ThaiPublica > คอลัมน์ > รถไฟฟ้าน่ะเหรอ ไม่ดีไปทั้งหมดหรอก

รถไฟฟ้าน่ะเหรอ ไม่ดีไปทั้งหมดหรอก

27 เมษายน 2024


ธงชัย พรรณสวัสดิ์ ประธานที่ปรึกษา มูลนิธิสถาบันการเดินและการจักรยานไทย

รถยนต์ไฟฟ้ากับรถไฟฟ้า ต่างกันอย่างไร

เมื่อพูดถึงรถยนต์ไฟฟ้าคนไทยจะนึกถึงรถ EV หรือรถที่ใช้แบตเตอรีเก็บพลังงานไฟฟ้าไว้ในรถ (ที่ชอบเรียกกันในชื่อว่า รถ BEV) แล้วเอาพลังงานไฟฟ้านั่นแหละมาเป็นตัวขับเคลื่อนรถ แทนการใช้พลังงานจากการเผาน้ำมันในเครื่องยนต์

รถแบบนี้จะไม่มีเครื่องยนต์เลย ชื่อที่ถูกต้องเราจึงต้องเรียกรถนี้ว่า “รถไฟฟ้า” (electric car เพราะ car คือรถ และ electric คือไฟฟ้า) ไม่ใช่รถยนต์ไฟฟ้า ก็จะเรียกว่ารถยนต์ไฟฟ้าได้อย่างไรเล่าในเมื่อมันไม่มีเครื่องยนต์เลยนิ

แต่ถ้าเป็นรถไฟฟ้าที่มีเครื่องยนต์ด้วยล่ะจะเรียกว่าอะไรถ้างั้น อย่างนี้ก็ต้องเรียกว่ารถยนต์ไฟฟ้า(hybrid car หรือรถไฮบริด) ถูกต้องแล้วคร้าบ !

อย่างไรก็ตาม เมื่อพูดถึงรถไฟฟ้า(ไม่มีคำว่ายนต์)คนไทยกลับนึกภาพไปถึงรถขนส่งมวลชนแบบ BTS และ MRT ซึ่งเป็นรถที่วิ่งบนราง รวมทั้งมีหลายตู้ต่อๆกันและวิ่งตามกันเป็นขบวนรถไฟ อันนี้จึงไม่ใช่ electric car แต่เป็น electric train ซึ่งต้องเรียกว่ารถไฟไฟฟ้า ไม่เหมือนกันกับรถไฟฟ้านะคร้าบ

เอาละ นอกเรื่องไปนิดนึง คราวนี้กลับมาเข้าเรื่อง

ข้อดีของรถไฟฟ้า

ข้อดีของรถไฟฟ้า(หมายถึง electric car นะครับ)มีมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการประหยัดตัง การลดมลพิษโดยเฉพาะฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 การลดอุณหภูมิของเมือง การลดสภาวะโลกร้อนหรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งไม่มีมลพิษเสียงด้วย

แต่ความที่รถไฟฟ้ามีข้อดีมากมายนี่เองทำให้หลายคนหลงทิศไปหน่อย จนคิดเลยเถิดไปว่ารถไฟฟ้า(car)หรือแม้กระทั่งรถยนต์ไฟฟ้า(รถ hybrid)นี้เป็นคำตอบสุดท้ายที่ตอบได้เบ็ดเสร็จ ถ้าใช้กันแยะๆทั่วบ้านทั่วเมืองแล้วจะตอบโจทย์ได้ทุกอย่าง แต่มันไม่จริงอย่างนั้นน่ะสิ ทำไมหรือ เรามาดูกัน

ทำไมรถไฟฟ้าจึงตอบโจทย์ไม่ได้เบ็ดเสร็จ

แม้เราจะเปลี่ยนรถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลไปเป็นรถไฟฟ้า หรือรถที่ใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจน หรือแม้กระทั่งรถที่ขับเคลื่อนด้วยตัวเอง ทั้งหมดนี้แม้จะมีข้อดีมากมายก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้หมด คือบนถนนรถก็ยังติดมากถึงมากๆ (ดูรูป)

ที่จอดรถก็ยังหาไม่ได้ คนจนก็ยังไม่สะดวกเพราะต้องเดินทางด้วยรถเมล์ที่การบริการยังไม่ได้ปรับปรุงให้ดีขึ้นนัก นักเรียนยังไปโรงเรียนสาย คนทำงานต้องใช้เวลามากในการเดินทางไปทำงาน รถพยาบาลอาจมารับผู้ป่วยฉุกเฉินได้ไม่ทัน

ค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจของแต่ละคนและของสังคมไม่ได้ลดลง อุบัติเหตุอาจมีมากขึ้นเพราะความเงียบของรถไฟฟ้าหรือรถเชื้อเพลิงไฮโดรเจนเนื่องจากไม่มีเสียงดังของเครื่องยนต์ ตลอดจนปัญหาอย่างอื่นที่ยังมีอีกไม่น้อย

สรุปคือคนที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ เช่น กรุงเทพมหานคร ก็ยังมีวิถีชีวิตในระบบจราจรที่ติดหนึบ จึงยังหงุดหงิดและเครียดเช่นเดิม สุขภาพจิตของคนในสังคมไม่ได้ดีขึ้น แม้กระทั่งคนที่ใช้รถไฟฟ้าเป็นยานพาหนะสำหรับเดินทางก็ต้องได้รับผลกระทบนี้เช่นเดียวกับคนอื่นๆในเมือง
จึงอยากจะกระตุกความคิดของทุกคน โดยเฉพาะผู้บริหารเมือง ไว้สักหน่อยว่า อย่าไปคิดว่าเมื่อมีรถไฟฟ้าหรือ electric car หรือรถไฮโดรเจนเต็มบ้านเต็มเมืองแล้วบ้านเมืองจะไม่มีปัญหาอะไรอีกเลย

แล้วทางออกคืออะไร

ระบบขนส่งมวลชนแบบรถไฟไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นรถไฟไฟฟ้าในเมือง ชานเมือง หรือความเร็วสูง ล้วนเป็นคำตอบที่ใคร ๆ ก็รู้ และรู้ด้วยว่าระบบฯที่ดี ๆ ของทุกประเทศทั่วโลกนั้นเขาจะไม่ดีเฉพาะตัวระบบรถไฟไฟฟ้านั้นๆ แต่เขาต้องมีระบบป้อนผู้โดยสารหรือ feeder ที่ดีให้แก่ระบบขนส่งมวลชนพวกนั้นด้วย

ระบบป้อนผู้โดยสารที่ทุกประเทศใช้กันแน่ๆคือระบบและโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการเดินและการใช้จักรยาน โดยทำให้ละแวกใกล้สถานีขนส่งฯตลอดจนป้ายรถเมล์และท่าเรือเมล์นั้นมัน walkable และ bikeable คือเดินและใช้จักรยานไปที่สถานีหรือท่าเรือได้จริง ปลอดภัย และสะดวกสบายตามควร

สำหรับเมืองไทย ต้องคิดแถมเผื่อเอาไว้ล่วงหน้าเลยด้วย ว่าเมืองต้องทำอย่างไรที่จะให้มีระบบของพี่วิน สามารถมาอยู่กับระบบการเดินและการใช้จักรยานของชาวบ้านได้อย่างเป็นมิตรแก่กันและกัน

ทำได้แบบนี้ เราจะตอบโจทย์ได้ทั้งการส่งเสริมรถไฟฟ้า รถไฟไฟฟ้า และการลดมลพิษ ลดความเครียด ลดค่าใช้จ่าย รวมไปถึงลดคาร์บอนที่เอาไปอ้างกับสังคมนานาชาติได้ว่าไทยเราได้มีส่วนลดโลกร้อนแล้วด้วยนะ

ถึงเวลาต้องทำแล้วครับ ไม่ทำไม่ได้แล้ว