ThaiPublica > คอลัมน์ > ชาลส์ เจมส์ ริเวตต์ คาร์แนก : บรรพชนคนตรวจเงินแผ่นดิน… ผู้วางรากฐานของการตรวจบัญชีในสยาม

ชาลส์ เจมส์ ริเวตต์ คาร์แนก : บรรพชนคนตรวจเงินแผ่นดิน… ผู้วางรากฐานของการตรวจบัญชีในสยาม

14 ตุลาคม 2024


ดร.สุทธิ สุนทรานุรักษ์

การปฏิรูปการคลังในสมัยรัชกาลที่ห้า นับเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้ประเทศก้าวหน้าเข้าสู่ยุคใหม่ ของการบริหารจัดการเงินการคลังของแผ่นดิน

…หนึ่งในบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการปฏิรูปครั้งนี้คือ นายชาร์ลส์ เจมส์ ริเวตต์ คาร์แนค (Charles James Rivett Carnac) อดีตที่ปรึกษาทางการคลังของรัฐบาลสยาม และเป็นผู้วางรากฐานการตรวจสอบบัญชีให้สอดคล้องกับแนวทางสากล

นายชาร์ลส์ เจมส์ ริเวตต์ คาร์แนค (Charles James Rivett Carnac) อดีตที่ปรึกษาทางการคลังของรัฐบาลสยาม

นายคาร์แนกเริ่มต้นชีวิตการทำงานในแวดวงการคลังกับรัฐบาลบริติชอินเดีย (British India) โดยรับราชการให้รัฐบาลอังกฤษนานถึง 25 ปี

ระหว่างปี 2435-2440 คาร์แนกได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง Deputy Auditor General ในรัฐบาล British Burma

ช่วงเวลานั้น รัฐบาลสยามกำลังมองหาที่ปรึกษาการคลังจากต่างประเทศ จนกระทั่งทูตอังกฤษได้แนะนำให้รัฐบาลเชิญนายคาร์แนกมาเป็นที่ปรึกษาทางการคลัง

นายคาร์แนกนับเป็นหนึ่งในขุนพลหลักที่ช่วยปฏิรูปการคลังให้ทันสมัย ช่วยวางระเบียบแบบแผนการบริหารจัดการงบประมาณ การเงิน การคลังของประเทศ

ในปี 2441 นายคาร์แนกเดินทางมายังสยาม และได้รับโปรดเกล้าแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง Accountant and Comptroller General ของ “กรมตรวจสารบาญชี” รับเงินเดือนปีละ 2,200 ปอนด์ ซึ่งสมัยนั้นนับว่าสูงมาก (ยุคนั้น 1 ปอนด์มีค่าเท่ากับ 18 บาท)

สัญญาจ้างของเขาเริ่มต้นที่ 2 ปี โดยหน้าที่หลักของนายคาร์แนกคือ ควบคุมดูแลการตรวจสอบบัญชี งบประมาณ และการคลังทั้งหมดของประเทศ

นายคาร์แนกขึ้นชื่อเรื่องความเคร่งครัดและเข้มงวดในการตรวจสอบการขออนุมัติงบประมาณแผ่นดิน จนกระทั่งได้รับฉายาว่าเป็นบุคคลที่ unpopular” ในหมู่ข้าราชการ โดยเฉพาะในที่ประชุมเสนาบดีสภา

เขามักตัดงบประมาณที่ขอมาแบบไม่สมเหตุสมผล และตั้งคำถามอย่างละเอียดถึงการใช้จ่ายเงินของแผ่นดิน ด้วย “ความเขี้ยว” เช่นนี้ ทำให้การจัดการงบประมาณของประเทศมีความรัดกุมยิ่งขึ้น และสามารถป้องกันการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การปฏิรูปการคลังในครั้งนี้ เกิดขึ้นในช่วงที่กระทรวงพระคลังมหาสมบัติกำลังเร่งจัดระเบียบงานคลัง บัญชี งบประมาณ และการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งเป็นครั้งที่สามนับตั้งแต่ปี 2416-2418 และ 2433

ความสามารถของนายคาร์แนกในการจัดการและควบคุมการคลังของสยาม ทำให้ในหลวงรัชกาลที่ห้าทรงโปรดให้ต่อสัญญาจ้างจาก 2 ปีเป็น 5 ปี พร้อมเพิ่มเงินเดือนเป็น 3,000 ปอนด์ต่อปี

บทบาทสำคัญที่สุดของนายคาร์แนกคือ ที่ปรึกษาทางการคลัง (financial advisor) และวางรากฐานให้กับระบบการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินแผ่นดินของสยาม

แม้เขาจะไม่ได้เป็นที่ popular แต่ความตรงไปตรงมาของเขาได้ช่วยให้สยามสามารถปฏิรูปการคลังได้สำเร็จ โดยเขาริเริ่มให้คำแนะนำและข้อเสนอแนะที่สร้างสรรค์ในการจัดการเงินแผ่นดิน

คาร์แนกได้สร้างระบบการตรวจบัญชีให้เข้มแข็งและทันสมัย ซึ่งต่อมาระบบนี้ได้กลายเป็นพื้นฐานให้กับระบบการตรวจเงินแผ่นดินในปัจจุบัน

นอกจากการควบคุมงบประมาณและบัญชีแล้ว นายคาร์แนกยังเน้นเรื่องเตรียมบุคลากรใหม่ๆ สำหรับอนาคตของงานด้านการคลังและการตรวจเงินแผ่นดินด้วย

เขาให้คำแนะนำข้าราชการรุ่นใหม่ของสยาม ให้เข้าใจและปฏิบัติงานให้มีประสิทธิภาพ

… ความทุ่มเทหมั่นของนายคาร์แนกในการพัฒนาบุคลากร ทำให้ระบบการตรวจเงินแผ่นดินสยามเริ่มมีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้นในระยะยาว โดยเฉพาะรากฐานการตรวจสอบบัญชีเรื่อยมาจนถึงยุคของนายเอมิลิโอ ฟลอริโอ (Emilio Florio)

นายคาร์แนกเป็นชาวต่างชาติที่รักประเทศไทยอย่างแท้จริง และได้ทุ่มเททั้งแรงกายและสติปัญญาในการรับราชการอย่างต่อเนื่องกว่า 16 ปี จนกระทั่งปี 2457 เขาได้กราบบังคมทูลลาออกจากราชการ และได้รับบำนาญปีละ 12,000 บาท รวมทั้งได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุด ซึ่งเป็นเกียรติยศที่ยิ่งใหญ่สำหรับชาวต่างชาติ ที่ได้สร้างคุณูปการให้กับงานตรวจเงินแผ่นดินไทย

คาร์แนกไม่เพียงแต่เป็นผู้วางรากฐานของการตรวจเงินแผ่นดินในยุคสยามปฏิรูป แต่ยังเป็นผู้ที่สร้างมิติใหม่ให้กับการตรวจสอบในบทบาท advisory role ซึ่งสนับสนุนให้กรมตรวจแลสารบาญชี ทำหน้าที่ให้ข้อเสนอแนะที่สำคัญต่อรัฐบาลสยาม ในการดูแลและจัดการการใช้จ่ายเงินแผ่นดินให้ “คุ้มค่า”

คาร์แนกมีส่วนสำคัญ ในการขับเคลื่อนแนวคิดการบริหารการคลังและการตรวจสอบงบประมาณ ที่ยังคงมีอิทธิพลต่อระบบการตรวจเงินแผ่นดินของประเทศไทยจนถึงทุกวันนี้

…นับเป็น “บรรพชนคนตรวจเงินแผ่นดิน” อีกท่านที่ควรยดย่องและเชิดชู

ผู้สนใจโปรดอ่านประวัติชีวิตของนาย ซี. คาร์แนกเพิ่มเติมได้จากหนังสือเรื่อง “ประวัติและผลงานชาวต่างชาติในประเทศไทย เล่ม 3″ โดย พรพรรณ ทองตัน ที่ได้ค้นคว้าและเรียบเรียงไว้อย่างน่าอ่าน

นอกจากนี้ ยังมีวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของ I.G. Brown เรื่อง The Ministry of Finance and the early development of modern financial administration in Siam, 1885-1910 ที่กล่าวถึงการปฏิรูปการคลังสยามสมัยรัชกาลที่ห้า

หมายเหตุ : ภาพประกอบจากหนังสือ ประวัติและผลงานชาวต่างชาติในประเทศไทย เล่ม 3” โดย พรพรรณ ทองตัน
# ปี 2568: 150 ปีการตรวจเงินแผ่นดินไทย