ThaiPublica > คอลัมน์ > ความเหลื่อมล้ำ : หากไม่ปิดแต่เยาว์วัย ยิ่งโตไป ยิ่งปิดยาก

ความเหลื่อมล้ำ : หากไม่ปิดแต่เยาว์วัย ยิ่งโตไป ยิ่งปิดยาก

22 เมษายน 2022


วีระชาติ กิเลนทอง [email protected] มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
นฎา วะสี [email protected] สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

ที่มาภาพ : https://www.pier.or.th/

มักเป็นที่พูดกันเสมอว่า ความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่งของคนไทยถือเป็นอันดับต้นๆ ในเอเชีย ช่องว่างของความมั่งคั่งนั้นเป็นผลของความเหลื่อมล้ำด้านโอกาสและเศรษฐกิจซึ่งสั่งสมมาแล้วทั้งชีวิต การจะไปปิดช่องว่างของความมั่งคั่งโดยตรงจึงเป็นเรื่องยาก แม้ภาครัฐจะใช้งบประมาณอย่างมหาศาลก็แทบจะไม่มีทางปิดช่องว่างนั้นลงได้ นโยบายที่พยายามกระจายรายได้ เช่น การเก็บภาษีคนรวยและให้เงินช่วยเหลือคนจน แม้จะช่วยแก้ปัญหาปากท้องในวันนี้และเป็นการลดความเหลื่อมล้ำด้านการบริโภค แต่ก็ยังไม่สามารถลดช่องว่างด้านความมั่งคั่งหรือป้องกันวัฏจักรของการส่งต่อความเหลื่อมล้ำจากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่งได้

บทความชิ้นนี้ขอเล่าถึงภาพความเหลื่อมล้ำในมิติต่างๆ ว่ามีความสัมพันธ์กันอย่างไร และทำไมการลดช่องว่างตั้งแต่ต้นทางจึงเป็นสิ่งจำเป็นและมีประสิทธิภาพมากกว่า

ความเหลื่อมล้ำเริ่มต้นจากที่ไหน?

ความเหลื่อมล้ำแบ่งออกเป็นความเหลื่อมล้ำเชิงโอกาสและความเหลื่อมล้ำเชิงเศรษฐกิจ ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการขาดโอกาสในวัยเยาว์ ตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ เด็กแต่ละคนก็ได้รับการดูแลเอาใจใส่ไม่เท่ากัน เด็กที่มีน้ำหนักแรกเกิดน้อยหรือขาดสารอาหารที่จำเป็นมักจะมีปัญหาเรื่องสุขภาพและพัฒนาการในอนาคต

ที่มา: นฎา และกฤษฎ์เลิศ

ช่วงปฐมวัย การเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพต่างกัน การอบรมเลี้ยงดูที่ส่งเสริมพัฒนาการด้านสติปัญญา สังคมและอารมณ์ไม่เท่ากัน ล้วนสั่งสมเป็นช่องว่างทางทุนมนุษย์ (human capital) ที่เริ่มกว้างขึ้น เมื่อเข้าสู่วัยแรงงาน คนที่มีทุนมนุษย์สูงกว่า มีทักษะมากกว่า ก็มีโอกาสเลือกงานมากกว่า

คนที่มีงานที่ดีกว่าย่อมมีรายได้สูงกว่า ส่งต่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ รวมถึงคนที่มีรายได้สูงยังมีเงินเหลือเก็บออม ส่วนคนที่หาเช้ากินค่ำอาจจะต้องกู้ยืมทำให้มีหนี้สิน หากเราเปรียบเทียบคนสองคน คนหนึ่งมีเงินเหลือเก็บ อีกคนรายได้แทบไม่พอจะกิน ชีวิตเป็นเช่นนี้ตั้งแต่เริ่มทำงานไปจนเกษียณ ช่องว่างทางเศรษฐกิจนั้นจึงกว้างขึ้นเรื่อยๆ คนแรกจะยิ่งร่ำรวยมั่งคั่งยิ่งขึ้น และยังสามารถนำเงินออมบางส่วนไปลงทุนส่งให้มีรายได้เพิ่มขึ้นอีก ขณะที่คนหลังจะไม่ได้มีโอกาสลืมตาอ้าปากเลย

ช่องว่างของความมั่งคั่งนั้นจึงกว้างกว่าตัวชี้วัดอื่นๆ เพราะเป็นการสั่งสมความเหลื่อมล้ำในมิติต่างๆ มาทั้งชีวิต

นอกจากนี้ ความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่งยังถูกส่งต่อเป็นวัฏจักรจากรุ่นสู่รุ่น เพราะคนรวยยังสามารถลงทุนทางการศึกษาให้ลูกได้มากกว่า รวมทั้งทิ้งมรดกไว้ให้ลูกหลานมากกว่าด้วย

แล้วเราจะลดช่องว่างของความเหลื่อมล้ำได้อย่างไร?

มีงานวิจัยหลายชิ้นที่พยายามวิเคราะห์ต้นเหตุของความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ ผลพบว่าอย่างน้อยร้อยละ 50 ของความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ตลอดช่วงชีวิตมาจากความแตกต่างของทุนมนุษย์ตั้งแต่อายุ 18 ปี และในช่วง 18 ปีแรกของชีวิตนั้น ช่วงห้าปีแรกมีความสำคัญมาก มีงานศึกษาที่พบว่าคะแนนสอบของเด็กตอนอายุ 5 ปีนั้น เป็นตัวแปรสำคัญที่ช่วยทำนายได้ว่าเด็กคนนั้นจะเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัยหรือไม่ งานวิจัยสำคัญชิ้นหนึ่ง คือ งานวิจัยของ Professor James J. Heckman และคณะ ที่ศึกษาผลของโครงการ Perry Preschool ซึ่งออกแบบโดยใช้เทคนิค Randomized Controlled Trial เพื่อศึกษาผลของหลักสูตรการศึกษาของเด็กปฐมวัยใน สหรัฐอเมริกา โดยมีการติดตามเด็กเหล่านั้นตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1960s มาจนถึงปัจจุบัน1

ผลพบว่าโครงการนี้มีบทบาทในการพัฒนาทักษะทั้งทางด้านสติปัญญา บุคลิกภาพ และความอยากเรียนรู้ในเรื่องที่เป็นวิชาการ ซึ่งทักษะเหล่านี้ส่งผลต่อเนื่องมายังเรื่องการงาน รายได้ สุขภาพ และจริยธรรมในสังคม เมื่อเด็กเหล่านี้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ หากคำนวณเป็นผลตอบแทนแล้ว ทุก $1 ที่ลงทุนในโครงการนี้ให้ผลตอบแทนโดยรวมสูงถึง $7-$12 ซึ่งคิดเป็นมูลค่าที่สูงมากหากเปรียบเทียบกับการลงทุนในด้านอื่นๆ ทั้งนี้ ยังพบว่าการลงทุนในเด็กที่มีอายุน้อยกว่านั้น จะนำไปสู่อัตราผลตอบแทนที่สูงกว่า ดังแสดงในรูปที่ 2 หรือกล่าวได้ว่า “ยิ่งเล็ก ยิ่งคุ้ม” นั่นเอง

ดังนั้น การลดความแตกต่างด้านทุนมนุษย์ตั้งแต่จุดเริ่มต้นของชีวิต จึงน่าจะเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำของเศรษฐกิจและสังคมในอนาคต

พัฒนาการในช่วงปฐมวัยนั้นไม่ได้ขึ้นกับคุณภาพการศึกษาเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีปัจจัยอื่นๆ ร่วมด้วย ระดับทักษะ (ทุนมนุษย์) ของเด็กหรือพ่อแม่ในปัจจุบันก็มักจะส่งผลต่อพัฒนาการในช่วงถัดไป เด็กที่เก่งก็มักจะเก่งขึ้น พ่อแม่ที่มีความรู้ก็มักจะสอนลูกได้ดี แต่สองปัจจัยนี้เป็นสิ่งที่ติดตัวมากับเด็กหรือพ่อแม่ การจะไปปรับเปลี่ยนย่อมทำได้ยาก อย่างไรก็ตาม บางปัจจัยที่พบว่ามีผลต่อพัฒนาการเด็กได้ เช่น การลงทุนของผู้ปกครอง วิธีอบรมเลี้ยงดู และการศึกษาปฐมวัยที่มีคุณภาพ สามารถใช้นโนบายมาปรับเปลี่ยนได้

นอกจากโครงการยกระดับการศึกษาปฐมวัย ดังตัวอย่างของโครงการ Perry Preschool ยังมีโครงการอื่นๆ ที่ได้รับการประเมินแล้วว่ามีประสิทธิภาพ อาทิ โครงการลดภาวะแคระแกร็นในประเทศไนจีเรีย โดยให้ความรู้และเงินช่วยเหลือเพื่อให้พ่อแม่ลงทุนเรื่องโภชนาการมากขึ้น โครงการ Reach Up and Learn ซึ่งเริ่มขึ้นในประเทศจาไมกา และถูกนำไปใช้ในอีก 14 ประเทศ เป็นการส่งเจ้าหน้าที่โครงการไปสอนพ่อแม่ถึงบ้านเพื่อพัฒนาการอบรมเลี้ยงดูและการทำกิจกรรมร่วมกับเด็ก การสอนที่บ้านน่าจะมีประสิทธิภาพกว่าการอบรมพ่อแม่ในห้องเรียน เพราะเจ้าหน้าที่สามารถปรับเปลี่ยนตามบริบทที่แตกต่างกันของแต่ละครัวเรือน นอกจากนี้ การปรับเปลี่ยนวิธีทำกิจกรรมผ่านทางพ่อแม่นั้นน่าจะง่ายกว่าการทำผ่านทางครู เพราะแรงจูงใจของพ่อแม่ในการพัฒนาเด็กนั้นย่อมสูงกว่าแรงจูงใจของโรงเรียน

การลงทุนกับเด็กปฐมวัยของประเทศไทยที่ผ่านมาเป็นอย่างไร?

ประเทศไทยลงทุนกับการศึกษากว่าปีละ 8 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 17 ของงบประมาณโดยรวม ซึ่งสูงกว่าประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นฟินแลนด์ สหรัฐอเมริกา และเยอรมนี โดยส่วนของภาครัฐนั้นเพิ่มจาก 418 พันล้านบาทในปี 2551 เป็น 618 พันล้านบาทในปี 2561 อย่างไรก็ดี หากดูการจัดสรรงบประมาณตามระดับการศึกษา รายจ่ายต่อหัวสำหรับเด็กก่อนวัยเรียนคิดเป็น 20,949 บาท เด็กก่อนประถมศึกษา 68,377 บาท เด็กประถมศึกษา 72,559 บาท และเด็กมัธยมศึกษาสายสามัญ 65,121 บาท2 ซึ่งแปลว่าประเทศไทยนั้นลงทุนกับเด็กโตมากกว่าเด็กเล็ก และการลงทุนที่ผ่านมายังไม่เห็นผลสัมฤทธิ์มากนัก 3

แม้การพัฒนาเยาวชนทุกช่วงวัยเป็นเรื่องสำคัญ แต่งานวิจัยในอดีตมีหลักฐานอย่างชัดเจนว่า “ยิ่งเล็ก ยิ่งคุ้ม”

ดังนั้น เราจึงควรเพิ่มการลงทุนกับเด็กปฐมวัยให้มากขึ้น โดยมิใช่แค่เพิ่มเงินงบประมาณเพียงอย่างเดียว แต่ต้องเพิ่มคุณภาพด้วย ไม่ว่าจะเป็นการยกระดับหลักสูตรปฐมวัย การพัฒนาการอบรมเลี้ยงดูของผู้ปกครอง รวมถึงการประเมินผลสัมฤทธิ์ของโครงการอย่างเป็นระบบ4 ไม่ว่าโครงการนั้นจะสำเร็จหรือล้มเหลว บทเรียนที่ได้จากการประเมินที่เป็นระบบย่อมจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาแนวนโยบายต่อไปในอนาคต

ช่องว่างของความเหลื่อมล้ำนั้น หากไม่ปิดแต่เยาว์วัย ยิ่งโตไป ยิ่งกว้าง ยิ่งปิดยาก หากเราพยายามตั้งแต่ต้นทางตอนที่ความแตกต่างนั้นยังน้อย โอกาสที่จะลดช่องว่างนั้นได้ย่อมจะสูงกว่า ทั้งนี้ การลงทุนในเด็กนั้น มิใช่ได้ผลเพียงแค่เรื่องการสร้างความเสมอภาค แต่ยังเป็นการส่งเสริมผลิตภาพให้กับประเทศในระยะยาวอีกด้วย ซึ่งต่างกับนโยบายกระจายรายได้อื่นๆ ที่เรื่องความเสมอภาคและผลิตภาพมักจะไม่ได้ไปด้วยกัน ดังนั้น การพัฒนาทุนมนุษย์ตั้งแต่ระดับปฐมวัย น่าจะเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนได้

หมายเหตุ : 1.สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมใน วีระชาติ (2017) และ https://heckmanequation.org/resource/perry-intergenerational-effects-summary/
2.ชัยยุทธ ปัญญสวัสดิ์สุทธิ์ และคณะ (2561) บัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาแห่งชาติประจำปีงบประมาณ 2551-2559 และ https://research.eef.or.th/nea/
3. ภูมิศรัณย์ (2563)
4.อ่านตัวอย่างของโครงการ RIECE Thailand เพิ่มเติมได้ที่ https://www.pier.or.th/abridged/2019/16/

ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์