วันที่ 13 กันยายน 2567 สำนักข่าวไทยพับลิก้าได้จัดงานเสวนาเนื่องในโอกาสดำเนินงานขึ้นสู่ปีที่ 14 ในหัวข้อ “Big Heart Big Impact สร้างโอกาสคนตัวเล็ก…Power of Partnership จับมือไว้ ไปด้วยกัน” โดยมีการแสดงปาฐกถาพิเศษจาก ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ในหัวข้อ “ท้องถิ่นที่สากล: อนาคตประเทศไทย Globally Competitive Localism: Future of Thailand” ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ในหัวข้อ “คนจนลดลง ภาพลวงตาของไทย ทางออกคือ? Move Forward, Just Do It” ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ในหัวข้อ “สร้างเศรษฐกิจฐานรากอย่างมีส่วนร่วม…Big Heart Big Impact” พร้อมกับเสวนา “Power of Partnership จับมือไว้ไปด้วยกัน” จากต้นแบบความสำเร็จการร่วมมือระหว่างองค์กรกับคนตัวเล็ก เพื่อพัฒนาต่อยอดและขับเคลื่อนพลังท้องถิ่น ให้สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ ต่อเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งและเติบโตอย่างมีศักยภาพ โดยคุณบวร วรรณศรีผู้จัดการรัฐกิจชุมชนสัมพันธ์ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (ลำปาง) จำกัด คุณชาญ อุทธิยะ อุปนายก สมาคมเพื่อการเรียนรู้ป่าชุมชนจังหวัดลำปาง คุณชยานนท์ ทรัพยากร ผู้จัดการฝ่ายวางแผนองค์กร บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด คุณอภิศักดิ์ แซ่หลี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลัลณ์ลลิล โบโอเทค จำกัด คุณสมชาย อาภรณ์พงษ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน สายงานพัฒนาธุรกิจผู้ประกอบการรายย่อย และ SMEs Startup คุณสุวภี อุ่มไกร (ดัมส์) รองประธานกล่มวิสาหกิจชมชนสวนบัวโฮมสเตย์ คุณประเสริฐ ปิ่นนาค พนักงานพัฒนาลูกค้า 8 ฝ่ายกิจการสาขาภาคเหนือตอนล่าง ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) คุณสิริกาญจน์ รุ่งแจ้ง วิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์วิถีพอเพียง 459 บ้านเต่าไหเหนือ และคุณมนัทพงศ์ เซ่งฮวด วิสาหกิจชุมชนกระจูดวรรณี และ รศ.ดร.พรพันธุ์ เขมคุณาศัย กลุ่มเลน้อยคราฟ
เสวนา “Power of Partnership จับมือไว้ไปด้วยกัน” เวทีแรกเป็นความร่วมมือระหว่างองค์กร SCG และคนตัวเล็ก โดยคุณบวร วรรณศรีผู้จัดการรัฐกิจชุมชนสัมพันธ์ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (ลำปาง) จำกัด และคุณชาญ อุทธิยะ ที่ปรึกษาสมาคมเพื่อการเรียนรู้ป่าชุมชนจังหวัดล้ำปาง

“เอสซีจี” กับสระพวงแก้ภัยแล้ง ฟื้นน้ำ สร้างชีวิต
“เครื่องมือหนึ่งที่เรามักจะใช้กันในอดีตคือ ‘การสงเคราะห์’ เพราะแก้ปัญหาได้ทันที เกิดความพึงพอใจและมีคนนิยมใช้เยอะ แต่การสงเคราะห์เป็นยาแรงและแรงมาก กินปุ๊ปหายปั๊ป คนที่ได้กินยาก็จะชอบ อยากได้เพิ่ม กลายเป็นติดยาแทน ความเข้มแข็งไม่ได้ฟื้นฟูร่างกาย และไม่ได้แก้ปัญหาที่ต้นทาง”
คำกล่าวข้างต้นของนายบวร วรรณศรี ผู้จัดการรัฐกิจชุมชนสัมพันธ์ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (ลำปาง) จำกัด ในฐานะ ‘คนตัวใหญ่’ ที่มองว่าการช่วยเหลือ ‘คนตัวเล็ก’ ต้องไม่ใช่การสงเคราะห์ แต่ต้องแก้ปัญหาให้ตรงจุด และแนวคิดนี้คือวิธีการของ SCG
นายบวรเล่าว่า งานแรกของตัวเองในการทำงานที่เอสซีจีคือคุมเหมืองเล็กๆ ในถิ่นทุรกันดารที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ โดยหลายสิบปีก่อนยังเข้าไม่ถึงระบบไฟฟ้า ทำให้มีโอกาสสัมผัสกับความทุกข์ยากลำบาก ทั้งตัวเองและชุมชน
“ผมไม่ใช่คนตัวใหญ่ และชุมชนไม่ใช่คนตัวเล็ก เราเท่ากัน ผมเชื่ออย่างนั้น เพราะชุดความรู้ที่ผมได้มาเกิดจากการทำงานกับชุมชน ชุมชนคือครูของผม”
นายบวรกล่าวต่อว่า เอสซีจีเข้าไปตั้งโรงงานซีเมนต์ในจังหวัดลำปาง ปี พ.ศ. 2546 และตนเอง ได้น้อมนำแนวพระราชดำริเรื่องฝายชะลอน้ำมาใช้ เพื่อแก้ปัญหาพื้นที่แห้งแล้งเป็นพื้นที่ชุ่มชื้น รวมถึงสนับสนุนการปลูกป่ารอบโรงงาน ที่สำคัญคือต้องฟื้นฟูป่าต้นน้ำร่วมกับชุมชน เพราะเมื่อชุมชนมีน้ำเท่ากับมีรายได้ และเป็นคำตอบให้ชุมชนว่า ‘ทำฝายแล้วได้อะไร’
นายบวรกล่าวต่อว่า ทุกการแก้ปัญหาต้องให้ชุมชนมีส่วนร่วม ตั้งแต่ร่วมคิด เพื่อค้นหาปัญหาตัวเอง ร่วมทำ เพื่อลงมือแก้ปัญหาด้วยตัวเอง เกิดเป็นผลประโยชน์ที่ทำให้ชุมชนแบ่งปันอย่างเป็นธรรม
นายบวรกล่าวต่อว่า ชุมชนส่วนใหญ่กว่า 80% เป็นครัวเรือนเกษตรกรที่อยู่นอกเขตชลประทาน มีปัญหาหลักคือเรื่อง ‘น้ำ’ ดังนั้น การแก้ปัญหาต้องแก้ที่น้ำ เพราะน้ำคือโอกาสที่สำคัญที่สุดที่เปลี่ยนชีวิตได้
ตัวอย่างคือ “โครงการสระพวงแก้ภัยแล้ง” อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง ซึ่งชุมชนทำเกษตรปราณีต โดยผลิตเมล็ดพันธุ์ผักส่งให้บริษัทใหญ่ในประเทศไทย สร้างรายได้ 1,200-6,000 บาทต่อกิโลกรัม แต่พอถึงฤดูแล้งชุมชนมีปัญหาขาดแคลนน้ำ ที่ผ่านมาชุมชนแก้ปัญหาโดยการขุดบ่อ 400 สระ แต่ไม่สามารถเก็บน้ำได้เพราะเป็นดินทราย
“เราไปแก้การจัดการน้ำ ตั้งแต่ชวนชุมชนให้เขาคิด หลังจากผ่านกระบวนการต่างๆ ชุมชนก็มีส่วนร่วมตั้งแต่เสียสละที่ดินเพื่อทำแหล่งน้ำเป็นส่วนรวม ชุมชนมากกว่า 1,800 คนเสียสละแรงงานร่วมกันทำ ไม่มีค่าจ้าง เราก็สนับสนุนวัสดุ อุปกรณ์ องค์ความรู้ให้ชุมชน ท้ายที่สุดได้ระบบสระพวงมาเพื่อให้มีน้ำตลอดทั้งปี”
นายบวรอธิบายว่า ระบบสระพวงคือแก้มลิงบนสันเขา สามารถดักน้ำหลากในฤดูฝนที่มีน้ำมากเกินไป เมื่อเต็มสระแม่ก็จ่ายไปสระลูกและสระหลานเป็นลำดับ จ่ายน้ำด้วยระบบท่อเป็น gravity ชุมชนสามารถลดค่าใช้จ่ายและจัดการน้ำ ทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำ และมีกำไรมากขึ้น ทั้งนี้ ปี 2567 ชุมชนมีสระพวงทั้งหมด 8 สระ โดยใช้เวลาทำ 5 ปี
“ระบบสระพวงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง คือพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยโป่ง 247 ไร่ ก่อนหน้านี้มีผู้ทำเกษตรเพียง 4 ครอบครัว รายได้ทั้งปีแค่ 320,000 บาท ที่เหลือปล่อยพื้นที่รกร้างว่างเปล่า หลังจากมีระบบน้ำทำให้มีผู้ทำเกษตร 64 ครอบครัว รายได้มากกว่า 7 ล้านบาท พิสูจน์ชัดว่าระบบน้ำทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงชีวิต”
นายบวรกล่าวต่อว่า เมื่อวัดด้วย SROI (social return on investment) พบว่าลงทุน 1 ได้มากกว่า 1.18 อีกทั้งระบบมีอายุไม่น้อยกว่า 10 ปี ฉะนั้นการลงทุนสระพวงถือว่า “คืนทุนทันที คุ้มที่จะทำ แต่ไม่เหมาะกับทุกพื้นที่ เหมาะกับเกษตรปราณีตที่ใช้น้ำน้อยและได้ผลผลิตมูลค่าสูง”
นอกจากนี้ นายบวรกล่าวต่อว่า อีกปัญหาของชุมชนในภูมิภาคเหนือตอนบนคือมะเร็งปอด ปอดอุดตัน หอบหืด ซึ่งมีสาเหตุจากฝุ่น หมอกควันไฟป่า และ PM2.5
เอสซีจีจึงร่วมมือกับสมาคมเพื่อการเรียนรู้ป่าชุมชนจังหวัดลำปาง ซึ่งมีสมาชิกทั้งหมด 408 หมู่บ้าน ป่าชุมชนกว่า 700,000 ไร่ และร่วมกันทำงาน 4 มิติ ได้แก่
- การอนุรักษ์ป่าอย่างยั่งยืน ฟื้นฟู ไม่ตัด บำรุงป่า สร้างป่าใหญ่ผืนกว้าง ดินดำ น้ำชุ่ม ส่งต่อให้ลูกหลาน
- แก้ปัญหาสุขภาพ ไม่เผา และใช้ป่าป็นตัวดักฝุ่น
- นิเวศบริการ นำส่วนเกินจากธรรมชาติมอบให้เรามาต่อยอดสร้างรายได้ให้ชุมชน ไม่ว่าจะเป็น อาหาร สมุนไพร พืช กระทั่งคาร์บอนเครดิต
- ยกระดับความรู้จากการทำงานจริง
“ปัจจุบันเราเริ่มแล้วที่บ้านสามขา อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง ทั้งหมด 12,000 ไร่ จากเงื่อนไขถ้าชุมชนดูแลป่า ไม่ตัดไม่เผาผ่านเกณฑ์ เราจะมีเงินสนับสนุนคืน 1,200,000 บาทต่อปี ไม่น้อยกว่า 10 ปี คือ 12 ล้าน และจัดอบรมให้ชุมชนสามารถตรวจวัดและประเมินคาร์บอนได้เอง ชาวบ้านวัดเอง มีรายได้เข้ามาอีก 360,000 บาท เมื่อครบระยะเวลา 10 ปีจะได้กองทุนคาร์บอนเครดิต 40%”
“ผมอาจพูดแต่เรื่องเงิน เงิน เงิน แต่เงินไม่ใช่เรื่องสำคัญ เงินคือปัจจัยเงื่อนไขสร้างกระบวนการเรียนรู้และเป็นเจ้าของการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน”
นายบวรกล่าวต่อว่า ปี 2568 จะขยายผลอีก 6 หมู่บ้าน โดยมีพันธมิตรคือตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เพื่อเปิดกว้างให้ทุกคนเข้ามาร่วมกันแก้ปัญหา
ท้ายที่สุด นายบวรย้ำว่า การแก้ปัญหาทั้งหมดจะไม่สำเร็จหากชุมชนไม่เข้มแข็ง ดังนั้น ต้องทำให้ชุมชนเข้มแข็งควบคู่กันไปผ่าน 4 องค์ประกอบสำคัญ คือ (1) มีผู้นำและผู้ตาม เพื่อไปสู่เป้าหมาย (2) ต้องมีการเก็บข้อมูลและสร้างองค์ความรู้ของชุมชน และจัดการอย่างมีคุณธรรมและเป็นธรรม (3) มีองค์กรภาคีเครือข่ายภายนอกเข้ามาหนุนเสริม เพราะชุมชนต้องการความรู้ที่เหนือกว่าศักยภาพของชุมชน (4) มีรายได้ที่หล่อเลี้ยงชีวิตและจิตวิญญาณ และยืนด้วยลำแข้งของตัวเอง
“ผมเชื่อว่าการเข้าถึงโอกาสของทุกคนไม่เท่าเทียมกัน แต่ทุกคนเกิดมาเท่ากัน ดังนั้น ถ้าทุกคนแก้ปัญหานี้ด้วยกัน เราต้องร่วมมือกัน เพราะเราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

ป่า-ธรรมชาติ ความร่วมมือที่ (ต้อง) มากกว่าพลังชุมชน
ขณะที่นายชาญ อุทธิยะ อุปนายกสมาคมเพื่อการเรียนรู้ป่าชุมชน จังหวัดลำปาง และเป็นปราชญ์ชาวบ้าน หนึ่งในทีมวิจัยทำให้ชุมชนเรียนรู้กระบวนการแก้ไขปัญหา เริ่มจากกล่าวบทกลอนว่า
น้ำน้อยร้อยสายกลายเป็นมหาสมุทร ความคิดเล็กของมนุษย์อาจยิ่งใหญ่
เป็นคัมภีร์ส่องนำทางที่กว้างไกล หากความคิดนั้นรับใช้มวลประชา
จงร่วมกันแสวงสร้างหาทางออก เป็นผู้บอกสัจธรรมอันล้ำค่า
ให้หลุดจากยากไร้ใช้ปัญญา ด้วยศรัทธาหลักซึ่งพึ่งตนเอง
หลังจบบทกลอน นายชาญให้ข้อมูลว่า จังหวัดลำปางมีป่าอันดับ 3 ของประเทศ และปัจจุบันป่าลำปางเหลือไม่ถึง 30% ส่วนใหญ่เป็นป่าเสื่อมโทรมที่ให้ประโยชน์กับชุมชนน้อย
นายชาญกล่าวต่อว่า ชุมชนต้องมุ่งเน้นการฟื้นฟูป่าและบรรเทาภัยป่า เพราะเป็นฐานทรัพยากรและต้นทุนชีวิต แต่แทนที่จะมุ่งเน้นการปลูกป่า ต้องพึ่งคนและศักยภาพของชุมชน ทำให้เจ้าบ้านมีความรู้ โดยกระตุ้นและปลุกพลังของเจ้าบ้านด้วยองค์ความรู้
“บทบทหน้าที่ในวันนี้คือเป็นคนปลุกผี ปลุกคนที่อยู่กับป่าและหากินกับป่า ให้ลุกขึ้นมาปกป้องพื้นที่อาหารของตัวเอง”
“การฟื้นป่ามีค่าตอบแทนสูง มันเป็นการลดความเหลื่อมล้ำที่ลงทุนน้อยที่สุด ป่าเป็นพื้นที่อาหารที่ทุกคนเข้าไปหาประโยชน์จากป่า เอาความรู้นำอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ทั้งคนจนที่อยู่กระต๊อบติดดินไปถึงผู้บริหาร อบต. เวลาเห็ดออก ทุกคนมีส่วนเข้าไปหาได้หมด ถ้าคุณหาอย่างชาญฉลาดและไม่ทำลาย ป่าชุมชนที่เจ้าบ้านมีอยู่เป็นพื้นที่อาหาร ถ้าพลิกฟื้นมันขึ้นมา จาก 30% มันจะถึง 50 หรือ 60% ป่าจะให้ประโยชน์มากกว่านี้หลายเท่า”
นอกจากนี้ นายชาญกล่าวต่อว่า การฟื้นฟูป่ายังช่วยแก้ปัญหาภัยธรรมชาติต่างๆ เช่น น้ำท่วม น้ำแล้ง และ PM2.5
นายชาญกล่าวต่อว่า ปัจจุบันมี 2 หน่วยงานที่ทำงานร่วมกันคือเอสซีจีและตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยนำความรู้คู่กับการปลุกพลังลุกขึ้นมาฟื้นฟูป่า ช่วยลดความเหลื่อมล้ำและความยากจน
“ฐานทรัพยากรวันนี้ไม่เหลือพอที่จะให้ชุมชนพลิกฟื้นด้วยตัวเขาเอง มันจำเป็นต้องมีหน่วยงาน เราก็รอว่าหน่วยงานอื่นๆ ที่จะช่วยกันพลิกฟื้นป่าที่ลำปาง…ไม่ได้คาดหวังการขายคาร์บอน หรือการมีเงินลงไปสนับสนุน แต่คาดหวังว่าวันหนึ่ง PM2.5 จะต้องหมดไปจากจังหวัดลำปาง คนลำปางรุ่นต่อๆ ไปจะได้มีสุขภาพดี ไม่ใช่เป็นอันดับ 1 ของการเกิดโรคมะเร็งอย่างทุกวันนี้”
“ภาระที่กำลังแบกอยู่หนักหน่วงสำหรับคนอายุจะ 70 พวกเรามาช่วยกันเอาโจทย์-ภาระนี้ไปใช้ร่วมกัน ไม่จำเป็นต้องทำที่ลำปาง อยู่ตรงไหน ทำตรงนั้น บนพื้นฐานทรัพยากรที่ท่านมี คนละไม้คนละมือ และจะสามารถพลิกฟื้นประเทศไทยให้มั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืนอย่างที่คาดหวังได้”