ThaiPublica > เกาะกระแส > “โดนัลด์ ทรัมป์”คว้าชัยเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ กลับสู่ทำเนียบขาวรอบ 2

“โดนัลด์ ทรัมป์”คว้าชัยเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ กลับสู่ทำเนียบขาวรอบ 2

6 พฤศจิกายน 2024


ที่มาภาพ:เพจ Donald J. Trump

อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์คว้าชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐปี 2567 ได้กลับเข้าสู่ทำเนียบขาวเป็นครั้งที่ 2 หลังได้คะแนนจากคณะผู้เลือกตั้ง 277 เสียงซึ่งเกินกว่า 270 เสียงของเกณฑ์ที่กำหนด แม้การนับคะแนนยังไม่เสร็จสิ้น จากการรายงานของสำนักข่าว Associated Press(AP)

ทรัมป์รับตำแหน่งประธานาธิบดีครั้งแรกในปี 2560-2564 ปัจจุบันอยู่ในวัย 78 ปีกลับมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐคนที่ 47 จากการชนะ กมลา แฮร์ริส ที่อยู่ในวัย 60 ปี รองประธานาธิบดีของรัฐบาลโจ ไบเดน ไปได้ หลังจากรณรงค์หาเสียงอย่างหนัก

สำนักข่าว AP รายงานว่า การนับคะแนนยังไม่เสร็จสิ้น แต่การนับคะแนนเสียงจากประชาชน(popular vote)ของทรัมป์อยู่ที่ 51% ส่วนของแฮร์ริสอยู่ที่ 47.5% เปอร์เซ็นต์สำหรับแฮร์ริส

คว้าชัยใน swing states

ในรัฐที่จัดว่าเป็น swing state ซึ่งเป็นรัฐที่ประชากรมีความคิดทางการเมืองแตกต่างกันในจำนวนที่ใกล้เคียงกัน และถือเป็นสมรภูมิสำคัญนั้น ทรัมป์ชนะในนอร์ทแคโรไลนา จอร์เจีย เพนซิลเวเนีย และวิสคอนซิน

ชัยชนะที่รัฐวิสคอนซินส่งผลให้ทรัมป์ได้กลับทำเนียบขาวอีกครั้ง เนื่องจากคะแนนเสียงจากคณะผู้เลือกตั้งในรัฐนี้ทำให้ทรัมป์ได้คะแนนจากคณะผู้เลือกตั้งเกิน 270 เสียง ในปี 2559 ชัยชนะในวิสคอนซินก็ส่งผลให้ทรัมป์ขึ้นตำแหน่งผู้นำสูงสุดแต่ก็เอาชนะได้อย่างหวุดหวิด โดยในครั้งนี้ทรัมป์ได้คะแนนกว่า 50% อย่างไรก็ตามยังไม่มีการแสดงผลจากอลาสกา แอริโซนา เมน มิชิแกน และเนวาดา

ประชาชนในรัฐวิสคอนซินลงคะแนนเสียงให้พรรครีพับลิกันในการเลือกตั้งปี 2559 จากนั้นให้พรรคเดโมแครตในปี 2563 แต่ละครั้งไม่ถึง 1%

ในการเลือกตั้งปี 2563 ทรัมป์แพ้โจ ไบเดน จากพรรคเดโมแครต ในรัฐวิสคอนซิน แต่ทั้งแฮร์ริสและทรัมป์ทำให้วิสคอนซินเป็นศูนย์กลางของการรณรงค์หาเสียงของพวกเขา ในปีเดียวกันนั้นทรัมป์พยายามที่พลิกความพ่ายแพ้ในรัฐวิสคอนซินคืน ผ่านการฟ้องร้องและการนับคะแนนใหม่แต่ไม่ประสบผล

รัฐที่โดยทั่วไปถือว่าเป็น swing state ได้แก่ แอริโซนา ฟลอริดา มิชิแกน เพนซิลเวเนีย และวิสคอนซิน ผู้เชี่ยวชาญบางคนเห็นว่า นอกจากรัฐเหล่านี้แล้ว ยังมีนิวแฮมป์เชียร์ นอร์ทแคโรไลนา และรัฐอื่นๆอีกจำนวนหนึ่ง เป็น Swing State ด้วยเช่นกัน

ในระบบการเลือกตั้งของสหรัฐ คณะบุคคลที่เรียกว่า “ผู้เลือกตั้ง” จะเป็นผู้เลือกประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีแทนประชาชน โดยผู้สมัครจะต้องได้รับคะแนนเสียงจากคณะผู้เลือกตั้งอย่างน้อย 270 คนหรือมากกว่าครึ่งหนึ่งของคะแนนเสียงทั้งหมดจึงจะชนะการเลือกตั้ง

คะแนนเสียงจากผู้มีสิทธิออกเสียง หลังกาบัตรเลือกตั้งประธานาธิบดีแล้ว จะถูกนำรวมกันภายในรัฐ โดยใน 48 รัฐและกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีที่ได้รับคะแนนเสียงจากประชาชนมากที่สุด จะได้รับคะแนนจากคณะผู้เลือกตั้งทั้งหมดของรัฐนั้น ในขณะที่จำนวนคณะผู้เลือกตั้งของรัฐเมนและเนแบรสกาจะเป็นไปตามสัดส่วนจากคะแนนเสียงของประชาชน

ที่มาภาพ: https://apnews.com/live/trump-harris-election-updates-11-5-2024

ลงสนามแบบหมัดลุ่นๆ-เหยียดผู้หญิง

การกลับมาของทรัมป์ถือว่าพิเศษสุดๆ เพราะทรัมป์ไม่ยอมรับความพ่ายแพ้เมื่อ 4 ปีที่แล้ว จุดชนวนให้เกิดการจลาจลอย่างรุนแรงในรัฐสภาสหรัฐฯ และถูกตัดสินว่ามีความผิดในข้อหาก่ออาชญากรรม ตลอดจนรอดชีวิตจากการพยายามลอบสังหาร 2 ครั้ง

ชัยชนะครั้งนี้เป็นเครื่องพิสูจน์ถึงการลงสนามแบบหมัดเปล่าลุ่นๆ(bare-knuckle ) ของทรัมป์ในการเมือง ทรัมป์โจมตีกมลา แฮร์ริส คู่แข่งจากพรรคเดโมแครต โดยใช้คำพูดทิ่มแทงไปที่ส่วนตัวอย่างมาก ซึ่งมักเป็นแนวเกลียดผู้หญิงและเหยียดเชื้อชาติ ขณะที่สร้างภาพความร้ายแรงอย่างมากของประเทศที่ถูกย่ำยีโดยผู้อพยพที่ใช้ความรุนแรง

วาทศิลป์หยาบๆ บวกกับภาพลักษณ์ของความเป็นชายเหนือชาย โดนใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เคืองขุ่น โดยเฉพาะผู้ชาย ในประเทศที่มีการแบ่งขั้วอย่างลึก ในฐานะประธานาธิบดี เขาให้คำมั่นว่าจะดำเนินการในประเด็นหลักอยู่ที่การปรับโฉมรัฐบาลกลางครั้งใหญ่และการแก้แค้นต่อศัตรูที่เขามองว่าเป็นศัตรู

สำนักข่าว อัล จาซีรา (Al Jazeera) วิเคราะห์ว่า รองประธานาธิบดีกมลา แฮร์ริส กลายเป็นผู้สมัครหญิงคนที่สองแพ้ให้กับ โดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกัน แม้ว่าจะมีการรณรงค์หาเสียงครั้งประวัติศาสตร์ก็ตาม

นักวิเคราะห์ที่พูดคุยกับอัลจาซีรา บอกว่า ความพ่ายแพ้ของแฮร์ริสเป็นภาพที่เคยเกิดขึ้นมาก่อน จากความพ่ายแพ้ของฮิลลารี คลินตัน พรรคเดโมแครต ในปี 2559

นอกจากนี้ยังย้ำว่า เชื้อชาติและเพศของแฮร์ริสเป็นปัจจัยสำคัญของการพ่ายแพ้ด้วยน้ำมือของอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ ซึ่งอาชีพทางการเมืองของเขาตั้งอยู่บนการกีดกันทางเพศและการเหยียดเชื้อชาติ

ผู้ลงคะแนนเสียงในหลายรัฐต่างให้ความสำคัญกับข้อห้ามในการทำแท้ง มาตรการทำแท้งอยู่ในบัตรลงคะแนนใน 9 รัฐ ใน 3 รัฐ ได้แก่ เนบราสกา ฟลอริดา และเซาท์ดาโกตา ความพยายามที่จะเขียนสิทธิในการทำแท้งลงในรัฐธรรมนูญของรัฐไม่ประสบความสำเร็จ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในรัฐมิสซูหักล้างหนึ่งในกฎหมายห้ามทำแท้งที่เข้มงวดที่สุดของประเทศ โดยปกป้องสิทธิในการทำแท้งจนกว่าจะรอดชีวิตได้ ในรัฐแอริโซนา ซึ่งปัจจุบันห้ามทำแท้งหากตั้งครรภ์มาแล้วเกิน 15 สัปดาห์ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้สนับสนุนมาตรการคุ้มครองสิทธิในการทำแท้งจนกว่าจะสามารถที่จะอยู่รอดและเจริญเติบโตได้ แม้ว่าจะไม่มีกรอบเวลาที่แน่นอน แต่แพทย์บอกว่าจะอยู่รอดได้หลังจากผ่านไป 21 สัปดาห์ ในเนวาดา นิวยอร์ก และโคโลราโด ผู้มีสิทธิเลือกตั้งยืนยันถึงสิทธิการทำแท้งและสิทธิในการเจริญพันธุ์ ยังไม่มีการเรียกมาตรการสิทธิในการทำแท้งในมอนทานา

ที่มาภาพ:เพจ Donald J. Trump

ประกาศเป็นผู้นำ “ยุคทองของอเมริกา”

ทรัมป์และผู้สนับสนุน พากันฉลอง ในระหว่างงานคืนการเลือกตั้งที่ เวสต์ปาล์มบีช รัฐฟลอริดา ของเช้าตรู่ของวันที่ 6 พฤศจิกายน หลัง
ฟ็อกซ์นิวส์ Fox News ประกาศว่า ทรัมป์คว้าชัยขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนต่อไป

ฟ็อกซ์นิวส์ Fox News รายงานว่า ทรัมป์ กล่าวปราศรัยกับผู้สนับสนุนของเขาเมื่อเช้าวันพุธตามเวลาในสหรัฐฯ หลังจากได้รับคะแนนเสียงจากคณะผู้เลือกตั้งมากกว่า 270 เสียง โดยให้คำมั่นว่าเขาจะเป็นผู้นำ “ยุคทองของอเมริกา golden age of America” หลังจาก เการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล(greatest political movement of all time)

ทรัมป์ขึ้นเวทีหลังจากฟ็อกซ์นิวส์คาดการณ์ว่าเขาจะชนะในรัฐที่เป็นสมรภูมิสำคัญอย่างเพนซิลเวเนีย วิสคอนซิน จอร์เจีย และนอร์ทแคโรไลนา เขาได้รับคะแนนเสียงจากคณะผู้เลือกตั้งมากกว่า 270 เสียงเมื่อเวลาประมาณ 01:45 น. ตามเวลาในสหรัฐฯ ชนะแฮร์ริสอย่างเป็นทางการ

“ผมเชื่อว่านี่คือการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล ไม่เคยมีอะไรแบบนี้มาก่อนในประเทศนี้ และอาจจะเหนือกว่านั้น และตอนนี้มันกำลังจะก้าวไปสู่ความสำคัญอีกระดับหนึ่งเพราะว่าเราจะช่วยเยียวยาประเทศของเรา ” ทรัมป์กล่าวก่อนเวลา 02.30 น. ของวันพุธ ตามเวลาในสหรัฐฯ

“เราจะช่วยประเทศของเรา เรามีประเทศที่ต้องการความช่วยเหลือ และก็ต้องการความช่วยเหลืออย่างมาก เราจะแก้ไขปัญหาพรมแดน เราจะแก้ไขทุกอย่างเกี่ยวกับประเทศของเรา และเราได้สร้างประวัติศาสตร์เพื่ออะไรบางอย่างในคืนนี้ และสิ่งนั้นก็คือเราก้าวข้ามอุปสรรคที่ไม่มีใครคิดว่าเป็นไปได้” ทรัมป์กล่าวท่ามกลางเสียงเชียร์จากฝูงชน

สำหรับแผนการบริหารงานของทรัมป์ในรอบที่ 2 นั้น AP รายงานว่า ทรัมป์ สัญญาว่าจะดำเนินการอย่างครอบคลุมในการเป็นรัฐบาลครั้งที่ 2
อย่างไรก็ตามทรัมป์ก็มักจะไม่ให้รายละเอียด แต่ด้วยการประกาศนโยบายและแถลงการณ์ที่เป็นลายลักษณ์อักษรมานานกว่าหนึ่งปี ที่ได้สรุปวาระที่หลากหลายซึ่งผสมผสานแนวทางอนุรักษ์นิยมแบบดั้งเดิมเข้ากับประเด็นทางภาษี กฎระเบียบ และวัฒนธรรม เข้ากับประชานิยมที่มุ่งเป้าไปที่การค้าและ การเปลี่ยนแปลงบทบาทระหว่างประเทศของอเมริกา

หนึ่งในประเด็นของทรัมป์ คือ การจะลดการดำเนินการของรัฐบาลกลางในเรื่องสิทธิพลเมืองและขยายอำนาจประธานาธิบดี

ที่มาภาพ:เพจ Donald J. Trump

ผู้นำทั่วโลกแสดงความยินดี

AP รายงานถึงการตอบสนองต่อการคว้าชัยของทรัมป์ว่า มีผู้นำจากทั่วโลกได้แสดงความยินดีกับเขา หลังจากประเมินผลเบื้องต้นได้แล้วในรัฐที่เป็นสมรภูมิสำคัญ แม้ยังมีการนับคะแนนอยู่ โดยนายกรัฐมนตรีอิสราเอล เบนจามิน เนทันยาฮู แสดงความยินดีกับทรัมป์ว่าเป็น “การกลับมาครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์”

เหมา หนิง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนกล่าวว่า จีนจะ “ติดตามและจัดการความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ ต่อไป ตามหลักการของการเคารพซึ่งกันและกัน การอยู่ร่วมกันอย่างสันติ และความร่วมมือที่ได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย”

นายกรัฐมนตรีแคนาดา จัสติน ทรูโด แสดงความยินดีกับทรัมป์ในโพสต์บนแพลตฟอร์มโซเชียล X และแสดงภาพของทั้งสองคนในทำเนียบขาวระหว่างการดำรงตำแหน่งสมัยแรกของประธานาธิบดี ว่า “มิตรภาพระหว่างแคนาดาและสหรัฐอเมริกาเป็นสิ่งที่โลกอิจฉา ผมรู้ว่าประธานาธิบดีทรัมป์และผมจะทำงานร่วมกันเพื่อสร้างโอกาส ความเจริญรุ่งเรือง และความมั่นคงให้กับทั้งสองประเทศของเรา”

ในขณะที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ทรัมป์เรียกทรูโดว่า “อ่อนแอ” และ “ไม่ซื่อสัตย์” และโจมตีการค้าที่สำคัญของแคนาดา ทรัมป์ขู่ว่าจะเก็บภาษีรถยนต์และบังคับใช้กับเหล็ก ท่าทีที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนต่อหนึ่งในพันธมิตรที่ใกล้ที่สุดของสหรัฐฯทำให้ขื่นขมและชาวแคนาดาส่วนใหญ่โล่งใจที่ทรัมป์แพ้ในปี 2563

นายกรัฐมนตรีโอลาฟ ชอลซ์ ของเยอรมนีกล่าวในโพสต์บนแพลตฟอร์มโซเชียล X ว่า “เยอรมนีและสหรัฐอเมริกาทำงานร่วมกันอย่างประสบความสำเร็จมายาวนานแล้ว ในการส่งเสริมความเจริญรุ่งเรืองและเสรีภาพทั้งสองฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก เราจะทำเช่นนั้นต่อไปเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของพลเมืองของเรา”

นายกรัฐมนตรีชิเงรุ อิชิบะของญี่ปุ่นแสดงความยินดีกับทรัมป์เมื่อวันพุธ และกล่าวว่า หวังว่าจะได้คุยกับกับทรัมป์โดยเร็วที่สุดเพื่อหารือถึงแนวทางในการกระชับความสัมพันธ์ญี่ปุ่น-สหรัฐฯ ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น “ผมหวังว่าจะร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เพื่อยกระดับความเป็นพันธมิตรและความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่น-สหรัฐฯ ให้ดียยิ่งขึ้นไปอีก” นายอิชิบะบอกกับผู้สื่อข่าวที่สำนักนายกรัฐมนตรี

ประธานาธิบดียุน ซุก ยอล ของเกาหลีใต้กล่าวว่า เขาตั้งตารอที่จะได้ร่วมงานกับทรัมป์ “ภายใต้การนำที่แข็งแกร่งของคุณ อนาคตของ เกาหลีใต้ พันธมิตรของสหรัฐฯ กับและอเมริกาจะรุ่งเรืองยิ่งขึ้น” ประธานาธิบดียุน ซุก ยอล โพสต์บนแพลตฟอร์มโซเชียล X โดยใช้ชื่อย่อของชื่ออย่างเป็นทางการของเกาหลีใต้ สาธารณรัฐเกาหลี(RoK) เพื่อตอบสนองต่อภัยคุกคามที่เพิ่มขึ้นจากเกาหลีเหนือที่ติดอาวุธนิวเคลียร์ รัฐบาลของประธานาธิบดียุนได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับฝ่ายบริหารของไบเดนเพื่อเสริมสร้างการซ้อมรบแบบผสมผสานของประเทศต่างๆ และเสริมสร้างความร่วมมือทางทหารสามทางกับญี่ปุ่น

กษัตริย์อับดุลเลาะห์ที่ 2 แห่งจอร์แดนแสดงความยินดีกับทรัมป์ โดยกล่าวในโพสต์บน X ว่าทรง “รอคอย” ที่จะทำงานร่วมกับทรัมป์ “เพื่อส่งเสริมสันติภาพและเสถียรภาพระดับภูมิภาคและระดับโลกสำหรับทุกคน” จอร์แดนเป็นสื่อกลางสำคัญของสหรัฐฯ ในปีที่ผ่านมา ในขณะที่ทางการพยายามผลักดันให้มีการบรรลุข้อตกลงหยุดยิงระหว่างอิสราเอลและฮามาส

ด้านผู้นำในทวีปแอฟริกา ประธานาธิบดีซิมบับเว เอ็มเมอร์สัน มนังกากวา ซึ่งถูกสหรัฐฯ คว่ำบาตรจากข้อกล่าวหาว่ามีความเชื่อมโยงกับการลักลอบขนเพชรและการปราบปรามทางการเมือง แสดงความยินดีกับทรัมป์บนแพลตฟอร์มโซเชียล X โดยระบุว่า “ขอแสดงความยินดีกับประธานาธิบดีที่ได้รับเลือก โดนัลด์ ทรัมป์ สำหรับชัยชนะในการเลือกตั้ง โลกต้องการผู้นำที่พูดเพื่อประชาชนมากขึ้น ซิมบับเวพร้อมที่จะทำงานร่วมกับคุณและชาวอเมริกันเพื่อสร้างโลกที่ดีขึ้น เจริญรุ่งเรืองมากขึ้น และสงบสุขมากขึ้น”

นายอาเบีย อาห์เหม็ด นายกรัฐมนตรีของเอธิโอเปียโพสต์ใน X ว่า “ขอแสดงความยินดีกับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ สำหรับชัยชนะในการเลือกตั้งและการกลับมาของคุณ ผมหวังว่าจะได้ทำงานร่วมกันเพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างเราทั้งสองประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นในระหว่างดำรงตำแหน่งของคุณ”

ประธานฟีฟ่า(FIFA)ก็แสดงความยินดีกับทรัมป์ “เราจะมีฟีฟ่าเวิลด์คัพที่ยอดเยี่ยมและสโมสรฟีฟ่าเวิลด์คัพที่ยอดเยี่ยมในสหรัฐอเมริกาฟุตบอลได้รวมโลกให้เป็นหนึ่งเดียว” จานนี อินฟานติโน ประธานฟีฟ่าโพสต์ในบัญชีอินสตาแกรม

อินฟานติโน พยายามสานสัมพันธ์กับทรัมป์ โดยได้เยือนทำเนียบขาวอย่างน้อยสองครั้ง และร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์กับประธานาธิบดีทรัมป์ในอยู่ในตำแหน่งขณะนั้น ระหว่างการประชุม World Economic Forum ในเดือนมกราคม 2563

สหรัฐอเมริกาจะเป็นเจ้าภาพเกมการแข่งขันฟุตบอลโลกประเภทชายปี 2568 หลายแมทช์

สหรัฐฯเลิกบทบาทด้านโลกร้อน

แต่ภาคประชาสัมคม NGO เรียกร้องให้ทรัมป์ยกเลิกนโยบายบางข้อ โดยกลุ่มมนุษยธรรมสหรัฐฯ เรียกร้องทรัมป์-สภาคองเกรส ไม่รับนโยบายที่กวาดล้างผู้อพยพและผู้ขอลี้ภัย

International Rescue Committee นำโดยเดวิด มิลลิแบนด์ อดีตนักการทูตชั้นนำของสหราชอาณาจักร เป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไร และเป็นองค์กรช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมรายใหญ่ โดยดูแลการบรรเทาทุกข์แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์ในกว่า 40 ประเทศ เรียกร้องให้ฝ่ายบริหารของทรัมป์ สานต่อขนบการเป็นผู้นำด้านมนุษยธรรมของอเมริกาและการดูแลผู้ที่เปราะบางที่สุด

International Rescue Committee ซึ่งมีฐานอยู่ในนิวยอร์กยังเรียกร้องให้ฝ่ายบริหารชุดใหม่และสภาคองเกรส “ไม่รับนโยบายที่กวาดล้างผู้อพยพและผู้ขอลี้ภัย และชี้ว่าโครงการของสหรัฐฯ ที่ให้ผู้ลี้ภัยได้โยกย้ายถิ่นฐานนั้น ได้ช่วยชีวิตผู้คนและเสริมความแข็งแกร่งให้กับโครงสร้างของสหรัฐฯ

ทรัมป์ เสนอให้ใช้กองทัพสหรัฐฯ กับ “ศัตรูจากภายใน” และขู่ว่าจะดำเนินคดีกับทนายความ พรรคเดโมแครต และคนอื่นๆ ที่เขากล่าวหาอย่างผิด ๆ ว่ากระทำการฉ้อโกงการเลือกตั้ง และให้คำมั่นที่จะดำเนินการ ปฏิบัติการเนรเทศครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ โดยเนรเทศผู้อพยพที่ไม่มีเอกสารหลักฐาน

ด้านกลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมนอร์เวย์ ระบุว่า ชัยชนะการเลือกตั้งของทรัมป์หมายความว่าสหรัฐฯ ‘จะไม่เป็นแรงผลักดัน’ ในการต่อสู้เรื่องสภาพภูมิอากาศอีกต่อไป

Bellona กลุ่มคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมของนอร์เวย์กล่าวว่า “ด้วยการเลือกตั้งที่ได้โดนัลด์ ทรัมป์ สหรัฐอเมริกาจะไม่เป็นแรงผลักดันทั่วโลกในการบรรลุเป้าหมาย 1.5 องศาเซลเซียสอีกต่อไป” ซึ่งอ้างอิงถึงเป้าหมายระหว่างประเทศในการพยายามจำกัดภาวะโลกร้อนในอนาคต

ผลเลือกหมายความว่าสหภาพยุโรป “ต้องมีบทบาทเป็นผู้นำระดับโลกในการต่อสู้กับสภาพอากาศ และในระดับที่มากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อเป็นหลักในการปกป้องผลประโยชน์เชิงยุทธศาสตร์ของยุโรป”

“สหภาพยุโรปจะมีความสำคัญมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญต่อสภาพภูมิอากาศ การพัฒนาเทคโนโลยี และการปรับโครงสร้างในอีกสี่ปีข้างหน้า” เฟรเดริก เฮอเก ผู้ก่อตั้งองค์กรซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในออสโล กล่าวในแถลงการณ์

Trump 2.0 กับนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ

รายงานข่าวอีกชิ้นหนึ่งของสำนักงานข่าวอัลจาซีรา พูดถึงนโยบายด้านต่างประเทศของทรัมป์ โดยระบุว่า ระหว่างการรณรงค์หาเสียงในครั้งนี้ ทรัมป์สัญญาว่าจะจัดการกับปัญหาภายในประเทศหลายประการ รวมถึงการจัดการผู้อพยพและเงินเฟ้อ

นอกจากนี้ ยังส่งสัญญาณการกลับมาใช้นโยบายต่างประเทศ “America First อเมริกาต้องมาก่อน” ซึ่งบ่งชี้ถึงการหันไปสู่ลัทธิแยกตัวมากขึ้นและความร่วมมือระหว่างประเทศน้อยลง

แต่นั่นไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อทรัมป์ที่โอ้อวดอย่างยิ่งใหญ่ว่าสามารถยุติสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนได้ภายใน 24 ชั่วโมงหลังเข้ารับตำแหน่ง นำสันติภาพมาสู่ตะวันออกกลาง และพยายามครอบงำจีน ซึ่งเป็นหนึ่งในคู่แข่งทางภูมิรัฐศาสตร์รายใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ

แม้ว่าสิ่งที่ทรัมป์พูดกับสิ่งที่เขาสามารถทำได้จริงๆนั้นยังต่างกัน แต่ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า ก็ต้องยอมรับเขาน่าจะทำอย่างที่พูดเป็นส่วนใหญ่ และในขณะที่โลกกำลังเผชิญกับความท้าทายมากมายนับไม่ถ้วน ตั้งแต่วิกฤติสภาพภูมิอากาศไปจนถึงสงครามในยูเครน ฉนวนกาซา และเลบานอน ทิศทางที่ทรัมป์ดำเนินนโยบายต่างประเทศจะมีผลกระทบในวงกว้าง

ประเด็นสำคัญและจุดยืนของประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้งประกอบด้วย

  • ‘เพื่อนที่ดีที่สุด’ ของอิสราเอล
  • เบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอลเคยกล่าวถึงทรัมป์ว่าเป็น “เพื่อนที่ดีที่สุดที่อิสราเอลเคยมีในทำเนียบขาว”

    ขณะดำรงตำแหน่ง ทรัมป์ได้ย้ายสถานทูตสหรัฐฯ จากเทลอาวีฟไปยังกรุงเยรูซาเลม ซึ่งเป็นการดำเนินการที่ชาวปาเลสไตน์และผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายระหว่างประเทศประณามในวงกว้าง นอกจากนี้เขายังยอมรับการอ้างสิทธิ์ของอิสราเอลต่อที่ราบสูงโกลานที่ถูกยึดครองในซีเรีย

    ฝ่ายบริหารของทรัมป์เป็นตัวกลางที่เรียกว่า ข้อตกลงอับราฮั(Abraham Accords) ซึ่งเป็นชุดข้อตกลงที่สานสัมพันธ์ทางการฑูตและเศรษฐกิจอย่างเป็นทางการระหว่างอิสราเอลและประเทศอาหรับเพียงไม่กี่ประเทศ

    แนนซี โอไคล์ ประธานและซีอีโอของ Center for International Policy กล่าวว่า ทรัมป์เชื่อว่า “การทุ่มเงินให้กับปัญหา” คือคำตอบในการแก้ไขความขัดแย้งในตะวันออกกลาง

    แต่ตรงกันข้ามกับคำกล่าวอ้างของทรัมป์ที่ว่าเขาจะนำความสงบมาสู่ภูมิภาคนี้หากได้รับการเลือกตั้งอีกครั้ง บรรดานักวิจารณ์กล่าวว่า กรอบ “อาวุธเพื่อสันติภาพ arms for peace” ของเขาล้มเหลว ดังที่เห็นได้จากปฏิบัติการทางทหารทำลายล้างของอิสราเอลในฉนวนกาซาและเลบานอน ซึ่งได้ผลักดันตะวันออกกลางเข้าสู่สงครามเต็มรูปแบบ

    หลายคนตั้งข้อสังเกตว่าสหรัฐฯ มีบทบาทอยู่แล้วในการส่งเสริมความขัดแย้งเหล่านั้น โดยส่วนใหญ่ผ่านทางการจัดหาอาวุธอย่างต่อเนื่องและการสนับสนุนทางการทูตแก่อิสราเอล

    “ระเบียบโลกที่อิงกฎเกณฑ์และการรักษากฎหมายภายในของสหรัฐอเมริกาตลอดจนกฎหมายระหว่างประเทศ ก็ได้เห็นว่าถูกทำลายและบั่นทอนไปแล้ว” โอไคล์กล่าว

    การดำรงตำแหน่งก่อนหน้านี้ของทรัมป์ก็มีผลจากความไม่แน่นอนของเขา และความผันผวนอีก 4 ปีในทำเนียบขาวอาจส่งผลกระทบร้ายแรง ความขัดแย้งในตะวันออกกลางกำลัง “คุกรุ่น” อยู่แล้ว โอไคล์เตือนว่าการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของเขาอาจเร่งให้ปะทุขึ้น

  • ปรปักษ์กับอิหร่าน
  • ทรัมป์คงเส้นคงวาในการปฏิบัติที่เข้มงวดต่ออิหร่านทั้งในและนอกทำเนียบขาว ในระหว่างที่ทรัมป์ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี สหรัฐฯ ถอนตัวฝ่ายเดียวจากข้อตกลงปี 2558 ที่ให้อิหร่านลดขนาดโครงการนิวเคลียร์ของตนเพื่อแลกกับการยกเลิกการคว่ำบาตรระหว่างประเทศต่อเศรษฐกิจของประเทศ

    ผลที่ตามมา ฝ่ายบริหารขอทรัมป์มีมาตรการคว่ำบาตรอิหรานเพิ่มเติม และเปิดทางให้สังหารนายพลระดับสูงของอิหร่าน กัสเซม สุไลมานี ซึ่งเป็นการโจมตีที่ก่อให้เกิดความตึงเครียดทั่วทั้งภูมิภาค

    “ตอนที่ผมเป็นประธานาธิบดี อิหร่านอยู่ในสภาพที่ควบคุมไม่ได้ พวกเขาต้องการเงินสดอย่างมาก และอยู่ในสภาพสิ้นหวังสุดๆและพร้อมที่จะทำข้อตกลง” เขากล่าวในแถลงการณ์เมื่อต้นเดือนตุลาคม

    โอไคล์กล่าวว่า การดำรงตำแหน่งอีกวาระหนึ่งของทรัมป์อาจทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับ “การแพร่กระจายของนิวเคลียร์ที่เป็นอันตราย”
    และยังมีเรื่องที่รู้กันในวอชิงตันได้แก่ “การยกระดับที่ควบคุมได้” คือ “การขยายสงครามในปัจจุบันไปยังเลบานอนและอิหร่าน ทั้งหมดนี้สามารถจัดการได้และควบคุมการปฏิบัติการได้”

    แต่องค์ประกอบของรัฐสภาสหรัฐฯ ก็อาจมีบทบาทได้เช่นกัน มี “เสียงที่แสดงความเกลียดชัง” ในวอชิงตัน ดี.ซี. ซึ่งอาจพยายามกดดันรัฐบาลทรัมป์ให้ใช้แนวทางที่รุนแรงยิ่งขึ้นในการต่อต้านอิหร่าน

    “ตัวอย่างเช่น [ผู้ที่เชื่อ] หนทางสู่เสถียรภาพในตะวันออกกลางคือการกำจัดระบอบการปกครองในอิหร่าน … โดยทั่วไปมักจะมองหาการตอบโต้ทางทหารไม่ว่าปัญหาอะไร ในขณะเดียวกัน พรรคอนุรักษ์นิยมของสหรัฐฯ บางคนก็เป็นนักต่อต้านการแทรกแซง โดยยอมรับหลักคำสอน “อเมริกาต้องมาก่อน” ของทรัมป์ “นั่นอาจเป็นปัจจัยในการพิจารณา”

  • ยูเครนและรัสเซีย
  • ทรัมป์กล่าวว่าเขาจะคลี่คลายสงครามระหว่างยูเครนและรัสเซียภายใน 24 ชั่วโมงหลังกลับเข้ารับตำแหน่ง “หากผมเป็นประธานาธิบดี ผมจะทำให้สงครามสงบลงภายในวันเดียว” เขาบอกกับ CNN เมื่อปีที่แล้ว

    เมื่อถามว่าจะทำอย่างไร ทรัมป์ให้รายละเอียดเพียงเล็กน้อย แต่บอกว่าเขามีแผนจะพบกับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินแห่งรัสเซีย และประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน “พวกเขาทั้งสองมีจุดอ่อนและมีจุดแข็งทั้งคู่ และภายใน 24 ชั่วโมงสงครามก็จะคลี่คลาย มันจะจบลงแล้ว”

    ทรัมป์ ซึ่งมีรายงานว่ายังคงมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับปูติน ยังได้วิพากษ์วิจารณ์คำขอของเซเลนสกีที่ขอให้สหรัฐฯ ช่วยเหลือยูเครนเพิ่มเติม โดยกล่าวว่า “มันไม่มีวันสิ้นสุด”

    “ผมจะจัดการเรื่องนั้นก่อนที่จะเข้าทำเนียบขาวในฐานะประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้ง” ทรัมป์กล่าวในงานกิจกรรมเมื่อเดือนมิถุนายน

    เลสลี วิจามูริ ผู้อำนวยการโครงการสหรัฐอเมริกาและอเมริกาของ Chatham House ในลอนดอนกล่าวว่า “เราต้องยอมรับทรัมป์อย่างที่เป็น”

    “เขาคิดว่าเขาสามารถบรรลุข้อตกลงได้อย่างรวดเร็ว [และ] เขาน่าจะปิดกั้นความช่วยเหลือเพิ่มเติม แก่ยูเครน” ตัวอย่างเช่น มีความเป็นไปได้ที่ทรัมป์จะสามารถบรรลุข้อตกลงกับปูตินโดยไม่ฟังความคิดเห็นของเซเลนสกี และอาจยอมอย่างมากในเรื่องยูเครนและเขตแดนของยูเครน

    “ยังมีคำถามอีกว่าเขาจะมีความสัมพันธ์แบบไหนกับปูตินและรัสเซีย และนั่นจะหนุนรัสเซียมากขึ้นในบริบทของยุโรปหรือไม่ และคิดว่านั่นเป็นข้อกังวลอย่างแท้จริงสำหรับคนจำนวนมาก

  • การแข่งขันกับจีน
  • เป็นเวลาหลายปีมาแล้วที่สหรัฐฯ และจีนติดอยู่ในการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ในฐานะมหาอำนาจสองแห่งที่ใหญ่ที่สุดในโลก ทั้งสองประเทศได้ปะทะกันในประเด็นต่างๆ รวมถึงการค้า ไต้หวัน และการครอบงำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

    สถาบันวิจัย International Crisis Group (ICG) กล่าวว่า แนวทางของทรัมป์ที่มีต่อจีนนั้นขึ้นอยู่กับการค้าเป็นส่วนใหญ่ โดยชี้ว่าอดีตประธานาธิบดีให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ กับจีนเหนือประเด็นอื่นๆ เช่น สิทธิมนุษยชน

    ตัวอย่างเช่น ในปี 2561 วอชิงตันก่อสงครามการค้ากับปักกิ่ง หลังจากที่ฝ่ายบริหารของทรัมป์กำหนดอัตราภาษีสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่ากว่า 250,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งกระตุ้นให้เกิดมาตรการตอบโต้จากรัฐบาลจีน

    อย่างไรก็ตาม ทรัมป์ได้แสดงความสัมพันธ์กับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำที่แข็งแกร่งของจีน ในการให้สัมภาษณ์กับ Fox News เมื่อเดือนสิงหาคม ทรัมป์กล่าวว่าเขาเคารพประธานาธิบดีสี และ มีความสัมพันธ์ที่ดีกับสี แต่ “ภาษีศุลกากรที่สูง” ของเขาทำให้ได้รับเงินหลายพันล้านดอลลาร์จากจีน

    “พวกเขาเอาเปรียบเรา แล้วทำไมพวกเขาจะไม่ทำ ถ้าเราโง่พอที่จะปล่อยให้พวกเขาทำแบบนั้น” ทรัมป์กล่าวและว่า “ไม่มีใครได้เงินจากจีนเลย ผมได้เงินหลายพันล้านดอลลาร์จากจีน”

    ทรัมป์กล่าวว่า เขาวางแผนที่จะยังคงใช้นโยบายภาษีของเขาหากได้รับการเลือกตั้งอีกครั้ง โดยกำหนดอัตราภาษี 10%สำหรับการนำเข้าทั้งหมด แต่สำหรับจีนโดยเฉพาะ เขาขู่ว่าจะขึ้นภาษีสินค้าสูงถึง 60%

    โจชัว คูร์ลันต์ซิก นักวิชาการอาวุโสประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ของ Council on Foreign Relations กล่าวว่า ทรัมป์ “กล้าแสดงออกมากขึ้น” และ “ก้าวร้าวมากขึ้น” กับจีนระหว่างการรณรงค์หาเสียง

    แต่คูร์ลันต์ซิกเตือนว่า อดีตประธานาธิบดี “มักจะพูดสิ่งต่าง ๆ เพื่อใช้ประโยชน์แล้วก็เปลี่ยน”

    “แม้ว่าทรัมป์ในการรับตำแหน่งครั้ง อาจจะแกว่งเล็กน้อยจากความสัมพันธ์ของเขากับสี จิ้นผิง แต่เราไม่รู้จริงๆ ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในตอนนี้”

  • ความร่วมมือระดับโลกและพหุภาคี
  • ขณะดำรงตำแหน่ง ทรัมป์ได้เย้ยหยันองค์กรระหว่างประเทศอย่างสหประชาชาติและพันธมิตรนาโต(NATO)อย่างโจ่งแจ้ง และถอนตัวจากข้อตกลงพหุภาคี ซึ่งรวมถึงข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

    เขากล่าวหาพันธมิตร NATO ของวอชิงตันว่า ไม่จ่ายเงินตามสัดส่วนสำหรับการป้องกันโดยรวมของกลุ่ม และเตือนว่ารัฐบาลของเขาจะไม่ปกป้องพวกเขาหากถูกโจมตีโดยรัสเซีย กฎบัตรของ NATO มีข้อการป้องกันร่วมกันสำหรับสมาชิกทุกราย

    วินจามูรี จาก Chatham House ทรัมป์สร้างโอกาสให้กับผู้ที่ต้องการทำลายระเบียบของพหุภาคี

    ประเทศต่างๆ ในยุโรปรู้สึก วิตกกังวลอย่างยิ่ง เกี่ยวกับการดำรงตำแหน่งสมัยที่สองของทรัมป์ เพราะรับรู้ว่าภูมิภาคนี้อาจจะสูญเสียจำนวนมากในด้านความมั่นคงเช่นเดียวกับความร่วมมือทางเศรษฐกิจ

    “มีความกังวลอย่างแท้จริงว่าทรัมป์อาจกดดันพวกเขาในเรื่องภาษีศุลกากรกับจีนมากขึ้น และเป็นแรงฉุดรั้งอย่างมากต่อกลุ่ม G7 ซึ่งประเทศยุโรปจำนวนมากรู้สึกว่าเป็นเวทีที่ดีมากสำหรับความร่วมมือ ความร่วมมือในประเด็นทางเศรษฐกิจและความมั่นคง”

    “พวกเขากังวลว่าเราอาจจะเป็น G6 ไม่ใช่ G7″