ThaiPublica > สู่อาเซียน > “อิสมาอิล ซาบรี ยาคอบ” สาบานตนรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย

“อิสมาอิล ซาบรี ยาคอบ” สาบานตนรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย

21 สิงหาคม 2021


ที่มาภาพ: https://www.bernama.com/bm/news.php?id=1994913

ดาโต๊ะ สรี อิสมาอิล ซาบรี ยาคอบ รองประธานาธิบดีพรรคอัมโน หรือ พรรคสหมาเลย์แห่งชาติ(Umno) สาบานตนเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 9 ของมาเลเซีย ต่อยังดี เปอร์ตวน อากง(สมเด็จพระราชาธิบดี แห่งมาเลเซีย) สุลต่าน อับดุลเลาะห์ รีอายาตุดดิน อัล-มุสตาฟา บิลลาฮ์ ชาห์

พิธีซึ่งมีทั้งการมอบเครื่องหมายแต่งตั้งและการสาบานตนเข้ารับตำแหน่งและถวายสัตย์ปฏิญานและคำสาบานรักษาความลับในฐานะนายกรัฐมนตรี จัดขึ้นที่พระราชวังอิสตานา เนการ่า ใน เวลาประมาณ 14.20 น. ของวันนี้(21 สิงหาคม 2564)

อิสมาอิล ซาบรี สาบานตนเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อเวลา 14.28 น.

สมเด็จพระราชาธิบดี แห่งมาเลเซียทรงให้ความเห็นชอบแต่งตั้งให้อิสมาอิล ซาบรีเป็นนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 40(2)(a) และมาตรา 43(2)(a) ของรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธรัฐ

การแต่งตั้งอิสมาอิล ซาบรี ซึ่งเป็นสมาชิกรัฐสภาผู้แทนราษฎรจากเบรา มีขึ้นหลังตัน สรี มูห์ยิดดิน ยัสซิน ซึ่งเป็นประธานของพรรคสหประชาชนมาเลย์ หรือ Parti Pribumi Bersatu Malaysia (Bersatu) และเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากปาโกะห์ ได้ลาออก เมื่อวันที่ 16 สิงหาคมหลังจากล้มเหลวในการควบคุมเสียงข้างมากของสมาชิกรัฐสภาหลังจากส.ส. 15 คนของพรรค Umno ถอนการสนับสนุนกลุ่ม Perikatan Nasional (PN)

อิสมาอิล ซาบรี วัย 61 ปี ซึ่งสวมชุดประจำชาติหรือ บาจู มลายูสีดำพร้อมด้วยผ้าโสร่งหรือแซมปิน (Sampin)พันมา พร้อมกับดาติน สรี มูไฮนี ไซนัล อาบีดิน ภรรยา

หลังจากเข้ารับตำแหน่งแล้ว อิสมาอิล ซาบรี ได้ลงนามในเอกสาร โดยมี ตัน สรี มูฮัมหมัด ซูกิ อาลี หัวหน้าเลขาธิการรัฐบาล และตุน เต็งกู ไมมัน ตวน มัต ประธานศาลสูงสุดเป็นสักขีพยาน

พิธีเข้ารับตำแหน่งเสร็จสิ้นด้วยการขอดุอา

ในเวลาไม่ถึงสองเดือนหลังจากเข้ารับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ดาโต๊ะ สรี อิสมาอิล ซาบรี ยาคอบ ได้รับมอบอำนาจให้แบกรับความรับผิดชอบอันยิ่งใหญ่ในฐานะผู้นำอันดับหนึ่งของประเทศ

อิสมาอิล ซาบรี วัย 61 ปี ซึ่งสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขานิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Universiti Malaya (UM) ถูกมองว่าเป็นผู้สมัครที่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่สุดในการดำรงตำแหน่งเนื่องจากมีความเป็นผู้นำและประสบการณ์ที่กว้างขวางในด้านการเมืองและการบริหารราชการ

อิสมาอิล ซาบรี เป็นรองประธาน UMNOและ ยังเป็นสมาชิกคณะรัฐมนตรีตั้งแต่ปี 2551 ถึงปี 2561 ก่อนที่จะกลับมาในเดือนมีนาคมปีที่แล้วหลังจากการล่มสลายของรัฐบาลปากาตัน ฮาราปัน Pakatan Harapan: PH)

อิสมาอิล ซาบรี ได้รับมอบหมายให้เป็นรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม นอกเหนือจากการได้รับมอบหมายให้เป็นรัฐมนตรีอาวุโส (กลุ่มความมั่นคง) เพื่อจัดการกับประเด็นที่ไม่เกี่ยวกับด้านสุขภาพของการระบาดใหญ่ของ โควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อประเทศตั้งแต่เดือนมีนาคมปีที่แล้ว

หลังจากทำหน้าที่ดังกล่าวมากว่าหนึ่งปี อิสมาอิล ซาบรี ถูกมองว่าหนักแน่นและมีความห่วงใยอย่างมากกับปัญหาของประชาชนในช่วงที่มีการระบาดใหญ่ในประเทศ

โดยแสดงให้เห็นอย่างชัดเจน จากการที่เขาได้หยิบยกประเด็นที่ประชาชนต้องเผชิญขึ้นในการประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (MKN) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน จากนั้นจึงมีการตัดสินใจกำหนดแนวปฏิบัติมาตรฐาน (Standard Operating Procedures: SOPs) ในช่วงที่มีการใช้มาตรการการการควบคุมการสัญจร (Movement Control Order :MCO)

ที่มาภาพ: https://www.nst.com.my/news/nation/2021/08/719931/ismail-sabri-officially-pm9

อิสมาอิล ซาบรีได้รับแต่งตั้งเป็นรองนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม ขณะที่ยังคงดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม

ก่อนหน้านี้ อิสมาอิล ซาบรีดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงเยาวชนและกีฬา ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2551 ถึงเมษายน 2552 ก่อนที่จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงการค้าภายในประเทศและกิจการผู้บริโภคในเดือนเมษายน 2552

เขาได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมการเกษตรและเกษตร ในเดือนพฤษภาคม 2556 ถึงกรกฎาคม 2558 ก่อนมีการปรับคณะรัฐมนตรี ซึ่งต่อมาได้เข้ารับตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาชนบทและภูมิภาค

ในบรรดาความคิดริเริ่มที่โดดเด่นที่ได้ดำเนินการเมื่ออิสมาอิล ซาบรี เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรคือโครงการ ‘jihad memerangi orang tengah’ (ขจัดพ่อค้าคนกลาง) นอกเหนือจากการแนะนำความคิดริเริ่ม ‘MARA Digital’ เพื่อที่ ชาวมาเลเซียหรือ ภูมิบุตร(Bumiputeras) จะไม่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังในธุรกิจ สาขาเทคโนโลยีการสื่อสารสารสนเทศ ขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาชนบทและภูมิภาค

อิสมาอิล ซาบรี เกิดที่เมืองเตเมอร์โละห์ รัฐปาหัง และสมรสกับดาติน สรี มูไฮนี ไซนัล อาบีดินในปี2529 มีบุตร 3 คน และธิดา 1 คน
อิสมาอิล ซาบรีเริ่มต้นอาชีพนักกฎหมายในปี 2528 และเคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาปะหัง (Pahang Tenggara Development Authority:DARA) และคณะกรรมการส่งเสริมการท่องเที่ยวมาเลเซีย

เขาเริ่มมีบทบาททางการเมืองในปี 2530 ในฐานะสมาชิกของคณะกรรมการส่วน Temerloh ของพรรค UMNO ก่อนที่จะได้รับตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายข้อมูลในปีถัดมา และได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้ากลุ่มเยาวชนที่เตเมอร์โละห์ ในรัฐปาหัง ในปี 2536

ที่มาภาพ: https://www.bernama.com/bm/news.php?id=1994913

ในปี 2538 อิสมาอิล ซาบรี ดำรงตำแหน่งเลขาธิการการเมืองของดาโต๊ะ ซาบารุดดิน ชิค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ศิลปะ และการท่องเที่ยวในขณะนั้น ก่อนที่จะดำรงตำแหน่งรองหัวหน้าส่วนเตเมอร์โละห์ ของพรรค UMNO และต่อมาเป็นหัวหน้าส่วนในปี 2544

อิสมาอิล ซาบรี เข้าชิงที่นั่งในรัฐสภาในเขตเบราในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 11 ในเดือนมีนาคมและเอาชนะอับ วาฮับ อิสมาอิลแห่งพรรคอิสลามมาเลเซีย (Parti Islam Se Malaysia-PAS) ด้วยคะแนนเสียงข้างมาก 4,470 เสียง ในขณะที่การเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 12 ซึ่งจัดขึ้นในเดือนมีนาคม 2551 คว้าที่นั่งอีกครั้งจากการชนะมาซลัน อาลีมาน จาก PAS ด้วยคะแนนเสียงข้างมาก 3,821 เสียง

ในเดือนสิงหาคม 2551 ดำรงตำแหน่งหัวหน้าส่วนเบรา ในพรรค UMNO และในเดือนมีนาคม 2552 ได้เป็นสมาชิกสภาสูงสุดของ UMNO สำหรับวาระปี 2551/2554 ก่อนที่จะได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งในปี 2556/2559

ในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 13 ซึ่งจัดขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2556 และ การเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 14 ในเดือนพฤษภาคม 2561 อิสมาอิล ซาบรี ยังคงครองที่นั่งในรัฐสภา จากการมีชัยเหนือ ซาการิอะ อับดุล ฮามิดจาก พรรค PKR และผู้สมัครอิสระ

อิสมาอิล ซาบรี ได้รับเลือกเป็นรองประธาน UMNO ในเดือนกรกฎาคม 2561 และดำรงตำแหน่งประธาณคณะผู้ประสานงานของเซลังงอร์ในพรรคตั้งแต่ 2561 ถึงพฤษภาคม 2562

ในเดือนมีนาคม 2561 อิสมาอิล ซาบรี ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้นำฝ่ายค้านในรัฐสภา หลังจากการพ่ายแพ้ของกลุ่มพันธมิตร Barisan Nasional (BN) ใน การเลือกตั้งครั้งที่ 14 ในเดือนพฤษภาคมปีนั้น และจากนั้นได้รับเลือกเป็นรองประธาน UMNO สำหรับวาระ 2561/2564

อย่างไรก็ตามก่อนการเข้ารับตำแหน่งของอิสมาอิล ซาบรี ได้มีประชาชนร่วมลงรายชื่อคัดค้านการแต่งตั้ง ใน change.org โดยมี ไคลี โฒฮัมหมัด เป็นผู้ริเริ่ม โดยให้เหตุผลว่า บริหารโควิดผิดพลาด ทำให้เกิดการติดเชื้อในวงกว้าง และคำพูดหลายอย่างสะท้อนว่าเป็นโกหก และตัวตลกทางการเมือง

ณ วันที่ 20 สิงหาคม 2564 มีชาวมาเลเซียร่วมลงชื่อกว่า 333,000 ราย