ThaiPublica > คนในข่าว > มองการศึกษาไทย ผ่านครู “มัดซี นาบอน”

มองการศึกษาไทย ผ่านครู “มัดซี นาบอน”

31 สิงหาคม 2021


เสาวรส รณเกียรติ รายงาน

“มัดซี นาบอน” หรือธมลวรรณ สุดใจ คุณครูมัธยม โรงเรียนนาบอน อำเภอนาบอน จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่มาภาพ : เฟซบุ๊กมัดซี สุดใจ https://www.facebook.com/profile.php?id=100034300659561

“อ๊อคคิวเพ้ชั่น อ๊อคคิวเพ้ชั่น อ๊อคคิวเพ้ชั่น
ว็อดดูยูดู ว็อดดูยูดู
แอมอะทีชเชอร์ แอมอะทีชเชอร์
แวร์ดูยูเวิร์ค แวร์ดูยูเวิร์ค ….”

เป็นคลิปสอนศัพท์ รูปประโยค ภาษาอังกฤษ ด้วยสำเนียงบ้านๆ ไทยๆ ของ “มัดซี นาบอน” คุณครูโรงเรียนนาบอน อำเภอนาบอน จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่เรียกยอดวิวได้ถึง 22.8 ล้านวิว ทั้งที่พึ่งเอาลงใน TikTok ได้เพียงเดือนครึ่ง

“ปกติ คำว่า occupation มันมีสี่พยางค์ ยากเหลือเกินที่เด็กจะพูดได้ ยากมาก ภาษาอังกฤษสองพยางค์ก็แย่แล้วสำหรับเด็ก พอเราสอนแบบนี้ ใช้เพลงสอนคำว่า occupation จนเด็กพูด occupation ได้ สี่พยางค์ เราก็ปลื้ม

เด็กต่างจังหวัด โดยเฉพาะเด็กในชนบทมีอะไรที่แตกต่างจากเด็กในเมือง เหมือนฟ้ากับเหว เราไปอยู่มาหลายโรงเรียน มีครูที่สอนภาษาอังกฤษเก่งๆ เยอะแยะไปหมด แต่พอเรามามองเด็กในชนบท ถ้ามาอยู่แบบนี้ต้องลาออกเลย เพราะเด็กเรียนไม่ได้ แล้วครูที่เคยสอนอยู่ในเมือง สอนเด็กในเมืองจะสอนสบาย เด็กห้องคิง แค่ครูอ้าปากเด็กก็รู้ว่าจะต้องรับต่ออย่างไร แต่เด็กชนบทโอกาสต่างกันมาก เราเห็นจุดนี้ เราก็เลยอยากให้เด็กชนบทมีทัศนคติที่ดีต่อวิชาภาษาอังกฤษ แล้วต่อไปถ้าเด็กอยากไปเรียนในชั้นสูงขึ้นไปก็เลือกได้ สามารถหาครูมืออาชีพมาสอน

ความเป็นคนชนบท เกิดในอำเภอนาบอน อำเภอหนึ่งในจังหวัดนครศรีธรรมราช ทำให้ “มัดซี นาบอน” หรือธมลวรรณ สุดใจ ครู คศ. 3 (ครูชำนาญการพิเศษ) และจะเลือกสอนเฉพาะโรงเรียนในชนบท ไม่เลือกสอนโรงเรียนในตัวเมืองเลย จนปีที่แล้วเธอขอย้ายกลับมาบ้านเกิด เพราะใกล้เกษียณ โดยบรรจุเข้าสอนที่โรงเรียนนาบอน โรงเรียนมัธยมเพียงแห่งเดียวในอำเภอ ที่เธอถือว่าเป็นโรงเรียนในเมือง เพราะมีนักเรียนรวม 950 คน เป็นโรงเรียนใหญ่ที่สุดในชีวิตการเป็นครู

อยู่ในอาชีพครูสอนภาษาอังกฤษมา 33 ปี ผ่านมาแล้ว 8 โรงเรียนในชนบท และชีวิตวัยเด็กที่ยากจน ทำให้ครูเข้าใจวิถีของเด็กชนบทดีว่ามีความยากเข็ญลำเค็ญอย่างไร

“ตัวเองเป็นเด็กบ้านนอก ทำให้รู้ว่าเด็กบ้านนอกใช้ชีวิตอย่างไร ความลำบากยากเข็ญของเด็กบ้านนอกคืออะไร บริบทของเขาคืออะไร คนในชนบทเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ชีวิตไม่ได้แตกต่างกันมากเทียบกับปัจจุบัน ยังมีคนอดอยาก ยากลำบากเหมือนเดิม ยังมีคนกินข้าวแค่วันละมื้อเหมือนสมัยก่อนอีกมากมาย เราก็อยากไปดูแล ดูว่าเราช่วยอะไรได้บ้าง ไปถึงบ้านเด็ก ดูว่าที่บ้านอยู่กันอย่างไร บางคนยากจนถึงขนาดบ้านที่อยู่เป็นไม้ฝาขัดแตะ พื้นแค่ยกดินให้สูงขึ้นนิดนึง มุงจาก ตั้งแคร่ ไม่มีเตา มีแต่หิน หรือเหล็ก ตั้งสามเส้า แล้วหุงข้าว เป็นภาพที่เห็นมาตั้งแต่เด็ก ก็ยังเห็นอยู่ เด็กพวกนี้ยากจนถึงขนาดเคยให้เงินค่าขนมเด็ก จนเขาจบมัธยม 6 เด็กๆ พวกนี้มาเจอกันอีกทีใน TikTok หลายคนมาก ได้ดิบได้ดี”

ความเข้าใจในวิถีของเด็กชนบท ประกอบกับเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ ที่ถือว่าเป็นวิชาที่เด็กกลัว ไม่อยากเรียน ทำให้ “มัดซี นาบอน” หยิบความชอบ ความถนัดทุกด้าน ทั้งการเป็นคนชอบแต่งตัว ความฝันวัยเด็กที่อยากจะเป็น นักร้อง หางเครื่อง มาใช้ประโยชน์ โดยหยิบคำศัพท์ รูปประโยค ภาษาอังกฤษมาแต่งเป็นเพลงใส่จังหวะง่ายๆ ลงไป เพื่อดึงเด็กๆ มาเข้าชั้นเรียนภาษาอังกฤษ

“สมัยก่อน เวลาพูดเรื่องวิชาภาษาอังกฤษ เด็กต่างจังหวัดจะกลัว ไม่อยากเรียน หรือถือว่าเรียนไปก็ไม่รู้เรื่องอยู่แล้ว เรียนไปทำไม มันยาก ไม่ใช่ภาษาเรา ขนาดภาษาไทยยังตกเลย แต่เราเป็นครู ถ้าเด็กกลัวครู แล้วเราจะสอนใคร”

พอดีเราเป็นคนชอบแต่งตัวอยู่แล้ว ก็จะแต่งตัวสวยๆ สีสันสดใส ครูเดินกันมา 4-5 คน ชั้นใส่รองเท้าส้นสูง 4 นิ้ว แหลมเปี๊ยบ ชุดสีแดง มีหรือเด็กจะไม่มอง มันต้องมอง คือ แต่งตัวยั่วเด็กก่อน พอเดินเด็กก็จะมอง เราก็ถาม ทำไมล่ะเธอ ไม่เคยเห็นคนสวยเหรอ เด็กก็หัวเราะกันทั้งผู้หญิง ผู้ชาย บางคนบอกครูคนนี้บ้าดี แปลกๆ เริ่มอยากรู้ว่าครูคนนี้จะสอนยังไง

พอเข้าห้อง เราจะบอกเด็กว่า นักเรียน ใครเข้าห้องมาได้ที่ 1, 2, 3 จะให้คะแนนพิศวาสด้วย เด็กก็วิ่งเข้าห้อง ยังขำถึงทุกวันนี้ เราก็ติ๊กให้คะแนน เด็กก็จะรู้สักว่าจะอยากเรียนหรือถ้าไม่อยากเรียน ชั้นต้องมา พอเข้าห้องก็จะสอน มีให้ร้องเพลง เอาคำมา เวลาสอนเหมือนเล่นกันมากกว่า เพราะคิดว่า ถ้าเราสอนเฉพาะเนื้อหาแล้วเด็กไม่ได้อะไรเลย กับเราสอนไม่เยอะ แต่เด็กได้อะไรบ้าง ประเด็นหลังน่าจะดีกว่า ทีนี้พอเป็นเพลง เราก็จะบอกเด็กว่า วันนี้เรียนเรื่องนี้นะ และก่อนเรียน จะแจกเนื้อเพลงที่แต่งเอง แยกศัพท์ แยกไวยากรณ์ออกมา พอเราร้อง เด็กก็หัวเราะกัน เราก็บอกว่า ครูเป็นนักแต่งเพลง คู่แข่งครูสลานะ เธอรู้มั้ยชั้นชื่ออะไร ชั้นชื่อสะตอ เพราะอยู่ภาคใต้ ใครจะใส่นามสกุลเหล็กก็ได้ สะตอเหล็ก (หญิงเหล็ก) เขาก็ร้องตาม แล้วก็นำเข้าสู่บทเรียน

รวมทั้งการจับกลุ่มเด็กที่ทำมาตลอด แต่ไม่ให้จับกลุ่มกันเอง ครูจะจับกลุ่มให้เอง ในกลุ่มจะมีทั้งเด็กเรียนเก่ง กับเด็กเรียนอ่อน อยู่ด้วยกัน แล้วบอกให้ช่วยกัน เพราะคะแนนที่แต่กลุ่มจะได้จะใช้วิธีเฉลี่ย สาเหตุที่ครูต้องจับกลุ่มให้ เพราะบางทีเด็กเก่งจะรังเกียจเด็กที่เรียนอ่อน แต่เราจะเคลียร์หมด ให้ช่วยกัน ทำให้เด็กนักเรียนมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน เด็กที่เคยเรียนอ่อนก็จะแบ่งปันของกินให้คนเก่งบ้าง คือยอมคนเก่ง ยอมเป็นลูกไล่เพื่อนที่เรียนเก่งกว่า เราก็ชื่นใจนะ ที่ทำให้เด็กสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันได้ อย่างเด็กกลุ่มนี้ทำงานไม่ผ่าน เราจะบอกให้ไปลากกันมาทำ บางทีเด็กเก่งในกลุ่มจะบอกว่าเพื่อนไม่มา ก็จะบอกเขาว่า ต้องไปพามาให้ได้ พามาไม่ได้เธอก็ตกเหมือนกัน เราก็ขู่ เขาก็จะไปตามกันมาจนได้

ทีนี้ พอเราแจกเพลง สอนเด็กเกี่ยวกับเพลงเสร็จ ก็จะให้เด็กรวมเป็นกลุ่มฝึกร้องกัน เราก็มีท่าให้ดูก่อนเป็นแนว แล้วให้เด็กคิดท่าประกอบเอง เด็กก็ชอบ สุดท้าย เราบอกนักเรียนสอบแล้วนะ สอบพร้อมกันทั้งห้อง ผลคือไม่เคยมีเด็กสอบตกในห้องเลย”

“มัดซี นาบอน” บอกว่า การสอนในรูปแบบนี้ ทำให้เด็กมีทัศนคติที่ดีต่อภาษาอังกฤษ เป็นบันไดขั้นแรกให้เด็กต่างจังหวัดที่อยากเรียนภาษาอังกฤษก่อน เพราะถ้าเริ่มสอนโดยเน้นสำเนียงการพูด เด็กจะไม่อยากอ้าปากพูดเหมือนเดิม แต่พอสอนแบบนี้ เด็กก็กล้ามาเรียน

“เราทำหน้าที่เป็นใบเบิกทางให้เด็กที่ชอบภาษาอังกฤษรู้ว่าตัวเองชอบภาษาอังกฤษ ให้เขามีพื้นฐานภาษาอังกฤษ เด็กคนไหนที่ใฝ่รู้จะกลายเป็นเด็กแถวหน้าในระดับชั้นต่อไป พอจบมัธยมปลายก็พัฒนาขึ้น เพราะมีพื้นฐานแล้ว มีเด็กหลายคนได้ไปเรียนต่อต่างประเทศ เป็นดอกเตอร์หลายคน การเป็นดอกเตอร์ต้องใช้ภาษาอังกฤษมาก นี่เป็นลูกศิษย์บอกเอง อีกคนเป็นอัยการ กำลังจะสอบผู้พิพากษา”

นี่คือรูปแบบการเรียนการสอนที่ “มัดซี นาบอน” ทำมาตลอด ก่อนจะเข้าสู่วงการ TikTok ที่เธอบอกว่า ถูกดึงดูดเข้าไปหลังจากที่ต้องเรียนรู้เรื่องโซเชียลมีเดีย เพื่อสอนออนไลน์ในยุคการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยเริ่มจากการปรับพื้นฐานภาษาอังกฤษให้เด็กก่อน คือให้เด็กรู้จัก noun (คำนาม) pronoun (สรรพนาม) verb (กิริยา) adjective (คำคุณศัพท์) พอได้พื้นฐานแล้ว ก็จะขึ้นบทเรียนหน่วยที่ 1 คือ family ที่จะมี father, mother, grandfather, grandmother ที่ “มัดซี นาบอน” จะเอาคำเหล่านี้มาเรียงเป็นเพลงสอนเด็ก ก่อนที่จะเอามาลง TikTok ที่ทำให้ชีวิตเธอเปลี่ยนไปชั่วข้ามคืน

“ก่อนจะเล่น TikTok นั้นตัดสินใจแล้วตัดสินใจอีก เพราะคนเก่งเฉพาะสายสอนภาษาอังกฤษใน TikTok เยอะมาก ทำให้รู้สึกกลัวว่า ถ้าคลิปในรูปแบบที่เธอสอนมาลง โดนแน่ ตายแน่ แต่พอไปศึกษากฎของ TikTok เขาอยากให้เราใช้เสียงเรา หน้าเรา เสียงเหมือนควายออกลูกก็จัดมาเลย แล้วเราเป็นพวกหน้าขาวปากแดง (ชอบแต่งหน้าสวยๆ) ถ้าเราเกษียณ ก็จะไม่ได้หน้าขาวปากแดงอีก แต่พอมาใน TikTok เราหน้าขาวปากแดงได้นี่นา ก็เลยเลือก TikTok หน้าขาวปากแดงทุกวัน เปลี่ยนชุดบางวัน 6-7 ชุด ก็เลยเอาคลิปลง TikTok ลงทุกวันๆ ละคลิป จนมาถึงหมวด family ที่เอาศัพท์ father, mother, grandfather มาเรียงเป็นเพลงมา ปรากว่ายอดวิวทะลักทะล้น”

แต่ก็เจอคอมเมนต์กลับมาแบบแรงมาก อย่าง ถ้าเป็นครูสอนอย่างนี้ลาออกไปเลย มาเป็นครูได้อย่างไร ด่าแบบที่ขนาดเราเป็นคนเข้มแข็งมาก เป็นคนเวรี่สตรองเลยแหละ ยังอ่อนเลย เราไม่รู้จักกันเลย ทำไมด่าได้ขนาดนี้ แต่ไม่ท้อ และปกติยอดวิวจะไม่เยอะ แค่ 20-30 วิวต่อคลิปเท่านั้น แต่วันที่ลงคลิป family โดนด่านะ แต่ยอดวิวขึ้นมาเป็นแสน

และมี 2-3 คนที่โต้คนที่ด่าว่า คุณไม่มีดนตรีในหัวใจ รู้มั้ยเพลงกับการพูดน่ะ มันต้องมีเสียงสูงต่ำ อีกคนก็มาบอกว่า ภาษาอังกฤษน่ะมีหลายแบบ แบบอังกฤษ เยอรมัน สิงคโปร์ มาเลเซีย แล้วจะมาเป็นแบบไทยใต้บ้างไม่ได้หรือ เราก็ เฮ้ยมีพวกแล้ว 2 คน ที่สำคัญ TikTok เขาคอยดูตลอดว่า เราลุกขึ้นมาด่าตอบมั้ย เพราะเขาบอกว่า ที่นี่ไม่ใช่สนามรบ ถ้าด่าตอบก็จบเลย

สุดท้าย ก่อนนอน เราเข้าไปดูยอดวิวไปที่ 8 แสนกว่า ก็เลยนอนยิ้มหลับไป ตื่นมาตี 4 ยอดวิวไปที่ 1 ล้าน 3 แสน เมนต์ที่ด่าเราไม่สนใจเลย เพราะ TikTok รักเรา คิดแค่นั้น (หัวเราะ) สุดท้าย ความรู้สึกหวั่นไหวกับคำด่า ก็เป็นแค่วันเดียว จากนั้น พอ family ผ่านไป ตั้งแต่วันนั้นก็มีแบรนด์ต่างๆ รายการทีวี เข้ามาทะล้นทะลัก มัดซีกลายเป็นซุปตาร์ในชั่วข้ามคืน”

การเล่น TikTok ยังทำให้ “มัดซี นาบอน” ได้เจอลูกศิษย์ที่เคยเรียนภาษาอังกฤษ เข้ามาทักทาย หลายคนบอกว่า ได้พื้นฐานภาษาอังกฤษจากการสอนของเธอ หลายคนได้ไปเรียนต่อต่างประเทศ จบระดับดอกเตอร์ บางคนอาสามาเป็นทีมงานช่วยเรื่องโซเชียลมีเดียให้ รวมทั้งจัดตารางการรับงานพรีเซนเตอร์ รายการทีวี ที่หลั่งไหลเข้ามา โดยเธอจัดสรรรายได้ที่ได้มาส่วนหนึ่งให้กับโรงเรียนนาบอน เพื่อช่วยเรื่องอุปกรณ์การเรียนการสอนให้กับเด็กยุคเรียนออนไลน์ เช่น ค่าอินเทอร์เน็ต ค่าโทรศัพท์มือถือ รวมถึงการตั้งโรงพยาบาลสนามในโรงเรียน

ส่วนการสอนออนไลน์เพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 “มัดซี นาบอน” เห็นว่ามีทั้งข้อดีข้อเสีย ข้อดีคือ เด็กได้อยู่บ้านมากขึ้น ช่วยพ่อแม่ทำงานได้ ไม่ว่าจะกรีดยาง ปาดยาง เก็บน้ำยาง ทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีกับครอบครัว ในขณะเดียวกัน คุณภาพการเรียนการสอนก็ด้อยลงตามสถานการณ์

แต่สิ่งที่ “มัดซี นาบอน” เสียใจในยุคการสอนออนไลน์ คือไม่สามารถจัดให้เด็กในโรงเรียนอยู่ในระบบให้ได้ภายใน 1 เดือน ที่ถือว่าเป็นอีกหน้าที่หนึ่งนอกเหนือจากการสอนภาษาอังกฤษ เพราะพอต้องสอนออนไลน์ ปัญหาที่ตามมา คือ ความไม่รับผิดชอบของเด็กที่ขยับจากชั้นประถม ขึ้นชั้นมัธยม เมื่อครูกับเด็กไม่ได้เจอกัน ก็ไม่สามารถทำให้เด็กที่ต่างคนต่างมาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้

“ที่ผ่านมาไม่ว่าเด็กจะมาจากไหนก็ตาม ใหญ่มาจากไหน เป็นเจ้าพ่อ เจ้าแม่ มาจากไหนตอนประถม ครูมัดซีปราบหมด ต้องเป็นหนึ่งเดียวให้ได้ จะทำแบบนี้ทุกปี จนโรงเรียนไว้วางใจให้เป็นคนทำหน้าที่นี้ คือ ทำให้เด็กเป็นเอกภาพ รวมถึงการสอนให้เด็กมีคุณธรรม ที่ผ่านมาจะอาสาสอนคุณธรรม จริยธรรมให้กับเด็กทั้งโรงเรียน จะสอนเหมือนสอนลูก นั่งอย่างไร มือ เท้า ต้องวางตรงไหน ถ้าจะลุกขึ้นเดินต้องทำอย่างไร เดินผ่านใครแม้กระทั่งเพื่อนก็ให้ก้มหัวนิดนึง จะสอนหมด ถึงขั้นที่ว่า ตอนแฟชั่นเสื้อสายเดี่ยว กางเกงขาสั้น เข้ามา ก็จะบอกเด็กผู้หญิง เด็กผู้ชายด้วยว่า ถ้าเอามาโชว์หมดแล้ว เธอไม่มีความลับในร่างกายเธอเลยนะ พอไม่มีความลับก็ไม่มีใครอยากเห็นของเธออีก ก็พูดประมาณนี้ ซึ่งเด็กอาจจะไม่เก็ตทั้ง 100% แต่ก็ต้องมีบ้างที่เก็ต สะกิดหัวใจบ้าง แต่พอสอนออนไลน์ไม่มีโอกาสสอนแบบนี้เลย”

แม้วิธีสอนของเธอจะได้ผล เด็กอยากเข้าชั้นเรียนภาษาอังกฤษมากขึ้น แต่ “มัดซี นาบอน” ไม่เคยคาดหวังให้ครูคนอื่นต้องมาใช้รูปแบบการสอนแบบเดียวกัน

“ขึ้นกับความถนัดของแต่ละคนมากกว่า ครูบางคนอาจจะทำได้ดีกว่าครูมัดซีด้วยซ้ำ ให้ครูแต่ละคนเขาทำตามศักยภาพอย่างเต็มที่ดีกว่า ที่สำคัญคือหัวใจเราโฟกัสที่งานหรือเปล่า มีจรรณยาบรรณเต็มที่หรือเปล่า ได้เสียสละเต็มที่มั้ย คำว่าเต็มที่ต้องมาจากหัวใจ ไม่ใช่แค่ปาก ถ้าเราทำทุกอย่างด้วยหัวใจ จะสอนนิ่มนวลอย่างไรก็ได้ ผลจะออกมาดีหมด”

@krumadsee2

เพลงoccupationขอใช้ทำนองอยากโดนช้อนแกง#ครูมัดซีครูบ้านนอก #TikTokUni เพลงภาษาต่างประเทศสำเนียงปักษ์ใต้ #ครูมัดซีแต่งเองร้องเอง

♬ เสียงต้นฉบับ – ครูมัดซี2 – ครูมัดซี2