ThaiPublica > คอลัมน์ > Techno-Polar World เมื่อการจัดระเบียบโลกใหม่มาอยู่ในมือบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่

Techno-Polar World เมื่อการจัดระเบียบโลกใหม่มาอยู่ในมือบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่

30 มิถุนายน 2024


ดร.สุทธิ สุนทรานุกรักษ์

ที่มาภาพ : https://youtu.be/uiUPD-z9DTg?si=4mzGy7RvDiST1XWw

นับตั้งแต่สิ้นสุดยุคการระบาดใหญ่ของ Covid-19 ดูเหมือนว่าโลกเราเต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลงที่ทั้งรวดเร็ว รุนแรง ไร้ระเบียบ จนคาดเดาได้ยากว่าโลกในวันข้างหน้าจะมีสภาพหน้าตาอย่างไร

ล่าสุดผู้เขียนมีโอกาสฟัง TEDTalk ของ ดร.เอียน เบรมเมอร์ (Dr.Ian Bremmer) หัวข้อ “The Next Global Superpower Isn’t Who You Think”

…TedTalk ตอนนี้นับเป็นอีกหนึ่งตอนที่น่าสนใจอย่างยิ่ง

ดร.เบรมเมอร์ เริ่มต้นเล่าภาพรวมการจัดระเบียบโครงสร้างอำนาจของโลกปัจจุบัน โดยแบ่งออกเป็นสามด้าน ได้แก่ การจัดระเบียบด้านความมั่นคง (Security Order), การจัดระเบียบด้านเศรษฐกิจ (Economic Order), และการจัดระเบียบด้านดิจิทัล (Digital Order) ซึ่งการจัดระเบียบแต่ละด้านมีลักษณะและพลวัตที่แตกต่างกันไป

หลังสิ้นสุดสงครามเย็น ตั้งแต่ทศวรรษที่ 90 เป็นต้นมา ระเบียบโลกด้านความมั่นคงอยู่ในมือของสหรัฐอเมริกาและพันธมิตร NATO

อย่างไรก็ดีเมื่อเริ่มต้นศตวรรษที่ 21 จีนก้าวขึ้นมาเป็นคู่ท้าทายสหรัฐอเมริกาทั้งเรื่องความมั่นคง จนกระทั่งต้นปี 2022 เมื่อรัสเซียรุกรานยูเครน…ดร.เบรมเมอร์ตั้งข้อสังเกตว่าภูมิทัศน์ด้านความมั่นคงของโลกกำลังเปลี่ยนไป

การ “งัดกัน” เพื่อวางระเบียบโลกครั้งนี้ ยังมีตัวละครใหม่ ๆ แทรกเข้ามา

โดยเฉพาะการจัดระเบียบทางเศรษฐกิจที่มีตัวละครหลายตัวทั้ง สหรัฐอเมริกา, จีน, สหภาพยุโรป, ญี่ปุ่น, ทุนตะวันออกกลาง และอินเดีย… ไม่มีประเทศใดประเทศหนึ่งที่มีอำนาจเหนือทางเศรษฐกิจอย่างเด็ดขาด

แต่สิ่งที่ ดร.เบรมเมอร์ ชี้ให้เห็น คือ การจัดระเบียบโลกด้านดิจิทัลได้พัฒนาก่อรูปมาราว ๆ สิบปีแล้ว

…การจัดระเบียบด้านนี้ไม่ได้ถูกควบคุมโดยรัฐบาลแต่ถูกจัดโดยบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่

บริษัทเหล่านี้มีอำนาจอย่างมากในการกำหนดรูปแบบชีวิต เศรษฐกิจ และสังคมของเรา ซึ่ง ดร.เบรมเมอร์ อธิบายว่าระเบียบโลกด้านดิจิทัลมีศักยภาพที่จะกลายเป็นระเบียบโลกหลักเหนือกว่ารัฐบาลในอนาคต

ที่มาภาพ : https://youtu.be/uiUPD-z9DTg?si=4mzGy7RvDiST1XWw

การจัดระเบียบโลกด้านดิจิทัล อาจเกิดขึ้นได้อย่างน้อยสามเหตุการณ์ กล่าวคือ

หนึ่ง… “สงครามเย็นทางเทคโนโลยี” (Technology Cold War) ซึ่งบริษัทเทคโนโลยีจะจับมือกับรัฐบาลของประเทศตนเอง เช่น สหรัฐอเมริกาและจีน ส่งผลให้โลกดิจิทัลแยกออกเป็นสองขั้ว

สอง…การที่บริษัทเทคโนโลยียังคงดำเนินธุรกิจแบบ Global Business Models ซึ่งส่งเสริมโลกาภิวัตน์ในยุคดิจิทัล

สาม…สถานการณ์นี้น่าสนใจที่สุดเพราะเกิดสิ่งที่เรียกว่า Techno-Polar World ซึ่งบริษัทเทคโนโลยีกลับกลายเป็นผู้มีอำนาจหลักในการกำหนดทิศทางของโลกมากกว่ารัฐบาล

สถานการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่ามหาอำนาจรายใหญ่ในอนาคต ไม่ใช่รัฐบาลในวอชิงตัน ในปักกิ่ง ในมอสโก ในเดลี แต่อย่างใด

…หากแต่เป็น “บริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่”

ดร.เบรมเมอร์ เรียกร้องให้บริษัทเหล่านี้ต้องมีความรับผิดชอบและมีจริยธรรมในการดำเนินธุรกิจ ต้องตระหนักถึงผลกระทบที่ผลิตภัณฑ์และการตัดสินใจของพวกเขามีต่อสังคม…เพราะโลกวันนี้เราขับเคลื่อนด้วยข้อมูลขนาดใหญ่ตลอดเวลา

ผู้เขียนคิดว่า TEDTalk ตอนนี้มีประโยชน์และน่าฟังด้วยเหตุผลหลักสามประการที่ กล่าวคือ

  • หนึ่ง…ภาพโลกอนาคตที่ทุกอย่างขับเคลื่อนด้วย AI และ Robot ทำให้เรารู้แล้วว่าเทคโนโลยี AI และหุ่นยนต์มีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจ …เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและการทำงานของเราอย่างสิ้นเชิง ทำให้เราต้องเตรียมตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว
  • สอง…ความโกลาหลของโลกยุคใหม่ที่เรียกว่า BANI World ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งรวดเร็วและรุนแรง…โลก BANI (Brittle, Anxious, Nonlinear, Incomprehensible) เป็นโลกที่เปราะบาง วิตกกังวล ไม่เป็นเชิงเส้น และเข้าใจยาก การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในโลก BANI เป็นสิ่งที่เราต้องเผชิญและปรับตัวให้ทัน
  • และสาม…การปรับตัวให้ทันกับโลกที่เปลี่ยนไปภายใต้ Superpower ใหม่ที่ไม่ใช่ Pax Americana หรือ Pax Sinica ที่ระเบียบโลกถูกวางโดยสหรัฐอเมริกาหรือจีนหากแต่เป็น Pax AI หรือ Pax Techno ที่ระเบียบโลกถูกกำหนดโดย AI หรือบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่
  • ข้อสังเกตของ ดร.เบรมเมอร์ยิ่งตอกย้ำว่าบริษัทเทคโนโลยีจะกลายเป็นผู้มีอำนาจหลักในการกำหนดทิศทางของโลก ทำให้เราต้องปรับตัวและเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

    ผู้สนใจโปรดฟัง