ThaiPublica > คอลัมน์ > ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับร่าง PDP 2024

ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับร่าง PDP 2024

22 มิถุนายน 2024


อาทิตย์ กริชพิพรรธ
CEO และ Founder, A Advisory co, Ltd.

เนื่องจากช่วงนี้ เรากำลังพิจารณาร่าง PDP 2024 อยู่พอดี ผมจึงคิดว่านี่น่าจะเป็นจังหวะที่ดีที่จะได้ลองเสนอแนวคิดที่อาจจะเป็นประโยชน์ไว้ให้พิจารณาครับ

จากที่ผมเสนอเรื่องการเก็บภาษีคาร์บอนของไทยไป (ภาษีคาร์บอนที่เก็บตั้งแต่เริ่มผลิต (ตอนที่ 5)-ThaiPublica) ก็เพื่อเสนอนโยบายที่สามารถจะสร้างการเปลี่ยนแปลงไป Net Zero ที่มีผลกระทบเชิงลบทางเศรษฐกิจน้อยที่สุด แต่ผมไม่ได้กำหนดลงไปว่าเราควรจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร และเนื่องจาก PDP เป็นแผนที่เกี่ยวกับการผลิตไฟฟ้าซึ่งจะเป็นตัวหลักที่เราควรใช้เพื่อไปยัง Net Zero เพราะฉะนั้น การเปลี่ยนแปลงส่วนใหญ่ของประเทศเราในเรื่องการลดภาวะโลกร้อน ก็จะต้องทำผ่านแผน PDP นั่นเอง จึงได้ทดลองคิดข้อเสนอนี้ขึ้นมาดู

อันแรกที่ต้องกล่าวถึงก่อนคือความชื่นชมที่ได้ปรับแผน PDP นี้ ให้ใช้พลังงานสะอาดเพิ่มมากขึ้นมาเมื่อเทียบกับแผนที่แล้ว เป็นไปตามแนวทางที่สากลยอมรับ ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และช่วยลดต้นทุนค่าไฟฟ้าลงเมื่อเทียบกับการใช้ LNG ซึ่งเป็นแนวทางที่ได้รับความสำคัญมากในแผน PDP ที่แล้ว

แนวคิดที่ผมจะเสนอ ก็ยังคงอยู่ในแนวทางเดียวกัน คือการพยายามเพิ่มการผลิตไฟฟ้าส่วนใหญ่ของประเทศด้วยพลังงานสะอาดในราคาที่ไม่แพง และยังคงรักษาความมั่นคงทางพลังงานไว้ในเวลาเดียวกัน โดยอาศัยโครงสร้างที่เราได้ลงทุนไปแล้วให้เป็นประโยชน์ให้มากที่สุด แต่อยากจะเสนอแนวทางที่ต่างไปในรายละเอียดและความเข้มข้นของแผน

อันดับแรก ต้องมาดูกันก่อนว่าพลังงานสะอาดในรูปแบบใดที่มีต้นทุนที่ถูกที่สุด ซึ่งสำหรับประเทศไทย ก็คือ

1) Floating Solar บนผืนน้ำเหนือเขื่อนผลิตไฟฟ้าเพราะไม่ได้ใช้พื้นดินที่ต้องจ่ายค่าเช่าหรือต้องซื้อ สายส่งก็มีอยู่แล้ว และได้พลังงานมากกว่าจากอุณหภูมิของแผง Floating Solar ที่ต่ำกว่าแผงบนดิน
2) Solar Farm บนดินในพื้นที่ที่มีสายส่งอยู่แล้วเป็นอันดับสอง
3) Floating Solar บนเขื่อนและอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่ไม่ต้องลงทุนสายส่งเพิ่มเติมมากนัก
4) Solar Farm บนดินในบริเวณที่ไม่ต้องลงทุนสายส่งนัก

ส่วน Solar farm ในพื้นที่ห่างไกลที่ต้องลงทุนกับสายส่งมาก Wind farm พลังงานชีวมวล และ Biogas ล้วนมีราคาแพงกว่า จึงควรนำมาใช้เฉพาะในจำนวนที่สามารถแข่งขันได้เท่านั้น

อีกปัญหานึงคือ ความไม่แน่นอนของไฟฟ้าสะอาดทำให้ต้องมีการปรับปรุงระบบสายส่งระบบ Demand Response และใส่ Back-up อย่างแบตเตอรี่มากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งค่าใช้จ่ายตรงนี้จะมองกันไม่ค่อยเห็นแต่จะมีผลกับราคาไฟฟ้าโดยรวมอย่างมากในอนาคต

นอกจากนี้จากร่างแผน PDP ที่เผยแพร่ออกมา กำลังการผลิตไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (EGAT) จะลดลงไปเหลือเพียง 17% ในอนาคต และสัดส่วนของเอกชนก็จะเพิ่มขึ้นมาอีก กำไรจากส่วนการผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นก็จะไปอยู่กับบริษัทเอกชนที่ประมูลงานได้เป็นหลัก ซึ่งไม่ได้เป็นประโยชน์กับระบบไฟฟ้าและผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วไปแต่อย่างใด

ผมจึงขอเสนอว่า เราควรปรับแผน PDP 2024 โดยให้การผลิตไฟฟ้าจาก Solar เป็นจำนวน 30,000 MW ให้ EGAT รับผิดชอบไปผลิตจากระบบ Floating Solar บนเขื่อน (จากเดิมที่มีเพียง 2,725 MW) รวมถึงบนพื้นดินที่ EGAT ควบคุมอยู่แล้วเช่นพื้นที่รอบเขื่อนต่างๆและพื้นที่บนเหมืองแม่เมาะที่มีกว่า 20,000 ไร่ โดยให้ทยอยติดตั้งไปในอีก 12 ปีข้างหน้าคือระหว่างปี 2568 – 2580 โดยมีเงื่อนไขสำคัญคือ ให้ EGAT เหมาไปทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการติดตั้งระบบการผลิตไฟฟ้า การปรับปรุงสายส่งของโรงไฟฟ้าในส่วนนี้ และการปรับปรุงระบบสายส่งในส่วนอื่นๆของทั้งประเทศ รวมถึงการติดระบบแบตเตอรี่ 10,000 MW ตามแผนด้วย (ซึ่งอาจต้องใช้จริงน้อยกว่านี้ถ้ามีการจัดการที่ดีและใช้นวัตกรรมต่างๆมาช่วย) โดยจะรวมส่วนที่การไฟฟ้านครหลวง (MEA) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ต้องปรับปรุงด้วย เพื่อให้สามารถรองรับกับไฟฟ้าสะอาดที่จะถูกเติมเข้าระบบมาเป็นจำนวนมากได้โดยไม่ต้องมาขอราคาค่าไฟฟ้าเพิ่ม และที่สำคัญที่สุดคือ ให้ EGAT ขายไฟฟ้าจากส่วนที่ติดใหม่ 30,000 MW นี้ในราคาเพียง 2 บาทต่อหน่วย นับตั้งแต่วันที่เริ่มผลิตไฟฟ้าของจาก Solar แต่ละชุด เป็นเวลา 25 ปีโดยจะมาขอค่าไฟเพิ่มต่างหากไม่ได้

โซลาร์เซลล์ลอยน้ำ เขื่อนสิริธร

Floating Solar 30,000 MW จะใช้พื้นที่ราว 180,000 ไร่ (ประมาณ 6 ไร่ต่อ MW ซึ่งใช้พื้นที่น้อยกว่ารุ่นแรกที่ทำไป เพราะเทคโนโลยีดีขึ้น) ในขณะที่พื้นที่ผืนน้ำเหนือเขื่อนต่างๆ ของเรามีอยู่ประมาณ 900,000 ไร่ เราจึงจะใช้พื้นที่ผืนน้ำประมาณ 20% ซึ่งมีความเป็นไปได้ และจะใช้เงินลงทุนเฉพาะในส่วนนี้ประมาณ 700,000 ล้านบาท (คิดจากค่าลงทุนปัจจุบันที่ราว 24 ล้านบาทต่อ 1 MW) แต่ของจริงควรจะต่ำกว่านี้ เพราะ EGAT ควรจะสามารถปรับปรุงงานให้ดีขึ้นทุกๆ ปีได้ เพื่อจะได้เอาเงินที่ประหยัดได้ไปลงทุนกับระบบสายส่ง แบตเตอรี่และอื่นๆ ซึ่งอาจจะต้องใช้อีกราว 200,000 – 300,000 ล้านบาท รวมเป็นเงินที่ลงทุนราว 1 ล้านล้านบาท

โดย EGAT ควรจะทำแผนล่วงหน้าสัก 40-50 ปี ว่าสายส่งควรจะมีที่ใดบ้าง ควรจะทำที่ใดเพิ่ม ที่ใดที่ควรจะขยาย สถานที่ที่จะติดแบตเตอรี่เพิ่มควรอยู่ที่ไหนบ้าง สถานที่ที่ควรสร้าง Pump Hydro เพิ่มมีที่ไหนอีกบ้าง แล้วก็วางแผนร่วมกับกรมทางหลวง กรมราง กรมป่าไม้ กรมอุทยาน ฯลฯ ในการเวนคืนที่ดินไปพร้อมๆกันกับถนน ทางรถไฟ ทาง Motorway ต่างๆ เพื่อประหยัดงบประมาณการเวนคืน เพราะราคาที่ดินจะแพงขึ้นไปเรื่อยๆและจะทำการเวนคืนยากขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป เหมือนที่หลายประเทศประสบปัญหาอยู่ในปัจจุบัน

ระบบนี้จะผลิตไฟฟ้าได้ราว 45,000 ล้านหน่วยต่อปี คิดเป็นรายได้ปีละ 90,000 ล้านบาทที่หน่วยละ 2 บาท ถ้าสามารถกู้เงินได้ที่อัตราดอกเบี้ย 5% ดอกเบี้ยของ 1,000,000 ล้านบาทก็จะตกปีละ 50,000 ล้านบาท ซึ่งเมื่อหักออกจากรายได้แล้วก็จะมีกำไรเหลือเล็กน้อยพอจ่ายค่าดำเนินการ ค่าบำรุงรักษา และจ่ายคืนเงินต้นได้อย่างช้าๆ

โดยทาง EGAT จะทำงานร่วมกับทางการไฟฟ้านครหลวง (MEA) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) เองเพื่อทำการอัพเกรดสายส่งและติดแบตเตอรี่เฉพาะส่วนที่จำเป็น ในตำแหน่งที่เหมาะสม และอาจมีการปรับตำแหน่งหรือโยกย้ายตำแหน่งของแบตเตอรี่ที่ติดตั้งไปถ้าสถานการณ์การผลิตไฟและการใช้ไฟในแต่ละพื้นที่เปลี่ยนแปลงไป โดยจะแบ่งรายได้จากการขายไฟ 2 บาทต่อหน่วยนี้ให้ MEA และ PEA ในจำนวนที่สามการไฟฟ้าฯจะไปตกลงกันเอง

ส่วนโครงการที่รัฐบาลสั่งให้ไปทำเพิ่มเติมต่างหาก เช่น การเอาสายไฟลงดินเพิ่มเติม การขยายสายส่งไปยังพื้นที่ทุรกันดาร หรือติดตั้งสายส่งระหว่างประเทศเพิ่มเติม ก็ยังสามารถเอามาบวกลงค่าไฟได้ตามนโยบายของรัฐบาลในขณะนั้น เพราะเป็นสิ่งที่ทำตามคำสั่งต่างหากจากรัฐบาล

นอกจากนี้ ยังสามารถให้ EGAT รับผิดชอบเงิน 100,000 ล้านบาทที่ค้างอยู่จากการช่วยแบกรับค่าไฟตอนที่ LNG มีราคาแพงก่อนหน้านี้ โดยให้ราคาค่าไฟฟ้าจาก Floating Solar 30,000 MW นี้เพิ่มอีก 20 สตางค์ รวมเป็น 2.20 บาทต่อหน่วย ซึ่งจะช่วยทำให้เราไม่ต้องปรับขึ้นค่าไฟมาเพื่อใช้หนี้คืน EGAT ใน 2-3 ปีข้างหน้านี้ด้วย ช่วยพยุงเศรษฐกิจที่เปราะบางอยู่นี้ไปอีกทางนึง

ส่วนความต้องการไฟฟ้าที่เหลือ ก็ให้เอกชนที่สนใจผลิตไฟฟ้าสะอาดต่างๆจาก Wind Solar ชีวมวล ก๊าซชีวภาพ ขยะชุมชน และพลังงานความร้อนใต้พิภพ ให้สามารถทำโครงการขึ้นมาขายให้คนที่อยากซื้อผ่าน Third Party Access (TPA) ได้เลยโดยไม่ต้องไปประมูลกับใคร โดยตั้งโควต้าให้สามารถผลิตเข้ามาได้อีกปีละ 1,000 MW ใครมาก่อนก็ได้ก่อน มาไม่ครบก็ทบไปปีถัดไป โดยทางเอกชนก็ต้องลงทุนในส่วนค่าสายส่งที่จะต้องติดตั้งเพิ่มเติม และต้องจ่ายค่าผ่านทางให้กับการไฟฟ้าฯทั้งสามด้วยตามสูตรที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะกำหนด (ส่วนผู้ซื้อไฟฟ้าผ่าน TPA ก็ต้องจ่ายค่ากำลังการผลิตไฟฟ้าสำรอง หรือ back-up surcharge ให้การไฟฟ้าฯด้วย เพราะในกรณีที่ผู้ขายไฟเกิดส่งไฟไม่ได้ด้วยเหตุอะไรก็แล้วแต่ ผู้ซื้อไฟเขาก็ต้องซื้อไฟฟ้าจากการไฟฟ้าฯ มาใช้แทนในทันที จึงเสมือนหนึ่งว่า การไฟฟ้าฯ มี back-up เตรียมไว้ให้ตลอดเวลา)

โดยไฟฟ้าในส่วนที่ขายเองไม่หมดไม่ว่าวันไหนเวลาใด EGAT จะรับซื้อทั้งหมดที่ราคา Backstop ช่วงปี 2568-2575 จะกำหนดไว้ที่ 2 บาทต่อหน่วย ซึ่งก็เท่ากับราคาที่ EGAT ได้จาก Floating Solar โดยถือว่า EGAT ช่วยเป็น backstop ให้กับโครงการของเอกชนทั้งหลายเหล่านี้ จะได้ช่วยลดความเสี่ยงของโครงการลงไป เอกชนจะได้สามารถไปหาเงินลงทุนและเงินกู้มาทำโครงการได้

แต่เมื่อหลังจากนั้นเมื่อระบบมีพลังงาน Solar เข้ามามากจนล้นในช่วงกลางวัน ไฟฟ้าที่ได้มาในช่วงนั้นก็จะมีคุณค่าน้อยลง ก็จะให้ราคา Backstop ของไฟฟ้าที่เข้ามาในช่วง 09:00-15:00 ลดลงไปเรื่อยๆในอัตราปีละ 10 สตางค์ต่อหน่วย (คือ 1.90 บาทในปี2576 และ 1.80 บาทในปี2577 เป็นต้น) จนไปยืนที่ 1 บาทต่อหน่วยและคิดอัตรานั้นต่อไป ส่วนไฟฟ้าที่เข้ามาเวลาอื่นก็ยังเป็น 2 บาทต่อหน่วยเหมือนเดิมจนครบ 25 ปีนับจากวันที่เริ่มผลิต

เหตุที่ไม่สามารถให้ราคาสูงกว่า 2 บาทต่อหน่วยนี้ ก็เพื่อให้เป็นธรรมกับ EGAT และกับผู้ใช้ไฟทุกรายที่จะได้ใช้ไฟฟ้าในราคาที่แข่งขันได้กับที่ EGAT ขาย

ด้วยราคาเพียง 2 บาทต่อหน่วย ซึ่งต่ำมาก EGAT ก็ต้องใช้ความรู้ความสามารถทางวิศวกรรมและการจัดการอย่างเต็มที่ จึงจะทำตามเป้าหมายนี้ให้ได้ โดยส่วนกลางก็ต้องให้ความร่วมมือด้วย เช่น

  • การอำนวยความสะดวกในการขออนุญาตต่างๆ
  • การค้ำประกันเงินกู้ให้ EGAT ในส่วนนี้เพื่อให้มีต้นทุนเงินที่ต่ำ (ซึ่งสำคัญมาก เพราะต้นทุนดอกเบี้ยเป็นปัจจัยสำคัญลำดับต้นๆ ของราคาไฟฟ้าจากโครงการ Solar จากตัวเลขที่แสดงให้เห็นข้างต้น)
  • การปรับขึ้นค่าไฟในช่วงหัวค่ำให้มีราคาแพงเป็นพิเศษเพื่อลดพีคการใช้ไฟฟ้าในช่วงนั้นและ
  • ลดค่าไฟในช่วงกลางวันลงเมื่อมีไฟฟ้าจำนวนมากจาก Solar ไหลเข้าระบบมา เพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ใช้ไฟโดยเฉพาะการชาร์จ EV ให้ไปชาร์จในช่วงกลางวันหรือช่วงกลางดึกเป็นส่วนใหญ่แทน เพื่อลดจำนวนเงินที่ต้องใช้ลงทุนในระบบแบตเตอรี่และสายส่งลงไปเป็นต้น
  • โซลาร์เซลล์ลอยน้ำ เขื่อนสิรินธร

    ส่วน EGAT เอง ก็ต้องพยายามอย่างเต็มที่ที่จะติดระบบ Solar และ Floating Solar เพิ่มทุกปีด้วยต้นทุนที่ถูกลงเรื่อยๆ และปรับปรุงระบบสายส่งที่จำเป็นให้ยังใช้งานได้ดี ไม่ให้มีไฟดับ และทำในราคาที่ประหยัดและให้ยังคงมีกำไรแม้จะขายไฟฟ้าจากส่วนนี้ได้ในราคาแค่ 2 บาทต่อหน่วยทั้งที่เงินก็เฟ้อขึ้นทุกปี ซึ่งทั้งหมดนี้ มันไม่ได้ง่ายเลย แต่ผมก็เชื่อว่าทาง EGAT ทำได้แน่นอน เพราะที่ผ่านมา EGAT ก็เคยทำงานยากๆแบบนี้มาแล้วในช่วงที่ต้องวางรากฐานระบบไฟฟ้าของประเทศก่อนที่จะมีนโยบาย IPP และ SPP มาผลิตไฟฟ้าแข่งด้วย ประกอบกับการมีระยะเวลาของสัญญาที่นานพอ มีทั้งความแน่นอนและความต่อเนื่อง EGAT ก็จะสามารถพัฒนาทีมงานของตน พัฒนา Suppliers และพัฒนาผู้รับเหมาในประเทศในสาขาต่างๆ ให้ทำงานร่วมกันได้เก่งขึ้น ดีขึ้น และลดต้นทุนให้ต่ำลงได้เรื่อยๆ ไม่ต่างจากที่อุตสาหกรรมรถยนต์ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ หรือแม้แต่อุตสาหกรรมการผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่ทำได้มาแล้ว

    ถ้าทำเช่นนี้ ค่าไฟโดยเฉลี่ยของเราก็จะลดลงไปอย่างรวดเร็ว เพราะนอกจากจะไม่ต้องเก็บค่าไฟเพิ่มมาจ่ายคืน EGAT 100,000 ล้านบาทแล้ว เรายังสามารถลดการซื้อ LNG ราคาแพงลงไปได้มากเพราะไฟฟ้าที่ใช้กลางวันส่วนใหญ่จะมาจาก Floating Solar และจะใช้ LNG เพียงในช่วงหัวค่ำและในตอนกลางคืน แถมยังจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคการผลิตไฟฟ้าไปได้มาก และยังจะทำให้ EGAT แข็งแกร่งกว่าเดิม สามารถนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้สะสมมาจากการทำงานอย่างหนักใน 12 ปีข้างหน้านี้ไปใช้ในช่วง 13-24 ปีถัดไปซึ่งภาระงานจะยากยิ่งกว่าเดิมขึ้นไปอีก เพราะเราต้องเพิ่มการใช้พลังงานสะอาดขึ้นไปจนใกล้เคียง 100% ซึ่งจะมีความผันผวนในระบบสายส่งสูงกว่านี้มาก นอกจากนี้ไทยเราก็จะพึ่งพา LNG เป็นสัดส่วนที่น้อยลง แม้ราคาพลังงานในตลาดโลกจะผันผวนก็จะไม่สามารถก่อปัญหาหนักให้เราเหมือนที่เคยเป็นมาอีก

    การที่แผนนี้จะสำเร็จได้ ทาง EGAT จะต้องพร้อมที่จะทำ พร้อมจะรับความเสี่ยงของโครงการขนาดใหญ่เกือบล้านล้านบาทด้วยราคาที่แทบจะไม่มีกำไร และพร้อมที่จะทำงานที่ยากลำบากและยาวนานนับ 10 ปีอันนี้ ซึ่งผมคิดว่าเป็นหน้าที่ของส่วนกลางที่ต้องขอให้ EGAT ช่วยทำงานที่ยากลำบากนี้เพื่อส่วนรวม

    และผมก็เชื่อว่าทุกฝ่ายก็พร้อมที่จะทำงานร่วมกันเพื่อให้ไปถึงจุดหมาย เพราะนี่เป็นแผนที่ดีมากสำหรับประเทศ และแถมยังเป็นแผนที่มีความเสี่ยงน้อยมาก เพราะถ้า EGAT เกิดทำไม่ไหว ก็เพียงตัดสินใจขอหยุดทำต่อและคืนโควต้าที่เหลือนั้นพร้อมกับพื้นที่ที่เหลือเหนือเขื่อนกลับมา ภาครัฐก็จะสามารถจะเอาโควตานั้นมาทยอยเปิดให้เอกชนประมูลเพื่อเข้ามาทำต่อ ค่าไฟฟ้าอาจจะแพงขึ้นบ้าง แต่เราก็ยังคงจะมีไฟฟ้าใช้อยู่ตามปรกติ แต่ถ้า EGAT ทำได้สำเร็จทั้ง 30,000 MW นี้ ก็จะเกิดผลดีอย่างมากกับทุกฝ่าย

    ข้อสังเกตโครงการอื่นๆ

    การรับซื้อไฟฟ้าพลังน้ำจากลาว ผมค่อนข้างกังวลกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นทางท้ายน้ำสำหรับโครงการเขื่อนในลาวใต้ เพราะอาจเกิดปัญหากับประเทศกัมพูชาได้ ทั้งเรื่องสัตว์น้ำที่อาจมีจำนวนลดลงและปริมาณการไหลของน้ำที่เปลี่ยนแปลงไป ประเทศกัมพูชาเป็นเพื่อนบ้านของเรา และเขาก็ลำบากกว่าเรามาก เขาจะไม่ได้ประโยชน์อะไรเลยกับโครงการเขื่อนในแถบลาวใต้แต่มีโอกาสจะได้รับผลกระทบในเชิงลบเต็มๆ ประเทศไทยเราไม่ได้ลำบากยากแค้นถึงขนาดต้องไปทำอะไรที่จะทำให้ประเทศเพื่อนบ้านที่ยากจนกว่าเราต้องลำบาก โดยเฉพาะเมื่อมาพิจารณาว่า ท้ายน้ำของเขื่อนในลาวใต้ก็คือต้นน้ำของ โตนเลสาบ ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดกับชีวิตความเป็นอยู่ของชาวกัมพูชา เทียบเคียงได้กับแม่น้ำเจ้าพระยาของบ้านเรา ดังนั้น ถ้าเราจะซื้อไฟฟ้าจากโครงการเขื่อนในแถบนั้น เราควรถามความเห็นและได้ความยินยอมจากประเทศกัมพูชาก่อน เพื่อป้องกันการก่อความขัดแย้งระหว่างประเทศโดยไม่จำเป็น

    แนวคิดการเติมไฮโดรเจนในระบบก๊าซ โครงการนี้ แทบจะไม่มีความเป็นไปได้เลยที่จะทำได้ในราคาที่ถูกกว่าพลังงานจาก Solar หรือแม้แต่เมื่อเทียบกับ LNG ใน 13 ปีข้างหน้า เพราะเทคโนโลยียังไม่น่าจะไปถึงในระยะเวลาอันใกล้นี้ ไม่ว่าจะเป็น Blue Hydrogen หรือ Green Hydrogen (ทุกวันนี้ ยังไม่มีการขายไฮโดรเจนข้ามประเทศเป็นจำนวนมากๆ เพื่อทำไฟฟ้าเลยไม่ว่าที่ไหนในโลก เพราะราคายังไม่คุ้มค่าที่จะทำ) เราสามารถติดตามการพัฒนาของเทคโนโลยีในอีก 3-4 ปี ข้างหน้า แล้วค่อยมาตัดสินใจอีกครั้งถ้ามีการพัฒนาการที่ดีกว่าที่คาด

    ผมเข้าใจเรื่องแนวคิดที่ว่าเราต้องเตรียมตัวไว้ก่อนสำหรับสังคมไฮโดรเจนอนาคต แต่แนวคิดดังกล่าวนี้ยังไม่ตกผลึกในเชิงปฏิบัติแต่อย่างใด และมีความเป็นได้มากที่พลังงานไฟฟ้าสะอาดในอนาคตจะมาจากการใช้ Solar, Wind, Battery และ PumpHydro (SWB & P) ที่มีเทคโนลียีที่พิสูจน์แล้ว คุ้มค่าทางเศรษฐกิจแล้ว แข่งขันได้แล้ว และมีราคาลดลงอย่างต่อเนื่องชัดเจนแล้ว เมื่อเทียบกับเทคโนโลยีไฮโดรเจนที่ยังไปไม่ถึงจุดนั้น

    โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ขนาดเล็ก (SMR) ก็มีความเป็นไปได้ในเชิงเทคนิคและเชิงเศรษฐศาสตร์ต่ำมาก จนถึงทุกวันนี้ ยังไม่มีโรงไฟฟ้า SMR ที่มีการก่อสร้างเพื่อใช้งานในเชิงพาณิชย์เลย มีแต่ที่โรงขนาดทดลองที่จีนและรัสเซียอย่างละโรงที่ยังมีต้นทุนแพงมาก เราจึงไม่ควรเสียพละกำลังไปกับการเตรียมการโครงการ SMR ในเวลานี้ อันที่จริง ทางเลือกนิวเคลียร์ที่ดีกว่า SMR ก็คือการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดใหญ่แบบปรกติไปเลย และถ้าจะสร้างกันจริงๆก็ไม่ควรจะวางแผนสร้างแค่โรงเดียว ควรจะวางแผนสร้าง 2-3 โรงในที่เดียวกัน (รวมเป็น 2,000-3,000 MW) เพราะจะเป็นโรงเล็กหรือโรงใหญ่ โรงเดียวหรือสามสี่โรงในที่เดียวกัน การเตรียมการต่างๆ ทั้งทางกฏหมาย การทำความเข้าใจกับประชาชน การเตรียมบุคลากร การเตรียมพื้นที่ ฯลฯ ก็มากพอๆ กัน และคงจะใช้เวลานานพอๆกันสำหรับโรงแรก แต่ทั้งนี้ ก่อนตัดสินใจใส่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไว้ในแผน เราควรจะรอไปอีก 3-4 ปี ให้เห็นภาพชัดๆว่าเทคโนโลยีของประเทศไหนจะดีที่สุดและมีราคาถูกที่สุด และมีปัญหาทั้งระหว่างก่อสร้างและการใช้งานจริงน้อยที่สุด (ที่น่าจับตาดูคือของเกาหลีใต้และของจีน ซึ่งทำได้ดีขึ้น ราคาถูกลง และสร้างได้เร็วขึ้นเรื่อยๆ ดีกว่าคู่แข่งแทบทั้งหมด) แล้วค่อยมาดูกันอีกทีก็ยังไม่สาย

    โครงการ Pump Hydro 3 แห่งที่เราเตรียมการไว้ในแผนนี้ อาจจะไม่เพียงพอกับความต้องการในอนาคต เราควรทำการศึกษาเพิ่มเติม ทำการเวนคืน และเคลียร์พื้นที่ที่เหมาะสมเพิ่มเติมไว้ก่อน และควรจะพิจารณาพื้นที่ที่เหมาะสมในประเทศลาวไว้ด้วย เพราะทางลาวมีภูมิประเทศที่เหมาะสมสำหรับการก่อสร้าง Pump Hydro มากกว่าไทยและมีราคาที่ดินและค่าแรงที่ต่ำกว่าบ้านเรา เราจึงควรจะไปเปิดทางไว้ก่อนในจังหวะที่ต้นทุนบ้านเขายังไม่แพง และอาจจะพิจารณาสร้างที่ลาวก่อนที่ไทยด้วย เพราะการสร้างทางนั้นน่าจะสามารถทำได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าบ้านเรามากพอสมควรโดยเฉพาะในบริเวณใกล้เคียงกับที่ที่มีสายส่งมายังประเทศไทยแล้ว

    ที่มาภาพ : https://th.m.wikipedia.org/wiki/

    ส่วนสำหรับในระยะอีก 13-24 ปีข้างหน้า ผมคิดว่า คำตอบที่ดีที่สุดน่าจะอยู่ที่การต่อเชื่อมระบบสายส่งไฟฟ้าของไทยเข้าเป็นส่วนนึงของอาเซียน โดยเฉพาะกับเวียดนามที่มีศักยภาพการผลิตไฟฟ้าจากลมนอกชายฝั่งตะวันออกเป็นจำนวนมาก และจะมาเสริมได้อย่างดีกับพลังงานแสงอาทิตย์จำนวนมากในบ้านเราเพราะไฟฟ้าจากลมจะมาทั้งวันทั้งคืน (โดยกลางคืนจะมามากกว่า) นอกจากนี้ เวียดนามยังมีหน้าร้อนคนละช่วงเวลากับบ้านเราจึงมีช่วงพีคไฟฟ้าคนละเวลา ทำให้สามารถลดจำนวนเงินที่ต้องลงทุนกับระบบทั้งหมดลงไปได้อีกพอสมควร

    ในระยะถัดไปนี้ เราสามารถจะขยายการติด Floating Solar บนเขื่อนไปให้จนถึง 50,000 MW กระตุ้นให้มีการติด Solar rooftop กันในแทบทุกอาคาร และติด Solar บนดินเพิ่มอีกจนถึง 40,000-50,000 MW และเก็บไฟฟ้าที่เหลือใช้ในช่วงกลางวันไว้ในระบบแบตเตอรี่ที่จะติดตั้งเพิ่มในภายหลัง (ซึ่งน่าจะมีราคาถูกกว่าตอนนี้หลายเท่าด้วยเทคโนโลยีที่ดีขึ้นทุกวัน) และส่งไฟฟ้าที่เหลือบางส่วนไปให้ประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนกลางคืนก็ใช้ไฟฟ้าจากเขื่อน จากที่เก็บไว้ในแบตเตอรี่ จาก Pump Hydro ทั้งที่ในประเทศและที่ลาว จากโรงไฟฟ้าพลังงานลมที่ส่งมาจากเวียดนาม และเสริมด้วยโรงไฟฟ้ากังหันก๊าซที่ใช้ก๊าซจากแหล่งต่างๆ รวมทั้งจาก LNG เข้ามาเสริมในบางเวลาโดยเฉพาะในช่วงหัวค่ำที่มีอัตราการใช้ไฟฟ้าสูง

    และอาจจะจำเป็นต้องเชื่อมระบบสายส่งไฟฟ้าเข้ากับระบบของประเทศจีนด้วย เพราะระบบของจีนมีขนาดใหญ่โตมาก สามารถเป็น back-up ให้เราในช่วงที่กลางคืนที่ไม่มีลมเป็นเวลาหลายวันได้แน่นอน (เนื่องจากจะไม่คุ้มค่าที่เราจะไปสร้างระบบแบตเตอรี่และ Pump Hydro ที่ใหญ่โตขนาดนั้น เพราะคงมีเหตุให้ใช้เพียงปีละไม่กี่วัน) ในขณะเดียวกัน อาเซียนก็สามารถซื้อขายไฟฟ้าที่ผลิตหรือขาดในบางช่วงเวลาระหว่างวันกับทางจีนได้ด้วย เป็นประโยชน์ด้วยกันทุกฝ่าย

    งานในช่วง 12 ปีถัดไปนั้นจะยากกว่าในช่วง 12 ปีแรกนี้ขึ้นไปอีก เพราะเราจะมีระบบที่พึ่งไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเป็นส่วนใหญ่ การจัดการระบบไฟฟ้าจึงจะซับซ้อนมากๆ เราจึงต้องการ EGAT MEA และ PEA ที่ทั้งเก่งและเข้มแข็งเพื่อจัดการปัญหาตรงนี้ให้อยู่ ดังนั้น ช่วง 12 ปีแรกนี้จึงจะเป็นจังหวะที่ดีในการฝึกฝนองค์กรทั้งสามการไฟฟ้าฯให้พร้อมรับภาระที่หนักกว่าในอนาคตได้

    ด้วยแผนนี้ ใน 24 ปีข้างหน้า ถ้าทำสำเร็จ เราก็น่าจะเปลี่ยนระบบการผลิตไฟฟ้าของประเทศเป็นพลังงานสะอาดได้กว่า 80% มีความมั่นคง และทำได้ในราคาที่ถูกด้วย ซึ่งจะทำให้เราแข่งขันได้ในเวทีโลก ช่วยเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป

    คำถามหรือข้อโต้แย้ง

  • ทำไมต้อง 2 บาท ทำไมไม่ถูกหรือแพงกว่านี้
  • ราคา 2 บาทนี้ เป็นราคาที่ผู้ผลิตเอกชนส่วนใหญ่ไม่สามารถผลิตไฟฟ้ามาขายให้ EGAT ได้ อาจจะมีบางราย ที่อาจทำได้ในปริมาณเล็กน้อยเพียงเท่านั้น การกำหนดราคานี้ จึงช่วยลดข้อครหาว่าเป็นการยกธุรกิจที่ทำง่ายๆ ให้ EGAT ไปให้ผูกขาดสบายๆ ไปอีกหลายสิบปี และการเหมาส่วนของการปรับปรุงระบบสายส่งไปให้ด้วย ก็เพื่อให้มั่นใจว่าการไฟฟ้าฯทั้งสามต้องทำให้ดีที่สุด เพื่อทั้งลดต้นทุนการผลิตให้ยังมีกำไรเหลือ และมีการปรับระบบการผลิตและการส่งไฟฟ้าอย่างเหมาะสมในรูปแบบที่ใช้เงินลงทุนน้อยที่สุดด้วย โดยไม่ต้องมาขอค่าไฟเพิ่ม แต่ถ้าหากกำหนดราคาต่ำกว่า 2 บาท ก็มีความเป็นไปได้สูงมากที่ไม่ว่า EGAT จะทำอย่างไรก็ทำไม่ได้ หรือต้องทำแบบขาดทุนไปตลอด ซึ่งก็จะทำให้องค์กร EGAT อ่อนแอ กลายเป็นปัญหาที่หนักกว่ากว่าเดิมในอนาคตข้างหน้า

  • ทำแบบนี้ เป็นการให้อำนาจ EGAT มากเกินไป ย้อนหลังกลับไปผูกขาดการผลิตไฟฟ้าเหมือนเดิม
  • EGAT จะมีอำนาจมากขึ้นจริง ตราบใดที่ยังคงสามารถผลิตไฟฟ้าใหม่ และดูแลระบบกริดทั้งหมดในราคา 2 บาทต่อหน่วยจาก 300,000 MW นั้นได้ (และเป็น 2.20 บาทต่อหน่วยหากรับหนี้ 100,000 ล้านบาทที่รัฐบาลติดค้างอยู่ไปด้วย) ซึ่งไม่ได้ง่ายเลย และถ้าทำได้ เขาก็สมควรที่จะได้สัดส่วนการผลิตที่เพิ่มขึ้นมาตรงนั้นเพราะนั่นเป็นผลงานที่ดีที่จับต้องได้ และการกำหนดให้เอกชนสามารถผลิตไฟฟ้ามาขายผ่าน Third Party Access และแถมยังมี backstop ที่ 2 บาทที่ EGAT ต้องซื้อ ถ้าเกิดขายคนอื่นไม่ได้ ก็เป็นการเปิดโอกาสให้เกิดการแข่งขันในตลาดไฟฟ้าอยู่แล้ว

    EGAT จึงไม่ได้ผูกขาดตลาดไว้แต่อย่างใด โรงไฟฟ้าเอกชนที่ทำต้นทุนได้ถูกพอก็สามารถเข้ามาแข่งในตลาดได้ทุกเมื่อ

  • จะเป็นการปิดโอกาสของ โรงไฟฟ้าขยะ Biomass Biogas และ Wind ไปเลย
  • ไม่จริง เพราะราคา Backstop ในช่วงกลางวันจะค่อยๆ ปรับลดลงหลังปี 2575 แรกซึ่งผู้ลงทุนระบบ Solar ก็ต้องคิดให้ดี และในตลาดไฟฟ้าก็จะมีผู้ซื้อไฟฟ้าที่สนใจซื้อไฟฟ้าที่ส่งได้ทั้งวันทั้งคืนอยู่ (ซึ่ง Solar ทำไม่ได้) ผู้ผลิตในกลุ่มอื่นที่นอกเหนือจาก Solar ก็จะได้ราคาค่าไฟฟ้าดีพอสมควรโดยเฉพาะเมื่อมีการปรับราคาค่าไฟฟ้าทั่วไปให้กลางวันถูกลงและกลางคืนแพงขึ้นแล้ว (ซึ่งจะต้องทำแน่นอนเพื่อลดพีคช่วงหัวค่ำลง) เมื่อถึงเวลานั้น โรงไฟฟ้าเอกชนที่ผลิตไฟฟ้าช่วงกลางคืนได้ก็อาจจะขายผ่าน TPA ได้ราคาดีมากๆก็ได้ นี่เป็นเรื่องที่เราจะให้กลไกตลาดเป็นตัวทำงานไม่ต่างจากตลาดสินค้าและบริการอื่นๆ ใครแข่งขันได้ ก็สามารถอยู่ได้และเติบโต

  • เอกชนที่ทำ Solar farm จะได้เปรียบมากเกินไปขายไฟราคาแพงได้แถมมี backstop 2 บาท อีก
  • ก็ไม่เชิง เพราะราคา 2 บาทมีอยู่เพียงถึงปี 2575แล้วก็จะค่อยๆ ปรับลดลง บางรายที่อาจจะได้เปรียบก็เพราะต้นทุนเขาถูกจริง และราคา 2 บาทนี่ก็เป็นราคาที่ถูกมาก ถ้าเขาทำได้ เราก็ควรซื้อไฟฟ้าจากเขามากๆ อยู่แล้ว เพื่อจะได้ไปลดการซื้อ LNG ราคาแพงลงแทน สถานการณ์นี้จะเปลี่ยนไปเมื่อมี Solar เข้าระบบมากถึงจุดนึงจนต้องปรับราคาค่าไฟกลางวันให้ถูกลง เมื่อถึงเวลานั้น ความได้เปรียบของ Solar ก็จะกลายเป็นความเสียเปรียบแทน ซึ่งทั้งหมดก็เป็นเรื่องของกลไกตลาด ผู้ลงทุนต้องไปพิจารณาเอง

  • การติด Floating Solar มากขนาดนั้นจะมีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมและคุณภาพน้ำ
  • พื้นที่ที่จะติดมีไม่ถึง 20% ของพื้นที่เหนือน้ำทั้งหมด จึงน่าจะไม่มีผลกระทบรุนแรง และเนื่องจากการติดจะเป็นการติดแบบค่อยๆเพิ่มจำนวนเข้าไป จึงสามารถตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นได้ตลอด และเรายังสามารถดูผลจากการติดระบบแบบเดียวกันของประเทศอื่นได้ด้วย และสามารถชะลอการติด Floating Solar เพิ่มเติมหรือแม้แต่การย้ายระบบที่ติดแล้วไปอีกที่นึงได้ไม่ยาก หากการติดเป็นจำนวนมากเริ่มก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรงแบบที่คาดไม่ถึง

  • การทำแบบนี้ จะเป็นการใช้พื้นที่เหนือเขื่อนเป็นจำนวนมาก กระทบกับคนที่ใช้ประโยชน์พื้นที่นั้นอยู่ในตอนนี้
  • ปฏิเสธไม่ได้ว่าคงต้องมีผลกระทบบ้าง ซึ่งก็จะเป็นหน้าที่ของ EGAT และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่จะบริหารจัดการ แต่ทั้งนี้ก็ต้องพิจารณาให้ครอบคลุมด้วยว่า ผลประโยชน์ของส่วนรวมทั้งหมดอยู่ที่ไหน และถ้าจะต้องมีคนได้รับผลกระทบบ้าง เราควรจะมีการบริหารจัดการอย่างไรให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

  • การติด Solar มากขนาดนี้จะทำให้ Infrastructure บางส่วนของระบบก๊าซและ LNG ไม่ได้ถูกใช้ แต่เราก็ยังต้องจ่ายค่าพร้อมจ่าย เป็นการใช้ทรัพยากรไม่คุ้มค่า
  • ระบบ Solar จะไม่สามารถผลิตไฟในช่วงกลางคืนได้ ระบบก๊าซและ LNG จึงคงต้องทำงานหนักในช่วงดังกล่าวโดยเฉพาะในช่วงหัวค่ำของหน้าร้อนที่คงต้องทำงานหนักเป็นพิเศษ ดังนั้น คงไม่มีระบบไหนที่จะไม่ได้ใช้เลย แต่การทำเช่นนี้ ก็ทำให้เกิดความเป็นไปได้อีกทางที่จะปิดระบบเหล่านี้บางส่วนในบางวันบางเดือน เพื่อยืดอายุของระบบเหล่านี้ออกไปให้ใช้งานได้ยาวนานกว่าที่ออกแบบไว้ในตอนแรก ซึ่งก็อาจจะช่วยลดค่าใช้จ่ายลงไปได้บางส่วน ก็เป็นเรื่องที่ต้องไปเจรจากันต่อไป ส่วนค่าพร้อมจ่ายที่ต้องจ่ายก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ว่าอาจจะไม่คุ้มค่า แต่ก็อาจจะไม่เป็นเช่นนั้นก็ได้ ก็อยากให้นำตัวเลขมาพิจารณาเปรียบเทียบกันจริงๆ โดยเฉพาะเมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าจาก LNG ที่มีราคาแพงไปแล้วด้วย ว่าเมื่อเอาเทียบกับราคา Solar 2 บาท ทางไหนจะคุ้มค่ากว่ากัน

  • ทำแบบนี้ ระบบกริดจะรับไม่ไหว ต้องใช้เงินลงทุนอีกมากเกินไป
  • ยังไงเราก็ต้องไปทางที่จะต้องมีพลังงานสะอาดเข้าระบบมาเป็นจำนวนมากอยู่แล้ว และเราก็ไม่ได้เป็นผู้นำในด้านนี้แต่อย่างใด มีหลายประเทศที่ไปไกลกว่าเรามากแล้ว กริดบางแห่งใช้พลังานสะอาดเกือบ 100% ในบางเวลาแล้วด้วยซ้ำ เขาจึงได้เจอปัญหาต่างๆมามากกว่าเราแล้ว และได้พัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาเหล่านั้นไปมากแล้วด้วย แม้ส่วนใหญ่จะต้องจ่ายราคาแพงเพื่อการนี้ แต่เทคโนโลยีก็มีแนวโน้มที่ราคาจะถูกลงเรื่อยๆ เช่นกัน เราจึงสามารถใช้ประสบการณ์และเทคโนโลยีใหม่ๆ เหล่านั้นมาปรับใช้กับระบบของสายส่งของเราได้ในเวลาที่เหมาะสม

    นอกจากนี้ การออกแบบให้ EGAT เหมาค่าใช้จ่ายทั้งหมดไปในลักษณะนี้ มีข้อดีกว่าระบบปัจจุบันที่เราใช้อยู่ เพราะจะมีความพยายามอย่างมากจากทุกฝ่ายเพื่อจะลดการลงทุนให้เหลือเพียงเท่าที่จำเป็น แต่จะมีการวางแผนไว้ก่อนเป็นอย่างดีสำหรับสิ่งที่จะต้องลงทุนเพิ่มในอนาคตและมีการเตรียมการไว้ก่อนเพื่อลดค่าก่อสร้างหรือค่าลงทุน และจะมีการใช้มาตรการในการปรับพฤติกรรมของผู้ใช้ไฟให้สอดคล้องกับไฟฟ้าที่ผลิตได้มากขึ้นเพื่อลดขนาดการลงทุนและยืดเวลาที่จะต้องลงทุนจริงๆ ออกไปให้นานที่สุด (เพื่อให้เทคโนโลยีพัฒนาไปมากและมีราคาถูกลงมากก่อน) และจะมีการใช้นวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ต่างๆ เพื่อใช้ในการนี้อย่างมากด้วย ทั้งหมดก็เพราะความจำเป็นบังคับ ให้ทำทั้งหมดนี้ได้ในราคา 2 บาทต่อหน่วยนั่นเอง

    และถ้าหากทำไม่สำเร็จจริงๆ EGAT ก็เพียงแต่ยกเลิกโควตาที่เหลือที่ยังไม่ได้ติดตั้ง แล้วทุกอย่างก็จะกลับมาใช้ระบบเดิมได้ คนไทยเราก็แค่ต้องจ่ายค่าไฟแพงขึ้น ซึ่งก็ไม่ต่างจากระบบที่มีอยู่ในปัจจุบัน แต่ถ้า EGAT ทำสำเร็จ ค่าไฟเราก็จะลดลงไปได้มากพอสมควร และลดลงไปอย่างยั่งยืนด้วย เพราะราคาที่ลดลงเกิดจากฝีมือที่เก่งขึ้นของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ที่พัฒนามาจากความยากลำบากของสถานการณ์ที่ถูกออกแบบไว้นั่นเอง

  • ควรให้ EGAT เสนองาน Solar มาแข่งกันเอกชนเป็นรอบๆ จาก 20,000 MW ที่กำหนดไว้มากกว่า
  • นั่นก็เป็นอีกทางที่เป็นไปได้ แต่ทางนั้น เรายังจะต้องจ่ายค่าไฟที่แพงขึ้นจากการ upgrade ระบบสายส่งและการติดแบตเตอรี่อยู่ ในขณะที่เราจะไม่ต้องเสียค่าไฟเพิ่มในส่วนนั้นถ้าเราใช้ระบบเหมาอย่างที่ผมเสนอ นอกจากนั้น การให้ EGAT มาประมูลแข่งกับเอกชนก็อาจถูกกล่าวว่าไม่เป็นธรรม ทำให้ต้องให้ EGAT นำเสนอโครงการด้วยข้อจำกัดต่างๆ ไม่สามารถจะใช้ความเป็นรัฐมาลดต้นทุนได้ ทำให้สุดท้ายแล้ว ต่อให้ EGAT ชนะประมูล ก็จะชนะด้วยค่าไฟก็จะแพงกว่าที่ควรจะเป็น นอกจากนี้ การให้ประมูลเป็นรอบๆยังจะทำให้ขาดความแน่นอนและความต่อเนื่องว่าจะได้โครงการมาทำในอนาคตมั้ย ซึ่งทั้งสองนี้เป็นปัจจัยสำคัญในการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องเพื่อการลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพ การประมูลเป็นรอบๆ จึงทำให้การลดต้นทุนเกิดขึ้นได้ช้า และทำให้ค่าไฟก็จะแพงกว่าที่ควรจะเป็น เมื่อเทียบกับการกดราคาเหมาให้ต่ำแทบไม่มีกำไรไปเลย แล้วให้ EGAT ไปหาทางลดค่าใช้จ่ายเอาตามที่เสนอนี้

  • ด้วยเงื่อนไขแบบนี้ เป็นงานยากมากๆสำหรับ EGAT แถมอาจถูกตำหนิว่าพยายามจะกลับไปผูกขาดการผลิตไฟฟ้า ถ้าทำได้สำเร็จก็แค่เสมอตัวหรือติดลบนิดหน่อย แต่ถ้าทำไม่สำเร็จก็จะเสียชื่อเสียงเสียเครดิตองค์กรเปล่าๆ
  • อันนี้จริงเลยครับ นั่นเป็นสาเหตุที่ผมก็เสนอว่า ให้เป็นภาครัฐส่วนกลาง ที่จะเป็นฝ่ายขอให้ EGAT พิจารณาทำข้อเสนอที่ยากลำบากนี้

    เราลองมาพยายามกันดูก่อนดีมั้ยครับ ภาครัฐอาจลองถามพี่น้องประชาชนดูก่อนว่าอยากให้ EGAT ทำงานยากชิ้นนี้ให้ประชาชน เพื่อช่วยลดค่าไฟ ลดการพึ่งพิงพลังงานราคาแพงจากต่างประเทศ รักษาความมั่นคงในระบบไฟฟ้า และขับเคลื่อนพลังงานสะอาดในอัตราเร่งให้กับประเทศไทยมั้ย ถ้าคำตอบส่วนใหญ่คือไม่อยาก ผมก็เห็นด้วยนะครับว่าทำต่อไปเหมือนเดิมดีกว่า เพราะไม่รู้จะเหนื่อยเพิ่มไปทำไมถ้าประชาชนไม่ต้องการแต่ถ้าประชาชนส่วนมากบอกว่าเขาอยากให้ EGAT ได้ลองพยายามทำให้เต็มที่ดู สำเร็จไม่สำเร็จค่อยว่ากันแต่ขอให้พยายามดูก่อน ถึงตอนนั้นแล้วค่อยตัดสินใจก็ยังไม่สายครับ

    ก็ขอเสนอไว้ให้พิจารณากันนะครับ มีอะไรที่ผมเข้าใจไม่ถูกต้อง ก็ขออภัยและขอคำชี้แนะด้วย ผมก็พยายามคิดคำนวนและพยายามตรวจสอบแล้ว แต่จริงๆผมก็ไม่ใช่คนที่อยู่ในวงการไฟฟ้า จึงอาจมีความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องอยู่ระดับหนึ่ง ก็ต้องขออภัยในความผิดพลาดที่อาจจะมีไว้ล่วงหน้าด้วยครับ