ทีมนักวิจัยทีดีอาร์ไอ เปิดผลวิจัย การอนุญาตก่อสร้างของกรุงเทพมหานครใช้เอกสารจำนวนมาก และใช้เวลาในการพิจารณานาน 30-60 วัน รั้งท้ายประเทศเพื่อนบ้าน ระบุสัมภาษณ์ผู้ประกอบการ 400 ราย พบ 43 % ต้้องจ่ายค่าเร่งเวลาอนุมัติใบอนุญาต ก่อสร้าง ขณะที่ ผลสำรวจของสำนักงาน ป.ป.ท. พบว่า“ค่าเร่งเวลาออกใบอนุญาต” 80 % ของค่าดำเนินการออกใบอนุญาต
ประเทศไทยมีมูลค่าการลงทุนก่อสร้างเฉลี่ย 5 ปี มากถึง 3.4 % ของ GDP แต่การขออนุญาตยังมีอุปสรรคอยู่มาก โดยในปี 2021 ธนาคารโลก จัดอันดับความสะดวกในการขออนุญาตก่อสร้างของไทยอยู่ที่ 34 จาก 190 ประเทศ และไทยยังมีคะแนนประเมินต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้าน โดยอันดับหนึ่งมาเลเซีย สองสิงคโปร์ สามเกาหลีใต้ สี่เวียดนาม และไทยรั้งท้าย
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยงานวิจัยการอนุญาตก่อสร้างของกรุงเทพมหานคร โดยระบุว่ามีขั้นตอนยุ่งยากและเสียเวลามากที่สุด จึงถึงเวลาต้องกิโยตินการขออนุญาตก่อสร้าง?
ดร. กิรติพงศ์ แนวมาลี นักวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยว่า ต้องลดขั้นตอน ลดเวลา ในการขออนุญาตให้สะดวก รวดเร็วมากขึ้น และกระบวนการเหล่านี้ต้องโปร่งใส โดยเชื่อว่าหลังสถานการณ์โควิด-19 การขออนุญาตจากอุตสาหกรรมก่อสร้างจะฟื้นตัว ซึ่งขณะนี้หลายโครงการขนาดใหญ่ และโครงการเก่าที่ต้องการปรับปรุงเริ่มกลับมา เพราะฉะนั้นการกีโยตินกฎกมายเพื่อขอนุญาต จึงน่าจะเป็นทางออกในการผลักดันการอนุญาตก่อสร้างให้พัฒนาไปได้
โดยทั่วไปกระบวนการก่อสร้างจะมี 3 ขั้นตอนหลักในการขออนุญาต 1.ก่อนก่อสร้าง 2. ระหว่างก่อสร้าง 3. การขออนุญาตเพื่อเปิดใช้อาคาร ซึ่งแต่ละช่วงก็มีขั้นตอนติดต่องาน ที่มีเอกสาร และระยะในการดำเนินการ
อย่างไรก็ตามการขออนุญาตทั้ง 3 ขั้นตอน ต้องมีต้นทุนต่ำ ไม่สร้างภาระ และ โปร่งใส ตรวจสอบได้ และลดการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ให้น้อยที่สุด หรือเท่าที่จำเป็น แต่ต้องยืนอยู่บนหลักการที่สำคัญที่สุดคือ ต้องไม่ลดความปลอดภัยลง แม้ว่าขั้นตอนเพิ่มความสะดวก มาตรฐานในเรื่องการเพิ่มความปลอดภัยจะต้องรักษาไว้เช่นกัน
“การปรับปรุงขั้นตอนการขออนุญาตจึงยึดประโยชน์ให้กับประชาชน และเจ้าหน้าที่สามารถลดภาระงานและลดความเสี่ยงในการทำงาน ที่ใช้ดุลยพินิจที่อาจจะผิดกฎหมาย และกทม. สามารถบริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดปัญหาทุจริตคอร์รัปชันและสามารถตอบสนองในการสร้างประเทศได้”
สำหรับภาพรวมของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับขออนุญาตประกอบด้วย พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร ซึ่งกฎหมายแม่บทมีวัตถุประสงค์หลักเรื่องความปลอดภัย ความเป็นระเบียบเรียบร้อย นอกจากนี้ยังมีกฎกระทรวง มีรายละเอียด ทางวิศวกร สถาปัตย์ ในการดูแล
นอกเหนือกว่านั้นรวมไปถึงจะมีข้อบัญญัติท้องถิ่น มีความสำคัญมากเพราะว่าเจ้าหน้าที่สามารถกำหนดรายละเอียดข้อบัญญัติต่างๆ ที่เหมาะสมกับบริบทของท้องถิ่น เพราะฉะนั้นการเปลี่ยนแปลง อาคาร หรือก่อสร้างจึงต้องได้รับอนุมัติอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ ซึ่งปัจจุบันมี 2 มาตราหลักของ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ที่เป็นหัวใจสำคัญ
ประกอบด้วย มาตรา 25 ขออนุญาตก่อก่อสร้าง มีระยะเวลา อนุญาต 45 วัน เจ้าหน้าที่ขอขยายการตรวจสอบได้ 2 ครั้ง มีเวลาในการอนุมัติ ตั้งแต่ 45 วัน 90 วัน 135 วัน และ165 วัน หลังอนุมัติผู้อนุญาตจึงเริ่มก่อสร้างได้
ขณะที่มาตรา 39 ทวิ แจ้งขออนุญาต และตรวจสอบภายหลัง ขั้นตอนนี้ เตรียมเอกสารและหลักฐานยื่นเจ้าพนักงาน ชำระค่าธรรมเนียม เจ้าหน้าที่ออกใบรับแจ้ง เจ้าของอาคารเริ่มก่อสร้างได้ แต่ในขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่มีอำนาจในการตรวจสอบย้อนหลังได้ว่า การดำเนินการ ถูกต้องเหมาะสมกับแบบแปลนที่เสนอมาหรือไม่ เช่นกัน
ดร.กิรติพงศ์ บอกว่า ทีมนักวิจัยได้มีการสัมภาษณ์เชิงลึกกับผู้มีส่วนได้เสียและจัดโฟกัสกรุ๊ป ทำแบบสำรวจทั้งหมด 400 ตัวอย่าง เพื่อนำความคิดเห็นที่เกี่ยวข้องกับการขออนุญาตก่อสร้าง โดยแบบสำรวจ 400 ตัวอย่าง ครอบคลุม ร้านอาหาร หอพัก ตึกแถว หรือ พาณิชย์ และ บ้านที่อยู่อาศัย จากการสำรวจพบว่า ร้อยละ70 เป็นผู้ขออนุญาตสร้างบ้านเพื่ออยู่อาศัย โดยขณะเดียวกันช่องทางที่ใช้ขออนุญาตร้อยละ 90 ใช้ตามช่องทางของมาตรา 25 โดยการยื่นขออนุญาตก่อนดำเนินการก่อสร้างได้
ทั้งนี้การสำรวจพบว่า ปัญหาที่สำคัญในแต่ละช่วงของการขออนุญาต แตกต่างกันไป โดยส่วนใหญ่จาการสัมภาษณ์ผู้มีประสบการณ์จากผู้ใช้บริการขออนุญาตก่อสร้าง มีปัญหาตั้งแต่ขั้นตอนแรก คือ การค้นหาข้อมูลออนไลน์เข้าใจยาก กระจัดกระจาย
ขั้นตอนที่สอง การเตรียมเอกสาร ข้อมูลไม่เชื่อมต่อกัน ภาคประชาชนต้องติดต่อเอง ไม่มีข้อมูลที่เป็นมาตรฐานกลาง เช่น เรื่องข้อมูลถนน ให้ใช้ระยะร่นตอนออกแบบ และมาตรฐานเชิงเทคนิคไม่สอดคล้องกับสภาพปัจจุบันและวิชาชีพ
“ปัจจุบัน กทม.มีการกำหนดให้ผู้ขออนุญาตต้องแสดงเอกสารบางอย่างเพื่อขอยืนยันกรรมสิทธิ์ที่ดิน ว่าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินแท้จริง แต่การตรวจสอบ ต้องนำไปที่กรมที่ดิน ผู้ขออนุญาตต้องไปยื่นขอจากกรมที่ดินเอง และนำเอกสารเหล่านั้นย้อนกลับมาตรวจสอบที่ กทม.เองอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งถือเป็นตัวอย่างที่เป็นภาระอุปสรรค”
ปัญหาที่สาม คือเรื่องการยื่นเอกสารมีปัญหา เพราะประชาชนบอกว่า ช่องทางในการยื่นเองก็มีหลากหลายมาก ทาง กทม.กำหนดไว้มีหลายช่องทางที่เป็นแพลตฟอร์ม จนไม่รู้ว่าจะเลือกข่องทางไหนและเลือกไปแล้ว จะถูกต้องหรือไม่อย่างไร ขณะที่การยื่นเอกสารออนไลน์ ประชาชนไม่มั่นใจว่าเอกสารที่ยื่นไปนั้น ถึงมือเจ้าหน้าที่หรือไม่อย่างไร เพราะไม่ชัดเจนในระบบการตรวจสอบติดตาม
และสุดท้ายการการพิจารณาอนุญาตตรวจสอบเอกสารแล้วต้องปรับแก้ไขเอกสารต่างๆเพื่อสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ทางกฎหมาย ซึ่งหลายครั้งเจ้าหน้าที่มีการตีความแตกต่างกัน ทำให้ประชาชนมีต้นทุนและภาระในส่วนนี้ไปด้วย
ประสบการณ์จากผู้ใช้บริการขออนุญาตก่อสร้าง
ปัญหาและอุปสรรคในการขออนุญาตและข้อเสนอการปรับปรุง โดยนางสาวอุไรรัตน์ จันทรศิริ และนางสาวภูมิจิต ศรีอุดมขจร นักวิจัย ทีดีอาร์ไอ ได้นำเสนอผลงานวิจัยว่าผู้ขออนุญาตมีปัญหาในการยื่นของอนุญาต ตั้งแต่ขั้นตอนการค้นหาข้อมูล แม้ว่าปัจจุบันการสืบหาข้อมูลออนไลน์ได้ โดยกทม.มีเว็บไซต์บริการทางออนไลน์ แต่เนื่องจากแต่ละเขตมีเว็บไซต์บริการที่หลากหลาย มีข้อมูลแตกต่างกันในแต่ละเขต ทำให้ประชาชนสับสน เช่น ข้อมูลของสำนักงานเขตแต่ละเขตชี้แจงการใช้เอกสารประกอบอนุญาตแตกต่างกัน ทำให้ประชาชนไม่แน่ใจว่าจะเชื่อข้อมูลแหล่งใด ทำให้ ม่นิยมใช้ช่องทางออนไลน์
“ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ใช้ช่องทางออนไลน์ แต่ยังใช้ช่องทางติดต่อกับเจ้าหน้าที่โดยตรง แม้ว่ากทม.เปิดการยืนแบบออนไลน์แบบ BMA OSS แต่การใช้ช่องทางดังกล่าวประชาชนยัง ไม่แน่ใจว่าจะติดตามผลการยื่นกับใคร”
แตกต่างกับในต่างประเทศ เช่น อังกฤษเปิดช่องทางออนไลน์ และมีเว็บไซต์หลักเพียงแห่งเดียว รวมไปถึงเลือกให้ข้อมูลเฉพาะสาระสำคัญกับผู้ขออนุญาตเป็นหลักและใช้เอกสารประกอบการยื่นคำขอเป็นมาตรฐานเดียวกัน และเปิดการยื่นขออนุญาต 2 ช่องทางเท่านั้น คือออนไลน์ ใช้เว็บไซต์หลักแห่งเดียว ส่วนอีกช่องทางคือยื่นคำขอทางไปรษณีย์
นักวิจัยได้เสนอแนวทางในการแก้ปัญหานี้ โดยเสนอทุกสำนักงานเขตปรับปรุงเว็บไซต์เป็นมาตรฐานเดียวกันและเชื่อมโยงข้อมูลกัน เพื่อลดความสับสนกับประชาชน รวมไปถึงจัดทำคู่มือการขออนุญาตก่อสร้างของประชาชน รวมถึงเจ้าหน้าที่ กทม.เพื่อให้เข้าใจและเป็นมาตรฐานเดียวกัน รวมไปถึงเปิดให้มีช่องทางให้คำปรึกษาออนไลน์ด้วย
ข้อมูลที่เชื่อมโยง -ยื่นคำขอใช้เอกสาร 8-10 ฉบับ
นอกจากนี้ นักวิจัยพบว่า ขั้นตอนการเตรียมเอกสารยังมีปัญหาในเรื่องจำนวนเอกสารที่ยื่นมีจำนวนมาก โดยประชาชนต้องเตรียมเอกสารในการยื่นคำขออย่างน้อย 8-10 ฉบับ ขึ้นอยู่กับตัวผู้ขออนุญาต นอกจากนี้ เอกสารประกอบขออนุญาตยังไม่เชื่อมโยงระหว่างหน่วยงาน เช่น ข้อมูลการรับรองกรรมสิทธิ์ที่ดิน ผู้ยื่นขออนุญาตต้องไปยื่นขอจากกรมที่ดินด้วยตัวเอง และ การยื่นขอหนังสือรับรองจากสภาวิชาชีพ ซึ่งประชาชนต้องเสียเวลาและต้นทุนในการยื่นขอเอกสาร
“ต้นทุนในเรื่องข้อมูลและเอกสารที่หน่วยงานรัฐไม่เชื่อมโยงกัน ประมาณ 88.5 % คือการขอเอกสารจากกรมที่ดิน และ 5.8 % จากสภาวิศวกร เช่น หนังสือรับรองเอกสารสิทธิ ที่ต้องขอจากสำนักงานที่ดิน หนังสือรับรองนิติบุคคลติดต่อกับพัฒนาธุรกิจการค้า และขอหนังสือรับรองจากสภาวิชาชีพ ทั้งหมดประชาชนต้องยื่นขอเอง“
นักวิจัยได้เสนอการอำนวยความสะดวกในการหาข้อมูลการอนุญาตของประชาชน ให้ กทม.พยายามเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานต่างๆ โดยควรจะทำให้เกิดเชื่อมโยงข้อมูล ระหว่างกรมที่ดินและสภาวิชาชีพ ทำให้เกิด one stop service ที่สามารถยื่นคำขอที่กทม.แห่งเดียวโดยไม่ต้องไปติดต่อกับหน่วยงานต่างๆในอีกหลายหน่วยงาน
ขาดข้อมูลกลางในการพิจารณาอ้างอิง
นอกจากนี้นักวิจัย ยังพบว่าปัญหาใหญ่ในการเตรียมเอกสารคือไม่มีข้อมูลกลางให้อ้างอิง เช่น การออกแบบอาคาร ที่ต้องกำหนดระยะร่น คือการเว้นระยะอาคารและคลองสาธารณะ ซึ่งกฎหมายกำหนดระยะร่นอาคารและถนนไม่น้อยกว่า 3 เมตร แต่ไม่มีข้อมูลขนาดถนน คลอง ที่เป็นข้อมูลกลางอ้างอิงได้จนทำให้ไม่สามารถกำหนดระยะร่นที่ชัดเจนได้ ทำให้ผู้ยื่นขออนุญาตต้องรังวัดถนนด้วยตัวเองเพื่อเป็นยืนยันระยะร่นป้องกันข้อพิพาทเกิดขึ้นภายหลัง
ทั้งนี้ นักวิจัยเสนอ คือให้ กทม.ควรเร่งจัดทำฐานข้อมูลกลาง ถนน คลองสาธารณะ เพื่อเป็นข้อมูลดังกล่าวเปิดเผย และประชาชนเข้าถึงได้ง่าย โดยต้องมีการอัพเดทข้อมูลทุก 5ปี หรือ 10 ปี เพื่อให้ข้อมูลตรงกับสภาพพื้นที่ซึ่งอาจจะเปลี่ยนแปลงไป
ยื่นคำขอออนไลน์แค่ 1 % เหตุไม่มั่นใจระบบติดตาม
ส่วนปัญหาขั้นตอนที่ 3 1.การยื่นคำขออนุญาต แม้ว่าภาครัฐจะส่งเสริมการยื่นคำขอออนไลน์ แต่ผลสำรวจปัจจุบันมีเพยง 1 % ยื่นคำขอออนไลน์ และประมาณ 89 % ที่ยื่นคำขอด้วยตัวเอง สาเหตุมาจากประชาชนสับสนช่องทางการขออนุญาตเพราะว่าการยื่นคำขอหลากหลาย จนไม่รู้ว่าช่องทางไหนเหมาะสม 2. ประชาชนไม่มั่นใจ ในกระบวนการติดตามคำขอ ว่าเมื่อยื่นแล้วขั้นตอนดำเนินการไปถึงไหนต้องติดต่อใคร 3. และการยื่นคำขอการอัพโหลดข้อมูลยาก ไม่สะดวก เนื่องจากบางครั้งเจ้าของอาคารมีแบบแปลนเป็นกระดาษทำให้เสียเวลาในการสแกนเอกสารจึงใช้วิธีการยื่นคำขออนุญาตด้วยตัวเอง
อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาแม้ว่าภาครัฐส่งเสริมทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ มีกฎหมายบังคับใช้แต่มีช่องว่าง เช่น พ.ร.บ.การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ปี 2565 กำหนดรับรองยื่นเอกสารทางระบบอิเล็กทรอนิกส์แต่ต้องให้หน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบ ประกาศการยื่นอย่างเป็นทางการก่อน ไม่อย่างนั้นการยื่นเอกสารอาจจะได้รับการปฏิเสธได้ และกฎหมายยังไม่มีสภาพบังคับที่ทำให้ภาครัฐปฏิบัติตามกฎหมายที่ชัดเจน
นักวิจัยเสนอให้ กทม. ใช้ช่องทางออนไลน์ และโปรโมท BMA OSS การยืนขออนุญาตทางออนไลน์ เป็นช่องทางออนไลน์ช่องทางเดียว และให้ กทม.พัฒนาระบบติดตตาม ออนไลน์ที่ชัดเจนเพื่อให้ผู้ยื่นสามารถติดตามความคืบหน้าของโครงการได้ โดยอาจจะมีช่องทางติดต่อเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบคำขอดังกล่าว
นอกจากนี้ควรจะนำระบบ BIM มาใช้เป็นการออกแบบแบบ3 มิติมีความแม่นยำสูงลดความสูญเสีย โดย กทม.ควรจะลงทุนโปรแกรมด้วยเช่นกัน
ผู้อนุญาต 43% ระบุมีค่าเร่งเวลาออกใบอนุญาต
นักวิจัยยังค้นพบว่า ในขั้นตอนการพิจารณาการขออนุญาต และขั้นตอนตรวจสอบโดยเจ้าหน้าที่ ลงพื้นที่ตรวจสอบสภาพหน้างานใช้ระยะเวลาค่อนข้างนาน แม้ว่ากฎหมายระยะเวลาอนุญาตเอาไว้ 45 วัน หากต้องมีการแก้ไขสามารถขยายระยะเวลาได้ 165 วัน
แต่จากการสัมภาษณ์ผู้ยื่นขออนุญาตส่วนใหญ่ได้รับใบอนุญาตใช้เวลา ประมาณ 30-60 วัน ซึ่งถือเป็นระยะเวลาพิจารณาใกล้เคียงกับที่ธนาคารโลกกำหนด ระยะเวลาขั้นต่ำไม่เกิน 67 วัน ซึ่งความจริงแล้วควรต้องใช้เวลาในการพิจารณาน้อยกว่านี้”
ปัญหาที่ทำให้ล่าช้า มาจากการแก้ไขเอกสารเนื่องจากการตีความกฎหมายแตกต่างกันระหว่าง สถาปนิก และเจ้าหน้าที่ หรือระหว่างเจ้าหน้าที่ด้วยกันเอง โดยปัญหาที่ตีความแตกต่างกัน ส่วนใหญ่เป็นเรื่อง บันไดหนีไฟ ระยะร่น ขนาดห้อง ที่ไม่มีข้อมูลอ้างอิงที่ชัดเจนจนทำให้เจ้าหน้าที่ต้องใช้ดุลยพินิจในการตีความ
อย่างไรก็ตามยังพบว่าปัญหาที่ล่าช้ามาจากเจ้าหน้าที่มีไม่เพียงพอ ต้องรอเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบความถูกต้อง โดยพบว่า 43 % ผู้ขออนุญาตต้องมี ค่าเร่งเวลาออกใบอนุญาต เพื่อให้การพิจารณาอนุญาตรวดเร็วขึ้น
สอดคล้องกับผลสำรวจของสำนักงาน ป.ป.ท. ที่พบว่า 80 % ของ “ค่าเร่งเวลาออกใบอนุญาต” อยู่ในขั้นตอนการออกใบอนุญาต
นักวิจัยเสนอให้แก้ไข สร้างแนวปฏิบัติให้ชัดเจน โดยสร้างหลักการในการพิจารณาของเจ้าหน้าที่กับคำถามที่พบบ่อยที่สุดเพื่อลดการตีความ และเผยแพร่ข้อมูลและหลักการพิจารณาในเว็บไซต์ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงได้
นักวิจัยยังเสนอให้มีผู้ตรวจการเอกชนเนื่องปัจจุบันมีเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอเจ้าหน้าที่ 1 คนต้องรับประมาณ 50 คำขออนุญาต การใช้ผู้ตรวจเอกชนจะช่วยลดภาระของเจ้าหน้าที โดยสามารถกำหนดคุณสมบัติ ขึ้นทะเบียนผู้ตรวจเอกชน และกำหนดอำนาจเอาไว้เพียงการพิจารณารับรอง แต่ ไม่ให้อำนาจในการพิจารณาอนุมัติคำขอ โดยกำหนดให้ผู้ตรวจเอกชนรับผิดชอบเช่นทางแพ่ง และอาญาหากมีการพิจารณารับรองจนเกิดความเสียหายขึ้น เช่น หากผู้ตรวจเอกชนหากทำผิดสภาวิชาชีพพักหรือเพิกถอนใบอนุญาต และต้องรับผิดทางอาญาหากมีความเสียหายต่อชีวิตและร่างกาย
ทั้งนี้ นักวิจัยระบุว่า การมีผู้ตรวจเอกชนจะช่วย ลดความเสี่ยงค่าเสียโอกาสของภาคเอกชน ในการพิจารณาที่ล่าช้า และ ลดความเสี่ยงในการเรียกรับหรือเสนอให้ “ค่าเร่งเวลา” ที่จะนำไปสู่ปัญหาทุจริตคอรัปชั่นได้