ThaiPublica > เกาะกระแส > AMRO ชี้ไทยต้องให้ความสำคัญกับการลงทุน ‘คน-โครงสร้างพื้นฐาน-อุตฯยุทธศาสตร์’ มากกว่าแจกเงิน

AMRO ชี้ไทยต้องให้ความสำคัญกับการลงทุน ‘คน-โครงสร้างพื้นฐาน-อุตฯยุทธศาสตร์’ มากกว่าแจกเงิน

7 มิถุนายน 2024


สำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน +3(ASEAN+3 Macroeconomic Research Office: AMRO) วิเคราะห์นโยบายดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาลใน Blog ที่เผยแพร่ในวันที่ 3 มิถุนายน 2567 ในหัวข้อInvesting in Thailand’s Future: Beyond the Digital Wallet โดยชี้ว่าเศรษฐกิจไทยเผชิญกับความท้าทายเชิงโครงสร้างที่มารุมเร้า มีแนวโน้มที่การเติบโตในระยะยาวลดลงอย่างต่อเนื่อง ตามหลังคู่แข่งในภูมิภาค เมื่อพิจารณาจากสภาพการณ์นี้แล้ว สิ่งสำคัญคือต้องให้ความสำคัญกับการลงทุนที่ส่งเสริมการเติบโต ทั้งในทุนมนุษย์ โครงสร้างพื้นฐาน และอุตสาหกรรมเชิงยุทธศาสตร์ มากกว่าการแจกเงินสดในวงกว้างโดยตรงให้กับประชาชน

AMRO ระบุว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 2.2% ในปี 2565-2566 ซึ่งต่ำกว่าระดับก่อนระบาดใหญ่ของโควิดและยังตามหลังประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอีกด้วย เพื่อฟื้นฟูแรงผลักดันการเติบโต รัฐบาลวางแผนที่จะเปิดตัวโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัล ซึ่งเป็นโครงการริเริ่มมูลค่า 5 แสนล้านบาท (ประมาณ 3%ของ GDP) ที่เป็นการแจกจ่ายเงิน 10,000 บาท (ประมาณ 275 ดอลลาร์สหรัฐ) ให้กับประชาชน 50 ล้านคน ซึ่งคาดว่าจะเริ่มแจกในประมาณไตรมาสที่ 4 ของปี 2567

อย่างไรก็ตาม ควรมีความรอบคอบในการใช้การแจกเงินสดระยะสั้นเพื่อกระตุ้นการเติบโตที่ซบเซา เนื่องจากเป็นการบรรเทาอาการของการเจ็บป่วยโดยไม่แก้ไขสาเหตุที่แท้จริง

แม้การเติบโตที่ชะลอตัวของประเทศไทยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาส่วนหนึ่งเนื่องมาจากปัจจัยชั่วคราว ที่อาจจะดำเนินนโยบายแบบผ่อนคลายเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจอยู่ในภาวะชะลอตัวได้(counter-cyclical policy measures) ตัวเลขการเติบโตเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความท้าทายที่น่ากังวลมากขึ้น นั่นก็คือ การลดลงอย่างต่อเนื่องของแนวโน้มการเติบโตในระยะยาว

การคาดการณ์การเติบโตในระยะยาวของประเทศไทยได้ลดลงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การคาดการณ์อัตราการเติบโตของประเทศไทยในอีก 10 ปีข้างหน้าที่เป็นเอกฉันท์อยู่ที่ประมาณ 2.4% ซึ่งน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของเมื่อ 20 ปีที่แล้ว (รูปที่ 1) และต่ำกว่าค่าเฉลี่ยประมาณ 4% ในกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งชี้ให้เห็นว่าตัวเลขการเติบโตที่ต่ำกว่ามาตรฐานในปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะได้รับการเน้นย้ำจากแรงกดดันด้านความท้าทายเชิงโครงสร้างระยะข้างหน้าที่มากขึ้น

ตัวอย่างเช่น ความอ่อนแอที่เรื้อรังของภาคการผลิตได้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อแรงส่งการเติบโตของไทย การผลิตภาคอุตสาหกรรมในประเทศไทยหดตัวในช่วง 6 ไตรมาสที่ผ่านมา เนื่องจากทั้งปัจจัยเชิงวัฏจักร (เช่น การส่งออกที่อ่อนแอ และสินค้าคงคลังที่ลดลง) และการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในความต้องการผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมทั่วโลก

สินค้าจำนวนมากที่ไทยมีข้อได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ เช่น ฮาร์ดดิสค์ และรถยนต์ประเภทเครื่องยนต์สันดาปภายใน กำลังเผชิญกับการลดลงของอุปสงค์ทั่วโลกเชิงโครงสร้าง (รูปที่ 3 และ 4) ด้วยเหตุนี้ การตอบสนองของไทยต่อการฟื้นตัวของการค้าโลกในภาคการผลิต โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่มีเทคโนโลยีสูงและพลังงานหมุนเวียน จึงค่อนข้างเชื่องช้าเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค (Figure 2).

โครงการกระเป๋าเงินดิจิทัลช่วยแก้ไขจุดอ่อนด้านอุปทานเหล่านี้ได้เพียงเล็กน้อย นอกจากนี้ เงินกู้ของรัฐจำนวนมากที่จัดสรรให้กับโครงการนี้จะเพิ่มภาระหนี้ และจำกัดความสามารถของรัฐบาลในการรับมือกับผลกระทบทางเศรษฐกิจในอนาคต

โครงการนี้คาดว่าจะทำให้การขาดดุลการคลังเพิ่มขึ้นเป็น 4.4% ของ GDP ในปีงบประมาณ 2568 ซึ่งถือเป็นการขาดดุลที่สูงเป็นประวัติการณ์ ยกเว้นในช่วงที่มีการระบาดใหญ่ และจะดันหนี้สาธารณะให้อยู่ที่ 67% ของ GDP ภายในปีงบประมาณ 2569 ซึ่งใกล้กับเพดานหนี้ 70% ที่รัฐบาลกำหนดและเกณฑ์หนี้ระหว่างประเทศที่ไม่กระทบต่อเสถียรภาพสำหรับประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ การทดสอบภาวะวิกฤติ(Stress tests)ชี้ให้เห็นว่าแรงกระแทก(shocks) ต่อการเติบโตของ GDP ที่แท้จริงหรือต้นทุนการกู้ยืมอาจผลักดันอัตราส่วนหนี้สินให้เกินเพดานนี้(รูปที่ 6)

นอกจากนี้ ผลกระทบเล็กน้อยของโครงการต่อการใช้จ่ายภาคเอกชนอาจเด่นชัดน้อยกว่าที่คาดไว้ เนื่องจากการบริโภคภาคเอกชนมีการเติบโตที่แข็งแกร่งเมื่อเร็ว ๆ นี้

การคาดการณ์การเติบโตในระยะสั้นจากโครงการนี้ยังไม่แน่นอน ตัวคูณทางการคลังอาจถูกจำกัด เนื่องจากเงินที่ใช้ในโครงการจากงบประมาณปี 2567-2568 อาจบีบรายจ่ายสาธารณะที่สำคัญอื่นๆ นอกจากนี้ ผลกระทบส่วนเพิ่ม(marginal impact) ของโครงการต่อการใช้จ่ายภาคเอกชน อาจน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากการบริโภคภาคเอกชนล่าสุดเติบโตแข็งแกร่ง (รูปที่ 5) โดยขยายตัวมากกว่า 7% ในปี 2566

แม้จะมีข้อกังวลเหล่านี้ แต่การใช้จ่ายภาครัฐยังคงมีความสำคัญต่อการฟื้นฟูและรักษาแรงส่งการเติบโตในประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การใช้จ่ายภาครัฐซึ่งที่เผชิญกับพื้นที่ทางการคลังที่แคบลง มีประสิทธิภาพในการสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ก็อาจจะปรับนโยบายให้เจาะจงตรงเป้าหมายมากขึ้น เพราะมีต้นทุนทางการเงินที่ต่ำลงอย่างมาก ตัวอย่างเช่น อาจจะปรับโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัลให้จำกัดวงมากขึ้น โดยการสนับสนุนครัวเรือนที่มีรายได้น้อยและผสมผสานกับโครงการสวัสดิการและการคุ้มครองทางสังคมที่มีอยู่ นอกจากนี้ การแจกเงินแบบเจาะจงเป้าหมายจากโครงการนี้ยังสามารถใช้เพื่อสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ซึ่งได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากการแพร่ระบาดและยังคงดิ้นรนเพื่อฟื้นตัว

ที่สำคัญกว่านั้น เนื่องจากการเติบโตที่ชะลอตัวของประเทศไทยเกิดจากอุปสงค์ภายนอกที่อ่อนแอและความต้องการผลิตภัณฑ์ส่งออกทั่วโลกที่ลดลงเชิงโครงสร้างมากกว่าอุปสงค์ภาคเอกชนที่อ่อนแอ การใช้จ่ายภาครัฐจึงควรมุ่งเน้นเชิงยุทธศาสตร์ไปที่การลงทุนที่ส่งเสริมการเติบโต ตัวอย่างเช่น การเพิ่มการลงทุนภาครัฐในด้านทุนมนุษย์และโครงสร้างพื้นฐาน ที่สามารถช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในระยะยาว การวางตำแหน่งทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นเพื่อดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) และชิงส่วนแบ่งตลาดท่ามกลางการค้าโลกที่กำลังปรับเปลี่ยนรูปแบบ

ประเทศไทยมีข้อได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบที่สำคัญหลายประการที่ดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ทำเลที่ตั้งเชิงยุทธศาสตร์ในใจกลางภูมิภาคอาเซียน+3 คลัสเตอร์การผลิตที่ได้รับการพัฒนาอย่างดี ความพร้อมของการจัดหาวัตถุดิบในประเทศ มีพลังงานที่มั่นคงและเครือข่าย 5G สิ่งอำนวยความสะดวกคุณภาพสูง และไลฟ์สไตล์ที่ดึงดูดใจสำหรับชาวต่างชาติ และตลาดภายในประเทศขนาดใหญ่ เป็นสิ่งที่ดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่โดดเด่นในด้านพื้นที่จัดเก็บข้อมูลบนคลาวด์ รถยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ บริการทางการแพทย์ เทคโนโลยีชีวภาพ และอวกาศในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

เพื่อรักษาความได้เปรียบทางการแข่งขันในภูมิทัศน์โลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รัฐบาลไทยจำเป็นต้องเสริมสร้างความได้เปรียบที่มีอยู่ต่อไป ในขณะเดียวกันก็จัดการกับข้อกังวลในระยะยาว เช่น จำนวนประชากรสูงอายุ การเติบโตของผลิตภาพที่ซบเซา ตลอดจนการขาดทักษะและโครงสร้างพื้นฐานที่จะรองรับคลื่นปฏิวัติลูกใหม่ของเทคโนโลยี

ประเทศไทยมีโครงการส่งเสริมการเติบโตมากมายอยู่แล้ว เช่น โครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(Eastern Economic Corridor:EEC) และโครงการริเริ่ม Ignite Thailand การให้ความสำคัญกับการนำไปปฏิบัติมากขึ้นและความมุ่งมั่นที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้นในการลงทุนที่จะ “พลิกเกม” เพื่อพัฒนาความได้เปรียบเชิงยุทธศาสตร์ในภาคส่วนที่เกิดขึ้นใหม่ เป็นสิ่งจำเป็นในการใช้ศักยภาพของภาคส่วนเหล่านั้นอย่างเต็มที่

แม้ว่าโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัลอาจช่วยกระตุ้นการเติบโตชั่วคราว แต่ก็ไม่น่าจะส่งผลกระทบอย่างยั่งยืนต่อการเติบโตตามศักยภาพของประเทศไทย หากไม่มีการยกระดับปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนเพื่อเพิ่มผลิตภาพ การเติบโตที่พุ่งสูงขึ้นจะหายไปอย่างรวดเร็ว และการเติบโตจะกลับไปสู่แนวโน้มระยะยาวที่เป็นอยู่

เพื่อให้บรรลุการเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุม การใช้จ่ายภาครัฐควรถูกจัดสรรไปกับการลงทุนในด้านทุนมนุษย์ โครงสร้างพื้นฐาน และอุตสาหกรรมเชิงยุทธศาสตร์ให้ดีขึ้น การใช้ศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างเต็มที่นั้นจำเป็นต้องมองข้ามระยะสั้น และมีนโยบายที่มุ่งเน้นไปที่การเพิ่มผลิตภาพและความสามารถในการแข่งขันของคนรุ่นปัจจุบันและอนาคตของคนไทยแทน