ThaiPublica > เกาะกระแส > SET Note เปิดพอร์ตการถือครองหุ้นของนักลงทุนต่างประเทศในตลาดหุ้นไทย ปี 2566

SET Note เปิดพอร์ตการถือครองหุ้นของนักลงทุนต่างประเทศในตลาดหุ้นไทย ปี 2566

27 ตุลาคม 2023


ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2566 นักลงทุนต่างประเทศถือครองหุ้นในตลาดหุ้นไทย สูงสุดเป็นประวัติการณ์ด้วยมูลค่ารวมกว่า 5.87 ล้านล้านบาท โดยเพิ่มขึ้น 14.95% จากสิ้นเดือนกรกฎาคม 2565 โดยมูลค่าการถือครองหุ้นคิดเป็น 30.50% ของมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด

ฝ่ายวิจัย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้ศึกษาข้อมูลการถือครองหุ้นของนักลงทุนต่างประเทศ1 ในตลาดหุ้นไทยจาก 1) ข้อมูลการปิดสมุดทะเบียนเพื่อรวบรวมรายชื่อผู้ถือหุ้น 2) ข้อมูล Corporate Actions 3) ข้อมูลการระดมทุนผ่านตลาดรองของบริษัทจดทะเบียน 795 บริษัท2 โดยใช้ข้อมูลล่าสุดถึงสิ้นเดือนสิงหาคม 2566 ซึ่งมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวมกว่า 19.26 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 99.40% ของมูลค่าหลักทรัพย์รวมทั้งตลาด

ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2566 นักลงทุนต่างประเทศมีมูลค่าการถือครองหุ้นในตลาดหุ้นไทยรวมกว่า 5.87 ล้านล้านบาท ทำสถิติใหม่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ (ภาพที่ 1) โดยมูลค่าถือครองหุ้นฯ เพิ่มขึ้นกว่า 760,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 14.95% จากสิ้นเดือนกรกฎาคม 2565

ทั้งนี้ ปัจจัยที่มีผลให้มูลค่าการถือครองหุ้นของนักลงทุนต่างประเทศปรับเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งมาจาก
1)การปรับเพิ่มขึ้นของราคาหุ้นของบริษัทจดทะเบียนในบางหมวดธุรกิจ สังเกตได้จากดัชนีราคารายหมวดธุรกิจ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น (ตารางที่ 1)
2)การถือครองหุ้นของบริษัทที่เข้าจดทะเบียนซื้อขายใหม่ (new listing companies) ซึ่งเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบมูลค่าการถือครองหุ้นของนักลงทุนต่างประเทศที่เปิดเผยในปีผ่านมา กับมูลค่าการถือครองหุ้นของนักลงทุนต่างประเทศ ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2566 พบว่า นักลงทุนต่างประเทศถือครองหุ้นเพิ่มเติมในกลุ่มบริษัทที่เข้าจดทะเบียนซื้อขายใหม่ จำนวน 45 บริษัท ซึ่งมีมูลค่าถือครองหุ้นรวม 69,528 ล้านบาท (ตารางที่ 2)

3)การถือครองหุ้นเพิ่มเติม จากกิจกรรมการระดมทุนในตลาดรอง (secondary public offering) ของบริษัทจดทะเบียน

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเดือนสิงหาคม 2565 ถึงเดือนสิงหาคม 2566 นักลงทุนต่างประเทศขายสุทธิในตลาดหุ้นไทยรวมกว่า 49,780 ล้านบาท (ภาพที่ 2)

กลุ่มอุตสาหกรรมที่นักลงทุนต่างประเทศถือครองหุ้นสูงสุด 3 อันดับแรก คือ กลุ่มเทคโนโลยี กลุ่มบริการ และกลุ่มธุรกิจการเงิน มีมูลค่าถือครองหุ้นรวม 4.08 ล้านล้านบาท คิดเป็น 69.4% ของมูลค่าการถือครองหุ้นรวมของนักลงทุนต่างประเทศ

เมื่อพิจารณามูลค่าถือครองหุ้นของนักลงทุนต่างประเทศจำแนกตามกลุ่มอุตสาหกรรมในตลาดหุ้นไทย 9 อุตสาหกรรม (นับตลาดเอ็ม เอ ไอ เป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรม) พบว่า มูลค่าถือครองหุ้นของนักลงทุนต่างประเทศ ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2566 เพิ่มขึ้นในกลุ่มเทคโนโลยี กลุ่มบริการ กลุ่มธุรกิจการเงิน กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และสิ่งก่อสร้าง และบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ มีมูลค่าการถือครองหุ้นลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการถือครองหุ้นฯ สูงสุด 3 อันดับแรก มีการเปลี่ยนแปลงจากปีที่ผ่านมา (ตารางที่ 3) โดยอุตสาหกรรมที่มีการถือครองสูงสุดยังคงเป็นกลุ่มเทคโนโลยีเหมือนปีที่ผ่านมา อันดับที่ 2 คือ กลุ่มบริการ ที่ขยับมาจากอันดับ 4 โดยมีมูลค่าการถือครองหุ้น ขณะที่อันดับ 3 คือ กลุ่มธุรกิจการเงิน โดย 3 อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าถือครองหุ้นสูงสุดในปีนี้ มีมูลค่าการถือครองหุ้นรวม 4.08 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 69.4% ของมูลค่าการถือครองหุ้นรวมของนักลงทุนต่างประเทศ

กลุ่มเทคโนโลยี ยังคงเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่นักลงทุนต่างประเทศถือครองหุ้นด้วยมูลค่าสูงสุดที่ระดับ 1,930,760 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 775,102 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 67.07% จากปีก่อน โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้มูลค่าการซื้อครองหุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมนี้ปรับตัวสูงขึ้นเป็นผลจาก 1) ราคาหลักทรัพย์ของบริษัทจดทะเบียนในหมวดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น และ 2) การถือครองหุ้นเพิ่มขึ้นในบริษัทจดทะเบียนในหมวดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ในหมวดเทคโนโลยีและการสื่อสารที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมนี้

อันดับที่ 2 คือ กลุ่มบริการ ปรับขึ้นมาจากอันดับ 4 ในปีก่อน โดยมีมูลค่าการถือครองหุ้นรวม 1,086,482 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 194,638 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 21.82% จากปีก่อน โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้มูลค่าการซื้อครองหุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมนี้ปรับตัวสูงขึ้นเป็นผลจาก 1) การได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นของนักลงทุนต่างประเทศและถือครองหุ้นเพิ่มขึ้นในบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ในหมวดการแพทย์ และ 2) การปรับย้ายหมวดธุรกิจของบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ในหมวดอาหารและเครื่องดื่ม ภายใต้กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร ย้ายมาอยู่ในหมวดการท่องเที่ยวและสันทนาการ ภายใต้กลุ่มบริการ

อันดับ 3 คือ กลุ่มธุรกิจการเงิน ที่ลดลงจากอันดับ 2 ในปีก่อน โดยมีมูลค่าการถือครองหุ้นรวม 1,057,987 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 51,237 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 5.09% จากปีก่อน สวนทางกับการเปลี่ยนแปลงดัชนีกลุ่มอุตสาหกรรมที่ลดลง 0.97% จากปีก่อน ทั้งนี้เนื่องจาก 1) การเข้าจดทะเบียนของบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ในหมวดประกันภัยและประกันชีวิต และ 2) การถือครองหุ้นของบริษัทจดทะเบียนในหมวดธนาคารบางแห่งที่เพิ่มขึ้น โดยบางธนาคารเป็นผลจากราคาที่ปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่บางธนาคารมีการถือครองด้วยจำนวนหุ้นที่เพิ่มขึ้น ขณะที่อันดับ 4 คือ กลุ่มทรัพยากร ที่ลดลงจากอันดับ 3 ในปีก่อน โดยมีมูลค่าการถือครองหุ้นรวม 861,642 ล้านบาท ลดลง 91,779 ล้านบาท หรือลดลง 9.63% จากปีก่อน ใกล้เคียงดัชนีของกลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับตัวลดลง 8.94% จากปีก่อน

นักลงทุนต่างประเทศมีมูลค่าการถือครองหุ้นสูงสุดในหมวดหมวดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ รองลงมา คือ พลังงานและสาธารณูปโภค และธนาคาร

เมื่อพิจารณามูลค่าการถือครองหุ้นของนักลงทุนต่างประเทศจำแนกตามหมวดธุรกิจของตลาดหุ้นไทย จำนวน 27 หมวด (รวมตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ เป็นหนึ่งหมวดธุรกิจ) พบว่า

หมวดธุรกิจที่นักลงทุนต่างประเทศถือครองหุ้นสูงสุด 3 อันดับแรก (ตารางที่ 4) คือ หมวดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ หมวดพลังงานและสาธารณูปโภค และหมวดธนาคาร ซึ่งยังคงเป็นหมวดเดียวกันกับปีที่ผ่านมา แต่สลับอันดับ โดยหมวดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ขยับขึ้นไปอยู่ในอันดับ 1 จากอันดับที่ 3 ในปีก่อน ขณะที่หมวดพลังงานและสาธารณูปโภค และหมวดธนาคาร ปรับลดลงมาอยู่ที่อันดับที่ 2 และ 3 จากอันดับที่ 1 และ 2 ในปีก่อน โดยในปีนี้ทั้ง 3 หมวดธุรกิจ มีมูลค่าถือครองหุ้นรวม 3.07 ล้านล้านบาท คิดเป็น 52.34% ของมูลค่าการถือครองหุ้นรวมของนักลงทุนต่างประเทศ

หมวดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ (ETRON) มีมูลค่าการถือครองหุ้นสูงสุด 1,384,202 ล้านบาท คิดเป็น 23.56% ของมูลค่าการถือครองหุ้นรวมของนักลงทุนต่างประเทศ

รองลงมา คือ หมวดพลังงานและสาธารณูปโภค (ENERG) มีมูลค่าการถือครองหุ้นรวม 861,642 ล้านบาท คิดเป็น 14.67% ของมูลค่าการถือครองหุ้นรวมของนักลงทุนต่างประเทศ และหมวดธนาคาร (BANK) มูลค่าการถือครองหุ้นรวม 828,880 ล้านบาท คิดเป็น 14.11% ของมูลค่าการถือครองหุ้นรวมของนักลงทุนต่างประเทศ

มูลค่าการถือครองหุ้นกว่า 75.2% ของมูลค่าการถือครองหุ้นของนักลงทุนต่างประเทศทั้งหมด เป็นการถือครองหุ้นที่อยู่ในองค์ประกอบของ MSCI Thailand Index เพิ่มขึ้นจาก 72.3% จากปีก่อน

จากรายชื่อหลักทรัพย์ที่นักลงทุนต่างประเทศถือครองหุ้น ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2566 เปรียบเทียบกับรายชื่อองค์ประกอบของ MSCI Thailand Index จำนวน 41 บริษัท3 พบว่า นักลงทุนต่างประเทศถือครองทุกหลักทรัพย์ที่เป็นองค์ประกอบดัชนีดังกล่าว โดยมีมูลค่าการถือครองหุ้นรวม 4.42 ล้านล้านบาท คิดเป็น 75.2% ของมูลค่าการถือครองหุ้นรวมของนักลงทุนต่างประเทศ (ภาพที่ 3) ซึ่งมีมูลค่าการถือครองหุ้นเพิ่มขึ้น 19.7% จากสิ้นเดือนกรกฎาคม 2565 ที่มีมูลค่าการถือครองหุ้นที่เป็นองค์ประกอบดัชนีรวม 3.69 ล้านล้านบาท

ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2566 นักลงทุนจาก 122 สัญชาติ ถือครองหุ้นในตลาดหุ้นไทย โดยนักลงทุนจากสหราชอาณาจักร สิงคโปร์ และฮ่องกง มีมูลค่าการถือครองหุ้นสูงสุด 3 สัญชาติแรก

จากข้อมูลการถือครองหุ้นของนักลงทุนต่างประเทศ ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2566 พบว่า มีนักลงทุนต่างประเทศจำนวน 122 สัญชาติถือครองหุ้นในตลาดหุ้นไทย ลดลงสุทธิ 1 สัญชาติ จากปีก่อน โดยนักลงทุนต่างประเทศที่มีมูลค่าการถือครองหุ้นสูงสุด 10 สัญชาติแรก มีมูลค่าถือครองหุ้นรวม 5.64 ล้านล้านบาท คิดเป็น 96.0% ของมูลค่าการถือครองหุ้นทั้งหมดของนักลงทุนต่างประเทศ (ตารางที่ 5)

จากภาพรวมมูลค่าการถือครองหุ้นจำแนกตามสัญชาตินักลงทุน พบว่า นักลงทุน 10 สัญชาติแรกที่มีมูลค่าการถือครองหุ้นรวมสูงสุด ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2565 พบว่า 9 สัญชาติยังคงเป็นนักลงทุนสัญชาติ แต่มีการเปลี่ยนแปลงจากปีก่อน สรุปได้ดังนี้

  • นักลงทุนจากสหราชอาณาจักร ยังคงมีมูลค่าการถือครองหุ้นสูงสุดในตลาดหุ้นไทย โดยมูลค่าการถือครองหุ้นส่วนใหญ่กระจายถือครองหุ้นของบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ที่เป็นองค์ประกอบดัชนีอ้างอิงต่างประเทศ (อาทิ MSCI Thailand Index เป็นต้น)
  • อันดับที่ 2 ยังคงเป็นนักลงทุนจากสิงคโปร์ ที่มูลค่าการถือครองหุ้นส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ทั้งในหมวดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และหมวดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
  • ขณะที่อันดับ 3 ในปีนี้ คือ นักลงทุนจากฮ่องกง มูลค่าการถือครองหุ้นส่วนใหญ่กระจายถือครองหุ้นของบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ที่เป็นองค์ประกอบดัชนีอ้างอิงต่างประเทศ แซงหน้านักลงทุนจากสวิสเซอร์แลนด์ ที่ปีนี้อยู่ที่อันดับ 4 โดยมูลค่าการถือครองหุ้นส่วนใหญ่ของกระจายถือครองหุ้นของบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ที่เป็นองค์ประกอบดัชนีอ้างอิงต่างประเทศ โดยเฉพาะในธุรกิจพลังงาน
  • อันดับที่ 5 และอันดับที่ 6 ยังคงเป็นสัญชาติและอันดับเดิม ได้แก่ นักลงทุนจากสหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ตามอันดับ
  • อันดับที่ 7 และอันดับที่ 8 ยังคงเป็นนักลงทุนจากเนเธอร์แลนด์และมอริเชียส โดยปีนี้เนเธอร์แลนด์ขยับแซงหน้ามอริเชียสมาอยู่ที่อันดับ 7 ส่วนมอริเชียสลดลงไปอยู่มี่อันดับ 8
  • ส่วนอันดับ 9 คือ นักลงทุนจากไต้หวัน ขยับขึ้นมาจากอันดับที่ 11 ในปีที่ผ่านมา โดยมูลค่าการถือครองหุ้นส่วนใหญ่อยู่ในหมวดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และอันดับที่ 10 คือ นักลงทุนจากฝรั่งเศส ที่ลดลงมาจากอันดับ 9 ในปีที่ผ่านมา และนักลงทุนจากบริติช เวอร์จิน ไอส์แลนด์ ที่อยู่ในอันดับ 10 ในปีที่ผ่านมา ที่ขยับลดลงไปอยู่ที่อันดับ 11 ในปีนี้

    อ้างอิง
    1 การแบ่งสัญชาตินักลงทุน ใช้ข้อมูลตามที่นักลงทุนระบุในฐานข้อมูลนักลงทนุ หากนักลงทุนต่างประเทศลงทุนผ่านทางประเทศอื่น หรือ หลักทรัพย์อยู่ภายใต้ผู้เก็บรักษาทรัพย์สิน (custodian/trustee) ในประเทศอื่น ทา ให้ฐานข้อมูลนักลงทุนมีความคลาดเคลื่อนจากสัญชาติที่แท้จริงของนักลงทุนได้
    2 ข้อมูล ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2566 ไม่รวมบริษัทจดทะเบียนที่อยู่ระหว่างฟื้นฟูกิจการ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์
    (REIT)
    3 รายชื่อหลักทรัพย์ที่เป็นองค์ประกอบ MSCI Thailand Index ณ 22 กันยายน 2566