ThaiPublica > จับเท็จ: ประเด็น > GT 200 กล่องพลาสติกราคาแพง

GT 200 กล่องพลาสติกราคาแพง

24 กรกฎาคม 2016


 

บริบท

GT200 คือ อุปกรณ์ตรวจจับสะสารระยะไกล (remote substance detector) ทางผู้ผลิตอ้างว่า สามารถตรวจจับได้ตั้งแต่กระสุน สารระเบิด ยาเสพติด ทองคำ งาช้าง ธนบัตร ยาสูบ ไปจนถึงร่างกายมนุษย์ หลายประเทศทั้งในทวีปแอฟริกา ตะวันออกกลาง รวมถึงทวีปเอเชีย ซื้ออุปกรณ์นี้ไปใช้เพื่อตรวจจับวัตถุต้องสงสัยเป็นจำนวนมาก ในส่วนของประเทศไทย มีการซื้อ GT200 ระหว่างปี 2548-2553 เท่าที่ตรวจสอบพบ อย่างน้อย 15 หน่วยงาน รวมจำนวน 1,398 เครื่อง คิดเป็นเงินกว่า 1,134 ล้านบาท ในราคาเฉลี่ยเครื่องละกว่า 9 แสนบาท โดยกองทัพบกเป็นหน่วยงานที่จัดซื้อมากที่สุดถึง 90%  ส่วนใหญ่ ถูกนำไปใช้ในภารกิจตรวจวัตถุต้องสงสัยในพื้นที่ภาคใต้ ไม่ก็ตรวจสอบสารยาเสพติดบริเวณชายแดน

 

GT200 ผลิตและจำหน่ายโดยบริษัทอังกฤษ โกลบอล เทคนิคอล จำกัด (Global Technical Limited) ที่มี “นายแกรี่ โบลตัน” เป็นเจ้าของ

 

เครื่อง GT 200 และส่วนประกอบ ที่มาภาพ : http://www.oknation.net/blog/talkwithMetha/2010/02/16/entry-1

 

หลังจากประเทศต่างๆ จัดซื้อไปใช้เป็นจำนวนมาก ในช่วงเวลาหนึ่ง ก็เริ่มเกิดข้อสงสัยเรื่องประสิทธิภาพการทำงานของอุปกรณ์นี้ เป็นเหตุให้หลายๆ ประเทศเริ่มตรวจสอบการทำงานของอุปกรณ์นี้ ก่อนจะพบว่า “ใช้งานไม่ได้จริง” โดยในปี 2553 รัฐบาลอังกฤษได้สั่งงดการส่งออกอุปกรณ์ลักษณะนี้ ไม่ว่าจะ GT200 หรือ ADE-651 ซึ่งมีลักษณะการทำงานใกล้เคียงกัน ผลิตและจำหน่ายโดยบริษัทอังกฤษ เอทีเอสซี จำกัด (ATSC Limited) ของ “นายเจมส์ แม็คคอร์มิค” โดยเฉพาะการส่งออกไปใช้ในประเทศอิรักหรือประเทศอัฟกานิสถาน เพราะเกรงกว่าจะสร้างอันตรายต่อกองทัพอังกฤษที่ยังปฏิบัติงานอยู่ในประเทศนั้นๆ

 

สำหรับประเทศไทย เริ่มมีข้อสงสัยเรื่องประสิทธิภาพของ GT200 ช่วงปลายปี 2552 เมื่อพบว่าตรวจจับวัตถุต้องสงสัยผิดพลาด กระทั่งเกิดเหตุระเบิดในชายแดนภาคใต้ถึง 2 ครั้งซ้อน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น จึงสั่งการให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามาตรวจสอบ ก่อนจะพบว่า อุปกรณ์นี้สามารถตรวจจับวัตถุต้องสงสัยได้เพียง 4 ครั้ง จากทั้งหมด 20 ครั้ง หรือมีความแม่นยำไม่ต่างจากการ “เดาสุ่ม”

 

ในปี 2556 ศาลอังกฤษ ได้ตัดสินให้จำคุกนายโบลตัน ผู้ผลิต GT200 เป็นเวลา 7 ปี จำคุกนายแม็คคอร์มิค ผู้ผลิต ADE-651 เป็นเวลา 10 ปี และจำคุกนายซามูเอล ทรี เจ้าของบริษัทอังกฤษ คอมสแทร็กซ์ จำกัด (Comstrac Limited) ผู้ผลิตและจำหน่าย อุปกรณ์ที่มีลักษณะการทำงานใกล้เคียง ในชื่อว่า Alpha 6 เป็นเวลา 3 ปี 6 เดือน โดยทั้งหมดมีความผิดฐาน “หลอกลวงและฉ้อโกง” ทั้งสิ้น

 

ประเด็นเรื่อง GT200 กลับมาเป็นข่าวในเมืองไทยอีกครั้ง เมื่อศาลอังกฤษสั่งยึดทรัพย์นายแม็คคอร์มิค (ผู้ผลิต ADE-651 ที่มีลักษณะการทำงานใกล้เคียงกับ GT200) เป็นเงิน 7.94 ล้านปอนด์ (ราว 397 ล้านบาท) เพื่อให้นำมาใช้คืนลูกค้าที่ตกเป็นเหยื่อของการฉ้อโกง นำไปสู่การตั้งคำถามเรื่องความคืบหน้าเรื่องคดีความเพื่อเอาผิดกับผู้ที่จัดซื้ออุปกรณ์ที่ไร้ประโยชน์นี้ โดยปัจจุบัน มีคดีความอยู่ระหว่างการไต่สวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รวมทั้งสิ้น 14 คดี 

 

พล.ต.อ. วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. ระบุว่า ภายในเดือนกันยายน 2559 นี้ คณะอนุกรรมการไต่สวนของ ป.ป.ช. จะสรุปข้อเท็จจริงในคดีที่เกี่ยวกับ GT200 ทั้งหมด ให้ที่ประชุมกรรมการ ป.ป.ช. ชุดใหญ่ ได้พิจารณา

 

วิเคราะห์ข้อมูล

การตรวจสอบข้อมูลของ GT200 ในประเทศไทย เริ่มต้นจากกลุ่มผู้สนใจเรื่องวิทยาศาสตร์ในห้องหว้ากอของเว็บไซต์พันทิป ในช่วงปี 2552 ซึ่งเจ้าของกระทู้ใช้ชื่อ Geneticist ระบุว่า กระทรวงยุติธรรมของประเทศสหรัฐอเมริกา เคยแถลงเตือนกรณีการซื้อเครื่องมือตรวจวัตถุระเบิดจาก บริษัท โกลบอล เทคนิคอล นั้นไม่สามารถใช้งานได้จริง และมีการปิดบริษัทหนีเมื่อทางการต้องการเข้าไปตรวจสอบ ทั้งนี้ ห้องวิจัย Sandia Laboratory ของประเทศสหรัฐฯ เคยนำเครื่องรุ่นแรกของ GT200 ชื่อ MOLE ไปทดสอบ ปรากฎว่ามีความแม่นยำเพียง 50% ซึ่งไม่ต่างกับการโยนหัวก้อยเสี่ยงทาย 

 

แม้ผู้ซึ่งเคยพบเห็นการใช้งาน GT200 ต่างออกมายืนยันว่า อุปกรณ์ดังกล่าวสามารถตรวจจับวัตถุต้องสงสัย เช่น กระสุนปืน ได้จริงก็ตาม โดยมีบทความซึ่งอธิบายวิธีการทำงานและประสิทธิภาพในการทำงานของ GT200 ซึ่งระบุว่าเขียนโดย “นักข่าวสายทหาร” เผยแพร่ผ่านเว็บบล็อกโอเคเนชั่น เมื่อเดือนเมษายน 2551 เรื่อง จีที200 "ตาทิพย์" จับระเบิด "ตัวช่วย" สรรพาวุธ ทบ. มีเนื้อหาโดยสรุปว่า

 

ภายใต้หลักการที่ว่า “สสารทุกชนิดบนโลกจะมีสนามแม่เหล็กเป็นตัวเชื่อมต่อ ซึ่งเครื่องจีที 200 จะใช้หลักการค้นหาสนามแม่เหล็กซึ่งจะสามารถตรวจจับสารวัตถุระเบิดได้ทั้งในอากาศ บนดิน ใต้ดิน หรือกระทั่งใต้น้ำ” 

 

ลักษณะของเครื่องจีที200 มีลักษณะเป็นแท่งยาว มีด้ามจับคล้ายๆ “ไมค์ลอย” บริเวณด้านล่างของเครื่องจะมีกล่องใส่การ์ด ซึ่งการ์ดหรือ “ชิพ” ตัวนี้จะทำหน้าที่ตรวจสอบสสารประเภทต่างๆ ที่ต้องการค้นหา หากต้องการตรวจหายาเสพติดก็จะใช้การ์ดหรือชิพแบบหนึ่งหรือหากต้องการตรวจหากระสุนหรืออาวุธปืน และอาวุธสงครามก็จะใช้การ์ดหรือชีพอีกแบบหนึ่ง 
แต่ข้อจำกัดประการหนึ่งของการ์ดที่ใช้ตรวจสอบอาวุธก็คือหากอาวุธไม่ผ่านการยิงก็จะตรวจไม่พบ แต่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้โดยตรวจหาจาก “เขม่าดินปืน” หรือ“สารวัตถุระเบิด” ที่ติดมากับอาวุธนั้นๆ การ์ดที่บรรจุในเครื่องจีที200 จะมีอยู่ทั้งหมด 18 การ์ด

 

ข้อมูลของเครื่อง GT 200 ที่มาภาพ : http://www.sarakadee.com/2012/07/17/gt200/

 

โดยจะมีการ์ดที่สามารถตรวจหาวัตถุต้องสงสัยต่างๆ ได้ทั้ง วัตถุระเบิด ยาเสพติด อาวุธปืน อาวุธสงคราม และ กระสุน ตัวการ์ดหรือชิพจะมีราคาสูงหลายหมื่นบาทต่อชิ้น ซึ่งเมื่อรวมราคาตัวเครื่องจีที 200 กับการ์ดทั้งหมด จำนวน 18 การ์ดจะมีสนนราคาประมาณ 1.25 ล้านบาทต่อเครื่อง 

 

ผู้เชี่ยวชาญวัตถุระเบิดคนเดิมบอกว่า เครื่อง GT200 แบบมาตรฐานจะบรรจุ 13 การ์ด แต่กองทัพบกระบุว่า ต้องการถึง 18 การ์ด ทางบริษัทผู้ผลิตจึงผลิตให้ตามที่ร้องขอ นอกจากการ์ดหรือชิพแล้วอุปกรณ์ที่มีความสำคัญยิ่งในการค้นหาวัตถุระเบิด คือ “เสาอากาศ” ซึ่งจะมีลักษณะเป็นก้านยาวๆ ชี้ไปทางด้านหน้า เมื่อตรวจพบสารวัตถุระเบิด…เสาอากาศก็จะทำการ “ชี้เป้า” ไปยังทิศทางที่ตรวจพบทันที 

 

และตามข้อมูลวิธีการใช้งาน นั้นก็ระบุว่า GT200 ต้องอาศัยการทำงานของ “ไฟฟ้าสถิต” ไฟฟ้าสถิตที่กล่าวถึงนี้หมายถึงไฟฟ้าสถิตบนร่างกายของผู้ใช้ โดยผู้ใช้จะต้องผ่านการอบรมการใช้งานเครื่อง และต้องตระเตรียมร่างกายให้พร้อมอย่างถูกต้องตามวิธีการที่บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์นี้กำหนดไว้ อย่างไรก็ตาม แม้ไฟฟ้าสถิตที่เกิดขึ้นจะมีอยู่ตลอดเวลา แต่ปัญหาก็คือประจุที่เกี่ยวข้องกับไฟฟ้าสถิตดังกล่าวมีปริมาณน้อยมากจนเป็นไปไม่ได้ว่าจะสามารถนำไปใช้ในการทำให้ชิ้นส่วนของอุปกรณ์ขยับเขยื้อนได้
 

ในช่วงเวลาเดียวกันกับที่ห้องหว้ากอ เว็บไซต์พันทิป เริ่มตั้งข้อสงสัย สื่อไทยอย่าง “หนังสือพิมพ์คมชัดลึก” ก็เริ่มรายงานถึงความผิดปกติ และความไม่เป็นวิทยาศาสตร์ของ GT200 จากข้อสงสัยในประสิทธิภาพ เมื่อเครื่องดังกล่าวทำงานผิดพลาดจนทำให้เกิดเหตุระเบิดข้างโรงแรมเมอร์ลิน จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2552 และตลาดสด จ.ยะลา เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2552 

 

และเมื่อสื่อต่างชาติอย่าง BBC รายงานข่าวเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2553 ถึงความไร้ประสิทธิภาพของเครื่องตรวจจับระเบิด ADE-651 ที่มีการทำงานแบบเดียวกับ GT 200 ประเด็นดังกล่าวเริ่มเป็นที่สนใจและถูกตรวจสอบมากขึ้น โดยผู้มีความรู้ทางวิศาสตร์ออกมาแสดงความเห็นว่าหลักการทำงานของเครื่องมือดังกล่าวไม่ต่างอะไรกับเครื่อง Dowsing ที่เอาไว้ตรวจหาแหล่งน้ำบาดาล ซึ่งหลักการ Dowsing นี้ก็ได้รับการพิสูจน์ในต่างประเทศแล้วว่าเป็นเพียงแค่ “การเดาสุ่ม” 

 

 

การเดินหน้าตรวจสอบของสื่อดำเนินการคู่ขนานกับนักวิทยาศาสตร์อย่างนายเจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์คณะวิทยาศาตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เชื่อว่าเครื่องมือนี้ไม่ต่างอะไรกับ “ไม้ล้างป่าช้า” ไม่สามารถใช้งานได้ เพราะไม่มีหลักการวิทยาศาสตร์อะไรรองรับในการทำงาน ไม่สามารถมีอะไรรายงาน หรือค่าที่อ่านเป็นตัวเลขได้ ทุกเครื่องไม่มีเสียง ไม่มีแสง ไม่มีตัวเลขขึ้น

 

 

ซึ่งสื่อไทยพยายามนำเหตุผลด้านการใช้งานประกอบกับการตั้งข้อสังเกต ต่างๆ มาเปรียบเทียบกับข้อสันนิษฐานของภาคประชาชน มีการลงพื้นที่ไปยังสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ทหารใช้เครื่องนี้ และมีกรณีผิดพลาดจากการใช้เครื่อง GT200เกิดขึ้น ซึ่งผู้ใช้งานที่ผ่านการอบรมยังคงแสดงความเชื่อมั่นในประสิทธิภาพของเครื่องมือดังกล่าว โดยระบุว่า ตามข้อมูลการใช้งานเบื้องต้น GT200 ต้องอาศัยประจุไฟฟ้าจากร่างกาย ที่ร่างกายจะต้องมีความพร้อม 

 

ในที่สุดก็นำไปสู่การทดสอบอย่างจริงจังตามหลักวิทยาศาสตร์ ใช้การตรวจสอบแบบตาบอดสองทาง (Double Blind Test) ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2553) ซึ่งผลก็ออกมาว่า GT200 นั้นไร้ประสิทธิภาพจริง จากการตรวจหาวัตถุระเบิดซีโฟร์ได้ถูกต้องเพียง 4 ครั้ง จากทั้งหมด 20 ครั้ง มีนัยทางสถิติไม่ต่างอะไรจากการ “เดาสุ่ม” แปลว่า ไม่สามารถใช้งานได้จริง

 

ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2553 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีขณะนั้น ออกมาแถลงผลการทดสอบ GT200 และสั่งให้ทุกหน่วยงานยกเลิกการจัดซื้อโดยทันที 

 

 

การพิสูจน์ดังกล่าวถูกย้ำชัดถึงความไร้ประสิทธิภาพของเครื่อง GT200 โดยสำนักข่าวบีบีซี (เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ยูทูปเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2553) ได้นำเสนอสกู๊ปข่าว GT200 มีการย้อนให้ดูการผ่าพิสูจน์จากหน่วยเก็บกู้วัตถุระเบิดของอังกฤษอีกครั้งสั้นๆ ที่แสดงให้เห็นว่าอุปกรณ์ดังกล่าวเป็นแต่พลาสติกธรมดา และศาสตรจารย์ บรูซ ฮูด จากมหาวิทยาลัยบริสตอล ที่ระบุว่า มันไม่ได้มีค่าอะไรมากไปกว่าลวด Dowsing ตอนนี้สิ่งที่ต้องรีบทำคือสั่งหยุดการขายทั้งหมดทันที แต่แทนที่จะเป็นเช่นนั้น บริษัทนี้กลับทำมันออกขายไปทั่วโลก และหลอกลวงขายด้ามจับพลาสติกติดเสาอากาศวิทยุอ้างว่าทำงานได้ด้วยหลักวิทยาศาสตร์ที่เลิศหรู

 

และหลังจากนั้นสื่อไทยก็ได้นำ เครื่อง GT200 มาทำการเอ็กซ์เรย์ และแกะตัวเครื่อง ต่างพบว่า ภายในตัวเครื่องว่างเปล่า เป็นเพียงพลาสติกเปล่า ไร้วงจรอิเล็กทรอนิกส์ มีเพียงเสาอากาศติดอยู่ที่กล่อง ซึ่งผู้จำหน่ายพยายามอ้างว่าประสิทธิภาพของเครื่องมือยู่ที่การ์ดซึ่งบรรจุสนามไฟฟ้าแม่เหล็กของสารชนิดต่างๆ ที่ต้องการค้นหา เมื่อแกะการ์ดดังกล่าวก็พบว่าเป็นเพียงแผ่นพลาสติกไม่มีวงจรหน่วยความจำใดๆ หรือชิพที่ระบุว่าเป็นตัวตรวจจับวัตถุต้องส่งสัยแต่อย่างใด อาทิ รายการเช้าข่าวข้นทางช่องโมเดิร์นไนทีวี (เผยแพร่ทางเว็บไซต์ยูทูปเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2553) ได้เชิญ พล.อ. ปฐมพงษ์ เกษรศุกร์ อดีตประธานที่ปรึกษากองบัญชาการกองทัพไทย นำเครื่อง GT200 ส่วนตัว พร้อมการ์ดต่างๆ มาชำแหละให้ดู 

 

 

ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้อธิบายรายละเอียดการวิเคราะห์ผลการทดสอบผ่านการคำนวณทางสถิติ และการอธิบายรายละเอียดด้านหลักการทำงานของเครื่อง GT 200 ที่ไม่น่าเป็นไปได้จากสรรพคุณทางวิทยาศาตร์ที่กล่าวอ้าง ในบทความ “กรณี GT200 มุมมองทางวิชาการ & ข้อสังเกตสำหรับอนาคต”  ทางเว็บไซต์สารคดี เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2555 ซึ่งสรุปได้ว่าข้อมูลทางเทคนิคของ GT200 เพียงแค่กล่าวอ้างศัพท์เทคนิคทางวิทยาศาสตร์เพื่อให้ดูมีหลักการและน่าเชื่อถือ แต่ในทางปฏิบัติเทคโนโลยีในปัจจุบันยังไม่สามารถทำได้

 

สรุป

แม้หลักการทำงานของเครื่อง GT 200 จะมีการอ้างอิงหลักวิทยาศาสตร์ เช่น กระแสไฟฟ้าสถิตในร่างกายมนุษย์ การใช้สนามแม่เหล็กตรวจจับ แต่ในทางวิทยาศาสตร์ยังไม่มีเครื่องมือใดที่สามารถตรวจจับกระแสไฟฟ้าสถิต และสนามแม่เหล็กในวัตถุต่างๆ ที่อยู่อย่างอ่อนๆ ได้ 

 

เมื่อมีการทดสอบตามหลักสากลโดยใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ ผลทางสถิติที่ออกมาระบุว่าประสิทธิภาพของเครื่องมือไม่ต่างจากการเดาสุ่ม 

 

และเมื่อมีการชำแหละตัวเครื่องและการ์ดดู ก็พบว่าเป็นเพียงพลาสติกเปล่า ไร้วงจรอิเล็กทรอนิกส์ มีเพียงเสาอากาศติดอยู่ที่กล่อง หมายถึงเครื่อง GT200 ไม่สามารถทำงานได้จริง ซึ่งนักวิทยาสาตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านวัตถุระเบิดในต่างประเทศได้ยืนยันแล้วว่าเครื่องมือดังกล่าวไม่สามารถใช้งานได้ ทำให้ทางการอังกฤษได้สั่งระงับการขายทั้งหมดทันที

 

ดังนั้น ทางเราจัดให้คำพูดของนายอภิสิทธิ์ ที่ว่า “มีการพบว่ามีจุดอ่อน (เครื่องGT200) …ในเรื่องของการใช้กระแสไฟฟ้าในตัวคน เพราะฉะนั้นบางทีสภาพของตัวบุคคลที่ไปตรวจ ถ้าหากพักผ่อนน้อยไปหรือไม่มีความพร้อม ก็จะทำให้เครื่องนี้ (เครื่องGT200) ขาดประสิทธิภาพ” อยู่ในเกณฑ์ “เป็นเท็จ”

ป้ายคำ :