
วันพุธที่ 6 พฤศจิกายน 2567 เวลา 7:00-12:00 น. สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย โดย เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย นายโรเบิร์ต เอฟ. โกเดค ได้จัดกิจกรรมติดตามผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ 2567 ณ ทำเนียบเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย ขณะที่การนับคะแนนเริ่มขึ้น โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เข้าใจถึงกระบวนการการเลือกตั้งของสหรัฐฯ โดยมีนักวิชาการ ผู้บริหารองค์กรภาครัฐและเอกชนต่างๆ อาทิ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการ กรุงเทพมหานคร นายกอบศักดิ์ ดวงดี เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย ผศ.ดร. ประพีร์ อภิชาติสกล อาจารย์ประจำหลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และสื่อมวลชนเข้าร่วม
ภานในงานยังมีเจ้าหน้าที่สถานทูตคอยตอบคำถามเกี่ยวกับขั้นตอนการเลือกตั้งของสหรัฐฯ นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลให้ความรู้เกี่ยวกับคณะผู้เลือกตั้งของสหรัฐฯ หรือสาเหตุที่พรรครีพับลิกันมีสัญลักษณ์เป็นช้าง และพรรคเดโมแครตมีสัญลักษณ์เป็นลา
นายโรเบิร์ต เอฟ. โกเดค เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย ได้กล่าวสุนทรพจน์ ว่า วันนี้ เราได้เห็นกระบวนการของประชาธิปไตยขณะที่พลเมืองอเมริกันออกเสียงลงคะแนนและนับคะแนนเลือกตั้งทั่วสหรัฐอเมริกา เพื่อเลือกผู้ที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี รองประธานาธิบดี และผู้นำทางการเมืองของเราในทุกระดับ การออกเสียงเลือกตั้งของผู้คนหลายล้านคนเหล่านี้สะท้อนให้เราเห็นถึง “การปกครองตนเอง” เราเห็นสิ่งที่ประธานาธิบดีอับราฮัม ลินคอล์น ได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนในสุนทรพจน์ที่เมืองเกตตีสเบิร์กว่าเป็น “การปกครองของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน”
ในโลกที่ผู้คนมากมายมีชีวิตอยู่ภายใต้ระบบการเมืองที่เสรีภาพขั้นพื้นฐานถูกจำกัด ค่านิยมที่ปรากฏให้เห็นในระบอบประชาธิปไตย เป็นดวงประทีปแห่งความหวังและสัญญาแห่งเสรีภาพ คำประกาศอิสรภาพของสหรัฐฯ ได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า รัฐบาลได้รับอำนาจที่เที่ยงธรรมของตนจากการยินยอมของผู้ที่ถูกปกครอง ประชาธิปไตยมิได้ไร้ที่ติ แต่ประชาธิปไตยก็เป็นระบบที่ดีที่สุดที่เรามี บรรดาชายและหญิงผู้กล้าในประวัติศาสตร์ได้สละชีวิตของตนเพื่อปกป้องระบอบประชาธิปไตยนี้
การหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีของเราเป็นการเดินทางที่ท้าทายและยาวนาน การหาเสียงเลือกตั้งเริ่มต้นอย่างไม่เป็นทางการเมื่อหลายเดือนก่อน แต่ความเข้มข้นของกระบวนการนี้มีข้อดีมากมาย หลังจากเดินทางไปทั่วประเทศ ผู้สมัครรับเลือกตั้งก็ได้รับฟังจากชาวอเมริกันโดยตรง ทั้งยังได้แสดงมุมมองและความคิดเห็นของตนด้วย
“สำหรับเรา การหาเสียงเลือกตั้งเป็นการพูดคุยกันในระดับชาติ ระหว่างผู้ลงคะแนนเสียงและผู้สมัครรับเลือกตั้ง เป็นการพูดคุยที่เปิดโอกาสให้พลเมืองทุกคนได้ถกกันถึงทิศทางอนาคตของประเทศ ชาวอเมริกันอาจมีส่วนร่วมในระบอบประชาธิปไตยโดยการเป็นอาสาสมัครให้กับผู้สมัครที่ตนชื่นชอบ โดยการเข้าร่วมการปราศรัยหาเสียงเลือกตั้ง โดยการหาข้อมูลเกี่ยวกับผู้สมัคร ตลอดจนโดยการลงคะแนนเสียง”
ประชาธิปไตยเป็นกระบวนการที่ไม่หยุดนิ่งและค่อยเป็นค่อยไป ขับเคลื่อนโดยการมีส่วนร่วมของประชาชนเสมอ ขณะเดินทางไปทั่วประเทศไทยตลอด 2 ปีที่ผ่านมานี้ ผมยินดีที่ได้เห็นคนไทยกระตือรือร้นมีส่วนร่วมในการวิเคราะห์ พูดคุย และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันด้วยความสนใจถึงอนาคตของตนเอง ตั้งแต่ในชั้นเรียนไปจนถึงการรวมกลุ่มกันของชุมชน การอภิปรายกันในสื่อต่าง ๆ การพูดคุยกันระหว่างเพื่อนในร้านกาแฟท้องถิ่นทั่วไทย การมีส่วนร่วมนี้เป็นหัวใจของการปกครองตนเอง ชาวไทยเองก็ให้ความสำคัญกับระบอบประชาธิปไตย เพราะประชาธิปไตยไม่ใช่ค่านิยมของชาวอเมริกันเพียงเท่านั้น แต่เป็นค่านิยมของคนทั่วโลก และเป็นค่านิยมที่เรามีร่วมกันกับชาวไทย

“หลายท่านถามว่าเมื่อไรเราจะทราบผลการเลือกตั้ง ผมไม่อาจจะบอกได้อย่างแน่ชัด อาจจะเร็ว ๆ นี้ หรืออาจจะใช้เวลาสักพัก อาจจะหลายวันด้วยซ้ำ แต่สิ่งสำคัญคือกระบวนการการเลือกตั้งมีความสุจริตเที่ยงธรรม ผมรับรองได้ว่าเรามุ่งมั่นเพื่อให้เกิดความสุจริตเที่ยงธรรมดังกล่าว”
ในเดือนมกราคม 2568 สหรัฐฯ จะมีประธานาธิบดีคนใหม่ ซึ่งมาจากการเลือกของประชาชนอเมริกัน ไม่ว่าผลลัพธ์จะเป็นเช่นไร “ผมรับรองกับท่านได้ว่า สหรัฐฯ จะยังคงเป็นหุ้นส่วนที่เข้มแข็งของไทย เราจะมีความสัมพันธ์ที่สำคัญแนบแน่น เสมือนผืนผ้าที่ถักทอขึ้นจากสายสัมพันธ์ของเราในด้านการค้า การลงทุน ความมั่นคง การศึกษา และความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนของเรา ไทยเป็นมิตรประเทศแรกของสหรัฐฯ ในเอเชีย และความสัมพันธ์ด้านการทูตของเรามีอายุย้อนกลับไปกว่า 190 ปี ทั้งหมดนั้นจะไม่เปลี่ยนแปลงไป”
“ในฐานะเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย ผมรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้ใช้ช่วงเวลานี้ คือช่วงเวลาการเลือกตั้งในสหรัฐฯ กับทุกท่าน ขอบคุณที่มาร่วมติดตามผลการเลือกตั้งกับผมและชมการตัดสินใจของชาวอเมริกัน เช้านี้เป็นเช้าที่น่าตื่นเต้นยิ่ง”
เราจะเดินหน้าไปด้วยกัน

จากนั้นนายโรเบิร์ต เอฟ. โกเดค เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย ได้ให้เวลาสื่อมวลชนซักถาม
คำถามแรก ท่านได้พูดถึงค่านิยมของประชาธิปไตยในสุนทรพจน์ และยังได้บอกว่าคนไทยมีส่วนร่วมในระบบในระบบประชาธิปไตยอย่างแข็งขัน ท่านมองแนวโน้มในระยะต่อไปอย่างไร
นายโรเบิร์ตกล่าวว่า “ผมเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยอย่างยิ่ง ประชาธิปไตยก็คือ หนทางที่ผู้คนเลือกผู้นำในอนาคตผ่านการลงคะแนนเสียง ผ่านการมีส่วนร่วมในระบบการเลือกตั้ง ประชาชนมีโอกาสตัดสินใจด้วยตนเองในการเลือกผู้นำของพวกเขา แน่นอนว่าบางครั้งระบอบประชาธิปไตยก็มีความท้าทายอยู่บ้าง ไม่มีระบบใดที่สมบูรณ์แบบ แต่ที่ชัดเจนคือ การให้ผู้คนมีสิทธิมีเสียง การให้คนมีส่วนร่วมในอนาคตเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง และเมื่อมองไปรอบโลก เราได้เห็นครั้งแล้วครั้งเล่าว่า ประชาธิปไตยมีความเข้มแข็ง ระบอบประชาธิปไตยที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในอนาคตของเขาเอง ประเทศที่มีประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง ระบบประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง มีความเจริญรุ่งเรือง ผมคิดว่านั่นคือสิ่งที่สำคัญ และเห็นได้ชัดว่าสหรัฐฯ มุ่งมั่นในระบอบประชาธิปไตย อีกหลายประเทศก็มีความมุ่งมั่น หลายประเทศก็เห็นคุณค่าของประชาธอปไตย และผมคิดว่าประเทศไทยก็เห็นคุณค่าของประชาธิปไตยด้วย”
คำถามต่อมา สหรัฐฯเป็นสังคมเปิด แต่ทำไมการมีผู้หญิงเป็นประธานาธิบดีในประเทศจึงเป็นเรื่องยาก? ประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรีหญิงมาสองคนแล้ว หรือแม้กระทั่งในฟิลิปปินส์ ก็มีผู้หญิงเป็นผู้นำ อุปสรรคของผู้หญิงที่จะเป็นประธานาธิบดีในสหรัฐอเมริกาคืออะไร
นายโรเบิร์ตตอบว่า เมื่อมองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ ก็ชัดเจนว่าน่าเสียดาย และเป็นเรื่องที่น่าเสียใจผู้หญิงไม่ได้รับสิทธิอย่างเต็มที่และเท่าเทียมกัน ในสหรัฐอเมริกาผู้หญิงเพิ่งมีสิทธิลงคะแนนเสียงในช่วงหนึ่งศตวรรษเศษที่ผ่านมานี้เอง และสิ่งสำคัญคือ ตอนนี้ก็ได้มีการตระหนักแล้วว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เป็นสิ่งที่ผิด เราควรให้สิทธิ์ในการลงคะแนนเสียงอย่างเต็มที่และสิทธิขั้นพื้นฐานอื่นๆ ทั้งหมด แก่ผู้หญิงของเราทุกคน และนั่นคือสิ่งที่กำลังมีการดำเนินการในสหรัฐอเมริกาอย่างแน่นอน ก็ต้องมาดูกันว่าคนอเมริกันตัดสินใจอย่างไรในการเลือกตั้งครั้งนี้ และผมคิดว่าถ้ารองประธานาธิบดีแฮร์ริสได้รับเลือกและเลือกโดยคนอเมริกัน ในการเลือกตั้งครั้งนี้ย่อมเป็นสัญญาณเชิงบวกอย่างแน่นอน สำหรับผู้หญิงก็ต้องดูกันว่าคนอเมริกันตัดสินใจอย่างไร และขอย้ำอีกครั้งว่า การพัฒนาสิทธิสตรีเป็นสิ่งสำคัญมาก มีคุณค่าอย่างแน่นอนในสหรัฐอเมริกา ดังนั้นก็ต้องผลการเลือกตั้งว่าจะเป็นอย่างไร
คำถามต่อมา สิ่งแรกที่คนอเมริกันคาดหวังจากประธานาธิบดีคืออะไร? อะไรที่ต้องการให้แก้ไขอย่างแรก อะไรน่าจะเป็นอย่างแรก
นายโรเบิร์ตกล่าวว่า เมื่อมองทั่วทั้งประเทศ มองการรณรงค์หาเสียงต่างๆ มีประเด็นต่างๆ มากมายที่สำคัญสำหรับคนอเมริกัน เศรษฐกิจมีความสำคัญ เรื่องการย้ายถิ่นฐานมีความสำคัญ และสิทธิขั้นพื้นฐานก็มีความสำคัญ มีหลายประเด็นที่คนอเมริกันให้ความสำคัญ ดังนั้นคิดว่าใครก็ตามที่เข้ามาเป็นประธานาธิบดีจะต้องมุ่งเน้นไปที่ประเด็นที่เขาคิดว่ามีความสำคัญเป็นอันดับต้นๆอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องดูกัน และก็จะได้เห็นประธานาธิบดีคนใหม่ ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ในวันเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 20 มกราคม 2568 ชี้แจงว่าลำดับความสำคัญคืออะไร
นอกจากนี้ยังจะดูว่าใครได้รับเลือก ใครจะได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งสำคัญๆ เช่น รัฐมนตรีต่างประเทศ และ นั่นก็จะเเป็นการส่งสัญญาณถึงด้านที่จะมุ่งเน้น เช่นเดียวกับในประเทศอื่นๆ ก็มีหลายๆ ประเด็นสำคัญสำหรับผู้มีสิทธิเลือกตั้งของสหรัฐฯ และก็ต้องดูว่าประธานาธิบดีไม่ว่าเป็นใคร จะให้ความสำคัญกับสิ่งที่มุ่งเน้น กับวาระ และความตั้งใจ แต่ก็ต้องดูกันเช่นกันว่าสภาคองเกรสตัดสินใจอย่างไร

คำถามต่อมา ผลการเลือกตั้งของสหรัฐฯ มีผลกระทบต่อประเทศไทยทั้งในด้านการค้าและเศรษฐกิจอย่างไร
นายโรเบิร์ตกล่าวว่า ประเทศไทยและสหรัฐอเมริกามีความสัมพันธ์ทางการทูตมากว่า 190 ปี และมีสายสัมพันธ์ที่ถักทอเข้าด้วยกันเป็นพิเศษ ความสัมพันธ์เหล่านั้น คือ การค้า การลงทุน ความมั่นคง การศึกษา ประชาชนกับประชาชน และความสัมพันธ์เหล่านี้จะต่อเนื่องต่อไป “ประเทศไทยจะยังคงเป็นประเทศที่สำคัญสำหรับภูมิภาคนี้ สำหรับโลกและโดยเฉพาะสำหรับสหรัฐอเมริกา ประเทศที่สำคัญและความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศของเราก็จะยังคงอยู่ และก็ต้องดูกันว่านโยบายเฉพาะใดบ้างที่อาจมีการเปลี่ยนแปลง”
คำถามที่ต่อเนื่อง ในกรณีที่อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ได้รับการรับเลือกเป็นประธานาธิบดีในครั้งนี้ จะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ของไทยกับสหรัฐฯ ในด้านการค้าและเศรษฐกิจอย่างไร? จากการรณรงค์หาเสียงจะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนถึง 60% แล้วก็จะเก็บภาษีในลักษณะนี้กับประเทศอื่นด้วย เพราะในช่วงที่ทรัมป์ทำหน้าที่บริหารในรัฐบาลชุดก่อน ก็ได้ตัด GSP ไทย
นายโรเบิร์ตตอบว่า “ผมขอย้ำอีกครั้งว่าความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกาจะยังคงแข็งแกร่งต่อไป แม้จะมีความแตกต่างในนโยบายและแผนงาน ที่ขึ้นอยู่กับว่าใครจะชนะ ไม่ว่าจะเป็นอดีตประธานาธิบดีทรัมป์หรือรองประธานาธิบดีแฮร์ริส มีหลายประเด็นที่มีการหยิบยกระหว่างการรณรงค์กาเสียง เราต้องดูว่านโยบายที่แท้จริงของทั้งสองผู้สมัครเมื่อเชข้ามาทำหน้าที่บริหาร และเราต้องดูว่ารัฐสภาของเราตัดสินใจอย่างไร เนื่องจากสภาพคองเกรส วุฒิสภา และสภาผู้แทนราษฎรก็มีบทบาทในการตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบายของอเมริกาด้วย ผมคิดว่าเราก็ต้องดูว่าคนอเมริกันเลือกใคร แล้วเราจะได้เห็นว่ามีนโยบายและมาตรการอะไรบ้าง”
“และผมขอเน้นย้ำอีกครั้ง ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความสำคัญเป็นพิเศษ และผมเชื่อว่าความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกาและประเทศไทยจะยังคงแข็งแกร่งต่อไป”