
พิธีรับป้ายการบันทึกสถิติโลก Guinness World Records (GWR) ซากดึกดำบรรพ์ ไม้กลายเป็นหินยาวที่สุดในโลก ยาว 69.70 เมตร อายุราว 1.2 แสนปี ที่อุทยานแห่งชาติดอยสอยมาลัย-ไม้กลายเป็นหิน (เตรียมการ) อ.บ้านตาก จังหวัดตาก เมื่อวันที่ 8 ก.ค 2565 ที่ผ่านมา ทำให้ไทยเป็นเจ้าของสถิติโลกอย่างเป็นทางการ ทุบสถิติโลกที่ประเทศจีนเคยบันทึกไว้ โดยของจีนนั้นมีความยาวประมาณ 38 เมตร ส่วนไม้กลายเป็นหินของไทยยาวมากกว่า 2 เท่า
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความสำเร็จของการบันทึกสถิติโลกครั้งนี้ เกิดจากความร่วมมือและการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยมีกรมทรัพยากรธรณี, สมาคมธรณีวิทยาแห่งประเทศไทย, องค์การบริหารส่วนจังหวัดตาก, เทศบาล, อบต. และภาคเอกชน อย่างบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน), บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) และวิศวกรอาสาจากวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (สาขาภาคตะวันตก) จึงถือเป็นโมเดลความร่วมมือเพื่อผลักดันมิติใหม่ของการท่องเที่ยวเชิงธรณีวิทยา และผลักดันสู่อุทยานธรณีไม้กลายเป็นหิน เพื่อให้กลายเป็นมรดกโลกในอนาคต

นายกนก อินทรวิจิตร นายกสมาคมธรณีวิทยาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภาคเอกชนร่วมกันช่วยสนับสนุนเรื่องค่าใช้จ่าย และเข้ามารวบรวมข้อมูลเพื่อการขอรับรองจาก GWR ซึ่งการรับรองด้วยการบันทึกสถิติโลก จะทำให้เกิดการรวบรวมองค์ความรู้ทางวิชาการเกี่ยวกับไม้กลายเป็นหิน
นอกจากนี้ ยังเป็นการอนุรักษ์มรดกธรรมชาติทางธรณีวิทยา และการศึกษาค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งที่เราได้ล่วงรู้จากไม้กลายเป็นหินที่นี่ โดยเฉพาะการบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับภัยพิบัติในอดีต และการเปลี่ยนแปลงของโลกจากอดีตจนถึงปัจจุบัน เพราะในบริเวณที่พบไม้กลายเป็นหินที่ยาวที่สุดในโลกนี้ ยังค้นพบไม้กลายเป็นหินที่เป็นต้นไม้ใหญ่อีก 6 ต้น ความยาวราว 30-45 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 0.5-2.0 เมตร โดยคาดว่าน่าจะมีไม้กลายเป็นหินอีกเป็นจำนวนมากในบริเวณนี้ ในอนาคตจึงอยากผลักดันให้พื้นที่แห่งนี้เป็นอุทยานธรณีอีกแห่งหนึ่งของประเทศไทย
เสนอไม้กลายเป็นหิน อุทยานธรณีแห่งที่ 4 ของไทย
นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า หลังจากได้รับการบันทึก GWR ทำให้ทั่วโลกรู้จักอุทยานไม้กลายเป็นหินของไทยมากขึ้น ในอนาคตเตรียมจะผลักดันให้อุทยานแห่งชาติดอยสอยมาลัย-ไม้กลายเป็นหิน เป็นอุทยานธรณี (geopark) แห่งที่ 4 ของประเทศไทย
ที่ผ่านมาไทยมีอุทยานธรณี 3 แห่ง ประกอบด้วย
1. อุทยานธรณีโลกสตูล ได้รับการขึ้นทะเบียนจากยูเนสโก เป็นอุทยานธรณีโลกเป็นแห่งที่ 5 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากบันทึกหลักฐานของโลกใต้ทะเลเมื่อ 500 ล้านปีก่อน
2. อุทยานธรณีโคราช “โคราชจีโอพาร์ค” โดยเตรียมเสนอเป็นอุทยานธรณีโลกของ UNESCO แห่งที่ 2 ในประเทศไทย เนื่องจากพบ ซากดึกดำบรรพ์ช้างโบราณมากที่สุดถึง 10 สกุล, ค้นพบฟอสซิลสัตว์สกุล/ชนิดใหม่ของโลก หลายชนิด เช่น จระเข้ แรด ไดโนเสาร์ เต่า และลิงไร้หาง และแหล่งไดโนเสาร์ มีการพบฟอสซิลมากกว่า 1,000 ชิ้น ฟัน มากกว่า 300 ชิ้น พบไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่ของโลก 3 สกุล
3. อุทยานธรณีขอนแก่น ซึ่งถือเป็นแหล่งค้นพบซากไดโนเสาร์ ดึกดำบรรพ์สายพันธุ์ใหม่ของโลก 5 สายพันธุ์ ได้แก่ สยามโมซอรัส สุธีธรนี, ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน, สยามโมไท-รันนัสอีสานเอนซิส, กินรีมิมัส ขอนแก่นเอนซิส, ภูเวียงเวเนเตอร์ แย้มนิยมมิ
“เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีผลักดันให้ไม้กลายเป็นหิน จ.ตาก เป็นอุทยานธรณีของไทย และในอนาคตจะผลักดันเป็นพื้นที่มรดกโลก รวมทั้งอุทยานหินแห่งอื่นๆ ของไทยด้วย”
นายจตุพร กล่าวว่า ไม้กลายเป็นหิน จังหวัดตาก มีความโดดเด่น มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ควรค่าแก่การอนุรักษ์และศึกษาเรียนรู้ ซึ่งสามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวด้านซากดึกดำบรรพ์ ธรณีวิทยา และธรรมชาติวิทยา เพื่อสร้างรายได้และพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนด้วย แต่ความท้าทายคือการดูแลรักษา โดยหลังจากนี้จะมอบให้ท้องถิ่นทำหน้าที่ในการดูแลต่อไป

ค้นพบไม้กลายเป็นหินในพื้นที่จำนวนมาก
นายพงศ์บุณย์ ปองทอง อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี กล่าวว่า การค้นพบไม้กลายเป็นหินที่มีความยาวขนาดนี้ แสดงถึงทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ของจังหวัดตากในอดีต ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในพื้นที่นี้อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งลักษณะทางธรณีวิทยาของพื้นที่ที่โดดเด่นแตกต่างทำให้พบไม้กลายเป็นหินในบริเวณนี้จำนวนมาก
อุทยานแห่งชาติดอยสอยมาลัย-ไม้กลายเป็นหิน (เตรียมการ) มีการขุดค้นในปี 2546 พบไม้กลายเป็นหินมากกว่า 7 หลุม จำนวน 8 ต้น และคาดว่าในพื้นที่อาจจะมีมากถึง 100 ต้นที่ถูกกลบฝังในชั้นใต้ดิน
หลุมที่ 1 ขุดพบเมื่อปี 2546 ไม้กลายเป็นหินยาวที่สุดในโลกที่พบนี้ เป็นหนึ่งในไม้กลายเป็นหินที่ค้นพบในปี 2546 หรือเมื่อ 18 ปีที่แล้ว มีความยาวมากที่สุดถึง 69.70 เมตร เทียบเท่ากับความสูงของตึก 20 ชั้น เส้นผ่านศูนย์กลาง 1.8 เมตร มีอายุไม่ต่ำกว่า 120,000 ปี โดยได้รับการบันทึก Guinness World Records ว่าคือไม้กลายเป็นหินยาวที่สุดในโลก เมื่อวันที่ 8 ก.ค. 2565
จากการตรวจสอบ พบว่าเป็น “ต้นทองบึ้ง” ซึ่งไม่พบในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทยในปัจจุบันแล้ว แต่พบมากในพื้นที่ป่าดิบชื้นทางภาคใต้และบริเวณคาบสมุทรมลายู
หลุมที่ 2 พบไม้มะค่าโมงกลายเป็นหิน เส้นผ่านศูนย์กลางเฉลี่ย 0.5 เมตร ยาว 31.1 เมตร สภาพค่อนข้างแตกหัก และคดโค้งไปมา
หลุมที่ 3 ขุดพบไม้ทองบึ้ง กลายเป็นหินขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเฉลี่ย 2.1 ยาว 33.5 เมตร มีสภาพลำต้นบางส่วน แตกผุพัง
หลุมที่ 4 พบท่อนซุง ไม้ทองบึ้ง เส้นผ่านศูนย์กลาง 1.4 เมตร ยาว 42.4 เมตร สภาพค่อนข้างแตกหัก และวางตัวเป็นแนวโค้ง
หลุมที่ 5 พบไม้มะค่าโมง กลายเป็นหินเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.2 เมตร ยาว 22.2 เมตร สภาพค่อนข้างแตกหัก
หลุมที่ 6 ขุดพบท่อนซุง ไม้ทองบึ้ง เส้นผ่านศูนย์กลาง 0.5 เมตร ยาว 33.6 เมตร สภาพลำต้นของข้างใหญ่ แต่ส่วนอื่นแตกหัก
หลุมที่ 7 ท่อนซุง ไม้ทองบึ้ง กลายเป็นหินขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเฉลี่ย 1.5 เมร ยาว 38.7 เมตร สภาพค่อนข้างสมบูรณ์

ไม้กลายเป็นหิน ได้อย่างไร?
ข้อมูลจาก กรมทรัพยากรธรณี ให้ความรู้เกี่ยวกับ “ไม้กลายเป็นหิน” (petrified wood) โดยระบุว่า มีความหมายตามพจนานุกรมศัพท์ธรณีวิทยา ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2544 คือ เนื้อไม้ที่กลายสภาพเป็นหิน เนื่องจากสารละลายซิลิกา เข้าไปแทนที่เนื้อไม้อย่างช้าๆ แบบโมเลกุลต่อโมเลกุล จนกระทั่งแทนที่ทั้งหมดโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างและโครงสร้าง ปรกติซิลิกาในเนื้อไม้นี้อยู่ในรูปของโอพอลหรือคาลซิโดนี โดยมี “ไม้” เป็นวัตถุตั้งต้น ภายหลังจึงมีสารเคมีชนิดหนึ่งเรียกว่า “ซิลิกา” เข้ามาทำปฏิกิริยากับเนื้อไม้โดยที่ไม้ยังคงรูปลักษณ์เดิมอยู่ และสารเคมีนั้นเข้าไปอยู่ในเนื้อไม้ในรูปของแร่ “โอพอลหรือคาลซิโอนี” จนไม้กลายเป็นหิน
ทั้งนี้ ผลการศึกษาวิจัยมากมายสามารถสรุปสมมติฐานเงื่อนไขการกำเนิดของไม้กลายเป็นหินในเบื้องต้นได้ดังต่อไปนี้
1. ไม้ต้นกำเนิด ต้องไม่ผุพัง หรือถูกย่อยสลายดัวยเชื้อเห็ด รา หรือแบคทีเรีย ก่อนถูกแทนที่ด้วยซิลิกา
2. ต้องมีแหล่งต้นกำเนิดสารซิลิกาจากหินภูเขาไฟ หินแกรนิต หรือหินอื่นๆ ที่มีซิลิกา
3. ต้องมีน้ำเป็นตัวปิดกั้นออกซิเจนไม่ให้ไม้ผุสลาย ทำหน้าที่ละลายซิลิกา และพาซิลิกาเข้าไปในเนื้อไม้
4. น้ำต้องมีสภาพเป็นด่างเพื่อให้ซิลิกาละลาย และเป็นกรดอ่อนเพื่อให้ซิลิกาตกผลึก
5. ต้องอาศัยกาลเวลาที่ยาวนาน

อย่างไรก็ตาม ไม้กลายเป็นหิน จ.ตาก ถูกทับถมในโครงสร้างธรณีหินแกรนิต ไม่ใช่หินภูเขาไฟที่มีแข็งแกร่งกว่า ทำให้เมื่อเปิดออกมาสัมผัสกับอากาศแล้วผุพังได้ง่าย จึงมีการซ่อมแซมส่วนที่แตกหักหรือหลุดออกมา ด้วยการเชื่อมด้วยวัสดุทางเคมีให้เหนียวแน่น ทั้งยังมีการทาน้ำมันเคลือบให้สัมผัสอากาศน้อยลง ยืดอายุการผุพังไปได้นานขึ้น
นอกจากนี้ ยังสร้างหลังคาคลุมในหลุมที่ 1 และหลุมที่ 7 และขุดร่องระบายน้ำลึกประมาณ 2 เมตร มีระบบสูบทันทีทันใดเมื่อมีน้ำใต้ดินซึมเข้ามาด้วยระบบอัตโนมัติทั้ง 3 ด้าน เพื่ออนุรักษ์ไม้กลายเป็นหินให้นานที่สุด
ไม้กลายเป็นหิน บันทึกประวัติศาสตร์ ภัยพิบัติ
ไม้กลายเป็นหินเกิดขึ้นได้อย่างไร อาจารย์นเรศ สัตยารักษ์ นักธรณีวิทยา สมาคมธรณีวิทยาแห่งประเทศไทย อธิบายว่า ไม้กลายเป็นหินในพื้นที่จังหวัดตาก มีข้อหลายข้อสันนิษฐาน โดยบางประเด็นบอกว่า ไม้กลายเป็นหินไหลมาตามแม่น้ำปิงโบราณ หินกรวดทับถมมานานนับแสนปี อาจเป็นข้อสันนิษฐาน อาจจะมีข้อโต้แย้ง
หากไม้กลายเป็นหินไหลตามแม่น้ำปิงโบราณมา การวางตัวของไม้ต้องเป็นแนวระนาบ ซึ่งแตกต่างการวางตัวของไม้กลายเป็นหิน อ.บ้านตาก ที่มีลักษณะการวางตัวเป็นแนวตั้งลาดเอียง ดังนั้นจึงสันนิษฐานว่า ลักษณะป่าดิบชื้น ฝนตกชุกชุมมาก และเกิดภัยพิบัติค่อนข้างมาก และต้องมีฝนหมื่นปีที่มีปริมาณน้ำมากทำให้ดินถล่ม ต้นไม้เหล่านี้ไหลลงมา และเกิดดินกรวดทรายทับถมลงไป
“ถ้าใครนึกไม่ออก ให้คิดถึงเหตุการณ์ภัยพิบัติโคลนถล่มที่ ต.กะทูน อ.พิปูน จ.นครศรีธรรมราช เมื่อปี 2531 ที่มีท่อนไม้ลงมากับน้ำป่า ซึ่งเราเชื่อว่าเกิดภัยพิบัติแบบนั้นในหลายล้านปีก่อน จนต้นไม้บนภูเขาถล่มไหลลงมา ไม่ได้ไหลตามแม่น้ำปิงโบราณ”
ไม้กลายเป็นหิน ที่ จ.ตาก บ่งบอกถึงสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างมากในพื้นที่ในสมัยนั้น ทำให้การพบ “ต้นทองบึ้ง” ซึ่งปัจจุบันไม่พบแล้วในพื้นที่ จ.ตาก แต่พบภาคใต้ของประเทศไทย มาเลเซีย แถบเกาะสุมาตรา อินโดนีเซีย และเกาะบอร์เนียว จึงสันนิษฐานว่า ในอดีตหลายล้านปี สภาพพื้นที่บริเวณนี้น่าจะเป็นพื้นที่ป่าดิบชื้น ฝนตกชุกชุมมาก และเกิดภัยพิบัติใหญ่หลายครั้ง

นอกจากนี้ จากตำนาน เรื่องเล่า ตามคำบอกเล่าของชาวบ้าน การเดินทางของพระนางจามเทวีจากลพบุรีเพื่อไปปกครองเมืองหริภุญชัย โดยล่องแพมาตามแม่น้ำปิง พอถึง อ.สามเงาก็เกิดพายุครั้งใหญ่ มองเห็นเงาพระบนหน้าผาสามเงา ก็อธิษฐานขอพระให้เหตุการณ์สงบ
ไม้กลายเป็นหินที่ จ.ตาก จึงเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเกิดภัยพิบัติของพื้นที่ จนทำให้สภาพธรรมชาติของพื้นที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
อย่างไรก็ตาม การบันทึก Guinness World Records ไม้กลายเป็นหินจังหวัดตาก จึงเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก ที่บอกกับมนุษย์ว่าหากไม่อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ความเปลี่ยนแปลงและภัยพิบัติอาจเกิดขึ้นได้ทุกเวลา
