ThaiPublica > ข่าวประชาสัมพันธ์ > บางจาก เปิดแผนยุทธศาสตร์ถึงปี พ.ศ. 2573 (ค.ศ. 2030)

บางจาก เปิดแผนยุทธศาสตร์ถึงปี พ.ศ. 2573 (ค.ศ. 2030)

24 พฤศจิกายน 2022


ข่าวประชาสัมพันธ์

ออกจากวิกฤติโควิด-19 อย่างแข็งแกร่ง พร้อมปรับวิสัยทัศน์และอัตลักษณ์องค์กร ก้าวสู่อนาคตที่ยั่งยืน กลุ่มบริษัทบางจาก เผยแผนยุทธศาสตร์องค์กร สะท้อนการเติบโตอย่างยั่งยืนภายหลังวิกฤติโควิด-19 ด้วยผลการดำเนินธุรกิจที่แข็งแกร่ง โดย 9 เดือนแรกของปี พ.ศ. 2565 (ค.ศ. 2022) มี EBITDA สูงถึง 37,773  ล้านบาท พร้อมปรับวิสัยทัศน์ “รังสรรค์โลกยั่งยืนด้วยนวัตกรรมสีเขียว” และอัตลักษณ์องค์กรใหม่ ร่วมขับเคลื่อนสังคมคาร์บอนต่ำ มุ่งสร้างสมดุลระหว่างความมั่นคงทางพลังงานควบคู่กับการสร้างความยั่งยืนของโลก

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าบริหารกลุ่มบริษัทบางจาก และ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากวิกฤติโควิด-19 ที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อต้นปี พ.ศ. 2563 (ค.ศ. 2020) กลุ่มบริษัทบางจากได้ปรับองค์กรเพื่อความยั่งยืนผ่านแนวคิด 3Rs – Refocus: เร่งสร้างความมั่นคงด้านพลังงานควบคู่กันกับการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด Restructure: การปรับองค์กรเพื่อสร้างช่องทางในการเข้าถึงตลาดและลูกค้า และ Reimagine: การใช้โอกาสและเครื่องมือในการลงทุนที่เหมาะสมเพื่อประโยชน์สูงสุดของบริษัท ส่งผลให้บริษัทมีผลการดำเนินงานที่ดีมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 (ค.ศ. 2021) โดยล่าสุด ผลการดำเนินงานในช่วง 9 เดือนแรกของปี พ.ศ. 2565 (ค.ศ. 2022) มี EBITDA สูงถึง 37,773 ล้านบาท สะท้อนให้เห็นการเติบโตอย่างก้าวกระโดด ด้วยรากฐานที่มั่นคง มีความยืดหยุ่นสูงจากศักยภาพในการปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจ ให้สอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนไปและการเติบโตจากการขยายธุรกิจในด้านต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง

“วันนี้ กลุ่มบริษัทบางจากกำลังมุ่งสู่ช่วงเวลาสำคัญครั้งใหม่ที่ท้าทาย ภายใต้เป้าหมายการปล่อย ก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emission) ในปี พ.ศ. 2593 (ค.ศ. 2050) โดยมีเป้าหมายแรกคือความ เป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี พ.ศ. 2573 (ค.ศ. 2030) บริษัทฯ จึงได้มีการปรับวิสัยทัศน์และ พันธกิจองค์กร สู่วิสัยทัศน์ใหม่ ‘รังสรรค์โลกยั่งยืนด้วยนวัตกรรมสีเขียว’ และกำหนดยุทธศาสตร์การเติบโตจนถึงปี พ.ศ. 2573 (ค.ศ. 2030) สำหรับทั้ง 5 กลุ่มธุรกิจที่สอดรับกับแนวทางของแผนงาน BCP 316 NET เพื่อรองรับเป้าหมายสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต” นายชัยวัฒน์กล่าว

กลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมัน มุ่งต่อยอดการเติบโตจากศักยภาพใหม่ ๆ โดยนอกจากด้านการกลั่นและการเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตแล้ว บริษัทฯ ได้มุ่งเน้นในส่วนของการผลิตผลิตภัณฑ์นอกเหนือจากน้ำมันยานยนต์และเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพตามความต้องการของตลาดหรือลูกค้าเฉพาะกลุ่ม (Niche Products Refinery) เช่น Unconverted Oil และเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel หรือ SAF) ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้ตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วน EBITDA ของกลุ่มธุรกิจเชื้อเพลิงนอกยานยนต์เป็นกว่า 60% ภายใน พ.ศ. 2573 (ค.ศ. 2030)

กลุ่มธุรกิจการตลาด เร่งตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้ครบครัน เพื่อให้เป็นมากกว่าสถานที่เติมน้ำมัน โดยมุ่งมั่นเป็นอีกหนึ่งจุดหมายปลายทางที่ตอบโจทย์คนทุกวัยภายใต้แนวคิด “YOUR” Greenovative Destination for Intergeneration ผ่านการเติบโตจากธุรกิจ Non-Oil อย่าง อาหารและเครื่องดื่ม และ EV Charger สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ตลอดจนความร่วมมือกับคู่ค้าและรายได้จากแฟรนไชส์ เพื่อขยายเครือข่ายสถานีบริการ บางจากด้วยเป้าหมาย 1,900 แห่ง และร้านกาแฟอินทนิล 3,000 แห่งทั่วประเทศในปี พ.ศ. 2573 (ค.ศ. 2030)

กลุ่มธุรกิจพลังงานไฟฟ้า ภายใต้การดำเนินงานโดยบริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) วางเป้าหมายเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าเป็น 6,800 GWh โดยมีสัดส่วนหลักจากการเติบโตในกลุ่มธุรกิจพลังงานสีเขียว ทั้งจากโครงการในประเทศอันเนื่องมาจากแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยฉบับใหม่ (PDP 2022 ระหว่างปี พ.ศ. 2565-2580 หรือ ค.ศ. 2022-2037) และการเติบโตในต่างประเทศตามการเปลี่ยนผ่านพลังงานของโลกสู่พลังงานสะอาด เสริมด้วยธุรกิจที่มีศักยภาพในอนาคต เช่นธุรกิจแบตเตอรี่และการกักเก็บพลังงาน การให้บริการด้านเทคโนโลยีพลังงาน พลังงานรูปแบบใหม่และธุรกิจคาร์บอนต่ำอื่น ๆ

กลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพ ภายใต้การดำเนินงานโดยบริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) ได้กำหนดแนวทางและเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนธุรกิจหลักกว่า 70% ของ EBITDA ให้มาจากผลิตภัณฑ์ชีวภาพมูลค่าสูง โดยเน้นการ รุกขยายธุรกิจผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ซึ่งพัฒนาขึ้นโดยใช้เทคโนโลยีชีววิทยาสังเคราะห์ (Synthetic Biology หรือ SynBio) เพื่อนำมาออกแบบและสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติตรงตามที่ต้องการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดูแลสุขภาพและความงามของผู้บริโภคสอดรับกับเทรนด์ของโลก เช่น good health and well–being นอกจากนี้ บริษัทฯ มีแผนต่อยอดการเติบโตในกลุ่มธุรกิจเชื้อเพลิงชีวภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเชื้อเพลิงอากาศชีวภาพแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel -SAF) สำหรับอุตสาหกรรมการบิน

กลุ่มธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติและธุรกิจใหม่ มุ่งเน้นการเสริมสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานผ่านการขยายธุรกิจในกลุ่มธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติ โดยในส่วนของธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมนั้น มีเป้าหมายการผลิตมากกว่า 100,000 boepd (บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน) ภายในปี พ.ศ. 2573 (ค.ศ. 2030) จากการดำเนินการแหล่งปิโตรเลียมในประเทศของนอร์เวย์ผ่านบริษัทฯ OKEA ASA ที่กลุ่มบริษัทบางจากเป็นผู้ถือหุ้นหลักในปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังมีการพิจารณาการเติบโตในธุรกิจด้านทรัพยากรธรรมชาติในแหล่งอื่น ๆ ที่มีศักยภาพในอนาคต อีกด้วย สำหรับกลุ่มธุรกิจใหม่อื่น ๆ นั้น บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายการเพิ่มสัดส่วน EBITDA กว่า 7,000 ล้านบาทภายในปี พ.ศ. 2573 (ค.ศ. 2030) จากธุรกิจที่กำลังพัฒนา อาทิ Winnonie ผู้นำแพลตฟอร์มให้บริการรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าพร้อมเครือข่ายสับเปลี่ยนแบตเตอรี่อัตโนมัติ ธุรกิจก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) และธุรกิจ New S-Curve ใหม่ ๆ เป็นต้น

นายชัยวัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ด้วยการวางแผนเติบโตอย่างครอบคลุมในทุกธุรกิจตามแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าว จะทำให้ EBITDA ในปี พ.ศ. 2573 (ค.ศ. 2030) เติบโตถึง 10 เท่า จากระดับเฉลี่ยประมาณ 10,000 ล้านบาท ในช่วงปี พ.ศ. 2558-2563 (ค.ศ. 2015-2020) ในขณะเดียวกันก็ให้ความสำคัญกับการสร้างสมดุลระหว่างความมั่นคงทางพลังงานและความยั่งยืนของโลก ตอกย้ำแนวทางการพัฒนานวัตกรรมธุรกิจอย่างยั่งยืนไปกับสิ่งแวดล้อมและสังคมที่บางจากฯ ให้ความสำคัญมาตลอดเกือบ 40 ปีของการดำเนินธุรกิจ

“นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 (ค.ศ. 2015) เป็นต้นมา กลุ่มบริษัทบางจากในฐานะผู้นำการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน    ได้ขยายสู่ธุรกิจใหม่ ๆ อย่างกลุ่มธุรกิจพลังงานไฟฟ้า กลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพ กลุ่มธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติ สถาบันนวัตกรรมและบ่มเพาะธุรกิจ  (BiiC) นอกเหนือไปจากธุรกิจที่เป็นรากฐานสำคัญอย่างกลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมันและกลุ่มธุรกิจการตลาด และมีความเป็นบริษัทสากลจากการดำเนินธุรกิจในกว่า 10 ประเทศทั่วโลก เปรียบเสมือนการเดินทางสู่บทใหม่ ๆ ที่มีโอกาสแห่งการเติบโตมากมายรออยู่ นำมาสู่การปรับอัตลักษณ์องค์กรและการเริ่มใช้ตราสัญลักษณ์องค์กร ‘ใบไม้ใบใหม่’ สื่อความหมายแทนด้วยนวัตกรรมพลังงานที่ขับเคลื่อนไปสู่อนาคตอย่างไม่สิ้นสุด เพื่อให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ ‘รังสรรค์โลกยั่งยืนด้วยนวัตกรรมสีเขียว’ พันธกิจ ‘เรามุ่งมั่นขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานอย่างยั่งยืน โดยคงไว้ซึ่งสมดุลแห่งความมั่นคงทางพลังงาน เสริมสร้างคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดี ด้วยนวัตกรรมโซลูชั่นสีเขียว ดำเนินธุรกิจด้วยความคำนึงถึงเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และการกำกับดูแลกิจการ (ESG) อย่างมีความรับผิดชอบต่อทุกภาคส่วน’ และกลยุทธ์องค์กรในการเติบโตและการขยายธุรกิจของกลุ่มบริษัทบางจาก” นายชัยวัฒน์กล่าว

ทั้งนี้ ตราสัญลักษณ์ ‘ใบไม้ใบใหม่’ เริ่มต้นใช้ทดแทนตราสัญลักษณ์รูปใบไม้เดิมอย่างเป็นทางการ ตั้งแต่วันที่ 23 พฤศจิกายน 2565 นี้เป็นต้นไป โดยการเปลี่ยนแปลงตราสัญลักษณ์องค์กรใหม่นี้ ไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานและบริการทางธุรกิจใด ๆ ของบริษัท อีกทั้งตราสัญลักษณ์ที่สถานีบริการบางจาก ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มธุรกิจการตลาดและสมาชิกบัตรบางจากกรีนไมล์ จะยังคงเดิม ไม่มีการปรับเปลี่ยนใด ๆ จนกว่าจะมีการสื่อสารเรื่องการเปลี่ยนแปลง