ThaiPublica > เกาะกระแส > “ไทยพาณิชย์” รื้อ eco-system ใช้ “SCBX” เข้าสู่สนามแข่งขันใหม่

“ไทยพาณิชย์” รื้อ eco-system ใช้ “SCBX” เข้าสู่สนามแข่งขันใหม่

22 กันยายน 2021


กลุ่มไทยพาณิชย์ (SCB Group) ประกาศวิสัยทัศน์องค์กร รับบริบทใหม่ของโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จัดตั้งบริษัทแม่ภายใต้ชื่อ “SCBX” (เอสซีบี เอกซ์) เพื่อเร่งขยายธุรกิจเชิงรุกเข้าสู่ธุรกิจการเงินและแพลตฟอร์มอย่างเต็มรูปแบบ เตรียมพร้อมเข้าสู่สนามการแข่งขันแบบใหม่ที่กำลังเกิดขึ้น ยกระดับสู่กลุ่มบริษัทเทคโนโลยีการเงินระดับภูมิภาคภายในปี 2025 โดยมีเป้าหมายสร้างฐานลูกค้าสองร้อยล้านคนพร้อมภารกิจเชื่อมต่อ ecosystem ทั้งในและต่างประเทศ โดย “SCBX” จะยังอยู่ภายใต้การกำกับดูแลที่ใกล้ชิดของธนาคารแห่งประเทศไทย

วันที่ 22 กันยายน เวลา 17.30 น.หลังจากตลาดหลักทรัพย์ปิดทำการซื้อขายของวัน ธนาคารไทยพาณิชย์ได้จัดการแถลงข่าว โดยนายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์

“SCBX”ทะลายโครงสร้างแบงก์

นายอาทิตย์ กล่าวว่า วันนี้คณะกรรมการของธนาคารมีมติให้ความเห็นชอบแผนการปรับโครงสร้างธุรกิจด้วยการจัดตั้ง “SCBX” ซึ่งไม่ใช่ธนาคารและขอมติผู้ถือหุ้น เพื่อทำการสวอปหุ้นระหว่าง “SCBX” กับธนาคาร เพื่อให้ผู้ถือหุ้นธนาคารไทยพาณิชย์เป็นผู้ถือหุ้นของ “SCBX” รวมทั้งจะเอา “SCBX” ไปเป็นบริษัทจดทะเบียน และเพิกถอนธนาคารไทยพาณิชย์ออกจากการเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยที่ชื่อย่อในการซื้อหุ้นยังคงใช้ SCB ซึ่ง SCBX จะกลายเป็นผู้ถือหุ้นไทยพาณิชย์แต่จะถือในสัดส่วนเท่าใด ขึ้นอยู่กับการสวอป

โดยกำหนดการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นในวันที่ 15 พฤศจิกายน

คณะกรรมการยังมีมติให้จ่ายเงินปันผลระหว่างกาลจำนวน 70,000 ล้านบาทเป็นกรณีพิเศษที่จะมีผลในรอบปีหน้า โดยจะใช้เพื่อการโอนธุรกิจจัดตั้งบริษัทและลงทุนในธุรกิจใหม่ในสัดส่วนมากกว่า 70%

นอกจากนี้จะโอนธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลไปยังบริษัท Card X และโอนหุ้นของหลายบริษัทที่ธนาคารไทยพาณิชย์ถืออยู่ไปให้SCB Holdings หรือบริษัทย่อยของ SCB Holdings

“ความตั้งใจและวัตถุประสงค์ของเรา คือทำให้กลุ่มเติบโตและสามารถแข่งขันได้ มีความสำคัญต่อลูกค้า และเติบโตอย่างยั่งยืน แต่ช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาภายใต้การดำเนินงานที่เอาทุกอย่างอยู่ในภายใต้โครงสร้างของธนาคารนั้นมีข้อจำกัด ทำให้การใช้ศักยภาพของกลุ่มทำได้ไม่เต็มที่”

นายอาทิตย์ กล่าวว่า ปี 2025 การมาถึงของ decentralized finance technology การขยายตัวและการบุกของแพลตฟอร์มระดับโลกเข้าสู่ธุรกิจการเงิน พฤติกรรมของผู้บริโภคหลังโควิด (post-covid) รวมถึงกฎระเบียบข้อบังคับที่เปลี่ยนไปอย่างมาก จะทำให้รูปแบบการทำธุรกิจ (business model) ในแบบ intermediaries หรือการเป็นตัวกลางเก็บค่าธรรมเนียมของธนาคารแบบดั้งเดิมจะลดบทบาทลง เพราะจะไม่สามารถตอบสนองความต้องการและความคาดหวังใหม่ของผู้บริโภคได้ ความสำคัญของธนาคารต่อผู้บริโภคจะลดลงและจะส่งผลลบต่อการให้มูลค่าอนาคตของนักลงทุนต่อธุรกิจธนาคารแบบดั้งเดิมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

“แนวโน้มของการถูก disrupt นั้นเริ่มมาเมื่อหกปีก่อนและชัดเจนมากในอีกสามปีข้างหน้า SCB ได้ตั้งโจทย์และเพิ่มศักยภาพตัวเองมาโดยตลอด และตอนนี้ก็ถึงเวลาที่สำคัญที่สุดในการตั้งคำถามแห่งอนาคตว่าในช่วงเวลาสามปีจากนี้ที่เข้มข้นที่สุด SCB จะต้องแปลงสภาพตัวเองอย่างไรจึงจะสามารถสร้างคุณค่าใหม่ให้กับผู้ถือหุ้นและผู้บริโภค รวมถึงสามารถเติบโตไปกับโลกใหม่ได้ SCB จึงจะต้องไม่จำกัดตัวเองอยู่ที่ธุรกิจธนาคารแบบดั้งเดิมอีกต่อไป หากแต่ต้องใช้ความเข้มแข็งทางการเงินของธุรกิจธนาคารปัจจุบันให้เป็นประโยชน์ เร่งขยายธุรกิจเชิงรุกเข้าสู่ธุรกิจการเงินประเภทอื่นที่ตลาดต้องการ และสร้างขีดความสามารถทางด้านเทคโนโลยี รวมถึงการบริหารจัดการแพลตฟอร์มทางเทคโนโลยี (technology platform) ขนาดใหญ่ให้ทัดเทียมกับคู่แข่งระดับโลก เข้าสู่สนามการแข่งขันแบบใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นโดยเร็วเพื่อที่จะอยู่รอดปลอดภัยในอีก 3-5 ปีข้างหน้านี้” นายอาทิตย์ กล่าว

โดยกลยุทธ์เสริมความแข็งแกร่งธนาคารควบคู่ไปกับการสร้างธุรกิจใหม่สำหรับอนาคตนั้น ในส่วนของธนาคารจะมุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีมาใช้ร่วมกับการปรับลดกระบวนการขั้นตอนต่างๆให้ตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไปให้มากที่สุดในทุกช่องทาง ธนาคารจะเน้นความสำคัญกับการสร้างความพึงพอใจสูงสุดแก่ลูกค้าเป็นที่ตั้ง

SCB จะไม่เท่ากับธนาคารในความหมายเดิมอีก แต่จะแปลงสภาพกลายเป็นกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีทางการเงินที่มีธุรกิจธนาคารที่แข็งแรงขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม และจะขยายเข้าสู่ธุรกิจการเงินส่วนบุคคลที่มีการเติบโตสูงที่ธนาคารไม่สามารถตอบสนองได้ โดยแต่ละธุรกิจ SCB จะร่วมมือกับพันธมิตรระดับประเทศ และระดับภูมิภาคที่แข็งแกร่ง ที่จะเริ่มเปิดตัวในอนาคตอันใกล้นี้

เชื่อม ecosystem ในและต่างประเทศ

นายอาทิตย์กล่าวว่า ภายใต้โครงสร้างใหม่ธุรกิจจะแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเรียกว่า cashcow ธุรกิจที่ทำรายได้ ประกอบด้วยธนาคาร ดิจิทัลแบงกิ้ง ประกันภัย อีกส่วนหนึ่งคือ growth จากธุรกิจใหม่ที่เติบโต ได้แก่ แพล็ตฟอร์มทางการเงิน ธุรกิจบัตรเครดิต ธุรกิจหลักทรัพย์ ซึ่ง SCBX ในฐานะเรือธงของกลุ่มจะมุ่งเน้นเติบโตโดยไม่ต้องอยู่ภายใต้กรอบการบริหารความเสี่ยงของธนาคาร และไม่ต้องกังวลต่อผลกระทบต่อฐานะของธนาคาร ผู้ฝากเงิน และธุรกิจธนาคารไม่สะดุด

“สิ่งที่เราจะทำนี้ทำให้แบงก์เติบโตอย่างมั่นคง มีโครงสร้างกระบวนการทำงานที่กระชับ มีประสิทธิภาพมีวินัยในการบริหารต้นทุนและสามารถเลือก เซ็กเม้นท์ หรือผลิตภัณฑ์ที่เลือกแล้วว่าจะทำให้ดี ตอบสนองต่อลูกค้า และจะทำให้ดิสรัปชันต่อแบงก์มีน้อย แบงก์เดินหน้าต่อไปอย่างมั่นคงและไม่สับสนว่าจะทำอะไรกันแน่ และเชื่อว่าสถานะของแบงก์ที่ยังเป็น cashcow ในการทำผลการดำเนินงานที่มีคุณภาพ ซึ่งจะเป็นเงินทุนในการสนับสนุนการเติบโตของ SCBX

“ธุรกิจหลายอย่างสามารถคาดหวังได้ว่าจะเพิ่มการทำกำไร สร้างผลการดำเนินงานที่มีคุณภาพได้ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า จัดว่าเป็น Blue ocean ที่จะเน้นไปที่ระดับภูมิภาค โดยเฉพาะอินโดนีเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ การเติบโตอีกด้านคือ การเติบโตด้วยแพล็ตฟอร์มใน ecosystem ต่างๆ ทั้งในละต่างประเทศเช่นกัน”

นอกจากการขยายเข้าสู่ธุรกิจการเงินส่วนบุคคลแล้ว SCB จะต้องยกระดับขีดความสามารถของกลุ่มในการสามารถสร้างและบริหารจัดการแพลตฟอร์มทางเทคโนโลยีขนาดใหญ่ (technology platform) หลังจากนำร่องด้วย “โรบินฮู้ด ฟู้ดเดลิเวอรี” เป็นโครงการแรก เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันกับแพลตฟอร์มระดับโลก และได้สร้างขีดความสามารถของบุคลากรด้านเทคโนโลยี โดยเริ่มจากการก่อตั้งบริษัท “SCB Tech X” และบริษัท “Data X” ร่วมกับพันธมิตรระดับโลก เพื่อสร้างขีดความสามารถพื้นฐานด้านเทคโนโลยีภายในที่จะสามารถสร้างและ scale platform ได้ภายในระยะเวลาอันสั้น

นอกจากนั้น SCB จะขยายเข้าสู่ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (digital asset business) ในระดับโลกเพื่อเข้าสู่โลกการเงินแห่งอนาคตผ่าน SCB 10X และบริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS) โดยการร่วมลงทุนและเป็นพันธมิตรกองทุนระดับโลก และการพัฒนาธุรกิจ digital asset ด้านต่างๆ ใน business model ใหม่เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับกลุ่มในระยะยาว

“ในปี 2025 ความคาดหวังของ SCB คือ การสามารถสร้างมูลค่าของบริษัทจากธุรกิจใหม่ให้มีขนาดที่มีนัยยะสำคัญนอกเหนือจากผลกำไรพื้นฐานและความมั่นคงของธุรกิจธนาคารหลัก ซึ่งรวมถึงการสร้างฐานลูกค้าในระบบให้ได้ถึง 200 ล้านคนจาก 16 ล้านคน การขยายธุรกิจใหม่ออกสู่ต่างประเทศ และการเป็นเจ้าของแพลตฟอร์มทางเทคโนโลยี (technology platform) ขนาดใหญ่ที่มีผู้ใช้งานจำนวนมาก และหลังจากสามปีนี้ SCB จะไม่เท่ากับธนาคารอีกต่อไป แต่จะกลายเป็นกลุ่มบริษัทที่มีธุรกิจการเงินและแพลตฟอร์มทางเทคโนโลยี(technology platform} ที่หลากหลาย สามารถตอบสนองความต้องการใหม่ของผู้บริโภคและสามารถแข่งขันกับคู่แข่งในระดับโลกได้อย่างทัดเทียม เพื่อสร้างมูลค่าใหม่ให้กับผู้ถือหุ้นทดแทนธุรกิจธนาคารที่อาจจะมีผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงไปได้อย่างทันท่วงที” นายอาทิตย์กล่าว

จับมือเครือซีพีตั้งกองทุน Venture Capital ลงทุนใน Startup ทั่วโลก

นอกจากนี้ยังได้จับมือเครือไทยพาณิชย์ร่วมกันก่อตั้งกองทุน Venture Capital ขนาด 600 – 800 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมุ่งเน้นการลงทุนใน Disruptive Technology ด้านบล็อคเชน (Blockchain) สินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Assets) เทคโนโลยีด้านการเงิน (FinTech) และเทคโนโลยีอื่นๆ ที่มีศักยภาพในการเติบโตสูงทั่วโลก

การร่วมมือกันในครั้งนี้ถือเป็นการดึงจุดแข็งของทั้งสองฝ่าย เพื่อร่วมบริหารจัดการกองทุน Venture Capital โดยเครือเจริญโภคภัณฑ์เป็นหนึ่งในกลุ่มธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยมีธุรกิจหลากหลายและมีเครือขายทั่วโลก นอกจากนี้ยังมี Ecosystem ที่ครอบคลุมในหลากหลายอุตสาหกรรม ได้แก่ ธุรกิจอาหาร ธุรกิจค้าปลีก เกษตรกรรม ธุรกิจด้านสุขภาพ ซึ่งช่วยให้บริษัทที่ไปลงทุนนั้น สามารถเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงผู้บริโภคได้ ในขณะที่ กลุ่มธนาคารไทยพาณิชย์นั้น นับเป็นหนึ่งในกลุ่มธุรกิจทางการเงินที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ด้วยการมี Ecosystem ในภาคการเงินที่ทันสมัยและสามารถต่อยอดไปยังภาคธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยมี SCB 10X บริษัทในเครือธนาคารไทยพาณิชย์ ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้เข้าร่วมบริหารจัดการกองทุนดังกล่าว เนื่องจากมีความเชี่ยวชาญด้านการลงทุนในบริษัทเทคโนโลยี และมีเครือข่ายนักลงทุน Venture Capital ทั่วโลก รวมถึงการเป็นผู้นำในด้าน Blockchain และสินทรัพย์ดิจิทัลในภูมิภาค

เครือเจริญโภคภัณฑ์และกลุ่มธนาคารไทยพาณิชย์ จะร่วมกันจัดตั้งบริษัทเพื่อบริหารจัดการกองทุน โดยต่างถือหุ้นร้อยละ 50 นอกจากนี้ ยังร่วมลงทุนในกองทุน Venture Capital ขนาด 600 – 800 ล้านหรียญสหรัฐฯ นี้ เป็นจำนวนเงินฝ่ายละ 100 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนที่เหลือจะระดมทุนจากนักลงทุนที่ได้รับการรับรอง (Accredited Investor) โดยมุ่งเน้นลงทุนในบริษัทเทคโนโลยีที่มีศักยภาพตั้งแต่ระยะเริ่มต้นจนถึงเติบโตทั่วโลก (Early to Growth Stage)

นายอาทิตย์ กล่าวว่า “ทุกวันนี้เราเห็นการเติบโตของเทคโนโลยีบล็อกเชนได้ชัดเจนในภาคการเงิน การนำบล็อกเชนเข้ามาประยุกต์ใช้กับบริการทางการเงินนั้น จะช่วยเพิ่มศักยภาพให้การบริการทางการเงินนั้นเข้าถึงได้ง่ายขึ้น และทำให้เกิดนวัตกรรมขึ้น การก่อตั้งกองทุน Venture Capital ร่วมกับเครือเจริญโภคภัณฑ์ในครั้งนี้ จะทำให้เราสามารถสร้างความแตกต่างและคุณค่าให้กับเหล่านักลงทุนและ Startup ได้อย่างดี ทั้งยังเป็นการสร้างธุรกิจใหม่ให้กับกลุ่มธนาคาร ผ่านขีดความสามารถในด้านการลงทุน และเป็นโอกาสในการต่อยอดธุรกิจหลักของธนาคารผ่านนวัตกรรมทางการเงินที่สำคัญ”

นายอาทิตย์กล่าวว่า ไทยพาณิชย์ยังมุ่งหวังที่จะเป็นธนาคารที่ลูกค้าชื่นชอบในอาเซียน(The Most Admired SCB Financial Technology Group In ASEAN )และมองว่าการทำธุรกิจ (business model) ในแบบ intermediaries จะลดบทบาทลงและถูกทดแทนด้วยแพล็ตฟอร์ม จะเป็นผู้เล่นระดับภูมิภาคและผู้เล่นในระดับโลก เพื่อให้การเชื่อม Ecosystem

“วิชั่นของเรา ถ้าเราทำสำเร็จ SCBX ในการขับเคลื่อนแบงก์ และcashcow ยังเดินต่อไปที่แข็งแกร่ง บริษัทที่กำลังจะเติบโคสร้างรายได้ให้เรา เชื่อว่าใน 5 ปีข้างหน้าจะบรรลุเป้าหมายการมีลูกค้า 200 ล้านคน ผมคิดว่า จะเพิ่มการเติบโตของผลการดำเนินงานได้ และมูลค่าตลาดสูงถึง 1 ล้านล้านบาท”

“ผมคิดว่าไม่ว่าจะเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง วัฒนธรรมองค์กรในการทำธุรกิจแบบแบ่งปัน ช่วยเหลือสังคม แบบมีธรรมาภิบาลสูงสุด คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ESG ไม่มีทางเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าเราจะเปลี่ยนโครงสร้าง รูปแบบการทำธุรกิจ ยังคงเป็น core value ของกลุ่มไทยพาณิชย์ภายใต้การนำของ SCBX เดินไปข้างหน้า ทำให้เราเป็นองค์กรที่เป็นองค์กรของไทย สามารถมีบทบาทในระดับภูมิภาคและมีความยั่งยืน มีความสามารถที่จะแบ่งปัน เป็นเสาหลัก ช่วยเหลือสังคมและรักษาโลกให้กับคนรุ่นต่อไปในอนาคต”