ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > The Future of Protein บริโภคอย่างไรให้มีพอสำหรับทุกคนและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

The Future of Protein บริโภคอย่างไรให้มีพอสำหรับทุกคนและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

24 กรกฎาคม 2021


ที่มาภาพ: https://www.forumforthefuture.org/the-future-of-food

ทำอย่างไรที่จะให้คน 9 พันล้านคนมีโปรตีนบริโภค ในราคาที่จ่ายได้ มีคุณภาพ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นการตั้งคำถามจากรายงานวิจัย The Future of Protein พร้อมให้คำตอบว่า “เราให้คำตอบไม่ได้ทั้งหมด แต่อย่างน้อยเราก็มีจุดเริ่มต้นที่ดี”

รายงานวิจัย The Future of Protein จัดทำโดย Forum for the Future และพันธมิตรภายใต้โครงการ The Protein Challenge 2040

Forum for the Future เป็นองค์กรอิสระ ไม่แสวงผลกำไร ทำงานร่วมกับภาคธุรกิจ ภาครัฐ และอื่นๆ เพื่อแก้ปัญหาด้านความยั่งยืน

The Future of Protein เริ่มด้วยการให้ข้อมูลว่า โปรตีนถือเป็นส่วนสำคัญของอาหาร เนื่องจากโปรตีนมีกรดอะมิโนจำเป็น ที่ร่างกายต้องใช้ในการเติบโตและซ่อมแซมส่วนต่างๆ ซึ่งแหล่งโปรตีนที่แตกต่างกันก็จะให้กรดอะมิโนจำเป็นที่แตกต่างกันด้วย โดยแหล่งโปรตีนจากสัตว์และพืชบางชนิด เช่น ถั่วเหลืองและควินัว จัดว่าเป็นแหล่งที่มีกรดอะมิโนจำเป็นในปริมาณเพียงพอกับที่ร่างกายมนุษย์ต้องการ

ในสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรแนะนำว่า ปริมาณโปรตีนที่ต้องได้รับต่อวันคือประมาณ 55-56 กรัมสำหรับผู้ชายอายุ 19-50 ปี และประมาณ 45-46 กรัม สำหรับผู้หญิงอายุ 19-50 ปี ซึ่งอาจจะมากกว่านี้สำหรับสตรีมีครรภ์หรือให้นมบุตร

ที่มาภาพ : https://www.forumforthefuture.org/

อย่างไรก็ตาม โปรตีนที่มาจากพืชมักจะขาดกรดอะมิโนที่ร่างกายมนุษย์ต้องการอย่างน้อย 1 ชนิด ดังนั้นจึงควรบริโภคโปรตีนจากแหล่งโปรตีนที่หลากหลายอยู่เป็นประจำ

แต่กระบวนการผลิตและบริโภคโปรตีนในตอนต้นของศตวรรษที่ 21 เป็นสาเหตุสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม และดูเหมือนจะแย่ลงไปอีกหากเรายังไม่ดำเนินการแก้ไข

ภาคอุตสาหกรรม รัฐบาล และประชาสังคม เริ่มตระหนักถึงผลกระทบนี้ ทำให้เกิดโครงการ The Protein Challenge 2040 ขึ้น ถือเป็นความร่วมมือระดับโลกครั้งแรก

    โปรตีนคืออะไร

    คนส่วนมากมักจะคิดว่าโปรตีนคือปลาและเนื้อสัตว์ แต่จริงๆ แล้วโปรตีนยังมีอยู่ในอาหารชนิดอื่นๆ อีกมากมาย

    โดยแหล่งโปรตีนที่มีห่วงโซ่ขนาดใหญ่และส่งผลกระทบมากที่สุดในโลกทั้งในปัจจุบันและอนาคต ได้แก่

  • แหล่งโปรตีนจากสัตว์ เช่น เนื้อขาวและแดง ผลิตภัณฑ์จากนม ไข่ ปลาทั้งจากการเลี้ยงและการจับจากธรรมชาติ และแมลง
  • แหล่งโปรตีนจากพืช เช่น พืชตระกูลถั่ว เมล็ดพืช และธัญพืช
  • แหล่งโปรตีนทางเลือก เช่น ไมโครแอลจีหรือสาหร่ายขนาดเล็ก แบคทีเรีย มัยคอโปรตีน รวมถึงโปรตีนทางเลือกในอนาคต อย่างเช่น เนื้อสัตว์สังเคราะห์ หรือเนื้อสัตว์ที่เพาะเลี้ยงในห้องแล็บ
  • ระบบของโปรตีน

    โปรตีนจัดว่าเป็นสารอาหารที่สำคัญต่อมนุษย์ แต่มีคนกว่า 2 พันล้านคนที่ต้องเผชิญกับภาวะโภชนาการต่ำจากการขาดสารอาหารที่สำคัญ ซึ่งเป็นปัจจัยหลักของความเสี่ยงด้านสุขภาพ

    ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อภาวะทุพโภชนาการมากที่สุดคือผู้ที่อยู่ในประเทศที่ยากจนที่สุด เนื่องจากไม่สามารถเข้าถึงแหล่งโปรตีนที่มีคุณภาพได้ (จากทั้งพืชและสัตว์) และจะแย่ลงไปอีกหากต้นทุนของโปรตีนสูงขึ้น

    ในทางกลับกัน ในประเทศที่พัฒนาแล้ว กลับมีการบริโภคเกินกว่าปริมาณที่เหมาะสมต่อสุขภาพ

    ส่วนในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ พบว่าความต้องการโปรตีนจากสัตว์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากการขยายตัวของเมืองและรายได้ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งคาดว่าการบริโภคเนื้อสัตว์ทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าของปัจจุบันในปี 2050

    ปฏิเสธไม่ได้ว่าโปรตีนเป็นสารอาหารที่สำคัญต่อมนุษย์ แต่วิธีที่เราผลิตและบริโภคโปรตีนในปัจจุบันส่งผลกระทบมากมาย ทั้งทางสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ

    ผลกระทบจากกระบวนการผลิตโปรตีน

  • ผลกระทบต่อมหาสมุทร
  • เนื่องจากปลาและอาหารทะเลถือว่าแหล่งโปรตีนที่สำคัญ และมีผู้บริโภคถึง 3 พันล้านคน ทำให้อุปทานของปลาและอาหารทะเลถึงขีดจำกัด ซึ่งมีสาเหตุมาจาก

    การทำประมงที่มากเกินไป: มีการจับปลาถึง 90.1% จากจำนวนปลาทั่วโลก ซึ่งการจับปลาจากธรรมชาติที่มากเกินไปนี้ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในทะเลอย่างรุนแรง นอกจากนั้น 40% ของปลาที่จับจะถูกทิ้งไปในทุกๆ ปี ซึ่งดูเหมือนว่าจะมีการทำฟาร์มเพาะเลี้ยงปลาขึ้นมาแทน และคาดว่าในปี 2030 การทำฟาร์มเพาะเลี้ยงปลาจะเป็น 2 ใน 3 ของอุปทานทั่วโลก แต่อย่างไรก็ตาม การทำฟาร์มเพาะเลี้ยงปลาก็ยังต้องพึ่งการจับปลาจากธรรมชาติเพื่อไปเป็นอาหารของปลาในฟาร์มอยู่ดี

  • ผลกระทบต่อพื้นดิน
  • การทำเกษตรกรรมใช้พื้นที่กว่า 2 ใน 5 ของการใช้ที่ดินทั่วโลก ซึ่งจากการผลิตโปรตีนจากพืชทั้งหมด มีไม่ถึงครึ่งหนึ่งที่ถูกใช้สำหรับการบริโภคของคน เนื่องจากระบบการเลี้ยงสัตว์เชิงอุตสาหกรรมทำให้โปรตีนจากพืชถูกนำไปเป็นอาหารสัตว์ และยังทำให้เกิดปัญหาจากการผลิตตามมาอีกด้วย อย่างเช่น
    มลพิษและปัญหาการใช้น้ำ: ในกระบวนการผลิตโปรตีนมีการใช้น้ำในปริมาณมาก โดยในส่วนของการเกษตรใช้น้ำถึง 70% จากการใช้น้ำทั้งหมด ซึ่งการผลิตโปรตีนแต่ละชนิดก็ใช้น้ำในปริมาณที่แตกต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น ปริมาณน้ำที่ใช้ในโปรตีนจากเนื้อวัวมากกว่าที่ใช้ในโปรตีนจากถั่วพัลส์ถึง 6 เท่า
    การสูญเสียพื้นที่ป่า: เนื่องจากอาหารสัตว์และปลาป่นผลิตจากโปรตีนจากพืชและถั่วเหลือง ซึ่งการเพาะปลูกถั่วเหลืองเป็นสาเหตุของการตัดไม้ทำลายป่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอเมริกาใต้ที่กระบวนการผลิตอาหารจากพืชและสัตว์คิดเป็นเกือบ 1 ใน 3 ของการตัดไม้ทำลายป่าทั่วโลกและเกี่ยวข้องกับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อีกด้วย
    ก๊าซเรือนกระจก: อาหารและการเกษตรถือเป็นสาเหตุหลักของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งกระบวนการปศุสัตว์คิดเป็น 14.5% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดที่มาจากมนุษย์
    ความผันผวนของราคาอาหาร: เนื่องจากอาหารสัตว์ต้องใช้ถั่วเหลืองในปริมาณมาก และจาก 90% ของถั่วเหลืองทั่วโลกมากจากแค่ 3 ประเทศเท่านั้นคือ อเมริกา บราซิลและอาร์เจนตินา ดังนั้นอุปทานจึงมีความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้เกิดความไม่แน่นอนของอุปทานและราคาอาหารสัตว์
    การดื้อยาปฏิชีวนะ: เนื่องจากมีการใช้ยาปฏิชีวนะในการทำปศุสัตว์ ซึ่งการใช้ยาปฏิชีวนะที่มากเกินไปจะทำให้เกิดการดื้อยา ซึ่งมีผู้ที่เสียชีวิตจากสาเหตุนี้ถึง 25,000 รายแค่เฉพาะในสหราชอาณาจักร
    การเสื่อมโทรมของดิน: ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากการถางหญ้ามากเกินไป การตัดไม้ทำลายป่า และกิจกรรมทางการเกษตร ซึ่งทำให้สูญเสียดินที่อุดมสมบูรณ์ประมาณ 25,000 ล้านตันต่อปี

The Protein Challenge 2040 คืออะไร

The Protein Challenge 2040 เป็นความร่วมมือระดับโลกที่นำอุตสาหกรรมโปรตีนจากทั้งสัตว์ พืช และโปรตีนทางเลือกมารวมกัน รวมถึงองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพระดับโลกด้วย ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการผลิตและการบริโภคโปรตีนให้เป็นไปอย่างยั่งยืนมากขึ้น

โดยจะมี Forum for the Future ที่เป็นองค์กรอิสระไม่แสวงหากำไรซึ่งทำงานเกี่ยวกับความยั่งยืนระดับโลกมากว่า 20 ปี มาดำเนินความร่วมมือจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหลาย เพื่อแก้ปัญหาความยั่งยืน

ดันแคน วิลเลียมสัน ผู้จัดการโครงการ จาก WWF กล่าวว่า “เรารู้ว่าเพื่อที่จะให้บรรลุเป้าหมาย เราต้องร่วมมือกัน ทั้งในและนอกภาคส่วนของสิ่งแวดล้อม เนื่องจากปัญหาที่มีขนาดใหญ่และครอบคลุมทั้งประเด็นด้านสุขภาพ เศรษฐศาสตร์ และการอนุรักษ์ทรัพยากรทางธรรมชาติ เราจึงจำเป็นต้องรวมมือกับองค์กรอื่นๆ และภาครัฐ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในอนาคต”

โดย The Protein Challenge 2040 มีจุดประสงค์เพื่อเร่งให้เกิดการผลิตและการบริโภคโปรตีนอย่างยั่งยืน และช่วยแก้ปัญหาที่สร้างผลกระทบ ซึ่งมีเป้าหมายคือ

  • ยกระดับระบบของโปรตีนให้เป็นส่วนสำคัญของระบบอาหารที่ยั่งยืนโดยร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ภาคธุรกิจและภาครัฐ
  • เปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับโปรตีนว่ามาจากแหล่งที่ “ดี” กับ “แย่” เป็นการรักษาสมดุลการบริโภคโปรตีนจากแหล่งต่างๆ
  • เร่งดำเนินการและเพิ่มการลงทุนในการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน และกำหนดนโยบายเพื่อแก้จุดที่มีปัญหาในระบบ
  • Birgit Schleifenbaum ผู้อำนวยการฝ่ายสำรวจธรรมชาติและความยั่งยืน นวัตกรรม และรสชาติ จากบริษัท Firmenich SA กล่าวว่า “The Protein Challenge 2040 มีเป้าหมายในการเชื่อมโยงห่วงโซ่ต่างๆ เข้าด้วยกันเพื่อให้เกิดผลลัพธ์สูงสุด เราทราบดีว่าความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ในด้านความยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้ด้วยการทำงานร่วมกันเท่านั้น”

    ที่มาภาพ : https://www.forumforthefuture.org/

    สถานการณ์โลกในอนาคต

    Forum for the Future ทำการติดตามและคาดการณ์การเปลี่ยนแปลง โดยเน้นไปที่ความไม่แน่นอนและให้ข้อมูลในการตัดสินใจอย่างยั่งยืนมากขึ้น

    โดยได้สร้างศูนย์กลางของ Future of Protein ไว้ใน Future Centreของ Forum for the Future เพื่อติดตามเทรนด์ นวัตกรรม การเปลี่ยนแปลงของการผลิตและการบริโภคโปรตีน และสร้างชุมชมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ตั้งแต่ผู้เชี่ยวชาญทางด้านอาหารและการเกษตรไปจนถึงนวัตกรที่สนใจในการแก้ปัญหานี้

    พร้อมใช้สถานการณ์ในอนาคตมาช่วยให้เห็นถึงความเสี่ยง โอกาสในอนาคต และจุดที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงในระบบปัจจุบัน

    จากการวิจัยและการสัมภาษณ์ ทำให้สามารถระบุตัวเลขของแนวโน้มในอนาคตที่ค่อนข้างมีความแน่นอน อย่างเช่น การเติบโตของประชากร การขาดแคลนทรัพยากร การแข่งขันทางที่ดินที่เพิ่มขึ้น แต่อย่างไรก็ตามก็มีแนวโน้มอื่นๆ ที่ยังมีความไม่แน่นอนอยู่ เช่น การยอมรับเทคโนโลยีใหม่ๆ ของผู้บริโภค

    โดยได้สร้างสถานการณ์ของโลกในอนาคตไว้ 4 รูปแบบที่แตกต่างกัน ดังนี้

  • โลกไฮเทค ซึ่งเทคโนโลยีถูกนำไปใช้ในการแก้ไขปัญหาอย่างแพร่หลาย ตัวอย่างเช่น ในแล็บเพาะเลี้ยงอาหาร นำเทคโนโลยีไปใช้ในการลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และใช้เพื่อตอบสนองความต้องการด้านโภชนาการ ซึ่งคนจะมีอาหารให้เลือกมากขึ้นแต่จะยุ่งเกี่ยวธรรมชาติน้อยลง และจะพึ่งพาเทคโนโลยีในการดำรงชีวิตมากขึ้น
  • โลกแบบกระจัดกระจาย ซึ่งผลกระทบทางสภาพภูมิอากาศและความไม่แน่นอนทางการเมืองจะทำให้ประเทศต่างๆ กลับไปเน้นการเกษตรและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เพื่อแก้ปัญหาความมั่นคงทางอาหาร ทำให้มีการใช้ประโยชน์ที่ดินและน้ำมากเกินไป และเพิ่มความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงอาหารที่ดีและผลิตอย่างยั่งยืน โดยประเทศที่มีทรัพยากรมากก็จะเจริญในขณะที่ประเทศอื่นๆ ต้องต่อสู้ดิ้นรน
  • โลกแบบรวมอำนาจไว้ที่ศูนย์กลาง ซึ่งรัฐบาลจะเป็นผู้กำกับดูแลเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกัน ประชาชนจะได้รับอาหารที่ดี แต่จะต้องพึ่งพาระบบการทำฟาร์มอย่างมาก ซึ่งทำให้ดินเสื่อมโทรม และสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพเนื่องจากการตัดไม้ทำลายป่า
  • โลกแบบมีชุมชนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งเกิดจากการปฏิวัติพลังงานแบบกระจายอำนาจ เน้นไปที่การบริโภคในแต่ละชุมชนและเกษตรกรรมขนาดเล็กที่สนับสนุนธรรมชาติมากกว่าการใช้เทคโนโลยี ซึ่งจะทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น แต่ก็มีความเสี่ยงที่เกิดปัญหาความหิวโหยและขาดสารอาหารเพิ่มขึ้นในชุมชน
  • วิเคราะห์ระบบโปรตีน

    ระยะแรกของโครงการ The Protein Challenge 2040 อยู่ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์และเดือนตุลาคม ปี 2015 จะเกี่ยวกับการวิเคราะห์กระบวนการอย่างละเอียด

    การวิจัย การสัมภาษณ์ และการเวิร์กชอป (ในลอนดอน นิวยอร์ก ซานฟรานซิสโก และรอตเทอร์ดาม) ซึ่งร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่มีความเชี่ยวชาญมากกว่า 250 ราย และดึงเอางานวิจัยมากมายมาสร้างแผนผังระบบโปรตีนที่ครอบคลุมและเชื่อมโยงแต่ละห่วงโซ่คุณค่าและประเด็นความยั่งยืนทั้งในพืช สัตว์ และโปรตีนรูปแบบใหม่เป็นครั้งแรก โดยจะมีกระบวนการดังนี้

      1. การศึกษาวิจัยและวิเคราะห์รูปแบบระบบโปรตีนในปัจจุบัน โดยจะมีการศึกษาวิจัยทั้งในระดับปฐมภูมิและทุติยภูมิ การร่างแผนผังของแต่ละห่วงโซ่คุณค่า และการพัฒนาแบบร่างของแผนผังระบบโปรตีน
      2. การจำแนกปัญหาเกี่ยวกับความยั่งยืน ทั้งปัญหาในปัจจุบันและอนาคต โดยการตรวจสอบและสำรวจแผนผังร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย มีการสำรวจความเปลี่ยนแปลงของระบบในสถานการณ์ต่างๆ ในอนาคตในปี 2040 และการจำแนกและจัดลำดับการดำเนินการ
      3. พัฒนาและตรวจสอบผลตอบรับจากการทำงานร่วมกัน โดยการตรวจสอบและพัฒนาพื้นที่ดำเนินการที่เป็นไปได้ ทำความเข้าใจช่องว่างและการดำเนินการของส่วนอื่นๆ และการปรับแต่งแนวคิดให้เหมาะสมมากขึ้น

    ขอบเขตของนวัตกรรม

    แบ่งเป็นนวัตกรรม 6 ด้านที่สำคัญในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทั่วทั้งระบบโปรตีน คือ

      1. การเพิ่มสัดส่วนการบริโภคโปรตีนจากพืชในผู้บริโภค
      2. การยกระดับวิธีการให้อาหารอย่างยั่งยืนเพื่อตอบสนองความต้องการโปรตีนจากสัตว์
      3. การปิดวงจรโปรตีน
      4. การพัฒนาพืชพื้นเมืองให้เป็นแหล่งโปรตีนสำหรับชุมชนท้องถิ่น
      5. การยกระดับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอย่างยั่งยืนเพื่อนำไปเป็นอาหารคนและอาหารสัตว์
      6. การฟื้นฟูสุขภาพดิน

    โดยใน 3 ด้านแรกจะต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน ซึ่งการดำเนินการทั้ง 6 ด้านจะช่วยให้เราสามารถพัฒนาระบบโปรตีนให้เป็นไปอย่างยั่งยืนได้

    ในระยะถัดมาของโครงการ The Protein Challenge 2040 มีจุดประสงค์ที่จะเร่งความก้าวหน้าใน 6 ด้านนี้ เร่งส่งเสริมและแก้ปัญหาเพื่อทำให้ระบบโปรตีนเป็นไปอย่างเหมาะสมในอนาคต

    นวัตกรรมด้านที่ 1: การเพิ่มสัดส่วนการบริโภคโปรตีนจากพืช
    ในประเทศพัฒนาแล้ว คนส่วนมาบริโภคโปรตีนจากสัตว์มากเกินความจำเป็น ซึ่งทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าโปรตีนจากพืช

    การปรับสมดุลในการบริโภคโปรตีนจากพืช สัตว์และโปรตีนทางเลือกให้เหมาะสมจะช่วยลดผลกระทบมากมายในระบบโปรตีน อย่างเช่น ผลกระทบต่อสุขภาพ ผลกระทบจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จากมลพิษและการใช้น้ำ จากการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินและการสูญเสียพื้นที่ป่าไม้

    โดยจะทำงานร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เน้นไปที่ประโยชน์ของโปรตีนจากพืชต่อสุขภาพ โภชนาการและความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม โดยการสร้างข้อความเชิงบวก แบ่งปันเรื่องราว และใช้แบรนด์อาหารเข้ามาช่วยส่งเสริมการตัดสินใจของผู้บริโภค รวมไปถึงทำแคมเปญการตลาดร่วม นำนวัตกรรมการจัดส่งผลิตภัณฑ์มาใช้ เช่น อาหารสำเร็จรูป ส่งเสริมนโยบายทางสิ่งแวดล้อม และร่วมมือกับสถาบันระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง

    และมีเป้าหมายที่จะลดผลกระทบจากกระบวนการผลิตและการบริโภคโปรตีน และแก้ไขปัญหาสุขภาพที่เกิดจากการกินโปรตีนจากสัตว์มากเกินไป ภายในปี 2040

    เริ่มมีสัญญาณของการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นแล้ว เนื่องจากมีนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยออริกอนสเตต (Oregon State University) ได้จดสิทธิบัตรสาหร่ายที่มีรสชาติเหมือนเบคอน ซึ่งสาหร่ายชนิดนี้คือสาหร่าย dulse เป็นสาหร่ายสีแดงที่เติบโตได้อย่างรวดเร็ว เป็นแหล่งแร่ธาตุ วิตามิน และยังมีสารต้านอนุมูลอิสระที่ดีเยี่ยม นอกจากนั้นยังมีโปรตีนสูงกว่าโปรตีนที่พบในผักเคลถึง 2 เท่าด้วย

    ที่มาภาพ : https://www.forumforthefuture.org/Handlers/Download.ashx?IDMF=026a4509-ecf6-400a-b176-7e33ad649813

    นวัตกรรมด้านที่ 2: การเพิ่มวิธีการให้อาหารอย่างยั่งยืนเพื่อตอบสนองความต้องการโปรตีนจากสัตว์ กว่า 60 ปีที่ผ่านมาการทำฟาร์มทั้งวัว ไก่ หมูและปลาใช้วิธีการเลี้ยงด้วยธัญพืช ถั่วเหลืองและปลาป่นเพิ่มมากขึ้น

    วัตถุดิบเหล่านี้เป็นแหล่งโปรตีนคุณภาพสูงที่สามารถนำมาใช้เป็นอาหารของมนุษย์ได้ นอกจากนี้การนำปลาไปเป็นอาหารสัตว์ยังส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในมหาสมุทรอีกด้วย

    ดังนั้นการพัฒนาแหล่งอาหารสัตว์ใหม่เพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้น จึงเป็นส่วนสำคัญที่จะลดผลกระทบจากการใช้ประโยชน์ที่ดิน และลดปริมาณการใช้ที่ดินเพื่อการเกษตรและลดผลกระทบต่อระบบนิเวศมหาสมุทร

    มีนวัตกรรมอาหารทางเลือกอีกมากมาย ตั้งแต่แมลงไปจนถึงผลิตภัณฑ์มีเทน โดยเราต้องการเพิ่มการใช้นวัตกรรมเหล่านี้ เปลี่ยนแปลงระบบให้เป็นไปอย่างยั่งยืน เพื่อช่วยลดผลกระทบจากการใช้ที่ดินเพื่อการเกษตร

    นอกจากนี้เราจะพัฒนาสถานที่เพื่อใช้เป็นที่รวมตัวกันของนวัตกรด้านอาหารสัตว์ที่ยั่งยืน เพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนานวัตกรรม

    Carlos Saviani รองประธานฝ่ายอาหารที่ยั่งยืนของ WWF สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า “โปรตีนจากสัตว์ใช้ทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมากในการผลิต เนื่องจากสัตว์ต้องการแคลอรีและสารอาหารเพื่อดำรงชีวิต ในขณะเดียวกันพวกมันก็ยังสามารถกินและย่อยแหล่งสารอาหารที่มนุษย์เราไม่สามารถกินได้ ในปัจจุบัน เราสูญเสียทรัพยากรเหล่านี้มากเกินไปแล้ว ดังนั้นเราต้องใช้มันอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ต้องลดการใช้ทรัพยากร รวมถึงการใช้ที่ดินเพื่อการเลี้ยงสัตว์”

    ทั้งนี้เราจะสนับสนุนและเพิ่มวิธีการให้อาหารสัตว์แบบทางเลือก และมีเป้าหมายที่จะหาวิธีการเลี้ยงสัตว์ที่ดีขึ้นกว่าเดิมภายในปี 2040 เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่มาจากการเพาะปลูกเพื่อผลิตอาหารสัตว์ และนำโปรตีนจากพืชซึ่งมีคุณภาพสูงไปใช้สำหรับการบริโภคของมนุษย์ รวมถึงนำที่ดินไปใช้เพาะปลูกอาหารอื่นๆ แทน

    นวัตกรรมด้านที่ 3: การปิดวงจรโปรตีน

    จากทั่วโลกมีอย่างน้อย 30% ของอาหารที่ถูกทิ้งให้สูญเปล่า มีแหล่งโปรตีนที่มีประโยชน์หลายประเภทที่สูญเปล่าในปัจจุบัน เช่น กากโปรตีนที่เหลือทิ้งจากบริษัทแป้งสามารถใช้เป็นอาหารสัตว์ได้ หรือโปรตีนที่สกัดได้จากใบของบีทชูการ์ที่มักจะถูกทิ้งไว้ในทุ่ง

    การปิดวงจรการสูญเสียโปรตีนจะทำให้เราสามารถลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการผลิตโปรตีนได้ ซึ่งในส่วนนี้ก็ได้มีการดำเนินการไปบ้างแล้ว แต่ส่วนใหญ่อยู่ในรูปแบบของข้อตกลงทางการค้าระหว่างธุรกิจ

    ในส่วนนี้จะรวบรวมการวิจัยที่ไม่เคยมีมาก่อนเพื่อสำรวจว่าการสูญเสียโปรตีนเกิดขึ้นได้อย่างไรและเกิดที่จุดไหน รวมทั้งสนับสนุนความคิดริเริ่มที่นำไปปฏิบัติได้จริงในการแก้ปัญหา

    Lisa Boyd ผู้จัดการอาวุโส กลุ่มความรับผิดชอบต่อสังคมด้านอาหาร ของ Target กล่าวว่า “การลดของเสียจากอาหารในทุกช่องทางเป็นปัจจัยสำคัญที่จะลดปัญหาในระบบการเกษตรและทำให้สารอาหารที่สำคัญเพียงพอให้ใช้ในระยะยาวเพื่อเลี้ยงประชากรที่เพิ่มขึ้น”

    โดยเราจะระบุและลดจุดที่มีการสูญเสียโปรตีนจากทั่วทั้งระบบ เพื่อจะนำของเสียที่เป็นโปรตีนไปใช้ประโยชน์ใหม่อย่างมีคุณค่าและยั่งยืน โดยนำไปใช้สำหรับการบริโภคของมนุษย์หรือหรือสัตว์ ภายในปี 2040

    ในปัจจุบันมีการค้นพบวิธีการผลิตโปรตีนจากพืชที่มีต้นทุนต่ำแต่มีคุณภาพสูง โดยบริษัทแห่งหนึ่งในซิดนีย์ ซึ่งเป็นบริษัทเชื้อเพลิงทางเลือก (Alternative Fuel Corporation: AFC) ที่ผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพเป็นหลัก แต่มีผลพลอยได้เป็นยีสต์ที่อุดมไปด้วยโปรตีนและคุณค่าทางโภชนาการ ซึ่งสามารถนำไปเป็นอาหารสัตว์หรือคน เปรียบเหมือนนมกับไข่

    นวัตกรรมด้านที่ 4: การพัฒนาพืชพื้นเมืองให้เป็นแหล่งโปรตีนสำหรับชุมชนท้องถิ่น
    มีพืชเพียง 3 ชนิด คือ ข้าวโพด ข้าวสาลี และข้าวเท่านั้น ที่คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 50% ของการบริโภคโปรตีนจากพืชจากทั่วโลก

    การบริโภคโปรตีนทั่วโลกมีความเหลื่อมล้ำอย่างมาก และยังมีปัญหาสุขภาพที่เกิดการบริโภคโปรตีนมากเกินไปและน้อยเกินไปด้วย พืชผลพื้นเมือง อย่างเช่น ข้าวฟ่าง มันเทศ ถือว่ามีบทบาทสำคัญในความมั่นคงด้านอาหารของภูมิภาค เนื่องจากพืชพวกนี้มักจะเหมาะกับสภาพอากาศในท้องถิ่น และมีความยืดหยุ่นเมื่อต้องเจอกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก

    โดยเราต้องการที่จะจัดตั้งกลุ่มความร่วมมือระหว่างผู้ผลิต นักวิชาการ นักลงทุน และองค์กรภาครัฐที่มุ่งพัฒนาโปรตีนพื้นเมืองในประเทศกำลังพัฒนา เน้นไปที่แอฟริกาทางตอนใต้ของทะเลทรายซาฮาราและอินเดีย และมีเป้าหมายจะเพิ่มความยืดหยุ่นของระบบโปรตีน และปกป้องแหล่งโปรตีน โดยการเพิ่มผลผลิตและการตลาดของการเพาะปลูกพืชพื้นเมือง ภายในปี 2040

    ในปัจจุบันก็ได้มีการพัฒนาถั่วทนร้อนกว่า 30 สายพันธุ์สำหรับประเทศที่มีความยืดหยุ่นของการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิ โดยนักวิทยาศาสตร์จากกลุ่มที่ปรึกษาเพื่อการวิจัยทางการเกษตรระหว่างประเทศ (Consultative Group for International Agricultural Research: CGIAR) ซึ่งถั่วสายพันธุ์นี้สามารถทนต่อความแห้งแล้ง อุณหภูมิที่สูง และยังมีธาตุเหล็กที่สูงขึ้นด้วย

    ที่มาภาพ : https://www.forumforthefuture.org/Handlers/Download.ashx?IDMF=026a4509-ecf6-400a-b176-7e33ad649813

    นวัตกรรมด้านที่ 5: การเพิ่มการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอย่างยั่งยืน

    ปัจจุบันการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เป็นมากกว่า 50% ของสัตว์น้ำทั้งหมดที่คนบริโภคทั่วโลก คาดว่าจะเป็นแหล่งอาหารทะเลที่สำคัญภายในปี 2030 เนื่องจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของชนชั้นกลางทั่วโลกและการจับสัตว์น้ำจากธรรมชาติลดลง

    การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำสามารถช่วยในการทำมาหากินและเลี้ยงชีพประชากรโลก แต่การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในปัจจุบันมีการใช้น้ำมันปลา ปลาป่น และถั่วเหลืองมากเกินไป ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลและป่าไม้ และเป็นปัญหามลพิษของแหล่งน้ำในท้องถิ่นจากการใช้สารเคมีมากเกินไป นอกจากนี้ยังมีปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงานจากห่วงโซ่อุปทานของการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอีกด้วย

    โดยจะทำการวิเคราะห์ปัญหาและโอกาสในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทั้งในปัจจุบันและอนาคตร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและผู้เชี่ยวชาญ จากนั้นเราจะพยายามสร้างความร่วมมือเพื่อจัดการกับปัญหาเหล่านั้น

    โดยภายในปี 2040 จะปรับปรุงความยั่งยืนในอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้ปลอดภัยและดีต่อการดำรงชีวิตและให้แหล่งโปรตีนที่ดีต่อสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับประชากรที่ทุกข์ทรมานจากการขาดโปรตีน

    ในสวีเดน มีบริษัทสตาร์ทอัพที่ชื่อว่า Vegafish ใช้วิธี ‘ไบโอฟล็อก (Biofloc)’ ซึ่งเป็นการนำจุลินทรีย์เข้าไปในบ่อเลี้ยงกุ้งเพื่อย่อยสลายมูลกุ้งและจะกลายไปเป็นอาหารของกุ้ง ซึ่งวิธีนี้เลี้ยงกุ้งได้มากกว่าวิธีแบบเดิม 10 – 40 เท่า

    ที่มาภาพ : https://www.forumforthefuture.org/Handlers/Download.ashx?IDMF=026a4509-ecf6-400a-b176-7e33ad649813

    นวัตกรรมด้านที่ 6: การฟื้นฟูสุขภาพดิน

    หากไม่มีดินเราก็จะไม่สามารถผลิตอาหารและเลี้ยงปศุสัตว์ได้ แต่ในปัจจุบันระบบการจัดการดินและการเพาะปลูกจำนวนมากเป็นไปอย่างไม่ยั่งยืน มีการใช้ปุ๋ยมากเกินไปทำให้เกิดการสูญเสียไนโตรเจนในดิน ในขณะที่บางพื้นที่มีการใช้ปุ๋ยน้อยเกินไปก็จะทำให้โครงสร้างดินเสื่อมโทรม ผลผลิตลดลง

    ดังนั้นการปกป้องและปรับปรุงดินใหม่จึงมีบทบาทสำคัญในด้านความมั่นคงของแหล่งอาหาร เราต้องพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อกำหนดมาตรฐานสุขภาพดินทั่วโลก และพัฒนาแผนการการฟื้นฟูสุขภาพดิน โดยภายในปี 2040 จะจัดทำแผนระดับโลกเพื่อจัดการดินอย่างมีประสิทธิภาพ ควบคู่ไปกับการสร้างความตระหนักว่าระบบอาหารขึ้นอยู่กับคุณภาพและสุขภาพของดิน

    มีบริษัทในนิวซีแลนด์ที่ชื่อว่า Waikatu ได้พัฒนาสกัดสารกระตุ้นทางชีวภาพจากสาหร่ายสีน้ำตาลที่ชื่อว่าวากาเมะ เมื่อนำไปใช้กับดินจะทำให้สุขภาพของพืชดีขึ้น เนื่องจากมันจะไปเพิ่มกิจกรรมของจุลินทรีย์ในดิน ช่วยกระตุ้นการเติบโตของพืช และช่วยลดปัญหาจากความแห้งแล้ง น้ำค้างแข็ง หรือศัตรูพืช

    ปรับสมดุลโปรตีนในอาหารอนาคต

    Forum For The Future ระบุถึงแนวทางการแก้ปัญหาที่อยู่บนพื้นฐานของมองอนาคตที่ทุกคนในประชากรของโลกที่กำลังเติบโตสามารถเข้าถึงแหล่งโปรตีนที่ดีต่อสุขภาพ ยั่งยืน และราคาจับต้องได้

    บริษัทผู้ให้บริการอาหาร ซัพพลายเออร์และผู้ค้าปลีกมีบทบาทสำคัญในเกือบทุกมื้อที่เรากิน โครงการ Protein Challenge 2040 กำลังทำงานร่วมกับพันธมิตรเพื่อเร่งและขยายความก้าวหน้าในการปรับสมดุลการบริโภคโปรตีน

    โดยทำงานร่วมกับเชฟทั่วทั้งอุตสาหกรรมนี้เน้นไปที่อุปสรรคปัจจุบันเพื่อทำให้การปรับสมดุลโปรตีนเป็นบรรทัดฐาน เช่น การขาดส่วนผสมที่มาจากพืชที่มีราคาจับต้องได้และคุณภาพดีในเมนู การขาดการฝึกอบรมด้านการทำอาหารเกี่ยวกับการพัฒนาอาหารที่เน้นพืชเป็นหลักและอาหารที่สมดุล และอาหารที่ปรับสมดุลนั้นอาจไม่ได้รับความสนใจจากผู้บริโภคเสมอไป เรากำลังทดลองดำเนินการปฏิบัติเพื่อให้เกิดนวัตกรรม ทักษะ และแนวคิด ในยุโรปและอเมริกา

    ยุโรป: การปฏิรูปการฝึกอบรมและทักษะการทำอาหาร

    สหราชอาณาจักรมีเชฟมากกว่า 325,000 คน และยังมีอีกหลายล้านคนทั่วยุโรป การร่วมงานกับเชฟในภาคส่วนอาหารต่างๆ เผยให้เห็นว่าพวกเขามักขาดความรู้และทักษะในการส่งมอบอาหารที่มีความสมดุลของโปรตีน รวมทั้งหลักสูตรดั้งเดิมสำหรับเชฟ หรือการฝึกอบรมภาคปฏิบัติ ไม่ได้กล่าวถึงเรื่องนี้อย่างเพียงพอ

    ตั้งแต่เดือนกันยายนปี 2019 ถึง เดือนพฤษภาคมปี 2020 โครงการ Protein Challenge 2040 ได้นำร่องหลักสูตรใหม่ร่วมกับ University of West London เพื่อสอนนักศึกษาศิลปะการประกอบอาหาร ถึงวิธีการตัดสินใจในการจัดหาอย่างมีข้อมูล สร้างสรรค์อาหารเพื่อสุขภาพ อาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ และผลิตภัณฑ์ที่มีความสมดุลระหว่างเนื้อสัตว์และอาหารจากพืช และส่งเสริมวัฒนธรรมอาหารในวงกว้าง ด้วยการแบ่งปันแหล่งข้อมูลการสอนและข้อมูลเชิงลึกในรูปแบบของคู่มือและรายงานเชิงลึกที่ให้ใช้งานได้ฟรี เราหวังว่าจะเร่งการเปลี่ยนผ่านทักษะที่สำคัญในอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งจะช่วยทำให้การบริโภคโปรตีนอย่างยั่งยืนเป็นบรรทัดฐาน

    สหรัฐอเมริกา: ปฏิรูปอาหารกลางวันของโรงเรียนในสหรัฐอเมริกา

    โครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนของสหรัฐอเมริกาเป็นสถานที่สำคัญที่จะทดสอบแนวทางขับเคลื่อนพฤติกรรมการกินที่ดีต่อสุขภาพของบุคคลและโลกมากขึ้นเนื่องจาก:

  • การเข้าถึง: โรงเรียน/สถาบันเกือบ 100,000 แห่งให้บริการอาหารกลางวันแก่นักเรียน 30 ล้านคนในแต่ละวัน และมีบริการอาหารกลางวัน 4.9 พันล้านมื้อต่อปี
  • ผลกระทบเชิงบวกในระยะยาว: โดยการทำงานร่วมกันกับนักเรียน ซึ่งเราจะส่งเสริมนิสัยการกินตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อให้คนรุ่นต่อไปมีชีวิตที่ยืนยาวและมีสุขภาพดีขึ้น
  • นักเรียนเป็นผู้มีอิทธิพล: นักเรียนในปัจจุบันมีความกังวลเกี่ยวกับโลกมากขึ้น เราเชื่อว่านักเรียนสามารถส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกต่อกันและกัน ต่อครอบครัว และต่อชุมชนของพวกเขาได้
  • ตั้งแต่ปี 2018 ถึง 2020 โครงการ Protein Challenge 2040 ทำงานร่วมกับเขตการศึกษา 10 แห่งในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตัวแทนของอาหาร 38 ล้านมื้อต่อปี และผู้ผลิตอาหารมาระบุและพัฒนา 2 แนวทางหลักที่จำเป็นต้องเกิดขึ้นควบคู่ไปกับการเพิ่มการบริโภคอาหารจากพืชที่รสชาติอร่อย ดีต่อสุขภาพ และราคาไม่แพงโดยนักเรียน ซึ่งงานของเราคือการเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับอาหารจากพืชและเพิ่มคุณภาพและปริมาณของเมนูพืชให้โรงเรียน

    จากโครงการนี้ผู้ผลิตอาหารได้พัฒนาอาหารจากพืชใหม่ 3 แบบ และร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม Forum ได้พัฒนาแคมเปญใหม่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและการศึกษาที่จะส่งเสริมให้คนหนุ่มสาวและชุมชนรอบข้างเลือกอาหารที่มาจากโปรตีนจากพืชซึ่งอร่อยและมีคุณค่าทางโภชนาการ

    ยกระดับการให้อาหารสัตว์อย่างยั่งยืน

    ที่มาภาพ : https://www.forumforthefuture.org/Handlers/Download.ashx?IDMF=026a4509-ecf6-400a-b176-7e33ad649813

    อาหารสัตว์เป็นส่วนสำคัญที่ส่งผลต่อสุขภาพและสวัสดิภาพสัตว์ นอกจากนั้นยังมักเป็นต้นทุนที่ใหญ่ที่สุดในการทำปศุสัตว์และกำลังได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นเนื่องจากส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมาก

    การที่ โครงการ Protein Challenge 2040 เลือกให้อาหารสัตว์นั้นมีความสำคัญ เนื่องจากกี่ยวข้องกับวิธีการจัดการพื้นทางการเกษตรประมาณครึ่งหนึ่งของโลก ซึ่ง 80% เป็นทุ่งหญ้า ส่วนในมหาสมุทรกว่า 1 ใน 5 ของการจับสัตว์น้ำจากธรรมชาติจะไปเป็นอาหารสัตว์ ซึ่งทำให้ปริมาณสัตว์น้ำลดลง มีส่วนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

    สำหรับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอาหารสัตว์คิดเป็นประมาณ 45% ของผลกระทบทั้งหมดที่มาจากปศุสัตว์ เพื่อที่จะตอบสนองความต้องการอาหารสัตว์ในอนาคตอาจต้องการที่ดินเพิ่ม 280 ล้านเอเคอร์ ในปี 2030 ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่แหล่งเพาะปลูกโปรตีนที่มีอยู่จะเพียงพอ

    ปัจจุบันทุกธุรกิจในห่วงโซ่อุปทานปศุสัตว์จำเป็นที่จะต้องร่วมกันดำเนินการปรับปรุงผลกระทบของอาหารสัตว์

    การแก้ปัญหา

    คณะทำงานข้ามภาคส่วนของเราตระหนักถึงการขาดวิธีการประเมินและเปรียบเทียบวัตถุดิบที่แตกต่างกัน จึงได้พัฒนาหลักการ Feed Compass เป็นชุดเกณฑ์แบบองค์รวมสำหรับอาหารสัตว์ที่ยั่งยืนซึ่งเหมาะสมกับอนาคต ซึ่งเรากำลังดำเนินการเพื่อแสดงตัวอย่างว่าสามารถนำไปใช้จริงได้อย่างไร โดยการนำร่องภายในธุรกิจที่ได้รับการคัดเลือก เพื่อช่วยกำหนดรูปแบบกระบวนการตัดสินใจเกี่ยวกับการจัดหาและห่วงโซ่อุปทาน

    การทำงานร่วมกันของ Feed Compass ตั้งใจที่จะมีบทบาทในการเชิญชวนบริษัทต่างๆ ให้ยกระดับความมุ่งมั่นการพัฒนาอาหารสัตว์ให้มากขึ้น และพัฒนาสิ่งจูงใจอื่นๆ ในตลาดเพื่อเพิ่มความยั่งยืนของอาหารสัตว์ โดยเป็นการทำงานร่วมกับพันธมิตรเพื่อขยายไปสู่ระดับสากล

    หลักการ Feed Compass ได้รับการออกแบบมาเพื่อให้ง่ายต่อการสื่อสาร ประเมินความยั่งยืนของอาหารสัตว์และเป็นแนวทางในการตัดสินใจ

    ตัวแทนของ Feed Compass จะร่วมหารือแลกเปลี่ยนกับทั่วทั้งห่วงโซ่คุณค่า ตั้งแต่บริษัทอาหารสัตว์ ผู้ผลิตโปรตีน และองค์กรพัฒนาเอกชน ไปจนถึงผู้ค้าปลีกและบริษัทให้บริการด้านอาหาร โดยจากการมีส่วนร่วมจะทำให้องค์กรอยู่ในตำแหน่งที่ดีขึ้นทำให้ได้โอกาสทางธุรกิจใหม่และลดความเสี่ยง

    ทำไมต้องเข้ามามีส่วนร่วม Protein Challenge 2040

    โครงการ Protein Challenge 2040 มองหาผู้ร่วมงาน ที่เป็นองค์กรที่มีความทะเยอทะยานและมีความคิดริเริ่มเกี่ยวกับอุตสาหกรรมอาหารและการเกษตร ซึ่งต้องการลงมือปฏิบัติจริงเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบบโปรตีนที่ยั่งยืน

  • พิสูจน์อนาคตธุรกิจ: ลดความเสี่ยงในห่วงโซ่อุปทานโปรตีนทั้งในปัจจุบันและในอนาคต
  • กระชับความสัมพันธ์: สร้างโอกาสใหม่ๆ ในการทำงานร่วมกับลูกค้าและซัพพลายเออร์
  • สร้างสรรค์นวัตกรรมสำหรับอนาคต: เสริมสร้างกลยุทธ์ทางธุรกิจและเพิ่มนวัตกรรมของผลิตภัณฑ์
  • สร้างชื่อเสียง: ได้รับการยอมรับในระดับโลก ในฐานะผู้นำทางความคิดในประเด็นความมั่นคงด้านอาหาร
  • ได้ประโยชน์จากความเชี่ยวชาญในกลุ่ม: ได้รับข้อมูลเชิงลึกผ่านการทำงานร่วมกับเพื่อนร่วมงานและผู้เชี่ยวชาญ
  • บริษัทที่มีความเชี่ยวชาญทางเทคนิค มีความรู้ในอุตสาหกรรม และมีเงินสนับสนุนในนวัตกรรมทั้ง 6 ด้านของ The Protein Challenge 2040 สามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้

    นอกจากนี้ ทุกคนในระบบโปรตีนมีบทบาทในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงนี้ เราสามารถร่วมมือกันสร้างระบบโปรตีนที่ยั่งยืนได้โดย:

  • การยกระดับความสำคัญของนโยบายและการปฏิบัติการในอุตสาหกรรมร่วมกัน
  • การสนับสนุนให้เกิดความสมดุลของโปรตีนที่ยั่งยืนมากขึ้น โดยสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น
  • ช่วยกำหนดเส้นทางไปสู่ระบบโปรตีนที่ครอบคลุมโดยคำนึงถึงการดำรงชีวิต
  • ตระหนักถึงความสำคัญทางวัฒนธรรมของอาหาร ทดสอบเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระบบ
  • สมาชิกหลัก
    The Protein Challenge 2040 คือ กลุ่มองค์กรที่มีแนวคิดก้าวหน้าไม่หยุดนิ่ง ประกอบด้วย NGOs เช่น World Wildlife Fund (WWF) และ Global Alliance for Improved Nutrition (GAIN) ผู้เชี่ยวชาญด้านกลิ่นหอมและรสชาติอย่าง Firmenich บริษัทโภชนาการเกี่ยวกับนมอย่าง Volac แบรนด์และผู้ค้าปลีกเช่น The Hershey Company, Quorn, Target และ Waitrose โดยมี Forum for the Future ที่เป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร เกี่ยวกับความยั่งยืนระดับโลก ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานกลุ่มพันธมิตร

    เช่นเดียวกับสมาชิกในกลุ่ม The Protein Challenge 2040 รายอื่น Forum for the Future เชื่อว่าการปฏิรูประบบเป็นส่วนสำคัญในความสำเร็จระยะยาว โดย Forum for the Future มีประวัติการทำงานกว่า 20 ปี และยังร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายฝ่าย เพื่อจัดการกับปัญหาความยั่งยืนทั่วทั้งระบบ