
หลังจากประเทศไทยลงนามเข้าร่วมตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนหรือ SDGs ของ UNDP ในปี 2558 แนวทางเรื่อง SDGs มีพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับภาคสถาบันการเงิน โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้กำหนดมาตรฐานกลางที่ใช้อ้างอิงในการจำแนกและจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของไทยหรือที่เรียกว่า Thailand Taxonomy ที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ไว้ใช้ประเมิน และเป็นหนึ่งในทางเลือกเพื่อใช้อ้างอิงสำหรับการพิจารณาในการเข้าถึงบริการและเครื่องมือทางการเงิน ที่จะช่วยสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านของธุรกิจไปสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งThailand Taxonomy เป็นมาตรฐานกลางสำหรับภาคส่วนต่างๆ ใช้อ้างอิง โดยการนำไปใช้เป็นไปตามความสมัครใจ ซึ่งประกาศใช้มาตรการระยะที่ 1 ในเดือนกรกฎาคม 2566
ที่ผ่านมาสถาบันการเงินโดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์ได้ร่วมกันรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมาอย่างต่อเนื่องทั้งภายในองค์กรและภาคส่วนอื่นๆ เช่นเดียวกับธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) คณะกรรมการได้กำหนดนโยบายหรือเป้าหมายด้านความยั่งยืนคือการเป็นธนาคารพาณิชย์ที่ยั่งยืนที่สุดในประเทศไทย นี่คือ Vision Mission Statement ด้านความยั่งยืนขององค์กร
นายพูนสิทธิ์ ว่องธวัชชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาลสู่ความยั่งยืน ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าจากวิสัยทัศน์องค์กรนำมาสู่การปฏิบัติ ด้วยการตั้งทีม ESG (Environmental Social and Governance Division) ในปี 2561 และศึกษาหามาตรฐานเพื่อเป็นกรอบในการทำงาน โดยเลือกใช้ PRB : Principles for Responsible Banking ที่ริเริ่มโดยโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติด้านการเงิน (UNEP FI) ซึ่งเป็นมาตรฐานด้านความยั่งยืนของภาคธนาคารพาณิชย์ มาใช้เป็นเกณฑ์ในการกำหนดนโยบาย
“ในช่วงนั้นเรื่องความยั่งยืนของภาคธนาคารพาณิชย์ ไม่ใช่เรื่องที่ทุกคนเข้าใจเหมือนวันนี้ จริงๆ เราเองก็ยังไม่รู้ว่าแบงก์พาณิชย์ อะไรคือตัวเร่งด้านความยั่งยืน เราดูกรอบของยูเอ็นว่าอะไรคือปัจจัยหรือหัวใจที่สำคัญในเรื่องของความยั่งยืนในธนาคาร ซึ่งยูเอ็นมีกรอบการดำเนินงานที่ดี อย่างในเรื่อง environment ดูในเรื่อง Greenhouse gas, climate change เรื่อง social ยูเอ็นให้ความสำคัญ Financial Inclusion หรือการที่จะให้บริการทางการเงินที่ครอบคลุมถึงทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคส่วนที่โดยปกติแล้วไม่ได้มีการเข้าถึงระบบธนาคารพาณิชย์ ส่วนเรื่อง governance โดยรวมก็คือ Anti-Corruption หรือในเรื่องของการที่เทคแคร์ stakeholder ในระดับที่เท่าเทียม เหมาะสม แล้วก็ทันการณ์ อันนี้คือเป็นกรอบ หรือเป็นเฟรมเวิร์ก เป็นรากฐานที่เราใช้ในการที่เราจะดำเนินธุรกิจไปสู่เป้าหมายด้านความยั่งยืนขององค์กร”
ด้วยธุรกรรมของธนาคารพาณิชย์หัวใจในการทำธุรกิจคือนโยบายการบริหารจัดการความเสี่ยง ดังนั้นเมื่อมีกรอบความยั่งยืนนโยบายที่จะพิจารณาสินเชื่อโดยใช้ปัจจัยด้าน ESG risk เป็นหนึ่งในตัวกรองเพื่อการตัดสินใจอำนวยสินเชื่อให้กับลูกค้า โดยแบ่งประเภทธุรกิจเป็น 3-4 ประเภท มีทั้ง Negative List คือรายการต้องห้ามที่เราคิดว่าในอนาคตหรือแม้กระทั่งปัจจุบันก็อาจจะไม่ได้สนับสนุน อีกกลุ่มหนึ่งเรียกว่า Positive List คือเป้าหมายที่ว่าถ้าเราจะทำเรื่องความยั่งยืนมากขึ้น ธุรกิจ กิจกรรมทางเศรษฐกิจประเภทนั้นๆ จะเป็นกิจกรรมหรือเป็นธุรกรรมที่เราพึงจะสนับสนุนและเราควรให้การสนับสนุน เพื่อที่จะให้เราสามารถไปถึงเป้าหมายด้านความยั่งยืนได้
ตัวอย่าง Negative List เช่น ถ้าประเด็นด้าน climate ปัจจุบันธนาคารเองมีนโยบายที่จะไม่ปล่อยสินเชื่อเพิ่มให้กับธุรกิจที่เกี่ยวกับถ่านหิน หรืออะไรที่เกี่ยวกับถ่านหินทั้งซัพพลายเชน หรือธุรกิจโรงไฟฟ้าที่ใช้ฟอสซิลเป็นวัตถุดิบในการผลิตไฟฟ้านอกจากต้องห้ามแล้ว บางธุรกิจหรือบางธุรกรรมที่ในปัจจุบันอาจจะยังไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากนัก ถ้ามีกฎมีระเบียบที่ออกมาเพิ่มเติม อาจจะเป็นประเด็นด้าน ESG risk อันนี้จัดให้เขาอยู่ในกลุ่มของธุรกิจที่พึงระมัดระวัง
“ทั้งนี้ทั้งนั้นแม้เรามี Negative List ไม่ได้หมายความว่าเราจะปล่อยลูกค้าให้หยุดธุรกิจหรือทำให้ธุรกิจของเขาชะงัก ต้องเรียนว่าเรามีการออกโปรดักส์ที่จะช่วยลูกค้า แม้ว่าวันนี้เขายังไม่ได้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากนัก หรือวันนี้เขายังมีการปล่อยคาร์บอน ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับที่ค่อนข้างสูง ที่เราเรียกว่า High Carbon Intensive Industries เรามีการสนับสนุนว่า ถ้าเขาต้องการที่จะลงทุนหรือระดมทุนเพื่อไปปรับเปลี่ยนกระบวนการดำเนินธุรกิจหรือไปลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะช่วยให้กระบวนการดำเนินธุรกิจของเขาเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น อันนี้ก็เป็นธุรกิจหรือเป็นธุรกรรมที่เราพึงจะสนับสนุน”
ส่วน Positive list เช่น การลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าที่เป็นพลังงานหมุนเวียน หรือธุรกรรมอะไรที่ถูกกำหนดโดย Thailand Taxonomy ว่าเป็นอะไรที่เขียว หรือแม้กระทั่ง Thailand Taxonomy ยังไม่กำหนด แต่ถ้ามีมาตรฐานจากอาเซียนหรือมาตรฐานในระดับสากลจาก Loan Market Association เราสามารถช่วยสนับสนุน และเป็นเป้าหมายที่สำคัญของการเติบโตพอร์ตโฟลิโอของธนาคารในระยะสั้นและระยะกลางต่อไปด้วย

สินเชื่อสีเขียวและ Sustainability Linked
นายพูนสิทธิ์กล่าวว่ากรุงศรีตั้งเป้าจะเป็น Net Zero ภายในปี ค.ศ. 2030 ในกระบวนการดำเนินธุรกิจของธนาคาร ส่วนในเรื่องของสโคป 3 ศัพท์ทางการเงินที่เรียกว่า Financed emissions ตั้งเป้าที่จะเป็น Net Zero ภายในปี ค.ศ.2050 หมายความว่าพอร์ตของแบงก์ทั้งพอร์ต สุทธิออกมาจะต้องเป็น Net Zero
“แต่การที่จะไปถึงเป้าหมาย 2050 จริงๆ มันเหมือนยังอีกไกล แต่จริงๆ 24 ปีไม่ไกลเลย เรามีการตั้งเป้าที่เราเรียกว่า Interim Target เป้าระยะกลาง ปี 2030 อย่างน้อยเราจะต้องมีฝั่งที่เป็น green หรือเป็นฝั่งที่เราเรียกว่า Social and Sustainable Finance Facility ซึ่งครอบคลุมทั้ง Environment, Social และ Governance โดย Green และ Sustainable เป็นส่วนที่สำคัญใน 3 ตัวนี้ ภายในปี 2030 พอร์ตสีเขียวเราจะเพิ่มอีกหนึ่งแสนล้านบาทที่เป็นเม็ดเงินใหม่ เพื่อเป้าหมาย Net Zero ในปี 2050”
นายพูนสิทธิ์อธิบายว่า sustainable หรือ Sustainability Linked เป็นโปรดักส์ต่างๆ มีความเชื่อมโยงกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันลูกค้าสนใจที่จะเข้ามาระดมทุนหรือเข้ามากู้เงินกับธนาคารที่จะใช้ผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ จะไม่ใช่เป็นผลิตภัณฑ์ที่จะเป็น green 100% แต่จะมี element ของความเป็น green หรือมีส่วนช่วยในเรื่องของประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม
“ตัวอย่าง Sustainability-Linked Loan อาจจะมีหนึ่งในเคพีไอว่าเขา(ลูกค้า)ตั้งเป้าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกปีละ 5% หรือจะเป็น Sustainability-Linked Bond ลูกค้าจะต้องมีเป้าหมายด้านสังคมหรือด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเป็นเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก ก็คือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แม้ว่าเขายังไม่ได้ทำธุรกิจ หรือลงทุนในธุรกรรมที่เรานิยามว่าเป็น green แต่อย่างน้อยเขามีส่วนช่วยในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือเขามีการดำเนินการบางอย่างที่จะลด Carbon Emission หรือ Greenhouse Gas Emission จากกระบวนการดำเนินธุรกิจของเขา”
นายพูนสิทธิ์กล่าวต่อว่าในอดีตสินเชื่อมีแค่ green แล้วก็ not green ในปัจจุบันกรุงศรีมีอีกสองสามโปรดักส์ที่ค่อนข้างเข้ากับบริบทของประเทศไทย อย่างโปรดักส์ที่เรียกว่า Sustainability-Linked ถ้าลูกค้าเขาสามารถได้เคพีไอที่มีการกำหนดไว้กับสถาบันการเงินได้ อัตราดอกเบี้ยก็จะถูกปรับลดลง แต่ถ้าเขาไม่สามารถได้เคพีไอด้านสิ่งแวดล้อมหรือด้านสังคม อัตราดอกเบี้ยเขาก็จะถูกปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นคอนเซ็ปต์เดียวกับ Sustainability-Linked Bond คือหุ้นกู้ที่มีเคพีไอเชื่อมโยงกับประเด็นด้านความยั่งยืน เนื่องจากบางครั้งลูกค้าเองอาจจะไม่ได้มีความต้องการที่จะไปลงทุนในกิจกรรมที่เป็น green 100% หรือเขาอาจจะไม่สามารถหาโปรเจกต์ที่เป็น green ได้ 100% เพราะฉะนั้นอะไรที่มีประเด็นหรือมีส่วนช่วยที่จะสนับสนุนในเรื่องของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือมีส่วนช่วยทำให้มี impact ด้านความยั่งยืน โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม ก็จะสามารถถูกจัดเข้ามาอยู่ในผลิตภัณฑ์ที่เราเรียกว่า Sustainability-Linked
อีกโปรดักส์หนึ่งที่กรุงศรีอาจจะมีส่วนช่วยในการพัฒนา ที่เรียก Transition ไม่ว่าจะเป็น Transition Loan, Transition Bond คล้ายๆ กันก็คือว่า ลูกค้าอาจจะไม่ได้ลงทุนในกิจกรรมหรือในธุรกรรมที่เป็น green 100% แต่ถ้ามีการลงทุนเพื่อการเปลี่ยนผ่าน จาก brown เป็น less brown จาก light brown เป็น light yellow หรือจาก yellow เป็น light green อันนี้มันก็มีส่วนที่ช่วยให้ระบบเศรษฐกิจของเราที่จะสามารถปรับเปลี่ยนไปสู่ Low-carbon economy ได้
“เพราะฉะนั้นผมคิดว่ามันเป็น driver ที่สำคัญสำหรับระบบเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะถ้าเราดูโครงสร้างทางเศรษฐกิจประเทศไทย ยังเป็นโครงสร้างเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงกับกิจกรรมภาคพลังงานฟอสซิลเยอะมาก ไทยมีพลังงานไฟฟ้าที่มาจาก renewable ประมาณ 15% ส่วนที่เหลือก็คือจะเกี่ยวกับน้ำมัน เกี่ยวกับก๊าซธรรมชาติ”
ขณะที่ความต้องการของผู้ลงทุนมีความสนใจมากๆ พร้อมที่จะลงทุนในหุ้นกู้สีเขียวหรือหุ้นกู้ที่มีความเชื่อมโยงกับประเด็นด้านความยั่งยืน ส่วนใหญ่แล้วยอดจองจะสูงกว่าหุ้นกู้ปกติมาก ทำให้ลูกค้าที่ออกได้อัตราดอกเบี้ยที่ดี
“กลุ่มของนักลงทุนสถาบันมีความต้องการโปรดักส์ความยั่งยืนที่ค่อนข้างเยอะ เพราะว่าเขาเองก็มี mandate ในพอร์ต ปัจจุบันความต้องการลงทุนในหุ้นหรือใน bond ที่มี ESG หรือมี element ด้าน ESG มากขึ้นจากในอดีต สำหรับตลาดไทยมี Market Infrastructure หรือมี ecosystem ที่ดีขึ้น เป็นตลาดที่ค่อนข้างน่าสนใจ เพราะว่านักลงทุนสถาบันส่วนใหญ่มีความเข้าใจ แล้วก็มีความต้องการที่จะลงทุน ไม่ว่าจะเป็น ESG related equity หรือจะเป็น ESG bond โดยเฉพาะ Green Bond”
ส่วนการออก ESG debenture จะต้องได้รับ Second Party Opinion คือมีคล้ายๆ บริษัท Rating Company ที่ออกมารับประกันว่าหุ้นกู้ที่เราออกไปตัวนี้สอดคล้องกับกฎเกณฑ์ของการออก ESG debenture ปัจจุบันมีบริษัทในประเทศไทยที่สามารถทำหน้าที่นั้นได้แล้ว
พอร์ตสินเชื่อสีเขียวโตต่อเนื่อง
นายพูนสิทธิ์กล่าวว่าธนาคารมีการตั้งเป้าที่จะขยายสินเชื่อด้าน ESG จากปีฐาน 2564 จำนวน 1 แสนล้าน ให้ได้ภายในปี 2573 ซึ่ง ณ ไตรมาส 2 ของปี 2567 สามารถโตได้ถึง 73,000 ล้านบาทแล้ว เพราะฉะนั้นเป้าหนึ่งแสนล้านบาท จะต้องมีการทบทวนให้เพิ่มสูงขึ้น
“พอร์ตสินเชื่อสีเขียวตอนนี้เรามีอยู่ประมาณกว่า 3% ในอนาคตคงมีสัดส่วนของ green หรือ ESG เกินกว่า 10% ซึ่งตัวเลขที่โตนี้ โชว์ว่าลูกค้ามีดีมานด์ที่จะใช้ผลิตภัณฑ์ด้าน ESG มากขึ้นเช่นกัน เพราะฉะนั้นต้องเรียนว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดี เพราะว่าภาคธุรกิจเองก็ช่วยกันเร่งดำเนินงานให้ประเทศไทยสามารถเข้าสู่เป้าหมาย Net Zero ตามที่รัฐบาลตั้งไว้”
นายพูนสิทธิ์กล่าวว่า “สินเชื่อ ESG ยังเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง และโตเร็วกว่าสินเชื่อปกติ ถ้าดูพอร์ตสินเชื่อของกรุงศรีในช่วง 5 – 7 ปีที่ผ่านมา โดยเฉลี่ยโตประมาณ 3-4% ต่อปี แต่ถ้าเป็นสินเชื่อที่เกี่ยวกับ green เกี่ยวกับ sustainability โตระดับหลายสิบเปอร์เซ็นต์ เนื่องจากผู้ประกอบการมีการปรับตัว เพราะเราเป็นส่วนหนึ่งของโกลบอลซัพพลายเชน ส่งออกไปอียู ส่งออกไปสหรัฐ ซึ่งมีกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับประเด็นด้าน Climate Change มากขึ้น รวมทั้งรัฐบาลออกกฎหมายที่เกี่ยวกับ Climate Change ก็คือ Climate Change Act ซึ่งจะมีเรื่อง Carbon Tax ภาษีคาร์บอน หรือระบบ ETS (Emission Trading Scheme) หรือแม้กระทั่งเกี่ยวกับระเบียบหรือกฎที่ภาคธุรกิจจะต้องรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นการเพิ่มการลงทุนหรือเพิ่มเม็ดเงินที่จะต้องถูกระดมไปสู่ภาคธุรกิจที่เกี่ยวกับ green หรือ ESG มากขึ้น”
ทั้งนี้ยูเอ็นเคยประมาณการว่าถ้าประเทศไทยจะให้ถึง Net zero 2050 ในแต่ละปี ประเทศไทยต้องมีการลงทุนในกิจกรรมประเภทนี้ ประมาณ 3-4 แสนล้านบาทต่อปี เพื่อที่จะให้ประเทศไทยถึงเป้าหมายนั้นได้
ท่ามกลางความยั่งยืน ยังมีความท้าทาย
นายพูนสิทธิ์กล่าวถึงความท้าทายที่สำคัญของภาคธนาคารพาณิชย์ว่าคือ ‘เอสเอ็มอี’ เพราะเอสเอ็มอีเป็นกลุ่มลูกค้ากลุ่มใหญ่ของธนาคารพาณิชย์ ไม่ใช่เฉพาะกรุงศรี แต่เป็นกลุ่มลูกค้าที่สำคัญของทุกธนาคาร
ช่วงที่ผ่านมาเอสเอ็มอี เริ่มฟื้นตัวจากวิกฤติโควิด โดยเฉพาะภาคบริการ เพราะฉะนั้นที่ผ่านมา เรื่อง environment เรื่อง ESG อาจจะไม่ใช่ประเด็นเร่งด่วนสำหรับกลุ่มเอสเอ็มอี แต่ในอนาคต กฎ กติกาการค้าระหว่างประเทศ หรือ พ.ร.บ. Climate Change ที่จะออกมา แน่นอนจะกระทบต่อเอสเอ็มอีด้วย เพราะฉะนั้นเอสเอ็มอีจะต้องเพิ่ม awareness จะต้องมีการปรับเปลี่ยนหรือมีการลงทุนที่เกี่ยวกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากขึ้น ถ้าเอสเอ็มอีนั้นๆ เป็นส่วนหนึ่งของซัพพลายเชนของบริษัทใหญ่ๆ หรือเป็นส่วนหนึ่งของโกลบอลซัพพลายเชน
หรือแม้กระทั่งกฎระเบียบจาก พ.ร.บ.โลกร้อน จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานหรือต้นทุนให้กับเอสเอ็มอี ตอนนี้เอสเอ็มอีเริ่มมี awareness แล้ว แต่ถามว่าเขาจะลงทุนหรือเขามีการดำเนินการหรือยัง ก็ต้องตอบว่ายังไม่ได้มีมากเท่ากับธุรกิจที่มีขนาดใหญ่ เพราะมองว่าเป็นปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ แต่ไม่ใช่ปัญหาที่เขาจะต้องเผชิญในปัจจุบัน
“เพราะฉะนั้นอันนี้ก็เป็นกลุ่มหนึ่งที่เราให้ความสำคัญ ทางกรุงศรีเองมีโปรแกรมที่ช่วยสนับสนุนองค์ความรู้ให้กับกลุ่มเอสเอ็มอี มี KrungsriESG Academy ให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับ ESG การบริหารความเสี่ยงด้าน ESG มีกลุ่มที่เป็นสตาร์ทอัพที่ทำ Carbon Calculator Platform เข้ามาช่วยคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์อย่างง่ายๆ รวมทั้งเรื่องกฎ ระเบียบ กติกาการค้าระหว่างประเทศที่อาจจะกระทบต่อเอสเอ็มอี เช่น CBAM ว่ากระบวนการจะกระทบเขาอย่างไร”
นายพูนสิทธิ์กล่าวเสริมว่าเรื่องการบริหารความเสี่ยงด้าน ESG เป็นเรื่องสำคัญ ลูกค้าเอสเอ็มอี โดยเฉพาะขนาดเล็ก เขามีความเสี่ยงที่เรียกว่า Physical Risk เช่น ปัญหาน้ำท่วมหรือภัยแล้ง ซึ่งเอสเอ็มอีเป็นภาคธุรกิจที่ถูกกระทบจากภัยธรรมชาติที่ค่อนข้างสม่ำเสมอ จึงพยายามสร้าง awareness ให้เขาเข้าใจ และที่สำคัญที่สุดก็คือ Transition Risk อยากให้เขาเข้าใจว่ากฎระเบียบที่เปลี่ยนไป อาทิ การเก็บภาษีคาร์บอนกระทบต่อต้นทุนเขาอย่างไร ในบางเคสอาจจะกระทบเขาอย่างสูงเลย ในเรื่องความสามารถในการแข่งขัน หรือ Consumer Preference รสนิยมหรือความต้องการลูกค้า พฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะเทรนด์ที่เกี่ยวกับ green จะกระทบหรือไม่กระทบกับธุรกิจเขาอย่างไร
นอกจากนี้ยังมีโครงการ Krungsri ESG Awards เพื่อมอบรางวัลให้กับกลุ่มเอสเอ็มอีที่มีความเป็นเลิศในด้าน ESG เพื่อสร้างแรงจูงใจเอสเอ็มอี ให้มุ่งเน้นในประเด็นด้าน ESG มากขึ้น
ส่วนความท้าทายในองค์กรเป็นเรื่อง upskill หรือ reskill พนักงานของธนาคาร การคำนวณคาร์บอนฟุตปริ้นท์เป็นเรื่องใหม่ การที่จะไปคุยกับลูกค้า อย่างลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ ถ้าจะไปนำเสนอโปรดักส์หรือโซลูชันให้กับลูกค้า พนักงานจะต้องมีองค์ความรู้ที่ค่อนข้างแน่นในเรื่องของ Climate Change ในเรื่องของ green
“ภาคอุตสาหกรรมมีเทรนด์ มีเทคโนโลยีอะไร แล้วภาคการเงินจะไปช่วยสนับสนุนเขาได้อย่างไร เป็นองค์ความรู้ที่ใหม่มาก ซึ่งในบางครั้งลูกค้าอาจจะรู้ดีกว่าพนักงานธนาคารอีก ด้วยเทคโนโลยี ด้วยพัฒนาการในอุตสาหกรรม เพราะฉะนั้นมันเป็น challenge หรือเป็นอุปสรรคที่สำคัญสำหรับธนาคาร เราเองต้อง upskill หรือ accelerate skill ของพนักงานแบงก์เพื่อที่จะได้รู้เท่าทันกับเทรนด์ของโลก”
นายพูนสิทธิ์กล่าวเสริมว่าตัวอย่างที่ได้ยินกัน หรืออาจจะเคยได้ยินก็คือเรื่อง CCUS (Carbon Capture Utilization and Storage) เป็นอะไรที่ยากมาก ซึ่ง RM หรือผู้จัดการธุรกิจสัมพันธ์ ในอดีตถ้าเขาดูกิจกรรมว่าเป็น oil and gas ก็ดูว่าปริมาณการผลิตเท่าไร ปริมาณการบริโภคเท่าไร แต่ในปัจจุบันต้องดูด้วยว่าการผลิตปล่อยก๊าซคาร์บอนเท่าไร ดูดกลับได้อย่างไร ด้วยเทคโนโลยีอะไร ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันเป็นองค์ความรู้ใหม่มากๆ แล้วก็มีใหม่เพิ่มขึ้นทุกๆ วัน เป็นหนึ่งใน challenge ของฝั่งธนาคารพาณิชย์เอง
นอกจากนี้จะต้องบูรณาการ ผนวกปัจจัยความเสี่ยงด้าน ESG เข้ามาในกระบวนการพิจารณาสินเชื่อของธนาคารด้วย ในอดีตดูเฉพาะ Credit Risk, Market Risk หรือ Operational Risk แต่ปัจจุบันต้องดูในฝั่งของ ESG โดยเฉพาะฝั่งของ Climate and Environmental Risks ของภาคธุรกิจ ของลูกค้า ในกระบวนการพิจารณาสินเชื่อของภาคธนาคารด้วย ซึ่งอันนี้ก็เป็นอะไรที่ค่อนข้างจะใหม่ แล้วก็เป็นองค์ความรู้ที่ทั้งองค์กรต้องพัฒนา ปัจจุบันธนาคารมีการจ้างวิศวกรสิ่งแวดล้อม หรือนักวิทยาศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อมเข้ามาร่วมทีม
Social risk – Government risk ที่ต้องคำนึง
สำหรับด้าน social จริงๆ แล้วทางกรุงศรีไม่ค่อยมีปัญหา ไม่ได้ดูว่าเป็นเรื่องของความเสี่ยง แต่เราดูว่าเป็นโอกาส หมายถึงโอกาสสำหรับลูกค้า/องค์กรที่มีความเป็นเลิศหรือมีการดำเนินงานด้าน social
ยกตัวอย่างกรุงศรีเคยออกหุ้นกู้ที่เรียกว่า Gender Bond หุ้นกู้ที่คำนึงเพศสภาพ โดยกู้เงินจาก IFC, DEG วงเงิน 220 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเงินที่กู้มา earmark ว่ากรุงศรีจะไปปล่อยกู้เฉพาะกับผู้ประกอบการสตรี โดยเราเน้นกลุ่มที่เป็น Small SME อันนี้คือเป็นการ reward ให้กับองค์กรหรือธุรกิจที่ให้ความสำคัญในเรื่อง equality ในเรื่อง gender ความเท่าเทียมทางเพศ
อีกอันหนึ่งที่ธนาคารพยายามทำคือ Financial Inclusion การพิจารณาให้สินเชื่อกับกลุ่มที่ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้โดยปกติ คนที่อาจจะไม่ได้มีการเข้าถึงเงินทุนที่เพียงพอในภาคธนาคารพาณิชย์
ส่วน governance โดยรวมกรุงศรีพิจารณาสินเชื่อในฝั่งของ governance อยู่แล้ว ดูว่าลูกค้าเองก็ต้องปฏิบัติตามกฎ ตามระเบียบ ถ้าเป็นลูกค้าเอสเอ็มอีต้องขอข้อมูลที่เกี่ยวกับการจ่ายภาษี ซึ่งเป็นตัวอย่าง governance ที่เราเองก็มีการสกรีนอยู่แล้ว
“ตอนที่เราออกสินเชื่อให้ผู้ประกอบการสตรี มี ESG checklist ด้วย มีการสัมภาษณ์ลูกค้าว่าในปีที่ผ่านมาคุณไม่ได้มีการทำผิดกฎหมายเรื่องสังคม เรื่องแรงงาน หรือในสถานประกอบการของคุณมีการดำเนินงานที่เพียงพอในเรื่องของความปลอดภัยหรือสุขอนามัยของพนักงาน มันเป็นอะไรที่เพิ่มขึ้นมาจากการให้สินเชื่อปกติ โดยเฉพาะสินเชื่อขนาดเล็กที่เราเรียกว่า Micro SME การที่เราจะไป audit หรือไป interview ในสิ่งเหล่านี้ เป็นอะไรที่เพิ่มขึ้นจาก workload ปกติของ RM ที่ดูแลลูกค้ากลุ่มนี้ ซึ่งในบางกรณีลูกค้าก็อาจจะไม่ชอบ เพราะว่าถ้าแบงก์หนึ่งมีขั้นตอนที่มากกว่าอีกแบงก์หนึ่ง เขาก็อาจจะอยากทำอะไรที่ง่ายๆ กว่า แต่อันนี้เป็นสิ่งสำคัญในการประเมิน เราช่วยลูกค้าปิดความเสี่ยง เราเองก็ปิดความเสี่ยง หรือลดความเสี่ยงด้าน ESG ของเราด้วย”
นายพูนสิทธิ์กล่าวย้ำว่าv “ต้องเรียกว่าเป็นอะไรที่ใหม่กับทั้งแบงก์และลูกค้าด้วย การที่เราจะต้อง certified ว่าเราออก ESG Loan เราต้องมีความรับผิดชอบที่ต้องทำในเรื่อง Enhanced Intelligent, Enhanced Audit ซึ่งไม่ง่ายเลย โดยเฉพาะกับกลุ่มลูกค้าขนาดเล็ก เพราะต้องขายผ่านสาขา แล้วการขายผ่าน 600 สาขา ต้องมีการเทรนคนของเราด้วย แล้วต้องให้คนของเราไป interact ไป engage กับลูกค้า ช่วงแรกค่อนข้างจะท้าทายมาก หลังจากผ่านไป 3-4 ปี ทำได้ดี เป็นกลุ่มสินเชื่อที่โตได้ดีกว่ากลุ่มอื่นๆ แล้วก็มี performance ที่ค่อนข้างดี ถ้าลูกค้ามี ESG ที่ดี ปล่อยกู้ไปแล้ว ก็จะสะท้อนมาที่คุณภาพสินทรัพย์ที่ดีของธนาคารด้วย ส่วนใหญ่ NPL ก็จะน้อยลง”

Transitionโปรเจกต์รับโลกร้อนที่ต้องใช้ ‘PPP’
นายพูนสิทธิ์มองว่าTransition Project บางครั้งเป็นโปรเจกต์ที่ใช้เม็ดเงินลงทุนที่ค่อนข้างสูง และในหลายๆ ประเทศก็อาจจะมีการลงทุนโดยฝั่งของรัฐบาล แต่ในปัจจุบันสิ่งที่เราพยายามจะดูก็คือ อาจจะเป็นเรื่องของ PPP- Private Partnership with Government Program อาจจะมีการระดมทุนจากภาคเอกชนส่วนหนึ่ง ภาครัฐส่วนหนึ่ง ไปลงทุนในโครงการที่มุ่งเน้นการลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือที่เราเรียกว่า “Climate Change Mitigation”
ยกตัวอย่าง อินโดนีเซีย มีโรงไฟฟ้าจากถ่านหินจำนวนมาก เพราะเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกถ่านหินที่สำคัญ มีโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง มีอายุการใช้งาน 30-40 ปี เขาก็ไม่มีแรงจูงใจที่จะปรับกระบวนการหรือลงทุนเพิ่ม เพราะเขาเพิ่งลงทุนไป และรัฐบาลไม่สามารถไปเก็บภาษีคาร์บอน เพราะว่าภาคพลังงานมีความเกี่ยวข้องในเรื่อง security, economic, and social security
อินโดนีเซียจึงมีการตั้งกองทุนหนึ่งขึ้นมา ด้วยความช่วยเหลือจากเวิลด์แบงก์ จากธนาคารพาณิชย์ แล้วก็รัฐบาลอินโดนีเซีย สามภาคีเอาเงินมาลงขันด้วยกัน สามารถเดินหน้าโครงการที่ไปลงทุนหรือปล่อยกู้ให้กับโรงไฟฟ้าที่ยังมีอายุการใช้งานไม่มากเพื่อลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ ในการใช้เชื้อเพลิงอื่นๆ เช่น ก๊าซธรรมชาติ เข้าไปปรับเปลี่ยนกระบวนการ ทำให้เขาเองสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ ซึ่งอินโนเวชันหรือตัวอย่างของผลิตภัณฑ์ทางการเงินเหล่านี้ เกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าไม่มีสามภาคีมาช่วย ไม่อย่างนั้นอินโดนีเซียก็ไม่สามารถจะเปลี่ยนผ่านในกระบวนการนี้ได้
“โครงการนี้เราเข้าไปช่วย เพราะเราเป็นส่วนหนึ่งของ MUFG ซึ่ง MUFG ก็เป็นธนาคารที่เข้าไปสนับสนุนโครงการที่อินโดนีเซีย เพราะฉะนั้นถ้ามีโปรเจกต์อย่างนี้ กรุงศรีเองก็มีความสนใจ แล้วก็มีความพร้อมที่จะเข้าไปช่วยลงทุน เพราะไม่งั้น mitigation ก็จะไม่เกิดขึ้น ถ้าให้ผู้ประกอบการอย่างเดียว หรือให้ภาครัฐอย่างเดียว แต่พอเป็นสามภาคส่วน ก็มีความเป็นไปได้ แล้วก็เกิดขึ้นจริง”
นายพูนสิทธิ์กล่าวว่า “adaptation ในปัจจุบันยังไม่ได้มีความสนใจเท่ากับ mitigation เพราะ mitigation มันชัด มันมีกฎ มีระเบียบที่จะกระทบ อาจจะกระทบความสามารถในการแข่งขัน แต่ adaptation ส่วนหนึ่งเป็นคล้ายๆ Risk Mitigation หรือ Risk Prevention เพราะฉะนั้น incentive หรือความสนใจในปัจจุบันจะมีแนวโน้มไปฝั่งของ Climate Mitigation มากกว่า adaptation แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น แบงก์เองหรือทางการเองก็ให้ความสนใจ ทั้งฝั่งของ Multilateral Development Bank (MDBs) คือเวิล์ดแบงก์, IFC, Asian Development Bank (ADB) ให้ความสนใจที่จะเข้ามาสนับสนุนโปรเจกต์ที่เกี่ยวข้องกับ adaptation มากขึ้น เพราะเป็นโปรเจกต์ที่มีความสำคัญ และมีความเชื่อมโยงกับ Real Sector ของประเทศไทยจำนวนมาก เพราะไทยเป็นประเทศที่ผลิตและส่งออกสินค้าเกษตร เป็นหนึ่งในรายได้หลักของประเทศ เพราะฉะนั้นการที่ทำให้ภาคการเกษตร ไม่ว่าภาคการผลิต หรือ Agriculture Processing มีความเสี่ยงลดลง ก็จะดีต่อภาคธุรกิจเอง แล้วก็จะดีต่อระบบเศรษฐกิจ หรืออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทย”
“บางครั้ง โปรเจกต์ adaptation ถ้าด้วยตัวของเขาเอง อาจจะไม่ได้อยู่ในความสนใจของการลงทุนภาคเอกชน แต่ถ้ามีส่วนหนึ่งมาจากรัฐบาล ส่วนหนึ่งมาจากภาคเอกชน ทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น ตัวอย่างของ adaptation ในประเทศไทย เช่น การสร้างเขื่อน หรือการลงทุนในเรื่องของการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร เป็นต้น ถ้ามีการลงทุนร่วมกันจะช่วยลดความเสี่ยง แล้วก็มี incentive ที่จะมีการลงทุนใน Adaptation Project มากขึ้น”