ThaiPublica > เกาะกระแส > บลูบิค กางแผนธุรกิจ 5 ปี รับมือระเบียบโลกใหม่ ด้วยแนวคิด “Digital-First Company”

บลูบิค กางแผนธุรกิจ 5 ปี รับมือระเบียบโลกใหม่ ด้วยแนวคิด “Digital-First Company”

15 มีนาคม 2023


นายพชร อารยะการกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

นายพชร อารยะการกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ BBIK กล่าวว่า ในปี 2566 บริษัทฯ จะมุ่งเน้นการทำ Synergy ระหว่างบริษัทแม่และบริษัทในเครือทั้งหมด เพื่อสร้างการเติบโตร่วมอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาวตามแผน “Growth at Scale” ด้วยการยกระดับการให้บริการแบบครบวงจรที่ครอบคลุมกลุ่มลูกค้าทั้งขนาดใหญ่และกลาง พร้อมลุยธุรกิจใหม่ที่มีศักยภาพในการเติบโต ตั้งเป้าขยายสัดส่วน Recurring Income โดยใช้จุดแข็งของแต่ละบริษัทเข้าไปสนับสนุนการให้บริการและการเติบโตทั้งในส่วนรายได้และกำไร เพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจผ่าน Cross-Selling และ Up-Selling ระหว่างกัน

“หลังจากปลดล็อคปัญหาจำนวนผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีไม่เพียงพอ โดยมีอัตรากำลังที่เพิ่มขึ้นจาก 350 เป็น 800 ชีวิตแล้ว การเข้าซื้อกิจการของ VDD และ Innoviz ยังสร้างการเติบโตแบบ Inorganic growth ให้กับบลูบิคเป็นปีแรกด้วย ดังนั้นการเติบโตของผลประกอบการนับจากนี้ของบริษัทฯจะเป็นไปอย่างมีเสถียรภาพ สามารถรองรับการขยายบริการทั้งในและต่างประเทศ และบรรลุเป้าหมายการได้รับคัดเลือกเข้าดัชนี SET 100 ตามแผนที่วางไว้” นายพชร กล่าว

อย่างไรก็ตาม มูลค่าแบ็คล็อกของบลูบิคและบริษัทในเครือ ณ วันที่ 31 ธันวาคมที่ผ่านมา ที่สูงถึง 979 ล้านบาท โดยแบ่งออกเป็น บลูบิคจำนวน 454 ล้านบาท บริษัทร่วมค้า (JV) 157 ล้านบาท และ VDD, Innoviz 368 ล้านบาท

นายพชร กล่าวต่อว่า นอกจากปัจจัยสนับสนุนข้างต้นแล้ว ปี 2566 จะเป็นปีแรกที่บริษัทฯ สามารถเติบโตแบบ Inorganic Growth หลังปิดดีลควบรวมกิจการ VDD และ Innoviz เสร็จสิ้น ทำให้สามารถบันทึกรายได้และกำไรของทั้งสองบริษัทได้ตั้งแต่ Q1/66 อีกทั้งกลุ่มบริษัทยังได้รับอานิสงส์จากสิทธิประโยชน์ทางภาษีจาก BOI อีกด้วย ดังนั้น บริษัทฯประเมินว่าผลประกอบการปี 2566 จะโตได้ถึง 120% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ 100% ซึ่งจะเป็นการทำนิวไฮต่อเนื่อง 7 ปีซ้อนต่อจากปี 2565 ที่ทั้งรายได้และกำไรของบริษัทฯโตทุบสถิติต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 ด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ยสะสม (CAGR) ถึง 70% ต่อปี ถือเป็นการเติบโตในอัตราที่สูงและเป็นไปอย่างมีเสถียรภาพ

3 แนวทาง โตแบบ Growth at Scale

นายพชร ให้ข้อมูลการเติบโตแบบ Growth at Scale ในช่วง 5 ปี ประกอบด้วย 3 แนวทาง ดังนี้

  1. ผนึกกำลังบริษัทในเครือปูทางสู่การเติบโตระยะยาว: เร่งผสานการทำงานและความร่วมมือระหว่างบลูบิค กับ VDD และ Innoviz เพื่อเพิ่มอัตราทำกำไรและ Revenue per Head ของทั้งสองบริษัท ในขณะที่บลูบิคเดินหน้าขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มที่เป็นองค์กรขนาดกลางและภาครัฐซึ่งเป็นฐานลูกค้าหลักของสองบริษัท พร้อมทั้งเดินหน้าผนึกกำลังการทำงานร่วมกันของทุกบริษัทในเครือ
  2. เพิ่มขีดความสามารถในการรับงานมูลค่าระดับหลายร้อยล้านบาท พร้อมแข่งขันบริษัทที่ปรึกษาชั้นนำระดับโลก: การ Synergy ระหว่างบลูบิคและบริษัทในเครือ ผนวกกับประสบการณ์การพัฒนาโซลูชันและแอปพลิเคชันที่สามารถรองรับจำนวนผู้ใช้งานระดับหลายร้อยล้านคน จะทำให้บริษัทฯ สามารถรับงานขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าหลายร้อยล้านบาทและเป็นตลาดที่มีคู่แข่งน้อยราย โดยเฉพาะตลาดต่างประเทศที่มีขนาดใหญ่กว่าไทยหลายเท่าตัว ซึ่งบริษัทฯ มีข้อได้เปรียบด้านโครงสร้างราคาที่สามารถแข่งขันได้ จากปัจจัยดังกล่าวนี้จะทำให้บลูบิคกลายเป็นผู้นำในกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันสัญชาติไทยเพียงรายเดียวที่เทียบชั้นบริษัทต่างชาติได้
  3. รุกธุรกิจใหม่และเสริมแกร่งบริการหลักต่อเนื่องผ่าน JV, M&A พร้อมลุยขยายตลาดต่างประเทศ: เดินหน้าขยายธุรกิจผ่านกิจการร่วมค้า (Joint Venture) และการควบรวมกิจการ (Mergers & Acquisitions – M&A) โดยเฉพาะในธุรกิจที่มีศักยภาพในการเติบโตและส่งเสริมบริการหลักให้แข็งแกร่งขึ้น อาทิ Big Data การพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มและโซลูชันที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะของแต่ละอุตสาหกรรม เป็นต้น นอกจากนี้บริษัทฯยังมีแผนการขยายธุรกิจไปต่างประเทศต่อเนื่อง ซึ่งขณะนี้กำลังศึกษาโอกาสทางธุรกิจในประเทศสหรัฐอเมริกา

ปรับทิศองค์กรสู่ Digital-First Company

นายพชร เสริมว่า หลังจากปรับเปลี่ยนองค์กรเป็น “Digital-First Company” โดยมีนวัตกรรมและเทคโนโลยีเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อน เชื่อมโยงและตอบโจทย์ความต้องการผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder) ในระบบนิเวศของธุรกิจยุคใหม่ที่ประกอบด้วย องค์กร (Company) ลูกค้า (Customer) พันธมิตรทางธุรกิจ (Partner) และสังคม (Community) และเพื่อรับมือกับ New World Order หรือระเบียบโลกใหม่ในอนาคตอันใกล้ ดังนั้นทุกองค์กรจึงต้องเร่งปรับตัวให้เป็น Digital-First Company เพื่อให้การทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันที่ต้องทำอย่างต่อเนื่องเป็นไปได้อย่างราบรื่น

“Digital-First Company เป็นหัวใจสำคัญทำธุรกิจยุคนี้ แต่การจะบรรลุผลสำเร็จในการทำ Digital-First Company ต้องอาศัยความความรู้ความเชี่ยวชาญหลายด้านประกอบกัน จึงทำให้เกิดกระแสนิยมการทำงานร่วมกันระหว่างทีมงานในองค์กร (Insource) และทีมงานภายนอก (Outsource) ที่นอกจากจะช่วยเพิ่มมุมมองใหม่ในการทำธุรกิจแล้ว ยังเป็นการเสริมในงานส่วนที่องค์กรไม่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะได้อีกด้วย”

โดยการปรับองค์กรสู่ Digital First Company ส่งผลให้บลูบิคมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ดังนี้

  1. Super App: ความนิยมของ Super App พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเทคโนโลยีนี้สามารถตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนยุคใหม่ได้จริง และเป็นช่องทางสร้างการเติบโตร่วมกันกับพันธมิตรทางธุรกิจ ทำให้หลายองค์กรเร่งเดินหน้าพัฒนา Super App ของตนเองในช่วงที่ผ่านมา แต่การพัฒนา Super App ต้องมี Core Feature และระบบที่ซับซ้อนขั้นสูง อีกทั้งต้องมีองค์ประกอบเกี่ยวกับ Microservice, Data Sharing และ Mini App ที่ดี รวมถึงเม็ดเงินลงทุนที่เพียงพอ ซึ่งโดยทั่วไปอยู่ที่ระดับ 100 ล้านบาทขึ้นไป นอกจากนี้ ผู้พัฒนายังต้องมีความเชี่ยวชาญและให้ความสำคัญเกี่ยวกับการรองรับการขยายตัวในอนาคต (Scalability) การขยายหรือเพิ่มขีดความสามารถ (Extensibility) ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cybersecurity) ความสามารถในการดูแลรักษาระบบที่ต้องง่าย (Maintainability) มีประสิทธิภาพการทำงาน (Efficiency) และโซลูชันที่ต้องอัปเดตให้ตอบโจทย์การใช้งานอยู่เสมอ ดังนั้นประสบการณ์และความเชี่ยวชาญจึงเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนา Super App เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหา อาทิ ระบบล่มที่ส่งผลต่อภาพลักษณ์ ถูกโจมตีทางไซเบอร์และการหารายได้จาก Super App เป็นต้น
  2. เทคโนโลยีขั้นกว่าของปัญญาประดิษฐ์ หรือ Augmented Intelligence: Augmented Intelligence เป็นเทคโนโลยีที่กำลังมาแรง ที่ประสานการทำงานร่วมกันระหว่างเทคโนโลยี Artificial Intelligence – AI, Machine Learning – ML, Deep Learning, Big Data Analytics และ Human Intelligence และมนุษย์ด้วยการใช้จุดแข็งของแต่ละฝ่ายเติมเต็มซึ่งกันและกัน เพื่อผลลัพธ์การทำงานที่ดีที่สุด โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือมากกว่าทำงานแทนมนุษย์เหมือน AI ดังนั้นการพัฒนา Augmented Intelligence ให้สำเร็จและเป็นไปตามวัตถุประสงค์การใช้งาน จำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจทั้งในฝั่งธุรกิจและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องอย่างลึกซึ้ง เพราะการพัฒนาหรือนำ Augmented Intelligence ไปใช้อย่างผิดวิธีอาจส่งผลเสียต่อการดำเนินธุรกิจได้
  3. สร้างความน่าเชื่อถือและเกราะป้องกันภัยทางไซเบอร์ หรือ Digital Immunity and Trust: การสร้างภูมิคุ้มกันภัยทางไซเบอร์ที่แข็งแกร่งให้กับองค์กรต้องเริ่มตั้งแต่ตัวพนักงาน กระบวนการ และเทคโนโลยีโดยการผสมผสานกลยุทธ์และวิศวกรรมซอฟต์แวร์หลายอย่าง เพื่อป้องกันความเสี่ยงและยกระดับความปลอดภัยให้ผู้ใช้งาน ซึ่งการสร้างมาตรฐานความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์จะช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีและทำให้ลูกค้าหรือผู้ใช้งานเกิดความเชื่อมั่น นอกจากนี้ยังช่วยลดความเสี่ยงและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการโจมตีทางไซเบอร์
  4. เทคโนโลยีเพื่อสร้างความมั่นคงและยั่งยืน หรือ Sustainability Technology: เป็นเทรนด์เทคโนโลยีที่ใช้ ตอบโจทย์กระแส ESG ที่กำลังอยู่ในความสนใจขององค์กรทั่วโลก โดยหลักการพื้นฐานแล้วเทคโนโลยีมีส่วนสนับสนุนและเกี่ยวข้องทั้งด้านสิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และบรรษัทภิบาล (Governance) ยกตัวอย่างเช่น การย้ายข้อมูลขึ้นระบบดิจิทัลแพลตฟอร์มช่วยลดการใช้กระดาษจำนวนมหาศาล การเพิ่มช่องทางการสื่อสารและพื้นที่บนโลกออนไลน์ให้กับชุมชน/สังคม และการสร้างความโปร่งใสในการดำเนินธุรกิจด้วยด้วยการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) เป็นต้น ฉะนั้นองค์กรใดที่ต้องการประสบความสำเร็จในการทำ ESG จึงควรเริ่มต้นด้วยการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี
  5. Agile Operations: แนวคิดการทำงานสำหรับองค์กรยุคใหม่ที่ใช้รับมือกับความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในโลกธุรกิจ ที่ครอบคลุมตั้งแต่ความต้องการลูกค้า เทคโนโลยีใหม่ๆ จนถึงสภาพเศรษฐกิจและสังคม ทำให้องค์กรสามารถทำงานได้อย่างรวดเร็ว คล่องตัวกว่าเดิม อีกทั้งยังช่วยให้รักษาขีดความสามารถในการแข็งขันและบรรลุเป้าหมายการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันได้อย่างราบรื่น

ขยายธุรกิจ-ซื้อบริษัท รับมือการแข่งขันสูง

นายพชร ให้ข้อมูลว่า ที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้มีการขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในตลาดต่างประเทศที่ปัจจุบันได้อนุมัติจัดตั้งบริษัทในประเทศเวียดนาม ฮ่องกง อังกฤษ และอินเดีย และกำลังศึกษาโอกาสทางธุรกิจในประเทศสหรัฐอเมริกา

โดย บริษัทที่บลูบิคซื้อเข้าพอร์ต และปัจจุบันเป็นบริษัทลูก คือ บริษัท วัลแคน ดิจิทัล เดลิเวอรี่ จำกัด (VDD) และ บริษัท อินโนวิซ โซลูชั่นส์ จำกัด (Innoviz)

“การแข่งขันที่รุนแรง ทำให้ภาคธุรกิจจำเป็นต้องพึ่งพาผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกมากขึ้น เพราะการดำเนินงาน (Execution) ที่ช้าและไม่สอดรับกับอัตราความเร็วของการทำธุรกิจในยุคดิจิทัล อาจทำให้องค์กรต้องพบกับอัตราต้นทุนค่าเสียโอกาสทางธุรกิจ (Opportunity Cost) มูลค่ามหาศาล จนถึงต้องออกจากธุรกิจหรือเสียตำแหน่งผู้นำในอุตสาหกรรมไปก็ได้”

นายพชร กล่าวต่อว่า บลูบิคจึงมุ่งมั่นในการขยายธุรกิจและบริการให้สอดรับกับเทรนด์การทำธุรกิจใหม่ๆ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้ลูกค้าสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงและเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง ซึ่งบริษัทฯ คาดว่าจะสามารถปิดดีลใหม่เพิ่มขึ้นอีกด้วย

ทั้งนี้ นายพชรเพิ่มเติมว่า หากขาดความรู้ความเชี่ยวชาญมากพอในการเลือกใช้เทคโนโลยีที่ไม่สอดรับกับธุรกิจและสภาพเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ก็อาจส่งผลเสียได้ จากปัจจัยดังกล่าวนี้ทำให้บลูบิค เร่งขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องเพื่อเสริมแกร่งด้านบริการที่สามารถรองรับทุกความต้องการของลูกค้าและช่วยให้ธุรกิจสามารถแข่งขันได้ทั้งในระยะสั้น กลาง และระยะยาว