ThaiPublica > ประเด็นร้อน > Research Reports > EIC > EIC เจาะลึก แฟชั่นมือสอง “Resale fashion”…เชื่อมต่อระหว่างสไตล์กับความยั่งยืน

EIC เจาะลึก แฟชั่นมือสอง “Resale fashion”…เชื่อมต่อระหว่างสไตล์กับความยั่งยืน

2 ธันวาคม 2023


ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ SCB EIC ขอนำส่งบทวิเคราะห์ เรื่อง“แฟชั่นมือสอง…เชื่อมต่อระหว่างสไตล์กับความยั่งยืน”โดยมองว่า

……
มูลค่าแฟชั่นมือสองเติบโตมากกว่า 3 เท่าของมูลค่าตลาดเสื้อผ้าในปี 202
ธุรกิจแฟชั่นมือสองมีบทบาทมากขึ้นในวงการแฟชั่น โดยคาดว่ามูลค่าเสื้อผ้ามือสองจะเติบโตเร็วกว่าตลาดเสื้อผ้าทั่วไปถึง 3 เท่าในปี 2027 ธุรกิจแฟชั่นมือสองหรือ ‘Resale fashion’ ได้เข้ามามีบทบาทที่น่าสนใจและได้รับการตอบรับอย่างกว้างขวาง ไม่เพียงแต่การซื้อขายเสื้อผ้ามือสองจะช่วยผู้บริโภคประหยัดค่าใช้จ่าย แต่ยังช่วยให้เกิดการลดการใช้ทรัพยากรและปริมาณขยะ เว็บไซต์ Marketplace ของสินค้าแฟชั่นมือสองสัญชาติอเมริกันอย่าง ThredUp ได้ประมาณการการเติบโตของมูลค่าตลาดแฟชั่นมือสองของโลกไว้ที่ราว 3.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยคาดว่าอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 12% ในช่วงปี 2024-2027 โดยมีภูมิภาคเอเชียเป็นตลาดใหญ่สำหรับสินค้าแฟชั่นมือสอง

แฟชั่นมือสองเปิดโอกาสให้ทั้งผู้ค้าปลีก ผู้บริโภค และส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม
อุตสาหกรรมแฟชั่นมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รวมถึงการเข้ามามีบทบาทสำคัญของตลาดการขายสินค้าแฟชั่นมือสอง ซึ่งเป็นโอกาสที่สำคัญให้กับผู้ค้าปลีกสร้างรายได้และเข้าถึงลูกค้ากลุ่มใหม่พร้อมทั้งเพิ่ม Brand loyalty และข้อมูลตลาดเพื่อพัฒนาสินค้าที่ตอบโจทย์ลูกค้ามากขึ้น อีกทั้ง การซื้อสินค้าแฟชั่นมือสองเพิ่มความคุ้มค่าให้ผู้บริโภคด้วยการเข้าถึงแบรนด์ดังในราคาที่เอื้อมถึง พร้อมส่งเสริมการบริโภคที่ยั่งยืนและเปิดโอกาสในการค้นหาสินค้าที่มีเอกลักษณ์และหายาก นอกจากนี้ สินค้าแฟชั่นมือสองเป็นหนึ่งในทางเลือกที่ผู้บริโภคสามารถรักษาสิ่งแวดล้อมและลดการใช้ทรัพยากร การสนับสนุนสินค้าแฟชั่นมือสองจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ประหยัดทรัพยากร น้ำ และพลังงาน ลดจำนวนเสื้อผ้าเก่าที่ไปจบลงที่หลุมฝังกลบหรือเตาเผา

แบรนด์สินค้าแฟชั่นเข้ามาเป็นผู้เล่นในตลาดสินค้าแฟชั่นมือสองมากขึ้น
ตลาดสินค้าแฟชั่นมือสองมีศักยภาพที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทำให้แบรนด์สินค้าแฟชั่นต่าง ๆ เริ่มเข้ามาเป็นผู้เล่นในตลาดสินค้าแฟชั่นมือสองมากขึ้น โดยทั่วไปสามารถพบการ Resale ของแบรนด์สินค้าอยู่ 2 รูปแบบที่เป็นที่นิยมคือ 1) แบรนด์หรือผู้ค้าปลีกเก็บรวบรวมสินค้าแฟชั่นมือสองของแบรนด์ตัวเองจากลูกค้าและเสนอตัวเลือกการขายสินค้ามือสองโดยตรงภายในร้านค้าหรือแพลตฟอร์มออนไลน์ของร้านค้า และ 2) แบรนด์หรือผู้ค้าปลีกร่วมมือกับแพลตฟอร์มออนไลน์ที่มีศักยภาพสูงเพื่อขายสินค้าแฟชั่นมือสองที่ได้รับการรับรองจากทางแบรนด์

ตลาดแฟชั่นมือสองในไทยมีศักยภาพในการเติบโตได้อีกมาก โดยเฉพาะช่องทางออนไลน์ที่เติบโตสูง
ไม่เพียงแต่ตลาดสินค้าแฟชั่นมือสองในตลาดโลกเติบโตได้ดี ตลาดแฟชั่นมือสองในประเทศไทยเองก็น่าจับตามอง โดย SCB EIC คาดการณ์ว่า ในปี 2023 มูลค่าตลาดแฟชั่นมือสองของไทยจะเติบโตต่อราว 20% โดยมีมูลค่าตลาดอยู่ที่ประมาณ 1,800 ล้านบาท และในระยะข้างหน้า คาดว่าจะยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ราว 15% ในปี 2024-2027 เนื่องจากการซื้อสินค้าแฟชั่นมือสองได้รับการยอมรับมากขึ้นจากผู้บริโภคไทย อีกทั้ง การตื่นตัวด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการตระหนักถึงผลกระทบของกระบวนการผลิตสินค้าแฟชั่นต่อสิ่งแวดล้อมที่มากขึ้น

ผู้ประกอบการค้าปลีกสินค้าแฟชั่นสามารถต่อยอดพัฒนารูปแบบการขายสินค้าแฟชั่นมือสองเพื่อเพิ่มรายได้
รูปแบบการขายสินค้าแฟชั่นมือสองสามารถพัฒนาได้ 2 รูปแบบ คือ 1) ผู้ประกอบการค้าปลีก/เจ้าของแบรนด์พัฒนาช่องทางการขายทั้งหน้าร้านและออนไลน์ของตน โดยขายเฉพาะสินค้าจากร้านของตน และ 2) ผู้ประกอบการค้าปลีกเข้ามาพัฒนาแพลตฟอร์มการขายสินค้าแฟชั่นมือสองสำหรับสินค้าหลากหลายแบรนด์ อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการที่ต้องการเข้าสู่ตลาดสินค้าแฟชั่นมือสองต้องเผชิญกับความท้าทายหลายประการ รวมถึงต้นทุนในการพัฒนาระบบรับซื้อและจำหน่ายสินค้า ความเสี่ยงที่สินค้ามือสองอาจแบ่งยอดขายของสินค้าใหม่ และความซับซ้อนในการจัดการสินค้าคงคลัง นอกจากนี้ ยังต้องมีความชำนาญในการตรวจสอบสินค้าและสร้างความน่าเชื่อถือในการขาย ผู้ประกอบการจะต้องรับความเสี่ยงหากไม่สามารถขายสินค้าออกไปได้ สำหรับผู้ประกอบการที่อยู่ในตลาดสินค้าแฟชั่นมือสองอยู่แล้ว อาจเผชิญกับการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นจากผู้ประกอบการใหม่และแบรนด์ที่หันมาสนใจตลาดนี้มากขึ้น

……

ตลาดแฟชั่นมือสองของโลกมีการเติบโตอย่างไร?

ธุรกิจแฟชั่นมือสองมีบทบาทมากขึ้นในวงการแฟชั่น แบรนด์แฟชั่นต่าง ๆ ให้ความสนใจและเข้าร่วม เป็นส่วนหนึ่งในการขายสินค้ามือสองในอุตสาหกรรมแฟชั่น โดยคาดว่าในช่วงปี 2027 มูลค่าตลาดเสื้อผ้ามือสองของโลกจะเติบโตเร็วกว่าตลาดเสื้อผ้าทั่วไปถึง 3 เท่า ในยุคที่โลกกำลังเผชิญหน้ากับความท้าทาย ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม รวมไปถึงประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความตระหนักรู้ในการบริโภคที่ยั่งยืนกลายเป็นเรื่องที่ผู้บริโภคให้ความสนใจมากขึ้น

ภายใต้ความท้าทายเหล่านี้ ธุรกิจแฟชั่นมือสองหรือ ‘Resale fashion’ ได้เข้ามามีบทบาทที่น่าสนใจและได้รับการตอบรับอย่างกว้างขวาง ไม่เพียงแต่การซื้อขายเสื้อผ้ามือสองจะช่วยผู้บริโภคประหยัดค่าใช้จ่าย แต่ยังช่วยให้เกิดการลดการใช้ทรัพยากรและปริมาณขยะ เว็บไซต์ Marketplace ของสินค้าแฟชั่นมือสองสัญชาติอเมริกันอย่าง ThredUp ได้ประมาณการเติบโตของมูลค่าตลาดแฟชั่นมือสองของโลกในปี 2024-2027 เติบโตเฉลี่ยปีละ 12% ส่งผลให้ในปี 2027 มูลค่าตลาดสินค้าแฟชั่นมือสอง จะมีมูลค่าราว 3.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีภูมิภาคเอเชียเป็นตลาดใหญ่สำหรับสินค้าแฟชั่นมือสอง ที่มีส่วนแบ่งการตลาดถึง 41% (รูปที่ 1)

ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของ ThredUp

Boston Consulting Group (BCG) ชี้ว่าในปี 2022 ยอดขายของสินค้าแฟชั่นมือสองในโลกมีสัดส่วนราว 3-5% ของมูลค่าตลาดแฟชั่น และคาดว่าตลาดนี้มีศักยภาพเติบโตได้อีกมาก โดยคาดว่าจะมีสัดส่วนสูงถึง 40% ของมูลค่าตลาดแฟชั่นทั้งหมดในอนาคต ทั้งนี้จากการสำรวจพบว่า ผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าแฟชั่นมือสองมีการตัดสินใจซื้อจากหลายปัจจัย โดยปัจจัยที่สำคัญที่สุดคือ ความคุ้มค่าและการเข้าถึง ซึ่งมีผู้ตอบแบบสอบถามสูงถึงกว่า 50%

ตามมาด้วยความหลากหลายและเอกลักษณ์ของสินค้า ที่มีผู้ตอบแบบสอบถามประมาณ 40% ส่วนปัจจัยด้านความยั่งยืนก็ได้รับความสนใจไม่น้อย โดยราว 40% ของผู้ตอบแบบสอบถามให้ความสำคัญด้านนี้ และสุดท้ายคือ ความตื่นเต้นในการค้นหาและการต่อรองราคา โดยมีผู้ตอบแบบสอบถามประมาณ 35% ที่เห็นด้วยกับปัจจัยนี้

ผลสำรวจจาก BCG เกี่ยวกับประเภทสินค้าแฟชั่นมือสอง พบว่าผู้บริโภคที่ซื้อสินค้ามือสองในจำนวนน้อยชิ้นต่อปี มักจะเลือกซื้อสินค้าในกลุ่มกระเป๋าและรองเท้าเป็นหลัก โดยคาดว่าสินค้าประเภทนี้ส่วนใหญ่น่าจะเป็นสินค้า Luxury ที่มีคุณภาพดีและมีราคาที่สูงกว่าสินค้าประเภทอื่น ในทางกลับกัน กลุ่มผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าแฟชั่นมือสองในจำนวนมากขึ้น มักจะมุ่งเน้นที่การซื้อเสื้อผ้าที่มีราคาที่ไม่สูงนัก ซึ่งทำให้ผู้บริโภคสามารถซื้อสินค้าประเภทนี้ได้บ่อยครั้งกว่า (รูปที่ 2)

ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของ Vestiaire Collective survey results and proprietary data และ BCG

แฟชั่นมือสองเปิดโอกาสให้ทั้งผู้ผลิต ผู้บริโภค และส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม

ตลาดสินค้าแฟชั่นมือสองเป็นโอกาสสำคัญให้กับผู้ค้าปลีกในการเพิ่มรายได้และเข้าถึงลูกค้ากลุ่มใหม่ได้ ขณะที่ผู้บริโภคจะสามารถเข้าถึงสินค้าได้มากขึ้นและตอบโจทย์การบริโภคอย่างยั่งยืน ทั้งนี้อุตสาหกรรมแฟชั่นเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปทั่วโลก อย่างไรก็ดี อุตสาหกรรมประเภทนี้ก็มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกระแสนิยมที่มักจะเปลี่ยนไปตามความนิยมทางแฟชั่น สังคม นวัตกรรมใหม่ ๆ ที่เข้ามา ทั้งในด้านการผลิตและการจัดจำหน่าย และที่กำลังเห็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ดังนั้น การเข้ามามีบทบาทสำคัญของตลาดการขายสินค้าแฟชั่นมือสอง จึงเป็นโอกาสที่สำคัญให้กับทั้งผู้ค้าปลีก และผู้บริโภค

  • โอกาสสำหรับผู้ค้าปลีก
    • -การเพิ่มช่องทางในการสร้างรายได้ : การเพิ่มตัวเลือกสินค้าแฟชั่นมือสองเข้าไปในช่องทางการขายของร้านค้าปลีกจะช่วยเพิ่มความหลากหลายของสินค้า และเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้มากขึ้น
      -การสร้าง Brand loyalty และ Engagement : หากร้านขายสินค้าแฟชั่นมือหนึ่งมีการเพิ่มบริการเสริมให้ลูกค้าสามารถซื้อขายและแลกเปลี่ยนสินค้าแฟชั่นมือสองได้ จะเพิ่มความไว้วางใจต่อแบรนด์ และเพิ่มการกลับมาซื้อซ้ำของสินค้าแฟชั่นมือหนึ่ง
      -การเข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่มากขึ้น : สินค้าแฟชั่นบางอย่างมีราคาที่ค่อนข้างสูง ทำให้ผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อจำกัดไม่สามารถเข้าถึงได้ หากร้านค้าเพิ่มสินค้ามือสองเป็นทางเลือกให้ลูกค้า ก็จะสามารถเข้าถึงลูกค้าที่มีกำลังซื้อจำกัดกลุ่มนี้ได้
      -เพิ่มข้อมูล Market insights : ร้านค้าที่นำเสนอขายสินค้าแฟชั่นมือสองมีโอกาสที่จะเก็บข้อมูลจากผู้บริโภคและสินค้า เกี่ยวกับอายุการใช้งานของสินค้า ความชอบและกระแสนิยมในกลุ่มผู้บริโภค ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการออกแบบและพัฒนาสินค้าให้ตอบโจทย์ลูกค้ามากขึ้นต่อไป

  • โอกาสสำหรับผู้บริโภค
    • -ความคุ้มค่าที่เพิ่มขึ้น : สินค้าแฟชั่นมือสอง ทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงสินค้าแบรนด์ดังที่มีคุณภาพสูงในราคาที่ถูกกว่าและตอบโจทย์ในสถานการณ์กำลังซื้อที่ยังมีความเปราะบาง
      -การบริโภคที่ยั่งยืน : สินค้าแฟชั่นใช้ทรัพยากรในกระบวนการผลิตอย่างฟุ่มเฟือยและปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เข้าสู่ชั้นบรรยากาศจำนวนมาก การลดการซื้อสินค้าแฟชั่นใหม่ ๆ จะช่วยลดกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
      -สินค้าที่มีเอกลักษณ์ : ตลาดสินค้าแฟชั่นมือสองเป็นแหล่งที่ผู้บริโภคสามารถค้นหาสินค้าที่มีเอกลักษณ์ และสินค้าที่หายาก เช่น สินค้าวินเทจ ซึ่งผู้บริโภคสามารถออกแบบแฟชั่นของตัวเองได้อย่างแตกต่าง

    นอกจากนี้ สินค้าแฟชั่นมือสองยังเป็นหนึ่งในทางเลือกสำหรับกลุ่มผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมและลดการใช้ทรัพยากร การสนับสนุนสินค้าแฟชั่นมือสองจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ประหยัดทรัพยากร น้ำ และพลังงาน นอกจากนี้ ยังเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ลดจำนวนเสื้อผ้าเก่าที่ไปจบลงที่หลุมฝังกลบหรือเตาเผา และยังสามารถซื้อได้ในราคาที่ถูกลงอีกด้วย ทั้งนี้อุตสาหกรรมสินค้าแฟชั่นเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่กำลังประสบปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างมาก ท่ามกลางกระแสที่ทั้งผู้บริโภค ภาคธุรกิจ และภาครัฐให้ความสนใจด้านความยั่งยืนมากขึ้น ทั้งนี้องค์กรที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนอย่าง Earth.org กล่าวว่า อุตสาหกรรมสินค้าแฟชั่นผลิตขยะสิ่งทอให้กับโลกมากถึง 92 ล้านตันต่อปี และมีโอกาสที่ขยะสิ่งทอจะเพิ่มขึ้นเป็น 134 ล้านตันภายในปี 2030 นอกจากนี้ ไม่เพียงแต่ปริมาณขยะที่เพิ่มมากขึ้น ขยะเหล่านี้ยังส่งผลให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้น และหากอุตสาหกรรมสินค้าแฟชั่นยังไม่มีการปรับตัว จะเพิ่มขึ้นถึง 50% ภายในปี 2030

    ทั้งนี้จากกรณีศึกษาในสหรัฐอเมริกา ผู้บริโภค 1 คน ทิ้งเสื้อผ้าเฉลี่ยประมาณ 37 กิโลกรัมต่อปี รวมเป็นขยะสิ่งทอถึง 11.3 ล้านตัน

    สถานการณ์นี้จะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นเนื่องจากเสื้อผ้าถูกใส่จำนวนครั้งน้อยลงและถูกทิ้งเร็วขึ้นกว่าเดิม โดยเสื้อผ้าหนึ่งชิ้นมีการใช้งานลดลง 36% เมื่อเทียบกับ 15 ปีที่ผ่านมา อีกทั้งปัญหาขยะจะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น เมื่อมีการทิ้งเสื้อผ้าที่ถูกส่งคืนถึง 2.6 ล้านตันในปี 2020 เพียงปีเดียว เนื่องจากบริษัทผู้ผลิตเห็นว่าการกำจัดเสื้อผ้ามีต้นทุนที่ต่ำกว่าการนำมาใช้ใหม่

    อัตราการผลิตสินค้า Fast fashion เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าตั้งแต่ปี 2000 วัสดุจำนวนมากถูกทิ้งเพราะไม่สามารถใช้งานต่อไปได้ การศึกษาในปี 2012 พบว่าราว 60% ของเสื้อผ้าประมาณ 150 ล้านชิ้นที่ผลิตทั่วโลกถูกทิ้งเพียงไม่กี่ปีหลังจากการผลิตโดยแบรนด์สินค้า Fast fashion นำไปสู่ขยะและการทำลายสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

    ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากอุตสาหกรรมสินค้าแฟชั่นไม่ได้มีเพียงแค่การสร้างขยะเท่านั้น อุตสาหกรรมสินค้าแฟชั่นยังเป็นต้นเหตุของน้ำเสียทั่วโลกถึง 20% โดยการผลิตฝ้ายหนึ่งกิโลกรัมต้องการน้ำมากถึง 20,000 ลิตร อีกทั้ง การรีไซเคิลที่ไม่เพียงพอและการใช้เสื้อผ้าไม่เต็มที่ อาจทำให้สูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจของโลกถึง 5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี นอกจากนี้ อุตสาหกรรมนี้ยังมีส่วนทำให้เกิดมลพิษจากไมโครพลาสติกในมหาสมุทร โดยราว 10% ของไมโครพลาสติกที่พบในมหาสมุทรทุกปีมาจากอุตสาหกรรมสินค้าแฟชั่น

    ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ภาวะโลกร้อน อุณหภูมิโลกสูงขึ้นเริ่มชัดเจนขึ้น ผู้คนต่างตระหนักถึงการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่ามากขึ้น ในขณะที่ผู้บริโภคสินค้าแฟชั่นเริ่มหันมาสนับสนุนสินค้าแฟชั่นมือสองมากขึ้น โดยการใช้สินค้าแฟชั่นมือสองมีประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมหลายประการและเป็นวิธีช่วยสร้างพฤติกรรมที่ยั่งยืน เนื่องจากเป็นการสนับสนุนการใช้เสื้อผ้าซ้ำเพื่อลดขยะและมลพิษ ดังนี้

    1.ลดขยะจากสิ่งทอ : การซื้อเสื้อผ้ามือสองช่วยลดปริมาณเสื้อผ้าที่จะกลายเป็นขยะฝังกลบ ทั้งนี้ผ้าหลายชนิดไม่สามารถย่อยสลายได้อย่างรวดเร็วและอาจปล่อยสารเคมีที่เป็นพิษสู่สิ่งแวดล้อม

    2.ลดมลพิษที่ปนเปื้อนกับน้ำ : การผลิตเสื้อผ้าใหม่มักปล่อยสารเคมีที่เป็นพิษซึ่งปนเปื้อนไปกับน้ำเข้าสู่สิ่งแวดล้อม การใช้เสื้อผ้ามือสองช่วยลดการก่อมลพิษเพิ่มเติม

    3.ประหยัดน้ำ : การผลิตเสื้อผ้าใหม่ โดยเฉพาะสินค้าที่ต้องใช้ผ้าฝ้ายผ้าฝ้าย ต้องการน้ำจำนวนมากในกระบวนการผลิต หากผู้บริโภคลดการซื้อเสื้อผ้าใหม่ 1 ตัว แล้วหันมาซื้อเสื้อผ้ามือสอง จะช่วยประหยัดทรัพยากรน้ำได้ราว 336 ลิตรต่อตัว

    4.ลดมลพิษทางอากาศ : อุตสาหกรรมแฟชั่นมีส่วนทำให้เกิดมลพิษอากาศผ่านการผลิตและการกระจายสินค้า การไม่ซื้อเสื้อผ้าใหม่ช่วยลดความต้องการการผลิต ซึ่งจะช่วยลดมลพิษทางอากาศ หากผู้บริโภคลดการซื้อเสื้อผ้าใหม่ 1 ตัว และหันมาซื้อเสื้อผ้ามือสองแทนจะสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปได้เกือบ 4 กิโลกรัมต่อตัว

    5.ประหยัดพลังงาน : การช็อปปิงเสื้อผ้ามือสองช่วยลดต้นทุนพลังงานที่เกี่ยวข้องกับการผลิตเสื้อผ้าใหม่ ถ้าหากผู้บริโภคลดการซื้อเสื้อผ้าใหม่และหันมาซื้อเสื้อผ้ามือสอง จะสามารถช่วยประหยัดพลังงานไปได้ประมาณ 16 กิโลวัตต์ต่อตัว ซึ่งสามารถช่วยลดมลพิษและอนุรักษ์ทรัพยากรของโลกได้อย่างมาก

    ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของ ThredUp
    ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของ ThredUp

    แบรนด์สินค้าแฟชั่นเข้ามาเป็นผู้เล่นในตลาดสินค้าแฟชั่นมือสองมากขึ้น

    ตลาดสินค้าแฟชั่นมือสองมีศักยภาพที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทำให้แบรนด์สินค้าแฟชั่นต่าง ๆ เริ่มเข้ามาเป็นผู้เล่นในตลาดสินค้าแฟชั่นมือสองมากขึ้น โดยทั่วไปสามารถพบการ Resale ของแบรนด์สินค้าอยู่ 2 รูปแบบที่เป็นที่นิยม คือ 1. แบรนด์/ผู้ค้าปลีกเป็นผู้รับซื้อและขายสินค้ามือสองของตัวเองโดยตรง และ 2. แบรนด์ร่วมมือกับแพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อขายสินค้ามือสองที่ได้รับการรับรองจากแบรนด์

    รูปแบบที่ 1 : แบรนด์หรือผู้ค้าปลีกเก็บรวบรวมสินค้าแฟชั่นมือสองของแบรนด์ตัวเองจากลูกค้าและเสนอตัวเลือกการขายสินค้ามือสองโดยตรงภายในร้านค้าหรือแพลตฟอร์มออนไลน์ของร้านค้า

    วิธีนี้ทางร้านค้าหรือเจ้าของแบรนด์สินค้าสามารถยื่นข้อเสนอโดยให้ลูกค้านำสินค้าแฟชั่นที่ซื้อจากร้านค้าของตนมาแลกคืน โดยอาจจะให้เป็นเงินสด ส่วนลดในการซื้อสินค้ามือหนึ่งภายในร้าน หรือเวาเชอร์ในการซื้อสินค้าครั้งถัดไปกับทางร้าน ซึ่งวิธีการนี้ทางร้านอาจจะสามารถรับคืนสินค้าโดยตรงในร้านหรือจัดการเรื่องการขนส่งในกรณีทำผ่านช่องทางออนไลน์ โดยกลุ่มลูกค้าที่เป็นกลุ่มเป้าหมายสำหรับรูปแบบนี้คือผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับสินค้าที่เป็นของแท้และมี Loyalty ต่อแบรนด์สินค้า รวมไปถึงผู้บริโภคที่ต้องการลดค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้าแฟชั่น โดยนำสินค้าแฟชั่นที่ตนมีอยู่มาเป็นส่วนลด ตัวอย่างเช่น : Patagonia’s Worn Wear ซึ่งเป็นโปรแกรมที่ก่อตั้งโดย Patagonia แบรนด์เสื้อผ้า Outdoor และอุปกรณ์ปีนเขาจากสหรัฐอเมริกา โดยทางร้านค้าจะขายสินค้ามือสองของแบรนด์ตนเอง นอกจากนี้ ยังมีบริการ Trade-in โดยให้ลูกค้านำสินค้าภายใต้แบรนด์ Patagonia มาแลกเป็นเครดิตเพื่อซื้อสินค้าภายในร้านทั้งสินค้าใหม่หรือสินค้ามือสองได้

    รูปแบบที่ 2 : แบรนด์หรือผู้ค้าปลีกร่วมมือกับแพลตฟอร์มออนไลน์ที่มีศักยภาพสูงเพื่อขายสินค้าแฟชั่นมือสองที่ได้รับการรับรองจากทางแบรนด์

    รูปแบบนี้เป็นการเข้าถึงฐานลูกค้าที่มีสินค้าแฟชั่นอยู่กับตัว โดยอาจจะเสนอคูปองหรือส่วนลดสำหรับซื้อสินค้าใหม่ ส่วนสินค้าแฟชั่นมือสองจะถูกจัดแสดงในแพลตฟอร์มการขายสินค้าแฟชั่นที่มีชื่อเสียง (Third party) รูปแบบนี้ยังรวมไปถึงทางเลือกสำหรับการซื้อกลับหรือการขายฝากอีกด้วย กลุ่มลูกค้าที่เป็นเป้าหมายสำหรับรูปแบบนี้คือผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับสินค้าที่เป็นของแท้และสนใจในสินค้าและแบรนด์ที่หลากหลาย ดึงดูดผู้บริโภควัยรุ่นที่ติดตามแฟชั่นล่าสุดและคอลเล็กชันใหม่ ๆ รวมถึงผู้ที่เพิ่งเริ่มต้นในตลาดสินค้าแฟชั่นมือสองและกำลังลองใช้เป็นครั้งแรกตัวอย่างเช่น : Burberry X Vestiaire Collective เป็นโครงการที่แบรนด์แฟชั่น Luxury อย่าง Burberry จับมือกับแพลตฟอร์มขายสินค้าแฟชั่นมือสองอย่างเว็บไซต์ Vestiaire collective โดยให้ลูกค้าที่มีสินค้าของแบรนด์ Burberry มาขายให้กับทาง Vestiaire Collective เพื่อแลกกับ Burberry gift card เพื่อนำไปใช้ในร้านหรือเว็บไซต์ของ Burberry สินค้าที่นำมาขายให้กับทาง Vestiaire Collective จะถูกนำไปขายเป็นสินค้าแฟชั่นมือสองต่อไป

    ตลาดแฟชั่นมือสองในไทยมีศักยภาพในการเติบโตอย่างไร?

    ไม่เพียงแต่ตลาดสินค้าแฟชั่นมือสองในตลาดโลกเติบโตได้ดี ตลาดแฟชั่นมือสองในไทยก็มีแนวโน้มเติบโตดีต่อเนื่อง ปฏิเสธไม่ได้ว่าในปัจจุบันการซื้อสินค้าแฟชั่นมือสองอย่าง เสื้อผ้า เครื่องประดับ เป็นที่พูดถึงและนิยมมากขึ้นในไทย สะท้อนได้จากการวางจำหน่ายสินค้าแฟชั่นมือสองเพิ่มมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ ซึ่งสาเหตุสำคัญอาจมาจากการที่ตลาดสินค้าแฟชั่นมือสองได้รับการยอมรับมากขึ้นจากผู้บริโภคไทย

    นอกจากนี้ ผู้บริโภคบางส่วนอาจมีความตื่นรู้ด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยตระหนักถึงกระบวนการผลิตสินค้าแฟชั่นที่ใช้ทรัพยากรจำนวนมากและส่งผลกระทบโดยตรงกับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะสินค้า Fast fashion ที่มีการปรับเปลี่ยนคอลเล็กชันอย่างรวดเร็วเพื่อให้เข้ากับสมัยนิยม ส่งผลให้การผลิตสินค้าประเภทนี้เหมาะกับการใช้ในระยะสั้น ๆ และกลายเป็นขยะหลังจากการใช้เพียงไม่กี่ครั้ง สินค้าแฟชั่นมือสองจึงมีศักยภาพในการเติบโตมากขึ้นในประเทศไทย โดย SCB EIC คาดว่า ในปี 2023 มูลค่าตลาดแฟชั่นมือสองของไทยจะเติบโตราว 20% ที่มูลค่าประมาณ 1,800 ล้านบาท และคาดว่าจะมีอัตราเติบโตต่อเนื่องเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ราว 15% ในช่วงปี 2024-2027 (รูปที่ 4)

    ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของ Euromonitor และ Statista

    การขายสินค้าแฟชั่นมือสองผ่านช่องทางออนไลน์ (Fashion recommerce ) เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่น่าจับตามองจากแนวโน้มตลาดที่เติบโตสูง จากข้อมูลของ Stastista แสดงให้เห็นว่า มูลค่าตลาดของสินค้าแฟชั่นมือสองของไทยผ่านการขายช่องทางออนไลน์มีมูลค่ามากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 และมีแนวโน้มเติบโตมากขึ้นในระยะกลาง และสัดส่วนของ Recommerce มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่องทางออฟไลน์ และคาดว่าจะมีสัดส่วนมากกว่าการซื้อสินค้าแฟชั่นมือสองที่หน้าร้านในระยะข้างหน้า (รูปที่ 5)

    ที่มา : ข้อมูลของ Statista

    ในช่วงที่ผ่านมา จะเริ่มเห็นผู้ประกอบการที่หันมาจับตลาดสินค้าแฟชั่นมือสองผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น ตัวอย่างร้านค้าในไทยที่นำสินค้าแฟชั่นมือสองมาขายอย่างเป็นทางการ เช่น Cycle by SOS เดิมทีร้าน SOS เป็นร้านค้าปลีกสินค้าแฟชั่นที่มีจุดขายคือการนำสินค้าแฟชั่นแบรนด์ต่าง ๆ ที่ขายอยู่ทางแพลตฟอร์มออนไลน์มาขายในหน้าร้านของ SOS และเมื่อกลางปี 2022 ร้าน SOS ได้เปิดตัว Cycle by SOS โดยรวมเอาสินค้าแฟชั่นมือสอง เช่น เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า และเครื่องประดับต่าง ๆ มาไว้ในที่เดียว ซึ่งจะเป็นพื้นที่ให้ผู้ขายสามารถเปลี่ยนสินค้าแฟชั่นของตนที่ไม่ได้ใช้งานแล้วให้กลายเป็นรายได้ และช่วยผู้ซื้อที่กำลังมองหาสินค้าที่มีคุณภาพสูงให้สามารถเลือกซื้อในราคาที่เอื้อมถึงได้ สินค้าทุกชิ้นที่นำมาจำหน่ายจะผ่านการคัดเลือกโดยต้องเป็นสินค้ามีสภาพที่ดีเยี่ยม ไม่ต่ำกว่า 80% จึงจะได้รับการอนุมัติให้วางขายในร้านค้าได้ ทั้งนี้ช่องทางการซื้อสินค้าแฟชั่นมือสองสามารถซื้อผ่านทางหน้าร้าน และทางออนไลน์ เช่น Facebook, Instagram, Line official และ Marketplace อย่าง Shopee ซึ่งนอกจากผู้ซื้อจะได้สินค้าราคาสบายกระเป๋าแล้ว ยังได้ช่วยลดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

    โอกาสของผู้ประกอบการค้าปลีกไทยในยุคที่ตลาดแฟชั่นมือสองกำลังเติบโต

    จากโอกาสและศักยภาพของร้านค้าปลีกในตลาดโลกที่เริ่มมาเป็นผู้เล่นในตลาดสินค้าแฟชั่นมือสองมากขึ้น ผู้ค้าปลีกในไทยสามารถปรับกลยุทธ์การขายสินค้าแฟชั่นมือสองได้ใน 2 รูปแบบ คือ 1) ผู้ประกอบการค้าปลีก/เจ้าของแบรนด์พัฒนาช่องทางการขายทั้งหน้าร้านและออนไลน์ของตน โดยขายเฉพาะสินค้าจากร้านของตน และ 2) ผู้ประกอบการค้าปลีกเข้ามาพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อขายสินค้าแฟชั่นมือสองหลากหลายแบรนด์ (รูปที่ 6)

    1.ผู้ประกอบการค้าปลีก/เจ้าของแบรนด์พัฒนาช่องทางการขายสินค้าแฟชั่นมือสองในร้านของตน วิธีการนี้ผู้ค้าปลีกจะต้องพัฒนาระบบ/เพิ่มช่องทางการขายสินค้าแฟชั่นมือสองไปในหน้าร้านหรือทางเว็บไซต์ โดยอาจรับซื้อสินค้ามือสองมาจากลูกค้าของตน โดยให้เงินสด คูปอง หรือส่วนลดในการซื้อสินค้ามือหนึ่งในร้านของตนตอบแทน วิธีนี้เหมาะกับร้านค้าขนาดใหญ่ที่มีทุนและสภาพคล่องสูง พร้อมรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการที่ต้องมีสินค้าค้างสต็อกมากขึ้นจากการเพิ่มสินค้าแฟชั่นมือสองเข้ามาในร้านของตน กลุ่มลูกค้าที่เป็นเป้าหมายของรูปแบบนี้จะเป็นผู้ที่มี Loyalty ต่อแบรนด์ รวมถึงผู้ที่ต้องการลดค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้าแฟชั่น ร้านค้าเหล่านี้ไม่เพียงแต่เข้าถึงกลุ่มลูกค้าใหม่ ๆ เหล่านั้น แต่ยังสามารถควบคุมการเลือกสินค้าและกำหนดราคาได้เอง พร้อมทั้งเก็บข้อมูลผู้บริโภคเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และวางกลยุทธทางการตลาดต่อไป อย่างไรก็ดี แม้ว่าการเพิ่มตลาดสินค้าแฟชั่นมือสองขึ้นมาจะช่วยให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อสินค้ามือหนึ่งในร้านได้ง่ายขึ้น แต่อาจมีความเสี่ยงที่สินค้ามือสองจะมาแบ่งยอดขายของสินค้าใหม่ หากผู้บริโภคมองว่าการซื้อสินค้ามือสองคุ้มค่ากว่า อีกทั้ง ร้านค้า/แบรนด์อาจต้องเผชิญกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการพัฒนาระบบในการรับซื้อและจำหน่ายสินค้า

    2.ผู้ประกอบการค้าปลีกเข้ามาพัฒนาแพลตฟอร์มการขายสินค้าแฟชั่นมือสองโดยเฉพาะ โดยทำหน้าที่เป็นสื่อกลางให้ผู้ต้องการขายและต้องการซื้อสินค้าแฟชั่นมือสองหลากหลายแบรนด์ วิธีนี้ผู้ประกอบการต้องพัฒนาแพลตฟอร์มขายสินค้าแฟชั่นมือสองโดยเฉพาะ โดยอาจเป็นช่องทางออนไลน์หรือหน้าร้าน ซึ่งสามารถ 1) ทำข้อตกลงกับเจ้าของแบรนด์สินค้าแฟชั่น เพื่อให้เจ้าของแบรนด์รับรองว่าเป็นสินค้าของแท้เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภค 2) รับซื้อสินค้า/ฝากขายจากผู้บริโภครายย่อย โดยอาศัยความเชี่ยวชาญและความน่าเชื่อถือในการรับรองสินค้าว่าเป็นของแท้ วิธีการนี้ยังเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการที่เห็นศักยภาพของการเติบโตของตลาดสินค้าแฟชั่นมือสองเข้ามาลงทุนพัฒนาร้านค้า/ช่องทางการขายสินค้าแฟชั่นมือสอง รูปแบบนี้จะเน้นกลุ่มลูกค้าเป้าหมายไปที่ผู้ที่สนใจในสินค้าและแบรนด์ที่หลากหลาย และยังช่วยให้ร้านค้าศึกษาตลาดจากข้อมูลของลูกค้าที่หลากหลาย เพื่อนำมาวางแผนการขาย อย่างไรก็ดี การขายสินค้าแฟชั่นมือสองรูปแบบนี้ อาจเผชิญกับข้อจำกัด เช่น การเป็นพาร์ทเนอร์กับแบรนด์ต่าง ๆ นั้นมีความซับซ้อน การตรวจสอบสินค้าที่ต้องอาศัยความชำนาญ และยังมีความเสี่ยงหากไม่สามารถขายสินค้าได้

    ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC

    เทรนด์ความนิยมของสินค้าแฟชั่นมือสองกำลังเติบโตต่อเนื่องในประเทศไทย เปิดโอกาสให้ทั้งเจ้าของแบรนด์และผู้ประกอบการค้าปลีกเข้าสู่ตลาด และผู้บริโภคกลุ่มใหม่ ๆ ได้เข้าถึงสินค้ามากขึ้น ผู้ประกอบการที่อยู่ในตลาดสินค้าแฟชั่นมือสองอยู่แล้ว อาจต้องเผชิญกับการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นจากผู้ประกอบการหน้าใหม่ หรือแบรนด์สินค้าที่อาจหันมาจับตลาดสินค้าแฟชั่นมือสองมากขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการเดิมอาจต้องพัฒนากลยุทธ์ต่าง ๆ เพื่อแข่งขันในตลาดต่อไป ทั้งนี้ตลาดสินค้าแฟชั่นทั้งมือหนึ่งและมือสองยังคงเผชิญกับความท้าทายจากสภาวะเศรษฐกิจและราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น ซึ่งอาจส่งผลต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม ข้อดีของสินค้าแฟชั่นมือสองที่ช่วยให้ผู้บริโภคเข้าถึงได้ง่ายขึ้น และยังลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้ตลาดนี้น่าสนใจ ทั้งนี้การเข้าสู่ตลาดของเจ้าของแบรนด์สินค้าแฟชั่น หรือร้านค้าปลีกยังคงเป็นประเด็นความท้าทายที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดต่อไป

    อ้างอิง

    Statista. (ม.ป.ป.). Apparel – Thailand | Statista market forecast. สืบค้นเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2023.
    จากเว็บไซต์ https://www.statista.com/outlook/cmo/apparel/thailand#volume

    thredUP Resale Report 2023. (2023). สืบค้นเมื่อ 10 ตุลาคม 2023. จากเว็บไซต์ https://cf-assets-tup.thredup.com/resale_report/2023/thredUP_2023_Resale_Report_FINAL.pdf

    Money, S. (2023, January 27). Cycle by SOS ร้านรวมเสื้อผ้าแฟชั่นมือสองกับคอนเซ็ปต์ “เปลี่ยนตู้เสื้อผ้าเป็นเงิน” สร้างรายได้ให้ผู้ขาย. สืบค้นเมื่อ 16 ตุลาคม 2023. จากเว็บไซต์ https://www.sanook.com/money/894695/

    BCG Powered by Vestiaire Collective. (ม.ป.ป.). What an Accelerating Secondhand Market Means for Fashion Brands and Retailers. สืบค้นเมื่อ 16 ตุลาคม 2023. จากเว็บไซต์ https://web-assets.bcg.com/c4/7c/a90b27584eecabcf9672cee51d10/what-an-accelerating-secondhand-market-means-for-fashion-brands-and-retailers-oct-22.pdf.pdf

    Igini, M. (2023, August 21). 10 concerning fast fashion waste Statistics. Earth.Org. สืบค้นเมื่อ 16 ตุลาคม 2023. จากเว็บไซต์ https://earth.org/statistics-about-fast-fashion-waste/#:~:text=92%20million%20tonnes%20of%20textiles,on%20landfill%20sites%20every%20second.

    Statista. (ม.ป.ป.). Fashion – Worldwide | Statista market forecast. สืบค้นเมื่อ 5 ตุลาคม 2023. จากเว็บไซต์ https://www.statista.com/outlook/dmo/ecommerce/fashion/thailand#recommerce