 3-4 มิติ มีตรงไหนจุดไหนที่จะยืนยันได้หรือไม่ว่าวิกฤติที่แย่ เช่น เศรษฐกิจที่ทรงตัวแบบนี้ แย่ขนาดไหน” นายอุกฤษฎ์กล่าว

    สภาพัฒน์ฯ มีหนึ่งตัวชี้วัดจะพยายามลงไปในพื้นที่ลึกๆ ในระดับ อําเภอ และตำบล คือ Thai People Map and Analytics Platform (TP Map) เป็นแพลตฟอร์มที่หาว่าคนจนอยู่ตรงไหนของประเทศ อยู่ตรงไหนในแต่ละจังหวัด คนจนเป้าหมาย ที่ตัวชี้วัดนี้ ประเมินจาก 5 มิติ ประกอบด้วย 1. ด้านสุขภาพ 2. ด้านการศึกษา 3. ด้านการเงิน 4. ด้านความเป็นอยู่ 5. ด้านการเข้าถึงบริการรัฐ

    จากแพลตฟอร์มนี้ คนจนเป้าหมายทั้งประเทศในปี 2567 มีจำนวน 2,568,168 คน ซึ่งแยกได้อีกเป็นคนจนสุขภาพ คนจนมาตรฐานความเป็นอยู่ คนจนการศึกษา คนจนเศรษฐกิจ และคนจนการคุ้มครองทางสังคมและการมีส่วนร่วม และเมื่อแยกออกเป็นกลุ่ม ๆ คนจนเป้าหมายที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจำนวน 813,054 คน และยังบอกได้ว่าในแต่ละพื้นที่ตำบลแต่ละอำเภอ ของจังหวัดเชียงใหม่ คนจนเป้าหมายที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐมีจำนวนเท่าไร

    “ข้อมูลชุดนี้เป็นข้อมูลที่สภาพัฒน์ฯพยายามอย่างมากในมิติของคนจน เพราะเราพบว่าเราควรต้องหาก่อนว่าคนจนที่อยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ ที่ลงลึกได้อยู่ที่ไหน ก็มีความพยายามสร้างขึ้น” นายอุกฤษฎ์กล่าว

    นอกจากนี้ยังชุดข้อมูลรายงานการพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ที่แสดงให้เห็นถึงความคืบหน้าในการพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ครอบคลุม การลงทุนที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(BoI)และดำเนินการลงทุนแล้ว การลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมในเขตเศรษฐกิจพิเศษ การขอใช้ประโยชน์ภายใต้มาตรการส่งเสริมการลงทุนของกรมศุลกากร

    “นี่คือ 5 ข้อมูลส่วนที่จัดทําในการดูภาพรวมของการพัฒนาเศรษฐกิจ แต่สภาพัฒน์เองก็ใช้ข้อมูลอื่นที่จัดทำจากภายนอกด้วย โดยนำมาเป็นเครื่องชี้ในภาวะเศรษฐกิจรายเดือน ที่มีความถี่สูงกว่าข้อมูลในชุดที่เราทําแล้วก็จะพยายามนำมาดูคู่กัน” นายอุกฤษฎ์กล่าว

    ข้อมูลชุดแรกที่สภาพัฒน์นำมาใช้คือ ข้อมูลท่องเที่ยวรายจังหวัด ทั้งอัตราเข้าพัก รายได้ ปัจจุบันข้อมูลท่องเที่ยวรายจังหวัดมีความครอบคลุมมาก จังหวัดที่มีโครงสร้างที่เน้นท่องเที่ยวก็ใช้ได้ดี ข้อมูลที่สอง คือ การจดทะเบียนรถยนต์ใหม่รายจังหวัด ของกรมการขนส่งทางบกที่แยกประเภทไว้ค่อนข้างละเอียด ทั้งรถยนต์ นั่ง รถกระบะ รถมอเตอร์ไซต์ ซึ่งในภาพใหญ่สภาพัฒน์ได้ใช้ข้อมูลรถยนต์นั่ง รถจักรยานยนต์เป็นเครื่องชี้สะท้อนการอุปโภคบริโภคเอกชน และใช้ข้อมูลรถกระบะ เป็นเครื่องชี้ภาวะการลงทุนภาคเอกชน

    สภาพัฒน์ยังใช้ข้อมูลการเบิกจ่ายงบประมาณเฉลี่ยรายจังหวัด จากกระทรวงการคลัง หรือ ข้อมูล GFMIS เพื่อสะท้อนการใช้เม็ดเงินภาครัฐในพื้นที่ ก็จะเห็นโครงสร้างของการกระจายเม็ดเงิน นอกจากนี้ยังมีข้อมูลจากแหล่งอื่น ที่นํามาใช้สะท้อนภาคเศรษฐกิจจังหวัด เช่น ดัชนีราคาผู้บริโภครายจังหวัดจากกระทรวงพาณิชย์ ที่สะท้อนความเคลื่อนไหวด้านราคา ข้อมูลแรงงานรายจังหวัด (การจ้างงาน การว่างงาน) จากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ที่สะท้อนการจ้างงาน รวมไปถึง
    เงินรับฝากและเงินให้สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์จำแนกตามจังหวัด จากธนาคารแห่งประเทศไทย ที่สะท้อนปริมาณเงินหมุนเวียนในจังหวัด ตลอดจนข้อมูลอื่น ๆ

    “ทั้งหมดเป็นชุดข้อมูลที่สภาพัฒน์นำมาใช้ จะเห็นได้ว่าข้อมูลต่าง ๆ เอามาร้อยเรียงแล้วก็สามารถเล่าเรื่องได้หลายๆเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องของการพัฒนาในพื้นที่และจังหวัด ส่วนที่สภาพัฒน์จะทําต่อไป จะมีการปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันที่สุด ให้เร็วที่สุด ทันระยะเวลา และสภาพัฒน์ในภูมิภาคที่มีอยู่ 3-4 แห่ง ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลางและภาคใต้ จะพยายามจัดทําภาวะเศรษฐกิจและสังคมรายไตรมาส ซึ่งขณะนี้เผยแพร่ของไตรมาส 1 แต่ต่อไปจะพยายามให้เร็วขึ้น สิ่งที่จะทําต่อไปพยายามจัดทำตัวชี้วัดเพื่อประเมินความยั่งยืนของเมือง ตอนนี้อยู่ระหว่างการศึกษาทั้งหมดมีประมาณ 24 ตัวชี้วัด” นายอุกฤษฎ์กล่าว

    นางหทัยชนก ชินอุปราวัฒน์ ผู้อำนวยการกองสถิติพยากรณ์ สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.)

  • สสช.ผลักดันการแบ่งปันข้อมูล
    นางหทัยชนก ชินอุปราวัฒน์ ผู้อำนวยการกองสถิติพยากรณ์ สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) นำเสนอในหัวข้อ “สถิติที่ใช้วัดความเป็นอยู่ของคนในภูมิภาค” โดยกล่าวว่า เราได้เห็นปัญหาในการเรื่องระบบข้อมูลของประเทศ โดยเฉพาะในภาคกลางรัฐเพราะแหล่งที่มาของข้อมูล (Data Sources) ทั้งข้อมูลในด้านการบริหารและข้อมูลที่ได้จากสำรวจจะอยู่คนละที่

    นางหทัยชนกอธิบายเพื่อทำความเข้าใจพื้นฐานของข้อมูลว่า ในโลกทั่วไปนี้มีข้อมูลที่เกิดจากการทำสำรวจในพื้นที่ หรือ primary data ซึ่งเป็นข้อมูลที่มีการจัดเก็บมาตั้งแต่ในยุคโบราณ จากนั้นมีการพัฒนาเป็นข้อมูลทะเบียนจัดเก็บด้วยระบบคอมพิวเตอร์และสุดท้ายข้อมูลที่เป็นข้อมูลที่เรียกว่า big data ข้อมูลเหล่านี้ทั้ง 3 ส่วนจะประกอบมาสนับสนุนการได้ข้อมูลสถิติ หรือตัวชี้วัดใหม่ๆ

    ข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ประกอบด้วยข้อมูลแบบดั้งเดิม คือ ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจและสำมะโน หรือการสำรวจกลุ่มตัวอย่างข้อมูลส่วนหนึ่งไม่สามารถลงลึกไปถึงระดับพื้นที่หรือ ระดับอำเภอได้ เพราะว่าในการทำสำรวจตัวอย่าง(sample survey) ต้องใช้ขนาดตัวอย่างที่มาก ไม่ได้ใช้ตัวอย่างระดับพันราย บางครั้งสูงถึง 50,000-100,000 ตัวอย่าง เพื่อให้ได้เขตการยอมรับไปถึงระดับระดับจังหวัด แต่ถ้าจะให้เขตการยอมรับลงไปถึงระดับอำเภออาจจะต้องใช้ตัวอย่าง 300,000 -400,000 ราย ซึ่งไม่คุ้มค่ากับงบประมาณ เพราะฉะนั้นนักสถิติส่วนใหญ่จะไม่ทํา ถ้าประเมินแล้วไม่คุ้มค่ากับงบประมาณที่เสียไป แล้วผู้ใช้อาจจะไม่ได้ข้อมูลเพียงพอ

    นอกจากนี้จะมีสถิติ ดัชนีและเครื่องชี้วัดที่สำนักงานสถิติแห่งชาติดําเนินการด้วย แต่มีจำนวนมากแล้วทุกอย่างอยู่ในบนเว็บไซต์ที่เรียกว่า บริการของสสช. ประกอบด้วยระบบบัญชีข้อมูลภาครัฐ(Government Data Catalog) ที่จะบอกว่าข้อมูลภาครัฐแต่ละตัว มาจากแหล่งหรือหน่วยงานไหน ข้อมูลใดที่นำเผยแพร่บนเว็บไซต์สสช.โดยตรงก็จะระบุแหล่งที่มาไว้ แต่ในกรณีที่สสช.นำข้อมูลจากแหล่งอื่นมาพัฒนาใหม่ สสช.ก็จะเป็นเจ้าของข้อมูลชุดนี้ พร้อมประกาศว่าประเทศไทยปัจจุบันมีข้อมูลใหม่

    “ข้อมูลที่ผลิตมา ผลิตด้วยงบประมาณภาครัฐ เพราะฉะนั้นการแบ่งปันและการแลกเปลี่ยนข้อมูลเป็นจุดมุ่งหมายสำคัญของบัญชีข้อมูลภาครัฐ ภาครัฐผลิตอะไรขึ้นมาควรจะบอกว่ามีอะไร และต้องแลกเปลี่ยนแบ่งปันโดยอัตโนมัติ ซึ่งหากมีการเชื่อมโยงระบบฐานข้อมูล ก็จะทำให้ผู้ใช้ โดยเฉพาะผู้ใช้หน่วยงานภาครัฐ หรือหน่วยงานวิจัยใช้ได้” นางหทัยชนกกล่าว

    Government Data Catalog มีข้อมูลถึง 17,770 ชุดจาก 295 หน่วยงาน มีข้อมูลหลายประเภท ทั้งภาคเกษตร ข้อมูลผู้สูงอายุ ข้อมูลท่องเที่ยว ข้อมูลครัวเรือน

    สำหรับการสำมะโน สสช.จะทำการสำมะโนเคหะ การเกษตรโดยสำมะโนเกษตรได้ทำไปในปีที่แล้ว และใช้ข้อมูลจากทะเบียนเข้าไปด้วย ไม่ใช่จากการสำมะโนอย่างเดียว และใช้ข้อมูลจากด้านการบริหารเข้ามาบูรณาการ ส่วนการสำมะโนธุรกิจอุตสาหกรรมได้ใช้ข้อมูลด้านการบริหาร ประเทศไทยมีการขึ้นทะเบียนจดทะเบียนการค้าบริการการผลิต แต่จดทะเบียนหลายหน่วยงานมาก ส่วนการสำรวจตัวอย่างทั้งด้านเศรษฐกิจด้านสังคม ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ รายได้ ค่าใช้จ่าย สำรวจเรื่องแรงงาน สำรวจเรื่องพฤติกรรมสุขภาพ การย้ายถิ่น รวมไปการสำรวจเรื่องการเจริญพันธุ์ของผู้หญิง พัฒนาการของเด็ก การเข้าเรียนและการออกจากโรงเรียน ซึ่งจากการสำรวพบว่าเด็กระดับประถมศึกษาประมาณ 99% ยังคงอยู่ในโรงเรียน แต่ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นจะลดเหลือ 80% และในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายอัตราการออกจากโรงเรียนจะมากขึ้น ตามลําดับ นอกจากนี้ยังมีการสำรวจเรื่องการอ่านหนังสือของประชากร พฤติกรรมต่าง ๆ และความคิดเห็นของประชาชนด้วย

    สสช.ยังสำรวจอัตราการว่างงานที่เผยแพร่รายไตรมาส ซึ่งสามารถรวมได้ถึงระดับจังหวัด เนื่องจากประชากรประมาณครึ่งหนึ่งเป็นแรงงานนอกระบบในภาคเกษตร จึงไม่มีข้อมูลจากฝ่ายบริหารไปจัดทำ ต่างจากในต่างประเทศที่มีข้อมูลประกันสังคม ประเทศไทยต้องใช้การสำรวจ นอกจากนี้ยังมีการจัดทำรายงานสถิติรายปีประเทศไทย เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจไทยที่ใช้ข้อมูลจากหน่วยงานอื่น รวมไปถึงรายงานครัวเรือนฐานราก

    “การสำรวจของสสช. สำรวจคนทุกคนที่อยู่ในประเทศไทยไม่ใช่เฉพาะคนไทย แต่รวมคนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย เพราะว่าคนต่างชาติที่มาอยู่ในประเทศใช้ทรัพยากรของไทยไม่ใช่เฉพาะคนไทย รวมไปถึงการสำมะโนประชากรก็คลุมถึงคนต่างด้าวด้วย โดยเฉพาะคนต่างด้าวที่เข้ามาอยู่เหมือนตั้งรกราก สสช.ได้ให้นิยามว่าคนที่จะนับเข้ามาในประชากร จะเป็นคนที่ไหนก็ได้ แต่อยู่อย่างถาวรไม่น้อยกว่า 6 เดือนในประเทศไทย รวมทั้งสสช.ต้องมีความรู้ความเข้าใจมาตรฐานคำนิยามต่างๆในระดับโลก”

    สสช.ยังจัดทำเครื่องชี้วัดสำหรับผู้ใช้ในต่างประเทศ ที่เป็นโครงการระหว่างประเทศ เช่น โครงการความร่วมมืออินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (IMT-GT) ซึ่งสสช.เป็นคณะทํางานย่อยก็ต้องรวบรวมข้อมูลส่งให้ และยังเป็นคณะทำงานย่อยของอาเซียที่ต้องรวบรวมข้อมูลเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ที่สำคัญต้องเป็นข้อมูลที่ได้มาตรฐาน

    “สสช.ยังทำ Statistics sharing hub การเป็นศูนย์กลางแห่งการแบ่งปันข้อมูล เราจะไม่แบ่งปันเฉพาะในประเทศ และการแบ่งปันข้อมูลของเราจะมีมาตรฐานที่เรียกว่า มาตรฐาน Statistical Data and Metadata eXchange (SDMX) และเป็นข้อมูลสถิติที่เป็นทางการของประเทศ เป็นความตั้งใจ แต่ก็ต้องเกิดความร่วมมือจากทุกหน่วยงานที่จะแลกเปลี่ยนข้อมูลด้วย” นางหทัยชนกกล่าว

    ชุดข้อมูลที่เผยแพร่ที่ศูนย์กลางการแบ่งปันสถิติ เป็นชุดข้อมูลที่ศูนย์สารสนเทศยุทธศาสตร์ภาครัฐได้นำข้อมูลสถิติจากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ เช่น ระบบบัญชีข้อมูลภาครัฐ (Government Data Catalog) มาจัดทำโครงสร้างข้อมูลตามมาตรฐาน Statistical Data and Metadata Exchange (SDMX) ตามแนวทางปฏิบัติที่องค์กร SDMX กำหนด (Content Oriented Guidelines)

    นางหทัยชนกกล่าวว่า สสช.ยังจัดทำสถิติที่สำคัญสำหรับการวัดความเป็นอยู่ของคนในภูมิภาคเชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) แต่ไม่ครบทั้ง 17 ข้อ เป็นการมองสถานการณ์ความเป็นอยู่ของพื้นที่ผ่านตัวชี้วัดเป้าหมายการพัฒนนาที่ยั่งยืนในภาพรวม(dashboard) เช่น ใน SDG1 การยุติความยากจนในทุกรูปแบบ ที่ตัวชี้วัดในการวัดรายได้ สัดส่วนคนจนเมื่อวัดจากรายจ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภค แยกตามเขตปกครอง เพศ กลุ่มอายุ จำนวนประชากรแยกตามสิทธิ สถิติคนพิการที่มีบัตรคนพิการแยกตามเพศ เป็นต้น หรือ SDG3 การสร้างหลักประกันการมีสุขภาวะที่ดีและส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับคนทุกช่วงวัย ซึ่งมีตัวชี้วัด คือ อัตราการเสียชีวิตของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีต่อเกิดมีชีพ 1,000 คน จำนวนผู้เสียชีวิตตามอุบัติเหตุบนถนน ความหนาแน่นและการกระจายตัวของบุคคลากรด้านสาธารณสุข เป็นต้น

    “อย่างไรก็ตามสถิติที่เชื่อมโยงกับ SDGS ไม่ได้มีตัวชี้วัดทุกเป้าหมาย เพราะการจะทําตัวชี้วัดได้ต้องมีข้อมูล ซึ่งข้อมูลก็ไม่ได้มีทุกที่โดยเฉพาะในระดับพื้นที่ และการที่จะทำ dashboard ต้องมีข้อมูล หลายจังหวัดอาจจะมีข้อมูลไม่เท่ากัน และต้องมีทรัพยากร สำนักงานสถิติจังหวัดมีเจ้าหน้าที่เพียง 4-5 คนเท่านั้น” นางหทัยชนกกล่าว

    นางหทัยชนกปิดท้ายว่า ข้อมูลจะไปสู่ประชาชน ถ้ารู้จักใช้เป็น ต้องมีแนวทางในการให้ประชาชนนำข้อมูลมาใช้ในการตัดสินใจในชีวิตประจำวัน และต้องสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องข้อมูลทั้งการให้แลการใช้ อย่างไรก็ตามยังความท้าทายในการจัดเก็บข้อมูล คือการทำใหประชาชนให้ข้อมูลกับภาครัฐ ทั้งผ่านการลงทะเบียนที่ควรจะลงทะเบียน ซึ่งจะทำให้สสช.สามารถใช้ข้อมูลนี้ได้

    นายอิทธพัฒน์ ประภาประเสริฐ เศรษฐกรปฎิบัติการ กองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)

  • สศค.วัดความพร้อมปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ-การเงินระดับหมู่บ้าน
    นายอิทธพัฒน์ ประภาประเสริฐ เศรษฐกรปฎิบัติการ กองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หรือสศค.นำเสนอในหัวข้อ “ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจการเงินเชิงพื้นที่ (Spatial Economic and Financial Fundamental Index)” โดยกล่าวว่า สศค.ได้พัฒนา ดัชนีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจเชิงพื้นที่ (Spatial Economics Fundamental Indicator: SEFI) และดัชนีปัจจัยพื้นฐานทางการเงินเชิงพื้นที่ (Spatial Financial Fundamental Indicator: SFFI)และการจัดทำแผนที่การเงินครัวเรือนไทย ซึ่ง SEFI เป็นเครื่องชี้วัดที่พัฒนาต่อยอดจากข้อมูลที่เก็บรวมรวม หลังจากที่พบว่าคนมีความสัมพันธ์กับพื้นที่

    สศค. พัฒนา SEFI เพื่อใช้ระบุความพร้อมในเชิงปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ และ จังหวัด ซี่งมีประโยชน์ต่อการจัดสรรทรัพยากรภาครัฐไปใช้ในการพัฒนาในพื้นที่ SEFI เป็นดัชนีที่เน้นการจัดอันดับและเปรียบเทียบแต่ละพื้นที่

    ดัชนีปัจจัยพื้นฐานทางการเงินเชิงพื้นที่หรือ SEFI พัฒนา ข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) ของกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ได้แก่ ครัวเรือน 12.8 ล้านครัวเรือน ซึ่งมีประชากร 36.0 ล้านคน และใช้ข้อมูล 31 ตัวชี้วัด อาทิ ความมั่นคงในที่อยู่อาศัยและบ้านมีสภาพคงทนถาวร การมีน้ำสะอาดสำหรับดื่มและบริโภคเพียงพอตลอดปี การได้รับการตรวจสุขภาพประจำปี ระดับการศึกษาและทักษะภาษาอังกฤษ ระดับรายได้ ค่าใช้จ่าย หนี้นอกระบบ และเงินออม

    แหล่งที่สอง ข้อมูลปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจต่าง ๆ เป็นข้อมูลจังหวัดที่รวบรวมมาจากหลายแหล่ง เช่น สคช. กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงพลังงาน สสช. เป็นต้น โดยใช้ข้อมูล 54 ตัวชี้วัด อาทิ กรเข้าถึงอินเทอร์เน็ต จำนวนตลาดสดน่าซื้อ อัตราบุคลากรทางการแพทย์ จำนวนโรงเรียนต่อขนาดพื้นที่ และอัตราการผลิตติดตั้งไฟฟ้าจากพลังงาน

    แหล่งที่สาม ข้อมูลโครงการภาครัฐของกระทรวงการคลัง ทั้งผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 13.3 ล้านคน แรงงานอิสระ (โครงการเราไม่ทิ้งกัน) จำนวน 15.3 ล้านคน ผู้ใช้งานแอพพลิเคชั่น “เป๋าตัง” (โครงการคนละครึ่ง) 26.3 ล้านคน ผู้ประกอบการที่ใช้งานแอพพลิเคชั่น “ถุงเงิน” 1.3 ล้านคน และผู้ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษที่ใช้จ่ายผ่านบัตรประชาชน(โครงการเราชนะ) 2.5 ล้านคน

    แหล่งสุดท้าย ข้อมูลดาวเทียม (Satellite Data)โดย Google Earth Engine และ OpenStreetMap ในด้านความสว่างของแสงกลางคืน (Night Time Light: NTL) จำนวนจุดสนใจ (Point of Interests: POI) เช่น จำนวนที่พัก ร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว และร้านสะดวกซื้อต่าง ๆ เป็นต้น ความยาวของถนน และความหนาแน่นของก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2)

    “เมื่อเราได้ข้อมูลดาวเทียมที่ลงลึกได้ ทำให้เราสามารถทำขึ้นมาเป็นในระดับของตําบลได้ ซึ่งได้ประมาณ 923 ตำบล” นายอิทธิพัฒน์กล่าว

    เมื่อได้ข้อมูลแล้วก็ได้ทำการแบ่งข้อมูลออกเป็น 6 กลุ่ม หนึ่งคือ กลุ่มของโครงสร้างพื้นฐาน มีเครื่องชี้วัดประมาณ 12 รายการ อย่างเช่น ความสว่างของแสง ความยาวของพื้นที่จุดสนใจ กลุ่มที่สอง คือ สาธารณสุข ที่มีเครื่องชี้วัดประมาณ 18 รายการ อาทิ จำนวนเตียงในสถานพยาบาล จำนวนแพทย์ กลุ่มที่สาม การศึกษา มีเครื่องชี้ 15 รายการ กลุ่มที่สี่ เสถียรภาพทางเศรษฐกิจมีเครื่องชี้ 11 รายการ กลุ่มที่ห้า ความท้าท้ายทางทรัพยากรมนุษย์มีเครื่องชี้ 21 รายการและกลุ่มที่หก สิ่งแวดล้อม มีเครื่องชี้ 11 รายการ

    จากการวิเคราะห์ประมวลผลด้านการชี้วัด SEFI พบว่า ภาคกลางและภาคตะวันออกมีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง โดยเฉพาะพื้นที่เขตอำเภอของจังหวัดในเขตปริมณฑลและหัวเมืองเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ ขณะที่พื้นที่ส่วนใหญ่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บางส่วนของภาคเหนือและภาคใต้มีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอกว่า

    “เรามองเห็นว่าแต่ละภูมิภาคมีความแตกต่างของ SEFI ที่แตกต่างกันไป คือ กรุงเทพมีค่า 0.3 ค่าที่มากกว่าศูนย์ นับว่าดีกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศไทย แต่ถ้าน้อยกว่าคือแย่กว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ” นายอิทธพัฒน์กล่าวและว่า ข้อมูล SEFI สามารถปรับใช้ได้ทั้งระดับพื้นที่ และระดับบุคคล เช่น ประชากรในกลุ่มผู้สูงอายุ นอกจากนี้ยังมีความสัมพันธ์กับตัวชี้วัดผู้ถือบัตรสวัสดิการรัฐ และ GDP ข้อมูล SEFIจึงสามารถที่จะใช้ประโยชน์ในการระบุความพร้อมของปัจจัยพื้นฐานในพื้นที่ได้”นาอิทธิวัฒน์กล่าว

    จาก SEFI สศค.ได้ขยายมาพัฒนาดัชนีปัจจัยพื้นฐานทางการเงินเชิงพื้นที่ (Spatial Financial Fundamental Indicator: SFFI) และการจัดทำแผนที่การเงินครัวเรือนไทย เพื่อสะท้อนระดับความพร้อมของปัจจัยพื้นฐานทางการเงินรายตำบล อำเภอ และจังหวัด

    “การจะพัฒนาคนในพื้นที่ไปสู่การมีสุขภาวะทางการเงินได้นั้นต้องเข้าใจปัจจัยพื้นฐานทางการเงินตั้งต้นของพวกเขาก่อน สามารถระบุระยะห่างระหว่างปัจจุบันกับเป้าหมาย รู้จุดแข็ง จุดอ่อนทางการเงิน และออกแบบมาตรการได้อย่างเหมาะสมกับพื้นที่นั้น ๆ” นายอิทธิพัฒน์กล่าว

    แนวทางการพัฒนา SFFI ไม่ต่างจาก SEFI โดยใช้ข้อมูลจาก 16 แหล่งข้อมูล เช่น สำนักงานประกันสังคม ข้อมูลจากบริษัทประกันภัย ข้อมูลจากสถาบันการเงิน เป็นต้นเมื่อรวบรวมข้อมูลได้แล้วก็นำมาแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มได้แก่ การบริหารจัดการทางการเงินที่มีเครื่องชี้ 16 รายการ การออมและการลงทุนเครื่องชี้ 21 รายการ และการเข้าถึงสถาบันการเงิน 19 รายการ

    จากการประมวลและวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า เมืองหลักจะมีระดับดัชนีสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพ นนทบุรี สมุทรปราการ ภูเก็ตและชลบุรี ส่วนเมืองที่มีระดับดัชนีต่ำสุด คือ ศรีสะเกษ สุรินทร์ ตาก กำแพงเพชร แม่ฮ่องสอน และเห็นว่าพื้นที่อาจจะมีการเกาะกลุ่มกัน

    ข้อมูลที่ได้ยังทำให้กองนโยบายการออม ของสศค. ซึ่งมีโครงการให้ความรู้ทางการเงินเชิงพื้นที่ สามารถลงพื้นที่ที่ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายได้มากที่สุด ซึ่งพบว่าปัตตานี ยะลา นราธิวาส น่าน สตูล เป็นจังหวัดที่มีกลุ่มเป้าหมายสูง

    นอกจากนี้ยังมีเครื่องชี้วัดอีกตัว คือ ดัชนีสุขภาวะทางการเงิน เนื่องจากกลุ่มเป้าหมายมีความรู้ทางการเงินที่แตกต่างกัน ซึ่งประกอบด้วย คะแนนทักษะทางการเงิน อัตราส่วนการชาระหนี้ต่อรายได้ อัตราส่วนภาระหนี้ต่อรายได้ อัตราส่วนเงินออมต่อครัวเรือน และความกระจุกตัวของประเภทการออม สศค.ได้นำแผนที่ดัชนีรวมสุขภาวะทางการเงินและสัดส่วนกลุ่มเป้าหมายมาจัดลำดับความเร่งด่วนในการลงพื้นที่เป้าหมาย ซึ่งพบว่า จังหวัดที่มีจำนวนอำเภอที่เป็นกลุ่มเป้าหมายเร่งด่วนมากที่สุด
    คือ ศรีสะเกษ (18 อำเภอ) อุบลราชธานี (15 อำเภอ) สุรินทร์ (14 อำเภอ) ชัยภูมิ (11 อำเภอ) และ นราธิวาส (10 อำเภอ)

    นายอิทธิพัฒน์กล่าวว่า ข้อมูล SFFI รายจังหวัด ธนาคารออมสิน ซึ่งเป็นสถาบันการเงินของรัฐได้นำไปในโครงการออมสินใจร่วมใจและรักขุนน่าน เพื่อช่วยแก้ปัญหาด้านแหล่งทุนและหนี้สิน ด้านสร้างงานสร้างอาชีพ ด้านการให้ความรู้ทางการเงิน ด้านการท่องเที่ยวและอีกหลายด้าน

    ดร.จิตเกษม พรประพันธ์ ผู้อานวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจการเงินภูมิภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย

  • ธปท.แปลงผลสำรวจเป็นข้อมูลสู่นโยบาย
    ดร.จิตเกษม พรประพันธ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจการเงินภูมิภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย นำเสนอในหัวข้อ “ความรู้ทางการเงินของคนในภูมิภาค” โดยกล่าวว่า ธปท.ได้มีการสำรวจความรู้ทางการเงินเพื่อจะนําไปใช้เป็นเชิงนโยบาย และเป็นเนื้อหาในการเผยแพร่ความรู้ทักษะทางการเงิน เนื่องจากความรู้ทางการเงินเป็นพื้นฐานของความเป็นอยู่ที่ดีทางการเงิน ทำให้ประชาชนสามารถที่จะรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ ได้ และมีผลต่อเนื่องไปยังเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ

    การเข้าถึงบริการทางการเงินมองได้หลายมิติ ในยุคแรกประมาณ 20 ปีที่แล้ว ประเทศไทยได้ผลักดันการเข้าถึงบริการการเงินอย่างมาก ลงไปถึงระดับพื้นที่ห่างไกลมีการใช้ผลิตภัณฑ์ทางการเงิน แต่สิ่งที่ให้ความสําคัญจริงจัง ที่ธปท.และกระทรวงการคลังเห็นร่วมกัน คือ การเข้าถึง และการให้ความรู้ทางการเงิน การสำรวจของธปท.จึงเน้นไปที่การเข้าถึงบริการทางการเงิน การคุ้มครองผู้บริโภค และความรู้ทางการเงิน

    “ความรู้ทางการเงินเป็นเรื่องสำคัญ เพราะสร้างความมั่นคงทางการเงินของส่วนบุคคล การที่มีความรู้การเงินทําให้เศรษฐกิจเติบโต ถ้ามีความต้องการเงินก็จะมีการออมการลงทุนเกิดขึ้น เมื่อมีการออมการลงทุนประเทศก็เติบโต อีกทั้งยังเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนเกษียณ เป็นการคุ้มครองผู้บริโภคถ้ามีความรู้ทางการรู้สิทธิของตัวเอง สิทธิที่จะไม่ถูกหลอก สิทธิที่จะไม่ถูกธนาคารรบกวน ตลอดจนทำให้มีเสถียรภาพทางการเงินก็จะเป็นเรื่องของการออมที่มีเงินทองในประเทศ และการถ่ายทอดผ่านรุ่น” ดร.จิตเกษมกล่าว

    การสำรวจความรู้ทางการเงินของธปท.ได้ใช้กรอบของ OECD และจะมีขึ้นแบบปีเว้นปี ที่ผ่านมามีการสำรวจในปี 2563 มีผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด 11,901 ครัวเรือน และ 2565 มีผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด 12,402 ครัวเรือน ซึ่งชุดคำถามมาตรฐานของทักษะทางการเงินมีด้วยกัน 3 ด้าน คือ ความรู้ทางการเงิน พฤติกรรมทางการเงินและทัศนคติทางการเงิน และธปท.สำรวจเพิ่มอีก 2 ด้านคือ การประเมินความเปราะบาง (Vulnerability) ที่มีจะผลต่อทางการเงิน ซึ่งครอบคลุมด้านสุขภาพ(Health) ความยืดหยุ่น(Resilience) ความสามารถ(Capability) ในการปรับตัวเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่กระทบต่อการเงิน

    “คำถามด้านความรู้ทางการเงิน เป็นเรื่องการคำนวณดอกเบี้ยทั้งแบบคงที่ หรือรู้จัก effective rate หรือไม่และคิดเป็นอย่างไร ดอกเบี้ยลดต้นลดดอก คํานวณมูลค่าปัจจุบันเป็นไหม หรือรู้เรื่องเงินเฟ้อไหม ส่วนคำถามเรื่องพฤติกรรม ก็จะถามถึงการตัดสินใจการจัดสรรเงินการใช้เงิน การปรับตัวได้หรือไม่ได้ การไม่มีการออมเงิน ไม่มีเงินเผิ่อกรณีฉุกเฉิน” ดร.จิตเกษมกล่าว

    โดยรวมคนไทยมีทักษะทางการเงินดีขึ้น โดยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 71.4% ดีขึ้นกว่าปี 2563 ขณะที่ค่าเฉลี่ย OECD อยู่ที่ประมาณ 60% เมื่อแยกรายภาค คนในภาคเหนือและอีสานมีทักษะทางการเงินต่ำกว่าค่าเฉลี่ยประเทศ โดยเฉพาะอีสานมีทักษะการเงินต่ำกว่าค่าเฉลี่ยประเทศและต่ำกว่าในทุกด้านมาโดยตลอด

    ด้านพฤติกรรมทางการเงิน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนในทุกภาค ค่าเฉลี่ยของประเทศอยู่ที่ 70.3% จาก 66.4% ในปี 2563 แต่ภาคกลางและอีสานต่ำกว่าค่าเฉลี่ยประเทศเล็กน้อย จากสัดส่วนคนที่ตอบว่ามีการเปรียบเทียบข้อมูลก่อนการซื้อ ไม่เคยประสบปัญหาเงินไม่พอใช้ และจัดสรรเงินก่อนใช้ มีน้อย

    ด้านทัศนคติทางการเงิน ลดลงเล็กน้อยจากปีก่อน โดยลดลงในเกือบทุกภาค ยกเว้น ภาคใต้ ที่ได้ค่าเฉลี่ย 79.3 จาก 76.8 ในปี 2563 และมีค่าเฉลี่ยสูงกว่าภาคอื่นในคำถามเรื่องมีชีวิตอยู่เพื่อวันนี้และไม่ได้คิดวางแผนสำหรับอนาคต กับคำถามเรื่องมีความสุขในการใช้เงินมากกว่าเก็บออมเพื่ออนาคต

    ส่วนในเรื่องภัยทางการเงิน พบว่า มีคนที่เปลี่ยนรหัสผ่านการเข้าใช้งานระบบออนไลน์เป็นประจำเพียง 1 ใน 5 โดยคนในภาคกลางมีสัดส่วนตอบถูกน้อยที่สุด และกว่า 1 ใน 3 เห็นว่าการใช้ไวไฟสาธารณะปลอดภัย

    ทางด้านผลการประเมินความเปราะบาง คนไทยไม่มีปัญหาความเปราะบางเพราะว่าเข้าถึงได้ดี ความเปราะบางด้านสุขภาพมีน้อยในทุกภูมิภาค และคนไทยมีสัดส่วนภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพต่อรายได้น้อย ขณะที่ด้านความยืดหยุ่นความสามารถในการปรับตัว คนไทยคนไทยเกือบครึ่งหนึ่งมีความเปราะบาง เนื่องจากไม่มีเงินออมหรือเงินออมน้อ รับกับเหตุการณ์ฉุกเฉินไม่ได้และมักจะเป็นหนี้กับเรื่องฉุกเฉิน

    ในด้านความสามารถ(Capability) คนไทยโดยรวมมีความเปราะบางด้านนี้ลดลง ยกเว้นคนในกรุงเทพฯ ที่มีความเปราะบางเพิ่มขึ้นจากทักษะทางการเงินที่แย่ลง
    และการขาดทักษะทางการเงิน เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้คนไทยมีความเปราะบางด้าน Capability ในทุกภูมิภาค

    ผลการประเมินความเปราะบางในองค์รวมทั้ง 3 ด้าน พบว่า คนไทยส่วนใหญ่มีความเปราะบางด้าน Capability มากที่สุด รองลงมาเป็นด้าน Resilience ส่วน Health มีความเปราะบางน้อยมาก โดยมีลักษณะคล้ายกันในแต่ละภูมิภาค คนไทยมีพัฒนาการที่ดีขึ้น โดยมีจำนวนผู้มีความเปราะบางอย่างน้อย 1 ด่าน ลดลงในทุกภูมิภาค ยกเว้นกรุงเทพฯ ที่แย่ลงเล็กน้อย

    ดร.จิตเกษมกล่าวว่า จากผลสำรวจที่ได้ ธปท.ได้นำมาจัดทำเป็นรายงาน แต่ในเชิงนโยบายมีการทํางานวิเคราะห์ต่อเนื่อง เช่น สถาบันวิจัยป๋วย ได้วิจัยต่อไปถึงทักษะทางการเงินแต่ละช่วงวัย ก็พบว่า คนมักเพิ่มพูนทักษะทางการเงินตามอายุที่มากขึ้นและจะเริ่มมีทักษะที่แย่ลงเมื่อมีเข้าสู่วัยสูงอายุ

    ธปท.ได้นำข้อมูลผลสำรวจมาวิเคราะห์ เพื่อจัดทำเนื้อหาในการให้ความรู้ทางการเงิน และให้วางแนวทางในการสื่อสารเชิงนโยบาย ซึ่งมีหลายโครงการทั้งในส่วนหลางและระดับภูมิภาค ด้วยครวมร่วมมือกับภาคเอกชน สถาบันการศึกษา

    “นี่ก็เป็นการแปลงผลสํารวจเป็นข้อมูล แปลงข้อมูลมาเป็นนโยบาย และนำนโยบายไปปฏิบัติ เป็นสิ่งที่เราเอาข้อมูลจากการสํารวจที่ได้รับจากสำนักงานสถิติแห่งชาติมาแปลงเป็นรายงานและก็วิเคราะห์แล้วก็ใช้เป็นนโยบายต่อไป” ดร.จิตเกษมกล่าว

    ดร.ศิริกุล หุตะเสวี หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจการเกษตรและภูมิสังคม สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA

  • GISTDA ยันชี้เป้าให้ได้
    ดร.ศิริกุล หุตะเสวี หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจการเกษตรและภูมิสังคม สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA นำเสนอในหัวข้อ “เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศเพื่อการศึกษาด้านเศรษฐกิจและสังคม” โดยกล่าวว่า GISTDA เป็นเจ้าของข้อมูล แต่ก็อยากจะเห็นการนำข้อมูลไปใช้ เนื่องจาก GISTDA เห็นแค่ evidence based เป็นสิ่งที่เห็น แต่ต้องทําความเข้าใจ

    ดร.ศิริกุลกล่าวว่า ข้อมูลหรือ Data ในเชิงพื้นที่มีเยอะมาก แต่แนวคิดของข้อมูลเชิงพื้นที่ หมายถึงข้อมูลอะไรก็ตามที่มีอีกข้อมูลเชิงตําแหน่งสามารถยึดโยงเข้าไปในพื้นที่ของโลกได้ โดยกระบวนการการวิเคราะห์คือการใช้ overlay analysis เท่านั้น ขึ้นอยู่กับว่าจะเป็น overlay ในมิติไหน

    ดร.ศิริกุล ยกตัวอย่างการนำข้อมูลมา หรือ Data ที่ได้มาจากแหล่งข้อมูลต่างๆ มาวิเคราะห์ประมวลผลแล้วนำเสนอออกมาในรูปแบบที่มองเห็นและทำความเข้าใจได้ด้วยตา หรือ Visualization ซึ่งสามารถลงลึกได้ถึงระดับจังหวัด ระดับอำเภอ และระดับตำบล เช่น ข้อมูล GDP ในระดับจังหวัด บอกได้ถึงโครงสร้างเศรษฐกิจของแต่ละจังหวัด ว่า จังหวัดไหนพึ่งพาภาคอุตสาหกรรม หรือภาคบริการ หรือภาคเกษตร ส่วนในระดับอำเภอก็สามารถอธิบายได้ถึงโครงสร้างประชากรตามเพศ อายุ จากข้อมูลบ้าน

    นอกจากนี้ยังได้นำข้อมูลจำเป็นพื้นฐาน(จปฐ.) กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย มาประมวลผลเพื่อบอกว่า คนจนอยู่ที่ไหน มีปัญหาด้านสุขภาพจำนวนเท่าไร มีปัญหาด้านความเป็นอยู่ หรือปัญหาด้านการศึกษา ด้านรายได้มีเท่าไร

    นอกจากนี้ยังได้นำข้อมูล Multi Dimentional Index สองช่วงเวลาจาก TP Map คือ เครื่องชี้วัดด้านรายได้รายตำบลปี มาวิเคราะห์ประมวลผลเปรียบเทียบปี 2560 กับปี 2566 สิ่งที่เห็นจากการวิเคราะห์และประมวลผลคือ คนที่จนในปี 2560 ยังคงยากจนในปี 2565 สถานะไม่ดีขึ้น และยังพบว่าคนที่ไม่ได้ยากจนมาก่อนกลับยากจนลง

    “ถ้าเรามองจาก data ก็ต้องถามว่าเกิดความผิดปกติอะไร ที่ต้องไปหาคำตอบ” ดร.ศิริกุลกล่าว

    อย่างก็ไรก็ตามในการวิเคราะห์และประมวลก็มีปัญหาอยู่บ้าง จากการที่ข้อมูลบางประเภทใช้มานานกว่า 20 ปี เช่น ข้อมูลภูมิสนเทศระดับหมู่บ้าน และไม่สามารถรู้ได้ว่าข้อมูลมีการปรับปรุงให้เป็นปัจจุบันหรือไม่ ส่งผลให้การวิเคราะห์ จปฐ.2565 มีหมู่บ้านหายไป 3,000-4,000 หมู่บ้าน ซึ่งหากมีการเชื่อมโยงข้อมูล มีการปรับปรุงข้อมูลที่เป็นข้อมูลหมู่บ้าน หรืออย่างน้อยจัดทำข้อมูลที่ตั้ง(location) และชื่อให้ถูกต้อง การวิเคราะห์และประมวลผลครั้งต่อไปก็จะมีประโยชน์มากขึ้น

    GISTDA ยังได้มีการวิเคราะห์และประมวลผลด้วยนำข้อมูลแบบจุดมาขึ้นร่าง(plot) ก็จะพอมองเห็นเป็นจุดในภาพรวม แต่ก็จะเห็นการเกาะกลุ่ม(cluster) ของสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ดังนั้นจึงเห็นถึงการเกาะกลุ่มของความยากจนในพื้นที่

    “จากการวิเคราะห์และประมวลจาก TP Map เปรียบเทียบปี 2560 กับปี 2565 เห็นได้ว่าความยากจนลดลง คนจนน้อยลง แต่ก็มีคำถามว่า เป็นเพราะมีการอัดฉีดเงินลงไปทําให้รายได้ขั้นต่ำของคนจนสูงขึ้น ในช่วงปีนั้นก็ทําให้คนจนน้อยลงหรือไม่ ซึ่งเราก็ไม่สามารถบอกได้ เราแค่ชี้เป้า เราอยากให้คนที่เข้าใจเป็นคนมาเล่าว่าเกิดอะไรขึ้น” ดร.ศิริกุลกล่าว

    นอกจากนี้ยังมีการใช้ข้อมูลดาวเทียมศึกษาการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ หรือวัดความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่ที่เข้าไม่ถึงได้ ซึ่งปัจจุบันได้มีการพัฒนาดาวเทียมเพื่อศึกษาข้อมูลกลางคืนทีมีค่าที่ใช้บอกความละเอียดของภาพ(resolution) ที่ 500เมตรx500 เมตร หรือ พื้นที่ประมาณ 0.25 ตารางกิโลเมตร ตำบลที่เล็กที่สุดในประเทศสามารถมีความละเอียด(pixel)ในภาพได้ประมาณ 350 pixel ถือว่าพอเพียงที่ะบอกค่าความแตกต่างของแสง ซึ่งก็พบว่าแสงในตอนกลางคืนกระจายตัวออกจากที่ในช่วงแรกกระจุกในกรุงเทพที่เป็นศูนย์กลางมากขึ้น ไปสู่หัวเมืองใหญ่ และกระจายในพื้นที่กว้างขึ้นในปี 2566

    ดร.ศิริกุลกล่าวว่า ข้อมูลอีกชุดที่สามารถนำมาใช้ได้คือ ความหนาแน่นของประชากร ในโลกนี้มีผู้พัฒนาสองรายคือ NASA กับ Worldpop ซึ่งGISTDA ได้ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลแล้วในบางช่วงบางตอน และแปลงมาเป็นข้อมูลที่ประเทศไทยมี เช่น ตำบล อำเภอ จังหวัด พบว่าค่าความถูกต้องเกิน 80% ก็น่าจะเป็นข้อมูลที่นำมาใช้ได้

    จากการเปรียบเทียบปี 2543 กับ 2563 พบว่า บางเทศบาลมีคนย้ายออก บางเทศบาลมีคนย้ายเข้า ซึ่งก็ชวนคิดว่า การกําหนดนิยามความเป็นเทศบาลใหม่ในเมืองที่อยู่ข้างนอกว่าจะต้องมีแนวทางในการนิยามจํานวน นิยามคนที่อยู่ในเทศบาลแบบไหน

    GISTDA ยังมีข้อมูลอีกชุดหนึ่งเรียกว่า Economic Crop Type การติดตามสถานการณ์เพาะปลูกพืชเศรษฐกิจ ได้แก่ 1) ข้าว 2) ข้าวโพด 3) มันสาปะหลัง 4) อ้อย 5) ปาล์มน้ำมัน 6) ยางพารา โดยติดตามพืชผลทางการเกษตร 4 ชนิดเป็นราย 15 วันคือ ข้าว อ้อย ข้าวโพด มันสำปะหลัง ส่วนอีกสองชนิดติดตามเป็นรายปี ข้อมูลมีตลอดมาตั้งแต่ปี 2558

    “นีเป็นส่วนที่เราคิดว่าจะเอมาให้ใช้เป็นตัวแรก เป็น time series แต่ตอนนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุง เพราะข้อมูลนานมาแล้ว ก็น่าจะไม่เกินต้นปีหน้า ก็จะได้เปิดให้ใช้ข้อมูลชุดนี้” ดร.ศิริกุลกล่าว

    สำหรับข้อมูลอื่นที่มีการพัฒนา คือ พื้นที่มีการเผา ซึ่งแม่นยํามากกว่า hot spot เพียงแต่เป็นข้อมูลตามหลัง ไม่ใช่ข้อมูลทันการณ์ในขณะเผา ส่วนข้อมูลของ GISTDA ที่หลายหน่วยงานทั้งรัฐและเอกชนนิยมนำไปใช้คือ ข้อมูลน้ำท่วม ซึ่งได้มีการเก็บข้อมูลมานานแล้ว มีข้อมูลพื้นที่น้ำท่วมซ้ำ อีกทั้งสามารถทำนายวันที่เกิดน้ำท่วมได้ ซึ่งเป็นการขยายขอบเขตจากการเป็นผู้ให้บริการข้อมูล(data provider) ไปสู่ผู้วิเคราะห์ข้อมูล(data analyst) นอกจากนี้ยังมีข้อมูลพื้นที่แล้ง พื้นที่สีเขียวของประเทศ รวมไปถึงข้อมูล มวลชีวภาพเหนือพื้นดิน (Aboveground Biomass) ซึ่งทำแผนที่พื้นฐาน(based-map)ที่เป็น การประเมินปริมาณ (Carbon Stock)ของประเทศเสร็จเมื่อปี 2565

    “ตอนนี้เรามี base line แล้วและหากติดตามไปเรื่อย เพื่อดูว่าได้คาร์บอนเพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างไร ก็คิดว่าข้อมูลชุดนี้ไปสนับสนุนเรื่องความเป็นกลางทางคาร์บอน(carbon neutral) ในอนาคต” ดร.ศิริกุลกล่าว

    GUSTDA ยังมีข้อมูลพื้นที่การใช้ที่ดีที่อาจจะมีความเสี่ยงจากการใช้ที่ดินผิดกฎหมายซึ่งอาจจะขัดต่อ EUDR (EU Deforestation Regulation) ข้อกฎหมายด้านการนำเข้าสินค้าที่มีส่วนในการตัดไม้ทำลายป่าของยุโรป “เราอยากจะะเป็นผู้รับรอง(certify body)”

    “ที่น่าสนใจจากข้อมูลของเราคือ พื้นที่เผาไหม้ทับซ้อนกับพื้นที่ความยากจน คนจนชุกอยู่ในพื้นที่เผาไหม้ฉะนั้น ถ้าเราอยากจะแก้ปัญหาเรื่องของป่า เรื่องการบุกรุกป่า ก็ต้องแก้ปัญหาความจนไปด้วย ยิ่งไปดูข้อมูลพื้นที่แล้งกับน้ำท่วมซ้ำซากยิ่งเห็นชัด พอหน้าแล้งก็เจอแล้ง คนจนกระจายอยู่ตรงนั้น เป็นปัญหาที่ซับซ้อน แล้วเราจะจัดการอย่างไร” ดร.ศิริกุลกล่าว

    รูปแบบการใช้ข้อมูลเชิงพื้นที่

    ในช่วงเสวนา หัวข้อ “จับสถิติมาเล่า แลกเปลี่ยนความรู้การใช้ข้อมูลเชิงพื้นที่ของทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ” โดย ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ดร.กวิน เอี่ยมตระกูล เศรษฐกรชำนาญการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) นายธวัชชัย เศรษฐจินดา รองประธานกรรมการหอการค้าไทยและประธานหอการค้าภาคกลาง หอการค้าไทย และมีดร.สุรจิต ลักษณะสุต ผู้อำนวยการ ฝ่ายเศรษฐกิจการเงินภูมิภาค ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นผู้ดำเนินการอภิปรายนั้น ได้แลกเปลี่ยนถึงข้อมูลเชิงพื้นที่ที่มีว่าสอดคล้องกับสภาพเป็นจริงของพื้นที่ปัจจุบันหรือไม่ มีเครื่องชี้วัดอะไรบ้าง รวมไปถึงการนำข้อมูลไปใช้ให้เกิดประโยชน์

  • สศค.พัฒนา scoring คนจนหวังข้อมูลเชิงลึกออกแบบนโยบาย
    ดร.สุรจิตได้ขอให้ดร.กวินให้ความเห็น ในฐานะที่เป็นนักวิจัย สัมผัสกับข้อมูล มีการพัฒนาดัชนี เครื่องชี้วัดเชิงพื้นที่ต่าง ๆ และยังมีการพัฒนาข้อมูลอื่นอีกหรือไม่ที่คิดว่าเป็นเครื่องชี้วัดเชิงพื้นที่โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับคน

    ดร.กวิน เอี่ยมตระกูล เศรษฐกรชำนาญการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า สศค.มองภาพข้อมูลเป็นสองชุด ข้อมูลชุดแรกเป็นข้อมูลที่เข้ามาจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เก็บข้อมูลสถิติมาให้ใช้ในการวิเคราะห์ แต่ในการดําเนินนโยบายต่าง ๆ บางที อาจจะไม่ตอบโจทย์ปัญหาเชิงพื้นที่หรือปัญหาของคน จึงมีข้อมูลชุดที่สองเป็นข้อมูลระดับบุคคล ซึ่งข้อมูลระดับบุคคล ก่อนมีพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) สามารถจัดทำข้อมูลได้จำนวนมาก โดยพยายามเชื่อมข้อมูลโครงการภาครัฐมาโดยตลอด เชื่อมกับบัตรสวัสดิการ ทำให้เห็นภาพเศรษฐกิจบางอย่าง หรือเครื่องชี้ที่เปลี่ยนแปลง ยกตัวอย่าง มีการนำข้อมูลบัตรสวัสดิการมาดูว่ามีการเคลื่อนย้ายแรงงานกลับบ้านหรือไม่ในช่วงโควิด ซึ่งก็ค่อนข้างแปลกใจที่ช่วงการระบาดรอบที่สองที่คนกลับบ้านค่อนข้างเยอะ มีแรงงานบางส่วนไม่ได้กลับมาอยู่ในกรุงเทพฯ แต่งานตรงนี้หยุดไปเพราะมีกฎหมาย PDPA และในบัตรสวัสดิการก็กำหนดไว้ว่า ถ้าจะเอาข้อมูลไปใช้ต้องเป็นการดำเนินการในลักษณะที่จะเพิ่มสวัสดิการ

    “ดังนั้นเราไม่สามารถติดตามเศรษฐกิจต่อไปได้ ทั้งทั้งที่ข้อมูลชุดนี้สามารถที่จะเอามาติดตามจากมุมมองในด้านนโยบาย ในการติดตามเศรษฐกิจได้เช่นกัน”ดร.กวินกล่าว

    ดร.กวิน เอี่ยมตระกูล เศรษฐกรชำนาญการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)

    สำหรับดัชนีหรือเครื่องชี้ ดร.กวินกล่าวว่า กระทรวงการคลังมีบทบาทต่อเศรษฐกิจในด้านเสถียรภาพ มองภาพเสถียรภาพด้านกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น ด้านที่สองคือความเท่าเทียม ด้านที่สามการเติบโตทางเศรษฐกิจระยะยาว ซึ่งนโยบายต่าง ๆจะต้องคำนึงถึงสามด้านนี้ได้วยกัน แต่ในเครื่องชี้ที่สศค.ติดตาม มองภาพเป็นสองส่วน ระยะสั้นและระยะยาว โดยระยะสั้นจัดทำเป็น 3 รุ่น(generation) รุ่นแรก คือ รุ่นดั้งเดิม(traditional generation) เป็นข้อมูลเครื่องชี้เศรษฐกิจที่หลายหน่วยงานจัดทำ เช่น ข้อมูลภาษีมูลค่าเพิ่ม ข้อมูลเงินเฟ้อ และติดตามเป็นรายจังหวัดในเชิงพื้นที่ และมองทั้งภาพ เศรษฐกิจมหภาค เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจจังหวัด เศรษฐกิจภูมิภาค ข้อมูลส่วนนี้เป็นข้อมูลที่มีความล่าช้าประมาณ 1-2 เดือน นอกจากนี้มีข้อมูลที่เป็นข้อมูลเฉพาะของจังหวัด ไม่มีข้อมูลเหตุการณ์ดังนั้นจึงไม่มีข้อมูลว่าเกิดอะไรขึ้น

    ในปี 2560 ได้มีความริเริ่มที่จะให้มีการใช้ข้อมูลเศรษฐกิจและให้ สศค.มีบทบาทในการติดตามภาวะเศรษฐกิจจังหวัดมากขึ้น จึงได้มีการจัดทําดัชนีอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาคขึ้น ซึ่งดัชนีภูมิภาคมี 3 ดัชนีด้วยกัน ดัชนีแรกเป็น ดัชนีเศรษฐกิจภูมิภาค มองภาพกิจกรรมทางเศรษฐกิจด้าน GDP ด้านเกษตร ด้านอุตสาหกรรม ด้านบริการ ดัชนีที่สอง คือ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคประชาชน ก็จะเป็นการมองในมุมมองที่เกี่ยวกับความกินดีอยู่ดีของประชาชน ดัชนีที่สาม เป็นความเชื่อมั่นในอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค เป็นการมองเศรษฐกิจในอนาคตข้างหน้า และได้จัดรวมสองดัชนีแรกคือ ด้านกิจการเศรษฐกิจกับด้านคนเข้ามารวมกันเป็นดัชนีความเชื่อมั่น ซึ่งก็จะมองภาพเศรษฐกิจในด้านเกษตร อุตสาหกรรม บริการ การลงทุน และการสร้างงาน เป็นความพยายามมองภาพในอนาคตข้างหน้า

    “เราพยายามจะทดสอบว่าดัชนีอธิบายเศรษฐกิจในอนาคตได้หรือไม่ ก็พบว่าสอดคล้องกับเศรษฐกิจเหมือนกัน และสอดคล้องกับการทําข้อมูลเศรษฐกิจ GDP ด้วย” ดร.กวินกล่าว

    ดร.กวินกล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังพยายามจะสร้าง data base ขึ้น โดยตั้งโจทย์ว่าจะลองเชื่อมข้อมูลกับหน่วยงานในกระทรวงการคลังเอง เป็นการเริ่มต้นกับ 20 หน่วยงานก่อน ซึ่งปัจจุบันถังข้อมูลของประทรวงการคลังมีประมาณ 6 ถัง คือ มี สวัสดิการ รายได้ภาษีจากการจัดเก็บ ผู้ค้าภาครัฐจากกรมบัญชีกลาง ข้อมูล EPA และข้อมูลโครงการเศรษฐกิจภาครัฐ เพราะต้องการจะออกนโยบายบางอย่างที่มองว่าจะมีประโยชน์ที่จะสามารถผลักดันนโยบายบางอย่างได้

    การเชื่อมโยงข้อมูลการจัดเก็บภาษี เพื่อต้องการดูว่าผู้ประกอบการแต่ละรายควรจะภาษีประเภทไหน ภาษีสรรพากรหรือ ภาษีสรรพสามิต หรือเสียทั้งสองประเภท จากฐานผู้ประกอบการทั้งหมดที่อยู่ในระบบ 16.8 ล้านคน ซึ่งพบว่ามีเพียง 4,000 คนเท่านั้นที่เสียภาษีครบทุกประเภท ถือว่าค่อนข้างน้อย นอกจากนี้รัฐบาลพยามผลักดันเรื่อง Negative Income Tax มาหลายปี เปลี่ยนจาก wellfare มาเป็น workfare

    เรื่องสุดท้ายเป็นสิ่งที่กําลังทําอยู่แล้วก็จะเป็นมาตรการ การพัฒนาระบบคะแนน(Scoring) ให้กับคนจน คนจนบางส่วนไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ ก็สามารถใช้คะแนนไปขอสินเขื่อจากสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐได้ และสร้างอาชีพได้ ให้หลุดพ้นความยากจน ในอนาคตถ้ามีโจทย์เพิ่มเติมก็พยายามจะเชื่อมข้อมูลอย่างเช่น ข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ข้อมูลของสถาบันการเงินเฉพาะกิจทั้งหลาย “ในอนาคตเมื่อสามารถที่จะทําลักษณะแบบนี้ได้ รู้ปัญหาของคนได้ในเชิงลึก ก็ออกแบบนโยบายให้ตรงจุดได้มากขึ้น”

    จากนั้นดร.สุรจิตขอให้นายธวัชชัยซึ่งมาจากภาคเอกชนให้ความเห็นถึงมุมมองในด้านคนในพื้นที่

  • เอกชนอยากเห็น Data Pool เพื่อตัดสินใจด้วยข้อมูล
    นายธวัชชัย เศรษฐจินดา รองประธานกรรมการหอการค้าไทยและประธานหอการค้าภาคกลาง หอการค้าไทยกล่าวว่า ภาคเอกชนเป็นคนที่อยู่ในสนามการค้าสนามธุรกิจ และเป็นผู้ที่ใช้ข้อมูลจากหลายหน่วยงาน ไม่ว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย สภาพัฒน์ เห็นว่าประเทศไทยปัจจุบันเหมือนแบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนที่หนึ่งอยู่ในระบบ แต่อีกส่วนหนึ่งไม่อยู่ในระบบ กรุงเทพและปริมณฑลเป็นอีกข้างหนึ่ง ส่วนภูมิภาคก็อยู่อีกข้างหนึ่ง จังหวัดที่อยู่ในภาคเดียวกันก็มีบริบทที่แตกต่างกัน ยกตัวอย่าง อยุธยา เป็นเมืองอุตสาหกรรมแต่ ลพบุรีเป็นแบบผสม ในเมืองเป็นบริหารราชการเพราะมีทหาร และมีอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตร แต่นอกเมืองเป็นภาคเกษตรด้วย เพราะฉะนั้นบริบทไม่เหมือนกัน

    “สิ่งที่ภาคเอกชนใช้ คือ first hand information หรือ data จากหน่วยงานต่างๆ แต่ก็ตรวจสอบด้วยข้อมูลที่ได้จาก observation research หรือ การเสาะหาข้อมูลของพวกเรา และยังมีข้อมูลที่ไม่เป็นทางการอีกด้วย ดังนั้นเมื่อได้ข้อมูลจากหน่วยงานรัฐแล้ว ก็นำมาประมวลร่วมกับข้อมูลที่เราได้มาด้วยตัวเอง และนำเข้าสู่การหารือทั้ง คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน นอกจากข้อมูลของราชการเราก็ยังมีข้อมูลของมหาวิทยาลัยหอการค้า หรือในกรณีที่ต้องการได้ข้อมูลดานไหนก็ขอให้มหาวิทยาลัยทำการวิจัยให้” นายธวัชชัยกล่าว

    นายธวัชชัย เศรษฐจินดา รองประธานกรรมการหอการค้าไทยและประธานหอการค้าภาคกลาง หอการค้าไทย

    ในภูมิภาคก็มีกกร.ระดับจังหวัด ส่วนข้อมูลในพื้นที่ มีข้อมูลของทางจังหวัดที่ทํา แต่เป็นข้อมูลที่เป็นแนวโน้ม เพียงแต่บอกว่าอะไรเพิ่มอะไรลด ภาคเอกชนในจังหวัดก็จะมาหารือกันว่าเป็นอย่างนั้นจริงหรือไม่ และผู้ที่รู้ดีที่สุด คือ ธนาคาร ที่เป็นคนให้สินเชื่อ

    นายธวัชชัยกล่าวว่า ในเรื่องการแก้ปัญหาความยากจน ประเทศไทยมีข้อมูลเพียงพอที่จะนำมาใช้ในระดับหนึ่ง แต่ขาดการบูรณาการของข้อมูล ไม่เคยมีการนำข้อมูลมาเชื่อมโยง เพราะฉะนั้นแต่ละหน่วยงานจะมีข้อมูลของตัวเอง และก็จะรู้กันเอง แต่หน่วยงานอื่นไม่รู้ สาธารณชนก็ไม่รู้ อีกทั้งไม่มีการแบ่งปันข้อมูล ในกรณีที่มีการแบ่งปันข้อมูลก็ไม่มีการวิเคราะห์

    “สิ่งที่อยากเห็นอย่างแรกคือ การมี data pool ตรงนี้เป็นเรื่องสําคัญมาก ภาคเอกชนหรือการตัดสินใจใช้ data driven” นายธวัชชัยกล่าวและว่า อย่างที่สองอยู่ที่การนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์และการออกแบบ ยกตัวอย่าง กรณีสินค้าจีนทะลักในตลาดไทย มีข้อมูลชัดเจนหรือไม่ว่า เป็นการนำเข้าวัตถุดิบหรือ เป็นสินค้าที่นำเข้ามาบริโภค และในปริมาณเท่าไร หรือข้อมูลเศรษฐกิจนอกระบบ หรือข้อมูลอีคอมเมิร์ซที่ผ่านแพลตฟอร์มต่างชาติ การจ่ายเงินก็ทำผ่านgateway payment ของต่างชาติ ถ้าสามารถทำการศึกษาได้ ก็สามารถที่จะแก้ปัญหาได้ถูกจุด “ในเมื่อเป็นยุคข้อมูล ยุค data ต้องมีแนวทางในการนำ data มาใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุดแล้วก็มาสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนที่ต้องการ”

    “ถ้าเรามี data ชัดเจน ผมว่าคนที่ตัดสินใจตอบได้ พวกเราเอกชนมักถูกภาคราชการว่าเราตัดสินใจด้วยความรู้สึก แต่ถ้ามี data ชัดเจนผมว่ามันจะถูกต้องชัดเจน” นายธวัชชัยกล่าว

    ดร.สุรจิต ลักษณะสุต ผู้อำนวยการ ฝ่ายเศรษฐกิจการเงินภูมิภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย

  • ข้อมูล ความรู้ กลไกช่วยคนจนในพื้นที่
    ดร.สุรจิต ตั้งคำถามกับดร.กิตติ เรื่องข้อมูลเชิงพื้นที่ ในฐานะที่ทำงานคลุกคลีอยู่กับพื้นที่มานาน และมีโครงการต่างๆที่เป็นประโยชน์กับพื้นที่อย่างมาก ว่าทุกวันนี้ชีวิตคนในท้องถิ่นเป็นอย่างไร งานของบพท.มีบทบาทในการช่วยอย่างไร

    ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)กล่าวว่า เมื่อพูดถึงข้อมูลกับ social process กระบวนการทางสังคม เป็นการดำเนินการ(execution) เพื่อเอาข้อมูลไปใช้ แต่พูดถึงข้อมูลอย่างเดียวไม่ได้ ต้องสร้างความเป็นเจ้าของ (ownership)ของข้อมูลด้วย เพราะการเป็นเจ้าของข้อมูลนำไปสู่กลไกในการดำเนินการ มิฉะนั้นข้อมูลจะไม่มีประโยชน์ เนื่องจากการตัดสินใจและการบริหารจัดการในพื้นที่ต้องการกระบวนการอีกแบบหนึ่ง เพื่อทำให้เขาใช้ข้อมูล ให้เห็นความต้องการและโอกาสในพื้นที่ ที่เป็นข้อเท็จจริง(fact) ต้องเป็น information ที่เขาเป็นเจ้าของ

    “คําถามแรก ข้อมูลที่เป็นข้อมูลที่เป็น fact และมีประโยชน์กับพื้นที่ คือข้อมูลแบบไหน ข้อมูล ความรู้แบบไหน สองด้วยกระบวนการอย่างไรที่ทําให้ข้อมูลแบบนั้นไปใช้ประโยชน์แล้วก็ให้เกิด ownership ในการบริหารจัดการข้อมูลด้วย ซึ่งเป็นกระบวนการที่ค่อนข้างยาก” ดร.กิตติกล่าว

    ดร.กิตติกล่าวว่า ข้อมูลมีหลายอย่าง ซึ่งแยกออกได้เป็น หนึ่ง ข้อมูลระดับที่เรียกว่า community based ระดับชุมชน ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสภาพชีวิตความเป็นอยู่ ไม่ว่าจะเป็นชุมชน ครัวเรือน เศรษฐกิจชุมชน เป็นต้น สองคือข้อมูลระดับ area-based ระดับนี้จะเป็นวาระที่หลายๆคนได้รับประโยชน์ หรือได้ประโยชน์ร่วมกัน ข้อมูลระดับที่สาม คือ National Issue ซึ่งมีหลายๆพื้นที่ ประสบปัญหาร่วมกัน มีโอกาสร่วมกัน ข้อมูลสุดท้ายคือ ไปถึงระดับโลก Global ปัจจุบันมีการเชื่อมโยงในระดับโกลบอล

    “นี่เหตุผลว่าทําไมเวลาพูดถึงข้อมูล เราจะพูดข้อมูลอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมี ข้อมูล ความรู้ กลไก 3 อย่างนี้”ดร.กิตติกล่าว

    ส่วนที่สองตอบคําถามว่าเมื่อลงพื้นที่จริงกับข้อมูลที่เห็นระดับประเทศ สิ่งที่แตกต่างอย่างแรกคือ การปรับตัว Adaption การปรับตัวของภาคส่วนชุมชนพื้นที่ที่มีสูงมากจากการเชื่อมโยงกับโลก ซึ่งไม่ใช่นโยบายภาครัฐอย่างเดียว เช่น การมี FTA ภาคเหนือมีการปรับเปลี่ยตามระบบการผลิตทั้งระบบ ไม่มีถั่วเหลือง ไม่มีการเลี้ยงโคนม การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล รวมไปถึงมาตรการกีดกันการค้าของยุโรปซึ่งกําลังจะส่งผลกระทบกับระบบการผลิตของประเทศไทย มีผลต่อทั้งระบบ การปรับตัวสูงมาก เมื่อมีการปรับตัวสูง ก็มีการเคลื่อนไหวทางสังคม(social movement) ในแต่ละที่ ที่คนในพื้นที่อยู๋รอดได้ ไม่ใช่อยู่ไม่ได้เลย ก็พออยู่ได้ เช่น เศรษฐกิจชุมชน

    เมื่อข้อมูลไหลก็เกิดระบบทุนนิยมที่เข้าไปถึงกันหมดระดับพื้นที่ การอัดฉีดเงินของรัฐบาลที่คาดว่าเงินจะหมุน 4-5 รอบ ก็หมุนแค่รอบเดียว เพราะไปที่ทุนใหญ่หมด แต่ขณะเดียวกันทำให้เกิดตลาดชุมชน ที่ความเคลื่อนไหวทางสังคมของชุมชนเอง จัดการตลาดเอง หมุนกันเอง

    “แล้วเราจะทําอะไรจากนี้ ถ้าเราปล่อยให้ชุมชนหรือพื้นที่เราโตแบบปกติแต่ช้า และหากมีภาครัฐไปทําให้ต้องย้ายถิ่นฐาน การโตจะตก เราต้องใส่ learning curve ที่เป็น S-curve เข้าไป แล้วทําให้มีการเติบโต เช่น จีน ที่สร้างความเชื่อมโยงในพื้นที่แล้วใส่นวัตกรรมเข้าไป การเติบโตก็จะฟื้นขึ้นมาเป็น S-curve ที่ลงไปถึงชีวิตประชาชน” ดร.กิตติกล่าว

    ดร.กิตติกล่าวว่า คนจนกับเศรษฐกิจฐานรากเป็นคนและเรื่องกันแต่เชื่อมกัน เศรษฐกิจหมายถึงการเติบโต คนจนหมายถึงครัวเรือน มีสองมิติหลักที่ทําให้ชีวิตต้องปรับตัว ประเด็นแรกพลวัตรของสังคมเดินไปข้างหน้า ดังนั้นใครปรับตัวไม่ได้ก็จะล้มหายตายจากไป แต่ก็ขึ้นอยู่กับ social engagement สังคม ทุนสังคมช่วยเหลือได้แค่ไหน ประเด็นที่สองคือ มิติเชิงโครงสร้าง ซึ่งมีความสำคัญและรัฐมีบทบาทมาก ยกตัวอย่าง การสร้างมอเตอร์เวย์ที่ทำให้ธุรกิจสองข้างทางหายไป การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของคน คนจะจนเฉียบพลัน เพราะเอาคนออกจากวิถีเดิม โดยไม่ให้ทักษะใหม่เป็นต้น ประเด็นสุดท้ายคือ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว(disruption)

    ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)

    ดร.กิตติ กล่าวว่า สำหรับบพท.ได้ใช้ข้อมูลภาพรวมเศรษฐกิจจากหน่วยภาครัฐหลัก แต่เมื่อพูดถึงเศรษฐกิจมหภาคที่จะเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจฐานราก โดยเฉพาะที่เชื่อมโยงกับประชาชน มีความจําเป็นที่จะต้องทําข้อมูล ต้องลงไปดูชีวิตความเป็นอยู่ที่แท้จริงก่อนในพื้นที่ เพราะ บพท.ดำเนินการในลักษณะโครงการ คล้ายกับ Policy sandbox ฉะนั้นตั้งแต่แรกพยายามทําระบบข้อมูลความเหลื่อมล้ำของประเทศไทย จากงานวิจัย

    “เราอยากทำจากหน่วยที่เล็กที่สุดก็คือครัวเรือนยากจน สองก็คืออยากทําธุรกิจเรื่องการเติบโต เป็นเครื่องยนต์การเติบโตของเศรษฐกิจชุมชน เราพบว่าเศรษฐกิจชุมชนที่น่าจะเติบโตมากที่สุด น่าจะเป็นกลุ่มอาชีพ ซึ่งในไทยยังมีกลุ่มอาชีพที่ยังไม่ได้จดทะเบียน OTOP วิสาหกิจชุมชน เราเอาข้อมูลของภาครัฐมาเป็นฐานแล้วไปดูข้อมูลจีน แล้วเอามาทำ เพราะเมื่อลงพื้นที่ข้อมูลความรู้ที่เรารู้ ก็ไม่ใช่อย่างที่เรารู้เลย เพราะคนกลไกการจัดการ และอีกหลายปัจจัย ขณะที่จีนซึ่งปล่อยให้พื้นที่ทำ ดังนั้นข้อมูลชี้เป้าของจีนจะเป็นระบบข้อมูลของพื้นที่ โดยท้องถิ่นเป็นคนบริหาร มีรายงานแบบ dashboard ที่มีข้อมูลครัวเรือนยากจน มีข้อมูลลงไปถึงที่บอกได้ว่าโครงการที่ลงไปนั้นลงไปไปถึงครัวเรือนหรือไม่ เพื่อเป็นระบบติดตาม”ดร.กิตติกล่าว

    บพท.ได้ขอข้อมูลจากกระทรวงมหาดไทย เอา TP Map เป็นฐานแล้วใช้ตัวเลขมาทาบซ้อน(overlay) ทำให้สร้างแพลตฟอร์ม หรือระบบข้อมูลชี้เป้า ที่ค่อนข้างจะได้รับการยอมรับ แต่คงไม่ดีที่สุด แต่ก็พบตัวเลขที่น่าสนใจ คือ ข้อหนึ่ง มีคนตกหล่นค่อนข้างสูง เข้าใจว่าตอน overlay โดยเฉพาะ overlay สวัสดิการจากภาครัฐทําให้เกิดอะไรบางอย่างขึ้นมา สอง คือ เจอคนอยากจน คนอยากจนจำนวนมาก เศรษฐกิจนอกระบบของประเทศไทยมีจำนวนมาก ถ้าใช้เกณฑ์รายได้คนอยากจนจะเข้าระบบทั้งหมด ต้องใช้เกณฑ์รายได้และชีวิตความเป็นอยู่”

    ระบบข้อมูลครัวเรือนยากจนระดับจังหวัด(PPPConnext)ของบพท.ครอบคลุม 20 จังหวัด ซึ่ง TP Map ของสภาพัฒน์มีคนจนจำนวน 300,000 คน แต่ PPPConnext พบว่าคนจนมีจำนวน 1,324,617 คน ซึ่งในล้านกว่าคนนี้ใช้ชุมชนเข้าไปหา แล้วใช้ระบบส่งต่อความช่วยเหลือ สุดท้ายได้โมเดลแก้จนระดับครัวเรือนระดับกลุ่มและระดับอุตสาหกรรม

    สำหรับตัวชี้วัด บพท.ใช้ Livelihood strategy มาแบ่งความยากจนเพื่อให้นิยามตรงกัน เข้าใจร่วมกัน เพราะต้องการอยากเห็นความจนระดับครัวเรือน ในขณะเดียวกันก็อยากเห็นความจนระดับจังหวัด ระดับภูมิภาค ที่สําคัญเมื่อแบ่งฐาน และมีการวิเคราะห์ปัญหา เพื่อให้รู้ว่ามีคนจนตกหล่นแล้วจะช่วยอย่างไร ต้องลงไปช่วยออกแบบหมด เช่น กรณีบัตรประชาชนหมดอายุ ไม่มีที่อยู่ ในสมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ได้ช่วยกรอกข้อมูลจนสามารถทำให้เข้าไปอยู่ในระบบได้ 60,000 กว่าคน แต่ยังมีอีกจำนวนมากที่ยังไม่ได้อยู่ในระบบ นอกจากนี้ยังเจอครัวเรือนยากจนดักดาน ซึ่งได้รับผลกระทบจากโควิดแล้ว ลูกหลานขาดการติดต่อ

    “สภาพครัวเรือนโดยเฉพาะหนี้สินครัวเรือนของไทย 1 ใน 3 มาจากส่งลูกเรียน 1 ใน 3 เพื่อการอุปโภคบริโภค 1 ใน 3 มาจากการทำมาหากิน รายได้ส่วนใหญ่เป็นครัวเรือนชนบทคือ ลูกส่งเงินให้ เมื่อลูกขาดการติดต่อ ก็จนและจนแบบค่อนข้างมีโอกาสที่จะจนดักดาน ส่วนที่สอง เศรษฐกิจฐานรากที่เป็นเรื่องกลุ่มอาชีพ บพท.ก็ขอข้อมูลทุกฝ่าย สิ่งที่เจอคือ ระบบการผลิตของไทย กลุ่มผลิตต้นน้ำไปจนถึงสินค้าขั้นกลางมีรายได้ประมาณ 7% ถ้าผลิตเฉพาะต้นน้ำเลย ได้ 2% ถ้าทำสินค้าขั้นกลางมีโอกาสเพิ่มขึ้นทันทีเลย 11% แต่ส่วนใหญ่มักผลิตสินค้าสำเร็จรูป เมื่อเจอตลาดที่กำหนดมาตรฐานสินค้าก็ล้มหมด” ดร.กิตติกล่าว

    นอกจากนี้ยังพบว่าขีดความสามารถในการทํางานของกลุ่มอาชีพ ซึ่งไม่ใช่ผู้ประกอบการ แต่เป็นพื้นฐานของการบริหารจัดการ ในการจัดการสภาพคล่องกัน พบว่า 70-80% ของธูรกิจขนาดเล็กบัญชีหนี้สินบัญชีธุรกิจบัญชีครัวเรือนเป็นบัญชีเดียวกัน เมื่อเป็นบัญชีเดียวกันรัฐมีโครงการดอกเบี้ยต่ำ ก็ไปรับมา หนี้สินครัวเรือนเพิ่มขึ้นทันที เกิดปรากฏการณ์ที่ยังขายได้ แต่ไม่มีกำไรจากการขาย ดังนั้นทุกอย่างต้องใส่ความรู้เข้าไป

    เรื่องสุดท้ายที่บพท.ทํา คือ Open Data ความร่วมมือ engine of growth อยากทําเรื่องการกระจายศูนย์กลางความเจริญ เศรษฐกิจไทยมีการแยกส่วนกันภาคส่วนธุรกิจจะเป็นภาคส่วนที่ใช้ข้อมูลเยอะที่สุด แต่ภาคกลุ่มชุมชนแทบจะไม่ได้ใช้ข้อมูล การที่จะเชื่อมโยงซัพพลายเชนท้องถิ่นเข้ากับห่วงโซ่คุณค่าของโลก จึงทำได้ยาก เนื่องจากของประเทศแยกขาดจากกัน เช่น ภาคการเกษตรอุตสาหกรรมที่เป็น mass production ซึ่งจะลงไปถึงครัวเรือนได้ก็ต่อเมื่อใช้ Contact farming เท่านั้น ถ้าไม่มี Contact farming ก็ทำ mass production ไม่ได้ และหากบริษัทโอนความเสี่ยงไปให้เกษตรกรทั้งหมด เกษตรกรก็มีโอกาสสูงที่จะเกิดภาวะขาดทุนและเป็นหนี้ซ้ำซ้อน เพราะฉะนั้นจังหวัดยากจนส่วนใหญ่จะผลิตพืชผลเกษตรเชิงเดี่ยว ไม่มีความหลากหลายในการสร้างได้รายได้ และบพท.อยากเห็นอุตสาหกรรมในพื้นที่ที่เชื่อมโยงกับรายเล็ก

    ดร.กิตติกล่าวว่า อยากจะชวนมองว่าโมเดลในการพัฒนาประเทศควรเปลี่ยน ไม่ควรมีโมเดลเดียว ไทยมีจุดแข็ง คือ ภาคบริการ ภาคเกษตรกรรมกับบริการมีส่วนในเศรษฐกิจสูงมาก ยกตัวอย่างอินโดนีเซียเริ่มพัฒนาอุตสาหกรรมที่เป็น global value change ที่เชื่อมโยงกับ เป็นปีแรกไป แสดงว่าเห็นถึงโมเดลประเภทใหม่ หรือ จีนที่มีปัญหาเศรษฐกิจก็ให้มณฑลซื้อสินค้าระหว่างกัน เป็นการใช้ local supply chain หมุนระบบเศรษฐกิจ

    “ถ้าเรายังใช้การเติบโตจากการลงทุน การเติบโตจากอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ไปต่อไม่ได้ เพราะดิสรัปชันสูงมาก ควรจะมี job creation bank คือใช้ เศรษฐกิจที่โตมาจากฐาน ซึ่งฐานของเราคือ บริการและการเกษตร แต่ต้องมีการออกแบบ ยกตัวอย่างเช่น เศรษฐกิจครัวเรือนซึ่งสร้างระบบแรงจูงใจไปสู่อาชีพระดับครัวเรือนที่เป็นคนจนมากสุด และต้องมีโค้ช” ดร.กิตติกล่าว

    ระดมความเห็นประสานเชื่อมข้อมูล

    ในช่วงท้ายของการแลกเปลี่ยนข้อมูล ผู้เข้าร่วมประชุมได้ให้ความเห็นในหลายแง่มุม ทั้ง ประเภทของข้อมูล กลไกความร่วมมือและกลไกขับเคลื่อน และอุปสรรคในการจัดเก็บข้อมูลหรือพัฒนาเครื่องชี้วัดต่างๆ ตลอดจนอุปทานและอุปสงค์ของข้อมูลเพื่อการทำนโยบาย

    นางสาวจันทนา เบญจทรัพย์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช.ให้ความเห็นว่า จากการนำเสนอข้อมูลของหลายหน่วยงานในช่วงเช้า ส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะข้อมูลในระดับนโยบายที่พยายามที่จะนําข้อมูลที่แต่ละหน่วยงานมีจำนวนมาก หรือ การใช้ข้อมูลจากหน่วยงานมาทำการวิเคราะห์และประมวลผล เพื่อที่จะไปใช้ในการที่จะไปกําหนดนโยบาย ซึ่งก็ถือว่ามีประโยชน์ เพราะช่วยลดภาระในการรวบรวมข้อมูลของพอช.ซึ่งมีข้อจำกัดด้านบุคคลากรและช่วยให้มีโอกาสร่วมกับหน่วยงานอื่นได้ แต่การเสวนาในช่วงบ่าย ได้เห็นข้อมูลอีกระดับหนึ่งคือ ข้อมูลของการพัฒนาในเชิงพื้นที่ ขณะเดียวกันได้เห็นว่าการทําแผนงานส่วนกลางพัฒนาพื้นที่ส่วนใหญ่ใช้ข้อมูลที่ไม่ใช่ข้อเท็จจริง ไม่สามารถนํามาสู่การวางแผนพัฒนาเชิงพื้นที่ที่ตอบโจทย์ปัญหาและความต้องการเชิงพื้นที่ได้

    “สิ่งที่ชาวบ้านสะท้อนตลอดว่า คือหน่วยงานลงไปเก็บข้อมูลเยอะมาก แต่เขาไม่รู้ว่าข้อมูลนี้จะใช้ประโยชน์ได้อย่างไร และถามกลับว่าพวกเขาได้อะไรจากข้อมูลที่เก็บไป พอช.พยายามคิดมาตลอดเพื่อหาแนวทางทําให้ระบบข้อมูลง่ายชาวบ้านเข้าไปใช้ได้ ปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันได้ นำข้อมูลมาหาวางแผนการพัฒนาตัวเขาเองได้ และวางแผนการพัฒนาร่วมกันในการลงทุนได้ การแลกเปลี่ยนข้อมูลในวันนี้ก็น่าอาจจะลองดูข้อมูลที่จะออกแบบในการพัฒนาเพื่อให้ตอบโจทย์เชื่อมโยงกับภาคเอกชน ถ้าวางแผนทําด้วยกันได้เป็นบางจังหวัด บางทีถ้าเราเปลี่ยนระบบข้อมูลใหม่ ลองทําให้เห็นว่าข้อมูลนําไปสู่การพัฒนาที่ทุกคนได้ประโยชน์ และเห็นด้วยกับดร.กิตติที่พูดถึงความเป็นเจ้าของข้อมูล ที่เจ้าของข้อมูลไม่ใช่หน่วยงานแต่ต้องเป็นของคนในจังหวัดนั้นๆ แล้วก็ใช้ข้อมูลร่วมงาน คิดว่าจะเกิดประโยชน์มาก ถ้าารสัมมนาในครั้งนี้สามารถออกแบบไปข้างหน้าได้” นางสาวจันทนากล่าว

    รูปแบบการเชื่อมข้อมูลอาจจะเริ่มจากการที่คนในพื้นที่ลองมาวางแผนร่วมกันดูว่าข้อมูลที่เขาอยากได้มีอะไรบ้าง แล้วข้อมูลต่างๆ จากหน่วยงานในจังหวัดที่มีข้อมูลไม่น้อย พอช.เริ่มลองทำกับอีก 3 หน่วยงาน ก็คือ การนำข้อมูลโครงการงบประมาณที่โอนไปที่หน่วยงานในแต่ละจังหวัด มาลองซ้อนทับกับ API ซึ่งก็เห็นทั้งหน่วยงานแต่ละหน่วยงาน และโครงการที่ได้รับทุน ไปถึงระดับตำบล และทำโครงการอะไร งบประมาณเท่าไร แต่นี้เป็นข้อมูลที่ทําร่วมกัน 4 หน่วยงานก็ใช้ประโยชน์เฉพาะ 4 หน่วยงานก่อน และเห็นว่าน่าจะมีการพัฒนาข้อมูลกลางสำหรับในระดับจังหวัดได้

    นางหทัยชนก ชินอุปราวัฒน์ ผู้อำนวยการกองสถิติพยากรณ์ สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) ให้ความเห็นว่า ข้อมูลที่มีการนำเสนอในช่วงแรกเป็นข้อมูลในระดับประเทศ ซึ่งเป็นระดับใหญ่ ข้อมูลระดับจังหวัดก็ถือว้าเป็นระดับใหญ่เหมือนกัน แต่ถ้าจะให้ชุมชนเป็นเจ้าของข้อมูล ก็อาจจะติดขัดที่ระบบ เพราะระบบของประเทศไทยมีทั้งท้องที่และท้องถิ่น การที่จะให้ใครจะเป็นคนดูแลข้อมูล ถ้าจะใช้ท้องถิ่นก็จะอาจจะเป็นกรมการส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ดูแลอบจ. อบต. อบต.เองต้องมีหน้าที่เก็บข้อมูลเพื่อพัฒนาในท้องถิ่น โดยลอกเลียนแบบการเก็บข้อมูลชุดใหญ่ของประเทศ ทั้งข้อมูลทางสังคม ด้านแรงงาน การศึกษา ด้านสาธารณสุข

    “แต่ว่าจะทําอย่างไรที่ไม่ให้เขาคิดเอง แต่ต้องมีชุดใหญ่ชุดหลักในการเก็บข้อมูล และระบบหลังบ้านที่ทําให้เขาสามารถมีข้อมูลหรือมีเทคโนโลยีให้ มิฉะนั้นก็จัดเก็บเป็นกระดาษ” นางหทัยชนกกล่าวและว่า สสช.เคยทําข้อมูลศอบต.ทำคู่ขนานกับจปฐ.และมีการสำรวจที่เรียกว่า village survey มาตั้งแต่มี 2500 เป็นการเตรียมข้อมูลระดับหมู่บ้าน ซึ่งขณะนั้นมีหมู่บ้านกว่า 50%- 70% ก่อนที่จะต้องเลื่อนฐานะขึ้นมาเป็นสุขาภิบาล เทศบาล การเก็บข้อมูลในช่วงนั้นเพื่อนำมาใช้ประกอบการสำรวจใหญ่ในการเลือกกลุ่มตัวอย่าง หลังจากนั้นสสช.ได้พัฒนาเรื่องอบต.ไขว้กับหน่วยงานในสังกัดกรมการพัฒนาชุมชนเก็บข้อมูลระดับหมู่บ้าน ส่วนการเก็บข้อมูลจปฐ. บางครั้งจะมีการวิเคราะห์ระดับครัวเรือน ซึ่งต่างกัน แต่ต่อมาเห็นว่าไม่ควรทำงานซ้อนกัน จึงปล่อยไป เพราะฉะนั้นข้อมูลที่ทั้งกรมการพัฒนามชนซึ่งอยู่ภายในสังกัดเดียวกับกรมการส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น อาจจะต้องพัฒนาแพลตฟอร์มเพราะทางจปฐ.มีข้อมูลอยู่แล้วในพื้นที่

    “การพัฒนาข้อมูลในระดับย่อยที่ทุกคนต้องการ ต้องมีหน่วยงานที่เข้าไปด้วยและผลักดันเป็นแพลตฟอร์มเดียวกัน หลังจากนั้นต้องทําข้อมูลข่าวสารจากท้องถิ่น เราไม่ต้องลงไปเลย จะมีการส่งขึ้นมา แต่ว่าระบบราชการการกระจายอํานาจส่วนใหญ่มักไม่ประสานกัน ฉะนั้นพวกเราในแต่ละหน่วยงานต้องทำงานร่วมกัน มีข้อมูลต้องแบ่งปันแลกเปลี่ยน อย่างที่บอกว่ามีแพลตฟอร์มในการแลกเปลี่ยนแล้วอยากให้ทุกคนเข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนกันข้อมูลบนแพลตฟอร์มไม่ว่าจะเป็นของสสช.เอง หรือว่าของภาครัฐที่เรียกว่า government catalog” นางหทัยชนกกล่าว

    นายอุกฤษฎ์ พงษ์ประไพ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ สำนักยุทธศาสตร์และการวางแผนเศรษฐกิจมหภาค(สคช.) ให้ความเห็นว่า ข้อมูลในลักษณะของภาพรวมกับข้อมูลในลักษณะพื้นที่ มีความแตกต่างกัน ช่วงเช้าได้เห็นข้อมูลที่มีชีวิต สามารถอัพเดตได้ เช่น GDP เพื่อทำให้เห็นภาพการเคลื่อนตลอดเวลา แม้ข้อมูลภายในที่ไม่เปลี่ยนมากนักและใช้วิธี(methodlogy)เดิม แต่มีความเคลื่อนไหวตลอด จึงเห็นภาพ GDP วิ่งลงตลอด แต่ในเชิงพื้นที่มีการทำ โดยเฉพาะข้อมูลวิจัยเป็นลักษณะ snap shot ในลักษณะที่เมื่อทำแล้วข้อมูลชุดนี้มีเวลาการใช้งานนานเท่าไร

    “ตรงนี้ที่เป็นความแตกต่างกัน เคยมีผู้บริหารสภาพัฒน์ท่านหนึ่งกล่าวไว้ว่า ข้อมูลที่ไม่มีการอัพเดตคือข้อมูลที่ตายแล้ว ปัจจุบันเราใช้ข้อมูลพื้นที่ข้อมูลตายแล้วมาใช้ต่อหรือไม่ ถ้าเกิดว่ามีข้อมูลชุดนี้ที่เกิดขึ้น แล้วก็ใช้ไประยะหนึ่ง ก็จะมีชุดใหม่ที่คล้ายกันเกิดขึ้นมา เราเห็นข้อมูลพื้นที่ที่พอทําครั้งหนึ่งแล้วใช้ได้ 1-2 ปี ผ่านไประยะหนึ่งก็ใช้ไม่ได้แล้ว ดังนั้นจะมีความเปลี่ยนแปลงและแตกต่างกันระหว่างข้อมูลมากขึ้น ที่ถ้าเกิดว่าเราจะต้องทําให้ข้อมูลชุดที่มีชีวิตรอดสั้นๆ เราจะใช้ในแง่มุมไหนที่จะเกิดประโยชน์สูงสุดจากข้อมูลที่นานๆ ทีจะมีการจัดเก็บ” นายอุกฤษฎ์กล่าว

    อีกประเด็นหนึ่งเราได้เห็นภาพค่อนข้างชัดเจนว่า หลายพื้นที่มีความแตกต่างกัน ถ้าจะทำนโยบายให้ลงมาสู่พื้นที่และใกล้เคียงกับประชาชนที่สุด ก็ต้องอาจจะหาแนวทางทําให้ภาครัฐดําเนินการออกนโยบายที่ตรงประเด็นตรงจุดกับคนพื้นที่มากที่สุด

    “ส่วนกลางอาจจะไกลเกินไปที่จะนำข้อมูล snap shot เหล่านี้มาสร้างประโยชน์ในภาพใหญ่ และข้อมูลกับ information ก็ต้องตีความชัดเจนว่าคืออะไร มีความแตกต่างกันหรือไม่” นายอุกฤษฎ์กล่าว