สุนิสา กาญจนกุล รายงาน
นับวันการขนส่งทางเรือก็ยิ่งมีบทบาทสำคัญต่อการค้าระหว่างประเทศ เรือขนส่งสินค้าขยายตัวทั้งในแง่ขนาดและจำนวนอย่างรวดเร็วจนการขนส่งสินค้าทางเรือมีสัดส่วนราว 80 % ของการค้าโลก
เรือขนส่งสินค้าที่แล่นข้ามมหาสมุทรกันขวักไขว่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหลายทางอย่างคาดไม่ถึง ตั้งแต่ผลกระทบเชิงนิเวศวิทยาในวงกว้าง ไปจนถึงผลกระทบจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับเรือบรรทุกตู้บรรจุสินค้า
ปัญหาหนึ่งที่อาจดูไม่รุนแรงนักแต่ก็ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไม่น้อยเลย ได้แก่ปัญหาเรื่องตู้คอนเทนเนอร์ที่ตกสู่ทะเล แค่ช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา มีตู้คอนเทนเนอร์ร่วงหล่นจากเรือขนส่งและจมลงสู่ก้นทะเลไปมากกว่า 20,000 ตู้
นี่เป็นแค่ตัวเลขอย่างเป็นทางการ แต่ในความเป็นจริงแล้ว มีตู้คอนเทนเนอร์อีกมากมายที่ตกสู่ทะเลแต่บริษัทเจ้าของตู้คอนเทนเนอร์ไม่ได้แจ้งเหตุเนื่องจากไม่มีกฏหมายบังคับว่าต้องมีการรายงานเรื่องนี้ ว่ากันว่าตัวเลขที่แท้จริงรวมๆ กันแล้วอาจสูงถึงหนึ่งแสนตู้ก็เป็นได้
มีหลายอย่างที่อาจเกิดขึ้นได้กับตู้คอนเทนเนอร์ที่ตกสู่ทะเลและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและผู้เกี่ยวข้องในรูปแบบที่ต่างกัน ซึ่งเป็นประเด็นที่ควรได้รับความสนใจและหาทางป้องกันอย่างจริงจังมากกว่าในปัจจุบัน

ผลพวงจากการค้าระหว่างประเทศ
ปัจจุบัน การขนส่งสินค้าทางทะเลกลายเป็นกำลังสำคัญของการค้าระหว่างประเทศ การขนส่งสินค้าทางเรือมีสัดส่วนราว 80 % ของการค้าโลก เรือขนส่งตู้คอนเทนเนอร์จึงมีขนาดใหญ่ขึ้น มีจำนวนมากขึ้น และจำนวนเที่ยวขนส่งก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา
ทุกวันนี้ เรือขนส่งขนาดใหญ่บางลำมีความสูงเทียบเท่าตึกระฟ้า มีความยาวมากกว่าสนามฟุตบอลสามสนามเรียงต่อกัน ขณะที่เมื่อราวๆ 50 ปีก่อน ตอนที่อุตสาหกรรมขนส่งทางเรือเพิ่งเริ่มต้นขึ้น เรือแต่ละลำสามารถบรรทุกสินค้าได้ประมาณ 1ใน 10 ของเรือขนาดใหญ่ในปัจจุบันเท่านั้น
เมื่อปริมาณการขนส่งมากขึ้น เรือบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์มีขนาดใหญ่ขึ้น แน่นอนว่าความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหากับสินค้าที่ขนส่งก็ย่อมเพิ่มตามไปด้วย
ขนาดที่ใหญ่ขึ้นทำให้เรือมีความเสี่ยงสูงขึ้น เรือขนาดใหญ่ควบคุมยากกว่าและมีแนวโน้มที่จะโคลงเคลงมากกว่าเมื่อเผชิญกับคลื่นสูง ทำให้ตู้คอนเทนเนอร์บางตู้ได้รับความเสียหายและถูกบดเบียดจนเสียรูป ส่งผลให้กองตู้คอนเทนเนอร์ทลายลง จนบางตู้หล่นลงทะเล
อุบัติเหตุของเรือขนส่งตู้คอนเทนเนอร์มีตั้งแต่อุบัติเหตุขนาดใหญ่ เช่น เรือเผชิญหน้ากับพายุร้ายแรงจนจมลงสู่ก้นทะเลซึ่งทำให้ต้องสูญเสียสินค้าที่บรรจุอยู่ในตู้คอนเทนเนอร์หลายร้อยตู้มูลค่าหลายล้านเหรียญสหรัฐฯ ในอุบัติเหตุเพียงครั้งเดียว
หรืออาจเป็นอุบัติเหตุขนาดกลางที่ตู้คอนเทนเนอร์จำนวนมากพลัดหล่นลงทะเลพร้อมกัน ไปจนถึงอุบัติเหตุขนาดเล็กซึ่งตู้คอนเทนเนอร์เพียงหนึ่งหรือสองตู้ตกสู่ท้องทะเล
สาเหตุของการสูญเสียตู้คอนเทนเนอร์นั้นมีหลายประการ อาจจะเนื่องจากการแจ้งน้ำหนักไม่ถูกต้อง ความบกพร่องในการเชื่อมต่อตู้คอนเทนเนอร์ การจัดวางที่ไม่เหมาะสม ตู้คอนเทนเนอร์สภาพไม่ดี และสภาพอากาศที่รุนแรง
โดยในปัจจุบัน การรายงานเรื่องการสูญเสียตู้คอนเทนเนอร์ยังเป็นขั้นตอนที่ได้รับการผ่อนปรนและไม่มีกฎระเบียบระหว่างประเทศที่จะจัดการกับปัญหานี้อย่างเป็นระบบ
ผลกระทบยากจะประเมิน
การประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากกรณีตู้คอนเทนเนอร์ตกทะเลนั้นเป็นเรื่องซับซ้อน เนื่องจากยากที่จะคาดเดาว่าสิ่งของที่อยู่ในแต่ละตู้มีองค์ประกอบอะไรบ้างหากไม่มีเอกสารกำกับสินค้าที่ถูกต้องแม่นยำ ในเมื่อตู้คอนเทนเนอร์แต่ละตู้ล้วนบรรจุสินค้าที่แตกต่างกัน ผลกระทบทางนิเวศวิทยาที่เกิดขึ้นจึงแตกต่างกันไปด้วย
โดยเฉลี่ยแล้ว สินค้าที่อยู่ในตู้คอนเทนเนอร์ที่ขนส่งไปทั่วโลกนั้น จะเป็นสินค้าสำเร็จรูปประมาณ 40-50 % เช่น คอมพิวเตอร์ โทรทัศน์ เครื่องจักรอุตสาหกรรม วัสดุก่อสร้าง รถยนต์ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เฟอร์นิเจอร์ ของใช้ในบ้าน ของเด็กเล่น ฯลฯ
อีกราว 20-25 % คือวัตถุดิบซึ่งรวมถึงผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการแปรรูปแล้วด้วย ตัวอย่างเช่น ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร แร่ธาตุ สารเคมี ไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ ส่วนอีก 10-15 % โดยประมาณ คือสินค้าที่เน่าเสียง่าย อายุการเก็บรักษาสั้นและต้องการการจัดการพิเศษ เช่น ผลไม้และผักสด เนื้อสัตว์และอาหารทะเล ดอกไม้และพืช ยารักษาโรค ฯลฯ
ที่เหลืออีกราวๆ 15-20 % เป็นผลิตภัณฑ์ยิบย่อยหลากหลาย เช่นหนังสือ เครื่องสำอาง ฯลฯ ทั้งนี้ ประมาณ 40% ของสินค้าในตู้คอนเทนเนอร์ถือเป็นสินค้าอันตราย
เกิดอะไรขึ้นได้บ้าง
เมื่อตู้คอนเทนเนอร์ตกสู่ทะเล ตู้ที่มีน้ำหนักมากจะจมลงสู่พื้นมหาสมุทรกลายเป็นขยะใต้น้ำ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของพื้นทะเล รบกวนที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ สิ่งมีชีวิตใต้ทะเลที่เปราะบาง เช่น ปะการัง อาจถูกกดทับด้วยน้ำหนักของตู้คอนเทนเนอร์ สร้างความเสียหายให้แนวปะการังที่อาจใช้เวลาหลายร้อยปีในการก่อตัว
และเมื่อตู้คอนเทนเนอร์เกิดการผุกร่อนก็จะค่อยๆ ปล่อยมลพิษออกมาทีละน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าหากสิ่งที่บรรจุอยู่ในตู้คือเคมีภัณฑ์ มลพิษที่ปลดปล่อยออกมาอาจเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบทางเคมีของมหาสมุทรและก่อให้เกิดผลกระทบระยะยาวต่อระบบนิเวศทางทะเล สิ่งที่รั่วไหลออกมาอาจหมุนเวียนอยู่ในมหาสมุทรได้เป็นเวลาหลายทศวรรษหรือแม้กระทั่งหลายศตวรรษ

ที่มาภาพ: https://apnews.com/article/lost-shipping-containers-takeaways-oceans-06696432989ecc331743b7311053971d
ตู้คอนเทนเนอร์บางตู้อาจเปิดออกเพราะแรงกระแทก ขณะที่สินค้าบางส่วนอาจจมลงสู่ก้นทะเล แต่สินค้าที่น้ำหนักเบาจะกระจัดกระจายไปเป็นขยะชายฝั่งตามแรงพัดพาของคลื่น บางอย่างเก็บกวาดได้ง่าย แต่บางอย่างต้องสิ้นเปลืองทั้งเวลา แรงงาน และแรงเงินอย่างมากกว่าจะกำจัดได้ เช่น ปุยฝ้ายอุ้มน้ำ
บางตู้ที่มีน้ำหนักเบาจะล่องลอยอยู่กลางมหาสมุทรกลายเป็นมหันตภัยที่รอวันให้เรือโชคร้ายแล่นมาปะทะเฉี่ยวชน ซึ่งเป็นปัญหาหนักใจของทั้งชาวประมงและนักเดินเรือทั่วไป เนื่องจากตู้คอนเทนเนอร์ที่ร่อนเร่อยู่กลางทะเลสร้างความเสี่ยงภัยให้กับเรือขนาดเล็กได้เป็นอย่างมาก เช่น เรือยอชต์และเรือหาปลา เพราะตู้คอนเทนเนอร์มีขนาดที่ค่อนข้างเล็กทำให้สังเกตได้ยาก บางครั้งแม้แต่เรดาร์ก็ไม่สามารถตรวจจับได้ นอกจากนั้น มันยังกึ่งลอยกึ่งจม ทำให้เรืออาจพุ่งเข้าไปชนเพราะไม่ทันเห็น
ความพยายามที่จะแก้ปัญหา
อย่างไรก็ตาม หากจะกล่าวอย่างยุติธรรมแล้ว ฝ่ายผู้ดำเนินธุรกิจเรือขนส่งสินค้าเองไม่ได้นิ่งนอนใจกับปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะถึงแม้จะไม่คำนึงถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม การที่ตู้คอนเทนเนอร์ตกจากเรือนั้นคือความสูญเสียของผู้ประกอบการโดยตรง จึงมีความพยายามที่จะแก้ไขปัญหามาโดยตลอด
สภาการขนส่งทางทะเลโลก (World Shipping Council) ระบุว่า ตลอดระยะเวลา 16 ปีที่มีการเก็บสถิติ เฉลี่ยแล้วมีจำนวนตู้คอนเทนเนอร์ที่ตกจากเรือปีละ 1,480 ตู้ แต่ในระยะหลัง จำนวนตู้คอนเทนเนอร์ที่สูญหายในทะเล ลดปริมาณลงอย่างมาก โดยลดจาก 661 ตู้ ในปี 2022 เหลือเพียง 221 ตู้ ในปี 2023 จากจำนวนตู้คอนเทนเนอร์ที่มีการขนส่งทั้งหมด 250 ล้านตู้ จึงนับเป็นตัวเลขต่ำสุดนับตั้งแต่เริ่มมีการสำรวจในปี 2008 เป็นต้นมา
อย่างไรก็ตาม ตัวเลขดังกล่าวยังไม่ถูกต้องแม่นยำ เพราะขาดข้อมูลจากผู้ขนส่งหลายรายที่ไม่ได้เป็นสมาชิก เฉพาะในปี 2023 ปีเดียว มีตู้คอนเทนเนอร์ตกเรือใกล้ท่าเรือไต้หวันถึง 1,300 ตู้ ซึ่งไม่ได้รวมอยู่ในรายงานของสภา
คณะกรรมาธิการความปลอดภัยทางทะเลขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ขึ้นตรงกับสหประชาชาติเล็งเห็นปัญหาจากช่องโหว่นี้ จึงได้รับรองข้อกำหนดที่จะให้มีการรายงานการสูญหายของตู้คอนเทนเนอร์ โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2026 เป็นต้นไป
ภายใต้ข้อกำหนดดังกล่าว เรือขนส่งสินค้าที่ทำตู้คอนเทนเนอร์ตกทะเลมีหน้าที่ต้องรายงานต่อประเทศในพื้นที่ใกล้เคียงและต่อหน่วยงานของประเทศที่เรือลำนั้นจดทะเบียน แต่ในเมื่อไม่ได้มีการกำหนดบทลงโทษเอาไว้ จึงต้องรอดูผลลัพธ์กันต่อไป
อย่างไรก็ตาม ด้วยความพยายามของหลายฝ่าย ความเสี่ยงของนักเดินเรือและความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นผลจากตู้คอนเทนเนอร์ตกทะเลจึงน่าจะค่อยๆ ลดลงจากในอดีต แต่ความมุ่งมั่นที่จะป้องกันอุบัติเหตุตู้คอนเทนเนอร์ตกเรือก็ไม่ควรลดระดับลงจากเดิม
ควรมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อรักษาความปลอดภัยและกำหนดมาตรการการป้องกันอย่างเข้มงวด พร้อมทั้งเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดภัยซ่อนเร้นจากตู้คอนเทนเนอร์ตกทะเลที่เป็นอันตรายต่อทั้งสิ่งแวดล้อมและนักเดินเรือในน่านน้ำทั่วโลก
ข้อมูลอ้างอิง
https://apnews.com/article/lost-shipping-containers-takeaways-oceans-06696432989ecc331743b7311053971d
https://www.seasidesustainability.org/post/impacts-of-container-ship-disasters-in-a-surge-of-global-trade
https://www.maritimebell.com/wsc-annual-report-shows-record-low-of-containers-lost-at-sea
https://www.ship-technology.com/features/containers-lost-at-sea/
https://cubuscontainers.co.uk/2024/10/lost-shipping-containers-a-growing-threat-to-ocean-ecosystems/
https://www.containerlift.co.uk/news/when-shipping-containers-go-overboard-the-real-danger-beneath-the-waves/#:~:text=These%20floating%20containers%20are%20especially,to%20sunk%20vessels%2C%20injuries%2C%20or