ข่าวประชาสัมพันธ์

ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ ประธานคณะผู้บริหาร ด้านความยั่งยืนองค์กรและการพัฒนากลยุทธ์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่าในยุคสมัยที่โลกกำลังเผชิญกับวิกฤตการณ์ขาดแคลนทรัพยากรและความเสี่ยงจากความขัดแย้งที่อาจทวีความรุนแรงไปสู่การแย่งชิงทรัพยากรน้ำ แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงจึงมีความสำคัญต่อการนำมาประยุกต์ในการดำเนินชีวิต เพื่อรับมือการความเปลี่ยนแปลงที่ท้าทายของโลก
เศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาที่ทุกคนสามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะใด ยากจน ร่ำรวย หรือมีฐานะปานกลาง คนในเมืองหรือชนบท รวมถึงผู้บริหารระดับสูงของประเทศ หลักการพื้นฐานของเศรษฐกิจพอเพียงคือการดำเนินชีวิตโดยยึดหลักทางสายกลาง ไม่มากเกินไป ไม่น้อยเกินไป ใช้ทรัพยากรอย่างเหมาะสมกับฐานะของตนเอง โดยไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงทั้งกับตนเองและผู้อื่น
การใช้แนวทางเศรษฐกิจพอเพียงเป็นการบริหารความเสี่ยงที่ก้าวทันโลก การลงทุนเพื่ออนาคตเป็นสิ่งจำเป็น แต่ควรทำอย่างพอประมาณและมีเหตุผล โดยต้องรู้จักประเมินความเสี่ยงอย่างสม่ำเสมอเพื่อตัดสินใจอย่างถูกต้องและรอบคอบ ทำให้สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านวัตถุ สังคมและวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม การเมือง และกฎระเบียบโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ
หลักการประมาณตนเป็นหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจพอเพียง ความพอประมาณไม่ใช่ความตระหนี่ แต่เป็นการรู้จักใช้ทรัพยากรอย่างเหมาะสม เศรษฐกิจพอเพียงจึงเป็นการจัดการความเสี่ยงอย่างมีสติ สร้างภูมิคุ้มกันให้กับตนเองและสังคม เหมือนกับการที่ฝรั่งทำการศึกษาความเป็นไปได้ (feasibility study) ในการดำเนินโครงการต่าง ๆ
ในภาคอุตสาหกรรม แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีมาตรฐานอุตสาหกรรม มอก.9999 (TIS 9999) ที่ประกาศใช้ตั้งแต่ปี 2556 ซึ่งหลายองค์กรนำไปใช้ในการดำเนินธุรกิจ สร้างมาตรฐานระดับโลกที่เน้นการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน
ในปี 2570 ซึ่งเป็นวาระครบรอบ 100 ปีพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และเป็นปีที่มีการประเมินผลเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) การขยายผลเศรษฐกิจพอเพียงไปสู่ระดับสากลจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อให้แนวคิดนี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาที่ยั่งยืนทั่วโลก