ThaiPublica > คนในข่าว > “สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์” นักวิชาการอิสระ เส้นทางชีวิตที่ไม่มีวันเกษียณ

“สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์” นักวิชาการอิสระ เส้นทางชีวิตที่ไม่มีวันเกษียณ

12 ตุลาคม 2023


 เปิดกลยุทธ์ “สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์” นักวิเคราะห์ภูมิรัฐศาสตร์แถวหน้าเมืองไทย ด้วย เรียนรู้ทุกวัน ทำในสิ่งที่รักและชำนาญ สร้างวินัยการอ่านวันละ 6-9 ชั่วโมงอ่านหนังสือปีละ 52 เล่ม ต่อเนื่อง 30 ปี นับจากอายุ 14 ปี

รศ.ดร. สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง

หากย้อนกลับไปกว่า 30 ปี ในแวดวงตลาดทุนไทย ไม่มีใครไม่รู้จัก“รศ.ดร. สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์” หรือ อาจารย์สมชาย ในฐานะนักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง ที่มีชื่อเสียงในด้านวิเคราะห์หุ้น วิเคราะห์เศรษฐกิจที่น่าเชื่อถือ

ด้วยความรู้ด้านรัฐศาสตร์ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งปริญญาตรี โท เอก จากจากมหาวิทยาลัยนองซี ประเทศฝรั่งเศส และมหาวิทยาลัยมาดริด ประเทศสเปน อีกทั้งยังมีความรู้ด้านภาษาศาสตร์ระดับผู้เชี่ยวชาญทั้งภาษาอังกฤษ ภาษาสเปน ฝรั่งเศส อิตาเลียน โปรตุเกส ทำให้ชื่อของอาจารย์สมชายยังเป็นที่รู้จักและรักษาความน่าเชื่อถือเอาไว้อย่างต่อเนื่อง

แม้ปัจจุบันในวัย 79 ปี แต่ยังคงทำงานเป็นที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิของหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน และยังคงสอนหนังสือที่ได้รับการยอมรับในฐานะนักวิเคราะห์เศรษฐกิจการเมืองระดับแถวหน้าของประเทศไทย

“สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า” ได้มีโอกาสพูดคุยกับอาจารย์สมชาย ถึงปรัชญา หลักคิด กลยุทธ์ ในการทำงานที่สามารถรักษาความน่าเชื่อถือในการวิเคราะห์สถานการณ์เศรษฐกิจการเมืองมาได้อย่างมั่นคงในอาชีพนี้

อาจารย์สมชาย บอกว่า เรื่องแรกต้องหาตัวเองให้พบ และวางแผนชีวิต ซึ่งอาจารย์วางแผนชีวิตตั้งแต่อายุ 14 ปี หลังจากรู้จัก Henry Kissinger ซึ่งเป็นอาจารย์ที่เชี่ยวชาญภูมิรัฐศาสตร์ในระดับโลก และเป็นผู้เชี่ยวชาญที่เป็นที่ปรึกษาทั้งภาครัฐและเอกชน

“ผมรู้จัก Henry Kissinger จาการอ่านหนังสือ ตอนนั้นอายุ 14-15 ปี มีความรู้สึก เฮ้ย เป็นอาจารย์แบบนี้ดี เป็นอาจารย์ที่มีชื่อเสียงทางด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ไม่มีคำว่าเกษียณและก็มีรายได้ ดีเหมือนกับนักธุรกิจเลย และก็เป็นที่ปรึกษาภาครัฐ เอกชน จึงตั้งเป้าหมายที่จะเป็นแบบนั้นมาตั้งแต่เด็ก”

แต่การจะเป็นแบบ Henry Kissinger ต้องเก่ง 2 อย่างคือภาษาอังกฤษ และการคำนวนซึ่งขณะนั้นยังไม่เก่งภาษาอังกฤษมากนัก

“คำนวนผมเต็มตลอด แต่ภาษาอังกฤษ ผมตั้งใจว่าจะเก่งภาษาอังกฤษ พอเราตั้งใจปั๊ป มันก็มีพลังเลย ผมซื้อไทม์ และนิวส์วิกมาอ่านตั้งมัธยมปีที่ 3  แต่ตอนนั้นอ่านไม่รู้เรื่อง มันยาก แต่เมื่อตั้งใจจะเก่ง ก็ต้องขยันและมีวินัย อ่านและจดศัพท์ลงในกระดาษโน๊ต และท่องทุกวันจากอ่านไม่รู้เรื่องจนเชี่ยวชาญได้”

อาจารย์สมชาย์ เล่าพร้อม โชว์กระดาษโน๊ตที่จดคำศัพท์ต่อเนื่องทุกวันตั้งแต่อายุ 14 ปีจนถึงปัจจุบัน ความมีวินัย และ ความสนุกในการเรียนรู้ทำให้ปัจจุบันกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญหลายภาษา อาทิ ภาษาฝรั่งเศส  ภาษาสเปน อิตาลี โปรตุเกส เยอรมัน และกำลังเรียนภาษาจีน

“ที่สามารถอ่านหนังสือพิมพ์ได้คล่องเลยนะมีภาษา อังกฤษ ฝรั่งเศส สเปน อิตาลี โปรตุเกส และอ่านทุกวัน อันที่ห้าเยอรมันอ่านได้แต่ต้องเปิดดิกชั่นนารี ส่วนภาษาจีนอ่านได้ต้องเปิดดิกชั่นนารี และภาษาบาฮาซา ภาษามาเลย์อ่านได้ต้องเปิดดิกชั่นนารี”

อย่างไรก็ตาม อาจารย์สมชายมองว่า การเก่งรัฐศาสตร์อย่างเดียว อาจจะไม่ใช่คำตอบ การจะเข้าไปเป็นที่ปรึกษาภาครัฐและเอกชน ไม่ใช่เรื่องการเมืองอย่างเดียว ต้องมีทั้งเรื่องเศรษฐกิจและการเมือง มีความรู้ทั้งรัฐศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์

“ถ้ารู้เรื่องการเมืองอย่างเดียวไม่มีใครจ้าง ผมจึงต้องรู้เรื่องเศรษฐศาสตร์ โดยเฉพาะต้องรู้เรื่องตลาดทุน รู้เรื่องหุ้น ในตอนแรกที่เข้าไปอยู่ในแวดวงตลาดทุน ไม่ใช่จะมาวิเคราะห์หุ้น แต่จะเป็นใช้การวิเคราะห์หุ้นเพื่อสร้างชื่อเสียงให้เป็นที่รู้จัก เพราะการเข้าสู่ตลาดการเงิน สมัยนั้นมีแค่นักวิชาการจากกระทรวงการคลังที่จบด้านนี้ เพราะฉะนั้นผมจึงเรียนเศรษฐศาสตร์และการเงินไปพร้อมกัน”

ตลาดทุนในยุคนั้น สมัยดร.มารวย ผดุงสิทธิ์ เป็นกรรมการผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในช่วงแรกๆได้แต่งตั้งดร.สมชาย เป็นที่ปรึกษา พร้อมๆกับดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์

อาจารย์สมชาย บอกกว่าการศึกษาเรื่องหุ้นในขณะนั้น ถ้าจะทำให้เกิดเรียนรู้อย่างรวดเร็ว ต้องรู้สองอย่างคือ Fundamental กับ Technical  โดย Fundamental หมายถึงความรู้ด้านบัญชี การเงิน ส่วน Technical Analysis ที่เป็นกราฟ ศึกษาเพื่อให้เห็นเทรนด์ของหุ้น

“ตอนนั้นผมกลับมาจากเรียนต่อต่างประทศ ตลาดหุ้นไทยมีหุ้นแค่ 18 ตัว ผมก็มาศึกษาเรื่อง Technical Analysis พอศึกษาตัวนี้ปั๊ปก็ทำให้เราเห็นเทรนด์ ปรากฏว่าผมวิเคราะห์ได้แม่น เพราะดูจาก Technical ของ หุ้นต่างๆ ทำให้ตอนนั้นนักเล่นหุ้นมารุมผมเลย และบริษัทเอกชนก็จ้างเป็นที่ปรึกษาจำนวนมาก นี่คือจุดเริ่มต้นของการสร้างชื่อให้เป็นที่รู้จักเพื่อก้าวต่อไปสู่การเป็นนักวิชาการอิสระ”

รศ.ดร. สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง

อาจารย์สมชายเริ่มเข้าสู่วงการวิเคราะห์หุ้นและเศรษฐกิจในปี 1976  ซึ่งขณะนั้นหากเทียบรายได้ การเป็นอาจารย์สอนในมหาวิทยาลัยมีเงินเดือนประมาณ 1,000 บาท เกือบ 2,000 บาท แต่เมื่อเป็นที่ปรึกษาบริษัทเอกชนอาจารย์ได้รับเงินเดือนสูงถึง 9,000 บาท

“เป็นที่ปรึกษาแนะนำเรื่องหุ้น ตอนนั้นคนไทยยังไม่รู้ นึกว่าหุ้นเป็นแหล่งการพนัน ทำให้ผมเป็นนักวิชาการเกือบจะเป็นคนเดียวที่อยู่ในตลาดและได้ความรับสนใจมาก”

จากการวิเคราะห์หุ้นบ่อยๆ จนได้รับฉายาว่า “สมชายรายวัน” เกิดขึ้นในยุคนั้น เนื่องจากหนังสือพิมพ์เริ่มหันมาสนใจปัญหาเศรษฐกิจ ทั้งการเงินการธนาคาร ประชาชาติธุรกิจ และสื่ออื่นๆอีกจำนวนมาก ทำให้ในช่วงนั้นอาจารย์สมชาย เป็นนักวิเคราะห์ที่อยู่บนหน้าสื่อเกือบทุกฉบับพร้อมกับการเป็นที่ปรึกษาของบริษัทโบรกเกอร์ในตลาดหลักทรัพย์หลายแห่ง

“ตอนนั้นเวลาพูดเรื่องหุ้นเหลือผมอยู่คนเดียวเพราะคนอื่นไม่มีใครรู้ พอไม่มีใครรู้ ก็มีคนสนใจติดตามเยอะมาก เพราะว่าตลาดหุ้นมีบริษัทโบรกเกอร์ 30 กว่าแห่ง จ้างผมเป็นที่บริษัท 20 กว่าแห่ง เกือบทั้งตลาดเลย”

บรรลุเป้านักวิเคราะห์หุ้น แบรนด์ “สมชายรายวัน”

แม้ว่าเป้าหมายของอาจารย์สมชาย คือการเป็นนักภูมิรัฐศาสตร์ที่มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับ แต่การสร้างตัวตนด้วยการเป็นนักวิเคราะห์เศรษฐกิจ-หุ้น ถือเป็นการสร้าง “แบรนด์” ในฐานะที่ปรึกษา เศรษฐกิจการเมือง  ซึ่งประสบความสำเร็จ และได้รับการยอมรับจากทั้งสื่อมวลชนสายเศรษฐกิจและในวงการตลาดหลักทรัพย์

“ผมถือว่าประสบความสำเร็จในเรื่องนี้แล้ว เพราะถ้าคุณสังเกตในช่วงนั้นมีคนเรียกว่า ‘สมชายรายวัน’ จำได้ไหม แล้วตอนนั้นคุณสุนันท์  ศรีจันทรา ทำข่าวเรื่องหุ้นไทยก็จะมาถามผมเกือบจะทุกวัน ผมไม่ได้ตั้งใจเป็นนักวิเคราะห์หุ้น แต่ผมต้องการใช้ตัวนี้สร้างแบรนด์ เพราะเป็นการสร้างแบรนด์ที่เร็วที่สุด”

เป้าหมายเริ่มต้นในวัย 14 ปี ยังคงอยู่คือการเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐศาสตร์ และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่การขายความเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐศาสตร์เป็นเรื่องที่ยากกว่า จึงเปิดตัวด้วยการเป็นผู้เชี่ยวชาญหุ้นและเศรษฐกิจ

“ผมเก่งเรื่องหุ้นน้อยที่สุด ผมเก่งเรื่องรัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และผมเก่งมากทางด้านความสัมพันธ์ทางด้านต่างประเทศ แต่ถ้าผมเอาตัวนี้มาขาย ขายไม่ออก ไม่มีใครซื้อและจ้าง แต่ถ้าหากผมเอาเรื่องหุ้นมาขาย แบรนด์สมชายดังทันที และผมใช้เวลาไม่กี่เดือนก็ดังระเบิดเลย ผมวิเคราะห์หุ้นจากเรื่อง Technical  และ Fundamental  ผมมีความรู้เรื่องเศรษฐกิจการเมือง รู้เรื่องดอกเบี้ย ทำให้ผมวิเคราะห์ได้อย่างแม่นยำ”

รศ.ดร. สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง

 จากนักวิเคราะห์หุ้นสู่ นัก”บริหาร กลยุทธ์”

กว่าจะสร้างแบรนด์สมชาย ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องหุ้น นอกจากเป็นที่ปรึกษาบริษัทเอกชนแล้ว อาจารย์สมชายยังเป็น นักเขียนคอลัมน์เรื่องหุ้นให้กับหนังสือพิมพ์หลายฉบับ ซึ่งเมื่อถึงจุดหนึ่งที่เห็นว่าประสบความสำเร็จในการสร้างแบรนด์ของตัวเองแล้ว ก็เดินหน้าไปสู่เป้าหมายที่เป็นความท้าทายใหม่ในชีวิต คือการเป็นนักบริหารจัดการในเชิงกลยุทธ์

“ถึงผมเก่งทางด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่ตอนนั้น ไม่มีประโยชน์ แต่นำมาใช้ในการวิเคราะห์หุ้นได้ แต่พอมาถึงจุดหนึ่งที่ผมสร้างแบรนด์ได้แล้ว ผมหยุดสัมภาษณ์เรื่องหุ้น เพราะไม่ต้องการจะให้ภาพลักษณ์เป็นเรื่องหุ้น ด้วยโลกแห่งความรู้เปลี่ยนแปลงไปสู่เรื่องการบริหาร ผมอาจจะเป็นคนแรกๆที่จับเรื่องการบริหารเชิงกลยุทธ์ จำได้ไหม สมัยนั้นมี สามเกลอ มีผม มีดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ แล้วก็ดร.พิพัฒน์  แต่ผมเริ่มเขียนการจัดการกลยุทธ์ เป็นคนแรก และกลายเป็นตำนานหนังสือการบริหารกลยุทธ์ พิมพ์ครั้งที่ 21 พิมพ์เป็นแสนเล่ม มีหนังสือวิชาการที่ไหนที่ออกมาแล้วพิมพ์เป็นแสนเล่ม และกำลังจะพิมพ์ใหม่เร็วๆนี้”

อาจารย์สมชาย บอกว่าจากการเรียนรู้แบบไม่มีที่สิ้นสุด และการเปลี่ยนแปลงตัวเองโดยยึดกุมเป้าหมายในการเป็นนักวิชาการด้านเศรษฐกิจการเมืองเอาไว้อย่างเหนียวแน่น ทำให้แม้ว่าตลาดหุ้นเกิดวิกฤติปี 1997 แต่อาจารย์ไม่ได้เจ๊งด้วย สามารถเปลี่ยนตัวเองมาเป็นที่ปรึกษาภาคเอกชน บริษัทต่างๆ ในเรื่อง strategic management เนื่องจากสามารถวิเคราะห์ข้อมูลด้านต่างๆได้

ยึดเป้าหมาย ‘นักวิชาการ’

แม้จะมีชื่อเสียงเรื่องการวิเคราะห์เศรษฐกิจการเมืองและเคยเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และเป็นวุฒิสมาชิก และคณะกรรมการร่างกฎหมายเลือกตั้ง เป็นที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการต่างประเทศ เศรษฐกิจ หลายชุด แต่ไม่เคยคิดจะเข้าไปเล่นการเมือง หรือเป็นนักการเมือง เพราะตั้งใจจะเป็นนักวิชาการตลอดชีวิต

“คนอื่นเขาเล่นการเมือง เป็นรัฐมนตรี รองนายกฯ แต่ผมไม่เอา เพราะไม่ใช่ชีวิตผม ชีวิตผมต้องการเป็นนักวิชาการแบบนี้ อยู่ยงคงกระพัน แต่นักการเมืองมันอยู่ไม่นาน พอหมดจากรัฐมนตรีก็เงียบไปเลย อาชีพผมหารายได้ด้วยใจบริสุทธิ์ เป็นประโยชน์ต่อประเทศ”

อาจารย์สมชาย บอกว่า การเป็นนักวิชาการก็สามารถหารายได้โดยไม่ต้องไปเบียดบังใคร ซึ่งในช่วงที่ตลาดหุ้นเกิดวิกฤติปี 1997 ก็สามารถสร้างรายได้จาการสอนหนังสือในมหาวิทยาลัยและปัจจุบันก็ยังคงสอนหนังสือในมหาวิทยาลัยกว่า 12 แห่ง ชั่วโมงละ 3,000 บาท

“ผมสอนหนังสือตั้งแต่เก้าโมงถึงสามทุ่ม ลองคิดดูวันนึงเท่าไหร่ ทั้งปีไม่เคยขาดเลย เพราะฉะนั้นผมก็สามารถจะวางชีวิตที่มีความสุข สอนหนังสือ และเขียนหนังสือ ผมกำลังเขียนการเมืองการปกครองเปรียบเทียบของฝรั่งเศส คาดว่าอีกสักปีนึงจะเสร็จ”

ท้าทายตัวเองและเรียนรู้ตลอดชีวิต

ด้วยวัยเกือบ 78 ปี อาจารย์สมชาย ยังคงทำงาน และเรียนรู้โลกผ่านสังคมออนไลน์และแอพพลิเคชั่นต่างๆ ทำให้เข้าถึงข้อมูลจากทั่วโลกได้อย่างรวดเร็ว

“ทุกวันนี้เป็นโลกของผมแล้ว ผมทำในสิ่งที่ผมชำนาญ ผมรักตั้งแต่อายุ 14 ที่ต้องการเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิรัฐศาสตร์ เศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศ แล้วเอามาใช้เป็นเครื่องมือในการเป็นอาจารย์ที่ดี เป็นเครื่องมือที่จะหารายได้ให้กับครอบครัว เป็นที่ปรึกษาภาคเอกชน เป็นเรื่องเดียวกันหมดเลย ผมไม่เคยแข่งกับใคร ผมท้าทายตัวเองทุกวันว่าผมมีความก้าวหน้าไหม ผมจะเครียดในกรณีที่ผมไม่มีความก้าวหน้า”

อาจารย์สมชาย มีความสุขกับการติดตามข่าวสารต่างประเทศในแต่ละวันอย่างใกล้ชิด ผ่านโลกออนไลน์ ทำให้สามารถอ่านหนังสือพิมพ์ของประเทศต่างๆผ่าน Kindle ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์สเปน ฝรั่งเศส หนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทม์ หนังสือพิมพ์ทางด้านวิชาการต่างๆซึ่งในเมืองไทยไม่มีขาย โดยอ่านผ่านเว็บไซต์ myNews Pro สามารถอ่านข่าวได้จากทั่วโลก  ส่วนวารสาร The Economist  และ TIMES เป็นรายสัปดาห์ อ่านตั้งแต่เด็กอายุ 14-15 ปี ขณะที่หนังสือพิมพ์ไทยอ่านมติชน กรุงเทพธุรกิจและบางกอกโพสต์

“ตอนนี้ผมยังทำงานไม่มีวันหยุด ผมทำงานวันละ 9 ชั่วโมง ตื่นเช้า สามารถอ่านหนังสือและทำงานระหว่างเดินทางอยู่ในรถได้วันละ 3-4 ชั่วโมง ใช้ชีวิตไปกับการติดตามข่าวสาร ทำงานที่เรารักตลอดเวลา ไม่ว่าอยู่ที่ไหน ผมก็หาความรู้ อ่านหนังสือได้ จะนั่งอยู่ที่บ้าน หรือในรถก็อ่านหนังสือ ตอนนี้ผมกำลังเรียนภาษาเพิ่มเติมด้วยตัวเอง คือภาษาเยอรมัน ภาษาจีน และภาษาบาฮาซาร์”

จดโน๊ตคำศัพท์ภาษาจีนเพื่อศึกษา ภาษาจีนทุกวัน

อ่านหนังสือปีละ 52 เล่ม ซื้อบ้าน 3 หลังเก็บ

การอ่านและการติดตามสถานการณ์ข้อมูลรอบโลกคืองานหลักที่อาจารย์สมชายปฏิบัติมาอย่างต่อเนื่องตลอด 30 ปี โดยแต่ละสัปดาห์อ่านหนังสือได้ 1 เล่น ปีละประมาณ 52 เล่มไม่นับการอ่านหนังสือพิมพ์ และวราสารประจำเดือน

การเป็นนักอ่านทำให้ทุกเดือนมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยสำหรับหนังสือเดือนละ 3 หมื่น ค่าหนังสือพิมพ์ประมาณหมื่นกว่าบาท

“ถ้าเป็นหนังสือเล่มอาจารย์อาจจะสั่งทางอเมซอน ถ้าตกหล่นก็ไปดูที่ร้านหนังสือคิโนคูนิยะ สองอาทิตย์อาจารย์จะไปที แต่เฉพาะที่ตกหล่น หมายถึงติดตามและมีบางเรื่องตกไป เพราะดู Foreign Affiars ในนั้นจะเขียนเลยว่ามีหนังสืออะไรบ้างที่ออกใหม่ จะไม่ได้ซื้อทุกเล่ม เอาเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่อยากรู้หรือจะนำมาใช่เท่านั้น”

อาจารย์สมชาย อ่านหนังสือต่อเนื่องมา 30 ปี ปัจจุบันในโลกออนไลน์ทำให้เข้าถึงหนังสือได้เร็วจากทั่วโลก โดยหนังสือสวนใหญ่ซื้อและเก็บไว้ใน Kindle กว่า 200 เล่ม และเก็บบนคลาวด์มากกว่าอีก 1,000 เล่ม ขณะที่หนังสืออีกจำนวนมากต้องใช้บ้าน 4 หลังเอาไว้เก็บ

“ผมมี บ้าน ที่เก็บหนังสือในกรุงเทพฯทั้งหมด 4 หลัง เป็นทาวน์เฮ้าส์ทั้งหมด 3 ชั้นเก็บหนังสือหมดเลย เอาไว้เป็นที่เก็บหนังสืออย่างเดียวและมีคอนโดอยู่ที่ริมน้ำ ทำให้หนังสือ TIMES และ Newsweek ที่ผมผ่านตั้งแต่ อายุ 14 ปียังเก็บไว้ที่นั้น”

เลือกที่จำเป็นและสำคัญที่สุด

อาจารย์สมชาย บอกว่า หนังสือส่วนใหญ่ที่อ่าน 90 % เป็นภาษาอังกฤษ และ 99 % ยังไม่ได้เข้ามาเมืองไทยบางเล่มอ่านจบไปแล้วเป็นเดือนถึงมีเข้ามาขายในประเทศไทย  ส่วนอีก 30 %เป็นหนังสือ ภาษาสเปน ฝรั่งเศส อิตาลี กับโปรตุเกส และกำลังเรียนรู้หนังสือและภาษาจีนมากขึ้น

แม้จะอ่านหนังสือจำนวนมาก แต่อาจารย์สมชาย สามารถจดจำได้ทุกเล่ม โดยใช้หลักการของทฤษฎีของพาเรโต้ 20 : 80 ทำ input 20 ให้ได้ output 80 แต่นำมาปรับอีกครั้งคืออ่านให้รู้แค่ 2 % เพราะฉะนั้น 2 % สิ่งที่สำคัญที่สุด

“ในโลกนี้ ในชีวิตเรามีอะไรที่ไม่สำคัญเยอะมาก เพราะฉะนั้นผมจะไม่เกี่ยวข้องกับที่ไม่สำคัญ อะไรที่ไม่สำคัญ ไม่อยู่ในชีวิต จะเอาเฉพาะที่สำคัญ ใน 20 % มีบางเรื่องโคตรสำคัญพลาดไม่ได้ เพราะฉะนั้นข้อมูลตรงไหนที่พลาดไม่ได้ และจับเป็นประเด็น”

หนังสือทุกเล่มจำแค่ 2% เพราะฉะนั้นอยู่ในสมองทบทวนทุกวัน จะจำแม่นมากขึ้น  เช่น สามารถจดจำประเทศจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียตกลายเป็น 15 ประเทศ ประกอบด้วย อุซเบกิสถาน คาซัคสถาน เติร์กเมนิสถาน ทาจิกิสถาน ลัตเวีย ลิทัวเนีย เอสโตเนีย จอร์เจีย ยูเครน รัสเซีย เบลารุส อาเซอร์ไบจาน มอลโดวา อาร์มีเนีย ยูโกสลาเวียเป็น 7 ประเทศ โครเอเชีย บอสเนีย เฮอร์เซโกเวนา เซอร์เบีย สโลเวเนีย มาซิโดเนีย มอนเตเนโก  เพราะฉะนั้นการเลือกในสิ่งที่สำคัญจะทำให้สามารถจดจำหนังสือได้เกือบทั้งเล่ม

พร้อมเล่าถึงการปฏิบัติว่า “ง่ายมากเลย ผมจะไม่ไปทำอะไรที่ไม่เกี่ยวกับชีวิตของตัวเอง งานแต่งงาน งานศพ ถ้าไม่สำคัญก็ไม่ไป ติดตามตลอดทุกวันทุกวินาที พอทุกนาทีมันจำได้แม่นหมด เพราะผมไม่ได้จำอย่างอื่นเลยจำแค่ 2 %  ซึ่งการทำแบบนี้มีความสุข เพราะทำในสิ่งที่เรารัก ไม่ได้ไปรังแกใครเลย พอสำเร็จในสิ่งที่ผมรัก มีความสุขมาก สองผมจะมีความสุขได้อย่างไร ถ้าครอบครัวผมไม่มีความสุข ผมกับลูกกับภรรยามีความสุขมาก”

เวลาเดียวที่อาจารย์สมชาย ไม่ได้เรียนรู้ ไม่ได้อ่าน และไม่ทำงานคือวันเสาร์อาทิตย์ที่จะมี Family Dinner ซึ่งครอบครัวมาพบกันกินข้าวด้วยกัน นอกจากนั้นจะทำงาน อ่านหนังสือตลอด และจดจำสิ่งต่างๆ ทำบันทึกเป็นโน้ตศัพท์ใหม่เพื่อการเรียนรู้เรื่องของภาษาทุกวันเช่นกัน

รศ.ดร. สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง

นักภูมิรัฐศาสตร์ คือความท้าทายของชีวิต

ถึงวันนี้ในวัย 78 ปี อาจารย์สมชาย ยังท้าทายตัวเองทุกวันด้วยเป้าหมายใหม่ ๆ ในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับตัวเอง ความตั้งใจจะเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิรัฐศาสตร์ก็สามารถทำได้แล้ว ทำให้ทุกวันนี้มีความสุข  และพยายามหาความก้าวหน้าในเนื้อหา ด้วยการติดตามข่าวสาร  พัฒนาความเชี่ยวชาญในด้านภาษาเพิ่มมากขึ้นทุกวัน

“ตอนนี้ผมพอใจเพราะผมได้ทำในสิ่งที่ผมต้องการในชีวิตเรียบร้อยและผมได้เป็นในสิ่งที่ผมต้องการ คือการเป็นอาจารย์ที่เชี่ยวชาญด้านภูมิรัฐศาสตร์ ผมตั้งใจเป็นเบอร์หนึ่งทางด้านนี้ และผมทำมาตั้งแต่อายุ 14 และตอนนี้ผมก็พอใจแล้ว เพราะฉะนั้นวันนี้คนมาถามผม ไม่ได้ถามผมเรื่องหุ้น  แต่มาถามเรื่องเศรษฐกิจการเมือง เรื่องต่างประเทศ ผมถือว่าได้บรรลุแล้วตามที่ตั้งเป้าหมายไว้”

ส่วนการรักษาความน่าเชื่อถือของการวิเคราะห์เศรษฐกิจการเมืองเอาไว้อย่างต่อเนื่อง อาจารย์สมชาย บอกว่ายึดเอาข้อมูลและดาต้ามาวิเคราะห์ แบบตรงไปตรงมาตามข้อเท็จจริง แบบปราศจากอคติ ไม่มีความรู้สึกรักหรือเกลียดใคร หากวิเคราะห์การเมือง ก็ต้องไม่รู้สึกรัก หรือเกลียดพรรคการเมืองใดเช่นกัน

“ผมใช้ดาต้ากับทฤษฎี ทุกเรื่องต้องมีทฤษฎี ทฤษฎีต้องอ่านหนังสือ ดาต้าต้องอ่านจากหนังสือพิมพ์ มันช่วยได้เยอะ ทฤษฎีสามารถปรับใช้ทางด้านชีวิตจริงและทุกเรื่องต้องเกี่ยวข้องกับชีวิตจริง เรียนเรื่องการเมืองต้องเกี่ยวข้องชีวิตจริง และเอาดาต้ามาประมวลผลและมาวิเคราะห์แล้วมาจับประเด็นต่างๆ เช่น เศรษฐกิจหรือการเมืองแล้วออกมาเป็นรูปธรรม”

 อาจารย์สมชายบอกว่า ทุกวันนี้มีชีวิตความสุข แต่ละวินาทีทำในสิ่งที่รักทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ ทำงานอย่างมีความสุข ใครจะว่าอย่างไรผมไม่ได้สนใจแล้ว ถ้าไม่มีใครเห็นคุณค่า ตัวเองเห็นคุณค่าก็พอแล้ว