ThaiPublica > เกาะกระแส > “เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ” ปัจฉิมนิเทศนักเรียนวชิราวุธฯ รุ่น 94 “ล้มเร็วลุกเร็ว + 3ดี”

“เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ” ปัจฉิมนิเทศนักเรียนวชิราวุธฯ รุ่น 94 “ล้มเร็วลุกเร็ว + 3ดี”

26 เมษายน 2022


ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวปาฐกถาปัจฉิมนิเทศให้แก่นักเรียนวชิราวุธวิทยาลัย รุ่น 94 เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2565

“ผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ท่านผู้บังคับการให้เกียรติเชิญผมมากล่าวปัจฉิมนิเทศให้กับนักเรียนวชิราวุธรุ่น 94 ซึ่งถือเป็นรุ่นน้องของผม ที่ผมภูมิใจมากก็เพราะว่ามันเป็นโอกาสที่ผมจะตอบแทนบุญคุณของวชิราวุธวิทยาลัยที่ทำให้ผมมีวันนี้ ได้มายืนอยู่ที่นี่ ผมอยู่วชิราวุธ 10 ปี เพราะสมัยก่อนเริ่มตั้งแต่ป.3 จนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 ผมก็เหมือนกับที่น้องๆหลายท่านที่ได้กล่าวในการอำลาโรงเรียนเป็นหลายภาษาว่าโรงเรียนเป็นบ้านหลังที่สองที่อบรมทำให้เราได้มีวันนี้ อีก 30 ปี 40 ปีน้องๆที่เข้ามาฟังวันนี้ก็อาจจะมายืนพูดเหมือนกับผมอย่างนี้เช่นเดียวกัน นี่คือสิ่งที่เราถูกปลูกฝังมาว่าเราต้องตอบแทนบุญคุณโรงเรียน เหตุผลที่สองก็คือว่าผมหวังว่าสิ่งที่ผมจะพูดต่อไปอีก 30 นาทีนี้มันจะอาจจะเป็นประโยชน์กับน้องๆวชิราวุธรุ่นที่ 94 หรือแม้กับผู้ปกครองที่จะได้มีโอกาสดึงบางส่วนจากที่ผมจะกล่าว speech ในวันนี้มาแนะนำให้น้อง ๆ รุ่น 94 ได้ก้าวเดินออกไปจากวชิราวุธอย่างเข้มแข็งมั่นคงและปลอดภัย”

จริง ๆ แล้วทุกท่านก็ทราบดีว่าโลกปัจจุบัน ผันผวนมาก สมัยก่อนตอนผมป.3 เราจะกลับบ้านกันเดือนละครั้ง ตอน ป. 4 มาเปลี่ยนเป็นเดือนละ 2 ครั้ง เดี๋ยวนี้ช่วงโควิดพวกเรากลายเป็นกลับมาเข้าโรงเรียนปีละครั้งหรือสองครั้ง ชีวิตมันเปลี่ยนไปมาก เทคโนโลยีต่าง ๆ มันก้าวไปเร็วมาก มันพร้อมที่จะดึงพวกเราน้อง ๆ รุ่นใหม่เข้าไปอยู่โลกเสมือนที่เราอาจจะเรียกว่า Metavese หรืออะไรก็แล้วแต่ มันเปลี่ยนไปเร็วมาก ชีวิตรุ่นผม รุ่นท่านผู้บังคับการอาจจะไม่เคยได้รู้จักแต่เราต้องเรียนรู้อยู่ไปกับมัน

นอกจากนั้นโควิด ที่เกิดขึ้นทำให้ชีวิตพวกเราเปลี่ยนไป ทั้งผันผวนและไม่แน่นอน เช่น วันหนึ่งเข้ามาอยู่โรงเรียนพอมี covid ก็ต้องกลับบ้าน แล้วก็ต้องกลับมาเข้าโรงเรียนใหม่ นอกจากชีวิตเราต้องปรับเปลี่ยนกันเร็วมากแล้วโลกยุคใหม่ยังมีความคลุมเครือ covid จะจบเมื่อไหร่ไม่มีใครรู้ เพราะฉะนั้นโลกยุคใหม่จะทั้งผันผวน(Volatility)ไม่แน่นอน(Uncertainty) คลุมเครือ(Ambiguity) และยังซับซ้อน(Complexity) หรือที่เรียกว่า VUCA คำถามคือเราจะปรับตัวกันอย่างไร

น้องรุ่นใหม่ ov 94 ที่จะจบการศึกษาออกไป เราจะปรับตัวอย่างไร ที่จริงไม่ใช่คำถามเฉพาะพวก ov 94 เท่านั้นแต่เป็นคำถามถึงทุกคน เพราะโลกมันเปลี่ยนไปเร็วมันกระทบทุกคนจริงๆ ผมได้อ่านพระบรมราโชบาย ซึ่งผมเชื่อว่า หลายคนในห้องนี้ก็ได้อ่าน แต่หลายคนอาจยังไม่มีโอกาสได้อ่าน ที่ล้นเกล้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ได้เขียนถึงเสนาบดีกระทรวงธรรมการหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาตอนตั้งโรงเรียนเรา เมื่อคืนผมนั่งอ่านพระบรมราโชบาย ผมได้คำตอบเกือบทุกอย่าง ซึ่งอยากจะมาถอดสลักให้พวกเราได้รับทราบเผื่อพวกเราจะได้ดึงไปใช้ในชีวิตต่อ ๆ ไป

ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร

“วิถีวชิราวุธ”

พระบรมราโชบายที่ผมขอน้อมนำมามีดังนี้…

“สำหรับโรงเรียนมหาดเล็กหลวงข้าไม่เป็นห่วงการปั้นนักเรียนชั้นมัธยมให้เป็นเทวดาเหมือนกันหมดทุกคน ได้คะแนนกันคนละหลายพันคะแนนเท่าการสร้างเด็กหนุ่มที่ขยันขันแข็งและสะอาดทั้งร่างกายและจิตใจ เตรียมพร้อมที่จะรับภาระต่าง ๆ ซึ่งจะมีมาในอนาคต”

ผมจึงจะขอถอดสลักแต่ละอันจากพระบรมราโชบาย เพราะผมคิดว่าจะช่วยเป็นหลักยึด ให้น้อง ๆ ได้ดำเนินชีวิตต่อไป สิ่งที่ท่านได้ทรงมีพระบรมราโชบายไว้ บางทีเราจะเรียกว่า “วิถีวชิราวุธ” พระบรมราโชบายว่า “ไม่ต้องการสร้างเทวดาเหมือนกันหมดทุกคน” เพราะคนเราแตกต่างกัน มนุษย์เราแตกต่างกัน ความชำนาญก็แตกต่างกัน สิ่งที่วชิราวุธได้สร้างพวกเรามา หล่อหลอมพวกเรามา ถ้าเราดูในปัจจุบันประเทศไทยมีผู้นำในแวดวงต่างๆ มาจากวชิราวุธหลายท่าน ทั้งในอดีต ปัจจุบันและผมเชื่อว่าในอนาคตก็จะเป็นเช่นเดียวกันก็เพราะพระบรมราโชบายที่โรงเรียนหล่อหลอมเรามาโดยไม่รู้ตัว ผู้นำในหลากหลายสาขามีทั้ง เอกอัครราชทูต ท่านผู้บังคับการก็เคยเป็นอดีตเอกอัครราชทูต เรามีอดีตรัฐมนตรี เช่น อุปนายกของกรรมการอำนวยการโรงเรียนเราก็เคยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ เคยเป็นปลัดกระทรวงต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันปลัดกระทรวงการคลังปัจจุบันท่านกฤษฎา ก็เป็นอดีตนักเรียนวชิราวุธ นายกสมาคมศิษย์เก่าวชิราวุธ ก็เป็นอดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เรายังมีผู้นำที่เป็นศิลปินแห่งชาติที่เป็นศาสตร์แผ่นดินหลากหลายสาขา เช่น ท่านอาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต เรามีผู้นำในวงการบันเทิง เช่น หม่อมเจ้าชาตรี เฉลิมยุคลและยังมีอีกมากมายที่ผมกล่าวไม่หมดในที่นี้และผู้นำรุ่นใหม่ในหลากหลายสาขาที่กำลังจะก้าวขึ้นมาก็น่าจะมีจำนวนมากที่เป็นนักเรียนเก่าวชิราวุธ

นี่คือการหล่อหลอมของโรงเรียนวชิราวุธที่ต้องการสร้างผู้นำที่ไม่เหมือนกัน แต่เน้นตามความถนัดของแต่ละคน

เพราะฉะนั้นบางคนเรียนไม่เก่งวันนี้ วันหนึ่งท่านอาจจะเป็นศิลปินแห่งชาติก็ได้ ความชำนาญของแต่ละคนมันแตกต่างกันอยากให้เราคำนึงถึงตรงนี้ไว้ พี่อยากให้พวกเราหาให้เจอสิ่งที่ชอบ เพราะถ้าเราหาเจอว่าเราชอบอะไร เราจะมีความอยากที่จะพัฒนาตัวเอง ไปสู่สิ่งนั้นและอยากจะฝึกฝนจนเกิดความชำนาญ

พระบรมราโชบายที่พี่ยกมาระบุด้วยท่านต้องการ “สร้างเด็กหนุ่มที่ขยันขันแข็งสะอาด ทั้งร่างกายและจิตใจพร้อมที่จะรับภาระต่างๆในอนาคต” พี่อยากจะขอถอดสลักพระบรมราโชบายอัญเชิญมาแบ่งปันกับน้องๆดังนี้

เรื่องแรกเรื่องขยันขันแข็ง เมื่อสักครู่ที่พิธีกรกล่าวถึงประวัติพี่รับรางวัลพระราชทานเรียนดี น้องเชื่อไหมครับว่าพี่เข้าวชิราวุธตอนป. 3 เข้ามาอยู่ห้อง ก. ซึ่งเป็นห้องเก่งที่สุด พอขึ้นเทอม 2 ก็สอบตกไปอยู่ห้อง ข.เพราะป. 3 มีแค่ 2 ห้อง พอขึ้นมาป. 4 มีห้อง ค.ด้วย ก็ตกไปอยู่ห้อง ค. ซึ่งเป็นห้องที่เด็กเรียนแย่ที่สุด พี่จึงเคยเป็นเด็กที่เรียนไม่เก่งมาก่อน เคยเป็นเด็กดื้อมาก่อนแม่ถึงจับเข้ามาอยู่วชิราวุธ แต่โรงเรียนก็หล่อหลอมให้มาเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นคนเรามันเปลี่ยนแปลงได้ขอให้เราขยันขันแข็งไว้ก่อน

พระบรมราโชบายเขียนไว้ชัดที่ “ต้องการสร้างเด็กหนุ่มที่ขยันขันแข็ง” เพราะไม่มีใครที่เกิดมาเก่งทุกคน นักกีฬารักบี้ที่เก่งๆไม่ได้เกิดมาเก่งแต่มาจากการฝึกซ้อม บางคนอาจจะมีพรสวรรค์บ้าง แต่เชื่อว่าไม่เท่ากับพรแสวง เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเรียนหรือเรื่องกีฬา ความขยันเป็นส่วนสำคัญ อยากให้น้องๆนึกถึงคำนี้ไว้นะ

ในโลกยุคใหม่ที่เปลี่ยนแปลงเยอะนี้ เราจะเจอคำแนะนำให้มี Growth mindset หรือมีทัศนคติที่จะพัฒนาตัวเองให้เติบโตยิ่งขึ้นไป แต่การจะพัฒนายังไงก็จำเป็นต้องขยันขันแข็ง

เพราะฉะนั้นจึงอยากให้น้อง ๆ จำไว้ไม่มีอะไรที่สำเร็จมาได้ด้วยความง่าย การที่พี่มีวันนี้มาอยู่ตรงนี้ก็มาจากการขยันทำงานหนักและต้องพร้อมเรียนรู้ตลอดเวลา เพราะสิ่งที่เราเรียนรู้มาอาจจะต้องเปลี่ยนใหม่หมด เราเลยต้องเรียนรู้ตลอดเวลา อย่างไรก็ดีน้องรุ่นนี้โชคดีกว่ารุ่นพี่ รุ่นท่านผู้บังคับการ เนื่องจากน้องมีโอกาสมากมายที่จะหาความรู้ใหม่ ๆ ได้มากมายหลายช่องทางในโลก online ขึ้นอยู่กับตัวน้องว่าจะขยันไปหาความรู้นี้หรือเปล่า

พระบรมราโชบายของล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 นอกจากเรื่อง “สร้างเด็กหนุ่มที่ขยันขันแข็ง” แล้ว ยังมีเรื่อง “สะอาดทั้งร่างกายและจิตใจ” พี่ก็พยายามมานั่งนึกคิดว่าสะอาดร่างกายหมายถึงอะไร และดีใจมากที่ได้ฟังคำกล่าวอำลาโรงเรียนของน้อง ๆ มีบางตอนที่น้องกล่าวขอบคุณโรงเรียนที่ช่วยสร้างบุคลิกภาพให้น้อง ตรงนี้นี่แหละครับตรงกับที่พี่คิดเหมือนกันว่าสะอาดร่างกายคือบุคลิกภาพที่ดี โรงเรียนเราสอนการแต่งตัวรู้จักกาละเทศะ อันนั้นแหละคือบุคลิกภาพ แต่สะอาดทางร่างกายไม่ใช่แค่เรื่องบุคลิกภาพ การที่วชิราวุธเรามีโอกาสเล่นกีฬาไม่รู้กี่ประเภท ทำให้น้อง ๆ ร่างกายแข็งแรง จะบอกว่าร่างกายที่แข็งแรงคือรากฐานที่ดีของชีวิต หลังจากน้องจบออกจากโรงเรียนไปน้องจะเจอโลกที่อิสระเสรี บางคนอาจจะปล่อยตัวเองให้อ้วนฉุเพราะว่าไม่มีสภาพแวดล้อมให้เล่นกีฬาแล้ว พี่ขอให้นึกถึงคำนี้ไว้นะกีฬาเป็นรากฐานที่จะทำให้ร่างกายเราแข็งแรง ยุค covid นี้ต้องมีร่างกายที่แข็งแรงถ้าปล่อยให้อ้วนก็จะเป็นโรคความเสี่ยงจาก covid ถ้าร่างกายไม่แข็งแรงเราก็จะไม่สามารถพัฒนาในส่วนอื่นๆได้ ซึ่งที่จริงคงไม่ต้องแนะนำน้องเรื่องนี้มาก เพราะว่าเด็กวชิราวุธเล่นกีฬาเป็นชีวิตจิตใจอยู่แล้ว

“สะอาดทั้งร่างกายอย่างเดียวคงไม่พอต้องสะอาดทางจิตใจ” ด้วย “สะอาดทางจิตใจ” คืออะไร พี่ถอดสลักยากมากเลยว่าอะไรคือ “สะอาดทางจิตใจ” แต่ถ้าอ่านพระบรมราโชบายในการสร้างโรงเรียนก็มีคำมาอธิบายมาให้ด้วยดังนี้ “ที่ข้าอยากได้คือเยาวชนที่เป็นสุภาพบุรุษ ซื่อสัตย์สุจริต มีอุปนิสัยใจคอดี”

ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร

“สุภาพบุรุษ”

พี่ขออธิบายทีละอัน คำว่า “สุภาพบุรุษ” ที่พวกเราพูดกันเยอะเขียนกันเยอะอยู่ในเสื้อวชิราวุธที่เราใส่กัน “Only Gentleman Can Learn” คำว่า “Gentleman” ภาษาอังกฤษพวกเราเขียนกันเยอะแต่พวกเราเคยมานั่งนึกถึงคำว่า “สุภาพบุรุษวชิราวุธ” จริง ๆ ไหมว่าคืออะไร เชื่อว่าแต่ละคนอาจมีคำตอบที่แตกต่างกัน แต่ในสายตาของพี่คำว่า “สุภาพบุรุษ” ที่โรงเรียนหล่อหลอมมามีดังนี้

หนึ่ง การอ่อนน้อมถ่อมตน หลักสูตร leadership ของการเป็นผู้นำสมัยใหม่คือผู้นำควรจะอ่อนน้อมถ่อมตน ภาษาอังกฤษเค้าใช้คำว่า Humble วชิราวุธหล่อหลอมเรามาแต่เด็กต้องเคารพผู้ใหญ่ สมัยก่อนพี่ ๆ หลายคนซึ่งอาจจะเป็นผู้ปกครองของน้อง ๆ ในนี้ถ้าพี่เดินผ่านตอนอยู่โรงเรียนพี่ก็ต้องก้มหลังอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ จริง ๆ แล้วความอ่อนน้อมเป็นสิ่งที่ติดตัวมา ในวันนี้ด้วย ผู้ใหญ่ไม่ว่าจะตำแหน่งอะไรเราก็ควรจะอ่อนน้อมต่อเขาเพราะเราเคยถูกอบรมมาจากวชิราวุธว่าเราต้องเคารพรุ่นพี่ผู้อาวุโส และการที่ผู้ใหญ่เอ็นดูเรากลับมานั่นคือสิ่งที่ผลพลอยได้ที่น้องจะได้กลับมา

แต่จริงๆ เรื่องการอ่อนน้อมถ่อมตนนั้นนี่ไม่ใช่แค่เรื่องพฤติกรรมการเคารพรุ่นพี่ แต่การอ่อนน้อมถ่อมตนคือการที่เราไม่อวดเก่ง

ในโลกใบนี้ที่น้องรุ่น 94 กำลังจะก้าวเดินออกไปในโลกจะพบว่ามีคนเก่งกว่าเราเยอะนะครับ เราอาจจะคิดว่าเราเป็นนักรักบี้ที่เก่งที่สุดในโรงเรียนเพราะข้างนอกไม่มีคนเล่นเยอะ นักฟุตบอลจะรู้เวลาเราไปเล่นฟุตบอลมหาวิทยาลัยมันมีเทพกว่าเราเยอะ การอ่อนน้อมถ่อมตนไม่ใช่แค่เรื่องกีฬาเท่านั้น เรื่องการเรียนก็เช่นเดียวกัน อย่าคิดว่าเราเก่งทุกเรื่อง เพราะฉะนั้นให้ทำตัวเป็นน้ำครึ่งแก้วไว้ บัดนี้เทคโนโลยีมันเปลี่ยนไปเยอะพี่ไม่ได้จบเทคโนโลยีมา พี่จบเศรษฐศาสตร์มา พี่ก็ต้องศึกษาเรียนรู้ทำตัวเป็นน้ำครึ่งแก้วเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ นี่คือสิ่งที่อยากจะฝากพวกเราและอยู่ในคำที่ 1 ของสุภาพบุรุษวชิราวุธ

สองการให้เกียรติผู้อื่น การไม่ดูถูกคน เป็นคุณสมบัติสำคัญของสุภาพบุรุษ ถ้าน้องอ่านบทเรียนของคุณสมบัติผู้นำยุคใหม่เขาจะเน้นคำว่ามี Empathy ด้วย คือเข้าอกเข้าใจผู้อื่น การจะเข้าใจผู้อื่นได้ต้องรู้จักฟัง วชิราวุธสอนให้เรารู้จักฟัง ผู้ปกครองกับน้อง ๆ OV 94 หรือพี่รุ่น 61 กับน้องๆ รุ่น 94 เราอยู่ในโลกที่แตกต่างกันมาก ที่ผ่านมาความคิดเราแตกต่างกัน แต่ถ้าเราฟังซึ่งกันและกัน พ่อแม่ก็ฟังเรา เราก็ฟังพ่อแม่ เราจะเจอมุมที่เป็นประโยชน์กับเรา

การฟังจะเป็นทักษะที่สำคัญมากในโลกอนาคต ไม่อวดเก่งไม่พอแต่ต้องฟังและพยายามเข้าใจเค้า หลักสูตรในการออกแบบนวัตกรรมที่เรียกว่า Design Thinking ที่ทั้งโลกใช้อยู่ปัจจุบันในการสร้างนวัตกรรมนี้แม้แต่ที่กรมสรรพากรก็ใช้ บทเรียนแรกของการออกแบบนวัตกรรมคือการเข้าอกเข้าใจลูกค้า(Empathize) หรือเอาใจเขามาใส่ใจเรา

อันที่ 3 คือการมีน้ำกีฬาใจนักกีฬา อันนี้พวกเรารู้อยู่แล้วผ่านการเล่นกีฬาอะไรก็แล้วแต่ สอนให้มีน้ำใจนักกีฬา โดยเฉพาะรักบี้ รักบี้เป็นกีฬาที่หนักในเกมแต่ว่าไม่ค่อยตีกัน กีฬารักบี้ที่เป็นต้นแบบของ Public school ที่อังกฤษที่นำมาใช้สร้างสุภาพบุรุษซึ่งทำมาเป็น 200 กว่าปี เช่นเดียวกับวชิราวุธที่นำกีฬารักบี้มาเป็นกีฬาประจำโรงเรียน

กีฬารักบี้ถือว่าเป็นกีฬาของนักเลงที่เล่นโดยสุภาพบุรุษ เพราะมันหนักในเกมมีกติกาชัดเจนห้ามจ่ายลูกไปข้างหน้า ต้องจ่ายลูกข้างหลัง เราสามารถทำร้ายเพื่อนได้ง่ายหากเล่นนอกเกมแต่เราไม่ทำ เรามีกติกาชัด เช่น ห้าม tackle สูง และใครที่ใช้ความรุนแรงนอกกติกา พวกเราจะดูถูกเหยียดหยาม เล่นรักบี้เสร็จจบเกมจะมีเข้าแถวยินดีกับผู้ชนะ ส่วนผู้ชนะก็ไม่ด่าเยาะเย้ยผู้แพ้ มีกีฬาที่ไหนที่ผลการแข่งขันเป็นยังไงออกมาก็เป็นเพื่อนกัน

นี่คือน้ำใจนักกีฬาที่พี่คิดว่าอยากให้พวกเราถอดบทเรียนนี้ไว้ ทุกกีฬาเป็นเหมือนกัน แต่รักบี้มีความพิเศษตรงนี้

“พวกเราเมื่อออกไปใช้ชีวิตข้างนอกเราจะเจอคนเล่นนอกเกมเยอะนะครับ จากประสบการณ์ของพี่ คนอื่นเขาไม่คิดเหมือนเรา เขาชอบเล่นนอกเกม ผมเชื่อว่าพี่ ๆ หลายท่าน เพื่อน ๆ ที่นั่งแถวหน้า ประสบการณ์ชีวิตเราจะเจอคนที่เล่นนอกเกมกับเราเยอะ อยากให้คำแนะนำว่า เรานักเรียนวชิราวุธต้องอย่าเล่นนอกเกมเหมือนเขา สุภาพบุรุษต้องเล่นอยู่ในเกมและพี่เชื่อครับว่าสิ่งที่ล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 ใช้รักบี้มาเพื่อสิ่งนี้ คือคำสอนให้พวกเราเป็นสุภาพบุรุษ”

4.เรื่องต่อไปของสุภาพบุรุษคือ ความรับผิดชอบ กีฬารักบี้เป็นกีฬาประจำโรงเรียนจะสอนหน้าที่ของแต่ละคนที่ต้องรับผิดชอบ ฮุกเกอร์ทำอะไร เบอร์ 8ทำอะไร แถว 2 ทำอะไร ฟลายฮาฟทำอะไร เรามีหน้าที่ความรับผิดชอบแตกต่างกัน ทุกคนทำหน้าที่ตัวเองให้ดีที่สุด และเราเคยชื่นชมคนวางทรัยว่าเก่งกว่าคนอื่นไหมครับ คำตอบคือไม่เลยเพราะเราเล่นเป็นทีมเวิร์ค การเป็นทีมเวิร์คคือเรารับผิดชอบในหน้าที่ของเราเพื่อให้ทีมชนะ เพราะฉะนั้นพวกเราต้องมีความรับผิดชอบ ในชีวิตจริงไม่ว่าจะไปเรียนหนังสือหรือไปทำงาน เราต้องรับผิดชอบในหน้าที่ ผู้ปกครองหลายคนก็เป็นเพื่อนพี่ที่เรียนอยู่ที่ธรรมศาสตร์เคยเจอกันเล่นรักบี้ด้วยกัน แม้เราต้องซ้อมกีฬาหนักแต่พี่ก็พยายามเข้าเรียนด้วย เล่นกีฬาแต่ไม่ให้การเรียนเสียเพราะพี่ถือว่าเป็นความรับผิดชอบ เพราะงั้นพวกเราจะเล่นกีฬาหรือจะเล่นเกมคอมพิวเตอร์เราต้องรับผิดชอบกับตัวเรา อันนี้จำเป็นนะครับ กีฬารักบี้สอนเรามาในกีฬารักบี้

แต่เกมชีวิตจริงมันยากกว่านะ เพราะมันต้องเล่นทั้งชีวิต รับผิดชอบทั้งรับผิดและรับชอบ ผิดก็ต้องกล้ารับผิดเป็นเรื่องธรรมดา

5.เรื่องสุดท้ายของความหมายของคำว่าสุภาพบุรุษวชิราวุธ คือ การไม่ยอมแพ้ ล้มเร็วและลุกเร็ว ล้มแล้วลุกเร็วกีฬารักบี้เนี่ยเวลาล้มแล้วต้องรีบลุก โลกปัจจุบันเค้ามีคำนี้เลย learn fast, fail fast เรียนให้เร็วล้มให้เร็วและลุกให้เร็วเหมือนกีฬารักบี้

เพราะฉะนั้นโดยสรุป “สุภาพบุรุษวชิราวุธ” คือการอ่อนน้อมถ่อมตน (Humble) ไม่ดูถูกคนอื่นให้เกียรติผู้อื่น (Empathy) น้ำใจนักกีฬา (sportman) รับผิดรับชอบ(Accountable) และสุดท้ายคือไม่ยอมแพ้ (แต่เราต้องเล่นในเกมนะครับ) แพ้วันนี้ก็ขยันฝึกให้หนักขึ้น เรียนให้มันหนักขึ้น ถ้าวันนี้เข้ามหาวิทยาลัยหรือคณะที่เราอยากเข้าไม่ได้ ถ้าเราอยากเรียนจริงก็ลุกขึ้นมาทำสิ อันนี้เป็นสิ่งสำคัญที่อยากจะฝากความหมายที่พี่มองสุภาพบุรุษวชิราวุธ

วชิราวุธได้ถ่ายทอดกลยุทธ การปรับตัว “ล้มเร็วลุกเร็ว” ให้พวกเรามามาก พี่เชื่อว่าทุกคนผ่านการปรับตัวจากเด็กเล็กมาอยู่คณะเด็กโต เคยอยู่ในอ้อมกอดของครูผู้กำกับคณะ ดูแลอย่างอบอุ่น พอพวกเราย้ายจากคณะเด็กเล็กข้ามมาอยู่คณะเด็กโตเราก็ต้องปรับตัวเป็นเด็กเล็กรับใช้รุ่นพี่ ซักผ้าให้รุ่นพี่ เราต้องปรับตัว พอโตขึ้นมาเป็นเด็กโตบางคนได้เป็นหัวหน้าคณะเรามีอำนาจอยู่ในมือที่จะดูแลคณะ และทำโทษรุ่นน้องที่ทำผิด แต่เราจะใช้อำนาจใช้น้องยังไงให้มันถูกที่ถูกทาง

ตอนที่พี่เป็นหัวหน้าคณะเราจะทำโทษรุ่นน้องที่ทำผิดบนหลักการเพื่อสร้างน้อง เช่น ถามน้องว่าวันนี้ใครพูดบนหอประชุมบ้าง การทำโทษก็ออกมา วิดพื้นบ้างออกกำลังกายบ้าง มันเป็นการหล่อหลอมน้องๆให้เขามีความรับผิดชอบ ผิดกล้ายอมรับและเชื่อไหมครับมีหลายโอกาสที่พวกเขายอมโดนทำโทษทั้งรุ่น สมัยพี่ก็โดนรุ่นพี่ทำโทษ (ที่เรียกว่าซิว)กันทั้งคณะเพื่อเป็นการรับผิดชอบร่วมกัน นี่คือสิ่งที่วชิราวุธสอนมา

แต่อยากจะบอกจริง ๆ ว่าโลกปัจจุบันมันต้องปรับตัวเร็วกว่าชีวิตในโรงเรียน ออกไปข้างนอกเราจะเจอโลกที่มันเปลี่ยนแปลงบทบาทที่เราสวมใส่เร็วมาก วันนึงเป็นหัวหน้า เช่น เป็นหัวหน้าควบคุม Project วันหนึ่งเป็นลูกน้องใน Project เราจะต้องปรับตัวเร็วมาก ดังนั้นขอให้นึกถึงวันที่เราข้ามจากคณะเด็กเล็กมาคณะเด็กโต ให้นึกถึงวันที่เราเป็นหัวหน้าคณะหรือเป็นรุ่นพี่ แล้วเราเอาบทเรียนนั้นไปใช้ตอนออกไปในชีวิตจริง

“ซื่อสัตย์-สุจริต”

พระบรมราโชบายของรัชกาลที่ 6 ยังกล่าวถึงเยาวชนที่ “ซื่อสัตย์สุจริต” พี่อยากขอใช้เวลาตรงนี้นิดนึง เพื่ออธิบายว่าทำไมซื่อสัตย์สุจริตต้องมาคู่กัน ทำไมไม่เอาแค่ซื่อสัตย์ ความหมายของคนที่ซื่อสัตย์สุจริตไม่ใช่แค่คนไม่โกงนะ คนไม่โกงเป็นพื้นฐานอย่างหนึ่ง ความ “ซื่อสัตย์” มันต้องตามมาด้วย “สุจริต” เพราะมันต้องมีความจริงใจด้วย ซื่อสัตย์กับตัวเองต้องจริงใจกับตัวเอง ซื่อสัตย์กับเพื่อนต้องจริงใจกับเพื่อน ไม่แทงหลังเพื่อน ซึ่งอันนี้เป็นสิ่งที่วชิราวุธและล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 ท่านอยากเห็นเยาวชนที่เป็นสุภาพบุรุษที่ซื่อสัตย์สุจริต

นอกจากความซื่อสัตย์สุจริตแล้ว ต้องมีความกล้ายืนหยัดที่จะไม่ทำสิ่งที่ผิด อันนี้มันไม่ใช่แค่ซื่อสัตย์เรื่องเงินเรื่องทอง แต่หมายถึงกล้ายืนหยัดที่จะไม่ทำในสิ่งที่ผิด แต่แน่นอนไม่มีใครไม่ผิด พี่ก็เคยผิดพลาด น้องก็เคยผิดพลาด พี่ผิดพลาดเยอะกว่าเยอะเพราะว่าแก่กว่าเยอะแต่ความผิดพลาดมันคือครูสอนเรา ทำผิดแล้วก็เรียนรู้กับมัน แล้วก็อย่าทำอีก ถ้าทำอีกก็จะเจอปัญหาแบบเดิมเพราะงั้นอยากให้พวกเรานึกถึงคำนี้ไว้ด้วยว่าซื่อสัตย์สุจริตมันไม่ใช่แค่เรื่องโกงเงินโกงทอง แต่มันถึงความจริงใจสุจริตด้วย

“อุปนิสัยใจคอดี”

พระบรมราโชบายที่ท่านเขียนไว้อันสุดท้ายคือ “ข้าอยากได้คือเยาวชนที่เป็นสุภาพบุรุษซื่อสัตย์สุจริตมีอุปนิสัยใจคอดี” มีอุปนิสัยใจคอดีคืออะไร มนุษย์สัมพันธ์ มนุษย์สัมพันธ์ที่ดีต้องมีจิตใจดีและคิดดี อันนี้เป็นสิ่งสำคัญมาก คนคิดดีเป็นสิ่งสำคัญมาก สะอาดกายสะอาดใจยังไม่พอ เราต้องคิดดีด้วย เราเด็กวชิราวุธทุกคนที่พี่สังเกตอย่างน้อยเพื่อนพี่รุ่นเดียวกันเราจะมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีกับทุกคนไม่ดูถูกคน เราสามารถคุยกับภารโรงได้ เราสามารถพาภารโรงไปกินข้าวได้เพราะมนุษย์แตกต่างกัน เราให้เกียรติ เวลานั่งรถไฟฟ้าเดี๋ยวนี้จะมีใครลุกให้ผู้หญิงนั่ง พี่เชื่อว่าถ้าพี่เห็นผู้ชายลุกให้ผู้หญิงนั่งหรือลุกให้ผู้สูงอายุนั่ง ในใจพี่จะคิดเลยว่านี่เป็นเด็กวชิราวุธ นี่คือที่ปลูกฝังพวกเรามาจริงๆนะ สมัยเด็ก ๆ ตอนไปเรียนหนังสือมหาวิทยาลัยนั่งรถเมล์กับเพื่อน พวกเราเด็กวชิราวุธนี้จะแย่งกันลุกให้ผู้หญิงนั่ง อันนี้คือสิ่งที่ปลูกฝังเรามาจริง ๆ เดี๋ยวนี้มีรถไฟฟ้าคงเป็นรถไฟฟ้าแทนรถเมล์แล้ว

การมีอุปนิสัยใจคอดีอีกอย่างที่เป็นสิ่งสำคัญที่ควรนึกถึงคือการเสียสละเพื่อส่วนรวม เราต้องกล้าเสียสละเพื่อส่วนรวม ทำงานให้ประเทศชาติ มีคนถามพี่ว่าทำไมถึงทำงานเยอะ ทำไมถึงกลับบ้านค่ำ พี่ตอบไปว่าพี่ไม่ได้ทำให้ตัวเอง พี่ทำให้ประเทศชาติ อันนี้เป็นสิ่งที่พี่คิดมาเสมอ เพราะฉะนั้นการเสียสละเพื่อส่วนรวมคือสิ่งที่หล่อหลอมเรามาจากวชิราวุธจริง ๆ อีกอันนึงที่สำคัญที่เป็นรากฐานของคนอุปนิสัยดีซึ่งเดี๋ยวนี้อาจจะน้อยลงไปเรื่อยๆ คือ ความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ อันนี้พี่ก็อยากให้น้อง ๆ นึกถึงไว้เสมอ

“ดี” ต้อง 3 ดี

สุดท้ายนี้พี่ขอสรุปนาทีสุดท้ายให้พวกเรา โดยพี่อยากจะฝากเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยให้เราจำง่ายๆ พี่จะให้วิตามินดีกับน้องๆ ov รุ่น 94 เพื่อต้านภัยโควิดในปัจจุบันและอนาคต วิตามินดี 3 ชนิด ที่จะไว้ใช้ป้องกัน covid และโลกในอนาคตประกอบด้วย

  • ดี 1 คือกายดีสุขภาพแข็งแรง ร่างกายเราต้องดี
  • ดี 2 จิตใจต้องดี ในความหมายของสุภาพบุรุษวชิราวุธที่ต้องอ่อนน้อมถ่อมตน ให้เกียรติผู้อื่นน้ำใจนักกีฬา รับผิดชอบ ไม่ยอมแพ้ ล้มแล้วลุกขึ้นมาเร็วซื่อสัตย์สุจริต มนุษยสัมพันธ์ดี
  • ดี 3 คิดดีคือ Mindset ทัศนคติคิดในแง่บวก ไม่มีอะไรหรอกที่เราจะไม่พลาด รับรองพลาดแน่ๆ ไม่มีอะไรสำเร็จ 100% ไม่มีใครเกิดมาเก่ง คิดดีคือคิดในแง่บวก คิดเพื่อส่วนรวมเสียสละ จริง ๆ แล้วเรื่องคิดดี อาจจะไม่ต้องมากล่าวในปัจฉิมนิเทศนี้ก็ได้ มันอยู่ในจิตใจของพวกเราอยู่แล้ว แต่พี่แค่อยากสกัดออกมาให้พวกเราใช้เป็นเกร็ดเล็กๆในชีวิต

ในการที่จะก้าวเดินออกจากโรงเรียนไปแล้วต้องเจอโลกที่ผันผวนอีกมากมาย สิ่งที่ขอแนะนำให้น้อง ๆ คอยคิดดีผ่านเพลงท่อนฮุกอันนึงในเพลงประจำโรงเรียนคอยมากำกับใจให้คิดดีดังนี้ “สำนักนี้จึงมีคติธรรม กตัญญูประจำฝังจิตให้ รู้รักชาติศาสน์กษัตริย์เป็นฉัตรชัย อีกรู้เสียสละได้ด้วยใจงาม” ก็ขอให้น้อง ๆ ประสบความสำเร็จด้วยวิตามินดี 3 ชนิด กายดี จิตใจดีและคิดดี