ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > Plant-based Meat เทรนด์อาหารโลก ยกระดับอุตสาหกรรมอาหารภูมิภาค

Plant-based Meat เทรนด์อาหารโลก ยกระดับอุตสาหกรรมอาหารภูมิภาค

3 กรกฎาคม 2021


ที่มาภาพ : https://www.greenqueen.com.hk/thailand-agribusiness-charoen-pokphand-foods-to-launch-plant-based-meat-circular-economy-strategy/

Plant-based Meat หรือ เนื้อจากพืช จุดเปลี่ยนสำคัญของวงการอุตสาหกรรมอาหารในปัจจุบัน จากการใช้วัตถุดิบจากพืชที่มีโปรตีนสูงแทนเนื้อสัตว์ เพื่อตอบโจทย์เมกะเทรนด์ด้านไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่หันมาให้ความสำคัญกับสุขภาพและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และจากการระบาดของโควิด-19 ในปัจจุบัน รวมทั้งโรคอุบัติใหม่ในสัตว์ ส่งผลให้กระแสการดูแลสุขภาพได้รับความสนใจมากขึ้นต่อเนื่อง

เมกะเทรนด์ดังกล่าวไม่เพียงก่อให้เกิดการตื่นตัวของนักธุรกิจในตลาดโลกเท่านั้น สำหรับไทยแล้วส่งผลให้เกิดการเข้ามาของธุรกิจ Food Tech Start Up รุ่นใหม่ ๆ มากขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งการรวมกลุ่มของธุรกิจต่าง ๆ เพื่อเข้าสู่ตลาดดังกล่าว

ประเด็นที่น่าสนใจ คือ โอกาสและความท้าทายของอุตสาหกรรมนี้ของไทยจะมีมากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะในมิติของอุตสาหกรรมกลางน้ำที่กระจายตัวอยู่ในภูมิภาค หากไทยจะถือโอกาสนี้ผลักดันและยกระดับอุตสาหกรรมในท้องถิ่นให้เติบโตอย่างยั่งยืนนำไปสู่ New S-curve ใหม่ได้ในระยะยาว

บทความนี้ ขอรวบรวมข้อมูลและมุมมองต่าง ๆ จากการสัมภาษณ์นักวิชาการและนักธุรกิจที่เชี่ยวชาญทั้งในภูมิภาคและส่วนกลาง มาถ่ายทอดให้ทุกท่านได้อ่าน

ทำความรู้จัก Plant-based Meat

1.Plant-based Meat หรือ เนื้อจากพืช คืออะไร ?: อาหารเนื้อสัตว์ที่ทำจากพืชโดยใช้กระบวนการแปรรูปพืชให้มีความใกล้เคียงเนื้อสัตว์ทั้งผิวสัมผัสและรสชาติ

2.คุณสมบัติสำคัญของ Plant-based Meat: ช่วยตอบโจทย์ Food Trend ในปัจจุบัน ด้วยมีคุณสมบัติสำคัญ คือ ไม่ใส่สารเคมี มีส่วนประกอบของพืช ลดเค็ม ลดมัน ลดหวาน มีความหลากหลาย สะดวกพร้อมทาน และดีต่อสุขภาพของผู้บริโภค

3.Plant-based Meat Market and Value Chain ห่วงโซ่ในการผลิตสำคัญ: ได้แก่ วัตถุดิบในการผลิตหลักทั้งในตลาดโลกและไทย คือ ถั่วเหลือง ข้าวสาลี และพืชตระกูลถั่วต่าง ๆ สำหรับพืชชนิดอื่น ๆ ช่วยให้รสและผิวสัมผัสมีความใกล้เคียงเนื้อสัตว์มากยิ่งขึ้น โดยส่วนใหญ่ แปรสภาพเพื่อใช้เป็นเนื้อในแฮมเบอร์เกอร์และไส้กรอก (รูปที่ 1) ซึ่งในปีที่ผ่านมาขนาดตลาดรวมทั้งโลกมีมูลค่ามากถึง 4.3 พันล้านดอลลาร์ สรอ. และมีทิศทางขยายตัวต่อเนื่อง โดยตลาดผู้บริโภคหลักได้แก่ ยุโรป อเมริกา และเอเชีย (รูปที่ 2) สำหรับความต้องการบริโภคในประเทศไทยยังมีขนาดไม่ใหญ่มากนักเนื่องจากอยู่ในช่วงเริ่มต้น

จากข้อมูลสถิติตลาด Plant-based Meat ในต่างประเทศที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่และมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องโดยเฉพาะในยุโรปและอเมริกา นับว่าเป็นโอกาสของไทยในการเกาะกระแสไปกับคลื่นที่กำลังมาแรงภายใต้เมกะเทรนด์นี้

จากการสัมภาษณ์นักวิชาการและนักธุรกิจทั้งรายที่อยู่ในวงการอาหารมานานกว่า 20 ปี และกลุ่ม Start up รุ่นใหม่ ทั้งที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคและส่วนกลางต่างเห็นว่า ไทยมีศักยภาพในอุตสาหกรรมนี้จาก 5 ปัจจัย ขณะเดียวกันก็มีอีก 4 ความท้าทาย ที่ต้องเตรียมรับมือ

ผู้ประกอบการแปรรูปสินค้าเกษตรส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในภูมิภาคและใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น

โอกาส ของไทยในอุตสาหกรรม Plant-based Meat

1.วัตถุดิบมีความหลากหลาย ไทยอุดมสมบูรณ์ด้วยผลผลิตทางการเกษตรจำนวนมากและหลากหลายชนิดกระจายไปทั่วประเทศ (รูปที่ 3) เป็นโอกาสในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลายทั้งรสชาติและรูปแบบ เพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น และเป็นการยกระดับรายได้ให้แก่เกษตรกร และวิสาหกิจชุมชนในท้องถิ่น ให้มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการผลิตพืชวัตถุดิบเข้าสู่อุตสาหกรรม

2.นักธุรกิจด้านอุตสาหกรรมอาหารมีความเชี่ยวชาญ ด้วยไทยเป็นเมืองเกษตรมาเป็นเวลานาน โดยโรงงานส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในภูมิภาค (รูปที่ 4) ใกล้วัตถุดิบ เอื้อต่อการต่อยอดธุรกิจเดิม ยกระดับและเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้า โดยผู้ประกอบการในภูมิภาคที่อยู่ในอุตสาหกรรมนี้แล้ว เช่น บจ. นิธิฟู้ดส์ Brand “ let’s plant meat” และยังมีผู้ประกอบการรายใหญ่ในภูมิภาคอย่าง บมจ. ซันสวีท ที่ให้ความสนใจ สำหรับกลุ่มฟู้ดเทคสตาร์ทอัพจากส่วนกลางที่ใช้วัตถุดิบจากภูมิภาค เช่น More Meat เป็นต้น

3.ความพร้อมด้านนักวิชาการสถาบันการศึกษาในการทำ R&D ที่มีความรู้ความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ด้านอาหาร ซึ่งที่ผ่านมาได้รับทุนวิจัยในลักษณะโครงการปีต่อปี

4.เทคโนโลยีนวัตกรรมในอุตสาหกรรมอาหารปัจจุบันราคาเอื้อมถึง มีความหลากหลาย และเติบโตต่อเนื่อง เอื้อต่อธุรกิจรายใหม่ที่ต้องการเข้าสู่อุตสาหกรรมนี้

5.Future Food and Food security อีก 30 ปีข้างหน้าคาดว่าประชากรโลกจะมีจำนวน 9.7 พันล้านคน5 เพิ่มขึ้นจาก 7.9 พันล้านคน ในปัจจุบัน อาหารทางเลือกจึงมีความ สำคัญ สำหรับไทย อาหารกลุ่มนี้มีโอกาสขยายไปยังกลุ่มทางการแพทย์โดยเฉพาะผู้ป่วยโรค NCD6-7และผู้สูงอายุ

อย่างไรก็ตาม ภาพรวมระดับการพัฒนาของอุตสาหกรรม Plant-based Meat ของประเทศไทย “ไทยถือว่าอยู่ในช่วงเริ่มต้น และคาดว่าใช้เวลาไม่น้อยกว่า 5 ปีในการพัฒนาให้ทันกับต่างประเทศ”

รูปที่ 6 ระดับการพัฒนาภาพรวมอุตสาหกรรมPlant- based Meat ของไทยเทียบกับต่างประเทศ ที่มา: จากการสัมภาษณ์ประมวลผลโดยทีมศึกษา

ความท้าทาย

1.ต้นทุนต่อหน่วยสูง ในระยะแรกจาก R&D ที่เอกชนต้องลงทุนใช้เวลาในการคิดค้นให้ได้มาตรฐานและความปลอดภัย

2.ราคาผลิตภัณฑ์ยังอยู่ในระดับสูง จากต้นทุนต่อหน่วยสูงตลาดภายในประเทศที่ยังเล็ก ผู้ผลิตยังมีจำนวนน้อย

3.มาตรฐานการผลิต ที่ได้รับการรับรองสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภค

4.วัตถุดิบในระยะยาว วัตถุดิบหลักบางส่วนต้องนำเข้าจากต่าง ประเทศ เช่น ถั่วเหลือง (Non-GMOs) และเกษตรกรส่วนใหญ่อายุมาก

Key Success ของอุตสาหกรรมนี้คือ ?

หากถามต่อไปว่า เมื่อไทยเรามีศักยภาพในอุตสาหกรรมนี้แล้ว จะทำอย่างไรให้อุตสาหกรรม นี้สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน และแข่งขันได้ในต่างประเทศ หรือสำหรับผู้ประกอบการรายเดิมจะปรับตัวสู่วิถีชีวิตใหม่นี้ได้อย่างไร

จากการถอดบทเรียน ประสบการณ์ มุมมอง และแนวคิดของผู้ประกอบการสำคัญทั้งในภูมิภาคและส่วนกลาง พบว่า สิ่งสำคัญในการผลักดันให้ธุรกิจเนื้อจากพืชประสบความสำเร็จ สำหรับผู้ที่สนใจธุรกิจและต้องการต่อยอดผลิตภัณฑ์มี

Key success ที่น่าสนใจ 4 ส่วนดังนี้

1.ผู้ประกอบการ: รู้รอบ คิดดี มุ่งมั่น

    -ความรู้ความเข้าใจ ทั้ง Supply Chain อย่างลึกซึ้ง
    -กล้าลงมือทำ ล้มเร็ว ลุกเร็ว
    -มีความอดทน
    -ใจกว้าง มุ่งพัฒนาสินค้าอย่างต่อเนื่อง
    -พร้อมเรียนรู้และสร้างพันธมิตรทางธุรกิจ เช่น เชื่อมไปยังธุรกิจร้านอาหาร ธุรกิจที่มีความเชี่ยวชาญด้านการจำหน่าย
    -คำนึงถึงความยั่งยืน ทั้งของธุรกิจ ผู้บริโภค และผู้ผลิตวัตถุดิบ

2.วิธีการ: ทีละนิด มีหลักการ

    -เริ่มต้นแบบ Minimal ก้าวทีละ STEP เช่น ลงทุนจากที่มี แล้วค่อยต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ เมื่อมีเงินทุนเพิ่มขึ้น
    -กระบวนการคิด Why – What if – How to เพื่อหาสิ่งใหม่ที่จะทำให้เกิด S-curve

3.เครื่องไม้เครื่องมือ: ของดีช่วยส่งเสริม

    -งานวิจัย เพื่อสร้างสรรค์และพัฒนาคุณภาพสินค้าอยู่เสมอ ( เริ่มจากผู้เชี่ยวชาญในสถาบันศึกษา หลักสูตรเกี่ยวกับอุตสาหกรรมอาหาร )
    -แหล่งวัตถุดิบ ที่มีคุณภาพและเพียงพอต่อการผลิต อย่างเช่น ผู้ประกอบการในจังหวัดเชียงใหม่ใช้ประโยชน์จากวัตถุดิบในพื้นที่ หรือนักธุรกิจส่วนกลางใช้วัตถุดิบจากทางภาคใต้
    -การสื่อสาร และการตลาด กับผู้บริโภคอย่างต่อเนื่องและชัดเจน
    -พันธมิตรทางธุรกิจ มีคู่ค้า คู่คิด และร่วมทุน เพื่อธุรกิจที่แข็งแกร่งขึ้น

4.ผลิตภัณฑ์: ต่อยอดความเหมือนให้โดดเด่น

    -มีความเสมือนเนื้อ ทั้งคุณค่าทางโภชนาการ เนื้อสัมผัส รส และกลิ่น โดยเฉพาะการผลิตที่ให้กลิ่นเสมือนเนื้อจริง ยังเป็นโจทย์สำคัญที่ธุรกิจทั้งในไทยและต่างประเทศพยายามศึกษาวิจัย
    -มีจุดเด่นที่น่าสนใจ เช่น กลุ่มแพ้อาหาร โซเดี่ยมต่ำ และมีอัตลักษณ์ความเป็นไทย เป็นต้น
    สำหรับธุรกิจหากสนใจสามารถเริ่มจากบันได 5 ขั้น

สรุปและข้อเสนอแนะ

เนื้อจากพืช หรือ Plant-based Meat ถือเป็นโอกาสของไทยที่เราจะสร้าง S-curve ใหม่แก่อุตสาหกรรมอาหาร เนื่องจากไทยมีข้อได้เปรียบจากทรัพยากรที่มีอยู่ทั้งวัตถุดิบ คน และเทคโนโลยี ที่สามารถต่อยอดผลิตภัณฑ์เนื้อจากพืชให้มีความเสมือนเนื้อจริง และมีจุดเด่นต่าง ๆ สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ไม่ยาก ในระยะถัดไปหากค่านิยมของผู้บริโภคหันมาสนใจสุขภาพ และความยั่งยืนของอาหารมากขึ้น เชื่อว่าจะยิ่งมีแรงผลักดันการเติบโตของธุรกิจได้อย่างมากทั้งต้นน้ำ (การเกษตร) กลางน้ำ (อุตสาหกรรมอาหาร) และปลายน้ำ (ร้านอาหาร ช่องทางการขาย)

อย่างไรก็ตาม นักวิชาการและนักธุรกิจได้ให้ข้อคิดเพิ่มเติมว่า หากต้องการผลักดันธุรกิจเนื้อจากพืชให้เติบโตได้ในโลกวิถีชีวิตใหม่ มีสิ่งจำเป็นที่ภาครัฐต้องให้การสนับสนุนอีก 4 ด้าน เพื่อสร้างระบบนิเวศน์ส่งเสริมความพร้อมให้อุตสาหกรรมนี้ให้เติบโตเป็นครัวของโลกได้ตามศักยภาพ และช่วยสร้างรายได้ให้กับเศรษฐกิจไทยได้อย่างยั่งยืน

1.สนับสนุนเงินทุนด้าน R&D: ในรูปแบบการทำงานร่วมกันระหว่างสถาบันการศึกษาร่วมกับภาคเอกชนอย่างเหมาะสม เช่น ขยายเวลาการให้ทุนเป็น 2-3 ปีจากเดิมที่ให้ 1 ปี เพื่อพัฒนาระบบการติดตามวัดผล เพื่อความต่อเนื่องของโครงการและสามารถนำมาใช้ในการทำธุรกิจได้จริง

2.สร้าง ecosystem ที่พร้อมเพื่อสร้างแรงจูงใจและเอื้อต่อธุรกิจ: อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ที่ดีต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เช่น สิทธิภาษี การร่วมมือด้านการตลาด การขายแบบรวมกลุ่ม และการเข้าถึงสินเชื่อในกรอบ Sustainable finance เป็นต้น

3.พัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่: ส่งเสริมเกษตรกรให้มีความรู้ด้านเทคโนโลยี (Smart Farmer) เพื่อเพิ่มผลผลิตให้มีเพียงพอและเป็นระบบ รองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมในระยะยาว

4.มีหน่วยงานดูแลชัดเจนอย่างเป็นระบบและผลักดันต่อเนื่อง: เนื่องจากอุตสาหกรรมอาหารเชื่อมโยงกับความปลอดภัยในการบริโภค ต้องใช้เวลาในการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ จึงควรมีหน่วยงานดูแลส่งเสริมอย่างต่อเนื่องเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน

ที่มา:
1/ ข้อมูลปี 2018 จาก Plant Based Meat Market, Size, Share, Opportunities and Forecast, 2020-2027
2/ Plant Based Meat Market Outlook 2025 (Dec 2020) เผยแพร่โดย Markets and Markets Analysis
3/สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
4/ ข้อมูลกรมพัฒนาธุรกิจ (ปี 2560 เฉพาะอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตร ไม่รวม เครื่องดื่ม และ ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ คำนวณโดยผู้เขียน) ,
5/ World Bank
6/ รวบรวมโดยกองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (NCD ประกอบด้วยโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน หลอดเลือดหัวใจ และหลอดเลือดสมอง)
7/ บทความเรื่อง Is Vegetarianism a Solution for Obesity and NCDs? A Review (March 2021) โดย Ana María Zelaya, Elisa M. Sinibaldi


ผู้เขียน รสสุคนธ์ ศึกษานภาพัฒน์,พรทิพย์ ติ๊บศรี และ ดวงทิพย์ ศิริกาญจนารักษ์ ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย

ผู้สนับสนุนข้อมูล ความเห็น และข้อเสนอแนะ

  • ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อินทาวุธ สรรพวรสถิตย์ รองคณบดี สำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอาจารย์ประจำ ภาควิชาเทคโนโลยีทางอาหาร คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • ดร.องอาจ กิตติคุณชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซันสวีท จำกัด (มหาชน)
  • คุณสมิต ทวีเลิศนิธิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท นิธิ ฟู้ดส์ จำกัด
  • คุณกันตพงศ์ ธนโชติวรพงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท มอร์ฟู้ดส์อินโนเทค จำกัด
  • “บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย”