อนาคตที่เราใฝ่ฝัน : การศึกษาที่ไม่ใช่ภาระ แต่เป็นสะพานสู่ความหวัง
ลองจินตนาการถึงอนาคตที่การศึกษาไม่ใช่ภาระที่เราต้องแบกรับด้วยความกังวล ไม่ต้องคอยคิดว่าค่าเทอมของลูกจะจ่ายไหวไหม หรือลูกของเราจะได้รับการศึกษาที่เหมาะสมหรือไม่ ในประเทศไทยที่เราฝันถึง การตัดสินใจมีลูกจะไม่ใช่เรื่องที่พ่อแม่ต้องเผชิญกับความกลัว แต่จะเต็มไปด้วยความหวังและความเชื่อมั่นว่า ลูกๆ ของเราจะได้เติบโตในสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนพวกเขาให้สามารถเติมเต็มศักยภาพของตัวเองได้อย่างเต็มที่
เราอยากเห็นประเทศที่การศึกษาไม่ใช่แค่ระบบที่เด็กทุกคนถูกบังคับให้มาเรียน แต่เป็นสะพานที่เชื่อมสู่อนาคตที่ดีกว่า เป็นสถานที่ที่ทุกครอบครัวมั่นใจได้ว่าพวกเขาจะสามารถมอบโอกาสที่ดีกว่าให้กับลูกๆ โดยไม่ต้องกังวลกับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นหรือคุณภาพการศึกษาที่ไม่แน่นอน
ในปัจจุบัน แม้ประเทศไทยจะมีนโยบาย “เรียนฟรี” แต่ในความเป็นจริง นโยบายนี้เป็นเพียง “เรียนฟรีทิพย์” ครอบครัวจำนวนมากยังคงต้องแบกรับค่าใช้จ่ายแฝง เช่น ค่าอุปกรณ์การเรียน ค่าชุดนักเรียน ค่าเดินทาง และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เพิ่มขึ้นทุกปี สิ่งเหล่านี้ทำให้การศึกษาไม่ได้เป็นสิทธิที่เข้าถึงได้สำหรับทุกครอบครัว โดยเฉพาะครอบครัวที่มีรายได้น้อย ยิ่งไปกว่านั้น ปัญหาเรื่องคุณภาพการศึกษายังเป็นอีกหนึ่งความท้าทาย โรงเรียนในชนบทหรือพื้นที่ขาดแคลนทรัพยากรอาจไม่สามารถมอบการศึกษาที่มีคุณภาพเทียบเท่ากับโรงเรียนในเมืองหรือโรงเรียนเอกชนได้ ครอบครัวที่มีฐานะดีก็สามารถหาทางให้ลูกเข้าเรียนในโรงเรียนที่มีชื่อเสียงและมีทรัพยากรเพียงพอได้ แต่ครอบครัวที่มีรายได้น้อยกลับต้องแบกรับค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมเพื่อให้ลูกได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ดีขึ้น เรื่องนี้สะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในระบบของเรา ซึ่งทำให้ครอบครัวที่มีรายได้น้อยเผชิญกับโอกาสที่จำกัดและเลือกทางเดินในชีวิตที่ยากขึ้น
ในปัจจุบัน ความฝันนี้ยังดูเหมือนห่างไกลสำหรับครอบครัวจำนวนมาก หลายครอบครัวเลือกที่จะไม่มีลูกไม่ใช่เพราะพวกเขาไม่ต้องการ แต่เพราะพวกเขากังวลว่าจะไม่สามารถมอบชีวิตที่ดีที่สุดให้กับลูกได้
ปัญหาที่ซับซ้อนและหลากหลายของอัตราการเกิดที่ลดลง
จากข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน (ภาพที่ 1) อัตราการเกิดในประเทศไทยลดลง อย่างต่อเนื่องในทุกกลุ่มรายได้ ซึ่งเป็นผลมาจากหลายปัจจัย ทั้งค่านิยมทางสังคมที่เปลี่ยนแปลง รูปแบบการใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่ที่ให้ความสำคัญกับความเป็นอิสระและความมั่นคงทางอาชีพ รวมถึงปัจจัยทางเศรษฐกิจที่ทำให้การมีลูกกลายเป็นภาระหนักสำหรับหลายครอบครัวการขาดความมั่นคงทางรายได้และความไม่แน่นอนในการจ้างงานทำให้คนลังเลที่จะสร้างครอบครัวขณะเดียวกัน ความคาดหวังเรื่องความสำเร็จในชีวิตและการงานก็ยิ่งเพิ่มความกดดัน หลายครอบครัวเลือกที่จะชะลอการมีลูก หรือแม้แต่เลือกที่จะไม่มีลูกเลย
ภาระทางการเงินที่มาพร้อมกับค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา
เมื่อพิจารณาลึกลงไป หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้หลายครอบครัวชะลอการมีลูกหรือเลือกที่จะไม่มี คือ ค่าใช้จ่ายในการศึกษาที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลการสุ่มสำรวจของนิด้าโพล ปี 2566 พบว่าร้อยละ 38 ของผู้ตอบแบบสอบถามที่ไม่อยากมีลูกให้เหตุผลว่าไม่อยากเพิ่มภาระค่าใช้จ่าย
ค่าใช้จ่ายทางการศึกษาโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นกว่า 12% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยค่าใช้จ่ายในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาเพิ่มขึ้นถึง 16% และ 17% ตามลำดับ ซึ่งสูงกว่าการเพิ่มขึ้นของดัชนีราคาผู้บริโภคโดยรวมที่เพิ่มขึ้นเพียง 10%1 สถานการณ์นี้ชี้ให้เห็นว่า ค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงกว่าค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันทั่วไป ทำให้หลายครอบครัวต้องเผชิญกับภาระทางการเงินที่หนักขึ้น ค่าใช้จ่ายการศึกษาข้างต้นนี้ยังไม่รวมถึงค่าเรียนพิเศษต่างๆ เช่น การพัฒนาทักษะด้านวิชาการ ภาษา ศิลปะ ดนตรี และกีฬา ที่ทำให้หลายครอบครัวต้องเผชิญกับภาระทางการเงินที่เพิ่มขึ้นในการเลี้ยงดูบุตร ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้หลายครอบครัวลดจำนวนการมีบุตรลง พฤติกรรมนี้สะท้อนถึงแนวคิดการให้ความสำคัญกับคุณภาพมากกว่าปริมาณในการเลี้ยงดูบุตร (quantity-quality trade-off) ครอบครัวจำนวนมากจึงเลือกที่จะมีลูกเพียงคนเดียวหรือสองคน เพื่อให้สามารถจัดสรรทรัพยากรที่จำเป็นสำหรับบุตรได้อย่างดีเพียงพอ บางครอบครัวอาจตัดสินใจเลื่อนการมีบุตรหรือเลือกที่จะไม่มีบุตรเลย ซึ่งสิ่งนี้กลายเป็นนข้อจำกัดในการตัดสินใจมีลูก ทั้งๆ ที่ทุกครอบครัวควรได้รับโอกาสในการสร้างครอบครัวในสังคมที่การศึกษาไม่ใช่อุปสรรคสำคัญ
ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา
ปัญหาดังกล่าวสะท้อนถึงความล้มเหลวของระบบการศึกษาถ้วนหน้าของไทย ซึ่งแม้ว่าจะมีการนำเสนอแนวคิดเรื่อง “การศึกษาถ้วนหน้า” แต่มาตรฐานและคุณภาพของการศึกษากลับยังคงไม่เท่าเทียมในแต่ละภูมิภาคของประเทศ โรงเรียนในเขตเมืองมักมีทรัพยากรเพียงพอ มีครูผู้สอนที่มีคุณภาพ และมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยกว่า ขณะที่โรงเรียนในพื้นที่ชนบทหรือห่างไกลกลับต้องเผชิญกับข้อจำกัดอย่างมาก ทั้งในด้านงบประมาณ การขาดแคลนครู และสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่ไม่เอื้อต่อการพัฒนาทักษะของนักเรียน
สิ่งนี้ส่งผลให้ครอบครัวในชนบทและครอบครัวที่มีรายได้น้อยต้องต่อสู้เพื่อให้ลูกของพวกเขาได้เข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ หลายครอบครัวต้องส่งลูกไปเรียนในโรงเรียนเอกชนที่มีค่าใช้จ่ายสูง หรือแม้แต่ย้ายถิ่นฐานเพื่อหาสถานศึกษาในเขตเมืองที่มีคุณภาพดีกว่า ซึ่งเป็นภาระที่หนักหน่วงสำหรับครอบครัวที่มีฐานะยากจน นอกจากนี้ การขาดนโยบายสนับสนุนและการลงทุนที่เพียงพอในการพัฒนาครูผู้สอน การฝึกอบรม และการพัฒนาโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล ทำให้ช่องว่างระหว่างคุณภาพการศึกษาในโรงเรียนแต่ละแห่งยิ่งขยายตัว ผลที่ตามมาคือ ระบบการศึกษาถ้วนหน้าของไทย ไม่สามารถส่งมอบคุณภาพการศึกษาที่เท่าเทียมกันให้กับเด็กทุกคนได้อย่างแท้จริง ความฝันของการศึกษาถ้วนหน้ากลายเป็นเพียงอุดมคติที่ไม่สามารถเป็นจริงได้ในสภาพแวดล้อมปัจจุบัน สุดท้าย ผู้ที่เข้าถึงการศึกษาที่ดีและมีคุณภาพที่สุดกลับเป็นเพียงครอบครัวที่มีฐานะดี ซึ่งสามารถหาทางให้ลูกเข้าเรียนในโรงเรียนที่มีคุณภาพสูง และสามารถสนับสนุนค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม เช่น ค่าเรียนพิเศษและการพัฒนาทักษะต่างๆ เพื่อให้ลูกของพวกเขามีโอกาสที่ดีกว่าในการแข่งขันในตลาดแรงงาน ในขณะที่ครอบครัวที่มีฐานะยากจนต้องเผชิญกับข้อจำกัดในทุกด้าน ทำให้การศึกษาที่เคยถูกวางไว้เป็นสิทธิพื้นฐานกลายเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยที่มีเพียงคนรวยเท่านั้นที่สามารถเข้าถึงได้ และทำให้ความเหลื่อมล้ำด้านโอกาส และความสามารถในการสร้างรายได้ในอนาคต ยิ่งเป็นปัญหาหนักขึ้นเรื่อยๆ


นอกจากนี้ ผลสอบ PISA ล่าสุดปี 2565 พบว่า นักเรียนไทยทำข้อสอบได้คะแนนเฉลี่ยต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศในกลุ่ม OECD ในทุกวิชา (ภาพที่ 3) ซึ่งชี้ให้เห็นถึงปัญหาด้านคุณภาพของการศึกษาไทยในภาพรวม ที่ยังไม่สามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก
ถอดบทเรียนจากสิงคโปร์ : ประเทศที่ประสบความสำเร็จด้านการศึกษา
ในขณะที่ประเทศไทยยังเผชิญกับความท้าทายด้านการศึกษา สิงคโปร์เป็นตัวอย่างที่ดีของประเทศที่ประสบความสำเร็จในด้านนี้ จากผลการสอบ PISA ล่าสุด สิงคโปร์ได้รับคะแนนสูงสุดในด้านคณิตศาสตร์ การอ่าน และวิทยาศาสตร์ สิ่งที่ทำให้สิงคโปร์ประสบความสำเร็จนั้นไม่ได้เกิดขึ้นเพียงชั่วข้ามคืน แต่เป็นผลจากการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์อย่างต่อเนื่อง โดยมีการพัฒนาครูผู้สอนให้มีคุณภาพ ส่งเสริมการเรียนการสอนที่ทันสมัย เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาดแรงงานในอนาคต และให้เด็กทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพโดยไม่ต้องคำนึงถึงฐานะของครอบครัว
จากการสัมภาษณ์ ร.ศ.พัก ที อึ้ง (Pak Tee Ng) จากสถาบันการศึกษาแห่งชาติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง หรือสถาบันฝึกอบรมครูที่มีชื่อเสียงที่สุดในสิงคโปร์ ของรายการ Global Focus (The Standard) มีใจความว่า รัฐบาลสิงคโปร์มองว่าการศึกษาคือ “การลงทุน” ไม่ใช่ “ค่าใช้จ่าย” แม้ในยามที่เศรษฐกิจไม่ดี สิงคโปร์ก็ยังคงลงทุนในด้านการศึกษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างอนาคตที่มั่นคงและแข่งขันได้ในเวทีโลก สิ่งสำคัญที่ทำให้สิงคโปร์ประสบความสำเร็จคือ การปรับปรุงระบบการศึกษาของตนเองให้ทันสมัยอยู่เสมอ สิงคโปร์ไม่ยึดติดกับวิธีการเดิมๆ แต่เน้นการเรียนรู้ที่มีคุณภาพและสามารถนำไปใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน พวกเขายังปลูกฝังให้การเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เป็นสิ่งที่สนุกสำหรับเด็กตั้งแต่วัยเยาว์ นอกจากนี้ การสอนหรือการเป็นคุณครูยังเป็นอาชีพที่ได้รับการเคารพยกย่องในสิงคโปร์ และมีค่าตอบแทนที่จูงใจ จึงสามารถคัดเลือกครูผู้มีความสามารถและความตั้งใจจริงให้มาเป็นครูได้ ยิ่งไปกว่านั้น
สิงคโปร์ยังให้ความสำคัญกับการสร้างการศึกษาที่มีคุณภาพสำหรับทุกคน ไม่ใช่การศึกษาที่มอบความเป็นเลิศให้เฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่า การศึกษาที่มีคุณภาพและเท่าเทียมกันสามารถเป็นเป้าหมายที่ทำได้จริง
การที่ประเทศเศรษฐกิจที่ประสบความสำเร็จเช่นสิงคโปร์ได้คะแนนสูงในการสอบ PISA พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าการมุ่งเน้นการศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาประเทศ จึงไม่แปลกที่ประเทศสิงคโปร์สามารถพัฒนาบุคลากรที่มีคุณภาพสูง แข่งขันได้ในเวทีโลก และนำพาเศรษฐกิจสิงคโปร์ก้าวไปข้างหน้าได้
ทางออกที่เราต้องการ
สำหรับประเทศไทย อุปสรรคด้านการศึกษาที่ส่งผลต่ออัตราการเกิดที่ต่ำยังนำไปสู่ปัญหาสังคมสูงวัย (aging society) ซึ่งสร้างความกดดันต่อระบบสวัสดิการและการดูแลผู้สูงอายุ และกลายเป็นตัวฉุดรั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศด้วย ปัญหานี้ไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของปัจเจกบุคคลหรือครอบครัวเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบในระดับชาติ การที่มีประชากรวัยทำงานลดลงทำให้แรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจลดลง ซึ่งส่งผลให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจเป็นไปได้ยากขึ้น นี่คือเหตุผลที่เราควรพูดถึงเรื่องนี้ เพราะมันไม่ใช่ปัญหาส่วนตัวของใครคนหนึ่ง แต่มันเป็นปัญหาที่ประเทศต้องร่วมมือกันแก้ไข
การแก้ไขปัญหาอัตราการเกิดต่ำและความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาในประเทศไทยไม่ใช่เรื่องง่าย การสร้างระบบการศึกษาที่เท่าเทียม ทั่วถึง และมีคุณภาพในราคาที่เข้าถึงได้นั้นจำเป็นอย่างยิ่งต่อการสร้างอนาคตที่ยั่งยืน แม้ว่าจะเป็นโจทย์ที่ใหญ่และซับซ้อน แต่หากไม่มีการดำเนินการ เราอาจต้องเผชิญกับผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมที่ยากจะแก้ไขในอนาคต
หากประเทศไทยต้องการแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง จำเป็นต้องดำเนินนโยบายที่มุ่งเน้นไปที่การลดภาระค่าใช้จ่ายในการศึกษา และสร้างโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง นโยบายเหล่านี้ควรมีความชัดเจนและเป็นรูปธรรม เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับครอบครัวในการตัดสินใจมีบุตรมากขึ้น เช่น ควรมีการสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมสำหรับครอบครัวที่มีรายได้น้อยผ่านการให้เงินอุดหนุนค่าเทอม เพื่อให้การศึกษาเป็นสิทธิที่เข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม รวมถึงการสร้างโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพในทุกภูมิภาคของประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล และการพัฒนาคุณภาพการสอนของครูให้ดีขึ้น จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและส่งเสริมการเติบโตของครอบครัว
การสร้างระบบสนับสนุนทางการศึกษาที่ทั่วถึงและมีคุณภาพนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องอาศัยความตั้งใจจริงจากทั้งรัฐบาลและสังคม เราต้องยอมรับว่าการทุ่มเทงบประมาณให้กับการศึกษาอาจต้องแลกมาด้วยการลดงบประมาณในด้านอื่นๆ แต่การสร้างระบบการศึกษาที่เท่าเทียมคือการลงทุนในอนาคตที่ยั่งยืนของประเทศ ในฐานะที่เราเป็นคนรุ่นใหม่ที่กำลังเติบโตในประเทศนี้ เราอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นจริง และเชื่อว่าการสร้างระบบการศึกษาที่มีคุณภาพสำหรับทุกคนไม่เพียงแต่จะส่งผลดีต่อครอบครัว แต่จะส่งผลต่อรากฐานความสุข ความเจริญ ความมั่นคง และความยั่งยืนของสังคมไทยในระยะยาว รัฐบาลและทุกภาคส่วนต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง หากเราต้องการสร้างสังคมที่เท่าเทียมและยั่งยืนในอนาคต
อ้างอิง
1. ที่มา : กองดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ (คำนวณโดยผู้เขียน)