ThaiPublica > ประเด็นร้อน > Research Reports > EIC > EIC มองอุตฯอิเล็กทรอนิกส์ปี’65 ยังเติบโตได้แม้ขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์-เงินเฟ้อสูง

EIC มองอุตฯอิเล็กทรอนิกส์ปี’65 ยังเติบโตได้แม้ขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์-เงินเฟ้อสูง

25 กรกฎาคม 2022


ที่มาภาพ : https://www.scbeic.com/th/detail/product/electronics-250722

EIC มองอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ปี’65 ยังสามารถเติบโตได้ แม้ต้องเผชิญกับปัญหาขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์และเงินเฟ้อที่เร่งตัวสูงขึ้น

EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ วิเคราะห์อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ปี2565 โดยมองว่ามูลค่าการส่งออกอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในปี 2565 คาดว่าจะขยายตัวที่ 4.1% YOY เติบโตชะลอลงจากปี 2564 จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่เริ่มชะลอลงและภาวะขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ที่ยังคงยืดเยื้อ

ในปี 2564 มูลค่าการส่งออกของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในภาพรวมขยายตัว 16.5%YOY โดยได้รับปัจจัยหนุนจากความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์บางประเภทที่เพิ่มสูงขึ้น อาทิ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ เพื่อตอบโจทย์วิถีชีวิตรูปแบบใหม่ (Work from home และการเรียนออนไลน์) ส่งผลให้การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของไทยเติบโตขึ้นมาก

สำหรับปี 2565 มูลค่าการส่งออกอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของไทยคาดว่าจะสามารถขยายตัวที่ 4.1%YOY โดยปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทั่วโลก ซึ่งส่งผลดีต่อการผลิตและส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อาทิ แผงวงจรไฟฟ้า วงจรพิมพ์ และเซมิคอนดักเตอร์ อย่างไรก็ดี การเติบโตในปีนี้ มีแนวโน้มชะลอลงสอดคล้องกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้ ภาวะขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ในตลาดโลกที่ยืดเยื้อยังส่งผลกระทบต่อการผลิตสินค้าขั้นปลายหลายประเภท เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์ เป็นต้น รวมทั้งมาตรการกีดกันการค้าของประเทศคู่ค้าที่จะส่งผลต่อการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าของไทย เช่น การขยายมาตรการ Safeguard และการตัดสิทธิ GSP เครื่องซักผ้าของสหรัฐฯ ขณะที่ผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน และภาวะเงินเฟ้อยังส่งผลให้ราคาวัตถุดิบในการผลิตกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวสูงขึ้นอีกด้วย

สำหรับกลุ่มสินค้าที่มีแนวโน้มเติบโตดี คือ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ที่จะเข้าไปมีบทบาทในอุตสาหกรรมการผลิตต่าง ๆ มากขึ้น อาทิ ระบบอัตโนมัติและปัญญาประดิษฐ์ในโรงงานอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต ขณะที่ Consumer electronics เริ่มชะลอตัวจากความต้องการคอมพิวเตอร์ที่ชะลอลง

  • อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง 9.3%YOY โดยได้รับปัจจัยหนุนจากการที่ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์สำคัญ อาทิ เซมิคอนดักเตอร์ และแผงวงจรพิมพ์เข้าไปมีบทบาทในอุตสาหกรรมต่าง ๆ มากขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิตในโรงงาน อุตสาหกรรมการแพทย์ อุตสาหกรรมยานยนต์
  • อุตสาหกรรม Consumer electronics มีแนวโน้มขยายตัวที่ 3.3%YOY โดยเป็นอัตราการเติบโตที่ชะลอลงจากปี 2021 ตามการชะลอตัวของการส่งออกเครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากความต้องการซื้อคอมพิวเตอร์เครื่องใหม่ของผู้บริโภคทั่วโลกและกำลังซื้อที่เริ่มชะลอลงภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน
  • อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า คาดว่าจะสามารถขยายตัวต่อเนื่องที่ 3.5%YOY โดยเป็นผลจากความต้องการในสินค้าประเภทเครื่องปรับอากาศและตู้เย็นในช่วงที่สภาพอากาศร้อนจัด อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องจับตามาตรการกีดกันทางการค้าจากอินโดนีเซียและสหรัฐฯ รวมทั้งภาวะเศรษฐกิจโลกที่เริ่มชะลอตัว ซึ่งอาจส่งผลให้แนวโน้มการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าของไทยชะลอลงได้ในระยะต่อไป
  • ประเด็นสำคัญที่ต้องจับตาของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในปี 2565 และในระยะต่อไป คือ สถานการณ์ขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ การเพิ่มขึ้นของราคาวัตถุดิบ รวมไปถึงแนวโน้มการย้ายฐานการผลิต และมาตรการกีดกันทางการค้าจากประเทศคู่ค้าของไทย

    ภาวะขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ในตลาดโลกยังคงยืดเยื้อยาวนานกว่าที่คาด ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการผลิตสินค้าขั้นปลายในอุตสาหกรรมต่าง ๆ อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้า สมาร์ตโฟน รวมถึงยานยนต์ นอกจากนี้ สงครามรัสเซีย-ยูเครน ยังซ้ำเติมให้สถานการณ์ขาดแคลนวัตถุดิบในตลาดโลกรุนแรงมากขึ้น อีกทั้ง ยังผลักดันให้ราคาวัตถุดิบในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ปรับตัวสูงขึ้น และอาจทำให้ปัญหาขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์คลี่คลายได้ช้าลงกว่าที่คาดการณ์ไว้

    สงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้ราคาวัตถุดิบและต้นทุนการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์โดยรวมปรับตัวสูงขึ้น ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นส่งผลให้ต้นทุนวัตถุดิบที่เกี่ยวเนื่องปรับตัวเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ในทางกลับกันสินค้าอิเล็กทรอนิกส์บางประเภท อาทิ หม้อเก็บประจุไฟฟ้าและแบตเตอรี่ ได้อานิสงส์ด้านบวกจากการที่ทั่วโลกพยายามหาแหล่งพลังงานใหม่ ๆ ทดแทนน้ำมัน

    แนวโน้มการย้ายฐานการผลิต (Supply-chain relocation) ที่เกิดขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง โดยมีจุดเริ่มต้นมาตั้งแต่สงครามการค้าและสงครามเทคโนโลยีของสหรัฐฯ และจีน ก่อนจะเร่งตัวขึ้นในช่วงของการแพร่ระบาด COVID-19 เนื่องจากผู้ผลิตมองว่าการพึ่งพาฐานการผลิตในเอเชียเป็นหลักถือเป็นความเสี่ยงต่อการผลิตสินค้าในภาพรวม ส่งผลให้หลายประเทศมีนโยบายย้ายฐานการผลิตไปยังภูมิภาคอื่นของโลกมากขึ้น

    มาตรการกีดกันทางการค้าในสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าจากประเทศคู่ค้า ยังคงต้องจับตาผลของการออกมาตรการกีดกันทางการค้าของอินโดนีเซียที่ส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออกเครื่องปรับอากาศ รวมไปถึงการขยายมาตรการ Safeguard และการตัดสิทธิ GSP ของสหรัฐฯ ที่จะส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออกเครื่องซักผ้าของไทย

    EIC มองว่า ผู้ประกอบการกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ควรปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจเพื่อรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ ดังนี้

  • กระจายความเสี่ยงในการจัดหาวัตถุดิบ ด้วยการจัดหาวัตถุดิบหรือชิ้นส่วนจากประเทศอื่นมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศ
    ที่ใกล้กับฐานการผลิตของตน รวมทั้งควรเก็บสต็อกวัตถุดิบให้นานขึ้น เพื่อให้สามารถรับมือกับปัญหาขาดแคลนชิ้นส่วนในอนาคตได้ดีขึ้นและป้องกันปัญหาการหยุดชะงักของภาคการผลิต
  • พัฒนาศักยภาพและประสิทธิภาพของแรงงาน ซึ่งจะส่งผลดีต่อการผลิตในภาพรวมด้วยการปรับทักษะ (Reskill) หรือเพิ่มทักษะ (Upskill) ให้แรงงานในการผลิตสามารถปรับตัวสอดคล้องไปกับเทคโนโลยีของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น การทำงานร่วมกับหุ่นยนต์ หรือ การผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่มีมูลค่าสูง
  • นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้และสร้างพันธมิตรทางธุรกิจ ปัจจุบันโลกกำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่รูปแบบ Digital transformation มากขึ้น ส่งผลให้ระบบอิเล็กทรอนิกส์เข้าไปมีบทบาทในภาคการผลิตต่าง ๆ มากขึ้น เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ โดยเฉพาะในกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้า ดังนั้น ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมจึงควรพิจารณาสร้างพันธมิตรทางธุรกิจทั้งในอุตสาหกรรมเดียวกันหรือนอกอุตสาหกรรม เพื่อร่วมมือกันวิจัยและพัฒนาสินค้าให้ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก
  • อ่านต่อรายงานฉบับเต็มได้ที่…https://www.scbeic.com/th/detail/file/product/8407/gbyx8tbcbk/Industry-Insight_Electronics-2022_20220725.pdf