ThaiPublica > Sustainability > NaTive AD > Unseen EGAT By ENGY : ‘SMART ENERGY’ ขุมพลังเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้าเพื่อชาวแม่ฮ่องสอน

Unseen EGAT By ENGY : ‘SMART ENERGY’ ขุมพลังเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้าเพื่อชาวแม่ฮ่องสอน

7 สิงหาคม 2022


จังหวัดแม่ฮ่องสอน เมืองเล็ก ๆ ท่ามกลางหุบเขา เป็นแหล่งธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์อันดับต้น ๆ ของประเทศ แต่ด้วยภูมิประเทศที่เป็นเทือกเขาสูงรายล้อมไปด้วยป่าไม้ ทั้งป่าอนุรักษ์ ป่าสงวน และอุทยานแห่งชาติ พื้นที่ลุ่มน้ำที่อุดมสมบูรณ์นี้เอง ทำให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. ไม่สามารถก่อสร้างเสาส่งไฟฟ้าแรงสูงเพื่อส่งจ่ายไฟฟ้าให้กับจังหวัดแม่ฮ่องสอนได้ มีเพียงระบบส่งไฟฟ้าขนาด 115 กิโลโวลต์ ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ที่เชื่อมโยงมาจากจังหวัดเชียงใหม่ด้วยระยะทางกว่า 170 กิโลเมตร ทำให้จังหวัดแม่ฮ่องสอนเกิดปัญหาไฟตกไฟดับบ่อยครั้ง

โครงการนำร่องการพัฒนาสมาร์ทกริดที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน กฟผ. หรือเรียกสั้นๆ ว่า ‘โครงการสมาร์ทกริด’ จึงได้เกิดขึ้นตามแผนแม่บทการพัฒนาระบบโครงข่ายสมาร์ทกริดของประเทศไทย โดยมียุทธศาสตร์การดำเนินงาน 4 ด้าน คือ

    1. ‘SMART SYSTEM’ พัฒนาระบบควบคุมและจัดการพลังงานไฟฟ้าเพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าของจังหวัด
    2. ‘SMART CITY’ ส่งเสริมการท่องเที่ยวสีเขียวด้วยเทคโนโลยีการจัดการพลังงานไฟฟ้าที่ทันสมัย
    3. ‘SMART LEARNING’ พัฒนาศูนย์การเรียนรู้ เพื่อเป็นท่องเที่ยวและแหล่งเรียนรู้ด้านพลังงาน
    4. ‘SMART ENERGY’ ที่จะสร้างแหล่งไฟฟ้าสำรองเพื่อรักษาความมั่นคงระบบไฟฟ้าให้กับเมืองแม่ฮ่องสอน ในกรณีที่สายส่งไฟฟ้าจากเชียงใหม่เกิดปัญหาขัดข้องอย่างฉุกเฉิน

วันนี้ Unseen EGAT By ENGY พาทุกท่านมาเจาะลึกถึงเรื่อง ‘SMART ENERGY’ กัน จะน่าสนใจขนาดไหน ไปติดตามกันครับ

ระบบไฟฟ้าของจังหวัดแม่ฮ่องสอนนอกจากจะอาศัยระบบส่งไฟฟ้าของ กฟภ. ที่ส่งมาจากจังหวัดเชียงใหม่เป็นหลักแล้ว ภายในแม่ฮ่องสอนเองก็มีแหล่งผลิตไฟฟ้าอยู่ด้วย มีทั้งโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนแม่สะงาและเขื่อนผาบ่อง ของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) โรงไฟฟ้าดีเซล รวมถึงโรงไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์ผาบ่อง ของกฟผ. แต่เมื่อเกิดเหตุขัดข้องในระบบส่งไฟฟ้า โดยเฉพาะช่วงหน้าฝนมักเกิดเหตุพายุพัดต้นไม้ล้มไปโดนสายส่งไฟฟ้าทำให้เกิดไฟฟ้าดับอยู่เสมอ จนทำให้จังหวัดแม่ฮ่องสอนติดอันดับจังหวัดที่ไฟฟ้าดับบ่อยที่สุดของประเทศ

‘โครงการสมาร์ทกริด’ จึงนำเทคโนโลยี “สมาร์ทกริด” เข้ามาบริหารจัดการแหล่งผลิตไฟฟ้าที่มีอยู่ในพื้นที่แม่ฮ่องสอน ให้สามารถผลิตและส่งจ่ายไฟฟ้าได้เมื่อเกิดเหตุขัดข้อง ไฟฟ้าตกไฟฟ้าดับ ทำให้เมืองแม่ฮ่องสอนยังคงมีไฟฟ้าใช้อย่างต่อเนื่อง พร้อมติดตั้งโซลาร์ฟาร์ม หรือแผงเซลล์แสงอาทิตย์ ขนาดกำลังผลิต 3 เมกะวัตต์ ในพื้นที่ กฟผ. หมู่ 12 ตำบลผาบ่อง อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน มีกำหนดแล้วเสร็จในเดือนธันวาคม 2565 เพื่อทำหน้าที่แปลงพลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานไฟฟ้า และนำไปเก็บไว้ในระบบกักเก็บพลังงาน (Battery Energy Storage System: BESS) ที่ทำหน้าที่เสมือนเป็นเครื่องสำรองไฟฟ้า คอยช่วยพยุงระบบไฟฟ้าของเมืองแม่ฮ่องสอนไว้เมื่อเกิดไฟดับ และด้วยจุดเด่นของเซลล์แสงอาทิตย์ที่มีระบบแบตเตอรี่นี้เอง ทำให้สามารถจ่ายไฟฟ้าได้ในทันที จึงทำให้เมืองแม่ฮ่องสอน มีระบบไฟฟ้าที่มั่นคงมากขึ้น

นอกจากนี้ ‘SMART ENERGY’ ยังมีแผนติดตั้งเซลล์แสงอาทิตย์บนหลังคา หรือ Solar Rooftop ขนาดกำลังผลิตรวม 200 กิโลวัตต์ ให้กับหน่วยงานราชการ ที่ทำหน้าที่บริการประชาชน อาทิ เทศบาล โรงพยาบาล ศาลากลางจังหวัดฯ และสถานีตำรวจ เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับหน่วยงาน และลดภาระของกำลังผลิตไฟฟ้าในระบบให้กับเมืองแม่ฮ่องสอนอีกด้วย

เพราะไฟฟ้านำมาซึ่งความสุขและคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน กฟผ. จึงมุ่งมั่นที่จะสร้างความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้า เพื่อให้คนไทยได้มีใช้ไฟฟ้าใช้อย่างเพียงพอและตลอดเวลา ‘โครงการสมาร์ทกริด’ ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน คือ อีกหนึ่งความตั้งใจเพื่อแก้ไขปัญหาด้านไฟฟ้าของเมืองแม่ฮ่องสอนให้มีความมั่นคง ไปพร้อมกับการรักษาสิ่งแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์ให้คงอยู่คู่เมืองแม่ฮ่องสอน โดยนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยและพลังงานสะอาดมาใช้ในการผลิตไฟฟ้า สอดคล้องกับการเป็นเมืองท่องเที่ยวสีเขียวของจังหวัดแม่ฮ่องสอน และสนับสนุนนโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอน (EGAT Carbon Neutrality) และเมื่อโครงการเสร็จสิ้น ‘โครงการสมาร์ทกริด แม่ฮ่องสอน’ จะเป็นฐานข้อมูลที่สำคัญ เป็นตัวอย่างของการพัฒนาพื้นที่ที่มีปัญหาด้านความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในประเทศไทยต่อไป