ThaiPublica > เกาะกระแส > เอกชนโวย! มหาวิทยาลัยรัฐแย่งงาน

เอกชนโวย! มหาวิทยาลัยรัฐแย่งงาน

20 มิถุนายน 2024


เอกชนโวย! มหาวิทยาลัยรัฐแย่งงานที่ปรึกษาสำรวจ – ออกแบบ – คุมงานก่อสร้าง – บริหารโครงการ เข้าข่ายงานประกอบวิชาชีพสถาปัตย์ – วิศวกรควบคุมโดยไม่มีใบอนุญาต – ใช้บุคลากร – เครื่องมือ – น้ำไฟหลวง หารายได้เสริม – หัก ‘หัวคิว’ อาจารย์เข้ามหาวิทยาลัยแค่ 15 – 25% โดยไม่ต้องเสียภาษี หวั่นกระทบการจ้างงาน – คุณภาพการศึกษาในระยะยาว วอนรัฐบาลเศรษฐาเร่งแก้ไขปัญหาด่วน

ปัญหามหาวิทยาลัยของรัฐแย่งงานเอกชน ตามที่เคยมีข่าวสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เคยเสนอผลการศึกษาปัญหาดังกล่าวเมื่อปี 2559 พบว่า ในปีงบประมาณ 2555 – 2559 มีมหาวิทยาลัยของรัฐหลายแห่ง เข้าไปรับงานที่ปรึกษาให้กับส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจประมาณ 4,219 โครงการ วงเงินตามสัญญา 14,027 ล้านบาท ในจำนวนนี้มีงานบางโครงการเข้าข่ายเป็นการประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม หรือ สถาปัตยกรรมควบคุม แต่ไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพจากสภาวิศวกร หรือ สภาสถาปนิก ซึ่งการที่มหาวิทยาลัยของรัฐ และอาจารย์มหาวิทยาลัยเข้าไปรับงานที่ปรึกษาโครงการกันเป็นจำนวนมาก ย่อมส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติงานประจำในฐานะอาจารย์ที่ต้องทำหน้าที่ และอุทิศเวลาให้กับการเรียน การสอน การวิจัย การบริการ และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมวันละ 7 ชั่วโมง ตามประกาศคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) เรื่องมาตรฐานภาระงานทางวิชาการของผู้ดำรงตำแหน่งอาจารย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ พ.ศ. 2558 และยังต้องแบ่งเวลาไปทำงานที่ปรึกษาให้กับหน่วยงานต่างๆอีกวันละ 8 ชั่วโมง ตามที่กระทรวงการคลังโดยศูนย์ที่ปรึกษาไทยได้กำหนดมาตรฐานในการคำนวณระยะเวลาการทำงานของที่ปรึกษาเอาไว้

ปี’66 มหาวิทยาลัยรัฐรับงานที่ปรึุกษา 1,265 โครงการ 2,887 ล้าน

เวลาผ่านมา 6 ปี สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า ได้ไปตรวจค้นข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างของส่วนราชการ และรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวกับงานจ้างมหาวิทยาลัย หรือ สถาบันอุดมศึกษา มาเป็น “ที่ปรึกษา” หรือ “จ้างศึกษา” ผ่านแพลตฟอร์มระบบข้อมูลการใช้จ่ายภาครัฐ ซึ่งพัฒนาโดยสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) และเว็บไซต์ actai.co พบว่ามหาวิทยาลัยของรัฐยังคงเข้าไปรับงานที่ปรึกษาให้กับส่วนราชการกันเป็นจำนวนมาก เฉพาะปี 2566 ปีเดียว มีมหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชนทั้งหมด 85 แห่ง เข้าไปรับงานที่ปรึกษา หรือ รับจ้างศึกษาโครงการต่างๆให้กับส่วนราชการประมาณ 1,265 โครงการ รวมวงเงินงบประมาณตามสัญญาจ้าง 2,887 ล้านบาท ในจำนวนนี้มี 1,016 โครงการ จัดซื้อจัดจ้างโดยใช้ “วิธีเฉพาะเจาะจง” คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 80.32% ของโครงการทั้งหมด โดยมูลค่างานที่น้อยที่สุด 9,000 บาท ไปจนถึงโครงการขนาดใหญ่มูลค่างาน 142 ล้านบาท

เอกชนโวย! ถูกเอาเปรียบ

แหล่งข่าวจากสมาชิกสภาวิศวกร กล่าวว่า ที่มาของเรื่องนี้ทางสมาชิกของสภาวิศวกร และสภาสถาปนิก เคยทำหนังสือร้องเรียนพร้อมข้อเสนอแนะไปยังหน่วยงานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.), กรมบัญชีกลาง , กระทรวงการคลัง และคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.สถาปนิก (ฉบับ) พ.ศ. ..สภาผู้แทนราษฎร แต่ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข ทำให้เกิดปัญหาการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมต่อภาคเอกชนมาจนถึงปัจจุบัน เนื่องจากภาคเอกชนต้องแบกรับภาระต้นทุนค่าใช้จ่ายประจำ ทั้งการลงทุนอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่อง หรือ ค่าเช่าอาคารสถานที่ทำการ ค่าจ้างพนักงาน ค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีเงินได้นิติบุคคล เป็นต้น

ขณะที่มหาวิทยาลัยของรัฐ หรือ มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาลทุกปี ได้รับยกเว้นภาษีทุกประเภท อาคารสถานที่ บุคลากร อุปกรณ์ เครื่องมือต่างๆ ก็มาจากเงินภาษีของประชาชน แต่ถูกนำมาใช้ในการรับจ้างหารายได้แข่งกับเอกชน และยังได้รับสิทธิและเงื่อนไขพิเศษ ตามมติ ครม.ที่เปิดช่อง ให้หน่วยงานของรัฐสามารถจ้างมหาวิทยาลัยมาเป็นที่ปรึกษา โดยใช้วิธีการจัดซื้อจัดจ้างแบบเฉพาะเจาะจงได้อีกด้วย ถามว่าภาคเอกชนจะเอาอะไรไปแข่งขันกับมหาวิทยาลัยของรัฐ?

ทั้ง ๆที่มหาวิทยาลัยของรัฐ หรือ มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ หรือ หน่วยงานในกำกับของมหาวิทยาลัย ควรต้องอุทิศเวลา ทุ่มเททรัพยากรของทางราชการ ทั้งอาจารย์ บุคลากร อุปกรณ์ และเครื่องมือต่างๆไปในเรื่องการเรียนการสอน ผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพป้อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน หรือ สนับสนุนงานด้านวิชาการ วิจัย และวิชาชีพชั้นสูงให้แก่ภาคเอกชนได้มีทักษะความรู้ที่ทันสมัยเพิ่มขึ้น (Upskill – Reskill) เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานในปัจจุบัน แต่กลับเบียดบังเวลาราชการที่ต้องใช้ในการเรียนการสอน มาหารายได้เสริม และใช้ทรัพยากรของรัฐ มารับจ้างหน่วยงานของรัฐแข่งกับภาคเอกชนโดยไม่มีขอบเขต ซึ่งสุดท้ายกลับกลายเป็นรายได้ส่วนตัวเพิ่มจากเงินเดือนประจำในฐานะอาจารย์ โดยอ้างว่าเป็นการให้บริการด้านวิชาการ งานวิจัย หรือวิชาชีพชั้นสูง

อย่างไรก็ดี หลังจากที่ พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ 2560 ออกมาบังคับใช้แทนระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กำหนด “ให้สถาบันการศึกษาที่เข้าไปรับงานออกแบบ หรือ ควบคุมงานก่อสร้าง ต้องปฏิบัติตามมาตรา 87 แห่ง พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ 2560 กำหนดให้สถาบันการศึกษาที่ไปรับงานดังกล่าว ต้องขึ้นทะเบียนกับสภาวิชาชีพนั้น ๆและต้องได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม หรือ วิศวกรรมควบคุมประเภทนิติบุคคล และต้องมีกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับของสถาบันการศึกษา หรือ หน่วยงานในกำกับของสถาบันการศึกษา กำหนดให้สามารถดำเนินการในเรื่องดังกล่าวได้” ตามที่ประธานคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐของกระทรวงการคลังเคยมีหนังสือลงวันที่ 4 มการาคม 2561 ส่งไปถึงนายกสภาสถาปนิก และสภาวิศวกร

เผยหน่วยงานรัฐจ้างมหาวิทยาลัยออกแบบ – คุมงานก่อสร้างโดยไม่มีใบอนุญาต

ส่วนสถาบันการศึกษาที่จะเข้าไปรับงานที่ปรึกษา โครงการที่เข้าข่ายเป็นการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม หรือ วิศวกรรมควบคุม ต้องปฏิบัติ ตามมาตรา 73 แห่ง พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างฯ 2560 ที่กำหนด “ให้สถาบันการศึกษาต้องขึ้นทะเบียนกับศูนย์ข้อมูลที่ปรึกษาไทยของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ หน่วยงานในสังกัดกระทรวงการคลัง และต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการขึ้นทะเบียนที่ปรึกษา 2560 ซึ่งกำหนดให้ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม หรือ วิศวกรรมควบคุม ประเภทนิติบุคคล” ตามที่ประธานคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐของกระทรวงการคลังเคยมีหนังสือลงวันที่ 9 มการาคม 2561 ส่งไปถึงผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.)

ดังนั้น การที่สถาบันการศึกษาไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม หรือ วิศวกรรมควบคุม มาประกอบการพิจารณาขึ้นทะเบียนเป็นที่ปรึกษากับศูนย์ข้อมูลที่ปรึกษาของ สบน. กระทรวงการคลัง ส่งผลให้ไม่สามารถมาขึ้นทะเบียนเป็น “ที่ปรึกษาสถาบันการศึกษาในสาขาอุตสาหกรรมก่อสร้าง” (BU) ได้ ปัจจุบันจึงยังไม่มีสถาบันการศึกษา หรือ หน่วยงานในกำกับของสถาบันการศึกษา หรือ หน่วยงานในกำกับของสถาบันการศึกษาใดได้รับการขึ้นทะเบียนสถาบันการศึกษาในสาขาอุตสาหกรรมก่อสร้าง (BU) กับศูนย์ข้อมูลที่ปรึกษาของ สบน.กระทรวงการคลัง

ปกติการจัดจ้างโดยทั่วไป หน่วยงานผู้จ้างจะกำหนดขอบเขตของงานจ้างที่ปรึกษา (Terms of Reference : TOR) โดยหน่วยงานผู้ว่าจ้างต้องระบุสาขาที่ปรึกษาที่ต้องการว่าจ้างให้ตรงกับลักษณะงานที่ประสงค์จะว่าจ้างให้ชัดเจน ไม่คลุมเครือ เช่น การจ้างที่ปรึกษาในงานที่เข้าข่ายเป็นงานวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม/วิชาชีพวิศวกรรมควบคุม ต้องกำหนดคุณสมบัติที่ปรึกษาที่ขึ้นทะเบียนในสาขาอุตสาหกรรมก่อสร้าง (BU) ซึ่งศูนย์ที่ปรึกษา สบน. กระทรวงการคลัง กำหนดให้ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรม หรือ สถาปัตยกรรมควบคุมจากสภาวิชาชีพ ตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างฯ 2560 การจ้างที่ปรึกษาตามมาตรา 73 และการจ้างบริการงานออกแบบ หรือ งานควบคุมงานก่อสร้าง ตามมาตรา 87 มีวัตถุประสงค์และความหมายแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

แต่ปรากฏว่ามีส่วนราชการ หรือ หน่วยงานของรัฐส่วนใหญ่กำหนด TOR ในการจ้างที่ปรึกษาไม่ถูกต้องตามที่กำหนดไว้ในพ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างฯ โดยมีการออกประกาศจ้างสถาบันการศึกษามาเป็นที่ปรึกษาในงานออกแบบหรือควบคุมงานก่อสร้าง ในงานที่เข้าข่ายเป็นการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม หรือวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมตามกฎกระทรวงกำหนด ตาม พ.ร.บ.สถาปนิก 2543 หรือ พ.ร.บ.วิศวกร 2542 เช่น การออกประกาศจ้างที่ปรึกษางานออกแบบ จ้างที่ปรึกษาบริหารและควบคุมงานก่อสร้าง จ้างที่ปรึกษาสำรวจออกแบบและจัดทำแผนแม่บทโครงการ เป็นต้น ซึ่งที่ถูกต้องตามกฎหมายต้องออกประกาศเป็นงานจ้างบริการ ออกแบบ จ้างบริการควบคุมงานก่อสร้าง จ้างบริการสำรวจออกแบบและจัดทำแผนแม่บทโครงการ ซึ่งถือเป็นงานบริการวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม หรือ วิชาชีพวิศวกรรมควบคุม จำเป็นต้องมีผู้รับจ้างจะต้องได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพจากสภาวิศวกร หรือ สภาสถาปนิก แต่ส่วนราชการกลับหลีกเลียงไปออกประกาศเป็นงานจ้างที่ปรึกษาแทน

หัก ‘หัวคิว’ ค่าจ้างที่ปรึกษาเข้ามหาวิทยาลัย 15-25%-อาจารย์ถูกประเมินภาษีย้อนหลัง

ถามว่าอาจารย์ตามมหาวิทยาลัยของรัฐ หรือ หน่วยงานในสังกัด เอาเวลาที่ไหนไปรับงานที่ปรึกษาตามส่วนราชการกันเป็นจำนวนมาก แหล่งข่าวจากสมาชิกสภาวิศวกร กล่าวว่า ปกติอาจารย์ตามคณะหรือภาควิชาต่าง ๆที่เป็นหน่วยงานในสังกัดมหาวิทยาลัย ไม่มีสถานะเป็นนิติบุคคลที่มีกฎหมายจัดตั้งขึ้นเป็นการเฉพาะ จึงไม่สามารถเข้าไปรับงานที่ปรึกษากับส่วนราชการได้โดยตรง ดังนั้นการทำนิติกรรมสัญญาว่าจ้างต่าง ๆ ต้องทำผ่านมหาวิทยาลัยเท่านั้น โดยมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งจะมีการออก “ระเบียบว่าด้วยค่าบริการงานวิชาการ และงานวิจัย” กำหนดให้หักเงินรายได้จากการรับจ้างเป็นที่ปรึกษา หรือ บริการทางวิชาการประมาณ 15 – 25% ของวงเงินค่าจ้างในแต่ละโครงการ เข้าเป็นรายได้ของมหาวิทยาลัย ถือเป็น “เงินกินเปล่า” ส่วนที่เหลือเป็นรายได้ของอาจารย์มหาวิทยาลัย หรือ บางโครงการนำเงินไปจ้างเอกชนให้มารับงานไปทำต่อ

บางมหาวิทยาลัยก็ถูกกรมสรรพากรตรวจสอบภาษีย้อน ถึงแม้ว่ามหาวิทยาลัยจะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีทุกประเภทไม่ว่าจะเป็นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยมีเงื่อนไขว่าเงินที่ได้รับค่าจ้างต้องเข้ามหาวิทยาลัยทั้งหมด (100%) ถึงจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีดังกล่าว ปรากฏว่า เงินค่าจ้างที่ได้รับจากหน่วยงานของรัฐถูกมหาวิทยาลัย หักเป็นค่าบริการทางวิชาการแค่ 15-25% ของวงเงินค่าจ้าง ส่วนที่เหลือจึงต้องเสียภาษีตามปกติ แต่มหาวิทยาลัยไม่สามารถนำเงินที่ได้รับหักภาษีนำส่งกรมสรรพากร เพราะได้รับยกเว้นภาษีตามประมวลรัษฎากร ที่ผ่านมามีอาจารย์ในมหาวิทยาลัยหลายแห่งถูกกรมสรรพากรตรวจสอบ และประเมินภาษีย้อนหลัง

มหาวิทยาลัยรัฐแย่งงานเอกชน ขัดรัฐธรรมนูญ หรือไม่?

นอกจากนี้ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 75 วรรค 2 ยังกำหนดเอาไว้ว่า “รัฐต้องไม่ประกอบกิจการที่มีลักษณะเป็นการแข่งขันกับเอกชน เว้นแต่กรณีที่มีความจำเป็น เพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของรัฐ การรักษาผลประโยชน์ส่วนรวม การจัดให้มีสาธารณูปโภค หรือ การจัดทำบริการสาธารณะ” ถามว่าการที่มหาวิทยาลัยของรัฐออกมารับจ้างทำงานบริการเป็นที่ปรึกษา งานบริการออกแบบ งานบริการควบคุมงานในงานวิชาชีพวิศวกรรม หรือ งานสถาปัตยกรรมควบคุมแข่งกับเอกชน ถือเป็นการกระทำที่ขัดกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ หรือไม่?

…ก่อนหน้านี้ทางสมาชิกสภาสถาปนิกและสภาวิศวกร เคยทำเรื่องร้องเรียนไปถึงรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข จึงขอฝากไปถึงนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่เคยอยู่ในแวดวงอสังหาริมทรัพย์ ให้ช่วยพิจารณาปรับปรุง หรือ แก้ไขกฎหมาย กฎระเบียบต่างๆ รวมไปถึงวิธีการหารายได้ของมหาวิทยาลัยของรัฐในลักษณะนี้ให้มีความถูกต้อง และชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการจ้างบุคลากรที่ประกอบวิชาชีพวิศวกรรม หรือ สถาปัตยกรรมของภาคเอกชนในระยะยาว โดยเฉพาะการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานรัฐต้องเปิดกว้างให้มีการแข่งขันกันด้วยคุณภาพ ควรยกเลิกการให้สิทธิหน่วยงานของรัฐใช้วิธีการจัดซื้อจัดจ้างมหาวิทยาลัยของรัฐ แบบเฉพาะเจาะจง และที่สำคัญหากเกิดคดีพิพาทกันระหว่างหน่วยงานของรัฐกับมหาวิทยาลัยของรัฐแล้ว สุดท้ายรัฐก็คือผู้เสียหาย เพราะหน่วยงานของรัฐไม่สามารถฟ้องร้องกันเองได้ รวมทั้งการปรับปรุงระบบภาษีให้มีความเป็นธรรมต่อภาคเอกชน…

  • เจาะงบฯปี’66 มหาวิทยาลัย 85 แห่ง รับงานที่ปรึกษา 1,256 โครงการ 2,887 ล้าน-ก.คมนาคมจ้างเยอะสุด