ThaiPublica > Native Ad > ทำไมราคาน้ำมันไทยแพงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน

ทำไมราคาน้ำมันไทยแพงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน

21 ตุลาคม 2021


ทำไมราคาน้ำมันไทยแพงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ตอบคำถามคนขับรถบรรทุกซื้อน้ำมันดีเซลที่ประเทศเมียนมาลิตรละ 21 บาท ได้อย่างไร -ประเทศไทยผลิตน้ำมันได้เอง เหตุใดต้องนำเข้าจากต่างประเทศ

ต่อกรณีมีการแชร์คลิป “คนขับรถบรรทุกน้ำมันเมียนมา แจ้งปั๊มในเมียนมาซื้อน้ำมันมาจาก ปตท. ฝั่งไทยในราคาลิตรละ 21 บาท” เผยแพร่ในโลกออนไลน์นั้น ยอมรับว่าเป็นเรื่องที่เป็นไปได้จริง แต่เป็นความจริงเพียงแค่ส่วนเดียว โดยเฉพาะตรงท่อนที่ว่า “ปั๊มในเมียนมาซื้อน้ำมันจาก ปตท.ลิตรละ 21 บาท” ตรงนี้ต้องขอย้ำว่าไม่ได้ไปซื้อตามปั๊ม เพราะราคานี้ ปั๊มไหน ๆ ก็ขายไม่ได้

ถามว่าทำไมไม่มีปั๊มไหนตั้งขายปลีกน้ำมันที่ลิตรละ 21 บาทได้ สาเหตุก็มาจากนโยบายพลังงานของแต่ละประเทศ กำหนดโครงสร้างของราคาน้ำมันที่ขายในประเทศแตกต่างกัน อย่างโครงสร้างราคาน้ำมันของประเทศไทย ต้นทุนหลัก ๆ จะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนแรก ต้นทุนของเนื้อน้ำมันที่ซื้อมาจากโรงกลั่น หรือที่เรียกว่า “ราคา ณ โรงกลั่น” ซึ่งอ้างอิงมาจากราคาน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดสิงคโปร์ เคลื่อนไหวขึ้น-ลง ตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก หากใช้ข้อมูลราคาน้ำมันทุกชนิดในไตรมาสแรกของปี 2564 มาเฉลี่ย ต้นทุนของราคาน้ำมัน ณ โรงกลั่นจะมีสัดส่วนอยู่ที่ 62% ยิ่งราคาน้ำมันอยู่ในช่วงขาขึ้น ก็จะทำให้สัดส่วนต้นทุนของเนื้อน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้นตาม

ส่วนที่ 2 เป็นค่าภาษี และเงินนำส่งกองทุนต่าง ๆ ที่รัฐบาลเรียกเก็บมีสัดส่วนโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 32% ค่าภาษีของกระทรวงการคลัง ประกอบไปด้วย ภาษีสรรพสามิต , ภาษีเทศบาล หรือ “ภาษีบำรุงท้องถิ่น” และภาษีมูลค่าเพิ่ม ทั้งนี้ เพื่อนำไปใช้เป็นงบประมาณในการพัฒนาประเทศ ส่วนของกระทรวงพลังงานก็จะมีการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อรักษาเสถียรภาพของราคาน้ำมัน และยังมีการจัดเก็บเงินเข้า “กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน” เพื่อส่งเสริม และสนับสนุนการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ

ต้นทุนส่วนที่ 3 เป็นค่าการตลาดของผู้ประกอบการ หรือ ปั๊มน้ำมัน มีสัดส่วนเฉลี่ยอยู่ที่ 6% ซึ่งต้องขอย้ำว่า “ไม่ใช่กำไรสุทธิ แต่เป็นรายได้จากการขายน้ำมันที่หน้าหน้าปั๊ม ซึ่งยังไม่ได้หักค่าใช้จ่ายใดๆ”

นี่คือ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศไทยแตกต่างจากประเทศเพื่อนบ้าน

ยกตัวอย่าง ราคาน้ำมันดีเซล B7 และ B10 ที่ขายกันตามปั้มในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จากข้อมูลของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.)[http://www.eppo.go.th/index.php/th/petroleum/price/structure-oil-price ] ณ วันที่ 18 ตุลาคม 2564 จะเห็นได้ว่า ต้นทุนราคาน้ำมันดีเซลที่ไปซื้อมาจากโรงกลั่นอยู่ที่ลิตรละ 21.91 บาท ตรงกับข้อมูลที่คนขับรถบรรทุกน้ำมัน บอกว่า “ปั๊มในพม่า(เมียนมา)ซื้อน้ำมันจาก ปตท.ลิตรละ 21 บาท” ตรงนี้เป็นข้อเท็จจริงที่ไม่มีใครเถียง เพราะเป็นน้ำมันที่ส่งออกไปขายต่างประเทศ ไม่รวมค่าภาษีของกระทรวงการคลัง, เงินนำส่งกองทุนของกระทรวงพลังงาน และรายได้จากค่าการตลาดที่ผู้ประกอบการปั๊มน้ำมันจะได้รับ ลิตรละ 39 สตางค์ ตามที่กล่าวข้างต้น ซึ่งปัจจุบันถือว่าต่ำกว่าที่ควรจะเป็นเสียด้วยซ้ำ

การส่งออกน้ำมันไปขายต่างประเทศ ก็เหมือนสินค้าทั่วไป ทุกประเทศทั่วโลกมักจะปลดเปลื้องภาระภาษีทั้งหมดออกจากตัวสินค้า โดยการคืนภาษี แต่ถ้าคืนไม่ได้ก็จ่ายเงินเงินชดเชย ทั้งนี้ เพื่อให้สินค้าของตนมีต้นทุนต่ำลง สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้ แต่ถ้าเป็นสินค้าที่ใช้บริโภคภายในประเทศ ก็ต้องเก็บภาษี ส่วนจะเก็บมาก หรือ น้อย ขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละประเทศ สำหรับประเทศพม่าไม่ได้เก็บภาษีน้ำมัน และเงินกองทุนต่างๆเหมือนกับประเทศไทย ทำให้ราคาน้ำมันที่ขายในประเทศพม่ามีราคาแตกต่างจากประเทศไทย

นั่นก็หมายความว่าการที่คนขับรถบรรทุกไปซื้อน้ำมันมาได้ในราคาลิตรละ 21 บาทนั้น เป็นราคาน้ำมันที่ประเทศไทยส่งไปขายต่างประเทศ และยังไม่ใช่ราคาขายปลีกน้ำมันที่ประชาชนของประเทศนั้นๆ จะหาซื้อได้ เพราะยังไม่รวมค่าภาษีของประเทศนั้น และหากคนขับรถบรรทุกนำน้ำมันที่ส่งไปขายพม่ากลับมาขายในประเทศไทยในราคาดังกล่าว ก็ไม่ต่างอะไรกับการขายของหนีภาษีตามแนวชายแดนนั่นเอง

สรุป ประเทศที่ต้องนำเข้าน้ำมันส่วนใหญ่มีต้นทุนเนื้อน้ำมันไม่ต่างกันมากนัก เพราะราคาที่ซื้อ-ขายจะอ้างอิงจากราคาตลาดโลก ส่วนปัจจัยที่ทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันของแต่ละประเทศแตกต่างกันขึ้นอยู่กับนโยบายภาษี และนโยบายในการสนับสนุนราคา ของแต่ละประเทศ

คราวนี้มาถึงคำถามที่พบบ่อยในโลกออนไลน์ ทำไมประเทศไทยต้องไปนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศ ทั้ง ๆที่สามารถผลิตได้เอง แถมยังมีเหลือส่งออกไปขายต่างประเทศ ประเด็นนี้ก็ยอมรับเป็นความจริงอีก แต่ยังพูดไม่ครบ ข้อเท็จจริงคือประเทศไทยสามารถขุดน้ำมันขึ้นมาใช้ได้เอง แต่ไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ในประเทศ น้ำมันดิบที่ขุดได้มีคุณภาพไม่เหมาะสมกับโรงกลั่นภายในประเทศไทย กล่าวคือ มีกำมะถัน สารปรอท โลหะหนัก ฯลฯ เจือปนอยู่ในปริมาณที่สูง

จากข้อมูลของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ระบุว่า ประเทศไทยผลิตน้ำมันดิบได้เพียง 126,000 บาร์เรล หรือประมาณ 20 ล้านลิตร/วัน ขณะที่ความต้องใช้ภายในประเทศมีปริมาณสูงถึง 994,000 บาร์เรล หรือ 158 ล้านลิตร/วัน นั่นแสดงว่าเรามีความจำเป็น ต้องนำเข้าน้ำมันดิบถึง 878,000 บาร์เรล หรือ ประมาณเกือบ 140 ล้านลิตร/วัน ซึ่งส่วนใหญ่ประมาณ 80% นำเข้าจากตะวันออกกลาง ทั้งนี้ เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศ โดยราคาที่ใช้ในการซื้อ-ขายน้ำมันดิบเป็นราคาที่ถูกกำหนด โดยกลไกตลาด นั่นคือ อุปสงค์ และ อุปทานของทั้งโลก นั่นเอง

“รู้อย่างนี้แล้ว เราจะใช้น้ำมันถูกได้อย่างไร ในเมื่อเรายังต้องนำเข้าน้ำมันดิบ”

สรุป เรื่องคนขับรถบรรทุกซื้อน้ำมันที่ประเทศเมียนมาลิตรละ 21 บาท เป็นเรื่องจริงครึ่งเดียว อีกครึ่งที่ไม่ได้บอกคือ ราคาที่คนขับรถบรรทุกไปหาซื้อมาได้นั้น คือ ราคาน้ำมันส่งออกที่ยังไม่ได้รวมค่าภาษี และเงินกองทุนที่รัฐบาลเรียกเก็บ รวมไปถึงค่าการตลาด โดยเฉพาะน้ำมันดีเซล ซึ่งปัจจุบันมีค่าการตลาดบางมาก ลิตรละไม่ถึง 40 สตางค์ การจะมาด่าว่ากล่าวบริษัทผู้ค้าน้ำมันอย่างไร ก็ไม่ได้ช่วยให้น้ำมันมีราคาถูกลง เพราะการกำหนดราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศขึ้นอยู่กับราคาน้ำมันในตลาดโลก, นโยบายภาษี และการจัดเก็บเงินสมทบเข้ากองทุนต่างๆ ของรัฐบาลเป็นปัจจัยที่อยู่นอกการควบคุมของผู้ประกอบการ