ThaiPublica > คอลัมน์ > แบบอย่างของ มหาตมะ คานธี ภาวะผู้นำที่ยึดถือค่านิยมที่ถูกต้อง

แบบอย่างของ มหาตมะ คานธี ภาวะผู้นำที่ยึดถือค่านิยมที่ถูกต้อง

26 เมษายน 2017


ปรีดี บุญซื่อ

มหาตมะ คานธี ที่มาภาพ : https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons

ในวันที่ 15 สิงหาคม 1947 อินเดียได้รับเอกราชจากอังกฤษ วันเดียวกันนี้ ดินแดนก็แบ่งแยกเป็น 2 ส่วน คือ อินเดียกับปากีสถาน แต่มหาตมะ คานธีไม่ได้อยู่ที่กรุงเดลีเพื่อเฉลิมฉลองวาระดังกล่าว ไม่ได้กล่าวสุนทรพจน์ใดๆ คานธีไม่อยู่ในอารมณ์ที่จะฉลองการประกาศเอกราช แต่ต้องไปที่กัลกัตตา เมืองหลวงของรัฐเบงกอลตะวันตก เพื่อระงับการจลาจลและการใช้ความรุนแรงระหว่างคนฮินดูกับคนมุสลิม

วันที่ 26 สิงหาคม 1947 ลอร์ดเมาท์แบตเตน อุปราชคนสุดท้ายของอินเดียและข้าหลวงใหญ่คนแรกของอังกฤษ เมื่ออินเดียได้รับเอกราชแล้ว เขียนจดหมายถึงมหาตมะ คานธี ว่า “ท่านคานธีที่รัก ในปัญจาบ เรามีทหาร 55,000 คน เพื่อรับมือกับการจลาจลครั้งใหญ่ แต่ในเบงกอล เรามีทหารอยู่เพียงนายเดียว และไม่มีจลาจลเกิดขึ้น ในฐานะนายทหารและผู้ปกครอง ข้าพเจ้าขออนุญาตที่จะแสดงการคารวะต่อกองทหารที่มีทหารอยู่เพียงคนเดียวนี้”

คำกล่าวที่มีสัมมาคารวะของเมาท์แบตเตน สะท้อนพลังอำนาจภาวะผู้นำของมหาตมะ คานธี ทั้งๆ ที่คานธีไม่ได้มีตำแหน่งทางการเมืองที่เป็นทางการใดๆ ปัจจุบัน พลังอำนาจดังกล่าวนี้เรียกกันว่า “อำนาจอ่อน” (soft power) คานธีมีเพียง 2 มือเปล่า แต่สามารถดำเนินการจนบรรลุเป้าหมาย ขณะที่กำลังทหารอาจจะทำไม่ได้ อะไรคือความลับของพลังอำนาจคานธี แม้จะถูกลอบสังหารเมื่อ 70 กว่าปีมาแล้ว แต่ทำไมคานธีก็ยังคงสร้างแรงดลใจให้แก่ผู้คนนับล้านๆ คนทั่วโลก ผู้นำและรัฐบุรุษที่มีชื่อเสียงหลายคนล้วนได้กำลังใจจากแบบอย่างของคานธี ไม่ว่าจะเป็นมาร์ติน ลูเทอร์ คิง, เนลสัน แมนเดลลา, ทะไลลามะ และ ออง ซาน ซูจี

คนในปัจจุบันได้เข้าใจพัฒนาการความเป็นผู้นำและพลังอำนาจของคานธีว่าเกิดจากประสบการณ์ในชีวิตของคานธี พลังอำนาจของคานธีคือ การมอบอำนาจให้แก่คนที่อ่อนแอในสังคม ความเชื่อมั่นที่มาจากการแสวงหาความจริง อำนาจบารมีที่เกิดขึ้นจากความกล้าหาญในสิ่งที่เป็นความเชื่อของตัวเอง และความเข้มแข็งที่เกิดขึ้นจากการเสียสละเพื่อคนอื่น มหาตมะ คานธี อุทิศชีวิตให้กับสิ่งที่เป็นเป้าหมายสูงส่ง จุดนี้คือความยิ่งใหญ่อย่างแท้จริงของคานธี ภาวะผู้นำที่ยึดมั่นในค่านิยมที่ถูกต้อง (value-based leadership) ของคานธี คือสิ่งที่ผู้นำองค์กรสมัยใหม่สามารถนำมาเป็นแบบอย่าง

การทำงานรับใช้ผู้อื่น เป็นค่านิยมสำคัญอย่างหนึ่งของคานธี ที่มาภาพ https://media.licdn.com

ชีวิตในแอฟริกาใต้

มหาตมะ คานธี เกิดเมื่อปี 1869 ในครอบครัววรรณะพ่อค้า และเติบโตในสภาพแวดล้อมทางศาสนา ทำให้คานธีได้รับอิทธิพลจากความเชื่อของหลายศาสนา บิดานับถือศาสนาฮินดูที่บูชาเทพวิษณุ มารดานับถือนิกายศาสนาที่ผสมผสานระหว่างฮินดูกับมุสลิม ประเพณีการอดอาหารตามศาสนาของมารดาจึงมีอิทธิพลอย่างมากต่อคานธี ภายหลังต่อมา การประท้วงด้วยการอดอาหารจึงเป็นอาวุธสำคัญของคานธี ที่ใช้ต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมต่างๆ

ในปี 1888 คานธีเดินทางไปอังกฤษ เพื่อศึกษากฎหมายและฝึกฝนอาชีพเป็นทนายความ ช่วงที่อยู่อังกฤษ คานธีได้อ่านหนังสือ ภควัทคีตา (Bhagavad Gita) และ ประทีปแห่งเอเชีย (The Light of Asia) หนังสือพุทธประวัติของ Edwin Arnold ทำให้คานธีได้รับอิทธิพลจากความเชื่อและคำสอนของศาสนาฮินดูและพุทธศาสนา คานธีกล่าวว่า หนังสือ 2 เล่มนี้ได้ให้ทัศนะใหม่ในการมองชีวิต โดยเฉพาะเรื่องความมุ่งมั่นที่จะมีชีวิตเพื่อการเสียสละ

คานธีในแอฟริกาใต้ ปี 1895 ที่มาภาพ : wikipedia

เมื่อจบการศึกษาด้านกฎหมาย คานธีเดินทางกลับอินเดียในปี 1891 แต่อาชีพทนายความในอินเดียของคานธีไม่ประสบความสำเร็จ เมื่อมีบริษัทมุสลิมในแอฟริกาใต้ต้องการทนายความ คานธีจึงรับงานนี้ และออกเดินทางจากบอมเบย์ไปถึงเมืองท่าเดอร์บัน (Durban) แอฟริกาใต้ เมื่อพฤษภาคม 1893 คานธีตั้งใจจะอยู่ที่แอฟริกาใต้ 1 ปี แต่ในที่สุดก็ใช้ชีวิตอยู่ประเทศนี้นานถึง 21 ปี แต่แอฟริกาใต้คือจุดหักเหของชีวิตคานธี เพราะต้องประสบกับเหตุการณ์ที่ไม่เคยพบมาก่อนในเรื่องความไม่ยุติธรรมและการทำลายศักดิ์ศรีมนุษย์ ผลักดันให้คานธีกล้าท้าทายต่ออำนาจรัฐของแอฟริกาใต้ และกลายเป็นสนามฝึกฝนให้กับคานธีสำหรับการต่อสู้เพื่อเอกราชของอินเดียในเวลาต่อมา

เมื่อคานธีเดินทางมาแอฟริกาใต้ วัตถุประสงค์ก็เพื่อการเริ่มต้นอาชีพด้านกฎหมาย ในสมัยนั้น แอฟริกาใต้แบ่งพื้นที่เป็นนิคมปกครองตัวเอง เช่น นิคม Natal ปกครองโดยคนอังกฤษอพยพ นิคม Transvaal ปกครองโดยพวกดัทช์ แอฟริกาใต้เป็นดินแดนในทวีปแอฟริกาแห่งเดียวที่มีสภาพภูมิอากาศคล้ายกับยุโรป พวกคนผิวขาวจึงอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานเพื่อสร้างเป็นดินแดนบ้านเกิดของตัวเอง แต่แอฟริกาใต้มีคนอินเดียอาศัยอยู่กว่า 5 หมื่นคน ที่มาเป็นคนงานตามเหมืองแร่ โรงงานน้ำตาล และสร้างรางรถไฟ

เนื่องจากต้องไปว่าความที่ Pretoria เมืองหลักของนิคม Transvaal คานธีจึงต้องเดินทางโดยรถไฟจากเมืองเดอร์บัน นิคม Natal คานธีมีบัตรโดยสารรถไฟชั้น 1 เมื่อรถไฟเดินทางถึงเมืองหนึ่ง เจ้าหน้าที่รถไฟก็มาบอกให้คานธีต้องย้ายไปอยู่ที่ห้องเก็บสัมภาระ แต่คานธีปฏิเสธที่จะย้ายชั้นโดยสาร ในที่สุดก็ถูกไล่ลงจากรถไฟ คานธีเขียนไว้ในหนังสืออัตชีวประวัติว่า

“มันเป็นปริศนาที่ลี้ลับต่อข้าพเจ้ามาตลอดว่า คนเราเกิดความรู้สึกว่าตัวเองมีเกียรติศักดิ์ศรีได้อย่างไร โดยการเหยียดหยามเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน”

ค้นพบอสิงหา

แต่เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้คานธีตระหนักในภารกิจบางอย่าง โดยเขียนไว้ว่า “หากเป็นไปได้ ข้าพเจ้าจะพยายามขจัดต้นเหตุของมัน และยอมทุกข์ยากในการทำในสิ่งนี้ จะหาทางขจัดปัดเป่าในสิ่งที่จำเป็นเท่านั้น เพื่อทำลายอคติทางผิวพันธุ์” เหตุการณ์ที่ประสบด้วยตัวเองในครั้งนี้ คานธีไม่ได้มองว่าเป็นการเหยียดหยามเป็นการส่วนตัว แต่เป็นปัญหาทั่วไป และจะต่อสู้ในสิ่งที่จำเป็นเท่านั้น ทัศนะนี้สะท้อนความรู้สึกที่ฝังลึกอยู่ในตัวคานธีเกี่ยวกับเมตตาธรรม หลักการสำคัญข้อหนึ่งของ อหิงสา

แต่ก็เกิดเหตุการณ์บางอย่าง ที่ทำให้คานธีต้องเลื่อนกำหนดกลับอินเดียออกไปเพื่อช่วยคนงานอินเดียในแอฟริกาใต้รวมตัวกันคัดค้านกฎหมายที่จะลิดรอนสิทธิ์ ในปี 1906 นิคม Transvaal ออกกฎหมายบังคับคนอินเดียและคนจีน ต้องมาลงทะเบียนโดยพิมพ์รายนิ้วมือและให้อำนาจตำรวจเข้าค้นบ้าน นับเป็นครั้งแรกที่คานธีจัดให้มีการชุมนุมประท้วงอย่างสันติอหิงสา โดยเรียกร้องให้คนอินเดียต่อต้านกฎหมาย แต่ก็ยินยอมรับโทษทัณฑ์จากการกระทำนี้

คานธีเรียกวิธีการต่อสู้แบบอารยะขัดขืนนี้ว่าสัตยาเคราะห์ (Satyagraha) ที่หมายถึงพลังจิตใจที่เกิดจากการมีวินัยในตัวเอง การรู้จักควบคุมตัวเอง และการทำตัวเองให้บริสุทธิ์ แนวคิดเรื่องสัตยาเคราะห์นี้คานธีอาจได้รับอิทธิพลจากหนังสือของ Leo Tolstoy ชื่อ The Kingdom of God Is Within You ที่คานธีได้อ่านในช่วงแรกที่อยู่ในแอฟริกาใต้ และประทับใจมากในหนังสือเล่มนี้ ชื่อหนังสือของ Tolstoy มาจากเรื่องเล่าตามตำนาน เมื่อมีคนถามพระเยซูว่า เราจะรู้ได้อย่างไรว่า อาณาจักรของพระเจ้าได้มาถึงแล้ว พระเยซูกล่าวตอบว่า อาณาจักรนี้ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏอยู่ภายนอกหรือมองเห็นได้ แต่อยู่ภายในตัวคนเรา

ตลอดช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่ คานธีมักจะมองย้อนกลับไปแอฟริกาและเห็นว่า แอฟริกาเป็น “ทวีปที่น่าหดหู่ ที่ข้าพเจ้าค้นพบพระเจ้า” เป็นดินแดนที่คานธีค้นพบการต่อต้านแบบอหิงสา ชีวิตในแอฟริกาใต้ จึงนับเป็นบันไดขั้นแรกของคานธีเพื่อก้าวไปสู่ความสำเร็จที่สูงขึ้นในภายหลังต่อมาของชีวิตที่เหลือยู่ และคานธีเองก็เชื่อมั่นว่า สัตยาเคราะห์คือวิธีการดีสุดที่จะทำให้อินเดียมีโอกาสได้เอกราชจากอังกฤษ

กลับคืนสู่อินเดีย

การเคลื่อนไหวในแอฟริกาใต้ทำให้ชื่อเสียงของคานธีกระจายมาถึงอินเดีย เมื่อคานธีเดินทางกลับมาอินเดียในปี 1915 จึงได้รับการต้อนรับจากคนอินเดียที่มีชื่อเสียง รพินทรนาถ ฐากูร (Rabindranath Tagore) ที่ได้รับรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรมปี 1931 เป็นคนที่มอบตำแหน่ง “มหาตมะ” ให้กับคานธี ที่มีความหมายว่า “จิตวิญญาณที่ยิ่งใหญ่” (Great Soul) ในระยะแรกๆ เมื่อกลับมาอินเดีย คานธียังให้การสนับสนุนการปกครองของอังกฤษในอินเดีย แต่ต่อมาไม่นานความคิดของคานธีก็เปลี่ยนไป เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่รัฐบาลอาณานิคมของอังกฤษสังหารประชาชน

ในปี 1919 รัฐบาลอาณานิคมอังกฤษออกกฎหมายให้อำนาจรัฐบาลที่จะจับกุมและคุมขังโดยไม่ต้องขึ้นศาล หากสงสัยว่าจะก่อการร้าย คานธีเรียกร้องให้มีการประท้วงทั่วประเทศ ทำให้เกิดการจลาจลทั่วอินเดีย จนคานธีต้องสั่งให้ยุติการประท้วงในรัฐปัญจาบ ทหารรัฐบาลอาณานิคมอังกฤษสั่งยิงฝูงชนทำให้มีคนเสียชีวิต 379 คน เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้ความคิดของคานธีก้าวมาถึงจุดที่เรียกร้องให้อังกฤษยุติการปกครองอินเดีย

ปี 1930 คานธีเริ่มรณรงค์ Salt March โดยการเดินเท้า ระยะทาง 241 ไมล์ ไป Dandi เมืองชายทะเล

คานธีเองก็มีความพร้อมแล้วเช่นกัน ที่จะยกระดับการต่อสู้ให้สูงขึ้น คือเรียกร้องเอกราชสมบูรณ์ของอินเดีย โดยอาศัยการสร้างขบวนการที่ไม่ให้ความร่วมมือกับอังกฤษ ในปี 1922 คานธีถูกจับกุมและขึ้นศาล แต่คานธีสามารถพลิกเปลี่ยนให้การพิจารณาคดีในศาลกลายเป็นเวทีการพิจารณาคดีต่อการปกครองอาณานิคมอังกฤษในอินเดีย คานธีถูกตัดสินจำคุก 6 ปี แต่จำคุกได้ 2 ปี ก็ได้รับการปล่อยตัวออกมาเพราะปัญหาสุขภาพ หลังจากนั้นเป็นต้นมา รัฐบาลอังกฤษไม่ดำเนินคดีกับคานธีอีกเลย แม้คานธีจะถูกจับกุมอีกหลายครั้ง

การต่อสู้เพื่อเอกราชของอินเดียพัฒนามาถึงจุดสูงสุดในปี 1930 รูปแบบการต่อสู้อหิงสาของคานธีปรากฏออกมาในรูปของการปฏิเสธที่จะจ่ายภาษีแก่รัฐบาล รัฐบาลอาณานิคมอังกฤษเก็บภาษีเกลือในอัตราสูง และเป็นเรื่องผิดกฎหมายที่คนอินเดียจะใช้เกลือที่ไม่ได้ขายโดยรัฐบาล ในเดือนมีนาคม 1930 คานธีเริ่มรณรงค์โดยการเดินเท้าระยะทาง 241 ไมล์ ใช้เวลา 24 วัน ไปยังเมืองชายทะเลชื่อ Dandi

เมื่อไปถึง Dandi คานธีหยิบเกลือขึ้นมาจำนวนหนึ่ง เพื่อให้เป็นสัญลักษณ์การประท้วงรัฐบาลอาณานิคม คานธีถูกจับกุม เพราะครอบครองเกลือที่ไม่ได้จ่ายภาษี เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้เกิดกระแสต่อต้านสินค้าอังกฤษในหมู่คนอินเดีย มีคนอินเดีย 6 หมื่นกว่าคนถูกจับ การรณรงค์อย่างสันติครั้งนี้ของคานธีกลายเป็นประเด็นที่นานาชาติให้ความสนใจและให้การสนับสนุน จึงเสมือนกับเป็นระฆังมรณะของการปกครองอังกฤษในอินเดีย

การต่อสู้ของคานธีในครั้งนี้เรียกกันว่า Salt March ทำให้เห็นถึงพลังของวิธีการแบบอสิงหา รัฐบาลอาณานิคมอังกฤษเริ่มตระหนักว่า เอกราชของอินเดียเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่พ้น ในปี 1930 นิตยสาร Time เลือกให้คานธีเป็น บุรุษแห่งปี คานธีกลายเป็นสัญลักษณ์ของพลังทางศีลธรรมในอินเดียและทั่วโลก

แต่ประวัติศาสตร์ได้ให้บทเรียนไว้ว่า ผู้นำที่ยิ่งใหญ่ ถูกสร้างขึ้นมาจากการเสียสละที่ยิ่งใหญ่ของคนคนนั้น เนลสัน แมนเดลา ใช้เวลากว่า 50 ปี จึงประสบความสำเร็จในการต่อสู้กับแบ่งแยกสีผิวในแอฟริกาใต้ ในช่วงเวลาดังกล่าว แมนเดลาต้องถูกคุมขังนาน 27 ปี ส่วนการต่อสู้ของคานธีก็ประสบกับเหตุการณ์ที่ยากลำบากมายาวนานเช่นเดียวกัน คือชีวิตการต่อสู้ 21 ปีในแอฟริกาใต้ และ 33 ปีในอินเดีย

ผู้นำที่ยึดถือค่านิยมที่ถูกต้อง

ในยุคปัจจุบัน องค์กรต่างๆ เผชิญปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ วิกฤติทางการเงิน การแข่งขันทางธุรกิจที่รุนแรง องค์กรประสบปัญหาธรรมาภิบาลและเรื่องอื้อฉาวต่างๆ เช่น กรณีของ United Airlines ที่ใช้กำลังบังคับผู้โดยสารให้ลงจากเครื่องบิน ทั้งๆ ที่สายการบินเป็นฝ่ายขายบัตรโดยสารเกินจำนวนที่นั่ง เหตุการณ์ครั้งนี้ทำลายชื่อเสียงและความไว้วางใจของคนต่อธุรกิจสายการบิน ภาวะผู้นำที่ยึดถือค่านิยมที่ถูกต้อง (value-based leadership) จึงกลายเป็นปัจจัยสำคัญต่อการอยู่รอดขององค์กรต่างๆ

หนังสือที่เขียนภาวะผู้นำของคานธีแบบ value-based leadership

การศึกษาด้านการบริหารธุรกิจ ก็ให้ความสำคัญกับภาวะผู้นำที่ยึดมั่นในค่านิยม Harry Jansen Kraemer, Jr. จาก Kellogg School of Management กล่าวว่า ภาวะผู้นำที่แท้จริง คือ ผู้นำที่ยึดถือค่านิยมที่ถูกต้อง คนทั่วไปในปัจจุบัน ขาดความเชื่อมั่นต่อองค์กรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจ รัฐบาล การศึกษา เป็นต้น ผู้นำจึงต้องหาทางรักษาความเชื่อมั่นของคนทั้งหลายที่มีต่อองค์กร แม้ว่าภาวะผู้นำแบบยึดถือค่านิยมที่ถูกต้องนั้นอาจจะไม่สามารถแก้ปัญหาทั้งหมดขององค์กร แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้น

ในบทความที่มีชื่อเสียงชื่อ “Notes towards a Definition of Values-Based Leadership” James O’Toole กล่าวว่า คานธีคือ ตัวอย่างที่แสดงออกชัดเจนที่สุดเรื่อง ผู้นำที่ยึดถือค่านิยม นอกเหนือจากนี้ ก็มีผู้นำคนอื่นๆ ที่มีแบบอย่างเดียวกันนี้ เช่น อับราฮัม ลินคอร์น, มาร์ติน ลูเทอร์ คิง, เนลสัน แมนเดลา, วักสลาฟ ฮาเวล และแม่ชีเทเรซา เป็นต้น

O’Toole กล่าวว่า ผู้นำที่ยึดค่านิยมจะช่วยให้ผู้ติดตามบรรลุสิ่งที่เป็นความต้องการแท้จริงของพวกเขา ผู้นำแบบนี้จะรู้สึกว่าตัวเองบรรลุเป้าหมาย เมื่อได้สร้างโอกาสให้คนอื่นๆ ได้บรรลุความฝันและศักยภาพของตัวเอง ผู้นำลักษณะนี้จะมีความชัดเจนสูงมากในเรื่องค่านิยมที่ตัวเองยึดมั่นอยู่ แม้การกระทำที่เล็กๆ น้อยๆ ก็สอดคล้องกับค่านิยมหลักของตัวเอง ผู้นำแบบนี้ก็มีจุดอ่อนเหมือนคนธรรมดาทั่วไป แต่พยายามมองหาจุดอ่อนตัวเองอย่างซื่อตรงและเรียนรู้มัน คุณสมบัติดังกล่าวนี้เองที่เปลี่ยนก้อนหินให้กลายเป็นหลักกิโลเมตร

คานธีเป็นผู้นำที่ยึดมั่นค่านิยมหลักเรื่องสัจจะความจริง และอหิงสา ไม่เคยยอมประนีประนอมในหลักการนี้ ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์แบบไหน สัจจะและอหิงสาล้วนเป็นปรัชญาด้านศีลธรรม คานธีเชื่อว่าตัวเองไม่ได้มีอะไรใหม่มาเผยแพร่แก่โลก ค่านิยมเหล่านี้มีมาพร้อมกับมนุษย์เรา แต่สิ่งที่เป็นนวัตกรรมของคานธี คือ การทดลองใช้ค่านิยมที่เชื่อมั่นว่าถูกต้อง ในขอบเขตที่กว้างขวางมากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ นำค่านิยมที่เคยยึดมั่นอยู่ภายในตัวเองออกไปสู่พื้นที่สาธารณะ

เอกสารประกอบ

1.Dhiman, Satinder. Gandhi and Leadership, Palgrave Macmillan, 2015.
2.Parekh, Bhikhu. Gandhi: A Very Short Introduction, Oxford University Press, 1997.
3.O’Toole, James. Notes toward a Definition of Values-Based Leadership, 2008.
4.Guha, Ramachandra. Gandhi Before India, Alfred A Knopf, 2014.