จุดประกายพัฒนาการศึกษาไทยให้ยั่งยืน…จากทรูปลูกปัญญา สู่แนวร่วมขับเคลื่อน มูลนิธิสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์อีดี สร้าง “เด็กดี มีความสามารถ”
แนวคิดของ “ทรู” ที่มุ่งเน้นการพัฒนาคนและการศึกษา ด้วยเชื่อว่าสิ่งนี้จะเป็นรากฐานของการพัฒนาประเทศให้มั่นคงและแข็งแกร่งอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการสร้างเยาวชนไทยที่มีคุณสมบัติดีและมีความสามารถในคนๆ เดียวกัน
ดร.เนตรชนก วิภาตะศิลปิน หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านความเป็นเลิศทางธุรกิจและการศึกษา บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น และกรรมการและเลขานุการมูลนิธิสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์อีดี กล่าวว่า “จากดำริของประธานกรรมการ บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น “คุณศุภชัย เจียรวนนท์” ที่ต้องการให้การศึกษาไทยพัฒนาอย่างยั่งยืน กลุ่มทรู จึงมุ่งมั่นนำศักยภาพด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีดิจิทัล มาร่วมสร้างสรรค์สังคมไทยให้เป็น “สังคมแห่งการเรียนรู้ที่ไม่สิ้นสุด” เปิดโอกาสให้เยาวชนในพื้นที่ห่างไกลทั่วประเทศ สามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลและองค์ความรู้ได้อย่างเท่าเทียมกัน”
ในด้านการพัฒนาความรู้ภายใต้ “ทรูปลูกปัญญา” จนถึงวันนี้ ก้าวสู่ปีที่ 15 ดร.เนตรชนก อธิบายว่า ในปี 2550 ทรูได้จัดทำ “โครงการเปิดโลกทัศน์การเรียนรู้” หรือ “โรงเรียนทรูปลูกปัญญา” โดยได้นำสื่อและเทคโนโลยีในรูปแบบต่างๆ ไปมอบให้โรงเรียนกว่า 6,000 โรงเรียนที่ขาดแคลน อาทิ อุปกรณ์รับสัญญาณผ่านดาวเทียม โทรทัศน์ สื่อมัลติมีเดียและช่องรายการเพื่อการเรียนรู้จากทรูวิชั่นส์ เพื่อเพิ่มโอกาสให้โรงเรียนได้เข้าถึงแหล่งความรู้จากทั่วโลก และต่อยอดสู่การพัฒนาเว็บไซต์ทรูปลูกปัญญา (www.trueplookpanya.com) ซึ่งเป็นเว็บไซต์การเรียนรู้ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาและสร้างเนื้อหาที่เด็กไทยทุกคนสามารถเข้าถึงได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ปัจจุบัน ทรูปลูกปัญญา เป็นคลังความรู้คู่คุณธรรมที่ใหญ่สุดในประเทศไทย และเป็นเว็บไซต์อันดับ 1 ด้านการศึกษาของประเทศติดต่อกัน 3 ปีซ้อน
“เด็กๆ ที่ไม่มีโอกาสได้ไปเรียนพิเศษ หรือเข้าถึงเนื้อหาความรู้ต่างๆ ทรูปลูกปัญญา คือแหล่งรวมคอนเทนต์ทุกกลุ่มสาระวิชาและทุกระดับชั้น ข้อสอบทั้งหมด เมื่อเด็กเข้าไป จะเห็นและสำรวจตัวเองได้ว่าต้องการเรียนรู้เรื่องอะไร เข้าไปเจอหมดว่ามีกี่กลุ่มสาระ วิดีโอที่เกี่ยวข้อง ข้อสอบที่เกี่ยวข้อง พอทำข้อสอบแล้วยังบันทึกได้ ถ้าถามว่าทำไมวันนี้เป็นอันดับหนึ่งของประเทศ เพราะเราอัปเดทเนื้อหาทุกวัน ทำให้เด็กทั่วประเทศไทยหรือทั่วโลกเข้ามาใช้คลังความรู้ที่อัดแน่นและตอบโจทย์ นี่คือเสน่ห์ของเรื่องการศึกษาที่เราทำ”
ดร.เนตรชนก กล่าวต่อว่า เนื้อหา-บทเรียนของทรูปลูกปัญญามาจาก 3 ส่วนด้วยกัน คือ ทรูผลิตเนื้อหาเอง ซื้อเนื้อหา และมีพันธมิตรสนับสนุน ทั้งหมดเป็นการสร้างเนื้อหาการเรียนรู้ทั้งในและนอกห้องเรียน
ปัจจุบัน
11,000 โรงเรียนเข้าถึงสื่อและเทคโนโลยีจากการสนับสนุนของกลุ่มทรู นักเรียน 5.9 ล้านคน สามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลและการเรียนรู้ 33 ล้าน แอคทีฟยูสเซอร์ใช้งานเว็บไซต์และแอปพลิเคชันทรูปลูกปัญญา
จากเว็บไซต์ทรูปลูกปัญญา ได้ขยายออกไปยังแพลตฟอร์มออนไลน์อื่นๆ อาทิ ช่องทรูปลูกปัญญา แอปพลิเคชันทรูปลูกปัญญาเพื่อสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน ครู และผู้ปกครอง ตลอดจนสถาบันการศึกษา ล่าสุด ได้พัฒนา VCLASS แพลตฟอร์มเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการจัดการเรียนการสอน VCOURSE แพลตฟอร์มการเรียนรู้ด้วยตัวเองแบบออนไลน์ ตอบโจทย์การเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life Long Learning)
“คอนเน็กซ์อีดี” ความร่วมมือของทุกภาคส่วน เพื่อการศึกษาไทย
ดร.เนตรชนก เล่าว่า “ในปี 2559 ภาครัฐ ได้จัดทำโครงการสานพลังประชารัฐ เพื่อสร้างความร่วมมือกับภาคประชาสังคม และภาคเอกชน ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยในมิติต่างๆ ซึ่งด้านการศึกษา ได้ขับเคลื่อนภายใต้ “โครงการสานพลังประชารัฐด้านการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ” ที่เป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมยกระดับการศึกษากับภาคประชา
สังคม และบริษัทเอกชนชั้นนำ 12 องค์กร โดยมี คุณศุภชัย เจียรวนนท์ เป็นหัวหน้าภาคเอกชน คุณศุภชัยมองว่าเอกชนต้องร่วมมือผนึกกำลัง ทรูคนเดียวทำไม่ได้ แต่ถ้าหลายคนมีความเห็นแบบเดียวกันและใช้ยุทธศาสตร์แบบเดียวกัน เสียงย่อมดังกว่า”
ทรูและอีก 11 องค์กรผู้ร่วมอุดมการณ์ (ธนาคารกรุงเทพ, บีเจซี, เซ็นทรัลกรุ๊ป, ซีพีออลล์, ซีพีเอฟ,มิตรผล, ปตท., ธนาคารไทยพาณิชย์, เอสซีจี, ไทยเบฟ และไทยยูเนี่ยน) ได้ก่อตั้ง “โครงการผู้นำเพื่อการพัฒนาการศึกษาที่ยั่งยืน หรือ CONNEXT ED” ในปี 2560 เพื่อร่วมพัฒนาการศึกษาและผู้นำรุ่นใหม่ เราเปิดให้พนักงานร่วมสมัครเป็นจิตอาสา หรือ School Partner ลงพื้นที่ปฏิบัติงานจริงเพื่อจัดทำแผนพัฒนาโรงเรียนร่วมกับโรงเรียนและชุมชน และในปี 2562 เปลี่ยนชื่อโครงการเป็น “โครงการสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์อีดี” เพื่อขยายความร่วมมือสู่องค์กรพันธมิตรภาคเอกชนอีกมากมาย
ปี 2563 ได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริหารงานสู่การจดทะเบียน จัดตั้ง “มูลนิธิสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์อีดี (CONNEXT ED Foundation) ” ดร.เนตรชนก ให้ข้อมูลว่า ณ ปี 2565 คอนเน็กซ์อีดี มีโรงเรียนที่เข้าร่วม 5,567 โรงเรียน ครอบคลุมบุคลากรทางการศึกษากว่า 60,000 คน และนักเรียนกว่า 2.3 ล้านคนทั่วประเทศ
“สิ่งที่เราต้องการคือใช้กลยุทธ์สร้างโมเดลต้นแบบกับภาครัฐ และให้ภาครัฐนำไปขยายเป็น Domino Impact กับอีก 30,000 โรงเรียนทั่วประเทศ”
ดร.เนตรชนก กล่าวต่อว่า โมเดลที่ใช้ขับเคลื่อนด้านการศึกษาประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์หลัก จากการเชื่อมโยงของภาครัฐ ภาคประชาสังคมและภาคเอกชน ดังนี้
ยุทธศาสตร์ที่ 1 การเปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะ (Transparency) ข้อมูลของโรงเรียนคอนเน็กซ์อีดี ทั้งข้อมูลพื้นฐาน จำนวนครู นักเรียน อาคารเรียน ผลการดำเนินการของตัวชี้วัดต่างๆ จะแสดงอยู่บนเว็บไซต์ CONNEXTED.ORG
“ตอนแรกทางโรงเรียน ก็ไม่ทราบชัดถึงวัตถุประสงค์การเก็บข้อมูล แต่พอเขารู้ว่าข้อมูล จะนำไปสู่แก้ไขปัญหาได้ตรงจุด นำไปสู่การมีส่วนร่วมของชุมชน ให้เข้ามาร่วมพัฒนาการศึกษา มันเกิดประโยชน์จริง จนวันนี้กระทรวงศึกษาธิการ ก็พิจารณานำระบบนี้ไปใช้กับโรงเรียนทั่วประเทศ เรียกว่าระบบ School Management System (SMS)”
ยุทธศาสตร์ที่ 2 กลไกตลาดและวัฒนธรรมการมีส่วนร่วม (Market Mechanisms) ข้อมูลจะเป็นตัวจุดประกาย ให้ชุมชน องค์กรต่างๆ หรือใครก็ตาม เริ่มมาช่วยกันขับเคลื่อน ช่วยกันสนับสนุนการศึกษา พร้อมจัดทำระบบ CONNEXT ED Crowdfunding ที่เปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปสามารถมาร่วมบริจาคเพื่อสนับสนุนแผนพัฒนาโรงเรียนผ่านเว็บไซต์ CONNEXTED.org โดยสามารถเลือกโรงเรียนและแผนพัฒนาที่ต้องการสนับสนุน ซึ่งเงินบริจาคจะส่งตรงถึงบัญชีโรงเรียน และสามารถติดตามความคืบหน้าของแผนพัฒนาผ่านเว็บไซต์ได้ด้วยเช่นกัน
ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาผู้บริหารสถานศึกษาและครูผู้สอน (High Quality Principals & Teachers) ทั้ง Soft Skill และ Hard Skill โดยจะมีกระบวนการการสร้างการเรียนรู้ให้บุคลากรของโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง
“โรงเรียนส่วนใหญ่กลัวคนเข้ามาพูดคุยแล้วก็ไป แต่เราไม่ใช่ เราลงไปเป็นเพื่อนคู่คิด จนตอนนี้ผอ.และครู รู้สึกว่าเราเป็นเพื่อนเขาจริงๆ พร้อมที่จะให้ข้อมูลและปรับเปลี่ยน”
ยุทธศาสตร์ที่ 4 เด็กเป็นศูนย์กลาง เสริมสร้างคุณธรรมและความมั่นใจ (Child Centric & Curriculum) โดยเน้นให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ที่เด็กสามารถตั้งคำถาม ค้นหาคำตอบ ลงมือทำร่วมกัน อภิปรายด้วยเหตุผล ปรับปรุงและพัฒนา สำคัญ คือเป็นกระบวนการที่ต้องทำต่อเนื่อง
ดร.เนตรชนก เสริมว่า “ผอ. ครู และโรงเรียนเปรียบเสมือนคนทำก๋วยเตี๋ยว ถ้าเครื่องปรุงดี ลวกเส้นดี ก๋วยเตี๋ยวก็อร่อย แต่ถ้าโรงเรียนไม่มีการสร้างกระบวนการที่ดีให้นักเรียน ครู-ผอ.จะจับเครื่องปรุงผสมกันโดยไม่เกิดกระบวนการเรียนรู้ที่ต่อเนื่อง”
ยุทธศาสตร์ที่ 5 คือการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของสถานศึกษา(Digital Infrastructures) เทคโนโลยีเป็นหนึ่งเครื่องมือที่สำคัญ โจทย์คือทำอย่างไรให้เด็กๆ และครูโรงเรียนคอนเน็กซ์อีดี สามารถเข้าถึงเนื้อหาคุณภาพได้ ทำให้ความรู้ไม่จำกัดอยู่แค่ในหนังสือเรียน ซึ่งการสร้างโครงการ ICT Talent คนต้นแบบด้านเทคโนโลยี ก็เพื่อที่จะเป็นคนมาช่วยดูแลขับเคลื่อนให้โรงเรียนใช้เทคโนโลยีได้อย่างเต็มที่ ปัจจุบันเรามี ICT Talent ซึ่งเป็นครูคืนถิ่นกว่า 1,500 คน ซึ่ง 1 คนจะรับหน้าที่ดูแล 5 โรงเรียน
จากทรูปลูกปัญญา ขยายผลเป็น คอนเน็กซ์อีดี จนวันนี้เราถอดรหัสบทเรียนเพื่อนำไปต่อยอดออกมาเป็นหลายโมเดล แต่ถามว่าวันนี้เราจะเปลี่ยนแปลงกว่าหมื่นโรงเรียนได้หมดไหม ยังไม่ได้ แต่เราเชื่อว่าเราได้สร้างต้นแบบที่ดี ได้สร้างผู้นำแห่งความเปลี่ยนแปลง เพื่อจะขยายผลเป็น Domino Impact ต่อไป
อีกประเด็นสำคัญคือ ‘คุณธรรม’ โดยทรูต้องการสร้างโมเดลต้นแบบด้านพุทธศาสนาให้ทั่วโลกและสังคมไทยรับรู้ แต่ลำพังแค่การใช้คอนเทนต์อย่างเดียวมาสร้างการเรียนรู้ถือว่าไม่เพียงพอ ดังนั้นต้องสร้างการมีส่วนร่วม จึงเป็นที่มาของ “โครงการสามเณรปลูกปัญญาธรรม”
โครงการสามเณรปลูกปัญญาธรรม จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมให้เยาวชนได้ศึกษาหลักธรรมคำสอน ปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมและตามแนวทางพุทธศาสนา โดยคัดเลือกเยาวชนรุ่นละ 12 คนจากผู้สมัครกว่า 5,000 คน มาเข้าร่วมโครงการเรียนรู้ ปฏิบัติธรรมด้วยแนวคิด ‘รักเรียน เพียรให้ ตื่นมาด้วยความรัก’ เป็นระยะเวลา 1 เดือน โดยจะถ่ายทอดสดในรูปแบบรายการธรรมะเรียลลิตี้
ดร.เนตรชนก กล่าวต่อว่า “คุณธรรมไม่ได้เกิดจากแค่ท่องศีลห้า แต่เกิดจากความเข้าใจโดยถ่องแท้ของเด็ก และคนที่จะทำให้เข้าใจคือครู-อาจารย์ กระบวนการของสามเณรปลูกปัญญาธรรม คือเราทำร่วมกับคณะพระอาจารย์ เพราะเราต้องการปลูกฝังคุณธรรมให้อยู่ในเด็กไทยอย่างยั่งยืน”
ดร.เนตรชนก กล่าวว่า สามเณรจะได้เรียนรู้ธรรมะเป็นเวลา 1 เดือน โดยแต่ละสัปดาห์จะเรียนรู้แนวคิดที่แตกต่างกัน เช่น สัปดาห์แรกเป็นสัปดาห์แห่งความรัก สัปดาห์ที่สองคือสัปดาห์แห่งการเรียนรู้ธรรมะ สัปดาห์ที่สามจึงเริ่มลงมือปฏิบัติเพียร ซึ่งการดำเนินโครงการนี้ ประสบความสำเร็จ พร้อมนำไปถ่ายทอดอย่างแพร่หลาย สามารถรับชมผ่านบนเว็บไซต์ออนไลน์ โดยมีผู้เข้าถึงกว่า 190 ประเทศทั่วโลก
“ภายใน 1 เดือนพ่อแม่สนับสนุนให้ไปอยู่ในบริบทที่ดี สภาพแวดล้อมดี ครูอาจารย์ดี และใช้กระบวนการสอนที่จับต้องวัดผลได้ ลูกเปลี่ยนแน่นอน ต่อให้เปลี่ยน 5 เปอร์เซ็นต์ก็ถือว่าเปลี่ยน สิ่งที่เราทำคือการจุดประกายในด้านการปลูกฝังคุณธรรม”
ต่อมาทรูต่อยอดเป็น “โครงการสามเณรปลูกปัญญาธรรม นานาชาติ” สู่ระดับสากล เพื่อเผยแพร่แนวคิดพุทธศาสนา ที่สำคัญคือสร้างแนวคิดเด็กเก่งและดีไม่ให้จำกัดแค่ในประเทศไทยเท่านั้น
ดร.เนตรชนก กล่าวต่อว่า ทรูส่งต่อความสำเร็จเรื่องคุณธรรมให้กรมศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม และภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นโมเดลต้นแบบไปขยายผล
“ใครไม่ทำ เราทำ เราต้องส่งเสริมเยาวชนทั่วประเทศ อุดมการณ์เหล่านี้ซีอีโอทุกบริษัท ต่างมุ่งมั่นอยากช่วยเหลือ”
ดร.เนตรชนก ทิ้งท้ายว่า “รางวัลเป็นสิ่งที่คนอื่นมองเห็นว่าทรูทำงานจริงๆ ทุกวินาทีของเว็บไซต์ทรูปลูกปัญญามีคนมอนิเตอร์ตลอดเวลา ไม่ใช่ทำเป็นพิธี หรือสามเณรปลูกปัญญาธรรม ก็ไม่ใช่แค่ไลฟ์สด แต่ทรูใช้ทีมงานเกือบสองร้อยคน ทำงานล่วงหน้า 2 ถึง 3 เดือน ผลที่เกิดขึ้นทำให้เราดีใจและอยากต่อสู้ให้เกิดสิ่งที่ดี แต่ทำแล้วอย่าหยุด ต้องพัฒนาให้ต่อเนื่อง