ThaiPublica > คนในข่าว > “ณรงค์ชัย อัครเศรณี” ชี้บทบาทมหาวิทยาลัยภูมิภาคต้องเชื่อมโลกเชื่อมท้องถิ่นรับเมกะเทรนด์

“ณรงค์ชัย อัครเศรณี” ชี้บทบาทมหาวิทยาลัยภูมิภาคต้องเชื่อมโลกเชื่อมท้องถิ่นรับเมกะเทรนด์

10 พฤศจิกายน 2023


“ณรงค์ชัย อัครเศรณี” กับบทบาท นายกสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น “มหาวิทยาลัย” ต้องจัดการตัวเองปรับตัวรับเมกะเทรนด์โลกตามแนวทาง BCG เชื่อมโลกเชื่อมท้องถิ่น เดินหน้าวิจัยพัฒนาความหลากหลายชีวภาพสู่ชีวเภสัชภัณฑ์ (biopharma) พร้อมต้องหนุนเสริมให้ท้องถิ่นจัดการตัวเอง

ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี นายกสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น

แม้จะผ่านมาหลายประสบการณ์ หลายบทบาท ไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ หรือผู้บริหารบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ แต่ดูเหมือนว่าบทบาทที่ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี จะชื่นชอบเป็นพิเศษคือความเป็นนักวิชาการ โดยเฉพาะล่าสุด กับการทำหน้าที่นายกสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น

สิ่งที่เป็นความตั้งใจและอยากจะเห็นจากมหาวิทยาลัยในภูมิภาคคือ การทำหน้าที่ในการหนุนเสริมให้ท้องถิ่นสามารถจัดการตัวเองได้ ทั้งในแง่ของวิชาการ การจัดการทรัพยากร เศรษฐกิจและวัฒนธรรมของตัวเอง

“ผมสนใจเรื่องมหาวิทยาลัยภูมิภาคก็เกี่ยวข้องกับเรื่องการศึกษา ถ้าเราจะมาดูประวัติของมหาวิทยาลัยภูมิภาคในประเทศไทยก็จะพบว่า มีบทบาทที่มีพัฒนาการในแต่ละช่วงเวลา”

บทบาทของมหาวิทยาลัยจึงขึ้นกับทิศทางการพัฒนาประเทศด้วยเช่นกัน ดร.ณรงค์ชัยมองว่า มหาวิทยาลัยภูมิภาคมีพัฒนาการ 3 ช่วง ในช่วงที่ 1 คือการก่อตั้งมหาวิทยาลัย โดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งความมุ่งหมายในการตั้งมหาวิทยาลัยในภูมิภาคมาจากนโยบายการป้องกันคอมมิวนิสต์หรือนโยบายด้านความมั่นคง เช่นเดียวกับการตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และการตั้งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ช่วงที่ 2 ของบทบาทมหาวิทยาลัยในภูมิภาคเป็นเรื่องการพัฒนาครูโดยมีคำถามใหญ่ๆ ในสมัยนั้นคือ “ครู” มีสิทธิรับปริญญาหรือไม่ โดยข้อถกเถียงดังกล่าวเกิดขึ้นมายาวนาน กระทั่งเกิดวิทยาลัยราชภัฏในทุกจังหวัด โดยแต่ละแห่งก็จะมีพิธีรับปริญญา

“ตอนนั้นเริ่มที่มหาวิทยาลัยนเรศวรก่อน ลองให้เป็นระดับมหาวิทยาลัย รับปริญญา ต่อมาวิทยาลัยราชภัฎวิทยาลัยที่สร้างครู วิทยาลัยที่สร้างช่าง ก็เป็นมหาวิทยาลัยกันหมด”

ส่วนในช่วงที่ 3 เกิดขึ้นในยุครัฐบาลชาติชาย ชุณหะวัณ ที่ต้องการเห็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐแต่ไม่ใช่ระบบราชการ เช่น การเกิดขึ้นของเทคโนโลยีสุรนารี และมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ที่ภาคใต้ กระทั่งมีความพยามนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ

“สมัยรัฐบาลทักษิณเริ่มมีการขับเคลื่อนให้มหาวิทยาลัยออกนอกระบบ หลายมหาวิทยาลัยก็ผลักดันในเรื่องนี้ โดยมหาวิทยาลัยขอนแก่นก็พยายามจะออกนนอกระบบมานาน จนกระทั่งปี 2557 มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ออกระบบกัน เช่น ขอนแก่น เชียงใหม่ สงขลา ขณะที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกไปก่อนหน้านั้นแล้ว”

อย่างไรก็ตาม การออกนอกระบบของมหาวิทยาลัยไม่ได้หมายความว่าจะเป็นอิสระ 100% แต่ก็ปรับไปตามพฤติกรรมที่เกิดขึ้น โดยจะเห็นว่ามหาวิทยาลัยตามจังหวัดใหญ่ เช่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ต่างมีบทบาทในการเชื่อมโยงกับสังคมและวัฒนธรรมในแต่ละพื้นที่

ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี นายกสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น

“มหาวิทยาลัยภูมิภาค” บทบาทสร้างงานในพื้นที่

บทบาทของมหาวิทยาลัยในภูมิภาคจึงแตกต่างจากในอดีต ที่ส่วนใหญ่นักศึกษาเรียนจบแล้วจะข้าไปหางานทำในกรุงเทพฯ ขณะที่ในปัจจุบันสัดส่วนการทำงานในพื้นที่มีมากขึ้น

“สมัยผมเข้าไปอยู่มหาวิทยาลัยขอนแก่นเมื่อประมาณสัก 15 ปีที่แล้ว ตอนนั้นเมื่อเรียนจบแล้ว นักศึกษาไปทำงานนอกพื้นที่มากกว่าครึ่ง แต่ว่า ณ ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว วันนี้นักศึกษาที่จบได้ปริญญาไปก็อยู่ในพื้นที่เกินครึ่งแล้ว”

อาจารย์ณรงค์ชัยบอกว่า ปัจจัยที่ทำให้นักศึกษาที่เรียนจบแล้วไม่เข้าไปทำงานในกรุงเทพฯ มีเหตุผล 2 ด้าน คือ โอกาสในพื้นที่แถวนั้นมีมากขึ้น ขณะที่กรุงเทพฯ ไม่ได้เพิ่มมากเท่าในพื้นที่เหล่านั้น

เหตุผลที่ทำให้โอกาสของของพื้นที่เพิ่มมากขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากการเปลี่ยนแปลงของประเทศเพื่อนบ้าน หากย้อนไปสมัยจอมพลสฤษดิ์จะเห็นว่าบรรยากาศประเทศเพื่อนบ้านไม่ได้เป็นมิตร ขณะที่ไทยเป็นมิตรกับสหรัฐอเมริกา ส่งผลให้ต้องไปโจมตีเพื่อนบ้าน แต่พอหลังจากสงครามเวียดนามสงบปี 1975 และความวุ่นวายในกัมพูชาหมดไปประมาณปี 1980 พม่าเริ่มมีการเลือกตั้งรัฐบาลเต็งเส่งในปี 2004 ขณะที่ลาวเองก็เริ่มสงบลงหลังสงครามเวียดนามเช่นกัน ซึ่งบรรยากาศเหล่านี้ทำให้ประเทศเพื่อนบ้านเจริญเติบโตเร็ว ส่งผลให้เศรษฐกิจของจังหวัดในพื้นที่เหล่านั้นเติบโตมากขึ้นด้วยเช่นกัน

“เราจะเห็นความเปลี่ยนแปลงในการขยายตัวของจังหวัดที่อยู่ใกล้ประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะฝั่งตะวันตก ฝั่งเหนือ ฝั่งตะวันออกหมดเลยนะครับ เพราะว่าพวกนี้เริ่มต้นต้องพึ่งสินค้าไทยทั้งนั้น ผมมีโอกาสได้ไปเยือนประเทศเพื่อนบ้านตอนหลังจากสงครามสงบ ไม่ว่าประเทศไหนก็ตามเราจะเห็นของไทยทั้งนั้น ของกินของใช้ อาคารบ้านเรือน โรงแรม สร้างโดยวัสดุจากประเทศไทย ทำให้ความต้องการบุคลากรที่จะตอบสนองความต้องการของตลาดในจังหวัดเหล่านี้เพิ่มขึ้นเร็วกว่าทางกรุงเทพฯ มาก”

นอกจากนี้ อาจารย์ณรงค์ชัยยังเห็นว่า สถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้ภาพของภูมิภาคในการทำงานชัดเจนมากขึ้น โดยจะเห็นจาก ถนนศรีจันทร์ จ.ขอนแก่น ที่ช่วงโควิด-19 ทุกร้านปิด และลูกหลานกลับภูมิลำเนา พอหลังจากโควิด-19 หลายคนไม่กลับไปทำงาน กทม. แต่ไปพัฒนาพื้นที่บ้านเกิด จนทำให้ชุมชนศรีจันทร์กลางเมืองขอนแก่นคึกคักมีชีวิตชีวาในปัจจุบัน

“ชุมชนศรีจันทร์ ซึ่งเป็นห้องแถวค้าขายอยู่ไม่ไกลจากโรงแรมโฆษะเท่าไหร่ก่อนหน้าโควิด ชุมชนก็หงอยไป เงียบไป ร้านทั้งหลายก็มีผู้เฒ่าผู้แก่อยู่ แต่ตอนนี้ไปดูคนละโลกเลย เปลี่ยนหมดเลยเพระลูกหลานของผู้เฒ่าผู้แก่เหล่านี้กลับมาบ้านและไปเปิดร้านขายของ เปิดร้านทำเสื้อผ้า เปิดร้านให้บริการ ถนนศรีจันทร์เลยมีชีวิตขึ้นมาเลย นี่เป็นตัวอย่างแค่ถนนเดียว”

ขณะที่จังหวัดอื่นๆ หรือพื้นที่อื่นก็เช่นเดียวกัน การพัฒนาในพื้นที่ทำให้มีความต้องการของบุคคลากรมากขึ้น ทำให้มหาวิทยาลัยในภูมิภาคพัฒนาตัวเองจนสนองความต้องการของสังคมในพื้นที่ให้ได้ และสามารถพัฒนาการจัดการและการดูแลตัวเองได้มากขึ้น

เลือกตั้งผู้ว่าฯ เพื่อให้จังหวัดจัดการตัวเอง

อาจารย์ณรงค์ชัยบอกว่า การจัดการตัวเองของจังหวัดที่มีขนาดใหญ่ในอนาคต ควรจะต้องไปถึงการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดเช่นเดียวกับ กรุงเทพฯ เพื่อให้เกิดการกระจายอำนาจและการจัดการทรัพยากรในพื้นที่ของตัวเองได้

“ผมคิดว่าต้องไปถึงขั้นที่ว่าจังหวัดไหนที่เป็นจังหวัดใหญ่ น่าจะให้จังหวัดมีการเลือกผู้ว่าฯ เหมือนกรุงเทพฯ ได้แล้ว และการปกครองส่วนภูมิภาคต้องกระจายอำนาจ อย่างน้อยนะ ผมคิดว่าน่าจะทำ และมหาวิทยาลัยทั้งหลายสามารถจะเป็นหน่วยงานที่สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ดังกล่าวได้อย่างเต็มที่ ซึ่งขณะนี้ในพื้นที่เขาทำกันอยู่แล้ว เพียงแต่ทำอะไรติดอำนาจ จะทำอะไรต้องขอส่วนกลาง ซึ่งหากมีการกระจายอำนาจลงไป ทำให้เขาจัดการตัวเองได้มากขึ้น”

อาจารย์ณรงค์ชัยยกตัวอย่างจังหวัดขอนแก่น คือจังหวัดที่จัดการตัวเองได้เช่นเดียวกับกรุงเทพฯ มีความพยายามจะพัฒนารถไฟรางเดี่ยวโดยไม่ต้องของบประมาณจากรัฐส่วนกลาง เพียงแต่จะขอใช้พื้นที่ของราชการกลางถนน ซึ่งถนนเป็น 4 เลน 6 เลน พื้นที่ตรงกลางก็ว่างอยู่ ยกขึ้นไปเป็นรางวิ่งข้างบน แต่ยังทำไม่สำเร็จ

“ขณะนี้รัฐเองบางส่วนก็อนุมัติ ค่อยๆ อนุมัติ อนุมัติทีละหน่อยทีละหน่อย พอถึงตรงสุดท้ายปลายทางที่จะโยงไปที่ใกล้ตลาด หน่วยราชการก็ไม่ให้พื้นที่ เมื่อไม่ให้ก็เกิดไม่ได้ เพราะไม่มีหัวไม่มีหาง มีแต่ตรงกลาง นี่คือตัวอย่างที่เห็นชัดว่า อำนาจของการปกครองแบบนี้ แบบส่วนกลางที่คุมทั่วไป เป็นระบบที่ขวางความเจริญอย่างชัดเจน”

อาจารย์ณรงค์ชัยบอกว่า ควรจะถึงเวลาที่จังหวัดสามารถจัดการตัวเองได้ โดยจังหวัดไหนมีพร้อมสามารถกระจายอำนาจได้เลย แต่น่าเสียดายนายกรัฐมนตรี (เศรษฐา ทวีสิน) ประกาศนโยบายไม่มีเรื่องนี้ หากจังหวัดสามารถจัดการตัวเอง ยกตัวอย่าง กรณีจังหวัดขอนแก่น มีผู้ว่าราชการจังหวัดมาในระยะสั้นๆ แค่ปีเดียว ยังเรียนรู้วัฒนธรรมของท้องถิ่นไม่หมด ต้องย้ายไปทำงานที่อื่นแล้ว ดังนั้น เห็นว่าผู้ว่าราชการจังหวัดควรจะดำรงตำแหน่ง 3 ปีจะได้มีเวลาทำงานมากขึ้น

ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี นายกสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น

มหาวิทยาลัยปรับตัวรับเมกะเทรนด์โลก

ดร.ณรงค์ชัยกล่าวต่อว่า บทบาทของมหาวิทยาลัยในภูมิภาคจึงมีหน้าที่ในการพัฒนาสนับสนุนความต้องการในพื้นที่ มหาวิทยาลัยมีภารกิจใหญ่อยู่ 3 อย่าง หนึ่งคือตอบสนอง สองคือชี้นำ และสามคือเตือนสติสังคม เพราะฉะนั้น การที่มหาวิทยาลัยสร้างขึ้นมาเพื่อตอบสนอง เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ต้องปรับและพัฒนา

ส่วนบทบาทในการชี้นำสังคมนั้น ขณะนี้ในเรื่องของการพัฒนาเทคโนโลยีที่กำลังขยายตัวเติบโตรวดเร็ว มหาวิทยาลัยจำนวนมากก็หันมาเน้นการพัฒนาเทคโนโลยี เป็นการชี้นำหรือกระทั่งในเรื่องของเทรนด์สุขภาพ มหาวิทยาลัยภูมิภาคจำนวนมาก ก็ปรับตัวชี้นำสังคมไปในทิศทางดังกล่าว เช่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่สร้าง wellness center ขณะที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นก็กำลังพัฒนาไปในทิศทางดังกล่าวเช่นกัน

สำหรับการรับเมกะเทรนด์โลก เช่น การพัฒนาเทคโนโลยีสมัยใหม่เรื่อง biodiversity, circular, green หรือ BCG มหาวิทยาลัยภูมิภาคก็เริ่มปรับไปในทิศทางดังกล่าว เพื่อให้การพัฒนาการศึกษามีแนวสอดคล้องสิ่งแวดล้อม โดยในหลายมหาวิทยาลัยได้เริ่มปรับไปในทิศทางดำเนินการในเรื่องนี้

“เรื่อง circular ซึ่งหมายถึงการนำกลับมาใช้ใหม่ หรือการเวียนขยะมาใช้ใหม่ อาจจะยากกว่าเรื่องของ green หรือการส่งเสริม renewable หรือพลังงานหมุนเวียน ซึ่งมหาวิทยาลัยหลายแห่งเริ่มทำเรื่องนี้ และมีการติดตั้งระบบแสงอาทิตย์เพื่อประหยัดพลังงาน จัดระบบน้ำเองเป็นต้น”

ขณะที่การวิจัยพัฒนาด้าน biodiversity เป็นเรื่องที่ต้องส่งเสริมการทำวิจัยให้มีการนำความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งประเทศไทยมีวัตถุดิบและพืชพันธุ์ที่หลากหลาย สามารถนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาพัฒนาวิจัยให้เป็น “ยาและอาหาร” ได้ เช่น ในพื้นที่ภาคอีสานมีมันสำปะหลัง นำมาพัฒนาเป็นเอทานอลได้

“แนวโน้มของทั่วโลกเดินไปสู่การพัฒนาในเชิงชีวเภสัชภัณฑ์ คือทำยาจากพืช เพราะสมุนไพรหลายอย่างนำมาสกัดด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ทำเป็นยาได้ แต่ประเทศไทยยังไม่ได้ทำอะไรในเรื่องนี้ในระดับอุตสาหกรรม”

อาจารย์ณรงค์ชัยบอกด้วยว่า ศาสตร์ที่ว่าด้วยเรื่องยามีสองกลุ่ม โดยกลุ่มแรกคือยาสมัยใหม่ และกลุ่มที่สองคือยาแผนโบราณ โดยการพัฒนายาแผนโบราณมานานกว่าพันปีคือประเทศจีน ขณะที่ยาสมัยใหม่มีมาตรฐานสากลที่กำหนดให้ต้องมีการทดลองจนมั่นใจว่ามีความปลอดภัย

สำหรับประเทศไทย การพัฒนายาสมัยใหม่ถูกแซงไปเพราะเหตุผลทางประวัติศาสตร์ และเป็นความบังเอิญเนื่องจากหลังสงครามโลกครั้งที่สองแล้วมูลนิธิ Rockefeller ของสหรัฐฯ ได้ทุ่มงบประมาณไปยังประเทศจีน เนื่องจากจีนเป็นฝ่ายชนะสงคราม โดยจะสร้างโรงเรียนแพทย์ที่จีนให้ได้มาตรฐาน John Hopkins

แต่เมื่อประเทศจีนประกาศนโยบายเป็นคอมมิวนิสต์ มูลนิธิ Rockefeller จึงถอนตัวออกจากประเทศจีน ขณะเดียวกันสมเด็จพระราชบิดาท่านไปศึกษาที่สหรัฐอเมริกา ทำให้มูลนิธิ Rockefeller มาตั้งโรงเรียนแพทย์ที่โรงพยาบาลศิริราช และใช้หลักสูตรของสหรัฐอเมริกัน รวมไปถึงมาตรฐานยาของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ก็ใช้มาตรฐานเดียวกับสหรัฐอเมริกา ทำให้การพัฒนาสมุนไพรของไทยเหลือเพียงโรงพยาบาลอภัยภูเบศร

อาจารย์ณรงค์ชัยกล่าวว่า ในหลายประเทศทั่วโลกได้นำพืชมาพัฒนาเป็นยา เช่น เยอรมัน ได้นำพืชมาพัฒนาเป็นยามีขายในร้านขายยาจำนวนมาก ขณะที่ประเทศเกาหลีประกาศเป็นวาระแห่งชาติในการพัฒนาชีวเภสัชภัณฑ์ แม้ว่าหากเทียบความหลากหลายของพันธุ์พืชแล้วอาจจะมีไม่มากเท่ากับประเทศไทย

“ประเทศไทยยังไม่ได้ประกาศ ผมเองอยากให้ประกาศ เพราะใช้เรามี biodiversity, circular, green แต่ยังไปไม่ถึงชีวเภสัชภัณฑ์ โดยประเทศไทยควรจะประกาศเป็นวาระแห่งชาติเพื่อสร้างระบบนิเวศ ผมหวังว่ารัฐบาลจะประกาศในเรื่องนี้ ซึ่งมหาวิทยาลัยสามรถเป็นฐานในการพัฒนาเรื่องนี้ได้”

ขณะที่บริษัทยาทั่วโลกได้เริ่มพัฒนายาไปในทิศทางชีวเภสัชภัณฑ์ โดยว่าจ้างให้มหาวิทยาลัยช่วยพัฒนาวิจัย โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยที่เป็นโรงเรียนแพทย์ซึ่งมีโรงพยาบาล มีโรงเรียนเภสัชและมีอุปกรณ์ในการสกัดและผลิตครบถ้วน ขณะนี้มหาวิทยาลัยเป็นฐานในการพัฒนาต่อยอดชีวเภสัชภัณฑ์ได้ โดยขณะนี้มหาวิทยาลัยขอนแก่นมีโรงงานขนาดเล็กที่สามารถพัฒนาในเรื่องนี้เช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยสงขลา

ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี นายกสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น

เปิดพื้นที่มหาวิยาลัยให้ชุมชนร่วมใช้ประโยชน์

สำหรับการตั้งเป้าหมายพัฒนามหาวิทยาลัยขอนแก่น อาจารย์ณรงค์ชัยบอกว่า ทำหน้าที่สนับสนุนส่งเสริมในสิ่งที่มหาวิทยาลัยทำได้ดีอยู่แล้ว เนื่องจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่พื้นที่ 5 พันไร่ มีนักศึกษาประมาณเกือบ 5 หมื่นคน ขณะที่มีคณาจารย์และบุคลากรกว่าหมื่นคน และที่ผ่านมาโรงเรียนแพทย์สามารถหารายได้มากถึง 18,000-19,000 ล้านบาท โดยหลายคณะสามารถสนองตอบความต้องการของสังคมได้

นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยยังสามารถพัฒนาบุคลากรที่เข้าไปมีบทบาทในการพัฒนาประเทศ และยังมีแพทย์ที่เชี่ยวชาญและเก่งๆ จำนวนมาก โดยเฉพาะแพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านพยาธิใบไม้ตับซึ่งเป็นโรคที่รุนแรงในพื้นที่

“ผมเข้าไปทำงาน แค่ตอบสนองสิ่งที่เขาทำอยู่ ช่วยให้เขาทำง่ายขึ้น สะดวกขึ้น เช่น ช่วยผลักดันให้มหาวิทยาลัยออกนอกระบบ หลังจากนั้นมหาวิทยาลัยสามารถพัฒนาปรับปรุงได้มากขึ้น”

อาจารย์ณรงค์ชัยบอกว่า ด้วยพื้นที่มหาวิทยาลัยที่มีจำนวนมาก จึงเห็นว่าควรปรับเป็นพื้นที่สีเขียว และให้ความสำคัญในการพัฒนาพื้นที่เพื่อให้คนในพื้นที่มาร่วมใช้ประโยชน์ โดยจะเห็นได้จากการพัฒนารอบพื้นที่บึง ซึ่งมี 2 บึงได้พัฒนาพื้นที่สวยงามและเปิดให้ชุมชนเข้ามาใช้พักผ่อน ออกกำลังกายได้

ส่วนการพัฒนาในเรื่องของเทคโนโลยี อาจารย์ณรงค์ชัยกล่าวว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาได้ตั้งวิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (College of Computing, Khon Kaen University) โดยขณะนี้มีนักเรียนเข้ามาเรียนจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม อาจารย์ณรงค์ชัย อยากเห็นมหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นพื้นที่สำหรับชุมชนในแถบภาคอีสาน โดยเฉพาะการสนับสนุนให้เกิด madical hub เนื่องจากขณะนี้มหาวิทยาลัยขอนแก่นมีงบประมาณ 4 พันกว่าล้าน มีเป้าหมายพัฒนาให้เป็นโรงพยาบาลขนาด 5 พันเตียงเพื่อตอบสนองคนในภูมิภาคและประเทศเพื่อนบ้านจากลาว กัมพูชา เวียดนาม

นอกจากนี้ ยังต้องการเดินไปในทิศทางของการพัฒนาชีวเภสัชภัณฑ์ เนื่องจากชุมชนสามารถปลูกพืช สมุนไพร เช่น งาดำ ใบบัวบก และอื่นๆ ซึ่งใบบัวบกมีสารที่มีประโยชน์ในการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ได้ ขณะที่ในส่วนของเทคโนโลยี เรากำลังศึกษาวิจัยการทำแบตเตอรี่จากโซเดียม เนื่องจากเกลือในภาคอีสานมีจำนวนมาก หากสามารถตั้งโรงงานร่วมกับเอกชน ผลิตแบตเตอรี่ที่เป็นโซเดียมเบส

“เราจะร่วมกับจีนเพราะแบตเตอรี่หนึ่งอันจะมีส่วนประกอบในนั้นด้วยหลายส่วน บางส่วนเราก็ควรจะทำเอง พวกขั้วทั้งหลายเราจะทำเอง แต่ตัวบอดี้บางตัวอาจจะต้องทำกับจีนมาผสมกัน ซึ่งขณะนี้มีข้อตกลงกับประเทศจีนจะตั้งโรงงานในจังหวัดขอนแก่น เราหวังว่าจะเป็นการผลิตแบตเตอรี่จากโซเดียมที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่ง”

ส่วนในเรื่องประเพณีวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยขอนแก่นสร้าง dance troupe คือวงเต้น เอาประเพณีแต่ละเดือนมาแสดง โดยให้ดนตรีมาช่วยสร้างให้เกิดความปรองดองเกิดขึ้น ในปีนี้งานบึงสีฐานจะมีในวันที่ 20-21 พฤศจิกายน จะเริ่มแสดงเป็นครั้งแรก

การดำเนินการทั้งหมดเพื่อให้มหาวิทยาลัยขอนแก่นจัดการการตัวเองได้ และสามารถรองรับความเปลี่ยนแปลงของโลกไปพร้อมกับการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น

อาจารย์ณรงค์ชัยบอกว่า ต้องมีวิสัยทัศน์และมีความสัมพันธ์ที่ดี และค่อยๆ ทำไป เดินหน้าลุยในสิ่งที่เป็นประโยชน์กับสังคม ขณะนี้เราพบว่าพื้นที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นพื้นที่ของชุมชนมาใช้ประโยชน์ เวลาจัดงานมีคนในพื้นที่มาร่วมงานจำนวนมาก ทำให้เห็นว่าสิ่งที่พัฒนาที่ผ่านมาเกิดประโยชน์กับคนในพื้นที่มากเช่นกัน