ThaiPublica > คอลัมน์ > เมื่ออนาคตไล่ล่าคุณ : Car Subscription ไม่ต้องซื้อ ไม่ต้องเช่า มีรถใช้ เปลี่ยนแบบได้ตามต้องการ

เมื่ออนาคตไล่ล่าคุณ : Car Subscription ไม่ต้องซื้อ ไม่ต้องเช่า มีรถใช้ เปลี่ยนแบบได้ตามต้องการ

10 มิถุนายน 2022


ไตรรงค์ บุตรากาศ

ที่มาภาพ : https://www.cazoo.co.uk/car-subscription/

การระบาดของโควิด-19 ซึ่งลุกลามไปทั่วโลก และยืดเยื้อมาจนปีที่ 3 คร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 18.2 ล้านคน และมีผู้ติดเชื้อมากกว่า 510 ล้านคนนั้น ได้ก่อให้เกิดผลกระทบทั้งทางชีวิต เศรษฐกิจ และสังคม อย่างมหาศาลในระดับโลก เราได้เจอกับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจในระดับที่ไม่เคยเจอมาก่อน ทั้งขนาดพื้นที่และผลกระทบที่ยืดเยื้อกว่าวิกฤติเศรษฐกิจครั้งไหนๆ ทั้งต้มยำกุ้ง ซับไพรม์ ฟองสบู่หุ้นเทค จะเป็นรองกับแต่เหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่สองเท่านั้นเอง

ผลกระทบเศรษฐกิจระดับนี้ ทำให้เราเห็นคนในสาขาอาชีพทั้งดารา นักร้อง ศิลปิน ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่รอดมาได้ทุกครั้ง มีผลกระทบขนาดต้องขายทรัพย์สินประคองตัวกันเลยทีเดียว รวมถึงผู้คนที่อยู่ในธุรกิจท่องเที่ยวซึ่งมีสัดส่วนกว่า 12% ของ GDP เป็นภาคธุรกิจที่จ้างแรงงานขนาดใหญ่ของประเทศ และเคยได้รับการจัดว่าเป็นธุรกิจที่มีแรงต้านทานสูง (resilience) ของประเทศ ชูหน้าชูตามาเป็นเวลาหลายสิบปี สะดุดลงอย่างน่าใจหาย หลายแห่งอยู่ในช่วงพักทรัพย์พักหนี้ ลดการจ้างงานอย่างมโหฬาร หรือบางทีจำต้องตัดขายบางส่วนไปเพื่อรักษาส่วนใหญ่เอาไว้

หนี้ครัวเรือนต่อรายได้มวลรวมประชาชาติ (GDP) ของประเทศไทย ที่สูงถึง 93% (สิ้นปี 2564, ttb) สูงเป็นอันดับที่ 17 ของโลก และเป็นอันดับสองของเอเชีย รองจากเกาหลีใต้ (106.7%) ขณะที่สหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 106.7% โดยที่ทั้งสองประเทศรวยกว่าเราเยอะมาก ตัวเลขนี้ไม่เพียงบอกว่าเราก่อหนี้กับเยอะมากจนเกือบจะไม่พอจ่าย แต่ยังบอกว่าอำนาจการใช้จ่ายของประชาชน (และการเติบโตทางเศรษฐกิจ) ในอนาคตจะเริ่มถดถอยลงด้วย โดยเฉพาะหนี้ดังกล่าวเป็นหนี้เพื่อการใช้จ่ายส่วนบุคคลที่มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในกลุ่มเจเนอเรชันที่ยังเยาว์วัย ทั้งเจนวายซึ่งมีการก่อหนี้มากที่สุด (4 ล้านล้านบาท และ NPL คงค้าง 2.7 แสนล้านบาท ในปี 2563, ข้อมูลจาก NCB) และเจนแซดซึ่งเพิ่งเริ่มรู้จักกับคำว่าหนี้เป็นครั้งแรก แต่อัตราการก่อหนี้เพิ่มขึ้นสูงสุดถึง 200% ในปี 2563 เทียบ 2562 (ข้อมูลจาก NCB)

พฤติกรรมหลังโควิดยังส่งผลต่อวิถีการใช้ชีวิต และการทำงานของเรามากขึ้นด้วย ทั้งการ work from home, work from anywhere, การเลือกหรือจำเป็นต้องทำงานแบบฟรีแลนซ์มากขึ้น ยังส่งผลกระทบต่อการเดินทางไปกลับออฟฟิศที่เคยเกิดขึ้นก่อนการระบาดของโควิด-19 ที่การใช้รถและการเดินทางจะกลับมาเกิดขึ้นอย่างถี่ยิบอีกครั้งหรือไม่ ซึ่งทั้งบริษัทและผู้บริโภคแต่ละบุคคลเองก็มองเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด ประกอบกับแนวโน้ม urbanization ที่เมืองมีแต่จะโตเป็นเมืองใหญ่ขึ้น กระจุกตัวมากขึ้น และความไม่มั่นคงในรายได้ในอนาคตที่เพิ่มความไม่แน่นอนสูงขึ้นเรื่อยๆ

แนวโน้มต่างๆ เหล่านี้ตั้งคำถามต่อตัวเราเองว่า พฤติกรรมการซื้อรถ ซึ่งเป็นหนึ่งในรายจ่ายหลักรายการใหญ่รายการหนึ่งของชีวิตคน และมีสัดส่วนถึง 12% ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด ผู้คนจะยังคงมุ่งหวังที่จะซื้อรถเป็นเจ้าของรถ ซึ่งต้องก้าวผ่านภาระทั้งหลายทั้งปวง ทั้งก่อนซื้อรถ หาเงินดาวน์ เตรียมเอกสารขอกู้แบงก์ ค่าใช้จ่ายระหว่างการใช้รถ ทั้งค่าบำรุงรักษา ค่าภาษี ค่าประกัน ค่าซ่อมรถ ตลอดจนต้องผูกพันตัวเองหาส่งเงินจ่ายค่างวดอีกเป็นระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 4-5 ปี เพื่อจะได้ทรัพย์สินชิ้นนี้มา เพื่อที่จะต้องเป็นกังวลว่า หากมันเก่าเกินสภาพและต้องขายต่อ มูลค่ามันจะลงไปอีกเท่าไหร่ จะพอเพียงที่จะมีเงินดาวน์ซื้อยานพาหนะคันใหม่หรือไม่ และหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน และรถถูกยึด อาจจะต้องเจอกับความเสี่ยงต้องผ่อนกระดาษ เนื่องจากราคาขายทอดตลาดขาดทุนอีก

ที่มาภาพ : https://www.cazoo.co.uk/car-subscription/

หากมีทางเลือกที่ดีกว่านี้ ที่เราชำระเท่ากับค่าใช้จ่ายที่เราต้องจ่ายแบบเดิมๆ นั่นแหละ แต่ไม่ต้องกังวลกับเรื่องเงินดาวน์ เงินผ่อน และภาระหนี้ประวัติเครดิตหากเกิดความไม่แน่นอน และยังสามารถเปลี่ยนรถประเภทอื่นๆ ยี่ห้ออื่นได้อีกตามโอกาสการใช้ เราจะเอาไหม

และนั่นคือที่มาของ car subscription ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีการเติบโตอย่างมากในฝากยุโรปและอเมริกา รวมถึงเอเชียบางประเทศ

car subscription “ไม่ซื้อ ไม่เช่า มีรถให้ใช้ แค่จ่ายสมาชิกรายเดือน” เป็นธุรกิจที่กำลังมีการเติบโตเป็นอย่างสูง ในประเทศแถบ ยุโรป อเมริกา และเอเชียบางประเทศ โดยคาดการณ์ว่ามีมูลค่าตลาดถึง 3.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (2021) โดยตลาดสหรัฐอเมริการและยุโรปเป็นตลาดใหญ่ที่สุด และมีการเติบโตราว 19% ต่อปีในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีการคาดการณ์ว่าจะเติบโตเป็น 31.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2030 หรือมี CAGR ราว 22.8% ต่อปี และคาดว่าจะส่วนแบ่งตลาดราว 15% ของยอดขายรถทั้งหมด (Global Automotive Consumer Survey, Authur D.Little และ How car subscription will impact auto sales, BCG)

car subscription ได้ก้าวข้ามข้อจำกัด เดิมๆ ของการที่จะมีรถใช้เป็นส่วนตัว ต้องกัดฟันเก็บเงินดาวน์รถ ลุ้นขอสินเชื่อ กันเงินจ่ายค่างวด (ต้นและดอกเบี้ย) และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ค่าประกัน ค่าภาษี ค่าบำรุงรักษา ค่าซ่อมรถ และต้องลุ้นว่าการงานหรือธุรกิจที่ทำอยู่จะมั่นคงไปตลอดอีก 4-5 ปี (ซึ่งจากวิกฤติการณ์โควิด-19 มันบอกว่าไม่จริง ความไม่แน่นอน คือสิ่งที่แน่นอน) และต้องลุ้นว่าหลังผ่อนหมด ถ้าใช้ต่อก็ต้องจ่ายค่าภาษีค่าประกัน ค่าซ่อมบำรุง อื่นต่อไป ตลอดจนค่าเสื่อมรถ ซึ่งสะท้อนตอนคุณไม่อยากใช้รถคันเดิมแล้วจะขายออก ราคารถจะลงไปเหลือเท่าไหร่ คุ้มกันไหมกับภาระและความกังวล ทั้งหลายที่ต้องทนกันมา

หากมีทางเลือกที่ให้คุณเลือกใช้รถที่อยากใช้ได้ตามโอกาสการใช้ โดยค่าใช้จ่ายเท่ากันหรือถูกกว่าเล็กน้อย และถูกกว่าไปเช่ารถเช่าทั่วไป ได้รถสภาพที่ดีกว่า และเราเป็นคนใช้คนเดียว มันน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าไหม

car subscription นอกจากภาระค่าใช้จ่าย และภาระทางการเงินดังที่กล่าว ยังเสนอความสะดวกและการปลอดความกังวล ที่ผู้ต้องการใช้รถไม่ต้องผ่านกระบวนการยุ่งยาก การได้รถมาใช้ ทั้งเรื่องต่อภาษี ทะเบียน ประกัน ซ่อมแซม โดยเฉพาะกระบวนการขอสินเชื่อ สิ่งเหล่านี้มีคนทำให้คุณทั้งหมด และได้รถไปใช้เฉพาะส่วนตัว โดยจ่ายค่าสมาชิกรายเดือนที่ใกล้เคียงหรือถูกกว่าไปเช่าซื้อเอง และสามารถเลือกเปลี่ยนรถได้ตามโอกาสและแพคเกจที่คุณอยากซื้อ เช่น อยากขับรถยี่ห้อนี้ แต่ก็อยากลองอีกยี่ห้อ หรือวันนี้จะไปเที่ยวต่างจังหวัดผจญภัยหน่อย อยากเปลี่ยนเป็น SUV แทนรถเก๋ง หรือยากทดลองรถไฟฟ้ายี่ห้อกำลังดังดู คล้ายๆ กับสมัคร Netflix แล้วดูหนังได้ทุกประเภท ไม่ต้องไปดูเฉพาะแค่ที่ซื้อ และราคาไม่แพง นั่นเอง

ที่มาภาพ : https://www.hertz.com/p/hertzmycar

นอกจากนี้ ความสะดวกและภาระความกังวลที่ไม่ต้องมี คือ เมื่อคุณไม่อยากใช้รถแล้ว หรือเปลี่ยนที่อยู่ เปลี่ยนงาน หรือมีอุบัติเหตุทางการงาน คุณก็แค่คืนรถ แล้วเดินออกมา ไม่ต้องกังวล กับการหาทางขายงวด การถูกไล่ทวงหนี้ ทวงพ่อ ทวงแม่ ญาติผู้ค้ำประกัน หรือเมือถูกยึดแล้ว ต้องมาผ่อนกระดาษต่อเนื่องจากไฟแนนซ์ยึดรถขายทอดตลาดขาดทุนอีก เหล่านี้คือความสะดวกสบายและไร้กังวลซึ่งสามารถได้รับจากบริการนี้

car subscription ในตลาดโลก แม้ยังเป็นเรื่องใหม่ แต่ก็ผ่านร้อนผ่านหนาวมาแล้ว ไม่ต่ำกว่า 5-7 ปี มีคนที่ประสบความสำเร็จและมีคนที่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ซึ่งก็ปรับโมเดล แล้วก็ออกมาใหม่ ในส่วนที่ประสบความสำเร็จนั้น ส่วนใหญ่จะมีหลายแบรนด์รถให้เลือก มีฐานรถเช่าอยู่ ซึ่งก็เป็นเรื่องเข้าใจได้ เพราะมีฟลีทรถยนต์ไว้แชร์ต้นทุน และโครงสร้างอำนวยความสะดวกต่างๆ แต่ก็มีบางส่วนเป็นสตาร์ทอัปล้วนๆ ซึ่งเน้นเทคโนโลยี แต่ก็ต้องพึงพิงพันธมิตรในการจัดหาและดูแลรถยนต์ค่อนข้างมาก ส่วนใหญ่มักทำเป็นพื้นที่ และทำในเมืองใหญ่ รวมถึงมีบริการรถหลายแบบให้เลือกเปลี่ยน

ส่วนที่ต้องปรับโมเดล ได้แก่พวกที่เป็น OEM มาทำเอง เช่น บีเอ็มดับเบิลยูและเบนซ์ ที่ทำเฉพาะของตัวเอง และไปทำที่แนชวิลล์ (ไม่เข้าใจว่าทำไมที่นี่) ซึ่งก็ไม่สำเร็จ หรือ Kinto ของ Toyota ที่ทำเฉพาะแบรนด์ตัวเองเช่นกัน และมีแพกเกจเหมือนจะขายมากกว่าจะ subscrip ในส่วนประเทศเอเชียที่ค่อนข้างจะเติบโตได้ดี คือ ที่สิงคโปร์ ซึ่งประเทศเป็นเมืองใหญ่ และประเทศในแถบตะวันออกกลาง เช่น UAE และ ดูไบ เป็นต้น

car subscription นอกจากกลุ่มผู้ใช้รถยนต์โดยตรง ยังมีแนวโน้มที่จะตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าธุรกิจรุ่นใหม่ หรือกลุ่มลูกค้าธุรกิจที่เริ่มมองเห็นพฤติกรรมการใช้รถที่เปลี่ยนไปขององค์กร เจ้าของธุรกิจเองก็ไม่อยากจะต้องมานั่งวุ่นวายการการต่อทะเบียน ประกัน หรือต้องกังวลกับภาระการผ่อนรถ เพิ่มเติมจากการทำธุรกิจ หรือหากธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลงในอนาคตก็ไม่ต้องมีภาระนี้เพิ่มเติม การเลือกใช้ทางนี้ก็เป็นทางออกที่ดีอยู่มาก และเริ่มมีการใช้บริการประเภทนี้แล้วเช่นกัน ตลอดจนลูกค้าธุรกิจองค์กรขนาดใหญ่ต่างๆ เองก็อาจเห็นว่าการทำรถเช่า fleet ระยะยาวแบบเดิมๆ 4-5 ปี อาจจะไม่ตอบโจทย์ธุรกิจในปัจจุบันแล้วก็ได้ หากแนวโน้มการทำงานมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงไปในอนาคต ทั้งเรื่องการ work from home หรือความต้องการการใช้รถที่ยืดหยุ่นมากขึ้น เป็นระยะเป็นช่วงตามความต้องการในขณะนั้น ผู้บริหารก็อาจจะเลือกที่จะเช่าแบบ fixed จำนวน และปีบางส่วน ที่เหลือ เช่าแบบ subscription มาก่อนก็ได้ หากธุรกิจที่ทำใหม่ไม่สำเร็จ หรือจะปรับเป็นนโยบาย WFH ชั่วคราว ก็สามารถลดและเพิ่มได้โดยไม่มีภาระค่าปรับ ค่าผ่อนต่อไป

car subscription อาจจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จขึ้นอยู่กับโมเดลที่เลือก และที่สำคัญมันฟิตกับฐานธุรกิจเราหรือไม่นั้น รวมถึงมุมมองจากลูกค้าเป็นหลักไม่ใช่มองแต่มุมของตัวเอง เช่น อยากจะขายรถแต่ก็ลองแบบไม่ขายด้วย เน้นแต่รถตัวเองเป็นหลัก ซึ่งลูกค้าไม่ได้ต้องการ หรือเน้นเอารถเก่ามาเช่าระหว่างรอขาย แต่สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ พฤติกรรมการซื้อและการใช้รถมีแนวโน้มจะเปลี่ยนไปในอนาคตอย่างแน่นอน ทั้งผู้บริโภคโดยตรง และลูกค้าธุรกิจ เด็กรุ่นน้องๆ ลูกๆ เราเมือโตขึ้น เขายังอยากจะผ่อนรถ เอาไว้ใช้ต่อหรือไม่ หรือหากอยากจะทำ ด้วยโครงสร้างภาระหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ตลอดจนภาวะ การมีหนี้เร็วขึ้นในเด็กรุ่นหลังๆ (ช่วยไม่ได้นี่นา มีของยั่วยวนใจให้รูดไปซื้อเยอะนี่ ทั้งกระเป๋า นาฬิกา ท่องเที่ยว อาหารหรู ค่าเน็ต มือถือ แล้วยังต้องแชร์โพสต์อีก) และพฤติกรรมการทำงานที่เปลี่ยนไปจากปัจจุบัน

อนาคตเกิดขึ้น และเปลี่ยนแปลงโลก นั่นเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ แต่เราตัดสินใจได้ว่า เราจะเป็นอนาคต หรือถูกไล่ล่าโดยอนาคต นั่นเป็นสิ่งที่เราต้องมีความกล้าที่จะเดินต่อ และใช้สมองเพื่อหาวิธีที่ให้การดำเนินการเป็นไปได้อย่างเหมาะสมครับ

อย่าปล่อยให้อนาคตไล่ล่าคุณ