
ทีมวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)รายงานสถานการณ์ตลาดน้ำมันสัปดาห์ที่ 27 มิ.ย. – 1 ก.ค. 2565 และแนวโน้ม 4 – 8 ก.ค. 2565
ราคาน้ำมันเฉลี่ยรายสัปดาห์ [เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ]
ราคาน้ำมันย้อนหลัง 15 วัน
ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์ล่าสุดเพิ่มขึ้น โดยปลายสัปดาห์ราคา ICE Brent และ NYMEX WTI ปิดตลาดเพิ่มขึ้นกว่า 2% เนื่องจากนักลงทุนวิตกต่ออุปทานน้ำมันในตลาดโลกที่มีแนวโน้มตึงตัว หลังบริษัทน้ำมันแห่งชาติของลิเบีย (National Oil Corp.: NOC) ประกาศเหตุสุดวิสัย (Force Majeure) ในการส่งมอบน้ำมันจากท่าเรือหลายแห่ง รวมถึงแหล่งผลิต จากปัญหาการประท้วงเนื่องจากความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศ ประกอบกับสหภาพแรงงาน Lederne ในนอร์เวย์ประกาศจะหยุดงานประท้วงตั้งแต่วันที่ 5 ก.ค. 2565 เว้นแต่จะสามารถเจรจาค่าจ้าง ขณะที่ญี่ปุ่นอาจเผชิญวิกฤติพลังงาน หลังเผชิญคลื่นความร้อน อุณหภูมิพุ่งสูงขึ้นทั่วประเทศ ทำให้อุปสงค์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเกินคาด อย่างไรก็ตามนักลงทุนบางส่วนกังวลต่อสภาวะเศรษฐกิจโลกที่อาจถดถอย
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
30 มิ.ย. 2565 NOC ของลิเบียประกาศเหตุสุดวิสัยในการส่งมอบน้ำมัน ที่ท่าส่งออก Es Sider (350,000 บาร์เรลต่อวัน), Ras Lanuf (200,000 บาร์เรลต่อวัน), Brega (10,000 บาร์เรลต่อวัน) และ Zueitina (150,000 บาร์เรลต่อวัน) รวมถึงแหล่งผลิต El Feel (90,000 บาร์เรลต่อวัน) ทั้งนี้ลิเบียผลิตน้ำมันในเดือน พ.ค. 2565 ที่ระดับ 700,000 บาร์เรลต่อวัน
สหภาพแรงงาน Lederne ในนอร์เวย์ประกาศจะประท้วง เพื่อขอเพิ่มค่าจ้างตามภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ซึ่งจะทำให้ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของประเทศลดลง 130,000 บาร์เรลต่อวัน หรือประมาณ 6.5% ของการผลิตปัจจุบัน (ประมาณ 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน) และการผลิตก๊าซธรรมชาติลดลง 34.7 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน (mcmd) หรือประมาณ 10.6% ของปริมาณการผลิตปัจจุบัน (ประมาณ 327 mcmd)
กระทรวงพลังงานเอกวาดอร์แถลงปริมาณการผลิตน้ำมันลดลง 1.86 ล้านบาร์เรลในช่วงการประท้วงต่อต้านรัฐบาลของประธานาธิบดี Guillermo Lasso โดยผู้ประท้วงปิดล้อมแหล่งผลิต ตั้งแต่ 13 มิ.ย. 2565 คิดเป็นส่วนของบริษัทน้ำมันแห่งชาติ Petroecuador ที่ 1.47 ล้านบาร์เรลและผู้ผลิตเอกชน ที่ 385,000 บาร์เรล ทั้งนี้ก่อนการประท้วงเอกวาดอร์ผลิตน้ำมันอยู่ที่ประมาณ 500,000 บาร์เรลต่อวัน
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
30 มิ.ย. 2565 ที่ประชุมกลุ่ม OPEC+ มีมติให้ประเทศสมาชิกดำเนินการตามแผนเดิมที่กำหนดไว้ในการประชุมครั้งก่อน คือเพิ่มการผลิตน้ำมันดิบในเดือน ส.ค. 2565 รวมที่ระดับ 648,000 บาร์เรลต่อวัน สอดคล้องกับที่ตลาดคาดการณ
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับลดคาดการณ์อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ (GDP) ในปี 2565 อยู่ที่ +2.9% จากปีก่อน ต่ำกว่าคาดการณ์เดิมในเดือน เม.ย. 2565 ที่ +3.7% เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเร็วกว่าเดิม