ThaiPublica > เกาะกระแส > สมาคมเศรษฐศาสตร์ระดมนักเศรษฐศาสตร์หาทางออกประเทศไทย : ต้องไม่ทำเหมือนเดิม

สมาคมเศรษฐศาสตร์ระดมนักเศรษฐศาสตร์หาทางออกประเทศไทย : ต้องไม่ทำเหมือนเดิม

30 มิถุนายน 2024


สมาคมเศรษฐศาสตร์แห่งประเทศไทย ชี้วิกฤติโครงสร้างประเทศ น่าห่วง นโยบายการเมืองไม่ต่อเนื่องมุ่งนโยบายระยะสั้น ขณะที่เสถียรภาพการคลังประเทศสั่นคลอน นโยบายการเงินตรึงตัว แนะปรับโครงสร้างเศรษฐกิจครั้งใหญ่

เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2567 สมาคมเศรษฐศาสตร์แห่งประเทศไทย มีการจัดงานเสวนาเรื่อง “การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจไทย เพื่อเพิ่มอัตราการเติบโตอย่างยั่งยืน”

เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2567 สมาคมเศรษฐศาสตร์แห่งประเทศไทย มีการจัดงานเสวนาเรื่อง “การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจไทย เพื่อเพิ่มอัตราการเติบโตอย่างยั่งยืน” โดย ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร ในฐานะนายกสมาคมเศรษฐศาสตร์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงวัตถุประสงค์การจัดงานว่า เป็นที่ทราบกันดีว่า ประเทศไทยติดกับดักรายได้ปานกลางอย่างน้อยประมาณ 15 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะในช่วงทศวรรษหลัง ที่มีปัญหาอัตราการเติบโตของประเทศไทยตกต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนยกเว้น พม่า

“โดยสิ่งที่น่ากังวลคือ รัฐบาลในช่วงหลังเน้นนโยบายกระตุ้นระยะสั้น และเน้นกลุ่มผลประโยชน์บางกลุ่มที่คิดว่าน่าเสียดายมาก สมาคมเศรษฐศาสตร์จึงมีความห่วงกังวลในเรื่องนี้ จึงต้องการริเริ่มกระบวนการแสวงหาความรู้จากนักเศรษศาสตร์ นักวิชาการ ราชการ ภาคธุรกิจเพื่อร่วมกันวิเคราะห์ปัญหา สาเหตุที่ทำให้ประเทศไทยติดกับดัก โดยเฉพาะทางด้านโครงสร้างเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และโครงสร้างสถาบัน กฎกติกา องค์กร ความร่วมมือ เพื่อหาทางออกให้กับสังคมจึงระดมนักเศรษฐศาสตร์ 3 รุ่นทั้งรุ่นอาวุโส รุ่นกลาง รุ่นใหม่ เพื่อช่วยกันหาทางออก”

“ณรงค์ชัย อัครเศรณี” ประเทศไทยต้องทำ 4R

สำหรับในการเสวนาหัวข้อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจมหภาคนั้น ผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการด้านเศรษฐกิจมหภาคได้ให้มุมมองเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจที่น่าสนใจ ดังนี้

ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานบริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) และอดีต รมว.กระทรวงพลังงาน กล่าวปาฐกถาในช่วงเปิดการเสวนาฯ ว่า อัตราการเจริญเติบโตของไทยในยุคต่างๆ ก่อนหน้าปี 1960 จอมพล ป. มีบทบาทมากที่สุด ซึ่งตอนนั้นหลวงวิจิตรวาทการดูแลเศรษฐกิจซึ่งส่วนใหญ่สินค้าและบริการเป็นรัฐวิสาหกิจ และมีอัตราการเจริญเติบโต พอถึงปี ค.ศ. 1960-1980 มีนายกรัฐมนตรีหลายคนและเริ่มเห็นอัตราการเจริญเติบโตของประเทศ ที่สะท้อนนโยบายโดยไม่ทำรัฐวิสาหกิจในสินค้าและบริการ แต่เน้นให้รัฐวิสาหกิจบริการในส่วนที่เป็นการบริการสาธารณะ โดยการใช้วิธียืมเงินจากต่างประเทศเพื่อมาลงทุน กู้ธนาคารโลกทำถนนพระราม 2 ทำเขื่อนเจ้าพระยา ซึ่งขณะนั้นมีอัตราการเติบโตประมาณ 5-10%

ขณะที่ ค.ศ. 1981-1993 ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์สำคัญหลายคนเริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ซึ่งเป็นช่วง 3 นายกรัฐมนตรีคือ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์, พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ และนายอานันท์ ปันยารชุน โดยในช่วงนั้นอัตราการเจริญเติบโตของประเทศ 5-13% ซึ่งเน้นการลงทุน เช่น อีสเทิร์นซีบอร์ด และ ปตท. เริ่มการลงทุนก๊าซธรรมชาติ และมีการปรับอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อความเหมาะสมกับตลาด มีการลงทุนอุตสาหกรรมรถยนต์จากญี่ปุ่น และให้เอกชนเปิดการลงทุนเรื่องโทรศัพท์ นอกจากนี้ ก็มีการพัฒนาตลาดทุน

ในช่วงต่อมาคือ ค.ศ.1994-1996 ซึ่งมีอัตราการเจริญเติบโตสูงขึ้นและเริ่มตกลง โดยเป็นช่วงรัฐบาลชวน 1 (ชวน หลีกภัย) และรัฐบาลบรรหาร ศิลปอาชา ในช่วงนี้ยังมีเงินทุนไหลเข้ามาจำนวนมาก จนในช่วงยุคของรัฐบาลบรรหารตอนปลาย ปี 1997 อัตราการเจริญเติบโตของประเทศ เริ่มตกลงมา และในปี 1998-2000 รัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เกิดปัญหางิกฤติการเงิน ทำให้อัตราการเจริญเติบโตติดลบ จนรัฐบาลชวน 2 ซึ่งมีการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และโครงการที่มีประโยชน์มากคือ มิยาซาวา 2.6 หมื่นล้านเข้ามาช่วยคนและ ธุรกิจที่มีปัญหาให้ฟื้นขึ้นมา

ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานบริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) และอดีต รมว.กระทรวงพลังงาน

ส่วนปี 2001-2005 รัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร เห็นว่าเศรษฐกิจไทยต้องปรับโครงสร้างการเปลี่ยนแปลงการแข่งขันมีการทำเรื่อง digital economy, creative economy และในปี 2006-2011 เกิดวิกฤติการเมือง ทำให้อัตราการขยายตัวต่ำกว่า 5% ติดต่อกันมากกว่า 5 ปี แต่ได้ลงทุนสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อผลักดันเรื่องการท่องเที่ยวและบริการ

ขณะที่ปี 2012-2014 เป็นช่วงรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่มีปัญหาน้ำท่วมใหญ่และมีการเสนอลงทุนน้ำประมาณ 2 แสนล้านบาท และการขนส่งเรื่องรถไฟความเร็วสูง แต่โครงการทั้ง 2 โครงการไม่เกิดขึ้น และในช่วงรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ไม่ได้ทำต่อ

ในปี 2015-2019 ช่วงนี้มีปัญหาอัตราการเติบโตต่ำ โดยพยายามสร้างเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ขึ้นมา แต่ยังไม่ความคืบหน้า

ปี 2020-2024 เป็นช่วงที่อัตราการเจริญเติบโตติดลบ เพราะว่ามีการระบาดโควิด-19 มีโครงการใหญ่เริ่มระหว่างทางแล้วทำไม่เสร็จ เช่น ถนนบางปะอิน-โคราช สถานีรถไฟบางซื่อเสร็จแต่ไม่มีคนใช้และรถไฟฟ้าสายสีส้มยังไม่เสร็จสมบูรณ์

อย่างไรก็ตาม ดร.ณรงค์ชัยกล่าวว่า อยากให้รัฐบาลทำเรื่อง EEC ต่อไปเพราะที่ผ่านมาได้ทำไปมากแล้ว ต้องทำต่อให้เสร็จ โดยเฉพาะเรื่องสำคัญที่สุด คือ โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ซึ่งเป็นสนามบินที่อเมริกามาสร้างไว้ตั้งแต่สมัยสงครามเวียดนาม เป็นสนามบินที่แข็งแรงมาก พัฒนาต่อได้ไม่ยาก และตอนนี้มีเครื่องบินบินอยู่จำนวนมาก

“ถ้าทำเป็นศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน สำหรับสายการบินทำเป็นสนามบินเชิงพาณิชย์ได้หมดเลย ทำเป็นเมืองการบินได้อย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องลงทุนมาก ส่วนจะเป็นกาสิโนด้วยหรือไม่ก็แล้วแต่ เขาทำงานไปเยอะมากเรื่อง EEC ต้องชมทีมงานที่ทำไว้ในสมัยนั้น”

ส่วนเรื่องเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ digital economy ต้องทำต่อ แต่ต้องพยายามลดค่าโทรศัพท์และค่าอินเทอร์เน็ตลงมา เช่นเดียวกับเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์หรือ creative economy ต้องกลับมา หลังจากนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ริเริ่มเรื่องนี้ไว้ตั้งแต่ปี 2002-2003 นอกจากนี้ต้องลงทุนเรื่องระบบน้

ส่วนลงทุนระบบการขนส่งหลายรูปแบบ (multi-model transportation system) โดยเฉพาะเพื่อเชื่อมโยงพื้นที่ EEC ระเบียงเศรษฐกิจต่างๆ หรือ corridor economy ซึ่งพยายามจะทำในเรื่องของภาคอีสาน เพราะเชื่อมแม่น้ำโขง 5 สะพาน มีทางรถไฟไปจีนและเชื่อมไปจีน ซึ่งสำคัญมาก จะเป็นซูเปอร์คอนเนกติวิตี เพราะเราต้องสร้างเอเชียใหม่ ซึ่งประกอบด้วย จีน อินเดีย และอาเซียน เพื่อเป็นแรงสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

ดร.ณรงค์ชัยกล่าวต่อว่า สิ่งที่ประเทศไทยจะต้องทำ คือ 4R ประกอบด้วย relief ช่วยเหลือเฉพาะคนที่จำเป็นต้องช่วย ไม่ใช่แจก 1 หมื่นบาททุกคน มันไม่สมเหตุสมผลใดๆเลย

อันที่สอง recover แบบมิยาซาวาเป็นสิ่งจำเป็น เพราะตอนนี้ธุรกิจขนาดเล็กลำบากมาก จำเป็นต้องทำแบบมิยาซาวา หรือคล้ายๆ กับตอนที่เกิดโควิด ส่วนธุรกิจขนาดใหญ่ไม่ต้องสนใจ ดอกเบี้ยเขาต่ำ เขาสามารถอยู่ได้

อันที่สาม restructure ตัวที่สำคัญที่สุด อันที่สี่ต้องมี reform โดยเฉพาะเรื่องกฎระเบียบ ซึ่งมีความเชื่อว่า กฎระเบียบที่ต้องทำอย่างเร็วในแง่นโยบายการลงทุนภาครัฐ คือ ปฏิรูประบบจัดซื้อจัดจ้าง ถ้าปฏิรูประบบจัดซื้อจัดจ้างได้ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ประธานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

“ศุภวุฒิ สายเชื้อ” ต้องไม่ทำเหมือนเดิม

ส่วนในช่วงการเสวนา ปัญหาการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยใน 20 ปีที่ผ่านมา และนโยบายการเงินที่ควรพิจารณาใหม่ ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ประธานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ กล่าวว่า “อยากเล่าประสบการณ์จากการทำงานด้านเศรษฐศาสตร์ในภาคสนามมา 30 ปี โดยขอมองย้อนหลังถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงต้นศตวรรษ ว่ามีโครงสร้างของแรงขับเคลื่อนอย่างไร เพื่อเป็นบทเรียนการพลิกฟื้นประเทศในช่วงหลังโควิด เพราะการพลิกฟื้นไปได้อย่างน่าผิดหวัง โดยจะกล่าวถึงเศรษฐกิจมหภาคมากกว่าเรื่องของอุปทาน และโครงสร้างต่างๆ

หากเรามองกลับไปดูเศรษฐกิจไทยในช่วงปี 2005 ซึ่งเป็นช่วงได้พลิกฟื้นมาจากวิกฤติต้มยำกุ้งผ่านมากว่า 5 ปี เศรษฐกิจไทยขับเคลื่อนโดยการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด แต่มีอัตราการเติบโตที่ช้าลงเมื่อเทียบกับหลังวิกฤติต้มยำกุ้ง ขณะเดียวกัน การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่องดังกล่าว ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องเข้าไปแทรกแซง เพื่อพยายามทำให้ค่าเงินบาทไม่แข็งค่า

หากแบ่งช่วงอัตราการเติบโตช่วงแรกในปี 2005-2011 ช่วงนั้นเศรษฐกิจไทยเริ่มโตช้าลง จีดีพีเฉลี่ย 3.4% ต่อปี โดยมีปัจจัยต่างๆ ที่มีผลลบต่อประเทศไทย เช่น วิกฤติซับไพรม์ปี 2008-2009 ส่วนประเทศไทยมีปัญหาการเมืองและน้ำท่วมใหญ่ แต่ถ้าไปดูตัวเลขในช่วงนั้น จะเห็นว่าเราขับเคลื่อนโดยการขยายตัวของการส่งออกสินค้า ซึ่งขยายตัวเฉลี่ย 13.2% ต่อปี

จะเห็นได้ว่า การขยายตัวของการส่งออกโตมากกว่าเศรษฐกิจ 3 เท่าตัว และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลประมาณ 2.5% ต่อปี ตอนนั้นเศรษฐกิจยังเป็นภาพค่อนข้างปกติ เพราะเรายังมีเงินทุนไหลเข้ามาสิทธิเฉลี่ยปีละ 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่จะสังเกตได้ว่า เราเกินดุลชำระเงินตลอดเวลา 7,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี และเกินดุลอย่างต่อเนื่อง

“ทั้งนี้ การเกินดุลได้แปลว่าแบงก์ชาติต้องเข้ามาไปแทรกแซง เข้าไปซื้อเงินดอลลาร์ และขายเงินบาทออกมา ทำให้ทุนสำรองของแบงก์ชาติเพิ่มขึ้นไปจาก 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2005 มาเป็น 175,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2011 เพราะฉะนั้น ช่วงนั้นแบงก์ชาติต้องพยายามทำให้เงินบาทไม่แข็ง”

“ผมให้ความสำคัญนโยบายการเงินค่อนข้างมาก ในยุคที่เรามีอัตราแลกเปลี่ยนยืดหยุ่น สำหรับประเทศเล็กที่เปิดให้การเงินทุนไหลเข้าไหลออกได้โดยเสรี นโยบายการเงินจะมีศักยภาพสูงกว่านโยบายการคลังอย่างมาก ซึ่งในความเห็นผมน่าจะทำให้เศรษฐกิจสมดุลได้มากกว่านี้”

ในช่วงปี 2012-2016 แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวเฉลี่ย 3.5% ต่อปี เมื่อดูผิวเผินแล้วไม่ได้เปลี่ยนแปลงไป แต่มีสิ่งที่แตกต่างกัน คือ การส่งออกสินค้าไม่ขยายตัว แต่การท่องเที่ยวขยายตัวอย่างมาก และในปี 2012 ปีแรกที่ประเทศไทยมีการเกินดุลบริการ มาจากการท่องเที่ยวที่บูมอย่างมาก

จนกระทั่งในปี 2016 ประเทศไทยมีการเกินดุลบริการสูงถึง 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเกือบ 10% ของการส่งออกทั้งหมด และปีนั้นมีความสำคัญอย่างหนึ่ง คือเราเริ่มเห็นเงินทุนไหลออกเฉลี่ยปีละ 8,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ขณะที่แบงก์ชาติยังต้องเข้ามาไปแทรกแซง เพราะมีการเกินดุลเฉลี่ยปีละ 3,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยช่วงนั้นเราเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูงมากถึง 6.9% ของจีดีพีในปี 2005 และเกินดุลบัญชีเดินสะพัด 10.5% ในปี 2006 ทำให้ในช่วงนั้นเงินบาทแข็งค่าขึ้น

และมีประเด็นที่น่าสนใจ และตั้งคำถามว่าเป็นประเทศกำลังพัฒนา แต่ทำไมยอมให้ตัวเองเสียโอกาสปล่อยให้เงินทุนไหลออกไปลงทุนในต่างประเทศ แทนที่จะลงทุนในไทย เพื่อกระตุ้นให้เศรษฐกิจข้างในให้โต หรือพูดง่ายๆ คือ เวลาคุณเกินดุลบัญชีเดินสะพัด แปลว่ากำลังซื้อในประเทศมีไม่พอกับผลิตของประเทศ ทำไมจึงไม่ขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจขยายตัว ไปขยายการลงทุน การผลิต และการบริโภคในประเทศให้มากกว่านี้

ขณะที่ตัวเลขในช่วงปี 2017-2019 ตัวเลขก็ยืนยันว่าแนวโน้มยังเป็นเหมือนเดิม ช่วงนั้นการส่งออกมีการขยายตัวเฉลี่ย 3.5% เท่ากับจีดีพี ส่วนภาคการท่องเที่ยวมีการเกินดุลเฉลี่ย 24,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีผลทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าต่อไปอีก แต่ที่น่ากลัว คือ เงินทุนไหลออกหนักขึ้น โดยไหลออก 12,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี

ถ้ากลับมาดูเร็วๆ สิ่งที่สำคัญที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา คือ หนึ่ง ดุลบริการเริ่มเกินดุลในปี 2012 ไทยมีการไหลออกของเงินทุนอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ในปี 2013 และเราเริ่มเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูงมากมาตั้งแต่ปี 2015 ที่สำคัญ และที่น่าสนใจคือตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นไปจนถึงทุกวันนี้ เงินเฟ้อในประเทศไทยต่ำกว่าเงินเฟ้อที่อเมริกา

โดยเงินเฟ้อของประเทศไทยในช่วงปี 2005-2011 อยู่ที่เฉลี่ย 3.5% ในช่วงปี 2012-2016 เหลือแค่ 1.3% และในช่วงปี 2017-2019 เหลือแค่ 0.8% ประเด็นของผมคือ สิ่งพวกนี้ เป็นตัวสะท้อนว่านโยบายการเงินตึงตัวเกินไป ไม่ว่าจะเป็นการไหลออกของเงินทุน แม้ว่าเงินทุนจะไหลออก แต่แบงก์ชาติก็ยังต้องเข้าไปแทรกแซง เพราะเงินทุนไหลออกไม่พอ เนื่องจากไทยเกินดุลชำระเงินและเกินดุลบัญชีเดินสะพัดมากมาย

ผมตั้งข้อสังเกตว่า ตอนที่เรากำลังทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวไปข้างหน้า ถ้าเรายังทำเหมือนเดิม คือ หวังให้การส่งออกสินค้าโต หวังให้ท่องเที่ยวกลับมา มันก็จะเหมือนเดิม

ดร.ศุภวุฒิได้ขอให้ผู้ร่วมเสวนาในครั้งนี้ไปช่วยคิดดูว่า “อย่าทำให้เหมือนเดิมเลย เพราะตอนที่เราทำเหมือนเดิม สิ่งที่เกิดขึ้นคือทำให้ทุนสำรองของแบงก์ชาติเพิ่มขึ้นเท่านั้น โดยเพิ่มจาก 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐไปสู่จุดสูงสุดที่ระดับ 2.58 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงปี 2562 ก่อนเกิดโควิด แต่ส่วนอื่นของเศรษฐกิจไม่ได้ขยายตัวได้ดีเท่าไหร่เลย”

ตรงกันข้าม เงินทุนที่ไหลออกไปเยอะๆ คือ ในปี 2013 ถึง 2021 มีเงินทุนไหลออกไป 1.1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ถ้าคูณอัตราแลกเปลี่ยนในวันนี้ ก็จะเท่ากับ 20% ต่อจีดีพีปัจจุบัน มองในแง่หนึ่งก็เป็นการสูญเสียโอกาส เพราะเงินทุนของคนไทย เราควรหาทางทำให้มีการลงทุนในประเทศไทย

ดร.ศุภวุฒิได้เสนอภาพใหญ่ในการการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย เรื่องโครงสร้างด้านอุปทาน เพราะสิ่งที่ชัดเจนคือประเทศไทยจะมีจำนวนเด็กน้อยลงประมาณ 1-2 ล้านคนในช่วง 10 ปีข้างหน้า แต่จะมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น 5-6 ล้านคนในช่วง 20 ปีข้างหน้า จึงต้องทำให้เศรษฐกิจรองรับประเด็นเหล่านี้ให้ได้

ขณะที่เรายังมีปัญหาพลังงานที่ค่อยๆ หมดไป เราจะหาพลังงานใหม่มาอย่างไร และต้องทำไปพร้อมๆ กับการเปลี่ยนผ่านไปสู่กรีน รวมทั้งเรื่องพลังงานสะอาด ส่วนเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ เราต้องรู้ว่าเราจะวางตัวอย่างไรในเรื่องห่วงโซ่อุปทานระดับโลกที่ถูกแบ่งแยก เราจะยืนอยู่ตรงไหน ขณะเดียวกัน เรายังต้องการการพัฒนาเทคโนโลยีด้วย

“ส่วนภาคที่ต้องดูแลมากที่สุดในความเห็นของผมคือ ภาคการเกษตร ซึ่งคิดเป็น 6.3% ของจีดีพี แต่มีแรงงานอยู่ในภาคนี้ 30% ของประเทศ เพราะฉะนั้น มีจีดีพีต่อแรงงานแค่ 0.2% เท่านั้นเอง ในขณะที่ภาคเกษตรมีผลิตภาพแตกต่างจากภาคอุตสาหกรรม 7-9 เท่า ถ้าพัฒนาอุตสาหกรรม ซึ่งจะทำให้ความแตกต่างจะยิ่งเพิ่มขึ้น ทำไมจึงไม่ให้ความสำคัญกับภาคเกษตรพร้อมกัน”

อ่านต่อ ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล และดร.อธิภัทร มุทิตาเจริญ “เราเดินมาสุดทางเดิน-บุญเก่าหมดแล้ว ถ้าไม่ทำอะไร จะถูกบังคับให้ทำเรื่องยากๆ”