ThaiPublica > คนในข่าว > “วิชา มหาคุณ” ผ่าร่างกฎหมายตำรวจ ดันสุดฤทธิ์ แยกฝ่ายสอบสวนเป็นอิสระ

“วิชา มหาคุณ” ผ่าร่างกฎหมายตำรวจ ดันสุดฤทธิ์ แยกฝ่ายสอบสวนเป็นอิสระ

7 กันยายน 2021


นายวิชา มหาคุณ

กลายเป็นคดีสะเทือนขวัญประชาชน หลังจากมีการปล่อยคลิปที่ปรากฏภาพชาย 4 คนใช้ถุงดำคลุมหัวชายผู้ต้องหา และมีการทุบตี จนผู้ต้องหาเสียชีวิต ต่อมาพบว่า หนึ่งในชาย 4 คนนั้น คือ พ.ต.อ. ธิติสรรค์ อุทธนผล หรือ ผู้กำกับโจ้ อดีต ผกก.สภ.เมืองนครสวรรค์
อดีต ผกก.โจ้ เป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่น 41 ด้วยวัยเพียง 40 ปี ระยะเวลารับราชการ 17 ปี สามารถก้าวจากรองสารวัตร ขึ้นเป็นผู้กำกับการ สภ.เมืองนครสวรรค์ โรงพักเกรดเอ ของภาค 6 ด้วยการย้ายข้ามห้วยจากรอง ผกก. บก.สส.ภ. จังหวัดพิษณุโลก ทั้งที่ลำดับอาวุโสรั้งท้ายอยู่ที่อันดับ 325 จากผู้มีสิทธิ์เลื่อนขั้นทั้งหมด 326 นาย

ทันทีที่มีข่าวอื้อฉาวในวงการตำรวจออกมา (อีกครั้ง) เสียงเรียกร้องให้มีการปฏิรูปตำรวจไทยก็ดังขึ้นอีกระลอก

นายวิชา มหาคุณ กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. … กล่าวว่า คดีอดีต ผกก.โจ้ถือว่าร้ายแรงมากในวงการตำรวจที่ถือว่าเป็นต้นน้ำของกระบวนการยุติธรรม และไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้น เพราะมีการวิจัยก่อนหน้านี้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) เคยให้สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า วิจัยพฤติกรรมเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ใช้อำนาจมิชอบ ทั้งรูปแบบ สาเหตุ และทางออก งานวิจัยสรุปได้ว่า รูปแบบอำนาจโดยมิชอบ คือ การทุจริตคอร์รัปชันของตำรวจ มีการเรียกสินบน เรียกเงินเรียกทอง นอกจากนี้การขึ้นมามีอำนาจ มีตำแหน่งสูง ทั้งที่อายุยังน้อย ใช้ตำแหน่งหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์ เพื่อตนเองจะได้มียศ มีตำแหน่งที่สูงขึ้น และเป็นที่พอใจของผู้บังคับบัญชา ทำให้มีการเรียกสินบน เงินใต้โต๊ะ ตามที่รู้กัน รวมถึงการข่มขู่ รีดไถ การเรียกค่าคุ้มครอง ต่อผู้ที่กระทำผิดกฎหมาย มีการบิดเบือนการใช้ดุลพินิจในการสืบสวนสอบสวนคดีอาญา

นอกจากนี้อาศัยอำนาจหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม ในเรื่องการล้มคดีก็ดี หรือทำให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษน้อย แต่ตนเองจะได้ทรัพย์ผิดกฎหมายไปขายต่อ อย่าง ยาเสพติด หรือเรื่องการจ่ายสินบนภายในองค์กร กระบวนการคือ ผู้บังคับบัญชาเรียกเงินจากเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ต้องการตำแหน่งหน้าที่ที่ตัวเองต้องการ พฤติกรรมเหล่านี้ถือเป็นการแสวงหาผลประโยชน์ให้ตนเองและผู้อื่น สรุปแล้วจะเป็นทรัพย์สินเงินทอง ของผิดกฎหมาย บ่อนการพนัน กระบวนการต่างๆ เหล่านี้ผสมโรงกับความผิดทางอาญา ทั้งการทารุณกรรม ทั้งใช้วิธีการบีบบังคับ ข่มขู่ ทรมาน หรือว่าฆ่าเลยก็มี คือหลังจากได้ผลประโยชน์แล้วก็อาจจะสังหาร แล้วดำเนินการปกปิดเพื่อไม่ให้มีพยาน

“พฤติกรรมที่มีคลิปให้ดู ประชาชนจะได้เห็นตัวอย่างหรือรูปแบบการทุจริต คอร์รัปชัน การประพฤติผิด ประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เบ็ดเสร็จ ชัดเจน เป็นการกระตุ้นให้ประชาชนเห็นว่า ถ้าเราปล่อยให้องค์กรตำรวจเป็นอย่างนี้ คืออยู่ๆ กันไป แล้วประชาชนได้รับความทุกข์ทรมาน ได้รับความเหลื่อมล้ำ ไม่ได้รับความยุติธรรม”

นายวิชากล่าวว่า รัฐธรรมนูญปี 2560 ตระหนักถึงเรื่องนี้ จึงได้เขียนไว้ในมาตรา 258 (ง) ด้านกระบวนการยุติธรรม ว่า ต้องดำเนินการอย่างไร สร้างกลไกการบังคับใช้กฎหมาย ลดความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรม ปรับปรุงระบบการสอบสวนคดีอาญา ถ่วงดุลระหว่างพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการ เป็นต้น ปัจจุบันมีการร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ และอยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐสภา โดยร่างเดิมมีการแยกอำนาจสอบสวน ออกจากอำนาจการบังคับบัญชา คือ ให้อำนาจสอบสวนเป็นอิสระ เพราะถ้าผู้บังคับบัญชาสามารถควบคุมได้ว่าจะต้องสอบสวนตามใจผู้บังคับบัญชา ก็จะไม่เป็นอิสระ เพราะว่าอำนาจรวมศูนย์อยู่ที่ผู้กำกับ คือ คุมทั้งเรื่องการสอบสวน การดำเนินคดี แล้วก็จับกุมด้วย จากผู้กำกับก็ไปที่ผู้บังคับการ ไปผู้บัญชาการ โดยไม่มีสายงานสอบสวน เป็นสายตรงของเขา

ขณะที่สายงานสอบสวน ต้องมีความรู้ความสามารถด้านวิชาชีพในการสอบสวน มีนิติวิทยาศาสตร์ มีองค์ความรู้ที่จะดูว่าพฤติกรรมของมนุษย์เป็นอย่างไร มีการศึกษา มีการอบรม ด้านสายงานนี้โดยเฉพาะ เพราะการสอบสวนเป็นศาสตร์ที่ไม่ใช่ใครก็ทำได้

เราจึงเห็นว่า ตำรวจที่ถูกโยกย้ายออกจากฝ่ายจับกุมมาเป็นฝ่ายสอบสวนจะมีความทุกข์มาก บางคนถึงขนาดฆ่าตัวตาย เพราะไม่เคยทำ ข้อสำคัญคือไม่รู้ข้อกฎหมาย ทำให้กระบวนการมีแต่ว่านายสั่งมา คนนี้เอ็งต้องเอาเข้าคุกให้ได้ หรือให้หลุดให้ได้ คือมีธงไว้ตลอดเวลา ไม่สามารถใช้ความรู้ความสามารถของตัวเองได้เลย

ต่างจากอัยการ ต่างจากศาล ที่จะมีความรู้เฉพาะ อัยการก็มีความรู้ด้านการฟ้องคดี ศาลก็มีอำนาจจัดการเบ็ดเสร็จในการตัดสินคดี ขณะที่การส่งฟ้อง การตัดสิน ต้องเริ่มต้นมาจาก 2 ส่วนก่อน คือ สอบสวน แล้วต้องดูว่าสมควรฟ้องหรือไม่ฟ้อง ก่อนส่งให้อัยการต่อไป ถ้ากระบวนการสอบสวนไม่เป็นที่น่าเชื่อถือ อัยการก็จะมองว่า ตำรวจคนนี้แย่มาก ไม่น่าเคารพ แล้วได้ยินมาว่ากินสินบนด้วย ยิ่งแย่ใหญ่ สำนวนคดีมีปัญหาทันที

“ผมเองก็เคยเป็นอัยการ แล้วก็มาเป็นศาล ต้องทำงานกับตำรวจ ผู้พิพากษารุ่นพี่ อัยการรุ่นพี่ ก็จะมากระซิบเลยว่า ตำรวจคนนี้ไม่น่าเชื่อถือ ต้องระวังให้ดี เดี๋ยวจะสอดแทรกอะไรเข้ามายุ่งมากเลย คือหากมีการใช้พยานหลักฐานเท็จ แล้วอัยการไม่รอบคอบ ฟ้องคดีทั้งที่เขาไม่ผิด แม้จะมีการสอบเพิ่มว่าผิดจริงหรือไม่ แต่จำเลยมักจะอยากหลุดคดีให้เร็ว ก็จะรับสารภาพ แล้วส่งไปที่ศาล ปรากฏว่า 80% ของจำเลยที่รับสารภาพ เป็นการรับไปทั้งที่บางทีไม่ได้ทำผิด แต่ต้องการให้จบ เพราะรู้ว่า หากเป็นคดีเล็กน้อย ศาลจะให้รอลงอาญา แต่ก็จะทำให้ความผิดนั้นติดตัวเขาไป แล้วอาจทำให้เขาตกงาน หรือถูกไล่ออกจากงาน ไม่สามารถทำงานอื่นได้ด้วย เพราะมีประวัติอาชญากรรม นี่คือสิ่งที่ต้องปรับปรุง”

นายวิชากล่าวว่า ในด้านวิชาการนั้น ต้องแยกฝ่ายสืบสวนออกจากตำรวจแบบเบ็ดเสร็จเพื่อไม่ให้ถูกแทรกแซง เพราะถ้าไม่แยกออกมา การเลื่อนลดปลดย้ายจะพัวพันอยู่ในองค์กรตำรวจ ที่มีความเป็นพี่น้อง มีการอุปถัมภ์ค้ำชูกัน ทำให้มีผลประโยชน์ทับซ้อน แม้จะแยกสายงานออกมา ก็ไม่ดีเท่าให้เป็นสายอิสระ

และประเทศส่วนใหญ่เห็นว่า พนักงานสอบสวนไม่ควรมียศ คือให้เป็นข้าราชการ เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ที่แต่งตัวใส่เสื้อเชิ้ต เพราะถ้ามียศ มีหัวโขน จะทำให้คิดถึงหัวโขนมากกว่าคิดถึงงาน

“สรุปแล้ว คือ เห็นด้วยกับการแยกองค์กรสอบสวนออกมาจะดีกว่า แต่เป็นเรื่องยากแล้ว ถ้าต้องสู้กันถึง 2 ชั้น คือ หนึ่งต้องให้เป็นอิสระ สองให้แยกมีองค์กรของตัวเอง ซึ่งเคยคิดจะทำกันมาแล้วหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 หรือรัฐธรรมนูญปี 2540 มีเรื่องการปฏิรูปตำรวจด้วย โดยให้แยกออกมาขึ้นกับกระทรวงยุติธรรม ปรากฏว่าตำรวจไม่เห็นด้วย ทำไปทำมากลายเป็นเกิดกรมสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ขึ้นมา ทั้งที่ควรเป็นกรมสืบสวนสอบสวน เท่านั้น”

นายวิชากล่าวว่า ด้วยเหตุนี้ ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐสภา จึงหาทางออกที่พอจะประนีประนอมกันได้ คือ ให้แยกสายงานสอบสวนออกมาเป็นอิสระ โดยยังขึ้นตรงกับตำรวจ โดยก่อนหน้านี้ คณะกรรมการชุดนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน ได้ร่างกฎหมายให้สายงานสอบสวนเป็นอิสระ ตั้งแต่ชั้นพนักงานสอบสวน โรงพักก็มีสายงานสอบสวน แต่ไม่ได้ขึ้นกับผู้กำกับ ให้ขึ้นกับผู้บังคับการสอบสวน เหนือขึ้นไปคือผู้บัญชาการสอบสวน ขึ้นกับรองผู้บัญชาการตำรวจ (ผบ.ตร.) ฝ่ายสอบสวน เป็นสายงานต่างหาก โดยรอง ผบ.ตร. ฝ่ายสอบสวนสามารถแข่งขันเป็น ผบ.ตร. ได้ คือเพิ่มสายงานสอบสวนเข้าไป แต่เมื่อส่งมาที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ครม. ก็ส่งไปให้ตำรวจ ตำรวจก็ตัดข้อนี้ออกไป คือตำรวจไม่เห็นด้วยกับข้อนี้ โดยยังคงมีสายสอบสวนอยู่ แต่ขึ้นตรงกับผู้บังคับบัญชาของตำรวจเหมือนเดิม

ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติอยู่ระหว่างการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว โดยนายวิชากล่าวว่า มีการหารือกับคณะกรรมาธิการที่ไม่ได้มาจากอดีตข้าราชการตำรวจ เพื่อแปรญัตติในขั้นกรรมาธิการให้นำข้อความร่างพ.ร.บ. ชุดนายมีชัยกลับคืนมา แต่ก็ยอมรับว่าเป็นเรื่องยาก เพราะกรรมาธิการส่วนใหญ่เป็นอดีตตำรวจ

“เรื่องนี้เป็นไปได้ยาก แต่เราก็ต้องสู้จนถึงที่สุด คือ ถ้ากรรมาธิการส่วนใหญ่ไม่ยอม ก็ต้องไปสู้กันในชั้นรัฐสภา ในวาระสาม ว่าเรายังยืนยันจะต้องเปลี่ยนตามร่างของอาจารย์มีชัย”

นายวิชายอมรับว่า หากไม่สามารถแยกฝ่ายสืบสวนออกมาเป็นอิสระได้ ก็เท่ากับการปฏิรูปตำรวจถอยหลังเข้าคลองอีกครั้ง เพราะการที่ทุกอย่างกลับไปเหมือนเดิมก็เท่ากับถอยหลัง ในขณะนี้ สถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ที่มี พ.ต.อ. วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร เป็นเลขาธิการ ซึ่งเป็นสถาบันภาคเอกชน มีการขับเคลื่อน ให้ข้อมูล ให้ประชาชนพิจารณาเพื่อกดดันการแยกฝ่ายสอบสวนให้เป็นอิสระ

นายวิชากล่าวว่า แม้จะมีอุปสรรคในส่วนของการแยกอำนาจการสอบสวนให้เป็นอิสระ แต่ร่างกฎหมายที่มีอีก 2 ประเด็นสำคัญที่ไม่ถูกตัดไป คือ การให้มีคณะกรรมการพิทักษ์คุณธรรมของข้าราชการตำรวจ คณะกรรมการรับเรื่องราวร้องทุกข์ ที่ถือว่าเป็นจุดสำคัญในการเริ่มต้นปฏิรูปตำรวจในด้านการเลื่อนลดปลดย้ายที่ไม่เป็นธรรม

โดยคณะกรรมการพิทักษ์คุณธรรมของข้าราชการตำรวจ จะกำกับดูแลเรื่องคุณธรรม โดยการแต่งตั้งโยกย้ายให้ใช้ระบบคุณธรรม merit system ไม่ใช่ spoil system ถ้าตำรวจชั้นผู้น้อยได้รับความไม่ยุติธรรม หรือถูกผู้บังคับบัญชากลั่นแกล้ง สามารถร้องต่อคณะกรรมการพิทักษ์คุณธรรมนี้ได้ ส่วนคณะกรรมการเรื่องราวร้องทุกข์ จะทำให้ราษฎรสามารถร้องทุกข์ในกรณีที่ถูกตำรวจกลั่นแกล้ง ใช้วิธีการทรมาน ทารุณ หรือใช้วิธีการที่ไม่ถูกต้อง ประพฤติมิชอบ โดยให้คัดเลือกกรรมการชุดนี้จากอดีตผู้พิพากษา อดีตอัยการ และผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ความสามารถ มีจิตสำนึกในจริยธรรม

“ถึงจะสู้ไม่ไหวเรื่องการแยกอำนาจสอบสวนเป็นอิสระ แต่เขาไม่ขัดข้องที่จะให้มีคณะกรรมการพิทักษ์คุณธรรม กับคณะกรรมการเรื่องราวร้องทุกข์ตำรวจ ซึ่งถือว่าเป็นจุดสำคัญในการเริ่มต้นการปฏิรูปตำรวจ ด้านการเลื่อนลดปลดย้ายที่ไม่เป็นธรรม”

อย่างไรก็ตาม นายวิชากล่าวว่า อีกประเด็นสำคัญในร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ที่ต้องต่อสู้กันอย่างหนัก คือ การใช้ระบบการให้คะแนนในการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจทุกระดับชั้น มีการประเมินการทำงาน เพราะว่าการโยกย้ายขณะนี้นายจะดูแค่ว่าให้ประโยชน์ได้หรือไม่ ร่างกฎหมายนี้จึงบังคับว่าจะต้องมีการให้คะแนน ประกอบไปกับระบบอาวุโส การเลื่อนตำแหน่งยังต้องดูอาวุโส แต่ถ้ามีคุณธรรม จริยธรรมที่ด้อยกว่า ก็อาจจะต้องพิจาณาแต่งตั้งคนที่มีจริยธรรม มีคุณธรรม ความรู้ความสามารถที่สูงกว่า เป็นต้น เหมือนการแต่งตั้งโยกย้ายของผู้พิพากษาหรืออัยการที่ดูอาวุโสเป็นหลักก่อน แต่ถ้าอาวุโสเท่ากันแล้วก็ต้องมาดูว่าใครมีความสามารถ มีคุณธรรม จริยธรรม เช่น คนหนึ่งพลาดตลอด มีการทำผิดวินัย แต่ว่าเงินดีก็ได้เลื่อนตำแหน่ง ร่างกฎหมายใหม่จะมีข้อบังคับไว้เลย ขณะที่โรงพักที่ถือว่าเป็นหลักของการบริหารงาน ตำรวจต้องลงไปปฏิบัติหน้าที่กับประชาชน เป็นตำรวจของชุมชน ฉะนั้นต้องให้ประชาชนเป็นผู้ประเมินด้วยว่าตำรวจคนนี้ใช้ได้มั้ย และโรงพักก็จะต้องแบ่งเป็นขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ คือให้โยกย้ายไปโรงพักเล็กก่อน ไม่ใช่ย้ายข้ามหัวไปอยู่โรงพักใหญ่ หรือโรงพักที่มีเงินทอง มีผลประโยชน์มหาศาล

“ที่อดีต ผกก.โจ้เป็นผู้กำกับได้โยกย้ายไปอยู่จังหวัดนครสวรรค์เป็นที่ฮือฮาอย่างยิ่ง เพราะนครสวรรค์นี่ผลประโยชน์รุนแรงมาก เนื่องจากเป็นแหล่งรวมเส้นทางยาเสพติดจากแม่สอด จ.ตาก มาที่นครสวรรค์ แล้วมากระจายที่กรุงเทพฯ ผลประโยชน์จึงมหาศาลที่สุด การโยกย้ายจึงควรเริ่มจากไปโรงพักเล็ก กลาง ใหญ่ คือต้องไต่เต้า ต้องแสดงความรู้ความสามารถให้เห็นว่ามีความเหมาะสม รวมทั้งจะได้เรียนรู้ประสบการณ์ เรื่องทักษะ ไม่ใช่ประสบการณ์หรือทักษะที่ใช้นายบังคับขู่เข็ญ หรือนายที่ได้ประโยชน์ นายที่ประพฤติมิชอบ ระบบการให้คะแนนจะทำให้เวลาแข่งขัน เวลาประกาศชื่อจะได้เป็นที่ยอมรับ ผู้กำกับคนนี้เป็นตำรวจที่น่าไว้วางใจ ไม่เคยตบทรัพย์ ทำให้ประชาชนเชื่อถือ ศรัทธาไว้วางใจในตัวตำรวจ”

พร้อมกล่าวต่อว่า “แต่ถ้ามีการปฏิรูปวงการตำรวจ คดีนายวรยุทธ หรือบอส อยู่วิทยา หรือคดีโจ้ ก็จะไม่เกิดขึ้น หรือเกิดขึ้นยากมาก เพราะมีการตรวจสอบที่เข้มงวดขึ้น ที่สำคัญ คือถ้ามีสื่อทั้งกระแสหลักและโซเชียลมีเดีย ที่ยึดโยงกัน สนับสนุน สื่อนี่สำคัญมาก ฉะนั้น ถ้าสื่อเชิญผมไปพูด ให้ข้อมูลเรื่องการปฏิรูปตำรวจ ผมก็ยินดี และพยายามทำให้อยู่ในกระแสตลอด”

    คดีนายวรยุทธ หรือ บอส อยู่วิทยา

    คดีนายวรยุทธ หรือ บอส อยู่วิทยา ทายาทเศรษฐีกระทิงแดงที่ขับรถชนตำรวจเสียชีวิต เหตุเกิดเมื่อปี 2555 แต่อัยการสั่งไม่ฟ้องเมื่อช่วงกลางปี 2563 สร้างความเสื่อมศรัทธาในกระบวนการยุติธรรมของไทยเป็นอย่างมาก ทำให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจของประชาชน มีนายวิชา มหาคุณเป็นประธาน ซึ่งใช้เวลาประมาณ 1 เดือน ก็สามารถทำรายงานสรุปส่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2563

    นายวิชากล่าวว่า ในทางคดีอาญา อัยการได้ดำเนินการสั่งฟ้องใหม่แล้ว แต่เนื่องจากยังไม่ได้ตัวผู้ต้องหา เพราะหนีไปต่างประเทศ ทำให้ยังฟ้องไม่ได้ แต่ก็กลับไทยไม่ได้ จะถูกจับทันที อย่างไรก็ตาม เนื่องจากคดีนี้มีอายุความ 15 ปีนับตั้งแต่วันที่เขากระทำการณ์ (ปี 2555) ถ้าหมดอายุความก็ต้องปล่อยตัว เพราะขาดอายุความทางอาญา

    “ผมถึงเสนอนายกรัฐมนตรี ให้มีการปรับปรุงแก้ไขว่า คดีอาญาทุกประเภท ถ้าหากว่าผู้ต้องหาหนีในระหว่างการสอบสวนหรือในระหว่างการดำเนินคดี ให้อายุความหยุดทันที เหมือนคดีทุจริต แต่รัฐบาลยังไม่ได้มีการหยิบยกมาพิจารณา”

    นอกจากนี้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ได้เอาข้อมูลจากรายงานไปเพื่อดำเนินการไต่สวน โดยมีเจ้าหน้าที่รัฐและผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเกี่ยวข้องรวม 13 คน โดยมีนางสาวสุภา ปิยะจิตติ เป็นประธานอนุกรรมการไต่สวน และกำหนดระยะเวลาการไต่สวนเพื่อชี้มูลความผิดให้เสร็จภายใน 1 ปี 4 เดือน นับจากเดือนสิงหาคม 2564