ThaiPublica > เกาะกระแส > ศ. ดร.พิเชษฐ์ จับมือ ‘บ้านแกร์ด้า-มูลนิธิพอ’ ByeByeHIV ใช้ภูมิคุ้มกันบำบัดจากพืชรักษา “เอดส์”

ศ. ดร.พิเชษฐ์ จับมือ ‘บ้านแกร์ด้า-มูลนิธิพอ’ ByeByeHIV ใช้ภูมิคุ้มกันบำบัดจากพืชรักษา “เอดส์”

17 มกราคม 2023


ศ. ดร.พิเชษฐ์ วิริยะจิตรา เปิดผลรักษา 5 ผู้ป่วยเอดส์ ใช้ภูมิคุ้มกันบำบัด APCO จากพืช 5 ชนิด ไม่ต้องใช้ยาต้านไวรัส และตรวจไม่พบเชื้อเอชไอวีในร่างกาย เตรียมร่วมมูลนิธิสิทธิเด็กบ้านแกร์ด้า วิจัยสร้างทางเลือก ไม่ต้องใช้ยาต้านไวรัส และเป็นบ้านผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ตรวจไม่พบเชื้อแห่งแรกของโลก

ถึงวันนี้สังคมไทยยังตีตรา “ผู้ติดเชื้อเอชไอวี” อยู่หรือไม่ เป็นคำถามที่ทำให้ ‘ขวัญใจ สารสว่าง’ เลขาธิการมูลนิธิสิทธิเด็กบ้านแกร์ด้า ต้องนิ่งไปพักใหญ่ ก่อนที่เธอจะบอกว่า

“มีความเข้าใจมากขึ้นเมื่อเทียบกับอดีต แต่ผู้ติดเชื้อเอชไอวียังต้องปิดบังไม่ให้คนอื่นรู้ เรียกว่า สังคมยังแอบตีตรา”

แม้สังคมจะยอมรับมากขึ้นว่าการติดเชื้อเอชไอวีไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ และผู้ติดเชื้อก็ไม่ได้มีคุณภาพชีวิตแย่ แต่ถ้าเลือกได้ก็มักจะเลือกที่จะไม่คลุกคลีหรือใกล้ชิดผู้ติดเชื้อ เพราะไม่แน่ใจว่าสามารถติดต่อได้หรือไม่ ทำให้ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่เลือกที่จะไม่บอกกับสาธารณะเช่นกัน

หากย้อนกลับไปในช่วงปี 2534-2539 ที่มีการแพร่ระบาด สังคมไทยรังเกียจผู้ติดเชื้อเอชไอวีหรือโรคเอดส์ขณะที่ยังไม่มียารักษา จนทำให้มีผู้ป่วยถูกทอดทิ้ง โดยในจำนวนนั้นเป็นเด็กที่อายุต่ำกว่า 15 ปี ซึ่งติดจากแม่

ด้วยปัญหาเด็กที่ติดเชื้อเอชไอวีถูกทิ้งจำนวนมาก ทำให้มูลนิธิสิทธิเด็กที่มีภารกิจในการสร้างโรงเรียนตามแนวตะเข็บชายแดนเพื่อให้เด็กเข้าถึงการศึกษา เห็นว่าปัญหาเด็กถูกทิ้งจากการติดเชื้อเอชไอวีจากแม่มีจำนวนมาก และยังไม่มีหน่วยงานไหนดูแล

“ตอนนั้นถือเป็นเรื่องเร่งด่วนมากกว่าการสร้างโรงเรียน เพราะมีโรคระบาดเด็กที่ติดเชื้อจากแม่ถูกทิ้ง และบางคนกำพร้าเพราะพ่อแม่เสียชีวิตทั้งหมด มูลนิธิสิทธิเด็กจึงคิดว่าต้องเข้ามาช่วยเด็กๆ เหล่านี้”

บ้านแกร์ด้า คือครอบครัวของเด็กติดเชื้อเอชไอวี

หลังจากนั้น มูลนิธิสิทธิเด็กได้ไปหารือกับหลวงพ่ออลงกต วัดพระบาทน้ำพุ ซึ่งช่วยเหลือผู้ติดเชื้อเอชไอวีจำนวนมาก และพบว่าในหอผู้ป่วยมีเด็กที่ติดเชื้อจำนวนมากเช่นกัน เนื่องจากในเวลานั้นผู้ติดเชื้อทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ไม่สามารถอยู่ในหมู่บ้านได้

“มูลนิธิสิทธิเด็กได้หารือกับหลวงพ่ออลงกตเพื่อขอช่วยเหลือเด็กเหล่านั้น โดยรับมาดูแล โดยที่หลวงพ่อให้ที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งของบ้านแกร์ด้าในปัจจุบันซึ่งอยู่ห่างจากวัดพระบาทน้ำพุประมาณ 80 กิโลเมตร”

บ้านหลังแรกของบ้านแกร์ด้าถูกสร้างขึ้นในปี 2544 โดยคาร์ล มอร์สบัค ชาวเยอรมันที่สนใจปัญหาเกี่ยวกับโรคเอดส์ ด้วยวัตถุประสงค์แรกคือให้เป็นที่พักแก่เด็กๆ ในช่วงสุดท้ายของชีวิต โดยได้รับเด็กที่ติดเชื้อเอชไอวีจำนวน 11-12 คน และจ้างผู้ติดเชื้อมาเป็นพ่อ-แม่อุปถัมภ์ เพื่อดูแลเด็กๆ ที่ติดเชื้อเอชไอวี

นั่นคือจุดเริ่มของบ้านแกร์ด้า จากวันนั้น ในปี 2544 จนถึงปัจจุบัน 2565 บ้านแกร์ด้าเข้าสู่ปีที่ 21 โดยดูแลเด็กและผู้ใหญ่ที่ติดเชื้อเอชไอวีมาแล้ว 150 คน ปัจจุบันมีเด็กที่ได้รับการดูแล 53 คน มีเด็กที่อาศัยอยู่กับญาติแต่อยู่ในความดูแลของบ้านแกร์ด้า 32 คน และมีเด็กที่สามารถออกไปใช้ชีวิตได้ด้วยตัวเองแล้วกว่า 50 คน

“เราไม่คิดว่าบ้านแกร์ด้าจะมีอายุยาวนานมาถึง 21 ปี เพราะจุดประสงค์ของการก่อตั้งบ้านเพื่อดูแลเด็กที่ติดเชื้อในช่วงสุดท้ายของชีวิตให้มีครอบครัว ไม่คิดว่าเด็กๆ จะรอดและมีชีวิตเติบโตขึ้นมาจนถึงปัจจุบัน”

‘ขวัญใจ’บอกด้วยว่า ในช่วงแรกเด็กที่ติดเชื้อเข้ามาอยู่ในความดูแลของบ้านแกร์ด้า บางรายป่วยโคม่า ไม่มีครอบครัวเลย จึงคิดกันว่าในช่วงสุดท้ายถ้าจะเสียชีวิตก็อยากให้มีอ้อมกอด หรือมีคนรอบข้างอยู่ ไม่ได้เสียชีวิตแบบเดียวดาย แต่พวกเขาหลายคนก็อยู่รอดและเติบโตมาจนถึงตอนนี้

การดูแลเด็กที่ติดเชื้อเอชไอวีของบ้านแกร์ด้า คือการสร้างครอบครัว ให้เด็กรู้สึกว่านี่คือบ้านและครอบครัวของพวกเขา โดยจะแบ่งบ้านเป็นหลังที่ให้เด็กๆ และมีแม่อุปถัมภ์ช่วยดูแล ซึ่งการดูแลแบบครอบครัวทำให้เด็กทุกคนไม่ได้รู้สึกมีปมในใจ แต่รู้สึกถึงคุณค่าในตัวเอง

ส่วนเรื่องการรักษาได้ร่วมกับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ที่ได้ส่งแพทย์และพยาบาลมาตรวจร่างกายทุกปี พร้อมกับยาต้านไวรัสมาให้เด็กทุกคน แต่ปัญหาคือวินัยในการทานยาต้านไวรัส ที่ต้องสม่ำเสมอและตรงเวลาเพื่อไม่ให้ร่างกายดื้อยา

“ความยากของเด็กที่เริ่มโตเป็นวัยรุ่นคือการควบคุมวินัยในการกินยาต้านไวรัส ซึ่งมีเด็กบางคนแอบไม่ทานยา แต่เมื่อหมอจากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์มาตรวจก็พบว่าค่า CD4 ต่ำมากและร่างกายเขาเริ่มแย่ ซึ่งหลังจากนั้นเด็กๆ ก็เริ่มรู้ว่าเขาต้องมีวินัยในการทานยา”

‘ขวัญใจ’บอกด้วยว่า หากมีทางเลือกเรื่องผลิตภัณฑ์ที่เสริมสุขภาพ และทำให้ร่างกายแข็งแรงเพิ่มเติมจากยาต้านไวรัสที่พวกเขาได้รับอยู่แล้ว จะให้เป็นทางเลือกที่ทุกคนตัดสินเลือกเองว่า จะทานร่วมกับยาหรือไม่

ศ.ดร.พิเชษฐ์ วิริยะจิตรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอเชียน ไฟย์โตซูติคอลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ APCO และ ขวัญใจ สารสว่าง เลขาธิการมูลนิธิสิทธิเด็กบ้านแกร์ด้า

ไม่มีเชื้อเอชไอวี ความหวังของผู้ติดเชื้อ

“ยาต้านไวรัส” จึงเป็นความหวังเดียวของผู้ติดเชื้อเอชไอวีมาตลอดตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งหากมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สามารถทำให้เชื้อเอชไอวีหมดไปจากร่างกายผู้ติดเชื้อได้ ก็จะเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่ง เพราะหากถามผู้ติดเชื้อว่าอยากมีเชื้อเอชไอวีอยู่ในร่างกายหรือไม่ โดยเฉพาะเด็กๆที่ติดเชื้อมาจากแม่ พวกเขาคงไม่อยากมีเชื้อเอชไอวีในร่างกาย

‘ขวัญใจ’บอกว่า ก่อนหน้านี้ ถ้าผู้ติดเชื้อไม่ทานยาต้านไวรัสพวกเขาก็ไม่สามารถอยู่ได้ อาการทรุดลง ดังนั้นจึงไม่มีทางเลือก ต้องทานยาต้านไวรัส แต่ถ้ามีผลิตภัณฑ์ทำให้เชื้อเอชไอวีหายไปจากร่างกายโดยเขาไม่พึ่งยาต้านไวรัสอีกต่อไป ก็ถือว่าเป็นชีวิตที่เกิดใหม่ของพวกเขา

“พวกเขามีทางเลือกอีกทางหนึ่ง ไม่ใช่แค่ปกปิด หรือปิดบัง เขาสามารถเอาเชื้อเอชไอวีออกไปจากตัวได้ สิ่งนี้เป็นความฝันของผู้ติดเชื้อที่เขาอยากให้เกิดขึ้น นอกจากนี้ ที่ผ่านมาเด็กที่บ้านแกร์ด้ามักจะมีปัญหาเรื่องการทานยาต้านไวรัส แต่ถ้าเขาได้กลับไปใช้ชีวิตปกติ คิดว่ามีค่าสำหรับพวกเขา”

ด้วยความหวังดังกล่าวทำให้ ศ. ดร.พิเชษฐ์ วิริยะจิตรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอเชียน ไฟย์โตซูติคอลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ APCO ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารเสริมจากสารสกัดธรรมชาติ ได้เสนอทางเลือกในการดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวีในบ้านแกร์ด้า เพื่อในอนาคต “บ้านแกร์ด้า” จะเป็นบ้านผู้ติดเชื้อเอชไอวีแห่งแรกของโลกที่ไม่มีเชื้อเอชไอวีในร่างกาย

หลังคิดค้นสารสกัดจากพืชในรูปแบบแคปซูลที่ทดลองใช้ในอาสาสมัครผู้ติดเชื้อไวรัส HIV/AIDS ที่เข้าร่วมโครงการ ปัจจุบันพบว่ามีผู้ป่วยอย่างน้อย 5 รายที่หยุดใช้ยาต้านไวรัสแล้วตรวจไม่พบเชื้อ และยังมีคุณภาพชีวิตและสุขภาพที่ดีเป็นปกติ

ศ. ดร.พิเชษฐ์ บอกว่า อยากเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้เด็กๆ ในบ้านแกร์ด้ามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยเมื่อ 9 ปีที่ผ่านมาในปี 2554 ได้เข้ามาดูแลเด็กที่ต้องการความช่วยเหลือมากที่สุด มีร่างกายอ่อนแอ ติดเชื้อรา แบคทีเรีย จำนวน 17 คน หลังได้รับการดูแลด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด APCO ไป 2-3 เดือนทุกคนเริ่มมีอาการที่ดีขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

หลังจากนั้น ได้พัฒนาภูมิคุ้มกันบำบัด APCO ที่สามารถช่วยให้ร่างกายแข็งแรง โดยไม่ใช้ยาต้านไวรัสอีกต่อไปได้สำเร็จ มีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งที่ยืนยันว่าตรวจไม่พบเชื้อเอชไอวีในร่างกายหลังจากใช้สารสกัดจากพืชกินได้ 5 ชนิด ได้แก่ มังคุด ใบบัวบก ฝรั่ง ถั่วเหลือง และงาดำ ในรูปแบบแคปซูล

“วันนี้เราพัฒนาภูมิคุ้มกันบำบัด APCO ในการดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวีไปได้ไกล โดยผลวิจัยกับผู้ป่วยตรวจชัดเจนว่าไม่มีเชื้อเอชไอวีในร่างกายแล้ว จึงอยากเป็นส่วนหนึ่งที่จะให้เด็กที่บ้านแกร์ด้ามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น”

เมื่อช่วงปลายปีที่แล้ว ศ. ดร.พิเชษฐ์ เข้าไปพูดคุยกับมูลนิธิบ้านแกร์ด้า ซึ่งเดิมตั้งใจจะให้ภูมิคุ้มกันบำบัด APCOกับเด็กทุกคน แต่การพิจารณาเลือกอยู่ที่ความพร้อมของบ้านแกร์ด้า ซึ่งหลังจากนี้จะมีการหารือในรายละเอียดกันอย่างใกล้ชิด

ตัวอย่างผู้ป่วยที่หยุดการใช้ยาต้านไวรัสได้แล้ว

สำหรับผลการศึกษาพบว่ามีผู้ป่วยที่เลือกทานภูมิคุ้มกันบำบัด APCO จากพืช 5 ชนิดของ APCO อาทิ “เจมส์” อายุ 36 ปี ใช้ยาต้านไวรัสมาแล้ว 3 ปีเศษหลังใช้ภูมิคุ้มกันบำบัด APCO เป็นเวลา 21 เดือน สามารถหยุดการใช้ยาต้าน เดือนกันยายน 2565 ผลตรวจร่างกายพบว่าไม่มีเชื้อเอชไอวีอีกต่อไป และร่างกายมีสุขภาพที่แข็งแรง

เช่นเดียวกับ “บอล” อายุ 37 ปี ใช้ยาต้าน 4 ปีเศษ หลังใช้ภูมิคุ้มกันบำบัด APCO 11 เดือน สามารถหยุดใช้ยาต้านได้ในเดือนกันยายน 2565 และยังคงตรวจไม่พบเชื้อ HIV

ขณะที่ “แพรว” อายุ 37 ปี ใช้ยาต้าน 4 ปีเศษ หยุดยาต้านสำเร็จมาแล้ว 11 เดือนตรวจไม่พบเชื้อ HIV ต่อเนื่องหลังใช้ภูมิคุ้มกันบำบัด APCO

สำหรับผู้ติดเชื้อที่ใช้ยาต้านไวรัสมาเป็นระยะเวลานานอย่าง “ทิพย์” ผู้ติดเชื้อเอชไอวี อายุ 54 ปี ติดเชื้อ HIV มา 27 ปี หลังใช้ภูมิคุ้มกันบำบัด APCO หยุดยาต้านในเดือนกันยายน 2565 และมีสุขภาพแข็งแรงมาก

เช่นเดียวกับ “แอน” อายุ 45 ปี ติดเชื้อ HIV มากว่า 20 ปีหยุดยาต้านได้แล้วในเดือนกันยายน 2565 หลังใช้ภูมิคุ้มกันบำบัด APCO และมีสุขภาพแข็งแรงมาก

ศ. ดร.พิเชษฐ์ ระบุว่า แม้ว่าเด็กบ้านแกร์ด้าจะอายุไม่มาก ก็สามารถใช้ภูมิคุ้มกันบำบัด APCO ได้ และเห็นว่าน่าจะได้ผลดี เนื่องจากใช้ยาต้านมาในระยะเวลาไม่นาน

ศ.ดร.พิเชษฐ์ วิริยะจิตรา หัวหน้าคณะนักวิจัย Operation BIM และประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท บริษัท เอเชียน ไฟย์โตซูติคอลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ APCO

ใช้มังคุดและพืช 5 ชนิดสร้าง T-cell สู้โรคร้าย

ศ. ดร.พิเชษฐ์ บอกถึงหลักการของภูมิคุ้มกันบำบัด APCO มาจากการวิจัยเมื่อเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งมี “มังคุด” เป็นจำนวนมหาศาลกองทิ้งข้างทาง จึงทำให้เกิดไอเดียที่อยากทำให้ waste เป็น wealth

เนื่องจากสรรพคุณพื้นฐานของมังคุดตามตำราแพทย์โบราณ ที่ใช้เปลือกมาบดทาแผลทำให้แผลหายและลดการอักเสบ ขณะเดียวกัน เมื่อนำเนื้อมังคุดไปต้มกับน้ำจะสามารถรักษาอาการท้องร่วงได้ จึงนำหลักการดังกล่าวมาวิจัยร่วมกับหลักวิทยาศาสตร์ จนค้นพบสารสกัดจากเปลือกมังคุดที่มีประสิทธิภาพ เรียกว่าสาร GM-1 ซึ่งสารตัวนี้มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียและเชื้อดื้อยาทั้งหลายได้ดี

จากนั้นจึงนำเอาสารสกัดจากพืชที่ผู้คนใช้ในการบริโภคอยู่แล้วมาพัฒนาส่วนผสมบรรจุในรูปแบบแคปซูล โดยใช้การเสริมฤทธิ์ของพืช 5 ชนิด ได้แก่ มังคุด งาดำ ถั่วเหลือง ฝรั่ง และใบบัวบก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของสารสกัดมังคุดที่เป็นตัวหลัก ซึ่งช่วยกระตุ้นให้เซลล์ T หรือ Killer T-cell ไปจัดการกับเชื้อร้ายต่างๆ ในร่างกาย

สำหรับ เซลล์ T หรือ Killer T-cell คือเม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่งที่อยู่ในร่างกายของคนเราทุกคน โดยธรรมชาติของเซลล์ชนิดนี้จะมีหน้าที่ในการจัดการกับเซลล์ที่มีความผิดปกติ เช่น เซลล์ไวรัสเอชไอวี หรือเซลล์ติดเชื้อ เซลล์มะเร็ง เซลล์เนื้องอก ซึ่งเซลล์ T จะทำหน้าที่ในการเลือกฆ่าเซลล์ที่มีปัญหาความผิดปกติและย่อยสลายออกไปตามปกติของร่างกาย ทำให้สารสกัดพืชกินได้ 5 ชนิด โดยมี GM-1 จากมังคุดเป็นตัวหลักไปกระตุ้น T-cell ที่เปรียบเสมือนกองกำลังเม็ดเลือดขาวที่มีอยู่ในร่างกายมนุษย์จำนวน 2-5 หมื่นล้านเม็ด ให้เป็นประโยชน์ด้วย ทำให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันเพิ่มมากขึ้นจนสู่กับโรคร้ายได้

ศ. ดร.พิเชษฐ์ เห็นว่า การใช้ภูมิคุ้มกันบำบัด APCO จากพืช 5 ชนิดช่วยทำให้ไม่มีเชื้อเอชไอวีในร่างกาย ถือเป็นความสำเร็จครั้งแรกของโลกในการรักษาโรคเอดส์ โดยทำให้พวกเขาสามารถหยุดใช้ยาต้านไวรัสได้สำเร็จ และมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงได้ ถึงเวลาต้องบอกว่า Bye Bye HIV by Thai Innovation

ล่าสุด APCO ได้ทำแคมเปญ ByeByeHIV เพื่อขยายการรับรู้ความสำเร็จของนวัตกรรมภูมิคุ้มกันบำบัด ในกลุ่มผู้ติดเชื้อ HIV/AIDS ให้สามารถจัดการกับปัญหา เพื่อช่วยเหลือผู้ติดเชื้อ HIV/AIDS พ้นจากความทุกข์ทรมาน ให้กลับมามีคุณภาพชีวิตเป็นปกติ ตรวจไม่พบเชื้อ และไม่ต้องพึ่งพายาต้านไวรัสที่มีผลข้างเคียงต่อไป

ภายใต้แคมเปญ ByeByeHIV โดยนวัตกรรมของชาติไทย ยังจะมีการสื่อสารเชิงรุก เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ ที่ถูกต้อง และสร้างการมีส่วนร่วมของคนในสังคมในการให้กำลังใจผู้ติดเชื้อ และให้โอกาสผู้ที่ตรวจไม่พบเชื้อ HIV/AIDS ต่อเนื่องแล้ว ให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตอยู่ในสังคม ทำงาน ทำประโยชน์ให้ครอบครัว และสังคมได้

นอกจากนี้ยังจะร่วมกับ “มูลนิธิพอ” ในการสนับสนุนมูลนิธิต่างๆ เพื่อให้การช่วยเหลือเด็กกำพร้าที่ติดเชื้อ ที่มีความประสงค์จะ ByeByeHIV ทุกราย ให้เข้าสู่โปรแกรมฟื้นฟูและบำบัดเชื้อ HIV/AIDS ด้วยนวัตกรรมภูมิคุ้มกันบำบัด ให้สามารถตรวจไม่พบเชื้อให้ประสบความสำเร็จในเวลาอันสั้น โดยจะเริ่มดำเนินการที่มูลนิธิที่ช่วยเหลือผู้ติดเชื้อ เริ่มจาก มูลนิธิสิทธิเด็ก บ้านแกร์ด้า และ มูลนิธิสุธาสินี น้อยอินทร์ บ้านโฮมฮัก