ThaiPublica > เกาะกระแส > ชุบชีวิต ‘ชุมชนเลื่อนฤทธิ์’ เบื้องหลังการสานต่อประวัติศาสตร์เก่าให้มีชีวิตในเมืองใหม่

ชุบชีวิต ‘ชุมชนเลื่อนฤทธิ์’ เบื้องหลังการสานต่อประวัติศาสตร์เก่าให้มีชีวิตในเมืองใหม่

17 พฤศจิกายน 2021


ชุมชนเลื่อนฤทธิ์ ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/Luenrit

ซากวัตถุโบราณนับร้อยนับพันชิ้นถูกค้นพบในชุมชน “เลื่อนฤทธิ์” สะท้อนถึงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นเศษจานชาม แก้ว ขวด กระเบื้อง หลังคา ประตู เกือกม้า ไพ่นกกระจอก ไปจนถึงซากหมู

สิ่งเหล่านี้คือมรดกทางประวัติศาสตร์ในสมัยรัชกาลที่ 4-5 ที่ตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน

เวิ้งเลื่อนฤทธิ์จัดเป็นชุมชนเก่าแก่แห่งหนึ่งในประเทศไทย มีอายุมากกว่าร้อยปี ปัจจุบันตั้งอยู่บริเวณสี่แยกวัดตึก ย่านเยาวราช เขตสัมพันธวงศ์ มีเนื้อที่ประมาณ 7 ไร่ โดยชุมชนประกอบด้วยคนไทยเชื้อสายจีนและคนไทยเชื้อสายอินเดีย ปัจจุบันพื้นที่นี้อยู่ภายใต้ความดูแลของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์

ส่วนชื่อเลื่อนฤทธิ์มาจากชื่อเจ้าของที่ดินคือ “คุณหญิงเลื่อน” ซึ่งเป็นภรรยาของ “หลวงฤทธิ์ นายเวร” คนสมัยก่อนจึงเรียกโดยเอาคำว่า “เลื่อน” และ “ฤทธิ์” มารวมกัน

ในสมัยนั้นคุณหญิงเลื่อนได้ขายที่ดินให้กับพระคลังข้างที่จำนวน 231 คูหา และปรับปรุงให้เป็นตึกแถวพาณิชย์ แล้วเสร็จในช่วงปลายยุคสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.5) และจุดนี้เองที่ทำให้เป็นประเด็นสืบเนื่องจนถึงปัจจุบัน

ชุมชนใกล้เคียง มองจากตึกชุมชนเลื่อนฤทธิ์

หลังจากชุมชนได้รับการปรับปรุงให้เป็นตึกแถว มีการปล่อยห้องเช่า ตั้งโรงน้ำชา และกลายเป็นย่านพักอาศัยของคนจีนและอีกหลากหลายกลุ่มที่มีประกอบธุรกิจค้าผ้า ทำให้เลื่อนฤทธิ์เติบโตและกลายเป็นย่านนอาคารพาณิชย์ยุคแรกๆ ของประเทศไทย ทำให้ชุมชนเลื่อนฤทธิ์ถือเป็นย่านเก่าแห่งหนึ่งในเมืองใหญ่ และเป็นแหล่งเศรษฐกิจสำคัญในย่านเยาวราช

จุดเปลี่ยนคือปี พ.ศ. 2544 เมื่อชาวบ้านได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาเช่าจากสำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จึงได้รวมตัวกันมากกว่า 160 หลังคาเรือน เจรจากับสำนักงานทรัพย์สินฯ และต่อมาได้จัดตั้ง “บริษัท ชุมชนเลื่อนฤทธิ์ จำกัด” และรวมตัวขอทำสัญญาเช่าเพื่อทำการบูรณะปรับปรุงอาคารและพื้นที่ ต่อมา เมื่อได้รับการพิจารณาอนุมัติให้ทำสัญญาเช่ากับสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ในปี 2555 นับแต่นั้นชุมชนเลื่อนฤทธิ์กลายเป็นต้นแบบของชุมชนที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาเมือง เนื่องจากชาวบ้านร่วมแรงร่วมใจกัน และเดินไปในทิศทางเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม ความท้าทายของเลื่อนฤทธิ์คือ “พื้นที่ทางประวัติศาสตร์” เพราะพื้นที่เดิมตั้งอยู่มานานกว่าร้อยปี ในขณะเดียวกัน การรื้ออาคารพาณิชย์โบราณจะทำให้ชุมชนสูญเสียอัตลักษณ์ดั้งเดิม นี่เป็นโจทย์ใหญ่ของชุมชนเลื่อนฤทธิ์ว่าจะพัฒนาเมืองอย่างไรให้การพัฒนาและการอนุรักษ์เดินไปพร้อมกัน

บริษัท ชุมชนเลื่อนฤทธิ์ จำกัด จึงเริ่มต้นการขุดค้นโบราณคดีในพื้นที่ชุมชน ดำเนินการภายใต้โครงการโบราณคดีชุมชนเมืองเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่ชุมชนเลื่อนฤทธิ์ จุดประสงค์เพื่อตรวจสอบและรวบรวมหลักฐานทางโบราณคดีก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการอนุรักษ์อาคารต่อไป โดยการดำเนินงานในครั้งนี้มีการวางผังหลุมขุดค้นกระจายไปทั่วพื้นที่ของชุมชนจำนวนมากกว่า 10 หลุม และเริ่มทำการขุดค้นหลังจากผู้พักอาศัยภายในชุมชนย้ายออกจากพื้นที่แล้วในช่วงต้นปี พ.ศ. 2557

หลงเหลือโบราณวัตถุกว่า 3,000 ชิ้น

ก่อนเริ่มการบูรณะปรับปรุงอาคาร โครงการได้สำรวจงานโบราณคดีในพื้นที่ โดยได้รับความร่วมมือจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง โดยเริ่มจากนำแผนที่เก่ามาซ้อนทับกัน ประกอบกับการศึกษาหลักฐานเอกสารประวัติศาสตร์ ทำให้นักโบราณคดีสันนิษฐานตำแหน่งและการใช้งานพื้นที่ในอดีต รวมถึงบันทึกองค์ประกอบของอาคาร สำรวจสภาพความสมบูรณ์ขององค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม

สัญญาเช่าที่บริษัททำไว้กับสำนักงานทรัพย์สินฯ เป็นระยะเวลาต่อเนื่องมากกว่า 30 ปี ดังนั้น ชาวบ้านและชุมชนจึงตัดสินใจใช้ช่วงเวลา 8 ปีแรก สำหรับการบูรณะปรับปรุงอาคารภายใต้การกำกับดูแลของกรมศิลปากร

นอกเหนือจากการสำรวจองค์ประกอบของอาคารก่อนการบูรณะปรับปรุง ชุมชนเลื่อนฤทธิ์ได้ทำการสำรวจแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศในยุคสมัย พ.ศ. 2470 ซึ่งเห็นการจัดวางตึกแถวเป็นกลุ่ม และมีช่องโพรงและทางสำหรับดับเพลิงอยู่ในทางเดินหลังบ้าน และเมื่อเปรียบเทียบกับภาพถ่ายทางอากาศในยุคปัจจุบัน แสดงให้เห็นว่ากลุ่มอาคารยังคงมีเอกลักษณ์ดังเช่นในอดีต ทางเลือกในการบูรณะปรับปรุงกลุ่มอาคารเลื่อนฤทธิ์จึงได้ให้ความสำคัญกับการคืนพื้นที่ส่วนที่เป็นช่องโพรงและทางเดินด้านหลังอาคารให้กลับมาเช่นรูปแบบดั้งเดิม

ผลจากการขุดค้นหลักฐานทางโบราณคดีที่อยู่ใต้ดินลึกลงไป 50 เซนติเมตร พบหลักฐานเป็นโบราณวัตถุมากกว่า 3,000 ชิ้น การคัดแยกโบราณวัตถุที่พบ จัดเป็นหมวดหมู่ ได้แก่ ภาชนะดินเผาเนื้อดิน จำพวกหม้อตาลและหม้อทะนนแบบเต็มใบ ภาชนะดินเผาเนื้อแกร่ง พบในลักษณะกระปุกและคนโท เครื่องถ้วยจีน เนื้อกระเบื้อง เช่น ชาม ในช่วงปลายสมัยราชวงศ์ชิงและสมัยสาธารณรัฐ หรือประมาณพุทธศตวรรษที่ 24 ขวดบรรจุเครื่องดื่ม สำหรับบรรจุเหล้า ไวน์ รวมไปถึงเครื่องดื่มตรา Bols Genever จากประเทศเนเธอแลนด์ และปี้ดินเผา ซึ่งมีลักษณะคล้ายเหรียญขนาดเล็กมีทั้งรูปทรงกลมและทรงเหลี่ยม ด้านหน้าและหลังจะมีตัวอักษรหรือรูปต่างๆ ปรากฏอยู่ที่ผิววัสดุ ใช้แทนเงินในบ่อนพนันหรือเปรียบเทียบเหมือนกับชิปในปัจจุบัน รวมไปถึงซากวัตถุโบราณอย่าง “เปลือกหอยแครง” ก็ต้องได้รับการเก็บรักษาอย่างดี

โครงสร้างสถาปัตยกรรม อัตลักษณ์ดั้งเดิม

นอกจากเศษซากวัสดุชิ้นเล็กชิ้นน้อยที่นักโบราณคดีพบในชั้นดินแล้ว วัตถุโบราณจำพวกกระเบื้องหรือประตูก็เป็นชิ้นส่วนทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญแก่การศึกษา เนื่องจากโครงสร้างเดิมของชุมชนเลื่อนฤทธิ์มีลักษณะการก่อสร้างเฉพาะ แม้จะอยู่ในสภาพตึกแถวสองชั้น แต่ด้วยลักษณะวัสดุก่อสร้างต่างๆ เช่น หลังคามุงกระเบื้องว่าว ประตูบานเฟี้ยมไม้บาน ลวดลายเหนือช่องประตูหน้าต่างไม้ 2 ช่อง มีช่องลมและกันสาด ทำให้ปัจจุบันโครงการหาวัสดุทดแทนการก่อสร้างได้ยาก

ตั้งแต่กระเบื้องว่าวที่มีลักษณะเป็นแผ่นเดียว ซึ่งแตกต่างจากกระเบื้องที่ใช้ในการก่อสร้างยุคปัจจุบัน และเมื่อชุมชนรู้ว่าโครงสร้างเดิมเป็นกระเบื้องว่าวจึงต้องหากระเบื้องว่าวมาทดแทนการสร้างแบบเดิมให้ไม่สูญเสียอัตลักษณ์ อย่างไรก็ตาม กระเบื้องว่าวทำให้ต้นทุนในการก่อสร้างสูงขึ้นมาก ท้ายที่สุดโครงการจำเป็นต้องเลือกกระเบื้องที่มีลักษณะเทียบเคียงกับกระเบื้องว่าว แต่ยังคงอัตลักษณ์โครงสร้างสถาปัตยกรรมแบบเดิม

หลังคามุงกระเบื้องว่าว
ลวดลายเหนือช่องประตูหน้าต่างไม้ 2 ช่อง
ประตูบานเฟี้ยมไม้บาน

ทุกขั้นตอนการก่อสร้างตั้งแต่การรื้อไปจนถึงอนุมัติแบบแปลนใหม่จะยึดตามหลัก “การฟื้นฟู” เนื่องจากสถาปัตยกรรมมากกว่า 80% มีสภาพความสมบูรณ์ ชุมชนจึงตัดสินใจไม่ทำลายโครงสร้างเดิมทั้งหมด แต่จะเน้นการฟื้นฟูโครงสร้างเดิม ตัวอย่างเช่น กำแพงโบราณเดิมซึ่งทำมาจากไม้โบราณ สามารถรับน้ำหนักได้มาก ทางโครงการจึงต้องบูรณะด้วยการตัดแนวกำแพงด้านล่างเพื่อป้องกันความชื้นที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ จากนั้นอุด “ปูนหมัก” ที่มีลักษณะกันความชื้นไม่ให้ความชื้นลามไปถึงส่วนด้านบนของกำแพงที่เป็นแบบโบราณ ด้วยวิธีการนี้จะทำให้กำแพงโบราณเดิมสามารถยืดอายุการใช้งานต่อไปได้ อีกทั้งยังอนุรักษ์กำแพงเดิมให้คงอยู่ต่อไปด้วย

ส่วนประเด็น “ไม้สัก” จากการรื้ออาคาร ซึ่งไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้ เนื่องจากผุพังไปตามกาลเวลา และมีตะปูเจาะไม้อยู่ก่อนแล้ว ทางโครงการจึงนำไม้ไปเก็บไว้ที่โกดังแห่งหนึ่งในทางมอเตอร์เวย์

ในขั้นตอนการขุดค้นยังพบท่อนซุงขนาดใหญ่ แต่โครงการไม่สามารถรักษาสภาพของท่อนซุงเดิมได้จึงตัดสินใจฝังไว้ที่เดิม ตามแนวทางของกรมศิลป์

ฝังแคปซูลประวัติศาสตร์

ชุมชนเลื่อนฤทธิ์ ได้ทำเรื่องขอยืมโบราณวัตถุที่ขุดค้นพบจากพื้นที่บริเวณชุมชนเลื่อนฤทธิ์ต่อกรมศิลปากร เพื่อนำมาจัดแสดงและเผยแพร่ความรู้ด้านประวัติศาสตร์ความเป็นมาของชุมชน นอกจากหลักฐานประเภทโบราณวัตถุแล้วยังพบโครงสร้างของพื้นที่ชุมชนเลื่อนฤทธิ์ในอดีต ตัวอย่างเช่น พื้นถนนเก่าก่อด้วยอิฐซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นถนนที่ใช้งานตั้งแต่สมัยคุณหญิงเลื่อนยังเป็นเจ้าของพื้นที่ในช่วง พ.ศ. 2443-2453 นอกจากนี้กรมศิลป์ฯ ยังมีแนวทางให้นำวัตถุโบราณอื่นๆ เข้าสู่กระบวนการฝังลงแคปซูลเพื่อนำมาใช้ศึกษาในอนาคต

สำหรับโบราณวัตถุจำพวกเศษกระเบื้อง ดินเผา และอื่นๆ ที่ไม่ได้อยู่ในทะเบียนการจัดยืม ทางบริษัทได้กลบฝังตามคำสั่งของกรมศิลปากรเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 โดยจุดที่ทำการกลบฝังโบราณวัตถุอยู่ห่างจากพื้นที่ตัวตึกของชุมชนเลื่อนฤทธิ์ประมาณ 4 เมตร โดยทางบริษัทฯ ได้ฝังโบราณวัตถุที่พบจากการดำเนินงานทางโบราณคดีในพื้นที่ไว้ในหีบโลหะจำนวน 4 หีบ เสริมด้วยพลาสติกกันกระแทก ก่อนจะกลบทรายละเอียดในชั้นสุดท้าย

ฝาท่อระบายน้ำในโครงการชุมชนเลื่อนฤทธิ์

อนาคตเลื่อนฤทธิ์ ขายประวัติศาสตร์อย่างไรให้ยั่งยืน

กว่าจะมีวันนี้ ชุมชนเลื่อนฤทธิ์ฝ่าฟันอุปสรรคทั้งการฟ้องร้องในประเด็นต่างๆ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าชุมชนสามารถผ่านปัญหาทั้งภายในและภายนอกมาได้เพราะความร่วมมือของชุมชนที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทำให้มีส่วนร่วมในการพัฒนาเมือง ถึงแม้ว่ากรรมการบริษัท ชุมชนเลื่อนฤทธิ์ จำกัด จะมีส่วนสำคัญในการผลักดันให้ชุมชนมีทุกวันนี้ แต่ผู้อยู่เบื้องหลังที่แท้จริงคือชาวบ้านเดิมและผู้ถือหุ้นที่ให้การสนับสนุนแนวคิดการพัฒนาเมืองควบคู่ไปกับการอนุรักษ์

อีกประเด็นสำคัญ คือ โครงสร้างผู้ถือหุ้นของบริษัทที่ไม่ผูกขาด กล่าวคือผู้ถือหุ้นมากที่สุดมีสัดส่วนไม่เกิน 1% ของจำนวนหุ้น ดังนั้น การดำเนินกิจกรรมของชุมชนเลื่อนฤทธิ์จะเป็นไปตามมติที่ประชุมเป็นหลัก ไม่มีใครสามารถชี้ขาดหรือตัดสินใจได้เพียงคนเดียว

ทางเลือกหนึ่งที่ชุมชนเลื่อนฤทธิ์วางแผนไว้คือ ‘“อีเวนต์” แต่ก็มาพร้อมกับค่าใช้จ่ายที่นักลงทุนรวมไปถึงผู้ถือหุ้นเดิมต้องพิจารณาความคุ้มค่าและค่าตอบแทนที่เหมาะสม

เมื่อย่านการค้าโบราณกำลังมีแผนปรับตัวไปสู่แหล่งท่องเที่ยวสมัยใหม่ จึงต้องเก็บเสน่ห์ของพื้นที่ทางประวัติศาสตร์เพื่อสร้างจุดขาย แต่ลำพังการขายประวัติศาสตร์อาจไม่สามารถสร้างรายได้อย่างยั่งยืน ดังนั้น ความท้าทายของเลื่อนฤทธิ์คือการพัฒนาเลื่อนฤทธิ์ให้มีจุดยืนที่ไม่ฉาบฉวยให้นักท่องเที่ยวไม่มาเยือนแบบเช็คอินแล้วจบ