ThaiPublica > คอลัมน์ > The Glory…ความยุติธรรมที่หาเอาเอง

The Glory…ความยุติธรรมที่หาเอาเอง

16 กุมภาพันธ์ 2023


Hesse004

ที่มาภาพ : https://asianwiki.com/The_Glory

ตั้งแต่ปีที่แล้ว มีซีรีส์เกาหลีสนุกๆ ที่นั่งดูจนแทบไม่ลุกไปไหน ไล่เรียงมาตั้งแต่ มัธยมซอมบี้ (All us are dead) Squid Game หรือ Hellbound

พอเริ่มต้นปีนี้ ซีรีส์ชุด The Glory ผลงานการกำกับของอัน กึน โฮ นับว่าสนุกน่าติดตาม และมีประเด็นที่อยากเก็บมาเขียนถึงโดยเฉพาะเพลง Until the End เพลงประกอบซีรีส์ของเคลลี่ แมคเรย์ (Kelly Mcrae)

หลังดูซีรีส์นี้จบรวดเดียวในแปดตอน สิ่งแรกที่นึกถึง ความรู้สึกเหมือนนั่งดูหนังเกาหลีรางวัลออสการ์อย่าง Parasite ฉบับยาว

พล็อตหนังสะท้อนความเหลื่อมล้ำ ความแตกต่างของผู้คนในสังคมเกาหลีที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน แก่งแย่ง เครียด กดดัน และท้ายที่สุดนำไปสู่การตั้งคำถามชวนคิดถึงการพัฒนาที่แท้จริง

The Glory วางพล็อตไว้ที่ “มุน ดงอึน” เด็กนักเรียนหญิงที่กำลังเรียนชั้น ม.ปลาย บุคลิกดูติ๋มๆ ฐานะทางบ้านไม่ดีนัก ถูกกลุ่มเด็กเกเรบูลลี่ รังแก นำโดยหัวหน้าแก๊งค์ ” พัค ยอนจิน” ที่ลุคดูเป็นเด็กรวย แสบและก่อเรื่องระรานไปทั่ว ทั้งเพื่อน ครูน้อย ครูใหญ่ต่างเกรงใจและไม่อยากมีเรื่องกับเด็กแบบยอนจิน

การบุลลี่รังแก มันใหญ่โตบานปลายเพราะมันนำไปสู่การคุกคาม ทำร้ายร่างกายและจิตใจ…จนดงอึนต้องลาออกจากโรงเรียน

ซีรีส์พาให้เราเห็นการตามล่าทวงคืนความเป็นธรรมให้กับตัวเอง… 18 ปีต่อมา ดงอึน จึงเริ่มปฏิบัติการล้างแค้นคนที่เคยทำร้ายเธอ หลังจากที่เธอต้องสูญเสียตัวตนในวัยรุ่น และกลายเป็นคนที่ฝันร้ายตลอดชีวิต

“การล้างแค้น” ไม่ใช่เป็นแค่เรื่องความสะใจที่ได้เอาคืน หากแต่เป็นการพิสูจน์ตัวเองว่า ที่ผ่านมา เรามีคุณค่า มีตัวตน มีชีวิต มีเลือดเนื้อ มีจิตวิญญาณเช่นเดียวกับคนที่รังแกเรา

การล้างแค้น คือ การให้อีกฝ่ายได้ลิ้มรสแห่งความหวาดกลัว เหมือนอย่างที่ทางพระท่านเรียกว่า “กรรม” เพียงแต่คนนำกรรมนั้นมาให้ คือ คนที่ถูกกระทำมาก่อน

ระหว่างทางของหนัง ทำให้เราเห็นความเหลวแหลกของทุกวงการที่เต็มไปด้วยคอร์รัปชัน เส้นสาย เล่นพรรคเล่นพวก

หนังตั้งคำถามได้ดีว่าระบบหรือตัวเด็กเองกันแน่ที่สร้างปีศาจเหล่านี้ให้เกิดขึ้นมา เพราะเมื่อพวกเขาทำผิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า พวกเขากลับอยู่ในสังคมนั้นได้อย่างปลอดภัย ขณะที่ผู้ถูกกระทำกลับกลายเป็นทั้งแพะและเหยื่ออันโอชะ

หนังยังพาให้เราเห็นกลไกต่างๆ ในสังคมเกาหลี ที่คนตัวเล็กตัวน้อยหวังพึ่งพิง กลับไม่สามารถเรียกร้องอะไรได้ นอกจากก้มหน้าก้มตา รับชะตากรรมไป

หนังมีคำถามชวนคิดต่อว่า หรือเพราะว่าผู้ใหญ่เฮงซวยทั้งหลายเป็นคนดีไซน์ระบบเน่าๆ เหล่านี้ขึ้น ออกแบบและ “ให้ท้าย” คนรวยกว่า มีอำนาจมากกว่า เข้าถึงทรัพยากรรัฐง่ายกว่า เป็นผู้ชนะในกติกาบิดเบี้ยวเสมอ

ส่วนกลุ่มคนที่เข้าไม่ถึงโอกาสเหล่านั้น กลายเป็น Looser ไปโดยปริยาย

ตัวละครอย่าง มุน ดงอึน กับ Joker มีจุดร่วมกัน คือ พวกเขาต่างถูกระบบที่ออกแบบมากระทืบซ้ำจนไม่เหลืออะไรให้เคารพอีกต่อไป แม้แต่ตัวเอง

วิธีคิดแบบ “ช่างแม่งเหอะ” เพราะเราไม่มีอะไรจะเสียแล้ว จึงมีให้เห็นบ่อยขึ้นในทุกสังคมที่แม้จะก้าวหน้าไปไกลทางวัตถุ แต่หัวใจเรากลับอ้างว้าง

The Glory ทำให้ภาพกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ต้นน้ำจนปลายน้ำ ดูกลายเป็นเรื่องชวนขัน ฝันกลางวัน สำหรับคนไม่มีต้นทุนในชีวิตอะไรมากนักที่จะต่อสู้กับระบบซึ่งถูกออกแบบมาให้คนมีเงินมากกว่า มีอำนาจ มีเส้นสาย มี Connection มักกลายเป็นผู้ชนะในกติกาที่พวกเขาเขียนขึ้นมาหลอกๆ

คนจน คนด้อยโอกาส กลายเป็นเหยื่อที่ถูกบูลลี่กันตั้งแต่ในโรงเรียน ไล่เรียงมาจนถึงชีวิตจริง การทำงาน การใช้ชีวิตประจำวัน และสืบทอดส่งต่อมรดกที่พวกเขาไม่เคยต้องการ

อย่างที่กล่าวไปตอนต้นว่า ซีรีส์ The Glory ทำให้นึกถึงหนัง Parasite ของ “บอง จุงโฮ” ที่ถ่ายทอดเรื่องราวความเหลื่อมล้ำในสังคมเกาหลีใต้ ในมหานครโซล ผ่านฉากห้องเล็กๆ ใต้ดินหรือที่ชาวเกาหลีเรียกว่า “พันจีฮา”

ท้ายที่สุด อีกเรื่องที่ผมประทับใจซีรีส์นี้ คือ เพลงประกอบ OST เพลง Until the end ของ เคลลี่ แมคเรย์ (Kelly Mcrae) เพลงนี้เป็นเพลงเนิบๆ เศร้า แต่ความหมายลึกซึ้งกินใจ โดยเฉพาะประโยคที่ว่า

I want to live a normal life till the end.

บางครั้งความปรารถนาสูงสุดของชีวิตมนุษย์เราไม่ได้มีอะไรมากมายนักแค่ขอใช้ชีวิตแบบคนปกติธรรมดาจวบจนวันสุดท้ายก็พอแล้ว