ThaiPublica > ประเด็นร้อน > COVID-19 พลิกโลก > รอลุ้น! มาตรการเข้มคุมสถานการณ์โควิด-19 ระบาดหนัก “4 จังหวัดภาคใต้” เอาอยู่จริงหรือ?

รอลุ้น! มาตรการเข้มคุมสถานการณ์โควิด-19 ระบาดหนัก “4 จังหวัดภาคใต้” เอาอยู่จริงหรือ?

9 ตุลาคม 2021


นายชัยสิทธิ์ พานิชพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ลงพื้นที่ที่มัสยิดบ้านต้นหยี ตำบล ลำพะยา อำเภอเมืองยะลา เยี่ยมเยียน พบปะประชาชนที่เข้ารับการฉีดวัคซีน ป้องกันโควิด-19 ที่มาภาพ : http://www.yala.go.th/event?page=3

สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ช่วงนี้ต้องจับตาไปทางภาคใต้ โดยเฉพาะ 4 จังหวัดชายแดนใต้ ได้แก่ สงขลา ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส เนื่องจากผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นเป็น 1,900-2,000 รายต่อวัน จากไวรัสสายพันธุ์เดลตา สวนทางกับภาพรวมในระดับประเทศ โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร ที่เริ่มลดลง…

ประเด็นคือ หากไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ในเร็ววัน หรืออย่างช้า 1 เดือน มีแนวโน้มอาจต้องล็อกดาวน์พื้นที่ดังกล่าว เรื่องนี้ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เคยให้สัมภาษณ์ ที่แม้จะไม่เต็มปากเต็มคำแต่ก็ยอมรับว่า ขณะนี้ได้เร่งมาตรการเชิงรุก ให้หน่วยงานในพื้นที่ ทั้งผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข และนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ร่วมมือกับพื้นที่ ผู้นำทางศาสนา ในการดำเนินการควบคุมโรคอย่างเร่งด่วน แต่หากเอาไม่อยู่ อาจต้องมีมาตรการทางสังคมเพิ่มเติม แน่นอนว่าคือล็อกดาวน์นั่นเอง

โรงพยาบาลสนามโรงเรียนบ้านม้างอน ตำบลนาทับ อำเภอจะนะ เปิดให้บริการรับผู้ป่วยหญิงและเด็ก โดยใช้อาคารนักเรียน 3 อาคาร รับผู้ป่วยได้ 100 เตียง เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2564 ที่มาภาพ : เฟซบุ๊กโรงพยาบาลจะนะ

ส่วนที่ถูกจับตาไม่แพ้กันในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมาว่า ทำไม 4 จังหวัดภาคใต้มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 มากขึ้น ทางด้าน นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา และประธานชมรมแพทย์ชนบท ออกมาบอกว่า สถานการณ์ระบาดหนักขณะนี้ มีการเตรียมโรงพยาบาลสนามแห่งที่ 8 ในพื้นที่อำเภอจะนะ และสถานการณ์ 4 จังหวัดใต้จะดีขึ้นได้ คือ วัคซีน หากวัคซีนยังมาน้อย ก็ยากจะเอาอยู่ ทำได้เพียงเปิดโรงพยาบาลสนามเพื่อแก้ที่ปลายเหตุ

แต่จากการพูดคุยกับแหล่งข่าวในกระทรวงสาธารณสุขให้ข้อมูลว่า ในข้อเท็จจริง 4 จังหวัดภาคใต้ เป็นพื้นที่ที่ทางส่วนกลางคือกระทรวงสาธารณสุขมอบหมายให้ผู้ตรวจราชการฯ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด และผู้ที่เกี่ยวข้องทางด้านสาธารณสุขดำเนินการเตรียมพร้อมมาตั้งแต่แรก ตั้งแต่ช่วงระบาดในกรุงเทพมหานครด้วยซ้ำไป เนื่องจากเล็งเห็นแล้ว 4 จังหวัดนี้มีพื้นที่ติดชายแดน และเป็นพื้นที่ที่มีเรื่องของพิธีกรรมทางศาสนา ต้องมีการรวมกลุ่มประกอบพิธีกรรมทางศาสนา และด้วยวัฒนธรรมในพื้นที่ไม่นิยมฉีดวัคซีน จำเป็นต้องอาศัยการสื่อสาร และความช่วยเหลือจากผู้นำทางศาสนา ขณะเดียวกันต้องลงพื้นที่เชิงรุกต่อเนื่อง ส่วนประเด็นวัคซีนได้มีการส่งวัคซีนกระจายไปตามแผนการจัดหาวัคซีน และการขอวัคซีนที่มาจากพื้นที่โดยตรง

นายชัยสิทธิ์ พานิชพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา พร้อมด้วยเหล่ากาชาดจังหวัดยะลา จิตอาสาพระราชทาน ได้ลงพื้นที่บ้านคลองปุด ม.7 ต.บาละ อ.กาบัง จ.ยะลา ซึ่งเป็นพื้นที่ห่างไกล ใกล้ชายแดนไทย-มาเลเซีย

อย่างไรก็ตามแหล่งข่าวในกระทรวงสาธารณสุขให้ความเห็นต่อว่าในช่วงที่ผ่านมาได้มีการสั่งการและกำชับให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องประจำอยู่พื้นที่ พยายามควบคุมโรคให้มากที่สุด แต่ก็ยังมีเจ้าหน้าที่บางส่วนเข้ามายังพื้นที่ส่วนกลาง โดยระบุว่ามาช่วยพื้นที่กรุงเทพมหานคร เนื่องจากกรุงเทพฯ ระบาดหนัก จึงต้องมีแพทย์ในต่างจังหวัดลงมาช่วย ดังนั้นการระบาดที่เพิ่มขึ้นในพื้นที่ 4 จังหวัดจึงไม่อาจชี้ชัดได้ว่า เป็นเพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดที่รวดเร็ว หรือมาจากปัญหาการบริหารจัดการโควิดในพื้นที่ตัวเองไม่สามารถทำได้ดีพอ เพราะต้องลงพื้นที่มาช่วยกรุงเทพฯ หรือเป็นเพราะส่วนกลางช่วยเหลือไม่เต็มที่ ไม่มีระบบวางแผนรองรับสถานการณ์ล่วงหน้า หรือไม่ได้รับความร่วมมือจากฝ่ายต่างๆ ทำให้สถานการณ์ในพื้นที่ระบาดมากขึ้น(ดูภาพด้านล่าง อัตราการเพิ่มขึ้นชายแดนใต้)

  • จาก “หมอชนบทบุกกรุง” สู่ปฏิบัติการโอนงบฯ 359 ล้าน เข้า “บัญชีพิเศษ”
  • “โควิดไทยถูกซ้ำเติมโดยชมรมแพทย์ชนบท และสปสช.ใช่หรือไม่”
  • แหล่งข่าวฯ ระบุว่า “ตอนนี้คงไม่ต้องมาโทษกัน ประเด็นอยู่ที่ว่า ช่วงเวลาจากนี้จะจัดการปัญหาในพื้นที่ 4 จังหวัดภาคใต้อย่างไรไม่ให้ลุกลาม และระบาดหนักเหมือนกรุงเทพมหานคร เพราะล่าสุดกระทรวงสาธารณสุขให้นโยบายและตั้งเป้าหมายควบคุมสถานการณ์ให้ได้ภายใน 1-2 เดือน โดยลดจำนวนผู้ติดเชื้อประมาณ 10% ต่อสัปดาห์ ส่วนมาตรการมีทั้งเตรียมการเรื่องการรักษาพยาบาล เตียงรองรับผู้ป่วย ยา ชุดตรวจ ATK เพื่อเร่งคัดกรองคนติดเชื้อ และวัคซีน โดยส่งวัคซีนเพิ่มและจะระดมฉีดในสัปดาห์หน้า”

    ด้าน นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวในการแถลงสถานการณ์โควิดประจำวันของกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมาว่า สำหรับพื้นที่ 4 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ นราธิวาส สงขลา ปัตตานี และยะลา ที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ประมาณ 20% ของผู้ป่วยทั้งหมด ขณะนี้ฉีดวัคซีนครอบคลุม 30-40 % และได้ส่งวัคซีนให้เพิ่มเติมเพื่อระดมฉีดในพื้นที่ระบาดสัปดาห์หน้า ขณะเดียวกันได้เร่งเฝ้าระวัง สอบสวน ควบคุมโรค แยกผู้ติดเชื้อออกจากชุมชนและนำเข้าระบบรักษา กักตัวผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ส่วนกลุ่มเสี่ยง 608 (กลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปี ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หญิงตั้งครรภ์) ฉีดได้สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ เช่น สงขลา 65% ยะลา 56% นราธิวาส 50% ปัตตานี 48%

    อย่างไรก็ตาม สำหรับรายงานการฉีดวัคซีนใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ สะสมตั้งแต่ 28 ก.พ. – 7 ต.ค. ดังนี้

    • จังหวัดนราธิวาส มีประชากร 805,356 คน ฉีดเข็ม 1 จำนวน 272,990 คน คิดเป็น 33.9% เข็ม 2 จำนวน 187,924 คน คิดเป็น 23.3% เข็ม 3 จำนวน 7,563 คน คิดเป็น 0.9%
    • จังหวัดปัตตานี มีประชากร 743,054 ราย ฉีดวัคซีนเข็ม 1 จำนวน 267,509 คน คิดเป็น 36% เข็ม 2 จำนวน 156,218 คน คิดเป็น 21 %เข็ม 3 จำนวน 9,961 คน คิดเป็น 1.3%
    • จังหวัดยะลา มีประชากร 547,992 คน ฉีดเข็ม 1 จำนวน 263,965 คน คิดเป็น 48.2% เข็ม 2 จำนวน 164,170 คน คิดเป็น 30 % เข็ม 3 จำนวน 6,041 คน คิดเป็น 1.1%
    • จังหวัดสงขลา มีประชากร 1,487,320 คน ฉีดเข็ม 1 จำนวน 657,840 คน คิดเป็น 44.2% เข็ม 2 จำนวน 447,478 คน คิดเป็น 30.1% และเข็ม 3 จำนวน 22,011 คน คิดเป็น 1.5%

    นี่คือสถานการณ์ในพื้นที่ 4 จังหวัดภาคใต้