ThaiPublica > ประเด็นร้อน > COVID-19 พลิกโลก > เปิดประเทศ 1 พ.ย.64 …พร้อมจริงหรือ “17 จังหวัดนำร่องท่องเที่ยว” กับพื้นที่ระบาดติด Top 10

เปิดประเทศ 1 พ.ย.64 …พร้อมจริงหรือ “17 จังหวัดนำร่องท่องเที่ยว” กับพื้นที่ระบาดติด Top 10

23 ตุลาคม 2021


ในช่วงนี้ไม่มีใครไม่พูดถึงนโยบายเปิดประเทศ ที่จะเริ่มวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 เบื้องต้นอนุญาต 46 ประเทศ เข้ามาโดยไม่ต้องกักตัว และไม่จำกัดพื้นที่ แต่มีเงื่อนไข ต้องได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ครบโดส มีหนังสือรับรองการตรวจเชื้อโควิด RT-PCR หรือหากเคยติดเชื้อต้องมีใบรับรองว่าหายแล้วอย่างน้อย 3 เดือน หากวัคซีนไม่ครบต้องเข้าสถานที่กักกัน กรณีไม่จำกัดประเทศ

ขณะที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ออกประกาศรายชื่อจังหวัด/พื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว จำนวน 17 จังหวัด โดยมี 4 จังหวัดเปิดเต็มพื้นที่ คือ กรุงเทพมหานคร กระบี่ พังงา ภูเก็ต
ส่วนจังหวัดอื่นๆเปิดบางอำเภอ คือ ชลบุรี (เฉพาะอำเภอบางละมุง เมืองพัทยา อำเภอศรีราชา อำเภอเกาะสีชังและอำเภอสัตหีบ เฉพาะตำบลนาจอมเทียน และตำบลบางเสร่), เชียงใหม่(เฉพาะอำเภอเมืองเชียงใหม่ อำเภอดอยเต่า อำเภอแม่ริม และอำเภอแม่แตง), ตราด (เฉพาะอำเภอเกาะช้าง) , บุรีรัมย์ (เฉพาะอำเภอเมืองบุรีรัมย์) , ประจวบคีรีขันธ์(เฉพาะตำบลหัวหิน และตำบลหนองแก) , เพชรบุรี(เฉพาะเทศบาลเมืองชะอำ) , ระนอง(เฉพาะเกาะพยาม) , ระยอง (เฉพาะเกาะเสม็ด) , เลย(เฉพาะอำเภอเชียงคาน) , สมุทรปราการ (เฉพาะบริเวณพื้นที่ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ) , สุราษฎร์ธานี (เฉพาะเกาะสมุย เกาะพงัน และเกาะเต่า),หนองคาย (เฉพาะอำเภอเมืองหนองคาย อำเภอสังคม อำเภอศรีเชียงใหม่ และอำเภอท่าบ่อ) และ อุดรธานี (เฉพาะอำเภอเมืองอุดรธานี อำเภอบ้านดุง อำเภอกุมภาวปี อำเภอนายูง อำเภอหนองหาน และอำเภอประจักษ์ศิลปาคม)

โดย 17 จังหวัดพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยวจะเป็นจังหวัดรองรับการเข้ามาของนักท่องเที่ยวต่างๆ 46 ประเทศ ประเด็นคือ เราสามารถมั่นใจได้หรือไม่ว่า พื้นที่จังหวัดเหล่านี้ จะรองรับสถานการณ์การเปิดประเทศได้จริง….

ยิ่งล่าสุดพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยังประกาศยกเลิกเคอร์ฟิว หรือการยกเลิกห้ามออกนอกเคหสถานในพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว ซึ่งเดิมเคยกำหนดให้เป็นเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุด และเข้มงวด หรือพื้นที่สีแดงเข้ม โดยให้มีผลตั้งแต่เวลา 23.00 น. ของวันที่ 31 ต.ค.2564 ซึ่งพื้นที่สีแดงเข้มที่อยู่ในกลุ่ม 17 จังหวัดพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยวนั้น มีจำนวน 4 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร, ชลบุรี (เฉพาะอำเภอบางละมุง เมืองพัทยา อำเภอศรีราชา อำเภอเกาะสีชัง และอำเภอสัตหีบ เฉพาะตำบลนาจอมเทียน และตำบลบางเสร่), ระยอง (เฉพาะเกาะเสม็ด) และสมุทรปราการ (เฉพาะพื้นที่ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ) )

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาการติดเชื้อโควิดล่าสุดแม้จะไม่มากเท่าช่วงระบาดแรกๆ แต่ข้อมูลการติดเชื้อรายวัน 10 อันดับสูงสุดยังมีจังหวัดนำร่องท่องเที่ยวติดอยู่ในท็อป 10 ด้วย คือ กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ สมุทรปราการ ยังไม่รวมสถานการณ์การระบาดใน 4 จังหวัดภาคใต้(สงขลา นราธิวาส ปัตตานี ยะลา ) ที่ยังพบการติดเชื้ออย่างไม่ลด ละ

  • กต.ประกาศรายชื่อ 46 ประเทศ-พื้นที่ต้นทางอนุญาตให้เดินทางเข้าไทย
  • รอลุ้น! มาตรการเข้มคุมสถานการณ์โควิด-19 ระบาดหนัก “4 จังหวัดภาคใต้” เอาอยู่จริงหรือ?
  • โดยข้อมูลจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดในประเทศรายใหม่ ประจำวันที่ 22 ตุลาคม 2564 จำนวน 10 อันดับแรก ดังนี้ อันดับ 1 กรุงเทพมหานคร ติดเชื้อ 908 ราย อันดับ 2 สงขลาติดเชื้อ 676 ราย อันดับ 3 นครศรีธรรมราช ติดเชื้อ 662 ราย อันดับ 4 ยะลา ติดเชื้อ 432 ราย อันดับ 5 ปัตตานีติดเชื้อ 422 ราย อันดับ 6 เชียงใหม่ ติดเชื้อ 412 ราย อันดับ 7 ประจวบคีรีขันธ์ ติดเชื้อ 341 ราย อันดับ 8 ตาก ติดเชื้อ 309 ราย อันดับ 9 สมุทรปราการ ติดเชื้อ 307 ราย และนราธิวาส ติดเชื้อ 306 ราย

    สิ่งที่น่าห่วงคือ สถานการณ์การติดเชื้อ ทั้งจากการตรวจ RT-PCR หรือการตรวจด้วยชุดตรวจ ATK ยังคงพบติดเชื้อต่อเนื่อง แม้จำนวนอุบัติการณ์การป่วยแล้วอาการหนัก หรือเสียชีวิตจะลดลงก็ตาม แต่ตัวเลขหากประมาทก็หวั่นจะเกิดระบาดระลอกใหม่รับการเปิดประเทศได้

    อย่างข้อมูลล่าสุด โดย พญ.สุมนี วัชรสินธุ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยง กรมควบคุมโรค เปิดเผยในการแถลงข่าวศบค. เมื่อวันที่ 20 ตุลาคมผ่านมา ว่า ผลการตรวจเชื้อด้วยชุดตรวจ ATK ทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 20 สิงหาคม -20 ตุลาคม 2564 พบการติดเชื้ออยู่ที่ 5.4% ซึ่งเมื่อแยกตามเขตสุขภาพ พบว่า เขตสุขภาพที่ 12 ผลการตรวจย้อนหลัง 7 วันเป็นค่าเฉลี่ยมากที่สุด คือ จ.นราธิวาส พบ 28.3% ที่เป็นบวก ปัตตานีอยู่ที่ 20.2% ยะลาอยู่ที่ 19.5% สงขลาอยู่ที่ 10% ขณะที่มีการเฝ้าระวังจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็ยังมีจังหวัดอื่นๆ คือ จ.นครศรีธรรมราช ผลการตรวจ ATK 7 วันย้อนหลังอยู่ที่ค่าเฉลี่ย 25.1% และเขตสุขภาพที่ 11 ซึ่งเป็นเขตเดียวกันนครศรีธรรมราช และจ.กระบี่ พบ 10.3%

    นอกจากนี้ จังหวัดพื้นที่ท่องเที่ยว อย่าง จ.เชียงใหม่ อยู่ที่ 11.4% ซึ่ง จ.เชียงใหม่ ก่อนหน้านี้พบติดเชื้อตลาดเมืองใหม่ ปรากฏว่ายังพบการระบาดอยู่ อย่างคลัสเตอร์แรงงานไม้ตัดยาง ร้านอาหาร บ้านพักนักเรียนประจำ หรือร้านค้า ฯลฯ

    จะเห็นได้ว่า สถานการณ์การติดเชื้อ ณ ปัจจุบันแม้จะลดลง แต่ยังพบการติดเชื้อเป็นกลุ่มจังหวัดอยู่ โดยเฉพาะภาคใต้ หรือแม้แต่จังหวัดเตรียมรับเปิดประเทศ ก็ยังประมาทไม่ได้ เพราะเชื้อโควิดไม่ได้หายไปไหน หากเราประมาท พร้อมจะกลับมาได้ทุกเมื่อ…. ซึ่งประชาชนทุกคนต้องระวัง ยังจำเป็นที่จะต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตัวเอง รักษาระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัยและล้างมือให้สะอาดบ่อยๆ

    ส่วนภาครัฐต้องพร้อมรับมือ เนื่องจากวัคซีนโควิดอย่างเดียวคงไม่ได้ แต่ยังต้องอาศัยมาตรการอื่นๆ โดยเฉพาะการป้องกันตัวเองครอบจักรวาล (Universal Prevention) และมาตรการปลอดภัยสำหรับองค์กร(Covid Free Setting) ที่ต้องทำจริงๆ ไม่ใช่แค่พูดลอยๆ ไม่มีการบังคับกฎหมายจริงจัง อาศัยความร่วมมือ แบบนี้หวั่นจะระบาดได้ง่าย….