ThaiPublica > Thaipublica Sustainability > ซีพี คุมเข้ม ‘ข้าวโพดเมียนมา’ ด้วย ‘ระบบสอบย้อนกลับ’ ตรวจพบ ‘ปลูกในป่าดั้งเดิม – จุดความร้อน’ ไม่รับซื้อ

ซีพี คุมเข้ม ‘ข้าวโพดเมียนมา’ ด้วย ‘ระบบสอบย้อนกลับ’ ตรวจพบ ‘ปลูกในป่าดั้งเดิม – จุดความร้อน’ ไม่รับซื้อ

4 พฤศจิกายน 2024


(ซ้ายไปขวา) นายทุน ชเว (Khun Tun Shwe) เกษตรกรเมียนมา, นายวรสิทธิ์ สิทธิวิชัย ประธานคณะผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการ ธุรกิจพืชครบวงจร เขตประเทศเมียนมา, นายฐิติ ลุจินตานนท์ ประธานคณะผู้บริหาร กลุ่มธุรกิจการค้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ เครือเจริญโภคภัณฑ์, นาย อู เอ ชาน อ่อง (U Aye Chan Aung) ประธานสมาคมอุตสาหกรรมข้าวโพดเมียนมา และ ดร.สดุดี สุพรรณไพ ประธานโครงการซีพีเพื่อความยั่งยืน

เครือเจริญโภคภัณฑ์ คิกออฟ ‘ระบบตรวจสอบย้อนกลับ’ กลุ่มข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ประเทศเมียนมา เริ่ม 24 ต.ค. 2567 ชู 2 เงื่อนไข (1) ไม่รับซื้อในพื้นที่ป่าดั้งเดิม และ (2) พื้นที่จุด hotspot และไม่เผา – หากพบผิดเงื่อนไข หักพื้นที่รับซื้อ 6.1 เอเคอร์ต่อ 1 จุดความร้อน และไม่รับซื้อหนึ่งฤดูเพาะปลูก – จับมือสมาคมอุตสาหกรรมข้าวโพดเมียนมา ชวนเกษตรกรรายย่อยปฏิบัติตาม

จากแรงต้านเรื่องการรับซื้อวัตถุดิบทางการเกษตรในพื้นที่ที่มีการ ‘เผา’ ต้นเหตุของปัญหาข้ามพรมแดน PM 2.5 ทำให้สังคมตั้งคำถาม และวิพากษ์วิจารณ์ถึงการดำเนินธุรกิจที่รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และ “เครือเจริญโภคภัณฑ์” จึงถูกพุ่งเป้ามาโดยตรง ในฐานะผู้รับซื้อ ‘ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์’

แม้เครือฯ จะประกาศนโยบายไม่รับซื้อ และไม่นำเข้าผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จากพื้นที่รุกป่า และพื้นที่ที่มาจากการเผา พร้อมพัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (Corn Traceability) ขึ้นมาใช้ในการจัดหาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในกิจการประเทศไทยตั้งแต่ปี 2559 และในปี 2567 เครือฯ ยืนยันว่า ระบบตรวจสอบย้อนกลับสามารถนำมาใช้ในประเทศไทยได้แล้ว 100% อย่างไรก็ตาม ประเด็นการเผายังถูกเชื่อมโยงไปถึงประเทศเมียนมา โดยเฉพาะในรัฐฉาน เนื่องจากเป็นอีกหนึ่งแหล่งจัดซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของเครือ ทำให้ในวันที่ 24 ตุลาคม 2567 เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) โดย เจริญโภคภัณฑ์โปรดิ๊วส (CPP) และ กรุงเทพโปรดิ๊วส (BKP) จัดงานแถลงข่าวเรื่องระบบตรวจสอบย้อนกลับ ณ กรุงย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา โดยเชิญพันพันธมิตรทั้งจากภาครัฐและเอกชนในเมียนมา

ในงานแถลงข่าวประกอบด้วยภาครัฐของไทย และภาคเอกชนทั้งไทยและเมียนมา ได้แก่ นายมงคล วิศิษฏ์สตัมภ์ เอกอัครราชทูตไทยประจำ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา, นายเอกวัตน์ ธนประสิทธิ์พัฒนา อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายการพาณิชย์) ประจำกรุงย่างกุ้ง, นายฐิติ ลุจินตานนท์ ประธานคณะผู้บริหาร กลุ่มธุรกิจการค้าวัตถุดิบอาหารสัตว์, นายวรสิทธิ์ สิทธิวิชัย ประธานคณะผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการ ธุรกิจพืชครบวงจร เขตประเทศเมียนมา, นายอู เอ ชาน อ่อง (U Aye Chan Aung) ประธานสมาคมอุตสาหกรรมข้าวโพดเมียนมา Myanmar corn industrial association (MCIA) พร้อมด้วยเกษตรกรชาวเมียนมาในหลายพื้นที่ อาทิ หน่องตะยา รัฐฉาน, มัณฑะเลย์ ฯลฯ

นายวรสิทธิ์ สิทธิวิชัย ประธานคณะผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการ ธุรกิจพืชครบวงจร เขตประเทศเมียนมา

กางข้อเท็จจริง ฝุ่นควันจากพืชเกษตรเพียง 10%

นายวรสิทธิ์ สิทธิวิชัย ประธานคณะผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการ ธุรกิจพืชครบวงจร เขตประเทศเมียนมา ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนถึงการรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยเริ่มจากกล่าวถึงสถานการณ์ของประเทศไทยว่า สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ “GISTDA” ได้ระบุที่มาของปัญหาฝุ่นควันภาคเหนือ พบว่าต้นตอของฝุ่นมาจากพื้นที่การเกษตรเพียง 10% เท่านั้น ขณะที่สาเหตุหลักมาจากพื้นที่ป่าไม้

เครือฯ จึงนำข้อมูลข้างต้นมาเทียบเคียงกับปัญหาและการเผาในเมียนมา พบว่า การเกิดจุดความร้อนมีรูปแบบเดียวกันกับประเทศไทยคือเกิดจากพื้นที่ป่าเป็นหลัก ส่วนพื้นที่การเกษตรก็อยู่ราว 10% เช่นกัน

นายวรสิทธิ์ ให้ข้อมูลว่า พืชการเกษตรอันดับ 1 ของประเทศเมียนมาคือ ข้าว ซึ่งมีพื้นที่เพาะปลูก 35 ล้านไร่ อันดับ 2 คือถั่ว ส่วนข้าวโพดเป็นอันดับ 3 มีพื้นที่เพาะปลูกกว่า 2 ล้านไร่ ผลผลิตราว 2.8 ล้านตันต่อปี และข้าวโพดเกือบ 80% ปลูกในพื้นที่รัฐฉาน โดยซีพีเป็นผู้รับซื้อข้าวโพดเมียนมาจำนวน 1 ใน 3 ของทั้งหมด

“สังคมยังมีข้อสงสัยอยู่ หลายคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจำแนกแล้วเป็นแบบนี้ แต่เราไม่ได้อยู่ในภาวะที่จะเอาข้อมูลไปตีแผ่ แต่เรารู้ว่าจะแก้ไขอย่างไร เพราะเราเกี่ยวพันกับข้าวโพด สัมผัสกับเกษตรกร…เป็นที่มาทำไมเราเป็นเจ้าภาพในการทำเรื่องนี้ เราต้องทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ข้าวโพดไม่ใช่พืชผู้ร้าย มันสำคัญมากผ่านการเลี้ยงสัตว์ แต่วิธีการทำต้องอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อม”

ตรวจ “ป่าดั้งเดิม-จุดความร้อน” ด้วยเทคโนโลยี

นายวรสิทธิ์ กล่าวถึงการนำเครื่องมือตรวจสอบย้อนกลับมาใช้ในเมียนมาว่า ระบบนี้ใช้เทคโนโลยีในการติดตามและตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งที่มาของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งบริษัทได้พัฒนาขึ้นเองตั้งแต่ปี 2566 ด้วยเทคโนโลยี Blockchain และแผนที่ภาพถ่ายรวมถึงเทคโนโลยีตรวจจับจุดความร้อนจากดาวเทียม เพื่อให้สามารถตรวจสอบข้อมูลทุกขั้นตอน ตั้งแต่การเพาะปลูกจนถึงการส่งออก ข้อมูลเหล่านี้ช่วยให้ผู้ซื้อสามารถมั่นใจได้ว่าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มาจากแหล่งที่มาที่ปลอดภัย

นายวรสิทธิ์ กล่าวต่อว่า ระบบจะแสดงแผนที่ดาวเทียมเป็นรายพื้นที่ ทำให้เห็นขอบเขตการเพาะปลูกข้าวโพด จากนั้นจะมีการตรวจสอบ 2 เกณฑ์

(1) พื้นที่ป่าดั้งเดิม โดย นายวรสิทธิ์ ขยายความเรื่องการตรวจสอบพื้นที่ป่าดั้งเดิมว่า เครือฯ ใช้ปี 2563 (ค.ศ.2020) เป็นปีฐานในการเปรียบเทียบ โดยอ้างอิงตามมาตรฐาน GEUDR 2020 หากพบว่าในพื้นที่ 1,000 ไร่ มีพื้นที่ที่เคยเป็นป่าดั้งเดิม 200 ไร่ พื้นที่สุทธิจะเหลือ 800 ไร่

(2) จุดความร้อน (hotspot) หากพบจุดความร้อน ตั้งแต่ระดับปานกลางถึงระดับสูง เครือฯ ก็จะตัดพื้นที่นั้นออก 6.1 เอเคอร์ต่อ 1 จุดความร้อน หรือประมาณ 15 ไร่ โดยคำนวณตามพื้นที่ถือครองเฉลี่ยของเกษตรกรในเมียนมาตามรายงานของ USAID

วิธีการตรวจสอบย้อนกลับ 6 ขั้นตอน ดังนี้

  1. ขึ้นทะเบียนคู่ค้าและวาดขอบเขตของแปลงเพาะปลูก
  2. ระบบพิกัดพื้นที่ปลูกข้าวโพดโดยใช้ภาพถ่ายดาวเทียม
  3. หักพื้นที่ขอบเขตป่าย้อนหลัง ตามเกณฑ์ข้อ (1)
  4. ติดตามจุดความร้อน โดยเฉพาะช่วงเดือนมกราคมถึงพฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงที่มีปัญหาฝุ่นควันกระทบไทยมากที่สุด
  5. หักพื้นที่เผาแปลงข้าวโพด ตามเกณฑ์ข้อ (2)
  6. ได้พื้นที่สุทธิด้วยการตรวจสอบย้อนกลับ

นายวรสิทธิ์ ย้ำว่า การแถลงความร่วมมือครั้งนี้ในโครงการยกระดับการตรวจสอบย้อนกลับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในเมียนมาฯ ได้รับการสนับสนุนจากหลายฝ่าย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และเกษตรกรในพื้นที่ โดเปิดให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมนี้ ถือเป็นรากฐานที่สำคัญในการเสริมสร้างความยั่งยืนและความน่าเชื่อถือในอุตสาหกรรมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของเมียนมา และเป็นแบบอย่างให้กับอุตสาหกรรมอื่นๆ ในอนาคต

ใช้สมาคมอุตสาหกรรมข้าวโพดเมียนมา ดึงรายย่อยปฏิบัติตาม

นายวรสิทธิ์ กล่าวต่อว่า ระบบตรวจสอบย้อนกลับจะนำมาใช้อย่างเป็นทางการวันที่ 24 ตุลาคม 2567 แต่เนื่องจากการรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากเกษตรกรส่วนใหญ่ไม่ได้เป็น Contract Farming จึงต้องอาศัยพันธมิตรอย่างสมาคมอุตสาหกรรมข้าวโพดเมียนมา หรือ MCIA รวมถึงพ่อค้าคนกลางที่รับซื้อให้ส่งสัญญาณให้เกษตรกรเมียนมาเข้าใจถึงความสำคัญของระบบนี้

ทั้งนี้ MCIA (จะทำหน้าที่สนับสนุนและผลักดันให้สมาชิกที่เป็นพ่อค้าผู้รวบรวมและผู้ส่งออกข้าวโพดเข้ามามีส่วนร่วมในระบบนี้ เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลการซื้อขายจากพ่อค้าและเกษตรกรเข้าสู่ระบบ

“มันเป็นกระบวนการการเปลี่ยนแปลงจากภาพใหญ่ไปภาพเล็ก เราจะมีเอกสารให้กับคนร่วมมือ ที่ส่งให้เขาประเมินให้คนที่มาร่วมใช้กับซีพี…ถึงกฎหมายจะทรงพลังกว่า แต่เมียนมาร์ต้องขับเคลื่อนด้วยภาคเอกชน ระบบตรวจสอบย้อนกลับเป็นเครื่องมือรองจากกฎหมาย”

“แม้เราจะรับซื้อแค่ 30% ของเมียนมา แต่เราจะช่วยขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม เครื่องมือนี้เหมาะสมกับสถานการณ์แบบนี้ มันจะช่วยเปลี่ยนแปลงและพัฒนาระบบให้ดีขึ้น”

เมื่อถามว่าการทำ Contract Farming ติดข้อจำกัดอย่างไร เพราะทำแล้วก็เป็นสัญญาให้เกษตรกรทำได้เกือบ 100% นายวรสิทธิ์ ตอบว่า รัฐฉานเป็นพื้นที่สุ่มเสี่ยง ทั้งสถานการณ์ความไม่สงบและชนกลุ่มน้อย ทำให้การรับซื้อส่วนใหญ่ไม่สามารถทำสัญญาได้ แต่เครือฯ ก็ได้ทำเกษตรพันธสัญญาร่วมกับเกษตรกรตามลุ่มแม่น้ำอิรวดี และมีการตรวจสอบอย่างเข้มข้น

“พื้นที่คอนแทรค เราส่งเสริมครบวงจรก็ต้องตรวจสอบย้อนกลับด้วย เราลงทุนให้ก่อน ให้ปุ๋ย ให้ยา สอนเทคนิคการปลูกและรับซื้อคืน ในกระบวนการผลิตเราเจาะน้ำไม่ให้ขาด มีการตั้งศูนย์ในพื้นที่เขตชลประทาน จังหวัดที่มีคอนแทรค เราบอกว่าห้ามเผา เจอปุ๊ปไม่ต้องทำกับผม แต่เราไม่ได้ประหารชีวิตเขา ถ้าเผา เว้นวรรคไปหนึ่งฤดู ให้ไปสำนึกผิด เขาก็จะคิดว่า ไม่น่าเลย” นายวรสิทธิ์ กล่าว

นาย อู เอ ชาน อ่อง (U Aye Chan Aung) ประธานสมาคมอุตสาหกรรมข้าวโพดเมียนมา หรือ MCIA

ด้าน นาย อู เอ ชาน อ่อง (U Aye Chan Aung) ประธานสมาคมอุตสาหกรรมข้าวโพดเมียนมา หรือ MCIA กล่าวว่า “เราเชื่อมั่นว่าการเปิดระบบนี้จะสร้างโอกาสที่ดีที่จะสามารถแสดงความโปร่งใสของแหล่งที่มาของข้าวโพดที่จัดหามาให้ผู้ซื้อได้อย่างชัดเจน และช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นในตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ MCIA พร้อมที่จะผลักดันให้สมาชิกของเราร่วมมืออย่างเต็มที่ในการสนับสนุนเกษตรกรให้เข้าร่วมระบบนี้”

นอกจากนี้ นายคุณทุน ชเว (Khun Tun Shwe) เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จากเมืองตองยี รัฐฉาน กล่าวว่า “การเข้าร่วมระบบนี้ไม่ซับซ้อนอย่างที่คิด บริษัทได้ให้คำแนะนำและเทคโนโลยีที่ช่วยให้เราสามารถเพาะปลูกได้ตามมาตรฐานที่ยั่งยืน อีกทั้งยังช่วยให้ชุมชนของเรามีรายได้ที่มั่นคงขึ้นเพราะมีตลาดที่ชัดเจนรองรับ”

3 แนวทาง หลังประกาศไม่รับซื้อพื้นที่เผา

ขณะที่ ดร.สดุดี สุพรรณไพ ประธานโครงการซีพีเพื่อความยั่งยืน ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวไทยพับลิก้าถึงทางเลือกของเกษตรกร เมื่อประกาศห้ามไม่รับซื้อข้าวโพดจากพื้นที่เผาว่า หลังจากที่ เครือฯ นำระบบตรวจสอบย้อนกลับมาใช้ จำเป็นต้องสร้างกระบวนการพัฒนาเกษตรกรให้มีเทคนิควิธีการทำเกษตรอย่างถูกต้อง หรือที่เรียกว่ามาตรฐานเกษตรยั่งยืน ตั้งแต่การเตรียมแปลงช่วงเริ่มต้น การบำรุงดิน รวมถึงแนวทางอื่นๆ ที่ทำควบคู่กันไป

ดร.สดุดี กล่าวถึงสามแนวทางที่นำมาใช้กับเกษตรกรเมียนมา ได้แก่

(1) การบริหารพื้นที่เพาะปลูกให้ต่อเนื่อง (Cover Crop) โดยหลังจากปลูกข้าวโพดต้องมีการบำรุงดิน จึงงเสนอให้ปลูกถั่วหรือพืชอื่นๆ ให้หญ้าและวัชพืชไม่ขึ้น เพื่อให้ไม่เผาก่อนเคลียร์แปลงปลูกข้าวโพดครั้งถัดไป

(2) การไถ เนื่องจากพื้นที่รัฐฉาน เมียนมา มีพรมแดนติดกับมณฑลยูนนาน ประเทศจีน ทำให้เกษตรกรสามารถใช้รถไถจากจีนได้ แต่การไถต้องเหมาะสม และไม่ทำลายหน้าดิน

(3) การนำเศษวัสดุไปใช้ประโยชน์จากข้าวโพดหรือเศษวัสดุการเกษตรอื่นๆ เช่น นำไปทำฟืน ฯลฯ

“เราจะไม่ปล่อยให้เกษตรกรว้าเหว่ เราทำให้เกษตรกรมีรูปแบบการเพาะปลูกให้ดีก่อน สำคัญมาก เวลาเราขายเมล็ด ขายพร้อมองค์ความรู้ที่เขาต้องปลูกอย่างเหมาะสมด้วย” ดร.สดุดี กล่าว

Control Union ทวนสอบระบบซีพี

ดร.สดุดี กล่าวต่อว่า ระบบตรวจสอบย้อนกลับได้รับการรับรองมาตรฐานจาก Control Union ซึ่งเป็นองค์กรระดับโลกด้านการตรวจสอบมาตรฐานความยั่งยืน โดย CPP และ BKP ได้รับการรับรองด้านการทวนสอบระบบตรวจสอบย้อนกลับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในเมียนมา แสดงถึงความโปร่งใสและความน่าเชื่อถือในห่วงโซ่อุปทานข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่สามารถตรวจสอบแหล่งที่มาได้ในทุกขั้นตอนของกระบวนการผลิต และพร้อมขยายการใช้ระบบนี้ให้ผู้ผลิต คู่ค้า ฯลฯ

“นโยบายด้านความยั่งยืน คือ การบริหารห่วงโซ่อุปทานอย่างรับผิดชอบ เราทำเรื่องนี้อย่างจริงจังและยอมไม่ได้ เรื่องนี้เป็นรากฐานที่เราทำมาหลายประเทศ เพราะเราครบวงจร ระบบของเรามีการทวนสอบตั้งแต่ต้นจนจบโดย Control Union ผมให้ความเชื่อมั่นกับผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ทุกภาคส่วน” ดร.สดุดี กล่าว

เมื่อถามว่า ผู้บริโภคปลายน้ำจะมั่นใจและตรวจสอบระบบนี้ด้วยตัวเองได้อย่างไร ดร.สดุดี ตอบว่า ข้อคิดเห็นหนึ่งจากกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (stakeholder) คือต้องการ QR Code เพื่อดูที่มาและกระบวนการของสินค้า แต่ปัจจุบันระบบตรวจสอบย้อนกลับในเมียนมาเป็นสเตปแรก คือต้องนำข้อมูลเกษตรกรและพื้นที่เพาะปลูกเข้ามาในระบบให้ได้ก่อน หลังจากนั้นจึงพัฒนาเรื่องอื่นๆ ตามมา

ดร.สดุดี กล่าวต่อว่า

“QR Code ที่สินค้าและตรวจสอบได้…ในเชิงสุดท้ายของกระบวนการทั้งหมด เราอยากให้เป็นแบบนั้น เพราะนอกจากแสดงแหล่งที่มา ยังแสดงผลต่างๆ เช่น คาร์บอน อยากให้ ทุกผลิตภัณฑ์ของเครือมีการทวนสอบย้อนกลับไปแหล่งผลิตและค่าต่างๆ”

นายมงคล วิศิษฏ์สตัมภ์ เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงย่างกุ้ง

ตอบรับยุทธศาสตร์ฟ้าใส แก้ปัญหาฝุ่นข้ามพรมแดน

นายมงคล วิศิษฏ์สตัมภ์ เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงย่างกุ้ง กล่าวว่า ความร่วมมือในโครงการยกระดับการตรวจสอบข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในเมียนมาถือเป็นก้าวสำคัญในการสนับสนุนยุทธศาสตร์ฟ้าใสของรัฐบาลไทย เพื่อแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนและ PM2.5 ที่เกิดจากการเผาป่า โดยการนำระบบตรวจสอบย้อนกลับมาใช้ถือเป็นการแสดงถึงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมของภาคเอกชน ช่วยส่งเสริมการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ในด้านการปกป้องระบบนิเวศบนบกและการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

“ความมุ่งมั่นนี้สอดคล้องกับความพยายามของรัฐบาลในการสร้างความยั่งยืนในภูมิภาคอีกด้วย สะท้อนถึงความตั้งใจในการสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับอุตสาหกรรมเกษตรและส่งเสริมความยั่งยืนในภูมิภาคอย่างแท้จริง” นางมงคล กล่าว

นายเอกวัตน์ ธนประสิทธิ์พัฒนา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าต่างประเทศ กรุงย่างกุ้ง กล่าวถึงความสำคัญของระบบตรวจสอบย้อนกลับในการเสริมสร้างความเชื่อมั่นทางการค้าระหว่างประเทศว่า “การเปิดระบบตรวจสอบย้อนกลับที่สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ จะช่วยให้ข้าวโพดจากเมียนมาได้รับการยอมรับมากขึ้นในตลาดโลก โดยเฉพาะในตลาดที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนและการผลิตที่โปร่งใส”